จนิสตา อาภาแสงเพชร  เรื่องและภาพ

บุญบาปถูกนำมาผสมปนเปกับงานแห่เทียนพรรษา เมืองอุบลราชธานีอย่างแยกไม่ออก ทำให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแห่เทียน เป็นประเพณีดั้งเดิมแต่ครั้งโบราณ แต่แท้จริงแล้วความวิจิตรตระการของขบวนแห่เทียนกลับเป็นการกลบฝังประวัติศาสตร์แห่งความเจ็บปวดบางอย่างที่แทบไม่มีใครรู้จักหรือจดจำ นั่นคือ สถานที่จัดงานเคยเป็นลานประหารผู้มีบุญเมื่อปี 2445

การแห่เทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี เป็นประเพณีในดวงใจของใครหลายคน แต่กลับมีนัยทางการเมือง โดยใช้ความสนุกสนานและความดีเข้ากลบความทรงจำเกี่ยวกับลานประหาร ณ ทุ่งศรีเมืองจนหมดสิ้น 

แรกเริ่มเดิมทีประเพณีนี้เกิดขึ้นภายหลังการปราบกบฏผีบุญเมื่อ พ.ศ. 2445 ซึ่งเคยมีประเพณี ‘บุญบั้งไฟ’ แต่เกิดการทะเลาะวิวาทจนเกิดการฆ่ากันตาย  กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงต่างเมืองจากสยามในขณะนั้นจึงให้นำประเพณีการแห่เทียนเข้าพรรษามาแทนแห่บุญบั้งไฟ

“หลังจากนั้นมาก็ห้ามไม่ให้มีการจัดงานบุญบั้งไฟเกิดขึ้น เพราะการทะเลาะกันมันเป็นคนของกรมหลวงสรรพสิทธิฯ กับคนของท้องถิ่นทะเลาะกันแล้วฆ่ากันตาย” สรพจน์ เสวนคุณากร อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี’ ผู้สนใจประวัติศาสตร์ผู้มีบุญเล่าถึงความเป็นมา 

ในฐานะผู้เคยแสดงงานศิลปะแบบเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ทเกี่ยวกับขบวนการผู้มีบุญ ที่ทุ่งศรีเมือง และเคยเป็นกรรมการตัดสินต้นเทียนพรรษา จ.อุบลฯ เขาจึงมีความรู้สึกกระอักกระอ่วนกับความเป็นมาของประเพณีนี้ 

อภิมหาเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติ หรือต้นเทียนจำลอง สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

ที่นี่คือลานประหาร 

หากย้อนกลับไปเมื่อ 120 ปีก่อน (พ.ศ.2444) ทุ่งศรีเมือง เคยเป็นลานประหารขบวนการผู้มีบุญ แต่ในปัจจุบันบรรยากาศทุ่งศรีเมือง คล้ายๆ กับสวนสาธารณะกลางเมืองทั่วไป นอกจากอนุสาวรีย์บุคคลต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้น บริเวณทุ่งศรีเมืองแล้ว ไม่มีสัญลักษณ์หรือร่องรอยที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การประหารชีวิตกบฏผีบุญราวกับว่าที่นี่ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นอย่างนั้น 

‘สรพจน์ เสวนคุณากร’ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

“ประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งมันถูกลบ ห้าม และแทนที่เข้ามา มันก็จะมีเกร็ดที่ทำให้ไม่ได้นึกถึงประวัติศาสตร์ว่า ที่นี่ คือ ลานประหาร อย่างเช่น บอกว่า เป็นอนุสาวรีย์แห่งความดี ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะว่าคนอุบลฯ ก็มีน้ำใจเอาน้ำให้เชลยศึกกิน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติวิสัยของคนทั่วไปอยู่แล้วที่เห็นคนลำบาก แต่ว่ามันก็สร้างตำนานหรือเรื่องขึ้นมา”สรพจน์​ กล่าว  

อุดมการณ์สร้างชาติของสยามถูกสอดแทรกมาในหลายรูปแบบ เช่น ด้านการศึกษา การสอนภาษาไทยแบบภาคกลาง การเรียนรู้ความเป็นไทย โดยเฉพาะประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.อุบลฯ ที่สรพจน์ บอกว่า เป็นการนำเอาประเพณีของภาคกลางเข้ามา ทั้งยังสอดแทรกเข้ามาในเรื่องของลวดลายเทียนของภาคกลาง ซึ่งต้นกำเนิดคือวิทยาลัยเพาะช่าง  ไม่ใช่ลวดลายแบบอีสาน  

“ประเพณีแห่เทียนถูกเป็นเครื่องมือสอดแทรกอุดมการณ์ทางการเมืองมาตลอดนับตั้งแต่นั้นมา เข้ามาทางเรื่องของศาสนา การศึกษา ซึ่งมันสอดแทรกอุดมการณ์เกี่ยวกับเรื่องของความเป็นรัฐชาติในสมัยรัชกาลที่ 5 ”สรพจน์ กล่าว

เทียนพรรษาทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย องค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด ปี 2559 ภาพจาก สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน ณ อุบลราชธานี  

“แห่เทียนพรรษา” หนทางของผู้มีบุญทางศาสนา 

อีกด้านหนึ่งของประเพณีนี้กลับเป็นหนทางแห่งความดีของผู้มีบุญที่จะสามารถเข้าถึงศาสนาและพระพุทธเจ้า 

นิกร วีสเพ็ญ ทนายความและนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จ.อุบลราชธานี มีความทรงจำอันงดงามต่อประเพณีนี้อย่างไม่อาจลืมเลือน 

“ตอนผมเป็นเด็กๆ จำได้ว่า ใครได้ร่วมขบวนแห่ถือว่า เป็นผู้มีบุญ ผมก็เข้าไปวัดเลียบ คุ้มบ้านผม ไปช่วยช่างเขาแกะเทียน ช่วยช่างเขาติดพิมพ์ ช่วยเสร็จก็ยังขึ้นขบวนแห่ในวันเข้าพรรษา ไปกับรถด้วย ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจ เป็นการปลูกฝังระหว่างเด็กกับคุ้มวัด” 

ในฐานะผู้สนใจเรื่องราวประเพณีเขาจึงศึกษาและรู้ตำนานของการแห่เทียนพรรษาเป็นอย่างดี 

“เทียนสมัยก่อนเอาเทียนจริงๆ มามัดรวมกันๆ เป็นชั้นๆ ขึ้นไป แล้วสามารถจุดใช้ได้ตลอดระยะเวลาเข้าพรรษา แต่เทียนสมัยนี้เป็นเทียนหล่อ ต้นใหญ่ๆ ไม่สามารถที่จะเอามาจุดใช้ได้ แต่ใช้โชว์ฝีมือ โชว์ความอลังการ ใช้บอกเล่าพุทธประวัติว่า เป็นมาอย่างไร มีองค์ประกอบมากมายและมีการประกวดกัน”เขาเล่าและว่า “แต่ปัจจุบันจะแยกทำต้นเทียนเป็น ‘คุ้มวัด’ หรือ รวมกลุ่มกันทำต้นเทียนที่วัดใกล้บ้านของตน แล้วนำไปรวมกันไว้รอบๆ ทุ่งศรีเมือง เพื่อจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ในทุกๆ ปี” 

นิกร วีสเพ็ญ’ ทนายความและนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จ.อุบลราชธานี 

การก่อร่างของเทียนอุบลฯ ที่ทุกคนรู้จัก

ความยิ่งใหญ่ของขบวนแห่เทียนพรรษา จ.อุบลฯ นั้น เริ่มขึ้นจากกรมหลวงสรรพสิทธิฯ และค่อยๆ พัฒนาต่อยอดเรื่อยมา เมื่อปี พ.ศ.2520 องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) ได้เข้ามาสนับสนุนให้การจัดงานยิ่งใหญ่มากขึ้น มีการประชาสัมพันธ์ ทำให้นักท่องเที่ยวจากจังหวัดอื่นๆ เริ่มหลั่งไหลกันมาชมขบวนแห่เทียนพรรษา จ.อุบลฯ 

ต่อมาปี พ.ศ. 2542 การท่องเที่ยวแห่งปแระเทศไทย (ททท.) ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.อุบลฯ โดยมีการประชาสัมพันธ์ รวมถึงส่งเสริมให้งานแห่เทียนกลายเป็นประเพณีประจำจังหวัดขึ้นมา 

“ตั้งแต่นั้นมาก็มีการพัฒนางานแห่เทียนใหญ่ขึ้นๆ แล้ววิจิตรพิสดารขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตอนผมเด็กๆ เทียนก็จะมารวมกันที่แถวๆ ศาลหลักเมือง สมัยก่อนเป็นศูนย์พัฒนาชุมชน ค่อนข้างแออัด ซึ่งเป็นห้องโถงขนาดประมาณ 50 เมตร คูณ 30 เมตร ต้นเทียน 50- 60 ต้นแออัดมาก ก็เลยย้ายต้นเทียนมารวมกันที่ทุ่งศรีเมือง” 

เขา กล่าวเสริมอีกว่า หลังจาก ททท. เข้ามาสนับสนุนทำให้เป็นงานประเพณีที่ใหญ่ขึ้น มีการแข่งขัน การล่าเงินรางวัลเกิดขึ้น ถูกยกระดับเป็นงานระดับชาติขึ้นมาทันที ความผูกพันระหว่างคุ้มกับวัดค่อนข้างน้อยลง ไม่เหมือนแต่ก่อน   

“เทียนสมัยนี้เป็นเทียนหล่อ ต้นใหญ่ๆ ไม่สามารถที่จะเอามาจุดใช้ได้ แต่ใช้โชว์ฝีมือ โชว์ความอลังการ ใช้บอกเล่าพุทธประวัติว่า เป็นมาอย่างไรและมีองค์ประกอบมากมายก่ายกอง มีการประกวดกัน งานแห่เทียนเข้าพรรษาก็เป็นงานระดับชาติแล้ว” 

จากที่เขากล่าวจะเห็นได้ว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประเพณีจากที่การถวายเทียนพรรษาเคยเป็นเทียนที่ใช้ได้จริงก็กลับเปลี่ยนบทบาทเป็นเทียนเล่มใหญ่ขึ้นและบอกเรื่องราวทางพุทธประวัติมากกว่าที่จะเน้นประโยชน์ใช้สอยภายในวัด 

ทียนเก่าที่ยังจัดแสดง หลังจากที่ไม่มีขบวนแห่เทียนประจำปี

ประวัติศาสตร์แห่เทียน

จากหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์อีสาน’ เขียนโดย เติม วิภาคย์พจนกิจ อธิบายประเพณีนี้ว่า มีจุดเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.2444 ซึ่งก่อนมานั้น เวลาเข้าปุริมพรรษาไม่เคยทำเทียนใหญ่รวมกันเลย ก่อนวันเข้าพรรษาของพระสงฆ์ได้จัดกันรวมหล่อและแต่งเทียนเป็นพวกๆ ตามหมู่บ้าน ถ้าเป็นบ้านนอกก็ไม่มีเลย เพียงแต่หาธูปเทียนได้ตามกำลังแล้วก็นำไปถวายพระเท่านั้น 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ในขณะนั้น ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ได้ทรงจัดให้ชาวเมืองอุบลฯ ทุกๆ วัด เป็นผู้ริเริ่มดัดแปลงให้เป็นงานใหญ่ โดยให้ชาวเมืองมารวมกันหล่อเทียนต้นใหญ่ ในวันข้างขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลังจากนั้น เวลาบ่าย 4 โมง ให้นำต้นเทียนไปรวมไว้ ณ ศาลากลางมณฑล เวลากลางคืน ชาวเมืองอุบล ผู้เฒ่า หรือ หนุ่มสาว มาร่วมงาน โดยมีหมอลำพิณพาทย์ฆ้องวง แคนวง สนุกสนานตลอดคืน 

รุ่งเช้าของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา จัดให้มีการตักบาตร เลี้ยงพระ ที่ศาลากลางรัฐบาลมณฑล หรือ ในปัจจุบันเรียกว่า  วังสงัด เมืองอุบลฯ มีขบวนแห่ รถม้าประดับตกแต่ง โคเกวียน ม้า ลา แห่ไปรวมกันที่ศาลากลางมณฑล ในตอนเที่ยงวัน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

กรมหลวงสรรพสิทธิฯ ทรงประทานรางวัลแก่ผู้ที่ทำต้นเทียนได้สวยงาม โดยมีคณะกรรมการตัดสินร่วมด้วย เมื่อตัดสินเสร็จแล้ว ให้นำเทียนพรรษาขึ้นเกวียน หรือ รถม้า ประดับตกแต่งให้สวยงาม ให้หญิงสาวเป็นผู้ถือต้นเทียน มีเครื่องประโคมพิณพาทย์แตรวง แห่เป็นขบวน 

บางกลุ่มก็มีการละเล่น แสดงตำนานต่างๆ ไปพร้อมกับขบวนแห่ของตน โดยแห่ไปตามถนนสายที่สำคัญของเมือง ตามที่คณะกรรมการกำหนดให้แห่ด้วยความรื่นเริงครึกครื้น เป็นขบวนยาว แยกย้ายไปถวายต้นเทียนตามวัดที่คณะผู้ทำต้นเทียนจับสลากได้ วัดในเมืองอุบลฯ เวลานั้นมีทั้งหมด 24 วัด  (บางส่วนจากหนังสือประวัติศาสตร์อีสาน )

จากหนังสือข้างต้น จุดเริ่มต้นของประเพณีแห่เทียนนั้น ยังไม่ได้ทำเทียนแบบแบ่งเป็นคุ้มวัด เหมือนปัจจุบัน กล่าวคือ ในอดีตให้ชาวบ้านรวมกลุ่มทำต้นเทียนขึ้นเอง เพื่อนำมาประกวด จากนั้นจึงจับสลากว่าต้นเทียนของกลุ่มตนจะได้นำไปถวายที่วัดใด ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน คือ 

ขบวนแห่เทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี แฟ้มภาพ The Isaan Record 

มีเรื่องเล่าว่า วันที่มีการประหารกรมหลวงสรรพสิทธิฯ มาดูการประหารจากวังสงัด ซึ่งอยู่ถัดจากทุ่งศรีเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ถ้าหากลองถามชาวอุบลฯ รุ่นใหม่ก็แทบไม่มีใครทราบเรื่องการประหารแล้ว แต่ทุกคนถูกทำให้ภาพจำของทุ่งศรีเมืองเปลี่ยนไปเป็นสวนสารธารณะที่มีกิจกรรมออกกำลังกาย มีต้นเทียนจำลองที่เหมือนเป็นอนุสาวรีย์แห่งความภาคภูมิใจของชาวอุบลฯ ซึ่งไม่ได้ถูกจดจำหรือทำให้รับรู้ว่าที่นี่คือลานประหาร ที่นี่มีคนตาย

image_pdfimage_print