อุบลราชธานี – ภายหลังกลุ่มศิลปินและนักวิชาการอีสานลงพื้นที่หมู่บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ทำบุญแจกข้าวแด่ผู้ล่วงลับในศึกโนนโพธิ์เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปะทะเมื่อปี 2445 โดยการทำบุญจัดขึ้นที่วัดศรีชมภู ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากจุดปะทะระหว่างทหารสยามและกลุ่มกบฏผู้มีบุญเพียง 50 เมตร 

การทำบุญครั้งนี้มีผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านสะพือเข้าร่วมกว่า 200 คน โดยขณะนี้ชาวบ้านได้จัดตั้งกองทุนเพื่อทำโครงการจัดตั้งอนุสรณ์สถานโนนโพธิ์ บ้านสะพือ เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชุมชนและแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผีบาปผีบุญ 

ล่าสุด พินิจ ประทุมรัตน์ อดีตข้าราชการครูและชาวบ้านสะพือ ในฐานะผู้ร่วมจัดงานบุญแจกข้าว กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น ความจริงอยากทำบุญแจกข้าวเป็นงานประจำปีของชุมชน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จักความเป็นมาของตัวเอง ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านได้ตั้งกองทุนเพื่อระดมทุนก่อสร้างอนุสรณ์สถานโนนโพธิ์-บ้านสะพือแล้ว 

“ชาวบ้านดีใจมาก ไม่คิดว่าจะได้ทำบุญแจกข้าวให้กับศึกโนนโพธิ์ ก่อนหน้าคุยกันไว้กับคนในชุมชน แต่ไม่มีใครได้ทำบุญเลย ปล่อยผ่านไป พอมาจนถึงวันนี้ได้เห็นบรรยากาศชาวบ้านร่วมกันทำบุญแจกข้าวชาวบ้านพอใจมากและอยากทำต่อไปอีก”พินิจ กล่าว

ถนอม ชาภักดี หนึ่งในกรรมการจัดงานนั่งฟังสวดอภิธรรมแก่ผู้ล่วงลับในศึกโนนโพธิ์

ด้านถนอม ชาภักดี นักปฏิบัติการทางศิลปะและหนึ่งในกรรมการจัดงาน กล่าวว่า งานปีนี้เพิ่งเริ่มต้น เป็นงานใหญ่สำหรับคนในชุมชน และไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้คนภายนอกทราบอย่างทั่วถึง โดยเน้นการทำงานร่วมกันกับชาวบ้าน โดยชาวบ้านเป็นผู้ออกแบบใช้ประเพณีวัฒนธรรมของชาวบ้าน ขับเคลื่อนงานศิลปะในชุมชน

“ตอนนี้ชาวบ้านได้ตั้งกองทุนเพื่อระดมทุนแล้ว มีแนวโน้มที่ดีสำหรับการเปิดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเป็นเรื่องราวที่คนในพื้นที่ขับเคลื่อนงาน เล่าเรื่องราวของตัวเอง ชาวบ้านคือเจ้าของเรื่องเล่าที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ภาคประชาชนที่ไม่เคยถูกบันทึกเลย” ถนอม กล่าว 

สำหรับโครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถานโนนโพธิ์ และการบันทึกประวัติศาสตร์ภาคประชาชนนั้น ถนอม กล่าวว่า เป็นโครงการที่จะร่วมสานต่อกับชาวบ้านในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ โดยจะเริ่มจากการกำหนดพื้นที่อนุสรณ์สถานฯ ร่วมออกแบบกับทีมศิลปินและสร้างห้องสมุดของชุมชน 

ถนอม กล่าวอีกว่า ตามที่ได้พูดคุยถึงโครงการนี้ เนื่องจากพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชน ตั้งแต่สถานที่เกิดเหตุ บ่อเกลือ ซึ่งถือเป็นแหล่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของชาวบ้านสะพือ แต่ละปีจะทำงานสอดคล้องกับชุมชน ใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชนต่อยอดงานศิลปะและขยายเชื่อมเรื่องราว การต่อสู้ของภาคประชาชนไว้ 

“ผมคิดว่าเรื่องนี้ใหญ่มาก เป็นการวิเคราะห์บริบทสังคมในช่วงนั้นได้ดีเลย 120 ปีไม่มีใครพูดถึงเลย ผลตอบรับดีเกิดคาด ชาวบ้านให้ความร่วมมือ และอยากให้มีการพูดถึงความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ของคนในลุ่มน้ำโขงชีมูน รวมถึงการเปิดพื้นที่ขุขันธ์ขยับต่อไป”นักปฏิบัติการทางศิลปะ กล่าว 

สำหรับผู้ที่สนใจที่ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โนนโพธิ์ สามารถสมทบทุนได้ที่บัญชี “โครงการก่อตั้งอนุสรณ์สถานโนนโพธิ์ -บ้านสะพือ” ธ.ธกส. 020207003441 ซึ่งเป็นบัญชีที่คนในชุมชนได้เปิดร่วมกัน 

image_pdfimage_print