จนิสตา อาภาแสงเพชร เรื่อง
ตติยา ตราชู นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record ภาพ
ประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างขบวนการผู้มีกับรัฐสยามเมื่อ พ.ศ. 2444 ณ ศึกโนนโพธิ์ ยังไม่มีการชำระ เป็นเพียงเรื่องเล่าแบบปากต่อปากจากรุ่นสู่รุ่น ก่อนที่เรื่องราวการต่อสู้ระหว่างราษฎรกับรัฐจะเลือกหายไปตามกาลเวลาเราจึงขอบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้
“เคยได้ยินว่า มีแต่หลุมฝังศพคนเต็มไปหมดอยู่แถวโนนโพธิ์นี่ ตรงบริเวณที่เขารบกัน รบกันแต่ก่อนไม่มีปืนมีแต่ง้าว หรืออะไรฟันคอกันไปเลย เขาก็ขุดหลุมฝังๆ แล้วเอาทิ้งลงหลุม” นิคม พรหมศรีใหม่ ชาวสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เล่าความทรงจำเกี่ยวกับศึกโนนโพธิ์
“รู้แต่ฟันกันแล้วแต่จะโดนตรงไหนบ้าง ถ้าตายเขาก็เอาลงหลุมไป” นิคม กล่าวเสริม
แต่ในอีกมุมของศึกโนนโพธิ์ นอกเหนือจากเรื่องการรบราฆ่าฟัน เสียงปืนใหญ่ หรือการลงง้าวฟันคอแล้ว ‘พินิจ ประชุมรักษ์ อดีตข้าราชการครู’ วัย 72 ปี ได้เค้นความทรงจำวัยเยาว์ที่ปู่ย่าตายายเคยเล่าให้ฟัง เกี่ยวกับบรรยากาศหมู่บ้านในยามเมื่อเกิดศึกสงคราม
เดือนเมษายน พ.ศ 2444 ชาวบ้านที่ไม่เกี่ยวข้องต้องไปหลบภัยที่วัด หรือในโบสถ์ ในสิมวัด หากใครอยู่ใกล้วัดไหนก็ไปหลบในวัดนั้น เพราะในวัดเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ยุ่งเกี่ยวกับศึก คล้ายกับเขตปลอดอาวุธ
“เคยได้ยินจากคนแก่ว่า ถ้าใครไม่อยากยุ่งกับข้าศึก ก็คือไปอยู่ในวัด เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง” พินิจ กล่าว
พินิจ ประชุมรักษ์ หรือ เสือน้อย อดีตข้าราชการครู อายุ 72 ปี
มีอะไรก็แบ่งกันกินในวัด
‘พินิจ’ เล่าเรื่องราวการกิน-อยู่ของชาวบ้านเวลานั้นว่า “เท่าที่ได้ยินมา มีข้าวก็เอาไปนึ่งที่วัด มีอะไรกินก็พากันทำกิน เหมือนไปทำบุญที่วัด คล้ายๆ ว่าไปอาศัยอยู่ในวัด”
“มีอะไรก็เอามากินด้วยกัน ตามยถากรรมของชาวบ้าน จะออกไปหาปู ปลา กบ เขียด ก็ไม่ได้แล้ว ก็มีแต่ปลาร้าอยู่ในไห เอามาตำน้ำพริกกินกัน ตามประสาชาวบ้าน” พินิจกล่าว
สาเหตุที่ชาวบ้านเลือกไปหลบอยู่ที่วัดขณะเกิดศึกโนนโพธิ์ นั้นเป็นเพราะชาวบ้านกลัวลูกหลงจากการปราบปรามขบวนการผู้มีบุญ กลัวโดนฆ่า ซึ่งในตอนนั้น ‘กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์’ ข้าหลวงต่างเมืองอุบลในยุคนั้นใช้มาตราการที่ค่อนข้างรุนแรง จึงไม่มีใครกล้าออกจากบ้านเพื่อไปประกอบอาชีพ
“มีเรื่องเล่าว่า ถ้าเห็นผู้ชายเขาจะเอาไปฆ่าให้หมด คือ จะเหลือไว้แต่ผู้หญิง เพราะผู้หญิงจะปลอดภัยกับเขา” พินิจ เล่าสิ่งที่เคยได้ยิน
แผนผังบ้านสะพือ ตั้งอยู่ที่วัดบูรพา บ้านสะพือ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
ผู้มีบุญกับความเชื่อเรื่องพระศรีอริยเมตไตรย
ในแง่ความเชื่อ ความศรัทธาในพุทธศาสนา รวมไปถึงคติเรื่อง ‘พระศรีอาริยเมตไตรย’ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการก่อตัวของขบวนการผู้มีบุญ แต่ในอีกด้านหนึ่งพุทธศาสนา และ วัด ก็ยังเป็นที่พึ่งพิงให้ชาวบ้านที่ประสบทุกข์ภัยจากศึกในครั้งนั้นได้มีพื้นที่หลบภัย พักอาศัยอีกด้วย
นิคม พรหมศรีใหม่ ชาวบ้านบ้านสะพือ จ.อุบลราชธานี
เรื่องเล่าของ “นายแก้ว ดวงดี”
‘นิคม พรหมศรีใหม่’ เล่ามุขปาฐะ หรือ เรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่น ปากต่อปาก เกี่ยวกับความทรงจำที่ส่งต่อมาจากปู่ย่าว่า การหลบข้าศึกในเวลานั้นเกิดอะไรขึ้นที่บ้านสะพือ มีสองเรื่องที่หยิบยกขึ้นมาเล่า คือ เรื่องของ ‘นายแก้ว ดวงดี’ และ เรื่อง ‘แหล่งหลบภัยที่ดอนปู่ตา’
นิคมเล่า พร้อมกับกลั้วหัวเราะว่า ‘นายแก้ว ดวงดี’ เป็นชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านสะพือแห่งนี้ เมื่อเกิดศึกโนนโพธิ์ก็เข้าไปหลบในกอไผ่ แต่เข้าไปแล้วออกมาไม่ได้ เพราะติดหนามไผ่ จนกระทั่งศึกจบลง ชาวบ้านจึงช่วยกันถางกอไผ่นำตัวออกมา
ส่วนแหล่ง‘หลบภัยที่ดอนปู่ตา’ นั้นดอนปู่ตา คือ ผีบ้านหรือศาลประจำหมู่บ้านที่ชาวบ้านเคารพบูชา เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตการทำเกษตร ไปจนถึงความเชื่อเรื่องผีที่คอยปกปักรักษาหมู่บ้านให้รอดพ้นภัยอันตราย
แต่ก่อนเขาตามดอนเจ้าปู่ ดอนปู่ตา คนมาหลบอยู่เต็มไปหมด ปู่ย่าเล่าแบบนี้ ศึกเข้ามา ทางการมาตระเวนหาตัวก็จะไม่เห็นหรอก มีความเชื่อว่า เป็นเพราะผีบ้านคุ้มครอง นี่เป็นสิ่งที่ปู่ย่าเล่าให้พวกพ่อใหญ่ฟัง”นิคม เล่า
ภาพจิตกรรมฝาผนัง เหตุการณ์ “ศึกโนนโพธิ์” พ.ศ. 2444 ที่ วัดบูรพา บ้านสะพือ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
สัญลักษณ์ชี้เป็นชี้ตาย
สัญลักษณ์การแสดงตัวตน หรือการแต่งกาย ในยามศึกว่าอยู่ฝ่ายใด ถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญในช่วงเวลานั้น การใส่ใบลานที่ศรีษะจะหมายถึงเป็นผู้ร่วมขบวนการผู้มีบุญ ส่วนผู้หญิงหากมีเหตุต้องเข้าไปใกล้โนนโพธิ์จะต้องนำดอกไม้มาทัดหู เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
ประยูรเล่าสิ่งที่เคยได้ยินเกี่ยวกับ ‘ใบลานจารึกอักษรขอม’ ว่าเป็นสัญลักษณ์ของกบฏ ถือเป็นภัยต่อผู้สวมใส่ หากทหารทางการมาเห็นจะถือได้ว่า เป็นผู้ร่วมขบวนการผู้มีบุญทันที
“ได้ยินพ่อแม่เล่าให้ฟัง เขา (ทางการ) มาค้นหาที่บ้านสะพือ ใครเอาใบลานออกไม่ทัน ก็ตัดคอหมด คนที่เอาออกทันก็ไม่ตาย พวกพ่อ แม่ ผู้เฒ่า ผู้แก่ ในหมู่บ้านก็เอาเสื่อพันตัวผัว เอาไปไว้บนขื่อ ซ่อนไว้ ” เนย สารีบุตร หมอลำกลอน ชาวสะพือ กล่าว
“ถ้าใส่หมวกใบลานเขาจะตัดคอ เวลามีข้าศึกใส่หมวกใบลาน ก็จะมีคนมาบอกให้ถอดหมวก ไม่อย่างนั้นจะโดนทหารฆ่าตัดคอเลย หลังบ้านตรงนั้นมีคนตายหลายคน เขาตัดคอตรงนั้น อันนี้ย่าเล่าให้ฟัง” ประยูร ไขแสง อายุ 72 ปี อดีตข้าราชการตำรวจ พร้อมกับชี้มือชี้ไม้ไปทางหลังบ้านเพื่อบอกจุดที่เคยได้ยินว่า เป็นเสมือนลานประหาร
‘ดอกไม้ทัดหู’ เป็นอีกหนึ่งสัญลัษณ์ที่พินิจได้ยินมาว่า ถ้าใครจะไปส่งข้าวทหารจะต้องมีสัญลักษณ์ด้วยการเอาดอกไม้สีขาวทัดหู เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ว่าคนนี้ไม่เป็นอันตราย หรือไม่มีพิษ ไม่มีภัย กล่าวคือมาแค่ส่งข้าว ส่งน้ำข้าศึก (ผีบุญ) หรือทางการเท่านั้น
ภาพจิตกรรมฝาผนัง เหตุการณ์ “ศึกโนนโพธิ์” พ.ศ. 2444 ที่ วัดบูรพา บ้านสะพือ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
ท้าวกวนเวียงจันทน์กำนันบ้านสะพือ?
หลังจากที่ได้สืบหาข้อมูลจากชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องศึกโนนโพธิ์แล้ว ‘ประยูร’ ยังเล่าถึง ‘ท้าวกวนเวียงจันทน์’ ที่เขาอธิบายว่า คำว่า “กวน” อาจหมายถึง “กำนัน” ว่ากันว่า ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นกำนันอยู่ที่บ้านสะพือ ซึ่งประยูรเองก็สืบเชื้อสายมาจากท้าวกวนเวียงจันทน์ด้วย
“ท้าวกวนเวียงจันทน์เป็นพ่อของย่า ซึ่งย่าเล่าให้ฟังว่า ก่อนจะเกิดศึกที่โนนโพธิ์ เขาเคยตั้งศึกอยู่ที่โนนบ่อละลาย จากนั้นก็พากันเดินลัดทุ่งมา มาตั้งอยู่ที่ทุ่งนาใหญ่ ทัพจริงๆ อยู่โนนบ่อละลาย พวกนี้จะมีใบลานมัดหัวมา ก็มารบกันที่หมู่บ้านนี้ มาตั้งศึกที่โนนโพธิ์ กี่วันก็ไม่รู้ ไม่ได้ถามปู่ย่า ตอนเล่าให้ฟังก็นอนฟังสมัยเป็นเด็ก”ประยูร กล่าว
ประยูร ไขแสง อดีตข้าราชการตำรวจ อายุ 72 ปี
“พ่อใหญ่กวนเวียงจันทน์เป็นตัวแทนสำคัญของหมู่บ้านที่คอยประสานงานกับทางการมีอะไรก็จะส่งข่าวมาบอกพวกลูกหลานให้หลบเข้าไปอยู่ในเรือนชาน ไม่ให้ออกมาข้างนอก”
นอกจาก ‘ท้าวกวนเวียงจันทร์’ จะคอยช่วยเหลือชาวบ้านให้หลบหลีกศึกสงคราม โดยการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ที่ทางรัฐไทยส่งมา อีกหน้าที่หนึ่ง คือ การปราบปรามขบวนการผีบุญ ลูกหลานเล่าว่า มีหลักฐานที่สืบทอด ซึ่งเป็นสิ่งของกวนเวียงจันทน์นั่นคือ ขอช้าง หรือ ขอสับช้าง โดย ‘ประยูร’ เคยได้รับแหวนของกวนเวียงจันทน์มาครอบครอง และได้ส่งต่อให้ลูกหลานแล้ว
“ผมเคยมีแหวนของกวนเวียงจันทน์ แหวนที่เขาเคยใส่ตอนลงมือสังหาร มันคล้ายๆ แหวนดำวงใหญ่ๆ คล้ายๆ เหล็ก เคยขูดออกดูมันเป็นนากข้างใน ประมาณ 6-7 วันต่อมา มันก็จะเป็นสีดำหุ้มมาเหมือนเดิม กลายเป็นดำธรรมชาติ ไม่ใช่รมสีดำ”ประยูรเล่าลักษณะและความลึกลับของแหวน
แม้จะยังไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัดว่า ท้าวกวนเวียงจันทน์มีรูปลักษณ์หน้าตาอย่างไร แต่สิ่งที่ยังคงหลงเหลือไว้ คือ เรื่องเล่าจากรุ่นต่อรุ่น ปากต่อปาก และข้าวของเครื่องใช้บางส่วนที่กระจัดกระจายอยู่กับลูกหลานที่ย้ายไปอยู่ต่างถิ่น