ฟ้าส่งมาเป็นกบฏ 8 – เข้าสู่สมรภูมิภูพาน (3)

วิทิต จันดาวงศ์เรื่อง
“ฟ้าส่งมาเป็นกบฏ” เดินทางมาถึงตอนสุดท้าย ตอนที่ 8 ซึ่งทางกองบรรณาธิการได้แบ่งออกเป็น 3 เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านและซึมซับบทเรียนในราวป่าของ “วิทิต จันดาวงศ์” โดยเฉพาะช่วงเวลา 6 ตุลา 19 ะยุคแห่งการปราบปรามทำให้นักศึกษาต้องหนีเข้าป่าร่วมจับปืนกับพรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้น โดยช่วงนี้เองที่เขาต้องเผชิญกับเหตุการณ์จรยุทธ์ที่เกือบเอาชีวิตไม่รอด
กระแส 14 ตุลา 16
ก่อนจะพูดถึงการทำงานมวลชน ขอเล่าถึงการขยายตัวงานมวลชนค่อนข้างเร็วของเขตงานนี้หลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งในการยกระดับเขตงานระดับอำเภอเป็นระดับจังหวัดในปี 2518 เพื่อจะได้เห็นเหตุที่ทำให้เขตงานนี้ล่มสลายลงในไม่กี่ปีต่อมา ผมเชื่อว่ายังไม่มีอดีตสหายนำท่านใดกล้าพอที่จะสรุปยอมรับความล้มเหลวนี้ บางทีอาจไม่พอใจต่อการวิจารณ์ความล้มเหลวนี้เสียด้วยซ้ำที่ผมต้องกล่าวถึงนี้ก็ไม่มีเจตนาที่จะทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหายหรือต้องรับผิดชอบ หากแต่ต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมกันตั้งแต่บนสุดถึงล่างสุดเพื่อเป็นการเก็บรับบทเรียนเท่านั้น
จากชัยชนะของขบวนนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 กระแสชัยชนะนี้ได้กระจายไปทั่วทั้งในเมืองชนบททำให้มวลชนที่ไม่เคยเห็นสหายป่าก็อยากเห็น ไม่เคยพบก็อยากพบต่างก็พยายามติดต่อหาแกนนำในหมู่บ้านให้พาไปพบสหายและเข้าร่วมการจัดตั้งสนับสนุนกองป่า โดยเฉพาะในเขต 222 ซึ่งเป็นที่ราบ มวลชนต่างเทียวเข้าออกดงเป็นว่าเล่น
เมื่อปลายปี 2517 สหายสยาม ซึ่งเป็นสหายนำขณะนั้นถึงกับเดินทางลงไปเยี่ยมชมความก้าวหน้าและการขยายตัวของเขตงานนี้ โดยมีความเห็นว่า ควรจะสร้างฐานที่มั่นบนที่ราบของเขตนี้ได้ เพราะเห็นปรากฏการณ์ที่มวลชนให้ความร่วมมือและสนับสนุนการปฏิวัติอย่างกว้างขวาง ผู้ปฏิบัติงานเขตนี้สามารถขยายงานและสร้างกองกำลังติดอาวุธประจำหมู่บ้าน (หน่วยจรยุทธประจำหมู่บ้านหรือ นจบ.) ได้กว่าหนึ่งหมวด โดยนักรบเหล่านี้ซื้ออาวุธสงครามมาติดให้ตนเอง ด้วยเงินพวกเขาโดยไม่รออาวุธจากพรรค ส่วนการสนับสนุนด้านเสบียงอาหาร ทหารบ้านเหล่านี้สามารถระดมรถสองแถวขนกระสอบข้าวสารส่งถึงดง แล้วยังร่วมกันฝังเป็นแถวยาวเป็นสิบเป็นร้อยไห (พื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตอำเภอเจริญศิลป์ อำเภอวานรนิวาสและสว่างแดนดินส่วนหนึ่ง ส่วนพื้นที่ดงผาลาดในเขตอำเภอบ้านม่วงเช่นบ้านคำลอด สหายยังให้ความสนใจน้อยอยู่ แต่ก็มีแกนนำลับๆ อยู่หลายคน)
ปรากฏการณ์ดังกล่าวมานี้เอง กลายเป็นเหตุผลในการยกระดับเขตงานนี้จากเขตงานระดับอำเภอ (กอ.) เป็นเขตงานจังหวัด (กจ.) เลือกเลื่อนผู้ปฏิบัติงานระดับสมาชิกพรรคอาวุโสขึ้นรับตำแหน่งเป็น กจ. และ กอ. ตามลำดับ ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่พอเข้าใจได้ เมื่อมีการขยายเขตงานก็ย่อมมีตำแหน่งที่จะต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ความจำเป็นที่ตามมาก็คือคนที่มีความสามารถในระดับตำแหน่งต่างๆ มีพร้อมหรือไม่ แต่ดูจากสภาพความเป็นจริงในขณะนั้นเห็นว่า คนมีมากแต่ขีดความสามารถในการรับผิดชอบงานนั้นยังไม่ถึง แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องเลือกเลื่อนระดับรองขึ้นรับผิดชอบตำแหน่งไปก่อน หลังจากนั้นค่อยเร่งให้การศึกษายกระดับขีดความสามารถในการทำงาน ซึ่งก็หวังกันว่า จะยกระดับความสามารถ ทั้งทางวิธีคิดและวิธีทำงานได้ทัน การยกระดับดังกล่าวมาจะต้องเกี่ยวพันธ์กับการปรับกระบวนทัศน์ด้วยการศึกษาทฤษฎีและวิธีคิดวิธีทำงาน ซึ่งก็เป็นข้อจำกัดที่สำคัญและไม่สนุกนักสำหรับผู้ปฏิบัติงานชาวนา
การรับมือกับนโยบายการเมืองนำการทหาร
หลังความเพลี่ยงพล้ำของชนชั้นปกครองในเดือนตุลาคม 2516 กำลังรบส่วนต่างๆ ของฝ่ายรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ – อส. – หรือแม้กระทั่งทหาร ค่อนข้างสงบนิ่งในที่ตั้งไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวอะไรมากนัก ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็ยิ่งทำให้มวลชนรวมทั้งสหายป่าบางส่วนคิดข้ามขั้นไปคล้ายกับว่า ใกล้หรือเกือบชนะแล้ว ความคิดเช่นนี้เป็นเหตุให้พวกเราตั้งอยู่ในความประมาท ในที่สุดก็ล่มสลายภายในปีสองปีต่อมา
พอถึงกลางปี 2518 ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐเริ่มใช้ยุทธวิธีการเมืองนำการทหารรุกเข้าเขตงาน 222 อย่างหนักเพราะพวกเขาถือว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นราบและใกล้ชายแดนลาว หากปล่อยให้มีการยึดครองจากฝ่าย พคท. แล้ว จะส่งผลสะเทือนต่อผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของอำนาจรัฐได้ พวกเขาจึงเร่งมือปฏิบัติการในจุดนี้ก่อน โดยทางเจ้าหน้าที่ทหารกองทัพภาค 2 ส่วนหน้า (ค่ายกฤษ สีวรา สกลนคร) เข้าไปนำตัวแกนนำในหมู่บ้านพื้นฐานของ พคท.บ้านละสิบกว่าคนหรือมากกว่านั้น โดยใช้คำว่า เชิญแทนคำว่าคุมตัวหรือจับกุมไปเข้าสู่โครงการอบรมสันติสุข กล่อมให้กลับตัวเลิกสนับสนุนในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ผู้ก่อการร้าย
เมื่อเจอแผนการที่ค่อนข้างนิ่มนวลของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐทำเอาผู้ปฏิบัติงานในเขตงานนี้ชักไปไม่เป็น เพราะที่ผ่านมาเจอแต่แผนโหด การตอบโต้จึงไม่ยากนัก แต่พอเจอแผนจิตวิทยาข้าศึกเช่นนี้เข้า กองป่าถึงกับไปไม่เป็น เพราะคิดไม่ถึงและไม่มีการเตรียมความคิดไว้ด้วย การสั่งการหรือการปฏิบัติจึงเป็นไปแบบไม่มีแผนใดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเชิญไปอบรม ฝ่ายนำในเขตงานนี้(ก่อนหน้าคณะสหายประสานลงไปถึง) สั่งให้ทหารบ้านและครอบครัวพร้อมด้วยอาวุธประจำกาย อพยพเข้าไปอยู่ในป่าดงทั้งหมดทุกหมู่บ้าน ทหารบ้านทุกครอบครัวปฏิบัติตามด้วยดี แรกๆ ก็ดูดีแต่หลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ขึ้นก็เริ่มมีคนหนีออกมอบตัวกับทางเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นครอบครัวบ้าง รายบุคคลบ้างต่อเนื่องกันเป็นเดือน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ได้ข้อมูลจากฝ่ายเรามากขึ้นทำให้เขามีโอกาสวางแผนสร้างความปั่นป่วนให้ฝ่ายเรามากขึ้น แม้แต่เสบียงอาหารที่ช่วยกันฝังไว้ตอนงานกำลังรุ่งก็ถูกฝ่ายรัฐบีบให้พวกที่ออกมอบตัวไปขุดเก็บไปเสียเกือบหมด
ส่วนฝ่ายเราก็สรุปบทเรียนด้วยความทุลักทุเลพอสมควร โดยได้ข้อสรุปว่าการเกณฑ์คนเข้าป่าโดยที่เขาไม่สุขงอมจะส่งผลเสียดังที่เกิดขึ้นนี้ การชี้นำต้องให้มวลชนต่อสู้ในลักษณะมวลชน อย่ายัดเยียดวิธีการต่อสู้ของกองกำลังฝ่ายป่าให้มวลชนปฏิบัติจะไม่เกิดผลดีต่อมวลชนเองและต่อความสัมพันธ์กับกองป่าด้วย ซึ่งเรียกว่าเสียทั้งสองฝ่ายนั่นเอง แต่ก็ช้าเกินไปเสียแล้ว ผลก็คืองานมวลชนหดตัวแคบเข้าบางแห่งกลายเป็นหมู่บ้าน ทส.ปช. (ไทยอาสาป้องกันชาติ) หมู่บ้านนั้นก็ถือว่าล่มสลายไป
ตอนที่คณะสหายประสานลงมาถึงเขตงานนี้ ตอนแรกมีแผนที่จะตั้งศูนย์การนำอยู่ที่พื้นที่ดงผาลาดน้อยในเขตพื้นที่อำเภอเจริญศิลป์(พื้นที่รหัสชื่อเขต 05) แต่เมื่อเจอกับสถานการที่เขตนี้กำลังจะล่มสลาย ฝ่ายนำจึงตัดสินใจย้ายขึ้นไปในเขตดงผาลาดใหญ่ ชื่อรหัสเขต 04 แทน พื้นที่นี้อยู่ในเขตอำเภอบ้านม่วงจังหวัดสกลนครเช่นกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวครึกโครมนัก แต่ก็มีการจัดตั้งแกนนำในหมู่บ้านไว้หลายคนก่อนแล้วจึงไม่ยากนักสำหรับการทำงาน
สำหรับผมเมื่อพรรคฯ รับเป็นสมาชิกสมบูรณ์แล้ว เขามอบหมายงานให้รับผิดชอบตามที่กล่าวมาสองหมู่บ้าน จัดคนประกอบหน่วยงานให้ 8 คน ผมนำหน่วยงานออกไปเกาะติดมวลชนอยู่แถวตีนดงผาลาดบ้านคำลอดพื้น โชคดีหน่อยหมู่บ้านนี้แผนการเมืองนำการทหารยังไปไม่ถึง
การทำงานเบื้องต้น ผมสั่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่ไม่เหมาะสม เสี่ยงต่อการที่มวลชนจะเป็นอันตราย เช่น การให้สหายออกไปเกี่ยวข้าวช่วยมวลชน ระยะแรกก็มีปัญหาทั้งมวลชนในหมู่บ้านและมวลชนในป่าบ้างเพราะไม่เข้าใจ ผมต้องชี้แจงให้การศึกษาแก่แกนนำในหมู่บ้านถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น โชคดีหน่อยเพราะหมู่บ้านคำลอดนี้ มีผู้ต้องหาคดีเดียวกันกับผมหลายคน แม้ตัวเขาจะไม่อยู่แล้ว แต่ลูกหลานเขาก็ได้ยินกิติศัพท์เกี่ยวกับผมจากพ่อพวกเขาบ้าง แม้ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานนักในตอนต้น แต่ก็ปฏิบัติตามด้วยความเกรงใจไปก่อน จนเมื่อผลการเปิดยุทธการของทางฝ่ายรัฐทำให้พวกชาวบ้านและแกนนำทุกคนปลอดภัย ความเชื่อถือนี้จึงสูงขึ้นมากทีเดียว จากการทำงานมวลชนผ่านไปสามสี่เดือน มวลชนในบ้านคำลอดและบ้านนาดูนเริ่มเป็นระบบและเข้มแข็งขึ้น มวลชนที่ค่อนข้างห่างการศึกษาเมื่อก่อนก็เริ่มหันเข้ามาร่วมศึกษากันคึกคัก กำลังสหายภายในทับที่ครั้งแรกมี 8 คนก็เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30 คน เมื่อคนในหน่วยงานมวลชนมากขึ้นก็จำเป็นจะต้องส่งไปสังกัดหน่วยรบที่เรียกกันว่า ทหารหลักหรือชื่อย่อ คือ ทล.
ถึงตอนนี้อยากจะให้ความชัดเจนเกี่ยวกับระบบกองกำลังของพรรคฯ เพื่อเป็นเกร็ดความรู้บ้าง กองกำลังที่สำคัญที่สุดในจังหวัด คือ ทล. หรือทหารหลักขึ้นตรงต่อเลขาธิการจังหวัดนั้นๆ ส่วนที่สองรองลงมาคือทหารประจำถิ่น ชื่อย่อ คือ นปถ.ตั้งอยู่ในเขตอำนาจอำเภอหรือที่เรียกย่อว่า กอ. ขึ้นต่อเลขาธิการอำเภอของพื้นที่ ส่วนที่สาม คือ นจบ. หรือที่เรียกชื่อเต็มว่า “หน่วยจรยุทธ์ประจำหมู่บ้าน”หรือที่ชอบเรียกกันสั้นๆ ว่าทหารบ้านนั่นเอง ส่วนนี้เฉพาะหน้าขึ้นต่อหัวหน้าหน่วยงายประจำพื้นที่ แต่ทั้งหมดทั้งปวงต้องขึ้นต่อศูนย์กลางพรรคฯ
ผมเริ่มสร้างความเข้มแข็งให้กับการจัดตั้งมวลชนด้วยการให้การศึกษา โดยมุ่งเน้นทางความคิด การเมืองและปรับการจัดตั้งให้เหมาะสมตามความสามารถและความเอาใจใส่ของมวลชนเป็นหลัก เร่งสร้างและยกระดับผู้ปฏิบัติงานทั้งในทับและในหมู่บ้านเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงาน กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจในสถานการณ์ที่คับขันอย่างมีสติมีภูมิความรู้ โดยที่ไม่ต้องรอขอความเห็นจากฝ่ายนำ การชี้นำงานเช่นนี้ผมถูกเสนอความเห็นว่าจะทำให้เสียวินัยทางจัดตั้ง แต่ผมให้เหตุผลโต้แย้งว่า การจะทำเช่นนี้ได้ต้องให้การศึกษาผู้ปฏิบัติงานด้านทฤษฎีประสานกับความเป็นจริงในชุมชน ทั้งต้องยกระดับวิธีคิด วิธีทำงาน ให้พวกเขามีความมั่นใจในตัวเองให้ได้ ก่อนที่จะมอบหมายภาระหน้าที่ให้ทำ ประกอบกับงานมวลชนที่ทำมาเดินหน้าไปได้ด้วยดี มีมวลชนมากขึ้น เข้มแข็งขึ้น ทำให้เสียงท้วงติงคัดค้านจึงไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างได้
อีกประการหนึ่งผมเห็นว่า ผู้ปฏิบัติงานในป่าให้การศึกษามวลชนเกี่ยวกับนโยบาย 10 ข้อค่อนข้างจะเป็นแบบท่องตำรา ผมต้องปรับโดยการอธิบายเปรียบเทียบรูปธรรมให้สหายผู้ปฏิบัติงานเข้าใจ เห็นภาพที่มีชีวิตชีวาที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย น่าเชื่อว่า ถ้าปฏิบัติจริงแล้วจะเกิดความเป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมโดยรวม นอกจากพูดให้ฟังแล้ว ผมยังเขียนเป็นรูปแบบตำราให้อ่าน ทำให้พวกเขาเข้าใจดียิ่งขึ้น เมื่อไปให้การศึกษามวลชนก็คึกคักมีชีวิตชีวามากขึ้น ผู้ปฏิบัติงานที่ไปนำการศึกษามวลชนก็คึกคักมีชีวิตชีวาไปด้วย แต่แปลกเมื่อสหายผู้ปฏิบัติงานในระดับเดียวกับผมเห็นเอกสารการอภิปรายนโยบายที่ผมเขียน เขากลับท้วงติงว่า “เอกสารที่เขียนขึ้นใหม่นี้ต้องได้รับอนุญาตจากจัดตั้งก่อนจึงจะใช้ให้การศึกษามวลชนได้” ผมโต้แย้งทันทีว่า “การที่เราไปโฆษณาให้การศึกษามวลชน ต้องเอาคำพูดต่างๆ ไปขออนุญาตก่อนหรือเอกสารนี้เท่ากับคำอธิบายนโยบายเพื่อให้เป็นรูปธรรม โดยใช้นโยบาย 10 ข้อของพรรคฯเป็นหลักอยู่แล้ว ไม่ใช่การสร้างทฤษฎีใหม่” สหายท่านนั้นก็เลยเงียบไป ความจริงแล้วก็เท่ากับการบันทึกคำอธิบายนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ให้ผู้ปฏิบัติงานอ่านซ้ำอีกหลายๆ ครั้งเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นเท่านั้นเอง
การทำงานมวลชนดังกล่าวมาทำให้ผมเริ่มเข้าใจวลีที่ว่า “นโยบายที่ดีจะได้ผลมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติงานเป็นปัจจัยชี้ขาด” เพราะฉะนั้น ความจำเป็นอันเร่งด่วนของการทำงานก็คือ ต้องบ่มเพาะผู้ปฏิบัติงานยกระดับทางทฤษฎีและวิธีคิดวิธีทำงานอย่างเป็นรูปธรรม
การเรียนรู้การจัดตั้งและการบริหารการจัดตั้ง
ผมรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทับ หัวหน้าหน่วยงานและต้องทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยพรรคในทับและในสายงานมวลชนด้วย พูดให้ชัดก็คือ มีสามงานหลักที่จะต้องจัดการบริหาร ทั้งสามงานนี้จะต้องสอดคล้องสัมพันธ์และหนุนช่วยกันอย่างเป็นระบบ ความก้าวหน้าของงานจึงจะเกิดขึ้น รายละเอียดการจัดการดังนี้
งานที่หนึ่ง คือ งานหน่วยพรรคฯ ในทับ เพราะหน่วยพรรคฯถือเป็นองค์กรนำในทับ สายงานจะมีสมาชิกพรรคในหน่วยนี้อย่างน้อยสามคนทำหน้าที่เป็นกลุ่มมันสมองหรือกองเสนาธิการในสายงานนี้โดยตรง รับมติ เข็มมุ่ง คำชี้แนะและนโยบายจากชั้นบนมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ แล้วรายงานสรุปผลให้ชั้นบนตามระยะเวลาที่กำหนด(ปกติหน่วยงานรายงาน กอ.3 เดือนครั้ง กจ. 6 เดือนครั้ง)
ก่อนที่ผมจะได้รับเข้าเป็นสมาชิกพรรคสมบูรณ์ ผมเริ่มมีความตื่นตัวทางจัดตั้งแล้วแต่เป็นเพียงการตื่นตัวขั้นต้น คือ ขั้นรู้สึกเพราะเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามระบบเท่านั้นยังไม่อยู่ในบทบาทการจัดการระบบหรือที่เรียกว่าการบริหารการจัดตั้งให้มีความเข้มแข็งมั่นคงทั้งทางความคิด การเมือง และการจัดตั้ง พอได้เป็นสมาชิกพรรคฯที่สมบูรณ์แล้วจึงได้รับการแต่งตั้งให้รับผิดชอบทั้งหน่วยพรรคฯและหน่วยงานฯในพื้นที่รับผิดชอบมีหน้าที่บริหารการการจัดตั้งผู้ปฏิบัติงานทั้งหน่วยในทับ(กองป่า)และมวลชนในหมู่บ้านที่รับผิดชอบจึงเป็นงานที่ท้าทายพอสมควร ซึ่งหลายฝ่ายจับตารอดูอยู่ เพราะผมเป็นปัญญาชนคนเดียวในเขตงานนั้น ทุกคนจึงรอดูว่า “จะดีแต่พูดหรือไม่” ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ผมจึงจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้างานจัดตั้งและการนำการจัดตั้งของพรรคฯอย่างจริงจัง นำทฤษฎีที่อ่านไปเปรียบเทียบกับรูปธรรมการบริหารสมาคมผู้ใช้น้ำชลประทานี่เคยมีบทเรียนมา และนำรูปธรรมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสมัยสู้คดี 106 คนมาเปรียบเทียบด้วย และก็สามารถนำงานไปได้ด้วยดีเป็นที่ยอมรับของสหายในป่าและมวลชนในหมู่บ้าน
ถึงตอนนี้อยากจะกล่าวถึงระบบการจัดตั้งและการนำหรือการจัดการการจัดตั้งของพรรคฯ สักเล็กน้อยเผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจในการทำงานองค์กรมวลชนบ้างไม่มากก็น้อย ผมจะเริ่มจากบนลงมาสู่ล่าง แต่จะขอกล่าวถึงแค่ระดับกรรมการจังหวัดหรือ กจ. ลงมา มิบังอาจก้าวล่วงถึงคณะกรรมการกลางเพราะระดับผมไม่ถึง แค่ระดับ กจ. นี้ ถ้าสามารถเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วสามารถนำมาประยุติใช้ในงานการสร้างองค์กรและบริหารองค์กรมวลชน ให้เกิดความเข้มแข็งทั้งทางด้านความคิด การเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ด้วยรูปแบบการนำและการจัดตั้งอย่างมีผลได้มากทีเดียว แต่ต้องเปลี่ยนศัพท์ฝ่ายซ้ายให้มาใช้ศัพท์ทางวิชาการปัจจุบันเพื่อหลีกเลี่ยงความกลัวผีคอมมิวนิสต์ที่เคยถูกมอมเมามานาน
คณะกรรมการจังหวัดหรือ กจ. เป็นองค์การนำสูงสุดในเขตงานจังหวัด จำนวนจะมากน้อยขึ้นอยู่กับความเมาะสมของเขตงานจังหวัด เขตงานจังหวัดจะประกอบด้วยเขตงานอำเภอหรือ กอ. อย่างน้อยสาม กอ. ขึ้นไป
ส่วนประกอบโครงสร้างคณะกรรมการจังหวัดจะต้องเป็นสมาชิกพรรคฯสมบูรณ์ที่ถูกเลือกเลื่อนขึ้นมาจากกรรมการอำเภอ ทั้งต้องมีอายุพรรคอย่างน้อยตั้งแต่สองปีขึ้นไป (อ้างระเบียบการพรรคฯสมัชชา 3 ระบุว่า “เลขาธิการกรรมการอำเภอต้องมีอายุพรรคอย่างน้อยสองปีขึ้นไป ส่วนเลขาธิการคณะกรรมการจังหวัดต้องมีอายุพรรคอย่างน้อยสี่ปีขึ้นไป”) การเลือกเลื่อนโดยคณะกรรมการจังหวัดนั้นๆ คัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติตามระเบียบการพรรคฯลงมติรับแล้วนำเสนอต่อชั้นบน (คณะกรรมการภาคหรือกรรมการกลาง) หากชั้นบนอนุมัติก็ถือว่าเป็นกรรมการจังหวัดสมบูรณ์ หากชั้นบนไม่เห็นด้วยเขาก็มีสิทธิ์ไม่รับและเลือกเลื่อนแต่งตั้งขึ้นมาเองได้ (เรื่องนี้มีการโต้แย้งตอนประชุมภาคขยายวงก่อนการประชุมสมัชชาฯสี่ปี 2524)
คณะกรรมการบริหารจังหวัดที่สำคัญประกอบด้วย เลขาธิการจังหวัด 1 คน รองเลขาธิการจังหวัด 1 คน กรรมการจังหวัดประจำ 1 คน นอกนั้นเป็นกรรมการจังหวัดธรรมดาหรือเรียกว่ากรรมการ เลขาฯ รองเลขา และ กจ. สามคนนี้เป็นองค์คณะนำในจังหวัดหรือจะให้เข้าใจง่ายคือ “กองเสนาธิการ”ในจังหวัด เป็นกลุ่มมันสมอง การนำงานจะต้องกุมแนวทาง นโยบาย เข็มมุ่งและคำชี้แนะของพรรคฯให้มั่น ทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนพรรคฯ ในเขตงาน
ส่วนกรรมการธรรมดา ทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนงานพรรคฯ หรือเรียกง่ายๆ เป็นเครื่องมือหรือมือเท้าของคณะกามการประจำ ในการปฏิบัติงานในเขตงานระดับอำเภอ กจ. ธรรมดาไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนพรรคฯในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการอำเภอ (เลขาฯ กอ.) เพื่อชี้นำทางความคิด การเมือง การจัดตั้ง ในการปฏิบัติตามแนวทาง นโยบายของพรรคให้บรรลุผล หากคณะกรรมการอำเภอไม่สามารถหรือไม่กล้าตัดสินใจในประเด็นสำคัญใดๆ เลขาธิการ กอ. ต้องรายงานขอความเห็นไปยังคณะกรรมการประจำ (กจ. ประจำ) เพื่อประชุมหารือลงมติชี้แนะลงมายัง กอ. อีกครั้งจึงจะนำไปปฏิบัติได้ การประชุมคณะประจำนั้นจะต้องครบองค์ประชุมโดยมี กจ. ประจำเกินกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ เว้นแต่มีเหตุด่วนที่ต้องมีคำสั่งที่ไม่สามารถรอได้ จึงจะอนุญาตให้เลขาฯ กจ. สั่งการไปก่อนได้ แต่ต้องรีบนำคำสั่งนั้นเข้าที่ประชุม กจ. ประจำทั้งคณะเพื่อขอความเห็นชอบหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่ง
หลักการบริหารและการนำใน พคท. เขาใช้หลักการ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์”ส่วนแนวทางการบริหารงานใช้ “การนำรวมหมู่ประสานกับการรับผิดชอบส่วนบุคคล” ซึ่งจะขอพูดรายละเอียดนี้ไว้บ้างเท่าที่มีความเข้าใจ จากประสบการในการปฏิบัติงานที่ผ่านตลอดระยะเวลา 10 ปี ภายใต้การนำของพรรคฯ
คำว่า “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” นั้น ในทางปฏิบัติมีสองด้าน คือ “ประชาธิปไตยเพื่อการรวมศูนย์ กับ ประชาธิปไตยภายใต้การชี้นำอย่างรวมศูนย์” ในทางปฏิบัตินั้น ทั้งสองด้านนี้ต้องใช้ให้สมดุล หากเน้นหนักด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาความโน้มเอียง เช่น ถ้าการรวมศูนย์มากกว่าประชาธิปไตยจะเป็นลักษณะเผด็จการ แต่ถ้าประชาธิปไตยมากเกินไปจนละเลยการลงมติ จะเกิดลักษณะประชาธิปไตยเฟ้อไร้หลักการ เพราะขาดการรวมศูนย์(ความเห็นที่ไม่มีมติ)
ประชาธิปไตยรวมศูนย์ คือ ก่อนมีการกำหนดแนวทาง นโยบาย มติ คำชี้แนะ รวมทั้งเข็มมุ่ง จะต้องผ่านการเปิดประชาธิปไตยเพื่อหาข้อสรุป ลงมติก่อนหรือการประชุมนั่นเอง ใน พคท. คือ การประชุมสมัชชาใหญ่ทั่วทั้งพรรค (สมัชชาคือสภาผู้แทนสมาชิกทั่วประเทศ ในจังหวัด คือ สมัชชาผู้แทนสมาชิกจังหวัด) อำนาจนำสูงสุดในระหว่างสมัยประชุมสมัชชาฯ คือ สมัชชาฯ นอกสมัยประชุมอำนาจนำสูงสุดอยู่ที่คณะกรรมการบริหารกลาง ในเขตจังหวัด คือ กรรมการบริหารจังหวัดหรือ กจ. นั่นเอง
ความจริงแล้วก็เช่นเดียวกันกับสภาฯ ของฝ่ายอำนาจรัฐ เพียงแต่ พคท. เขามีวินัยเหล็กที่ทุกคนต้องปฏิบัติ คือ บุคคลขึ้นต่อและปฏิบัติตามองค์การจัดตั้ง เสียงข้างน้อยขึ้นต่อและปฏิบัติตามเสียงข้างมาก ชั้นล่างขึ้นต่อและปฏิบัติตามชั้นบน ทั่วทั้งพรรคขึ้นต่อและปฏิบัติตามศูนย์กลางพรรคฯ วินัยเหล็กหมายถึงวินัยจิตสำนึก สมาชิกพรรคฯหากสามารถปฏิบัติตามวินัยอย่างมีจิตสำนึกได้แล้วจึงจะถือได้ว่า มีความตื่นตัวทางจัดตั้งอย่างแท้จริงได้
ส่วนประชาธิปไตยภายใต้การชี้นำอย่างรวมศูนย์นั้น คือ เมื่อที่ประชุมสมัชชาฯหรือที่ประชุมพรรคฯมีมติกำหนดแนวทาง นโยบายหรือเข็มมุงแล้ว ก่อนนำไปสู่การปฏิบัติจริงในระดับผู้ปฏิบัติงาน หน่วยพรรคฯหรือกรรมการพรรคฯ จะต้องนำมตินั้นลงไปให้ผู้ปฏิบัติงานศึกษาอภิปรายประสานกับความเป็นจริงในพื้นที่ให้เข้าใจ สามารถลงมติที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่การทำงานของแต่ละส่วน แต่ไม่ขัดกับหลักการใหญ่หรือมตินั้นๆ ตรงนี้เองที่เรียกว่าประชาธิปไตยภายใต้การชี้นำอย่างรวมศูนย์ ตรงนี้เองที่การปฏิบัติจริงพึงระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะการลงมติใดๆ ใช้อำนาจชี้นำหรือบีบด้วยวิธีการทางอำนาจต่างๆ ให้ลงมติไปตามความต้องการของฝ่ายนำจะกลายเป็นอำนาจเผด็จการโดยแท้ เพียงแต่อาศัยรูปแบบทางประชาธิปไตยเป็นมายาภาพหลอกคน (การลงมติถอดถอนยิ่งลักษณ์เมื่อปี 2558 ก็เข้าทำนองนี้ พคท. ก็พลาดเรื่องนี้ในการประชุมสมัชชาครั้งที่ 4 เช่นกัน)
แนวทางการบริหารองค์กร พคท.ใช้การนำรวมหมู่ประสานกับการรับผิดชอบส่วนบุคคล การนำรวมหมู่ก็คือการบริหารงานเป็นทีม รับผิดชอบต่อแนวทางนโยบายต่างๆ ร่วมกันทั้งทีม ปฏิเสธการรับเหมางานหรือที่เรียกว่า “ข้าเก่งคนเดียว ข้าทำคนเดียว” ที่สังคมทั่วไปเรียกว่าหลงจู้นั่นเอง
ด้านความรับผิดชอบส่วนบุคคล คือ แบ่งภาระหน้าที่รับผิดชอบให้กรรมการทุกคน เช่น การรับผิดชอบในการทำงาน กจ.ประจำทำหน้าที่เป็นองค์คณะจัดตั้งหรือเสนาธิการในการดำเนินงานตามแนวทางนโยบาย ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่พรรคฯกำหนด ส่วน กจ. ธรรมดาไปทำหน้าที่รับผิดชอบและชี้นำงานใน กอ. ส่วนหน้าที่ภายในสำหรับการบริหารตัวองค์กรให้ก้าวหน้าและเข้มแข็ง เช่น เลขาธิการ กจ. รับหน้าที่อำนวยการบริหารแนวทางนโยบายทั้งหมดที่เรียกกันว่า ชี้นำการเมือง รองเลขาธิการทำหน้าที่แทนเลขาในขณะที่เลขาฯติดภารกิจอื่น กจ. ประจำทำหน้าองค์คณะในคณะประจำ หน้าที่ที่กำหนดไว้ คือ งานพรรค งานด้านการทหาร งานมวลชน งานเศรษฐกิจ งานการศึกษา (จะไม่ขอลงรายละเอียดว่าแต่ละงาน คือ อะไร ทำอย่างไร)
การทำงานของคณะประจำ นอกจากรับผิดชอบการบริหารงานตามแนวทาง นโยบาย มติ คำชี้แนะ คำสั่งของชั้นบนอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามมติที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการจังหวัดเต็มคณะอย่างเคร่งครัดด้วยหรือที่เรียกว่าเป็นผู้ใช้อำนาจการรวมศูนย์นั่นเอง ส่วน กจ..ที่ไปทำหน้าที่เลขาฯ กอ.ก็สามารถนำรูปแบบการบริหารงานใน กจ.ไปใช้ได้ด้วยการประยุกติให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ แม้กระทั่งหน่วยงานมวลชนในระดับตำบล แต่ไม่ค่อยเห็นกันมากนักในการปฏิบัติจริงจะเพราะอะไรก็ยังไม่ชัดเจนนัก
สำหรับผมแล้วก็พยายามศึกษาระบบนี้ไปประสานกับการทำงานในพื้นที่งานในทับและงานมวลชนที่รับผิดชอบอยู่ ในระยะต้นๆ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเดิมอึดอัดกันบ้างในระยะแรก ต่อเมื่อสามารถฟื้นงานและสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาได้ในหน่วยงานในทับและงานมวลชนในหมู่บ้านจึงได้รับการยอมรับในหมู่มวลชนหมู่บ้านในเขตงานเป็นอย่างดี ภายในทับเองก็ได้รับการยอมรับด้วยเช่นกัน ส่วนหน่วยงานอื่นมีความอึดอัดอยู่บ้าง เพราะการเข้มงวดด้านวินัยจัดตั้ง โดยเฉพาะเรื่องการตืดต่อกับมวลชนในเขตงานต้องเข้มงวดระเบียบการจัดตั้ง โดยหน่วยงานอื่นจะติดต่อมวลชนในเรื่องฝากซื้อของ ต้องให้ผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบ จะทำอย่างเสรีโดยไม่ผ่านหน่วยงานนั้นไม่ได้ ตอนแรกๆ มีเสียงวิจารณ์ว่า “สหายปานหวงเขตงาน” แต่ผมให้เหตุผลว่า “การต้องรักษาวินัยเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันความปลอดภัยแก่มวลชนในหมู่บ้านในระยะยาว เพราะฝ่ายรัฐกำลังรุกไล่ด้วยนโยบายการเมืองนำการทหาร ประกอบกับระยะนี้สหายทยอยออกมอบตัวมาก หากปล่อยให้สัมพันธ์อย่างเสรี เมื่อมีคนออกมอบตัวก็จะถูกบีบให้มาจับแกนนำในหมู่บ้านไปสอบสวน ผลเสียจะเกิดกับงานโดยรวม” แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับจนกระทั่งผ่านยุทธการล้อมปราบกลางปี 2520 ไปแล้ว ผลก็คือเขตงานนี้ไม่เสียหาย แกนนำมวลชนในหมู่บ้านไม่เป็นอันตรายไม่ถูกจับกุม งานมวลชนยังมั่นคงเหมือนเดิมจึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วทั้งเขตงาน
ผมทำงานมวลชนใน 2 หมู่บ้านนี้ตั้งแต่ปลายปี 2518 จนถึงปลายปี 2520 รวมเป็นเวลา 2 ปี จัดตั้งมวลชนและขยายการจัดตั้งได้ค่อนข้างมั่นคง สามารถจัดตั้ง นจบ. (ทหารบ้าน) บ้านคำลอด (ชื่อรหัสบ้านน้ำ) ประมาณ 2 หมวด บ้านนาดูน (ชื่อรหัสบ้านขาม) มีหนึ่งหมวดในต้นปี 2519 ทั้งการจัดตั้งมวลชนสนับสนุนการปฏิวัติได้มากขึ้นความเข้มแข็งของงานในบ้านคำลอดนั้น ทหารฝ่ายรัฐเชื่อว่าเป็นฐานที่มั่นสหายปาน (รายละเอียดจะกล่าวไว้ในตอนยุทธการล้อมปราบปี 2520)
ส่วนภายในหน่วยงานในทับที่ผมรับผิดชอบ ตอนแรกมีพลพรรคอยู่ 8 คน เมื่อปลายปี 2518 มีกำลังเพิ่มขึ้นเกินกว่าสามสิบชีวิต เมื่อต้นปี 2519 หน่วยงานมวลชนในเขตจรยุทธที่มีกำลังมากเกินขนาดงานก็เป็นปัญหาเทอะทะเกินความจำเป็น จำนวนคนเกินหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ ถ้าจะขยายงานมวลชนออกไปก็ติดขัดที่ผู้ปฏิบัติงานยังใหม่ยังไม่มีประสบการทั้งทางความรู้และการปฏิบัติ หากเก็บไว้เช่นนี้นานๆ จะเกิดปัญหาหลายด้านทีเดียว แต่โชคดีที่ทางจัดตั้งต้องการเสริมกำลังรบ จึงได้จัดกำลังในหน่วยงานนี้ส่งไปสังกัดกองทหารหลัก (ทล.) เหลือไว้ในเขตงาน 10 คน เพื่อความเหมาะสมคล่องตัวในเขตงานจรยุทธ
การถูกจู่โจมทับครั้งแรก
จำได้ว่าประมาณเดือนมีนาคม 2519 วันไหนจำไม่ได้ มีตำรวจตระเวนชายแดนที่ตั้งฐานอยู่ที่บ้านโคกแสง ในเขตอำเภอวานรนิวาสยกกำลังเข้ามาจู่โจมทับหน่วยงานผมเช้าประมาณ 6 โมงเศษ ขณะที่ผมกำลังจัดศึกษาผู้ปฏิบัติงานในทับอยู่ เรายังไม่รู้ตัวเลย แต่สหายบ้านชื่อสหายวัง (นายกิ๊ จัทร์ชนะ) วิ่งกระหืดหระหอบเข้ามาแจ้งว่า ศัตรูจะเข้าจู่โจมทับแล้ว มันมาถึงแล้ว ตอนแรกผมฟังคำบอกเล่ากะทันหันยังตั้งตัวไม่ติดและเป็นครั้งแรกในชีวิต ผมยอมรับว่า ผมออกอาการสั่นจนสหายอื่นสังเกตเห็น แต่ยังมีสติอยู่จึงสั่งให้สหายส่วนหนึ่งประมาณ 4 – 5 คนออกไปสกัดโจมตีศัตรูก่อนที่เขาจะโจมตีเรา นอกนั้นเก็บของเตรียมออกจากทับ ถอยไปยังจุดหมายที่วางแผนไว้ ผมเก็บของยังไม่เสร็จ เสียงปืนข้างนอกดังขึ้นเป็นเสียงปืนของพวกเรายิงก่อน (ทับตั้งอยู่ชายป่าใกล้ทุ่งนา ตชด. มาตั้งฐานยิงปืนครกอยู่ที่ชายป่าทุ่งนาห่างจากทับประมาณ 100 เมตร) ศัตรูยังตั้งฐานปืนครกยังไม่เสร็จ สหายนักรบที่ส่งออกไปยิงปืน 1 ชุดแล้วถอยหายเข้าไปในดง หลังจากนั้นจึงมีเสียงปืนจาก ตชด.ดังขึ้นพร้อมเสียงปืนครก แต่พวกเราออกจากทับไปแล้วและไม่มีใครได้รับอันตรายใดๆ สิ่งของก็ไม่สูญหาย
การถูกจู่โจมทับครั้งนี้ นำมาสรุปบทเรียนได้ความว่า หนึ่งนั้นพวกเราประมาทมากจนที่ตั้งเสียลับไม่รู้ตัวเป็นเหตุให้ถูกจู่โจม ดีที่ทหารบ้านแจ้งข่าวทันก่อนการจู่โจมเล็กน้อยจึงออกจากทับได้ทัน ต่อไปต้องเข้มงวดในการรักษาความลับให้มาก ประการที่สองเราตังทับในที่เดิมนานเกินไป ถือว่า ทำผิดทางยุทธวิธีการทำงานในเขตจรยุทธต้องแก้ไขเช่นกัน นอกจากนั้นก็มีการวิจารณ์ฝ่ายนำเช่นตัวผมว่ากลัวจนสั่น ผมไม่โต้แย้งอะไรเพราะเราเองก็สั่นให้เห็นจริงๆ
ส่วนทหารบ้านและแกนนำหมู่บ้านเราขอบคุณและชื่นชมเขาที่ห่วงใยความปลอดภัยของพวกเรา สะท้อนถึงความตื่นตัวทางจัดตั้งและทางชนชั้นอย่างดี ผมขอกล่าวถึงทหารบ้านในเรื่องนี้ไว้บ้าง คือในเช้าวันนั้น ทหารบ้านเห็นรถหุ้มเกราะ ตชด. แล่นเข้ามาในหมู่บ้าน (จะเข้าดงต้องผ่านหมู่บ้านก่อนไม่มีทางอื่น) เมื่อทหารบ้านเห็นเขารู้ทันทีว่าพวกนี้ต้องเข้าจู่โจมทับ เพราะเคยมีมาก่อนแล้ว นายกิ๊หรือสหายวังรีบวิ่งลัดป่า (โคก) ออกไปที่ตีนดงที่พวกเราตั้งทับอยู่ เสียงพูดบอกกล่าวแกพวกเราแทบไม่ได้ศัพท์เสียงหายใจอ้าปากพูดขาดตอน ระยะทางจากบ้านถึงตีนดงประมาณ 3 กม.เศษ สหายวังวิ่งมาถึงทับเราพร้อมกับ ตชด. ถึงตีนดง ซึ่งก็น่าทึ่งมากทำให้พวกเราตั้งตัวทัน ไม่เช่นนั้นอาจจะมีการสูญเสียเกินกว่าที่คาดคิด
การถูกจู่โจมทับครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตผม จากนั้นไม่เคยโดนอีกเลยในช่วงที่ใช้ชีวิตการต่อสู้ในป่าเขาตลอด 10 ปี
ไขแสง สุกใสกับพวกเข้าสู่ป่าเขา
ในขณะที่ทำงานมวลชนในหมู่บ้านแล้ว ผมยังรับทำงานแนวร่วมอีกทางหนึ่ง การทำงานแนวร่วมในปี 2519 เป็นไปด้วยดี เนื่องจากภัยขาวหรือที่เรียกว่า “ขวาพิฆาตซ้าย” กำลังรุนแรงมาก ปัญญาชนและนักการเมืองฝ่ายซ้านโดนคุกคามด้วยการเอาชีวิต ทางเราได้รับการติดต่อจากแนวร่วมในเมืองเพื่อขอหลบภัยขาวออกไปร่วมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในเขตป่าเขา ในจำนวนนี้มี คุณไขแสง สุกใส อดีต ส.ส.นครพนม ผมได้มอบหมายให้คาน พิลารักษ์ (ชื่อจัดตั้ง คือ สหายวันรบ) เป็นผู้ประสานงานและลงไปรับทีมคุณไขแสงที่กรุงเทพฯ จำนวน 4 คน คือ คุณไขแสง คุณอุดร ทองน้อย คุณประยงค์ มูลสารและคุณอินสรณ์ บัวเขียว เดินทางโดยรถยนต์ ไปที่บ้านคำลอดดงผาลาดต้นปีต่อกลางปี 2519 พักอยู่กับพวกเราที่ดงผาลาดประมาณหนึ่งเดือน แล้วส่งต่อขึ้นไปที่ฐานที่มั่นภูพานเขตงาน 333 (รอยต่อระหว่างสกลนคร – กาฬสินธ์ – มุกดาหารและนครพนม) หลังจากคุณไขแสงกับพวกเข้าสู่ป่าเขาไม่กี่วัน ปรากฎข่าวว่า ดร.สนอง (จำนามสกุลไม่ได้)เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ถูกยิงตาย สถานการณ์ทางการเมืองก็ยิ่งรุนแรงต่อเนื่อง มีคนถูกฆ่าตามมาอีกหลายรายต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงการล้อมยิงนักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างป่าเถื่อน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้วเกิดการรัฐประหารจับกุมแกนนำนักศึกษา เช่น นายสุธรรม แสงประทุม กับพวก ทำให้นักศึกษาที่หนีตายหลบหนีการจับกุมเข้าสู่ป่าเขามากมายเป็นประวัติการณ์ ทำให้หลายคนหลายฝ่ายในตอนนั้นเห็นว่า การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของประชาชน โดยการนำของพรรคคอมมิวนิสต์นั้น น่าจะถึงขั้นเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากรับเป็นการรุกเข้าสู่ชัยชนะได้ภายในไม่เกิน 4 – 5 ปีนี้แน่นอน แต่ก็น่าเสียดายที่พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้เตรียมพร้อมในลักษณะนี้มาก่อน เมื่อมีคนเข้าไปมากในลักษณะปลาล้นข้องในขณะที่เราคาดไม่ถึงและไม่ได้เตรียมการมาก่อน จึงเกิดปัญหาตามมามากมาย ในที่สุดก็นำไปสู่การล่มสลายภายในไม่กี่ปีต่อมาอย่างน่าเสียดาย จนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการสรุปบทเรียนอย่างถึงแก่นเลยแม้แต่ครั้งเดียวจะเพราะเหตุใดนั้นก็ยากที่จะอธิบายได้
ยุทธการการล้อมปราบเมื่อกลางปี 2520
หลังจากเกิดกรณีล้อมปราบนักศึกษาปัญญาชนในกรุงเทพฯ และทำรัฐประหารจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายรัฐก็เริ่มดำเนินการปราบปรามฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนักและต่อเนื่อง เพื่อกดดันให้ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารได้ผลอย่างเต็มที่ โดยใช้กำลังทหารเปิดยุทธการกดดัน จากนั้นก็เรียกตัวมวลชนที่เขาเข้าใจว่าเป็นแกนนำให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ใช้คำว่าเชิญแทนคำว่าเรียกตัวหรือจับกุมเข้าไปอบรมตามโครงการสันติสุขครั้งละ 15 วันทุกหมู่บ้านที่ทางฝ่ายรัฐเห็นว่าเป็นหมู่บ้านสีแดง รวมทั้งหมู่บ้านที่เห็นว่าเป็นเพียงแค่สีชมพูด้วย
เมื่อปลายปี 2519 เริ่มเปิดยุทธการที่ดงผาลาดในเขตอำเภอเจริญศิลป์ก่อน (ชื่อรหัส คือ ดง 05) ยังไม่ถึงดงผาลาดใหญ่ที่อยู่ในเขตอำเภอบ้านม่วงจังหวัดสกลนคร ผลกระทบในการปราบปราบครั้งนี้ไม่มีผลสะเทือนต่อพวกเรามากนัก เพราะกำลังส่วนใหญ่ย้ายไปอยู่ที่ดง 04 ตั้งแต่ปลายปี 2518 แล้วเพราะเขตงานนี้อยู่ในภาวะล่ม สำหรับมวลชนแต่ละหมู่บ้านในเขตงานนี้ ถูกเชิญไปเข้าโครงการสันติสุขและก็เข้าสู่โครงการฝึกเป็นไทยอาสาป้องกันชาติ (ทส.ปช.) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับฝ่ายเจ้าหน้าที่ มีการติดอาวุธปืนลูกซองและลูกซอง 5 นัด แล้วพาออกลากตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร มีการตั้งด่านตรวจของ ทส.ปช. ตามหมู่บ้านต่างๆในเวลากลางคืน ชาวบ้านบางส่วนก็เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ถูกตั้งเป็นหัวหน้า ถือว่าเขตงานดง 05 ล่มสลายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังเหลือเฉพาะเขตงานดง 04 ที่ผมรับผิดชอบอยู่และถูกดำเนินการล้อมปราบในปีต่อมา
การเตรียมการล้อมปราบ
หลังจากทหารเปิดยุทธการล้อมปราบดง 05 เมื่อปลายปี 2519 แล้วก็มีข่าวมาว่า จะมีการเปิดยุทธการอีกครั้งในปี 2520 แต่ยังไม่ทราบช่วงเวลาใด ทางพรรคฯ จึงมีคำชี้แนะให้ทุกเขตงานเตรียมตัวรับการเปิดยุทธการครั้งใหม่นี้ สิ่งที่สำคัญ คือ ด้านเศรษฐกิจ ทุกเขตงานจะต้องมีการเก็บสะสมเสบียงอาหารไว้ให้พอสำหรับการต้านการล้อมปราบในเวลาสามเดือน เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้หิวในระหว่างการล้อมปราบนั้นพวกเราจึงระดมมวลชนซื้อข้าวสารจากตลาดสว่างแดนดินมาเก็บซ่อนไว้ในดงที่ถือว่าเป็นทิศทางยุทธศาสตรในการถอย
สำหรับยุทธวิธีต้านการล้อมปราบในเขตจรยุทธนั้น เราจะเน้นที่การถอย หลีกเลี่ยงการปะทะเพื่อรักษาพลังที่มีชีวิต เว้นแต่การปะทะเพื่อป้องกันตัวในกรณีที่จำเป็นเท่านั้นจึงไม่มีแผนในการรุกตีตอบโต้ด้วยกำลังแต่อย่างใด เพราะไม่ใช่เขตฐานที่มั่นจึงไม่จำเป็นที่ต้องรักษาพื้นที่ แต่ต้องเกาะติดมวลชนไว้ให้มั่น คอยหาข่าวและให้กำลังใจพร้อมกับชี้แนะมวลชนเป็นระยะก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับมวลชนได้ มวลชนในหมู่บ้านก็จะไม่ทอดทิ้งเรา
ผมขอพูดถึงวิธีการเก็บข้าวสักเล็กน้อยเพื่อให้มองเห็นว่า ยุทธวิธีการเก็บนั้นก็มีความสำคัญไม่น้อยในการต้านการล้อมปราบ เพราะถ้าไม่มีความคิดทางยุทธศาสตร์ที่แจ่มชัดแล้วเก็บไว้มากอย่างไรก็ไม่สามารถเอามาบริโภคได้ เมื่อไม่มีกิน ทหารหิวก็จะถอดใจและหนีออกไปยอมจำนนกับข้าศึก และยิ่งจะเพิ่มภาระให้กับกองกำลังทั้งหมดดังที่จะกล่าวไว้นี้
ระหว่างนั้น หน่วยงานในดง 04 สองสามหน่วยงาน ถอยเข้าไปรวมกันที่กลางดง พอจะเก็บฝังข้าวที่ใดก็ยกหน่วยงานทั้งหมดไปตั้งทับที่ตรงนั้น ตกกลางคืนสหายในหน่วยงานก็ออกไปลำเลียงข้าวจากบ้านคำลอด เช้าพวกเขาก็เอาข้าวใส่ไหทาชันฝั่งไว้รอบบริเวณทับนั้น ถือว่าเสร็จภารกิจ
สำหรับหน่วยงาน ผมเป็นหน่วยงานในพื้นที่ ไม่ยอมเข้าไปรวมกับหน่วยงานอื่นในกลางดง ยังคงตั้งทับแถวตีนดงตามปกติ เมื่อสหายในทับลำเลียงข้าวจากหมู่บ้านมาก็ให้ซ่อนพักไว้นอกทับก่อน พอวันรุ่งขึ้นก็จัดสหายส่วนหนึ่งขนข้าวที่ลำเลียงมาแล้ว พร้อมส่วนหนึ่งขนไหไปยังจุดยุทธศาสตร์ที่จะถอยไป (ที่ผมไปสำรวจไว้ก่อนแล้ว) และให้เหลือคนที่จะรับผิดชอบในการฝั่งข้าวจุดนี้ไว้สามคน นอกนั้นถอนกลับให้พลาธิการจดชื่อคนที่ฝังข้าวแต่ละจุดไว้เป็นความลับ ในระหว่างที่ทำการฝั่งแต่ละจุดนั้น สหายใต้บังคับบัญชาก็มีความอึดอัดพอสมควร โดยที่เขาเห็นว่าผู้นำเราทำไมต้องทำเรื่องง่ายอย่างนี้ให้มันยุ่งยากนัก ไม่เหมือนทับอื่นเขา ผมได้ยินเสียงสะท้อนเช่นนี้ด้วยแต่ไม่ว่าอะไรและสหายเองก็ไม่กล้าพูดมากไปกว่านี้เพราะความเกรงใจ ทั้งเคยเชื่อถือในการทำงานมาก่อนอยู่แล้ว จนกระทั่งถึงวันที่ทางเจ้าหน้าที่เปิดดำเนินยุทธการล้อมปราบ
ยุทธการล้อมปราบเริ่มขึ้นเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2520 โดยทางฝ่ายรัฐมุ่งหน้าเข้าสู่พื้นที่ดง 05 ก่อน (อาจจะเป็นเพราะลวงก็ได้) ใช้เวลาบุกเข้าดง 05 อยู่ประมาณ 7 วัน แล้วทะลวงเข้าสู่ดง 04 ที่พวกเราแทบไม่รู้ตัว แต่โชคดีที่ทหารบ้านเข้มแข็งสามารถบอกข่าวได้ทัน ผมทราบข่าวรีบกลับจากการไปประชุมที่ทับใหญ่ มาถึงดูสหายที่ย้ายจากที่ตั้งเดิมไปแล้วห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร ผมดูสีหน้าแต่ละคนกังวนพอสมควร แต่พอผมเข้าไปถึงก็เห็นพวกเขาพอยิ้มออกได้บ้าง คืนนั้นพักอยู่ที่นั่นก่อนรุ่งเช้าค่อยถอยต่อผมบอก
พอรุ่งเช้ารีบกินข้าวเตรียมตัวออกเดินทาง เครื่องบินแอล19 มาบินวนอยู่แถวนั้นพวกเราเก็บของเสร็จออกเดินทาง ก่อนออกเดินทางฝ่ายทหารวางแผนรบในการเดินทางเสร็จ ผมบอกสหายให้เดินทางด้วยความระมัดระวังและบอกว่าหากเครื่องบินๆ มาตรงหัวเราให้เคลื่อนพลทันทีเพราะนักบินไม่สามารถมองทะลุพื้นเครื่องบินได้ แต่หากเครื่องบินวนไปอีกฝากหนึ่งให้หยุดนิ่งเพราะเขาสามารถมองผ่านกระจกเห็นการเคลื่อนไหวพวกเราได้ อันตรายจะเกิดขึ้นเพราะมันยิงแม่นพอสมควร มีสหายหญิงท่านหนึ่งซื่งเป็นฝ่ายนำในหน่วยงานร่วมกัน บ่นให้ได้ยินว่า ผู้นำกลัวขนาดนี้หรือผมไม่ว่าอะไร พอออกเดินทางไปได้ไม่กี่เมตร เสียงกระสุนปืนกลอากาศสาดลงมาเป็นชุดๆ แต่ก็ห่างจากพวกเราพอสมควร มันยิงไปตามพิกัดไม่ใช่เห็นเรา สหายแต่ละคนล้มนอนจนป่าราบ หน้าตาถอดสีไม่เป็นอันเดินทาง ทหารที่อารักขาผมสามคน วิ่งเข้าเอาหัวซุกจอมปลวกเล็กๆ แล้วตะโกนเรียกผมว่า “พ่อปานโพน (จอมปลวก) อยู่ทางนี้” แต่เงียบไม่มีเสียงตอบ เขาเงยหน้ามองหาเห็นผมยืนดูเครื่องบินอยู่ พวกเขารีบลุกออกมาหาพลางคิดในใจว่าผู้นำเขายังไม่กลัว เราเป็นทหารพิทักษ์จะกลัวไปทำไม (เขาเล่าให้ฟังตอนสรุปบทเรียน) ผมสั่งให้สหายเดินทางต่อตอนเครื่องบินมาตรงหัว สหายไม่เป็นอันจะเดินเพราะเสียงเครื่องบินดังขู่ขวัญบินต่ำ ละล้าละลังกันอยู่พักใหญ่ ผมเดินนำหน้าพรรคพวกจึงกล้าเดินตาม
ก่อนออกเดินทางผมสั่งให้เก็บข้าวสารซ่อนไว้ให้หมด ไม่ต้องนำติดตัวไปด้วยเพื่อความคล่องตัว สหายพากันสงสัยอยู่ในใจว่า ผู้นำเราจะพาไปกินข้าวที่ไหน เมื่อไปถึงจุดยุทธศาสตรที่หนึ่งพวกเรานั่งดูเฮลิคอปเตอร์ยิงกราดต่อจาก แอล19 และที28 อีเป็นชั่วโมง หลังจากนั้นผมนอนพักอยู่งีบหนึ่ง พอตื่นขึ้นพลาธิการมาถามว่า “พี่จะเอาข้าวที่ไหนมากิน” ผมบอกว่า สมุดจดชื่อคนฝังข้าวยังอยู่ไม่ พลาฯบอกว่ายัง ผมให้ไปเปิดดูว่า ใครเป็นคนฝังข้าวจุดนี้ เมื่อเขาดูแล้วบอกว่าสหายควร ผมเรียกควรมาและให้เขาไปขุดข้าวที่ฝังขึ้นมาแช่ ให้เอาแต่เฉพาะกินสองมื้อ ควรบอกว่า พี่ผมลืมเลยว่า ผมฝังข้าวที่นี่ สหายจึงถึงบางอ้อว่า ที่ไม่ให้นำข้าวสารติดตัวมา เพราะวันรุ่งขึ้นต้องถอยไปยังจุดยุทธศาสตร์ที่สอง พลาฯไม่ต้องมาถามผมเขารู้หน้าที่ดีแล้ว
กำลังข้าศึกหลังจากยิงกราดเคลียร์พื้นที่กันพวกเราซุ้มแล้วก็ยกพลเข้าดงไปตั้งฐานอยู่ทับใหญ่ที่พวกสหายฝังข้าวไว้ ทับใหญ่ก็เดือดร้อนไม่สามารถไปเอาข้าวสารมาบริโภคได้ ต้มข้าวเหนียวกินกับต้มยอดเลาใส่เกลือ วันรุ่งขึ้นจึงให้สหายมาขอข้าวสารจากทับพวกเราไปบริโภค เรื่องนี้ได้ให้บทเรียนแก่สหายในเขตงานนี้เป็นอย่างมากและก็เป็นที่เชื่อมั่นต่อสายตาทางยุทธศาสตร์ของการนำ รวมทั้งมวลชนในหมู่บ้านด้วย
ส่วนในหมู่บ้านกำลอดนั้นกำลังข้าศึกอีกส่วนหนึ่งคาดว่าประมาณ 1 หมวด บุกเข้าถึงหมู่บ้านตั้งแต่เช้ามืดชาวบ้านก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเช่นกัน เมื่อกองกำลังนี้บุกเข้าถึงหมู่บ้านโดยไร้การต่อต้านจากกองป่าและทหารบ้านแต่อย่างใด ผู้บังคับบัญชากองกำลังนี้(หมวดนิ่ม)ถึงกับตะโกนออกมาว่า “ยึดฐานที่มั่นของสหายปานได้แล้ว” พร้อมกับรายงานทางวิทยุเข้ากองอำนวยการปราบที่สว่างแดนดิน (ผมทราบเรื่องนี้จากแกนบ้านคำลอดและผู้ใหญ่คาน พิลารักษ์ เพราะการเปิดยุทธการแต่ละครั้ง ทหารจะนำตัวผู้ใหญ่คานไปกักไว้ที่ ทกย.ทุกครั้ง เพราะเขาเชื่อว่าเป็นคนใกล้ชิดสหายปาน)
โชคดีที่ผมให้การแนะนำมวลชนในหมู่บ้านไว้ก่อนการเข้าปราบให้ชาวบ้านทุกคนอยู่ในความสงบ ไม่ต้องมีปฏิกิริยาตอบโต้แต่อย่างใด อีกทั้งให้การต้อนรับทหารฝ่ายรัฐด้วยดีเท่าที่จะทำได้ ชาวบ้านจะได้มีความปลอดภัย มวลชนรวมทั้งทหารบ้านปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างดี ส่วนกำลังในกองป่าทุกคนทุกทับ ผมสั่งห้ามไปก่อกวนข้าศึกที่พักอยู่ในหมู่บ้านคำลอดอย่างเด็ดขาด เหตุผลเพราะฝ่ายรัฐมองว่าหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านสีแดงจัด หากมีกองป่าไปก่อกวนในเวลาค่ำคืน ฝ่ายรัฐจะอาศัยเงื่อนไขนี้จับกุมและเข่นฆ่าประชาชนได้ แต่ในขณะเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในกองทหารป่าที่ไม่ได้รบ ผมอนุญาตให้จัดกำลังหน่วยละ 3 ไปก่อกวนในหมู่บ้านอื่นที่ฝ่ายรัฐคิดว่าไม่ใช่พื้นที่สีแดง เช่น บ้านดงบาก บ้านโพธิ์ชัยแทน พอตกดึกก็ยอดลูกเอ็ม 79 เข้าไปสักลูกแล้วถอยออกมา ปล่อยให้ข้าศึกระดมยิงด้วยความเครียดไปก่อน พอสัก 3 – 4 ชั่วโมงให้หลังก็ยอดเข้าไปอีกสักลูกเพื่อพวกเขาจะไม่ได้หลับได้นอนกันทั้งคืน รุ่งเช้าพวกข้าศึกที่พักอยู่ในบ้านคำลอดยังพูดกันว่า “บ้านนี้เป็นบ้านสีแดงจัดแต่กลับได้นอนอย่างสบายไม่มีการก่อกวนเลย ส่วนบ้านที่ไม่ใช่สีแดงกลับไม่ได้หลับได้นอนทั้งคืน แถมชาวบ้านยังให้การดูแลเป็นอย่างดี” ระยะแรกที่ผมสั่งเช่นนี้ สหายป่าบางส่วนโดยเฉพาะกำลังรบ (ทล.) ไม่ค่อยพอใจนัก เพราะพวกเขาคิดว่าในเขตงานที่เรากุมมวลชบได้ดี จะต้องโจมตีศรัตรูออกไปอย่าให้เข้ามาในหมู่บ้านได้ แต่สำหรับผมเห็นว่าเราอยู่ในเขตจรยุทธ จึงไม่ควรยึดพื้นที่เป็นหลักเพราะอย่างไรก็ไม่สามารถต้านทานข้าศึกที่เหนือกว่าทุกด้าน ที่สำคัญ คือ รักษาความปลอดภัยของคน คือ มวลชนและแกนนำในหมู่บ้านให้ปลอดภัย อย่าไปสร้างเงื่อนไขให้ข้าศึกทำลายพลังที่มีชีวิตในหมู่บ้าน มวลชนจึงจะเชื่อมั่นเรา พวกเขาจำนนด้วยเหตุผลแต่ก็ยังคาใจกันอยู่ จนกระทั่งยุทธการจบลงเราไม่สูญเสียอะไรเลยทั้งกองป่าและมวลชน จึงเกิดการยอมรับกันทั่วหน้า ส่วนแกนนำทหารบ้านพูดออกมาเต็มปากว่า “ยุทธการครั้งนี้หากไม่ใช่สหายปานรับผิดชอบที่นี่ เชื่อว่าชาวบ้านคำลอดต้องตายไม่ต่ำกว่า 5 คน ความเชื่อแกนนำเช่นนี้ก็ทำให้เป็นปัญหากระทบกับผมในเวลาต่อมามากทีเดียว เอาไว้เล่าในตอนถึงเหตุการณ์นั้น
ยุทธการการล้อมปราบเที่ยวนี้ ข้าศึกก็คว้าน้ำเหลวไม่สามารถทำอะไรพวกเราได้ แม้แต่สหายนักรบก็ไม่มีใครออกมอบตัวแม้แต่คนเดียว เขาใช้เวลาล้อมปราบดง 04 อยู่ประมาณสามสัปด่ห์จึงถอนกำลัง และการปราบปราบครั้งนี้ มีพันเอกอาทิตย์ กำลังเอก (ยศในขณะนั้น) เป็นผู้อำนวยการปราบ โดยตั้งศูนย์อำนวยการอยู่ที่ ชค. 22 สว่างแดนดินหรือต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ทกย.ในรอบสามสัปดาห์ของการล้อมปราบครั้งนี้ ฝ่ายข้าศึกใช้กำลังทหารราบประมาณ 3 กองร้อย เครื่องบินทั้งแอล 19 ที 28 คาริบูสองเครื่องยนต์ และเฮลิคอร์ปเตอร์ พร้อมทั้งปืนใหญ่หลายกระบอกตั้งฐานยิงอยู่ที่บ้านนาสีนวล บ้านโนนแสบงยิงสนับสนุนตลอดเวลา เมื่อยุติยุทธการแล้วปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่บ้านนาสีนวลไม่ถอนกลับยังคงตั้งยิงขู่ขวัญพวกเราอยู่ตลอดเวลา แม้วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ปี 2521 ตอนสองยามก็ยิงอวยพรให้พวกเรากลางดึกหลายนัด ส่วนที่บ้านโนนแสบง ปืนใหญ่ถอนกลับแต่ยังคงกำลังทหารไว้ที่ทางแยกเข้าบ้านคำลอดเพื่อตรวจตราการซื้อและการขนเสบียงของพวกเรา ซึ่งก็เกิดความยากลำบากไม่น้อย แต่ก็น่าชมเชยมวลชนบ้านคำลอดที่สามารถนำข้าวสารที่พวกเราฝากซื้อเป็นกระสอบผ่านมาได้ ด้วยวาทะกรรมเหตุผลจนทหารต้องจำนน โดยเฉพาะพวกผู้เฒ่าฝ่ายหญิงร่างการก็ไม่สมบูรณ์นักสามารถเจรจาผ่านได้ ความจริงอยากเล่าประสบการมวลชนเรื่องนี้แต่มันจะยาวไป
หลังจากยุทธการครั้งนี้สิ้นสุดลง พวกเราในกองป่าก็มีการสรุปบทเรียนในการต้านการล้อมปราบครั้งนี้ทำให้เห็นการวางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการรับมือและการถอยอย่างมีแผนล่วงหน้าและการกำหนดทิศทางลวง พราง ซ่อนเร้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ในลักษณะ “เอ็งมาข้ามุด เอ็งหยุดข้าแหย่” ส่วนคำว่า “เอ็งแย่ข้าตี เอ็งหนีข้าไล่” นั้นยังไม่สามารถใช้ได้ในเขตงานจรยุทธที่ยังไม่เข้มแข็งนักและเป็นภาวะงานล้ม
ส่วนนักรบในหน่วยงานที่ผมรับผิดชอบนั้นต่างก็วิจารณ์ตัวเองสารภาพว่าในตอนเก็บข้าวนั้น พวกเขามีปัญหาจริงแต่เมื่อเกิดภาวะสงครามพวกเราไม่อดอยาก แถมยังส่งหนุนช่วยหน่วยงานอื่นได้ด้วย ส่วนสหายหญิงก็ยอมรับว่าการที่ฝ่ายนำเคยเตือนให้ระมัดระวังภัยแล้วคิดว่าฝ่ายนำกลัวนั้น พวกเขาคิดผิดและจากนั้นเป็นต้นมา สหายในหน่วยงานเชื่อมั่นและขึ้นต่อโดยสนิทใจ ส่วนที่หลายคนเคยคิดว่าปัญญาชนอย่างสหายปานจะทำอะไรได้แค่ไหนนั้นก็ถูกกลบไปด้วยความศรัทธาทั้งสหายในป่าและมวลชนในหมู่บ้าน โดยความเป็นจริงแล้ว การต้านการล้อมปราบในเขตจรยุทธที่เปราะบาง เป็นที่ราบ การคมนาคมค่อนข้างสะดวกรวดเร็ว เพียงการรักษาความปลอดภัยกับกำลังคนในป่าเขตงานและงานมวลชนไม่ล้ม ก็ถือว่าเป็นชัยชนะระดับหนึ่งแล้ว
เหตุการณ์หลังยุทธการ
หลังการถอนการล้อมปราบไม่นาน ฝ่ายทหารของรัฐก็ดำเนินแผนการกวาดมวลชนในหมู่บ้านเข้าสู่การอบรมตามโครงการสันติสุข แกนนำมวลชนทั้งหมู่บ้านคำลอดและบ้านนาดูน ได้ติดต่อเข้าขอความเห็นจากผมในฐานะฝ่ายรับผิดชอบในสองหมู่บ้านนี้ ผมให้เหตุผลว่าทุกคนควรไปเข้าร่วมอบรมตามแผนของเจ้าหน้าที่เมื่อเข้าโครงการเขาแล้วก็ตั้งใจฟังเนื้อหาการอบรม จำให้ดีแล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันตอนที่กลับมาบ้าน ไม่ต้องกังวลใจใดๆ ทั้งนั้น พวกเราเชื่อมั่นพวกคุณไม่ต้องกลัวว่าพวกกองป่าจะหวาดระแวงผมยืนยัน ตอนแรกแกนนำก็ไม่มั่นใจนักแต่ผมยืนยันอีกครั้ง พวกเขาก็ปฏิบัติตาม
หลังจากที่พวกแกนนำมวลชนกลับมาจากการอบรมแล้ว พวกเขาติดต่อเข้าพบผมที่ดง 04 ผมเดินทางออกไปพบตามปกติ แต่ก่อนเดินทางฝ่ายทหารพิทักษ์วางแผนป้องกันการทหารแล้ว ผมให้ความเห็นต่อว่า “ตอนนี้เราไปพบแกนนำที่ผ่านการอบรมโครงการสันติสุขของฝ่ายรัฐมาแล้ว สิ่งที่ควรจะปฏิบัติอย่างยิ่งก็คือ หนึ่งอย่าแสดงความหวาดระแวงต่อแกนนำเหล่านี้เป็นอันขาดทำตัวให้ปกติเหมือนกับทุกครั้งที่เคยพบพวกเขา ในขณะเดียวกันก็อย่าประมาท เพราะความไม่ประมาทนั้นเป็นปัญหาทางยุทธวิธี สองเมื่อเดินทางไปก่อนถึงจุดนัดพบให้สหายสองคนเดินทางออกไปก่อนห่างกันประมาณ 20 เมตร ผมกับสหายอีกคนจะเดินตามออกไป เมื่อคนที่ถึงก่อนจับไม้จับมือกับแกนนำแล้ว ให้ถอยออกมาเฝ้ายามห่างจากพูดคุยประมาณ 10 กว่าเมตร ผมจะเดินสวนเข้าไป เมื่อผมนั่งคุยจะมีสหายอยู่กับผม 1 คน
เมื่อผมเข้าไปถึงจับไม้จับมือแล้วก็โอบกอดแกนนำทุกคน เชิญนั่งคุยกันตามปกติ ผมถามพวกเขาว่าจำอะไรได้บ้างเล่าสู่ฟังหน่อย พวกเขาก็ช่วยกันเล่าแรกๆ ก็ดูยังเกรงๆ ไม่กล้าเล่าคำพูดที่พวกเจ้าหน้าที่กล่าวโจมตีไม่เต็มปากเต็มคำนัก ผมบอกว่าเล่าไปเถอะไปต้องกังวลหรอก เพราะบางเรื่องหากมันจริงอย่างที่เขาพูดเราก็จะได้แก้ไข เพราะคำพูดของคนไม่ใช่จะดีทั้งหมดหรือเสียทั้งหมด อย่างน้อยก็จะมีความจริงอยู่บ้างและอาจจะเป็นประโยชน์ต่อเราก็ได้
ผมชื่นชมสหายมนูญฝ่ายนำแกนบ้านเขากล้าเล่าความจริงตอนหนึ่งว่า ทางเจ้าหน้าที่เขาว่า อย่างนี้ “พวกสหายนั้นความจริงเขาก็ดีอยู่หรอก เพราะพวกเขาก็คิดเพื่อบ้านเพื่อเมืองเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยเห็นด้วยนักก็คือพวกเขาเอาทฤษฎีคนต่างประเทศมาศึกษาชี้นำ การนำทฤษฎีต่างประเทศมาชี้นำเราก็ต้องตกเป็นขี้ข้าต่างประเทศเขาเท่านั้น” เมื่อสหายมนูญพูดถึงตอนนี้ผมก็เลยพูดขึ้นว่า “อือ เข้าท่านี่ ฝังดูก็น่าเชื่อนะ” ฝ่ายแกนนำหลายคนตอบพร้อมๆ กันว่า “ผมว่าคนที่ไปอบรมมากกว่าครึ่งจะเชื่อตามที่เขาพูดนะ” ผมนิ่งอยู่พักหนึ่งก็เลยถามขึ้นว่า “พระพุทธเจ้าในศาสนาพุทธเป็นคนประเทศไหน” “เป็นคนอินเดีย”มนูญตอบ ผมถามต่อว่า “ทำไมเราถึงนับถือศาสนาพุทธ ต้องกราบไหว้พระพุทธรูปละ” พวกเขาตอบว่า “เพราะเพิ่นสอนดี คำสอนในพุทธศาสนาดีทุกอย่าง” ผมนิ่อยู่พักหนึ่งจึงถามต่อว่า “แล้วเราจะไม่เป็นขี้ข้าอินเดียหรือ” “ไม่เป็นหรอก” พวกเขาตอบพร้อมกัน ผมนิ่งอยู่พักหนึ่งพวกเขาจึงร้องออกมาว่า “โอ้โห นี่มันเล่นแง่กันง่ายๆ แบบนี้นี่ ผมบอกตรงๆ ว่าพวกผมเชื่อมันจริงๆ นะ แล้วชาวบ้านที่ไปอบรมก็รับรองว่า เชื่อกันทุกคน ถ้าสหายไม่ยกตัวอย่างเปรียบเทียบเช่นนี้ พวกเราก็คงยังเชื่อต่อไปอีก ตอนนี้รู้แล้วเข้าใจแล้ว ตอนแรกพวกเราคิดว่าสหายไม่ตอบเรื่องนี้ พอคิดตามถึงรู้ว่าเป็นคำตอบที่แจ่มแจ้งที่สุด”
หลังจากนั้นบรรยากาศความเกรงในตอนแรกๆ ก็ผ่อนคลายลง พวกเขาก็สวนเสเฮฮาตามปกติ และสารภาพว่าตอนแรกๆ พวกเขาก็เกรง หนาวๆ ร้อนๆ ไม่สบายใจ ส่วนตอนนี้สบายใจขึ้นแล้ว ผมกล่าวเพิ่มเติมว่าสิ่งที่ผมเคยย้ำนักย้ำหนาให้จำคำพูดพวกเขามาให้ได้ แล้วเราได้มาแลกเปลี่ยนกัน มันก็เกิดความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ นี่คือการเรียนรู้ชนิดหนึ่ง ทุกคนเป็นศิษย์ทุกคนเป็นครูด้วยกันทั้งนั้นและผมย้ำอีกว่าแค่นี้ยังไม่จบ จะมีเรื่องใหม่ๆ ตามมาขอให้พวกเราเตรียมความคิดไว้ก็แล้วกัน วันนั้นพวกเขากลับบ้านด้วยความสบายใจ ส่วนสหายนักรบที่ไปกับผมต่างพากันโล่งอกกันทุกคน ทั้งพวกเขามีโอกาสเรียนรู้การแก้ปัญหาที่ถูกต้องด้วย ทั้งสองหมู่บ้านนี้ก็ยังเข้มแข็งอย่างเดิมและอาจจะมากขึ้นจากประสบการคราวนี้ด้วย ทั้งทำให้พวกแกนนำกล้าคิด กล้าตัดสินใจในเวลาเผชิญเหตุด้วยตัวพวกเขาเองยังมีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งสำหรับแกนนำบ้านนาดูนในกรณีคล้ายๆ กันนี้ คือ มีครั้งหนึ่งที่ผมเดินทางไปทำงานเพื่อให้การศึกษามวลชนตามปกติ ระหว่างพักค้างคืนที่โคกบ้านนาดูด ตอนนั้นเป็นปลายฝน เช้าวันหนึ่งผมกับสหายติดตาม นั่งกินข้าวอยู่ที่เถียงนาสหายกุหลาบ (ที่พวกเราเรียกว่าพ่อกุหลาบ) แกนมวลชนบ้านนาดูน อาหารช้าเป็นต้มกบเป็นตัวๆ ระหว่างกินข้าวสหายกุหลาบพูดเชิงเล่าข่าวให่ฟังว่า “เมื่อเช้าก่อนมาที่นาเขาฟังวิทยุประกาศข่าวว่า “สหายออกมอบตัวกับทางราชการแล้วประมาณหมื่นกว่าคน ผมสงสัยว่าถ้าออกมากขนาดนั้นจะไม่หมดป่าหรือ” เมื่อเล่าแล้วเขาก็นิ่งฟังว่าผมจะว่าอย่างไร แต่ผมกลับนิ่งอยู่พักหนึ่งจากนั้นเลยถามเขาว่า “กบที่ต้มนี้ได้มาจากไหน” “พวกเด็กๆไปใส่แงบ (แงบหมายถึงภาชนะจับกบ) มา” แกตอบ ผมถามต่อว่า “ได้มากไหม” เขาตอบอีกว่า “ได้คนละ 70 – 80 ตัว” ผมถามต่อว่า “ไปใส่แงบกันหลายคนไหม” “ไปกันทั้งหมู่บ้านและก็ได้มามากเช่นเดียวกัน” เขาตอบ ผมถามต่อว่า “บ้านอื่นละเขาไปดักกันแบบนี้หรือเปล่า”“ไปเหมือนกันทุกบ้านและก็ได้มาจำนวนมากเช่นเดียวกัน” แกตอบ ผมนิ่งอยู่พักหนึ่งแล้วพูดเปรย ๆ ขึ้นมาว่า “พูดถึงกบนี่ก็แปลกนะ ตั้งแต่เดือนหกฝนตกใหม่ออกมาร้องคนก็จับไปกินไม่น้อย พอเดือนเจ็ดเดือนแปดเป็นลูกอ๊อด คนก็ช้อนเอาลูกอ๊อดไปกินครั้งละเป็นร้อยเป็นพันตัวต่อครั้งต่อคน พอถึงเดือนแปดเดือนเก้าตัวเท่าเขียดก็เอาไฟส่องจับมากินมาขายกัน พอถึงหน้านี้เดือนสิบเดือนสิบเอ็ด ก็ในแงบได้ครั้งละ 70 – 80 ตัวต่อคน แล้วปีหน้าจะมีกบกินหรือไม่ก็ไม่รู้” แกตอบสวนทันที่ว่า “มีกินเหมือนเดิม มันไม่หมดหรอก” ผมกินข้าวต่อไม่พูดอะไรสักพักแกร้อง อ๋อ “นี่ตอบคำถามนี้หรือ” ผมยิ้มๆ แต่เปรยขึ้นมาว่า ไม่รู้สิ คิดว่าเป็นคำตอบหรือ แกพูดย้ำอีกทีว่าผมคิดว่า สหายไม่ตอบคำถามนี้แล้ว นึกไม่ถึงว่านี่คือคำตอบที่กระจ่างที่สุด