จากหน้าปกหนังสือ “ร้อยบทเพลง ร้อยดวงจิตนักปฏิวัติ”

วิทิต จันดาวงศ์ เรื่อง

เมื่อตัดสินใจเข้าป่าในเทือกเขาภูพาน “วิทิต จันดาวงศ์” ต้องเรียนรู้วิธีการอยู่ในป่า กระทั่งตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ความคิดที่แตกต่างจากเหล่าสหายที่เป็นผู้กุมเขตงานก็ทำให้มีปากเสียงบ่อยคร้ัง แต่เขาก็เอาตัวรอดมาได้และมีเรื่องราวที่ชวนจดจำบันทึก

แต่งเพลงธงแดงพรรคคอมมิวนิสต์ไทย

ครั้งหนึ่งในระหว่างเดินทางจากภูมิลำเนากลับเขตงาน ผมต้องพักค้างคืนรอเมล์อยู่ที่ฐานดงพระเจ้าเขตงานสหายสังข์ (แต่ตอนนี้เขาเลิกกลัวแล้ว)  คืนสุดท้ายหน่วยทหารป่าหรือที่เรียกว่า “ทหารปลดแอกประชาชน” โดยการนำของสหายชัยรบเข้าโจมตีสถานีตำรวจบ้านตาลโกน อำเภอสว่างแดนดิน ยึดสินสงครามได้จำนวนมาก คืนวันรุ่งขึ้นหน่วยกำลังต้องรีบลำเลียงสินสงครามขึ้นภูพานเพื่อความปลอดภัย รุ่งเช้าเดินทางต่อ ในขบวนนั้นมีผมร่วมเดินทางด้วย ระหว่างเดินทางตามเนินเขา สหายนักรบเดินเป็นแถวเรียงหนึ่งซึ่งเป็นธรรมชาติในการเดินบนเขานั่นเอง ผมอยู่ท้ายขบวน มองจากหัวแถวตลอดแนวและขณะนั้นก็มีลมพัดเบาๆ ผมเกิดจินตนาการณ์ขึ้นมาว่า ถ้าคนเดินหน้าแบกธงแดงลมพัดเอื่อยๆ คนหลังๆ สะพายสัมภาระเต็มบ่าเดินขึ้นภูช่างเป็นภาพที่น่าดูสวยงานยิ่งนัก ในขณะนั้นผมก็คิดเนื้อเพลงไปด้วย พอนั่งพักเหนื่อยก็เอาปากกามาจดเนื้อและก็เอาแมนโดลินจับโน๊ต สหายสนใจรุมมาดูและให้พาร้องเท่าที่แต่งเนื้อได้ก็เลยถือโอกาสได้พักแต่ละจุดนานกว่าปกติหน่วย พอเดินทางถึงเขตงานก็เขียนจบเพลงพอดี เนื้อเพลงเท่าที่จำได้ตอนนี้ คือ “ธงแดง   พรรคคอมมิวนิสต์ สะบัดไหวพลิ้วสู้ลม บนเขาสูงภูพานสง่างามเหนือธงใด ใด ชีวิตจิตใจมอบให้มวล   นักรบทุกคนล้วนใจอาจหาญ เผด็จการ…………….(จากนี้นึกไม่ออก)” และก็นำเสนอชื่อเพลงนี้ให้สหายหลายคนช่วยกันพิจารณาและได้ข้อสรุปว่า “ธงแดงพรรคคอมมิวนิสต์ไทย” เมื่อทางจัดตั้งเห็นด้วยก็ถือว่าใช้เป็นทางการได้

ก่อนหน้าเพลงธงแดงฯ   ระหว่างขึ้นลงภูกับที่ราบได้เขียนเพลงชื่อ “เพลงนาทราย” แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้มาจากการฟังเรื่องราวที่เจ้าหน้าที่รัฐบุกเผาบ้านนาทรายนั่นเอง   เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่แต่งตอนเข้าอยู่ป่าเขา รู้สึกว่า ขัดๆ ชอบกลอยู่ แต่ก็ต้องกล้าลอง เนื้อเพลงเท่าที่ยังจำได้ คือ “นาทราย เคยอยู่สุขสันติอุดมสมบูรณ์ แต่มาวอดกลายเป็นเถ้าถ่าน เหล่าโจรหมู่มารมันเผาวอดวาย   แค้น แค้น แค้นนาทรายเคียดแค้น…….”

ผมใช้ชีวิตร่วมกับสหายในป่าหลายเดือน เริ่มชินและเป็นกันเองกับสหายมากขึ้น สำหรับฝ่ายนำ คือ สหายวัฒนาก็คุ้นเคยมากขึ้น เริ่มกล้าคุยกล้าออกความเห็น มีสิ่งหนึ่งที่ผมติดใจมานานตั้งแต่อยู่ในคุกลาดยาว คือ การพูดคุยของบรรดาผู้ต้องขังสายจัดตั้งในลาดยาวที่เหมือนกันกับสหายในป่าก็คือ   เมื่อเอ่ยถึงการต่อสู้ การนำการต่อสู้มักจะได้ยินการเอ่ยถึงพรรค คำหนึ่งก็พรรคสองคำก็พรรค   แม้แต่จดหมายแม่ น้องชาย น้องสาวที่เขียนจดหมายถึงผมตอนยังอยู่ข้างนอกก็เช่นกัน วันหนึ่งผมถามสหายวัฒนาว่า “ทำไมพวกเราเอ่ยถึงพรรคกันพร่ำเพื่อนัก บางครั้งฟังบ่อยๆ เหมือนกับประจบ   หลงใหลทำนองนี้ ผมรู้สึกว่า มันไม่เกินไปหรือ” สหายวัฒนานิ่งคิดนิดหนึ่งแล้วก็ชี้แจงว่า “พรรคเรายังไม่มีบุคคลที่เด่นพอที่สหายจะเชื่อถือมั่นคงเหมือนประธานเหมาฯ ของพรรคจีน จึงต้องเน้นกันที่พรรค ซึ่งเป็นคณะบุคคล อีกประการหนึ่ง เรามีแนวทางที่ไม่เชิดชูตัวบุคคลจะกลายเป็นลัทธิวีรชนเอกชน เราเน้นที่คณะบุคคล ซึ่งก็หมายถึงพรรคหรือจัดตั้งนั่นเอง เรียกว่า เน้นที่วีรชนมหาชน” ผมฟังแล้วก็พอเข้าใจได้ แต่ก็ยังติดอยู่นิดเดียวที่ว่า มันบ่อยเกินพอดีเท่านั้นเอง คำถามเรื่องนี้ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อผม

ความข้องใจยังไม่หมด หลายวันต่อมา ผมคุยกับสหายวัฒนาอีกว่า  ทำไมก่อนปฏิบัติภารกิจอะไร   ไม่ว่าการกินข้าว การไปทำงานพวกเราถึงเน้นที่การท่องคติพจน์เหมา เจ๋อตง ผมคิดว่า ชาวบ้านข้างนอกฟังแล้วจะไม่เป็นผลเสียทางการเมืองหรือครับ คำถามนี้ทำให้ฝ่ายนำอยู่ในภาวะอึ้งไปพอสมควร การตอบก็ไม่เต็มปากนักเพียงบอกว่า เพื่อเป็นกำลังใจสหายเมื่อเผชิญกับความยากลำบากมั๊ง จากคำถามนี้เช้าวันรุ่งขึ้นบรรยากาศในวงศึกษา ปกติสหายจะสนใจการพูดอภิปรายของผมมาก แต่วันนั้นผิดปกติมาก มึนชา การทักทายหรือการคุยด้วยก็เป็นแบบเสียไม่ได้ ผมต้องมาทบทวนหาเหตุว่า มันเกิดจากอะไรและก็คาดเองว่า น่าจะมาจากคำถามเมื่อวันวาน ผมจำเป็นต้องปรับท่าทีใหม่   เห็นจะต้องถอยสักก้าวแล้ว ไม่เช่นนั้นอันตรายเขาสงสัยเราขายตัวให้ CIA  มาก่อนอยู่แล้ว เราต้องรู้ตัวเองด้วยว่า ข้าฯ มาคนเดียวเดี๋ยวหัวขาดไม่รู้ตัว จากวันนั้นมาผมก็พูดไปตามที่พวกสหายนิยมพูด   ทำในสิ่งที่สหายนิยมทำเพื่อรักษาสภานะตัวเองไม่ให้ถูกโดดเดี่ยวเท่านั้นเอง  

รับหน้าที่ทำหนังสือพิมพ์เขตงาน

เมื่อต้นปี 2517 น่าจะประมาณเดือนกุมภา – มีนา ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขึ้นในเขตงานภูซากลากหรือที่เรียกชื่อรหัสว่า “เขต 555” มีสหายนำคนใหม่ชื่อสหายสยาม (ประจวบ เรืองรัตน์) มาแทนสหายวัฒนาทราบว่า จะเดินทางไปต่างประเทศ ผมทราบการเปลี่ยนแปลงนี้แล้วคิดในใจว่า เอาล่ะสิ ตัวเราจะมีโอกาสไปหรืออยู่กันแน่ อุปกรณ์การทำงานก็หามาครบแล้ว ในที่สุดก็สบายใจขึ้นเมื่อรู้ว่า เราไม่ต้องไปไหน แถมยังได้รับภาระหน้าเพิ่มขึ้น โดยมติของจัดตั้งให้ทำหนังสือพิมพ์ของเขตงาน   เอาล่ะสิความรู้เรื่องหนังสือพิมพ์ก็ไม่เคยรู้เรื่องเลย ตอนอยู่ลาดยาวก็ไม่ได้สนใจเรื่องการทำหนังสือพิมพ์และก็ไม่เคยได้ยินนักหนังสือพิมพ์ในลาดยาวเขาเสวนากันเรื่องนี้เลย เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการพูดเรื่องการเมืองกันเสียมากกว่า  

เมื่อคณะนำ (จัดตั้งประกอบด้วย ส.สยาม ส.สัจจะ ส.พิชิต) เรียกไปแลกเปลี่ยนความเห็น ผมก็ยืนยันอย่างที่ผมคิดว่า ไม่น่าจะทำได้ ส. สัจจะและพิชิตให้กำลังใจว่า ค่อยเรียนรู้ไปก็น่าจะทำได้ ส่วนลุงสยามโพล่งออกมาคำเดียวว่า “ผมเชื่อว่าสหายปานต้องทำได้” เท่านั้นจริงๆ จบการสนทนา นั่นหมายความว่า ผมต้องทำไม่มีทางหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่น แรกๆ ผมอึดอัดทั้งคิดในใจว่า คอมมิวนิสต์นี่บังคับกันขนาดนี้เชียวหรือ แต่เราก็ต้องทำและก็ทำอย่างตั้งอกตั้งใจด้วยความรับผิดชอบอย่างยิ่ง   บุคคลที่น่าได้รับความขอบคุณอย่างมากในงานนี้ คือ สหายร่วมหน่วยพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหายสุภาพหัวหน้าหน่วย ทุกคนช่วยงานอย่างเต็มที่ในสิ่งที่เขาทำได้และพยายามทำในสิ่งที่ได้รับคำแนะนำจากผม เมื่องานฉบับแรกสำเร็จออกเผยแพร่ในเขตงาน ได้รับการตอบรับดีเกินคาดไม่ว่า จากสหายระดับล่าง  มวลชนและสหายนำ  

ความสำเร็จงานนี้ผมคงต้องขอบคุณลุงสยามที่ให้วลีเด็ดประโยคเดียวนั่นเอง ทำให้ผมต้องดิ้นรนค้นหาอ่าน หาค้น พูดคุยและที่แปลกก็คือ ผมต้องทำหน้าที่ตั้งแต่ บก. เขียนบทนำ เขียนข่าว   ออกแบบเล่ม ออกแบบปกและโรเนียวด้วย 

จากความพยายามที่จะต้องเอาชนะคำพูดประโยคเดียวของลุงสยามทำให้หนังสือพิมพ์เพลิงภูพานเขตงาน 555 ได้รับการยอมรับจากทุกเขตงานบนเทือกเขาภูพาน ความชอบตรงนี้ผมว่า น่าจะเป็นของลุงสยามมากกว่าผม

นอกจากงานทำหนังสือพิมพ์แล้ว ผมยังได้รับมอบหมายงานอีกอย่างหนึ่ง คือ นำการศึกษาตอนเช้าในทับ เอกสารศึกษารู้สึกว่า จะเป็นคติพจน์ เหมา เจ๋อตง เขาให้เลือกบทที่จะใช้แก้ปัญหาทางความคิดการเมืองและการจัดตั้งภายในทับเพื่อเป็นการยกระดับสหายไปพร้อมกัน

ผมจำได้ว่า วันหนึ่งกำลังนั่งอภิปรายเกี่ยวกับวิภาษวิธีกันอยู่ ผมอธิบายต่อสหายว่า  วิหมายถึงโต้แย้ง   ภาษมาจากภาษา วิภาษวิธีก็คือการโต้แย้งเพื่อหาเหตุผล หาความถูกต้อง (คำนี้ผมจำจากจิตสอนตอนอยู่ลาดยาว) การอ่านหนังสือก็ดี การฟังการพูดการอภิปรายจากผู้อื่นก็ดี เราอย่าพึ่งเชื่อทันทีโดยไม่ผ่านการคิด การค้นหาเหตุผลโต้แย้งเพื่อหาความจริง ความถูกต้อง ผมพูดถึงตอนนี้มีเสียงทะลุกลางปล้องมาจากข้างๆ วงเสวนาว่า “ความคิดท่านประธานเหมาฯโต้แย้งไม่ได้ เพราะเป็นสัจธรรมที่สรุปมาแล้วขืนโต้แย้งจะเป็นลัทธิแก้” ผมหันไปยังทิศทางเสียงที่มาปรากฏว่า ลุงสยามนั่งอยู่ข้างวงเสวนาไม่ไกลนัก สหายในวงเสวนาพากันหัวเราะ ผมก็ได้แต่นั่งเก้ออยู่ไม่รู้จะทำอย่างไรลุงสยามก็ว่าต่อของแกไปเรื่อยจนถึงเวลาเลิก ผมคิดในใจว่า แกต้องการดีสเครดิตเราหรือว่าแกเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งทั้งสองอย่างผมก็เข้าใจว่ามันไม่ถูกต้องทั้งเพก็ได้แต่เก็บความรู้สึกไว้ในอกก็เท่านั้น

อีกครั้งที่ผมไม่เคยลืม คือ ตอนนั้นประมาณกลางปี  2517 มีสหายเดินทางกลับจากการศึกษาการเมืองการทหารที่ประเทศจีน มาถึงเขตงาน 555 มีสองคน คือ สหายฉลองและสหายนิพนธ์   สหายนิพนธ์เป็นสามีของสหายสุภาพ เท่าที่สังเกตดูการแต่งตัวใส่ชุดเขียวเสื้อคอแดงหมวกดาวแดง   รองเท้ายางแบบหน่วยดักกงของเวียดนาม ดูแล้วก็เท่พอสมควรเป็นที่สนใจของสหายทั่วไปมาก   เท่าที่ผมได้คุยกับสหายนิพนธ์หลายครั้งรู้สึกว่า การพูดคุยของเขาจะเอ่ยถึงแต่จีนตลอด คำหนึ่งก็จีน   สองคำก็จีน แบบชื่นชมหลงใหลพอสมควรจะไม่ได้ยินการเอ่ยเปรียบเทียบระหว่างเรากับเขาเลย ผมเกิดคำถามในใจว่า นี่มันเอียงมากไปไหมก็ได้แต่คิด วันหนึ่งผมนั่งคุยกับลุงสหายผมพูดเปรยๆ ขึ้นมาว่า ตอนผมอยู่ในสังคมในเมือง เห็นฝ่ายรัฐส่งคนไปเรียนอเมริกากลับมาเป็นอเมริกาจ๋าไปเลย  ส่วนฝ่ายเราส่งสหายไปเรียนจีนกลับมาจะไม่เป็นจีนจ๋าเหมือนกันหรือ ลุงสยามอึ้งพักหนึ่งแล้วตอบว่า มันไม่เหมือนกันเท่านั้นไม่มีคำอธิบายต่อ ดูอาการแล้วจะไม่ค่อยพอใจนักทำให้ผมรู้สึกทันทีว่า เราจะลองของอีกแล้วซิ  ลืมคำว่าข้าฯมาคนเดียวที่ถือเป็นคาถาท่องไว้ประจำ จากนั้นก็ปิดปากเงียบอีกตามเคย

แต่งเพลงเอาเลือดมันล้างหนี้เลือดประชาชน

หลังจากสหายนิพนธ์กลับจากจีนไม่นานนักก็มีการประชุมคณะกรรมการนำแล้วมีการปรับปรุงการจัดตั้งในหน่วยงานทหาร โดยย้ายสหายชัยรบผู้บังคับกองร้อยทหารเขตงาน 555 ไปรับหน้าที่ใหม่ คือ งานมวลชนที่เขตดงมูล รอยต่อจังหวัดขอนแก่น – กาฬสินธ์ุ มอบหมายให้สหายนิพนธ์เป็นผู้บังคับกองร้อยแทน จากการโยกย้ายครั้งนี้ก็มีเสียงกระซิบเท่าที่ผมได้ยินว่า ชัยรบจบโรงเรียนการเมือง – การทหารจากเวียดนามก็เท่ากับลูกเมียน้อย ต้องหลีกทางให้กับการเมืองการทหารจากจีน ผมฟังตอนนั้นก็คิดเพียงว่า คงเป็นการระบายความน้อยใจจากฝ่ายที่ถูกย้ายมากกว่า (แต่ปัจจุบันเริ่มรู้สึกว่า มีน้ำหนักมีเหตุผล)

หลังจากการเปลี่ยนแปลงไม่นานมีกำลังทหารจากฝ่ายรัฐยกกำลังขึ้นไปตั้งมั่นที่บ้านคำน้อยหลังภูพาน ฝ่ายกำลังทหารเขตงาน  555  โดยการนำของสหายนิพนธ์สืบสภาพแล้วเข้าโจมตีตอนกลางวัน   ผลการสู้รบทำให้สหายนิพนธ์ผู้บังคับกองร้อยตายในสนามรบและไม่สามารถนำศพออกมาได้   จากนั้นเครื่องบินของฝ่ายรัฐเข้าระดมยิงกราดไม่หยุดยั้ง ทำเอานักรบในกองร้อยนี้เสียขวัญกันมาก   ในที่สุดทางจัดตั้งจำเป็นต้องย้ายสหายชัยรบกลับมากู้ขวัญทหารกองร้อยนี้เพื่อเรียกขวัญทหารกองร้อยนี้กลับมา  ทางจัดตั้งส่งสหายยุทธศาสตร์ไปทำหน้าที่แทนที่ดงมูล

การสูญเสียจากการสู้รบครั้งนี้ คนที่น่าสงสารและเห็นใจที่สุดสำหรับผม คือ สหายสุภาพ สามีจากไปเรียนต่างประเทศร่วมสองปีกลับมาไม่กี่วันก็ต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ผมเห็นใจยิ่ง เพราะอยู่ในหน่วยจัดตั้งเดียวกัน เธอเป็นหัวหน้าหน่วยด้วย ผมจึงเขียนเพลงปลอบขวัญให้ทั้งเธอและสหายในกองร้อยด้วย โดยมีเนื้อเพลงว่า “ทระนง องอาจสู้หมู่ไพรี เพื่อศักดิ์ศรีกองทัพปลดแอกประชาชน   บุกหน้าไปใจมุ่งมั่นและอดทน……จำวรรคนี้ไม่ได้และท่อนสอง….ปวงประชาชนชาวไทยใจรักชาติ   จักพิฆาตพวกปฏิกิริยาให้อาสัญ รวมพลังผู้รักชาติทั่วหน้ากัน เอาเลือดมันล้างหนี้เลือดประชาชน”   และเพลงนี้ร่วมกันตั้งชื่อเพลงว่า “เอาเลือดมัน   ล้างหนี้เลือดประชาชน” เนื้อเพลงนี้ผมแปลงมาจากกลอนที่ผมเขียนที่ห้องขังกองบังคับการสันติบาล หลังครูครอง ผู้เป็นพ่อถูกประหารเมื่อ 31 พฤษภาคม 2504 นั่นเอง

อีกเพลงที่ผมแต่งหลังจากนี้ประมาณปลายปี 2517 เป็นเพลงร้องเดี่ยวทำนองลูกทุ่ง สหายหลายคนชอบมาก แต่เสียดายที่ทางจัดตั้งไม่ให้นำออกเผยแพร่ โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพลงร้องเดี่ยว เมื่อไม่ได้ร้องก็ทำให้ลืมเนื้อไปเกือบหมด จำท่อนกลางได้บ้าง คือ “ศัตรูปราบปรามด้วยการยิ่งกราด โดยทางเครื่องบิน ระเบิดทุ่มลงแผ่นดินสั่นสะเทือนสนั่นฟ้า ลูกหลานประชา………” แรงจูงใจในการเขียนเพลงนี้มาจากการที่ฝ่ายรัฐจู่โจมทางอากาศตั้งแต่เช้ามืดทำให้เกิดความโกลาหนพอสมควร เสียงระเบิดดังยิ่งกว่าเสียงฟ้าผ่า จากนั้นก็มีการยิงกราดด้วยเครื่องบินที 28 และคาริบูสองเครื่องยนต์นานถึงห้าโมงเช้า รวมแล้วประมาณ  5  ชั่วโมง โชคดีที่ไม่มีใครได้รับอันตราย เพราะจุดที่ทิ้งระเบิดและยิงกราดนั้น เป็นทับที่พวกเราย้ายออกหลายวันแล้ว แต่ว่าหิวข้าวกันตัวสั่นเพราะไม่สามารถก่อไฟหุงหาอาหารได้

พูดถึงเพลงเดี่ยวที่ถูกห้าม หลังจากนั้นเมื่อนักศึกษาเข้าป่ามากก็มีการทำเพลงเดี่ยวออกร้องอยู่ดี   ผมไม่ทราบว่า มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อใด

สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคฯ

ปลายปี 2517 ผมเข้ามาอยู่ป่าเขาได้หนึ่งปีและผ่านการช่วยงานในกองป่ามาด้วยดี ทางจัดตั้งจึงมอบหมายให้สหายสัจจะ (ซึ่งเป็นคนคุ้นเคยกับผมมาก่อนตั้งแต่พ่อ) มาแนะนำชักชวนให้ผมยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคฯ แต่ผมให้เหตุผลว่า ขอเป็นนักปฏิวัติที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคฯ ไม่ได้หรือผมยังไม่เห็นความจำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคฯ สหายสัจจะพยายามให้เหตุผลหลายอย่างแต่ผมยังยืนยันคำเดิม ต่อมาอีกสองสามวัน สหายพิชิต ซึ่งเป็นคนหนุ่มที่สุดในคณะนำเขตงานนี้เป็นคนมาแนะนำ   แรกๆ ผมให้เหตผลเหมือนกับที่คุยกับสหายสัจจะ แต่รู้สึกว่า สหายพิชิตจะมีเหตุผลที่เหนือกว่านั้น   แกกล่าวว่า “การปฏิวัติในประเทศไทยนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นคนที่จะกุมอำนาจในการปฏิวัติก็ต้องเป็นคนของพรรคและต้องเป็นสมาชิกพรรคด้วย แม้สหายจะมีผลงานดี ทำงานเก่งแต่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคฯ เขาจะไม่ยอมมอบอำนาจหรือแต่งตั้งให้สหายรับผิดชอบงานสำคัญใดๆ เลยจะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าสหายเอง”   

ผมฟังและคิดตามรู้สึกและมองเห็นว่า น่าจะเป็นเช่นนั้น จึงตอบตกลงใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคฯ จากนั้นเขาก็ให้กรอกใบสมัครเป็นสมาชิกเตรียมอยู่ 6 เดือน คำว่าสมาชิกเตรียมนั้นก็คือสมาชิกสำรองเพื่อทดสอบอีกครั้ง ในระหว่าง 6 เดือนนี้ทางจัดตั้งจะมอบหมายการงานเพื่อเป็นการทดสอบ เมื่อครบกำหนดก็นำเข้าที่ประชุมหน่วยนำเพื่อให้ความเห็นว่า ควรรับเป็นสมาชิกสมบูรณ์หรือไม่ บางคน 6 เดือนผ่านได้ บางคนยืดเวลาต่ออีกเพื่อให้การช่วยเหลือทางความคิด 3 เดือนเป็น 9 เดือน แล้วแต่การดัดแปลงของแต่ละคน สำหรับผมการงานที่จัดตั้งมอบให้ก็เป็นงานที่ทำประจำอยู่แล้ว เช่น ทำหนังสือพิมพ์ สอนพิมพ์ดีดและนำการศึกษาภายในทับ เป็นต้น

การสำรวจวิจารณ์ภายในทับกลาง

การสำรวจวิจารณ์ภายในทับแต่ละทับจะมีเป็นประจำทุกเดือน เพื่อเป็นการแก้ไขจุดอ่อนข้อบกพร่อง ทั้งทางความคิดการเมืองและความมีวินัยทางจัดตั้งเพื่อเป็นการยกระดับทางความคิดการเมืองและวินัยทางจัดตั้งให้สูงขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น การสำรวจวิจารณ์จะได้ผลมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการนำการวิจารณ์ว่า เปิดกรอบประชาธิปไตยกว้างแค่ไหน เพียงใด

มีครั้งหนึ่งมีสหายนักรบนำเรื่องความบกพร่องภายในทับกลาง ออกไปวิจารณ์ภายนอกทับเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวระหว่างสหายชายกับสหายหญิง ทั้งสองคนนี้เป็นสหายที่ติดตามมากับสหายสยาม เมื่อฝ่ายนำรู้เรื่องก็เรียกเปิดประชาธิปไตยภายในทับ แต่การวิจารณ์นั้นเน้นโจทย์ไปที่คนนำไปวิจารณ์ภายนอก ไม่เน้นเหตุที่ทำให้เกิดการวิจารณ์ สังเกตดูไม่มีใครกล้าพูดถึงต้นเหตุนี้เลย แม้แต่สหายสัจจะเองก็เช่นกัน สุดท้ายมาที่ผมเป็นคนขอวิจารณ์ ผมกล่าวเบื้องต้นว่า “การนำเรื่องราวภายในทับออกไปวิจารณ์ข้างนอกนั้นมันก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เมื่อเรารับรู้ทั่วกันแล้วเราก็ร่วมกันแก้ไขนะสหาย   จะไม่ให้มันเกิดซ้ำอีก แต่ประเด็นสำคัญผมเห็นว่า ต้นเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องไปวิจารณ์ภายนอกนั้นก็ควรจะนำมาสำรวจวิจารณ์แก้ไขด้วย เพราะต้องมีลักษณะสองด้าน เมื่อเห็นความบกพร่องที่ปลายเหตุแล้วก็ควรจะต้องวิจารณ์แก้ไขที่ต้นเหตุด้วย ปัญหาทั้งหลายจึงจะแก้ตก ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถหยุดยั้งการวิจารณ์ภายนอกได้และจะเกิดปัญหาซ้ำซ้อนตามมา เมื่ออีกคนทำได้คนอื่นก็อาจจะใช้สิทธิ์นั้นกระทำเช่นเดียวกัน  ผมว่า น่าจะนำด้านหลักนี้มาวิจารณ์แก้ไขด้วย”   

เมื่อผมพูดจบที่ประชุมนิ่งเงียบไม่มีใครพูดอะไรเลย แม้แต่สหายสยาม ส่วนสหายอีกคนที่พึ่งกลับจากจีนก็วิจารณ์ทำนองแก้เกี้ยวผมบ้างเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องการรักษาความลับ โดยพูดว่า ในจีนเขารักษาความลับกัน แม้แต่ลูกเขาเรียกพ่อว่าสหายเพื่อไม่ให้รู้ว่าเป็นพ่อลูก คำวิจารณ์นี้ผมพอเข้าใจ   เพราะว่าทางจัดตั้งเขาให้รับลูกและภรรยาผมเข้ามาและลูกผมก็ยังเรียกพ่ออยู่ ผมฟังรู้เจตนาแต่ไม่โต้แย้งใดๆ สุดท้ายก็จบการสำรวจวิจารณ์กันแค่นั้น

รุ่งเช้าสหายสัจจะมาคุยกับผมว่า สหายปานพูดเมื่อคืนนี้ดีมากเลย มันต้องสองด้านแต่ไม่มีใครกล้าพูด   ผมฟังแล้วก็ไม่ได้ต่อความใดๆ อีก อีกคน คือ สหายต้านพูดกับผมว่า สหายปานพูดเมื่อคืนนี้ถูกใจฉันจริงๆ  มันต้องมีอย่างนี้บ้าง (ความจริงสหายต้านก็ลูกหลานสหายสยามนั่นเอง มาเขตงาน  555 พร้อมกัน)

การเปลี่ยนแปลงขยายเขตงาน

ต้นปี 2518 สหายสยามถูกเรียกขึ้นไปเขตฐานที่มั่น (เขต 333 พื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดสกลนคร – กาฬสินธุ์ – มุกดาหาร – นครพนม) ดูท่าแล้วอาจไม่ได้กลับมาเขตงานนี้อีก เพราะเห็นยกโขยงกันไปทั้งทีมที่ตามมาด้วยแต่ต้น  ในขณะเดียวกันก็ให้ผมเดินทางขึ้นไปด้วย การเดินทางใช้เวลาหลายวัน (ประมาณ 5 วัน) ถึงเขตฐานที่มั่น สถานที่แรกที่พวกเราไปถึงจำไม่ได้ว่า เขาใช้รหัสอะไร   ภูมิประเทศต่างกับเขตงาน 555 มาก ภูเขาสลับซับซ้อน ชัยภูมิดีกว่าภูซากลากเขตงาน 555 มาก

ทับที่คณะสหายสยามไปพักเป็นทับศูนย์การนำภาคอีสานเหนือหรือชื่อย่อเรียกว่าศูนย์การนำ อ.น.  การย้ายทับของศูนย์การนำแต่ละครั้งเรียกว่า ย้ายข้ามเขตอำเภอ (อำเภอของเขตงาน พคท.) ต้องเดินทางกันเป็นวันข้ามเขาหลายลูก ตอนผมไปมีการย้ายทับครั้งหนึ่งไม่ทราบชัดว่าเสียลับหรือมีคนในหน่วยงานอื่นออกมอบตัว

คราวนี้ผมมีโอกาสรู้จักกับสหายนำระดับภาคตอนนั้นหลายคน เช่น สหายเจริญ (นายเลี้ยง ภิรมย์นามถ้าจำไม่ผิด)  สหายปฏิ  สหายประสาน (นายคำปุ่นรู้จักกันมาก่อน) สหายเผด็จ สหายขจัดเป็นต้น คณะนำมีการประชุมกันผมรอและมีโอกาสรู้จักกับสหายเทิดลูกชายสหายเจริญและสหายสมหวัง ทั้งสองคนเดินทางมาจากหินร่องกล้าภาคเหนือ ผมมีโอกาสถามข่าวคราวน้องชาย คือ ธำรง   จันดาวงศ์ ชื่อจัดตั้งสหายพิชัย  ผมพึ่งรู้จักชื่อจัดตั้งน้องชายในคราวนั้นเอง นอกจากการถามข่าวคราวแล้วก็มีโอกาสรับฟังเรื่องราวการต้านยุทธการภูขี้เถ้า จากการโจมตีของทางฝ่ายรัฐบาล ทางฝ่ายเราบัญชาการรบโดยสหายพิชัย ฟังสหายเทิดเล่าได้ละเอียดมาก ผมพยายามเก็บข้อมูลรายละเอียดในฐานะคนทำหนังสือพิมพ์เขตงานและหาข้อมูลเพิ่มเติมจากสหายสมหวัง ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งผมได้จากฝ่ายนักรบในกองทหารของรัฐเมื่อปี 2515 ก่อนเข้าป่า  ระหว่างนั้นผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยรถบัส(ที่เขาเรียกรถร้อน สมัยนั้นยังไม่มีรถทัวร์)  ถ้าจำไม่ผิดเข้าใจว่า จะเป็นที่โคราช ยศเขาน่าจะนายสิบ  เมาแทบยืนไม่อยู่ขึ้นรถมานั่งที่นั่งเดียวกับผม พอขึ้นนั่งรถเขาก็หลับเพราะความเมา แต่การหลับนั้นมันสร้างความรำคาญให้กับผมมากเพราะแกเอาหัวมาพาดบ่าผม ผมผลักออกและเตือนแกด้วยความรำคาญประกอบกับระยะนั้นผมเห็นสีเขียวไม่ชอบเอาเสียเลย เพราะภาพที่พ่อถูกยิงเป้าจะปรากฏในสมอง แต่ด้วยความเป็นคนใจเย็นพอถึงสีคิ้วรถจอดพักกินข้าว ทหารคนนั้นตื่นกล่าวขอโทษผมและชวนผมไปนั่งกินเบียร์ด้วยกัน แต่ผมปฏิเสธ เมื่อเสร็จภารกิจกลับขึ้นรถ แกถือเบียร์ขึ้นมาบนรถส่งให้ผมขวดหนึ่ง ผมปฏิเสธอีก ตอนนี้แกไม่หลับจิบเบียร์ไปแล้วก็คุยระบายความอึดอัดให้ผมฟังแกบอกว่า “พี่ผมขอโทษนะผมเมาเพราะผมกลุ้ม ผมกลับจากสมรภูมิหินร่องกล้า   ไปรบกับ ผกค.  พี่เห็นข่าวนักบิน ฮ. ที่ได้เหรียญกล้าหาญไหม   เป็นข่าวใหญ่โตว่า ถูก  ผกค.ยิงแต่สามารถนำ ฮ.กลับมาฐานได้  ไอ้ควาย ไอ้ขี้ขลาด  ผกค. ที่ไหนละ พวกผมนี่แหละยิง เรา ว. ให้มันมารับคนเจ็บมันบินมา ผกค.ยิงแต่มันไกลมันบินหนี พวกเรา ว.ให้บินมาอีกจะยิงคุ้มกันให้ พอบินมาเสียงปืนดังทั้งฝ่ายเราฝ่ายเขามันบินหนีอีก พวกเรายั๊วะผู้หมวดผมเลยบอกว่า ว. เรียกมันมา หากมันไม่ลงอีกยิงมันเลยไม่ต้องให้ ผกค. ยิงหรอก เท่านั้นได้เรื่องเลยพี่ พอ ฮ. บินมาถึงพวกเราก็ระดมยิง ฮ. แม่งมันเลย สะใจจริง แต่มันบินกลับไปฐานกลายเป็นวีรบุรุษเฉย มันเจ็บใจจริงๆ พี่”

เมื่อได้ข้อมูลของทั้งสองฝ่ายที่คล้องจองกันดี ถือว่า เป็นวัตถุดิบอย่างดีในการเขียนเรื่องราว อีกทั้งตอนนั้นผมก็กำลังอินกับการทำหนังสือพิมพ์มากทีเดียว ผมเขียนเป็นบทความเชิงสารคดีชื่อ “ต้านยุทธการณ์ภูหินร่องกล้า” เตรียมจะลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เพลิงภูพาน (คิดว่าจะได้กลับมาทำอีก)   เมื่อเขียนเสร็จผมให้สหายเทิดอ่าน แกชื่นชมมาก ออกปากว่า สหายเขียนได้ดียังกับคนอยู่ในเหตุการณ์ ส่วนสหายสมหวังอ่านแล้วก็ได้แต่ยิ้มๆ ว่าดีเท่านั้น ไม่มีคำวิจารณ์อื่นใด ถ้าให้ผมคิดก็คือว่า ชาวบ้านอ่านหนังสืออ่านแล้วอ่านเลย ส่วนปัญญาชนอ่านค่อนข้างจะมีการคิด การวิจารณ์ทั้งด้านเห็นด้วยและด้านแย้ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นคนทำงานมวลชนหรือพัฒนาองค์กรต้องเข้าใจข้อเท็จจริงนี้ด้วย

จากข้อมูลเรื่องยุทธการภูหินร่องกล้านี้เอง เป็นแรงบันดาลใจให้ผมแต่งเพลงหินร่องกล้าตระหง่านฟ้าเกรียงไกร วันนั้นผมอยู่ว่างๆ ระหว่างรอสหายนำเขาประชุม ผมนั่งอยู่ปากถ้ำบนตะแค่นอน  มองไปข้างหน้าเห็นเขาแต่ละลูกสลับซับซ้อนเหมือนกับนิ้วมือ เกิดจินตนาการเห็นภาพภูหินร่องกล้าก็น่าจะเป็นเช่นนั้น ผมหยิบกีต้าร์ (ที่นำติดตัวไปจากเขต 555 ตอนนั้นในป่ายังไม่มีกีต้าร์มาก่อน) ขึ้นมาจับโน้ตไปพร้อมกับเนื้อเพลงทีละวรรค ระหว่างที่มีเสียงกีต้าร์ดังเบาๆ สหายบัวทองผู้หมวดทหารพิทักษ์องค์การนำ เข้ามานั่งดูใกล้ๆ ด้วยความเงียบไม่มีปริปากถามอะไรเลย มีสหายอื่นเดินเข้ามาบ้างสหายบัวทองก็ส่งสัญญาณให้เงียบ ต้องขอบคุณสหายบัวทองจริงๆ รู้ใจกันและสหายบัวทองยังมีส่วนเสนอแก้ไขเนื้อร้องบางคำเช่นในตอนท้ายที่ผมเขียนว่า “เสียงปืน ระเบิดนาปามสนั่น” ตอนซ้อมร้องบัวทองบอกว่า น่าจะเป็น “เสียงปืน ระเบิด   ทุ่มลงสนั่น” ผมฟังแล้วก็ตอบรับแก้ตามสหายบัวทองพร้อมกับขอบคุณแก ตอนนำมาร้องในทับศูนย์ฯผมจะกล่าวชมแกต่อหน้าสหายว่า เพลงนี้สหายบัวทองมีส่วนร่วมในการแต่งด้วยและเพลงนี้เป็นที่ชื่นชอบในเขตงานภูพานมาก แต่เมื่อส่งทั้งโน๊ตและเนื้อไปไม่ปรากฏว่า ได้ออกอากาศทาง สปท. เลย ตอนหลังสหายเริงพาพวกสหายเขต  999  ร้องบันทึกเทปส่งไปได้ยินออกบ้าง แต่เท่าที่ผมฟังทำนองเพี้ยนอยู่บ้างบางตอน ซึ่งถือว่าเป็นข้อจำกัดของพี่น้องชาวอีสาน เพลงนี้สหายเขตงานอื่นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ใครแต่งเพลงนี้ จนกระทั่งออกมาอยู่ข้างนอกแล้วมีการถามกัน   จึงรู้ว่าใครเป็นคนแต่ง สหายอดีตนักศึกษายังเคยถามผมว่า เคยไปหินร่องกล้าไหม ผมตอบว่าไม่เคย เขาก็แปลกใจว่าคนไม่เคยไปหินร่องกล้าทำไมเขียนเพลงนี้ได้เข้าสภาพจริงๆ ผมก็ให้เหตุผลตามที่รับรู้มาอย่างที่เขียนบทความนั้น

ก่อนที่ประชุมคณะนำจะเสร็จไม่กี่วันก็มีสหายนำถามความเห็นผมว่า จะให้ผมอยู่ทำหนังสือพิมพ์ธงปฏิวัติ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของส่วนกลางศูนย์การนำอีสานเหนือ ผมขอร้องว่า ขอไปทำงานมวลชนเถอะ ผมคิดว่าจะถนัดกว่า อีกประการหนึ่งถ้าให้ผมทำแล้วจะให้คนเก่าเขาไปทำอะไร เดี๋ยวก็จะเกิดปัญหาได้และที่สำคัญกว่านั้นฝ่ายนำที่จะไปรับผิดชอบเขตงานอยู่ที่ราบ ทั้งเป็นคนในพื้นที่และรู้จักผมมาก่อน ตั้งแต่สมัยพ่อ พวกเขาขอตัวกลับไปทำงานมวลขนในพื้นที่ ซึ่งน่าจะช่วยงานได้มากกว่า   สุดท้ายก็มีมติตามความเห็นนี้ เมื่อผมรับทราบมติที่ประชุมแทบอยากกระโดดสุดตัวด้วยความดีใจ

การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงในเขตงานของอีสานเหนือครั้งนี้ เป็นการเพิ่มเขตงานระดับจังหวัดขึ้นอีกหนึ่งเขต คือ เขตงาน  222 แยกออกจากเขตงาน 555 จึงกลายเป็นสองเขตจังหวัด (ก่อนหน้านั้นเป็นเขตเดียว คือ  555) ต้องมีคณะกรรมการจังหวัดสองคณะ สหายประสานย้ายจากตำแหน่งรองเลขาธิการเขตงาน 999 ไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการจังหวัดเขตงาน 222 ตั้งอยู่รอยต่อจังหวัดสกลนคร – อุดรธานี – หนองคาย เขตงานนี้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบประกอบด้วย  ดงสาน- ดงผีเรือน (อ.สว่างแดนดิน) ดงผาลาด – ดงหม้อทอง – ดงคำภู (อำเภอบ้านม่วง  จังหวัดสกลนคร)  ดงสีชมพู – ภูสิงห์ – ภูวัว  (อำเภอศรีวิลัย  บึงกาฬ) การขยายเขตงานครั้งนี้ก็เนื่องมาจากกระแสการตื่นตัวมวลชนจากกรณี  14  ตุลา  16  นั่นเอง ไม่อาจปฏิเสธเรื่องนี้ได้เลย ส่วนเขตงาน  555  เดิมทราบว่า มีสหายพิชิตขึ้นมารับตำแหน่งเลขาธิการเขตงานหรือ  กจ.  555 แทนสหายสยาม

เมื่อภารกิจการประชุมคณะกรรมการภาคอีสานเหนือจบลง คณะนำแต่ละส่วนก็แยกย้ายกันกลับเขตงาน ผมเดินทางกลับพร้อมคณะสหายประสาน สหายปฏิ ผ่านเขตงาน 999  ถึงเขตงาน 555 ใช้เวลาหลายวัน คณะสหายประสานพักอยู่เขตงาน 555 นานร่วมเดือน เพราะต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดมติให้คณะกรรมการเขตงาน 555 ทราบ  จากนั้นคณะสหายประสานจึงเดินทางต่อลงไปที่เขตงาน 222  ช่วงนั้นเป็นปลายฝนแล้ว น้ำกำลังหลาก พวกเราต้องเดินทางผ่านทุ่ง ทามลุยน้ำตอนกลางคืนลำบากพอสมควร จุดหมายที่ไปก็คือดงผาลาด ทับกลางสหายประสานปักหลักที่นี่ เมื่อพวกเขาประชุมคณะกรรมการจังหวัด (กจ.) เพื่อถ่ายทอดมติชั้นบนและมอบหมายภาระหน้าที่ให้กรรมการแต่ละคนไปปฏิบัติให้บรรลุผลตามมตินั้นต่อไป

สำหรับผมตอนแรกก็ทำหน้าที่ครูสอนพิมพ์ดีดไปก่อน เพราะยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์กับเขา อายุการเตรียมสมาชิกพรรคของผมครบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2518 ผ่านมา  2 – 3 เดือนแล้ว   แต่ทางหน่วยพรรคเขายังไม่มีการประชุมกันเพื่อพิจารณาว่า สมควรจะรับเข้าเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ ต้องผ่านการพิจารณาของหน่วยพรรคที่รับผิดชอบ สำหรับประวัติผมรู้สึกว่า ต้องนำส่งคณะกรรมการจังหวัดพิจารณา เพราะเป็นบุคคลพิเศษ ผลงานได้ แต่ประวัติยังเป็นที่สงสัยระดับล่างอาจไม่รู้กว้าง สุดท้ายรอดมาได้กว่าจะได้รับแจ้งว่าได้รับเป็นสมาชิกพรรคฯ สมบูรณ์แล้วก็หมดฝนพอดี

เมื่อเข้าเป็นสมาชิกพรรคฯสมบูรณ์ ทางจัดตั้งก็มอบหมายงานมวลชนในเขตงานดงผาลาดถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นสองหมู่บ้านในเบื้องต้น  คือ  บ้านคำลอดพื้นหรือชื่อรหัสเรียกว่าบ้านน้ำ อีกบ้านหนึ่ง คือ บ้านนาดูนชื่อรหัสว่า บ้านขาม บ้านนี้เป็นชนชาติภูไท อพยพมาจากอำเภอเขาวง กาฬสินธุ์   งานอีกชิ้นหนึ่งที่ถือว่า สำคัญ คือ งานติดต่อแนวร่วมในเมือง   เพราะผมเป็นคนเมืองคนเดียวในเขตงานนั้น

image_pdfimage_print