ผู้มีบุญในอีสานซีซั่นสอง (15) – เขียนถึงประวัติศาสตร์ผีบุญและ Ubon Agenda 2022

ในสายตาของรัฐอาจมองว่า การขุดค้นประวัติศาสตร์ผีบุญบ้านสะพือเป็นการฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่สำหรับนักวิชาการที่มองในฐานะนักสังเกตการณ์อย่าง “ปฐวี โชติอนันต์” มองว่า เป็นการปลุกเร้าให้เกิดสำนึกในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังสงสัยรากเหง้าและย้อนเรียนประวัติศาสตร์นอกตำราที่รัฐไม่มีใส่ไว้ในตำรา สิ่งเหล่านี้เองมันอยู่ในสำนึกของคนรุ่นใหม่ที่อาจจะกลาย Neo ผีบุญ 

ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง

เมื่อวันที่ 3-4 เมษายน พ.ศ.2565 มีการจัดงานปฏิบัติการทางศิลปะ “UBON AGENDA : วาระผีบุญ สืบคุณแจกข้าว 120+1 ปี ศึกโนนโพธิ์” งานดังกล่าวเป็นการจัดงานรำลึกถึงการครบรอบ 120 ปีของการเสียชีวิตของผู้คนที่ลุกขึ้นสู้ต่อต้านการขยายอำนาจรัฐสยามในขณะนั้น คนเหล่านี้ถูกเจ้าหน้าที่ทางการของสยามเรียกว่า “กบฏ” แต่เมื่อมองในสายตาของคนในพื้นที่พวกเขากลับกลายเป็นกลุ่มที่ถูกเรียกขานว่า “ผู้มีบุญ” ตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนาในเรื่องพระศรีอารย์ว่า จะมีผู้มีบุญมาช่วยในการปลดปล่อยจากความลำบาก แต่ผมขอเรียกผู้ตายเหล่านั้นว่า “ผีบุญ” ซึ่งคำว่า “ผี” ในความเชื่อของผู้คนในลุ่มน้ำโขง ชี มูล คือ ผู้ที่คอยปกปักษ์รักษาลูกหลานหรือดูแลบ้านเรือน เช่น ผีนาหรือผีตาแฮก ผีเชื้อหรือผีบรรพบุรุษ เป็นต้น 

ในงานกิจกรรม Ubon Agenda 2022 มีการจัดการแสดงทางศิลปะเพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของผีบุญผ่านเสียงกลองของกลุ่มราษฎรัมส์ที่ปลุกวิญญาณผู้เสียชีวิตอยู่ตรงนั้นให้ตื่นขึ้น พร้อมนักแสดงผู้สวมบทเป็นผีบุญที่ถูกกองทัพสยามสังหารบริเวณโนนโพธิ์ ณ บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565 บริเวณบ้านสะพือนั้นเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการต่อสู้กันระหว่างกองทัพสยามกับกลุ่มผีบุญทำให้ผีบุญมากกว่า 300 คน เสียชีวิตในบริเวณนั้น และในเช้าวันถัดมาได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเหล่าผู้เสียชีวิต 

จากนั้นวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 16.44 น. หรือ 4.44 น. ได้มีการจัดแสดงทางศิลปะเพื่อรำลึกถึงผีบุญอีกครั้งบริเวณทุ่งศรีเมืองและบนถนนที่ทอดยาวไปยังแม่น้ำมูล เสียงกลองของกลุ่มราษฎรัมส์ได้ดังขึ้นอีกครั้งเพื่อปลุกผีบุญที่เสียชีวิตจากการถูกทหารสยามสังหารบริเวณทุ่งศรีเมือง ณ วันนี้เมื่อ 121 ปีที่แล้ว กลุ่มนักแสดงได้ชุบชีวิตผีบุญให้กลับขึ้นมาอีกครั้ง ขบวนการแสดงเริ่มเดินทางจากบริเวณทุ่งศรีเมืองไปยังบริเวณรูปปั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ น้องชายต่างมารดาของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ซึ่งถูกส่งมาเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลอีสาน” เมื่อ พ.ศ. 2443

การแสดงศิลปะริมแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี ซึ่งเชื่อว่า เป็นบริเวณที่นำศพผู้มีบุญมาทิ้ง เครดิตภาพ จนิสตา อาภาแสงเพชร

หลังจากนั้นขบวนผีบุญและเสียงกลองจากกลุ่มราษฎรัมส์ที่ดังอย่างต่อเนื่องได้เคลื่อนไปที่บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ซึ่งในอดีตเคยเป็นคุกที่ใช้จองจำกลุ่มผีบุญและนักโทษของสยามก่อนที่จะมีการประหารชีวิต สุดท้ายขบวนดังกล่าวได้เคลื่อนไปยังบริเวณแม่น้ำมูลซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารสยามได้นำศพผีบุญไปโยนทิ้ง 

หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยว่าอในเมื่อประวัติศาสตร์ตรงนี้มันจบไปแล้ว จะขุดหรือรื้อฟื้นขึ้นมาทำไม บางคนมีคำถามว่า ประวัติศาสตร์ที่ขุดกันมามันจริงหรือแต่งเอง สุดท้ายคือ รู้ไปแล้วมันได้ประโยชน์อะไร ??

ถ้าลองตอบคำถามดังกล่าว ผมคิดว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผีบุญนั้นมีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมานั้นมันถูกทำให้หายไปกับกาลเวลาหรือกลืนไปกับประวัติศาสตร์กระแสหลักของทางกรุงเทพฯ จากการศึกษามีการบันทึกของข้าราชการสยาม อย่างเช่น งานของเติม วิภาคย์พจนกิจ ที่กล่าวถึงกบฏผีบุญ และการใช้กำลังของกองทัพสยามในการปราบปรามกบฏ ในมุมมองของเติมนั้นถูกเขียนผ่านมุมมองของข้าราชการสยามที่มองปรากฏการณ์การลุกต่อสู้ของผู้คนในบริเวณนี้เป็นความไม่สงบที่มีต่อการปกครองของสยามและอุบลราชธานี จึงใช้คำว่ากบฏ 

คำว่า “กบฏ” นั้นคือกบฏต่อใครหรือกับอะไร แต่มองอีกมุมหนึ่งเขาเหล่านั้นไม่ได้เป็นกบฏ แต่เป็นผู้ที่ถูกกองทัพสยามกดขี่ เก็บส่วยและปราบปรามเพื่อขยายอำนาจการปกครองมากกว่าหรือไม่ มากไปกว่านั้นเรื่องราวเกี่ยวกับกบฏของสยามยังทำให้บุคคลหรือผู้ปกครองของสยามกลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นวีรบุรุษของเมืองในการปกป้องและปราบปรามสิ่งที่สยามเรียกว่า ความไม่สงบ

บรรยากาศการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 เครดิตภาพ จนิสตา อาภาแสงเพชร

ประวัติศาสตร์ผีบุญที่ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งใน Ubon Agenda 2022: วาระผีบุญ สืบคุณแจกข้าว 120+1 ปี ศึกโนนโพธิ์ หรือก่อนหน้านั้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีนักวิชาการและนักเขียนจำนวนมากเขียนถึงกลุ่มผีบุญในมุมมองต่างๆ โดยเฉพาะพี่วิทยากร โสวัตร (เจี๊ยบ) แห่งร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย หรือการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับกลุ่มผีบุญของทาง The Isaan Record ข้อมูลของผีบุญที่ถูกเก็บขึ้นมาและถูกถ่ายทอดสู่ผู้คนในสังคมได้รับทราบนั้น ตอบได้ยากว่าข้อมูลดังกล่าวถูกต้องหรือจริงแท้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะผู้ถ่ายทอดข้อมูลเองเกิดไม่ทัน ไม่มีญาณ หรือไทม์แมชชีนที่จะย้อนกลับไปในอดีตเมื่อ 120 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ที่เชื่อได้อย่างแน่นอน คือ ประวัติศาสตร์ผีบุญที่ถูกถ่ายทอดออกมานั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของชาวบ้านที่ได้รับรู้มาจากคนรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย ไม่ใช่แค่ชาวบ้านที่บ้านสะพือแต่ยังมีชาวบ้านอีกหลายตำบลในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดต่างๆ ในอีสานที่มีปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่เป็นผีบุญและถูกสังหารโหด แต่คนเหล่านั้นพูดไม่ได้เพราะอยากลืมมันไปเนื่องจากความเจ็บปวด หรือรับรู้และพูดกันในวงเล็กๆ กันแค่นั้น กลายเป็น untold story ที่รอกาลเวลาทำให้หายไปหรือเปลี่ยนไปเป็นนิทานที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับบุคคลผู้กดขี่แทน

อย่างไรก็ตามในมุมมองของผม เราคงไม่ได้ต้องการพิสูจน์เรื่องดังกล่าวจนถึงกับต้องลงไปตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นว่าเหตุการณ์เกิดที่ไหน จุดใด เวลาไหน ใครสั่งอะไร แบบพิสูจน์ความบริสุทธิ์จริงแท้ 100% แต่แค่อยากให้คนที่ยังไม่เคยรู้ได้รับรู้ว่า มันมีเรื่องราวลักษณะนี้อยู่ในสังคม ส่วนความถูกต้องของเรื่องราวจะถูกต้องมากน้อยแค่ไหน อันนี้เป็นพื้นที่ของการถกเถียงกันอย่างเสรีเพื่อก่อให้เกิดสติปัญญา ฉุกคิดและตั้งคำถามกันต่อไป ไม่ใช่มีประวัติศาสตร์กระแสหลักของกรุงเทพฯ เพียงด้านเดียวที่วนสอนอยู่ในตำราการศึกษาของประเทศนี้

ถ้าต้องตอบคำถามสุดท้ายที่อยู่ในใจผมว่า เรื่องราวมันจะไปต่ออย่างไร เมื่อประวัติศาสตร์ถูกชุบชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้ง ขบวนการแสดงผีบุญบ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล และบริเวณทุ่งศรีเมือง กลางตัวเมืองอุบลราชธานี เสียงกลองที่ดังขึ้นตลอดเวลาการแสดงของนักแสดงที่สะท้อนถึงความเจ็บปวดของกลุ่มผีบุญและการฉายภาพการแสดงซ้ำไปมาบนสื่อออนไลน์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมเชื่อว่า จะกระตุกต่อมคิดให้คนเริ่มสงสัย ทั้งผู้คนที่ชมการแสดงอยู่ในพื้นที่ว่า เกิดอะไรขึ้น รวมถึงคนที่ชมสื่อออนไลน์ไม่ว่า จะช่วงเวลาไหนก็ตามต้องมีสักคนกลับมาตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์บ้านเกิดเมืองนอนของตนเองในอดีตอีกครั้งว่า เกิดอะไรขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานีกันแน่ รวมถึงคนต่างพื้นที่อาจจะคิดต่อไปว่า ที่บ้านเรามีเหตุการณ์แบบนี้ไหม ถ้าไปไกลกว่านั้นพวกเขาเหล่านั้นสามารถเชื่อมต่อจากอดีตผ่านจินตนาการมายังปัจจุบัน รวมถึงต่อไปในอนาคตที่พวกเขาเผชิญว่า ที่ผ่านมาเขาอยู่ในรัฐแบบไหนและรัฐที่เขาอยู่ทำอะไรกับบรรพบุรุษของพวกเขาในอดีตถึงปัจจุบันและอนาคตในรูปแบบที่แตกต่างกันไป วิธีการเหล่านี้เป็นการคงอยู่ของสิ่งที่เรียกว่าการกดขี่ ขูดรีดของเผด็จการ…ที่เจ้าอาณานิคมเคยทำในอดีต โดยวิธีคิดและการกระทำลักษณะนี้ยังคงอยู่ในปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มผีบุญผ่านการแสดงทางศิลปะในครั้งนี้ ผมเชื่อว่า จะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อของเยาวชนที่ไปไกลกว่าการเชื่อมโยงตัวเองกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 53 พฤษภาทมิฬ 35  เหตุการณ์6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 24 มิถุนายน 2475 แต่ยาวไปถึงการสร้างรัฐสมัยใหม่ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ 130 ปีก่อน ที่สำคัญเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้สร้างเรื่องราวของตัวเองขึ้นมาใหม่ผ่านประวัติศาสตร์ที่เขาร้อยเรียงตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ หรือ Neo ผีบุญ ในการใช้ต่อสู้กับรัฐผ่านศิลปะการแสดงออกที่พวกเขาสามารถสรรสร้างขึ้นมาได้ 

แม้การต่อสู้ในรูปแบบนี้อาจจะไม่สามารถล้มรัฐเผด็จการหรือเปลี่ยนสังคมได้แบบพลิกฝ่ามือ แต่มันทะลุทะลวงเข้าไปในมโนและจิตสำนึกของคนอีกหลายๆ คนว่าเกิดอะไรขึ้นบนแผ่นดินอุบลนี้ พี่เจี๊ยบคนเดิมได้กล่าวไว้ในงาน Ubon Agenda ที่ Songsarn ว่า “ผีบุญถูกพูดถึงผ่านนักเขียน ถูกทำให้รับรู้ผ่านงานศิลปะและถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งที่บ้านสะพือและเมืองอุบลจากเสียงกลองของราษฎร์ดรัมส์และการแสดงฉากหลังจำลองภาพเหตุการณ์ การตัดสังหารผีบุญ….เมื่อ วันที่ 3-4 เมษายน 2445 หรือ 120+1 ปีที่แล้ว”

สถานการณ์แบบนี้คล้ายคลึงกับหนังสือ The Communist Manifesto a “spectre [is] haunting Europe” ซึ่งผมคิดว่า ตอนนี้ผีบุญ + Neo ผีบุญ are haunting the Thai state.!!! ประวัติศาสตร์ผีบุญได้ถูกชุบชีวิต ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ให้ผู้คนได้รับรู้ ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบของตัวเองต่อไปผ่าน UBON AGENDA : วาระผีบุญ สืบคุณแจกข้าว 120+1 ปี ศึกโนนโพธิ์

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด