“สามหัวเมือง อีสาน-เหนือ-ใต้กบฏ” เหตุจากกรุงเทพฯ กินรวบอำนาจ อาณานิคม จนเกิดแรงต้าน “ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์” ชี้กบฏผีบุญอีสานเกิดจากภาคประชาชนฮึดลุกสู้  

หมายเหตุ : ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในหัวข้อ “สามหัวเมืองกบฏ : อีสาน เหนือ ใต้” จัดโดย The Isaan Record และกลุ่มพลังคลับทางคลับเฮาส์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564

จากการศึกษางานวิทยานิพนธ์ในรอบ 40 ปี เกี่ยวกับกบฏทั้ง 3 ภาค มักจะอธิบายว่า มันเป็นสิ่งสำคัญที่ศูนย์กลางอำนาจ คือ กรุงเทพฯ พยายามที่จะเข้าไปบริหารจัดการท่ามกลางมหาอำนาจอาณานิคมที่ต้องการจะชิงพื้นที่ในดินแดนอินโดจีน พม่าและมลายู 

การปราบกบฏต่างๆ จึงเป็นเรื่องความรุนแรงที่ถูกมองข้ามและกรุงเทพฯ ก็ประสบความสำเร็จในการปราบปรามกบฏในหัวเมืองต่างๆ

กรณีของกบฏผู้มีบุญอีสาน กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ และกบฏจังหวัดชายแดนใต้ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในระยะเวลาพร้อมๆ กัน ในอีสานเกิดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2444 ถึงกลางปี 2445 เป็นระยะเวลาหลายเดือน แต่จะมีการปราบและใช้กำลังอย่างรุนแรงช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม ส่วนภาคใต้นั้นทางกรุงเทพฯ พยายามจัดการเจ้าเมืองภาคใต้ เจ้าเมืองตานีในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน จากนั้นก็ตามด้วยกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ที่เป็นช่วงกรกฎาคมปีเดียวกัน

กบฏผู้มีบุญอีสานส่งผลสะเทือนต่อกรุงเทพฯ อย่างมาก ประชาชนในกรุงเทพฯ หวั่นไหวมาก สิ่งที่เราเห็นการตัดสินใจของกรุงเทพฯ คือ การใช้กำลังกองทัพสมัยใหม่ปราบสังหารการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างเด็ดขาดในทุกๆ จุดตั้งแต่เริ่มต้น 

ส่วนภาคใต้เป็นเรื่องของการจัดการระหว่างกรุงเทพฯ กับเจ้าเมืองต่างๆ เช่น การนำพระยาตานีย้ายไปกักขังไว้ที่พิษณุโลก ซึ่งคล้ายกับการกระทำของอังกฤษที่ปฏิบัติต่อพระเจ้าธีบอ กษัตริย์มัณฑะเลย์ของพม่า ที่เอากษัตริย์ธีบอกับพระมเหสีไปกักขังที่อินเดียและทำให้ราชวงศ์ของพระเจ้าธีบอสูญสิ้นไป ถือเป็นความพยายามทำลายเจ้าผู้ปกครองในดินแดนภาคใต้ ส่วนภาคเหนือจะเห็นว่า มีทั้งประชาชนที่ถูกเรียกว่าเงี้ยวและมีกลุ่มเจ้าเมืองกลุ่มหนึ่งที่สัมพันธ์กับเรื่องนี้ด้วย 

ทั้งสามภาคมีประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ที่เคลื่อนไหวใหญ่ที่สุด คือ ประชาชนในภาคอีสาน ตอนนั้นคนในภาคอีสานเคลื่อนไหวบนพื้นฐานของการที่มีข่าวสารจากผู้มีบุญว่า หินแห่จะกลายเป็นเงินเป็นทอง มีข่าวสารว่า ชีวิตที่ดีกว่ากำลังจะมาถึง แต่กรุงเทพฯ มองคนอีสานและเหนือ เป็นลาว ส่วนภาคใต้ คือ แขก คนเหล่านี้ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ และในสายตากัมพูชาก็เป็นเขมร เขมร ลาว แขก คือ คนนอกของกรุงเทพฯ 

ยุคล่าอาณานิคม 

ในภาพของการปรับเปลี่ยนถือว่า เป็นส้มหล่นของกรุงเทพฯ ที่ได้ดินแดนมา การอธิบายว่า เสียดินแดนเกิดขึ้นทีหลัง ส่วนทำไมกรุงเทพฯ ได้ดินแดนมาเพราะปัจจัยสำคัญ คือ นโยบายล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะอังกฤษ เนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส เปลี่ยนแปลงไป มีสนธิสัญญาอยู่ 2 ฉบับที่ทำให้เกิดการจัดระเบียบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับแรก คือ สนธิสัญญาแองโกล-ดัตช์ 1824 เป็นสนธิสัญญาระหว่างอังกฤษกับเนเธอร์แลนด์เมื่อปี พ.ศ.2367 เป็นปีสุดท้ายของรัชกาลที่ 2 และสนธิสัญญาแองโกล-ฟรานซ์ เมื่อปี 1896 หรือ พ.ศ.2439 เป็นเวลา 3 ปีหลังเหตุการณ์ ร.ศ. 112  ซึ่งในสนธิสัญญานี้อังกฤษกับฝรั่งเศสได้แบ่งเขตอิทธิพลว่า 1.ตั้งแต่ตอนใต้ของจีนลงไปให้ใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งอิทธิพลระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ด้านตะวันออกของแม่น้ำโขงเป็นอิทธิพลของฝรั่งเศส ด้านตะวันตกของแม่น้ำโขงเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษ 

แต่ตั้งแต่จุดที่เรียกว่า สบรวกลงใปให้เป็นของกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นมาเจ้าเมืองเหนือก็เดี้ยงหมดเลย เพราะว่ามหาอำนาจอังกฤษเท่ากับไม่ยอมรับการมีสถานะของเจ้าเมืองเหนือ เจ้าเชียงใหม่หรืออะไรก็ตาม ตรงนี้ส้มหล่นลงไปที่หัวแม่เท้าของกรุงเทพฯ เลย ทำให้กรุงเทพฯ เข้าไปจัดการกับเจ้าเมืองเหนือได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น สนธิสัญญาปี 1896 ทำให้กรุงเทพมีอำนาจเหนือดินแดนลาวล้านนาทั้งหมด โดยการยกให้ของอังกฤษและฝรั่งเศส 

ส่วนดินแดนในเขตอีสานนั้น แม่น้ำโขงในเขตอีสาน ฝรั่งเศสยังถือว่า เป็นเขตอิทธิพล ในขณะที่ดินแดนด้านแหลมมลายูภาคใต้ของไทยถือเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษ ห้ามฝรั่งเศสเข้ามายุ่มย่ามในเขตนี้ ในขณะเดียวกันอังกฤษก็จะไม่เข้าไปยุ่มย่ามในเขตแดนแม่น้ำโขงอีสาน สนธิสัญญานี้ทำให้ดินแดนที่เป็นล้านนาทั้งหมดถูกยกให้เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนดินแดนอีสานก็ขึ้นอยู่กับว่ากรุงเทพฯ จะต่อรองแย่งชิงได้อย่างไร ตรงจุดนี้เราจึงเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือกรุงเทพฯ มีการรวบอำนาจที่เราเรียกว่าการปฏิรูประบบราชการ เป็นปีแรกที่รัชกาลที่ 5 เริ่มมีพระราชอำนาจแบบ absolute มากยิ่งขึ้นในปีคือในปี พ.ศ. 2435 ต่อมาเกิดเหตุการณ์ รศ.112 หรือพ.ศ.2436 หนึ่งปีให้หลังการปฏิรูประบบราชการ 

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เครดิตภาพ เฟซบุ๊ก Thamrongsak Petchlertanan

รศ.112 กับดินแดนลาว 

ในกรณีการเกิด รศ.112 ฝรั่งเศสรู้แล้วว่า กรุงเทพฯ นั้น กล่าวอ้างว่าตนเองเป็นเจ้าเหนือดินแดนในลาวทั้งมวล แต่ฝ่ายฝรั่งเศสเริ่มตระหนักแล้วว่า กรุงเทพฯ ไม่มีหลักฐานทางด้านแผนที่ใดๆ ทั้งสิ้น มีแค่ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ซึ่งฝ่ายลาวส่งไปทุกเมืองที่เป็นมหาอำนาจ เหตุการณ์ รศ.112 จึงเป็นไปเพื่อเข้ามาให้กรุงเทพฯ สละการอ้างสิทธิ์ ทุกอย่างเวลาเขาเจรจากันในกลุ่มตรงนี้เขาจะเรียกสละการอ้างสิทธิ์ แม้แต่ในบางกอก เมื่อทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังจะจัดการทั้ง 2 ฝ่าย ก็ต้องเจรจากับจีน ให้สละการอ้างสิทธิ์ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เป็นแต่ละระดับของการเจรจา 

เหตุการณ์ รศ.112 ที่กรุงเทพฯ กลัวมากที่สุด เรื่องเล่าออกไปในเรื่องของเงินถุงแดงเงินฟรังซ์ ที่จะต้องหามาจ่ายฝรั่งเศส แต่ที่จริงแล้วปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ผู้ปกครองกรุงเทพฯ ตกใจ คือ ฝรั่งเศสจะจัดการกรุงเทพฯ ในแบบที่อังกฤษจัดการกับพระเจ้าธีบอและราชวงศ์คองบองที่ทำให้การปกครองแบบกษัตริย์ของพม่าสลายตัวไป หลังจากที่ปกครองต่อเนื่องมาเป็น 1,000 ปี เป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนหน้า รศ.112 เพียง 8 ปีเท่านั้น มันจึงเป็นปัจจัยที่เราจะต้องดูบริบททั้งหมด จาก 2 สนธิสัญญาห่างกัน 72 ปี มันคือการจัดแบ่งอำนาจและทำให้เกิดภาวะลงตัว จุดนี้หลังจากสนธิสัญญาระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสแล้วเราจึงเห็นกรุงเทพฯ เร่งรัดในการที่จะรวมรวบอำนาจจากดินแดนอีสาน เข้าไปสู่อีสาน เข้าไปสู่เหนือและลงไปสู่ภาคใต้ มันจึงระเบิดกลายเป็นกบฏในช่วงปี 2445 หรือที่เรียกว่า รศ.121 เพราะหลังปี พ.ศ.2439 กรุงเทพฯเร่งรัดในการรวบอำนาจเจ้าสู่รอยัลพาเลซมากยิ่งขึ้น

ผู้มีบุญในอีสาน ซีซั่นสอง (1) – หัวอกคนอยู่ในอาณานิคมภายในของรัฐสยาม

ผู้มีบุญในอีสานซีซั่นสอง (2) – บันทึกปากคำคนสะพือ ณ ทุ่งสังหารโนนโพธิ์

กบฏสามภาคทำให้กรุงเทพฯ สั่นคลอน 

หากเรามองการกบฏของหัวเมืองทั้ง 3 ภาคเกิดขึ้นในบริบทระดับภูมิภาคนั้น มันถูกจัดแบ่งถึงอาณาเขตดินแดนของใครๆ อย่างชัดเจน ระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส กับดัตช์ และมันทำให้ส้มหล่นมาที่กรุงเทพฯ สยาม กรุงเทพฯ ก็รีบเร่งในการควบคุมดินแดนในการควบคุมระดับเจ้าเมือง ทำให้เจ้าเมืองเริ่มกลายเป็นข้าราชการ ปลดเจ้าเมืองต่างๆ แล้วเอาคนจากกรุงเทพฯ แต่งตั้งเข้าไป ตรงนี้มันสั่นคลอนอำนาจของท้องถิ่น ในขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ก็มองเห็นผลประโยชน์ขนาดใหญ่ก็คือภาษีจากคนในดินแดนแถวนั้น ในขณะที่ภาคเหนือก็เป็นเรื่องของสัมปทาน ภาคใต้ก็น่าจะเป็นผลประโยชน์ด้านเหมืองแร่

กรณีของอีสานเห็นชัดเจนเลยว่า กรุงเทพฯ บังคับให้มีการจัดเก็บภาษีแบบเข้มข้นเป็นระดับเดียวกัน จากเดิมที่เจ้าเมืองมีความย่อหย่อนให้ชาวบ้านได้บ้าง พอกลไลอำนาจแบบมณฑลเข้าไป ก็ถูกจัดเก็บภาษีอย่างเข้มข้น 4 บาทเท่ากันทั้งหมดและเก็บเป็นตัวเงิน จากเดิมชาวบ้านจะส่งเป็นสินค้า หรือของป่า แต่เขาไม่เอาจะเอาเป็นเงิน ซึ่งมันสร้างภาวะปั่นป่วน ผมคิดว่าตอนนี้เองผู้มีบุญจึงมีความสำคัญ เพราะชาวบ้านต้องการเงินไปจ่ายให้กับบางกอก ไม่เช่นนั้นบางกอกมันจะจับไปทำงาน จับไปโบยตีบีฑา คิดว่ากระบวนการควบรวมอำนาจผ่านเจ้าเมือง เริ่มแต่งตั้งผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน มาเสียบแทนขับไล่ผู้ที่มีอำนาจในท้องถิ่นออกไป แต่น่าสนใจว่าเจ้าอุบลทั้งหมดและเจ้าเมืองในเขตอีสานเป็นฝ่ายช่วยในการปราบปรามกบฏชาวบ้านผีบุญทั้งหมด ในขณะที่ชาวงบ้านต้องการแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้น 

อย่างไรก็ตามอาณาจักรไทยแท้ที่มีการปกครองต่อเนื่องมายาวนานจะไม่เกิดกบฏ กบฏที่เกิดขึ้น คือ การเกิดในอาณาเขตที่ไม่ใช่ไทยแท้ ก็คือลาวและแขก การกบฏเหล่านี้ที่ไปอธิบายว่าไทยเสียดินแดนมันไม่ใช่แล้ว ตรงนี้ยืนยันว่าไทยบางกอกได้ดินแดน การเกิดกบฏมันจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ตอบให้เราเข้าใจ ในยุคจอมพล ป.ที่เพลงชาติที่ขึ้นต้นว่าประเทศไทยรวมเลือดเนื้อเป็นชาติเชื้อไทย ประเทศไทยที่เป็นรูปขวานมันรวมเลือดเนื้อเชื้อชาติมากมาย จอมพล ป. จึงบอกว่า ต่อไปห้ามเรียกว่า ลาว เขมร เงี้ยว แขก ให้เรียกคนทั้งหมดที่อยู่ในเขตประเทศไทยว่าไทยเหนือ ไทยอีสาน ไทยใต้ แต่ความหมายนี้ถูกแปรผันความหมายหลังรัฐประหาร 2490 เมื่อลัทธิทหารเข้มข้น มีการฟื้นฟูระบอบศักดินาเข้ามา มันก็ทำให้เกิดคำว่าไทยหมายถึงชาติๆ หนึ่ง แต่ในยุคแรกคำว่าไทย มีความหมายว่า รวมทั้งแขก ลาว เขมร เงี้ยว กระเหรี่ยงทั้งหมดเป็นไทยร่วมกัน

ผู้มีบุญในอีสานซีซั่นสอง (3) – กรมหลวงสรรพสิทธิในสายตาชาวอุบลฯ

ผู้มีบุญในอีสานซีซั่นสอง (4) – 120 + 1 ปี ปราบผีบุญในความทรงจำ

image_pdfimage_print