The Isaan Record ได้เผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับขบวนการกบฏผีบุญหรือผู้มีบุญที่กระจายตัวอยู่ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว โดยมุ่งเน้นไปที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงเป็นหลัก ในบทความชุด “กบฏผู้มีบุญจากสองฟากฝั่งน้ำโขง” ของ ศ.เอียน จี. แบร์ด นักวิชาการสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาจาก ม.วิสคอนซิน-แมดิสันได้แบ่งออกเป็น 3 ตอนเพื่อให้ภาพกว้างขึ้น ตอนแรกนี้ผู้อ่านจะได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฝั่ง “ลาว” ของแม่น้ำโขง ในช่วงที่พรมแดนเคยเปิดกว้างเพิ่งถูกขีดเส้นเป็นเขตแดนระหว่างประเทศ
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นตอนแรกของทั้งหมด 3 ตอนของ “กบฏผู้มีบุญจากสองฟากฝั่งน้ำโขง” โดย ศ.เอียน จี. แบร์ด ส่วนบทความอีก 2 ตอน จะเผยแพร่ในวันที่ 28 เมษายน และตอนที่ 3 วันที่ 29 เมษายนตามลำดับ
เอียน จี. แบร์ด เรื่อง
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับขบวนการกบฏผู้มีบุญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 นั้นควรตั้งอยู่บนบริบทที่ก้าวข้ามพรมแดนประเทศแบ่งไทยและลาวออกจากอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงต้องมองว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นสองฟากพรมแดนมีความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน ซึ่งถือเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ขับเคลื่อนการลุกฮือดังกล่าว นอกจากนี้ บทบาทของราชวงศ์จำปาสักในการยุยงปลุกปั่นให้ก่อความไม่สงบในบางพื้นที่ก็ถูกประเมินต่ำไปมาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเรื่องนี้มาพิจารณาอย่างละเอียดมากขึ้น
เมื่อปี พ.ศ. 2442 เจ้าคำสุก กษัตริย์พระองค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์จำปาสักเสด็จสวรรคต ซึ่งการสิ้นพระชนม์ของพระองค์และความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นมีอิทธิพลต่อขบวนการของกลุ่มกบฏอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่เจ้าคำสุกเสด็จสวรรคต เจ้าอุปราช คำพันธ์ ซึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งราชวงศ์จำปาสัก ด้วยแรงสนับสนุนจากเชื้อพระวงศ์พระองค์อื่น ปัจจุบันนี้เมืองจำปาสักตั้งอยู่บริเวณภาคใต้ของประเทศลาว ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ส่วนราชวงศ์จำปาสักนั้นเป็นราชวงศ์ที่เคยเรืองอำนาจในภาคใต้ของลาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย อย่างไรก็ตามเมื่อปี พ.ศ. 2321 ราชอาณาจักรจำปาสักก็ตกเป็นประเทศราชใต้อาณัติของกษัตริย์แห่งสยาม
หลังจากราชอาณาจักรจำปาสักตกเป็นประเทศราชของสยามเมื่อ พ.ศ. 2321 พระแก้วผลึกหรือพระองค์ขาว พระพุทธรูปองค์สำคัญที่สุดของจำปาสัก ได้ถูก “อัญเชิญ” ไปประดิษฐานที่กรุงธนบุรี ตราบจนถึงในปัจจุบัน
ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าน้อยหรือเจ้าราชดนัย พระโอรสของเจ้าคำสุก ก็ไม่ได้ขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการจนกระทั่งปี พ.ศ. 2446 ทำให้พระราชบัลลังก์ของกษัตริย์จำปาสักถูกเว้นว่างอยู่นานถึงสามปี
ทั้งนี้มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงเวลาก่อนจะเกิดกบฏแห่งที่ราบสูงโบลาเวนเมื่อ พ.ศ.2438 มีพระสงฆ์เชื้อสายลาวรูปหนึ่ง ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เวียงจันทน์ นามว่าสมเด็จองค์คำหรือองค์ทอง ได้มีส่วนร่วมในการชักนำให้ชนเผ่าแห่งที่ราบสูงนี้ลุกฮือขึ้นต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส
เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2438 เจ้าหน้าที่ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ซึ่งประจำอยู่ที่บ้านม่วง ศูนย์บัญชาการของฝรั่งเศสประจำลาวใต้ ใกล้กับริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันออกรายงานว่า ผู้นำของ “ผู้มีบุญ” คนหนึ่งถูกจับกุมและคุมขังอยู่ที่เมืองโขง
ตามรายงานของฝรั่งเศส สมเด็จองค์คำหรือองค์ทองเกิดที่กรุงเทพฯ แม้จะเป็นพระนัดดาของเจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์แห่งเวียงจันทน์องค์สุดท้าย หลังจากราชอาณาจักรเวียงจันทน์ล่มสลาย พระบิดาและพระมารดาขององค์ทองถูกบังคับให้เดินทางมายังกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2371 จากนั้นองค์ทองเดินทางออกจากสยามเมื่ออายุ 17 ปี และบวชเป็นเณรที่วัดสีสะเกดในเวียงจันทน์ และสุดท้ายมาลงเอยอยู่ที่ลาวใต้ เอกสารของฝรั่งเศสระบุว่า “เขาแสร้งว่า ตนเองทำเพื่อผลประโยชน์ของชาวข่า [ชนกลุ่มน้อย ซึ่งพูดภาษาในกลุ่มออสโตรเอเชียติก] ที่ถูกกดขี่โดยกลุ่มเจ้า [ราชวงศ์จำปาสัก] และไม่มีจุดประสงค์อื่นใด นอกเหนือจากการต่อสู้เพื่อศาสนา” ด้านเจ้าหน้าที่ชาวฝรั่งเศส ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแห่งสะหวันนะเขตระบุว่า “เขาก่อความวุ่นวายขึ้นในประเทศ ข้าพเจ้าจึงจับกุมเขา”
ลาวถูกแบ่งครึ่ง: การรุกรานเพื่อครองอาณานิคมของฝรั่งเศส นำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาเมื่อปี พ.ศ. 2436 ซึ่งเปลี่ยนแม่น้ำโขง ศูนย์กลางแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของลาว ให้กลายเป็นพรมแดนระหว่างประเทศ ส่งผลให้กบฏ “ชาวลาว” กลายเป็นกบฏข้ามชาติในทันที
เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2438 ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งภูมิภาคลาวใต้ เขียนจดหมายถึงผู้สำเร็จราชการแห่งลาว ใจความว่า
“ข้าพเจ้าเพิ่งได้อ่านจดหมายเกี่ยวกับผู้มีบุญ ซึ่งอ้างตนว่า เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากอดีตกษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ บุคคลนี้กำลังก่อความวุ่นวายในหมู่ชาวข่า แห่งโบลาเวน โน้มน้าวให้ก่อกบฏต่อต้านการปกครองของเจ้าเมืองสีดอน ซึ่งให้ความดูแลแก่พวกเขา เราอาจเชื่อได้ว่า บุคคลนี้ คือ ต้นตอของขบวนการกบฏในโบลาเวนเมื่อปีที่แล้ว นักฉวยโอกาส ซึ่งแต่งกายคล้ายพระสงฆ์รายนี้จะถูกคุมขังอยู่ในคุกนานตราบเท่าที่ท่านต้องการ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป องค์ทองหลบหนีจากศูนย์บัญชาการของฝรั่งเศสที่บ้านม่วง และกลายมาเป็นแกนนำของกลุ่มกบฏที่ราบสูงโบลาเวน ร่วมกับองค์แก้วและองค์กมมะดำ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังกว่ามาก
เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2444 ฝรั่งเศสเริ่มรู้สึกกังวลขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ชาวลาวจำนวนไม่น้อยได้หันหน้าเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏโบลาเวน ขบวนการดังกล่าวลุกลามไปไกลเกินกว่าจะเป็นเพียงการต่อสู้เรียกร้องของชนกลุ่มน้อยอย่างที่คนบางส่วนเข้าใจ ในตอนนั้นฝรั่งเศสได้ปกครองบริเวณดังกล่าวมาแล้วถึง 8 ปี หลังจากที่โอกุสต์ ปาวี นักล่าอาณานิคมชาวฝรั่งเศส เข้ายึดครองดินแดนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงไปทั้งหมดเมื่อปี พ.ศ. 2436 หลังเดินทางเข้ามาสำรวจลาวก่อนหน้านั้นเป็นเวลาหลายปี
จำปาสักกักตุนอาวุธ
มีหลักฐานว่า ในช่วงเวลาก่อนการลุกฮือก่อจลาจล ราชวงศ์จำปาสักได้เริ่มแอบสะสมกักตุนอาวุธที่นำเข้ามาจากพนมเปญอย่างผิดกฎหมาย จดหมายของผู้บัญชาการแห่งลาวใต้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2444 เขียนไว้ดังนี้
“คำอธิบายอีกอย่างหนึ่ง คือ อาวุธที่ซื้อขายกันริมฝั่งแม่น้ำฝั่งขวาที่บาสักนั้นตั้งใจจะส่งไปให้ถึงมือเหล่ากบฏ จนถึงขณะนี้ ข้าพเจ้ายังไม่มีหลักฐานใดๆ เราทราบว่าเหล่าสมุนโจรได้ดินปืนมากมายมาจากที่นั่น นับจากเดือนกันยายนที่แล้ว [ปี พ.ศ. 2443] พ่อค้ารายนี้ได้รับดินปืนถึง 200 กิโลกรัมและเรือกลไฟเที่ยวล่าสุดก็เพิ่งนำดินปืนอีก 30 กิโลกรัมมาให้เขา ดินปืนนี้ได้มาจากบริษัทหนึ่งในพนมเปญ พร้อมกับใบรับรองธรรมดาๆ ที่ออกโดยตำรวจ ข้าพเจ้าได้ขอให้ท่านผู้สำเร็จราชการยกเลิกใบรับรองใดๆ ที่อนุญาตให้ส่งออกดินปืนและอาวุธยุทธภัณฑ์ไปยังลาว ประชาชนชาวลาวสามารถร้องทุกข์ได้แต่พวกเขาก็ไม่เคยปริปาก เพราะพวกเขารู้ดีถึงผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ กระนั้นเราคงได้แต่เสียดายที่คนเหล่านั้นรักสงบเกินกว่าที่จะช่วยเรารบกับพวกข่า”
ดูเหมือนว่าในขณะนั้นจะมีบุคคลหนึ่งจากราชวงศ์จำปาสักที่ดำเนินการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์มามากจนผิดสังเกต รวมถึงดินปืนเป็นจำนวนไม่น้อย และมีดินปืนบางส่วนถูกส่งไปถึงมือของกลุ่มกบฏจริงๆ
ที่สำคัญ ในเวลาต่อมา เชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์จำปาสักได้มีส่วนเข้าไปพัวพันกับการปลุกระดมชนเผ่าที่ราบสูงเพื่อหาความชอบธรรมและสั่งสมอำนาจของตนเอง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 ราชวงศ์จำปาสักมักก่อความไม่สงบขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนยังมีบทบาทสำคัญอยู่ในการปราบปราม ซึ่งช่วยในการควบรวมอำนาจให้มั่นคงยิ่งกว่าเดิม มีตัวอย่างเหตุการณ์ในลักษณะนี้บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. 2458 และ พ.ศ. 2473 รวมถึงแผนการที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2488 กลวิธีในการยุยงชนเผ่าที่ราบสูงให้ลุกฮือนั้นเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ราชวงศ์จำปาสักใช้อยู่เป็นระยะ
พระราชพิธีศพแห่งเจ้าคำสุกและความเชื่อมโยงต่อกบฏเขมราฐ
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของเจ้าคำสุกหลังการสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2442 เกิดขึ้นประจวบเหมาะกับการลุกฮือของกบฏในเขมราฐ ปอล ปาเต รักษาการณ์รองกงสุลฝรั่งเศสประจำอุบลราชธานี ส่งข้อความถึงเอกอัคราชทูตฝรั่งเศสประจำสยามเมื่อปี พ.ศ. 2445 เกี่ยวกับขบวนการกบฏผู้มีบุญทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง มีความว่า “ในวันที่ 15-16 มีนาคม ระหว่างทางที่มุ่งหน้าไปยังบาสัก มีคนกลุ่มหนึ่งกล่าวขึ้นทันทีหลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของกษัตริย์แห่งบาสักเสร็จสิ้นลงว่า พวกเขาจะโจมตีทั้งสยามและฝรั่งเศส”
เจ้าคำสุก (เจ้ายุติธรรมธร) กษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งจำปาสัก สวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2442 งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์เป็นจุดเริ่มต้นของการลุกฮือของกบฏผู้มีบุญ
หัวหน้ากบฏคนหนึ่งซึ่งมีนามว่าองค์มั่น อ้างตนว่าเป็นพระยาธรรมิกราช กษัตริย์ผู้เปี่ยมบารมีและทรงธรรมตามพุทธทำนายถึงยุคสมัยแห่งพระศรีอริยเมตไตรย ซึ่งระบุว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้เจริญพระองค์นี้จะเสด็จมายังที่ราบสูงโคราช องค์มั่นมีความตั้งใจจะสถาปนาตนขึ้นปกครองอุบลราชธานีด้วยการโค่นล้มกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระอนุชาในกษัตริย์แห่งสยาม และข้าหลวงใหญ่ผู้ถูกส่งมาปกครองหัวเมืองอีสานเมื่อปี พ.ศ. 2436 ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ระบบการปกครองแบบมณฑลกำลังถูกปรับเปลี่ยนเป็นระบบเทศาภิบาล ซึ่งลิดรอนอำนาจและรายรับของเหล่าอดีตผู้นำท้องถิ่น เช่น ราชวงศ์จำปาสักลงเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจขึ้นเป็นอย่างหนัก นอกจากนั้นการปรับโครงสร้างการปกครองในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ก็เกิดขึ้นในลาว ซึ่งอยู่ใต้อาณานิคมของฝรั่งเศสเช่นกัน และส่งผลให้อดีตผู้ปกครองในพื้นที่ถูกลดทอนความสำคัญลง
การปฏิรูปในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้งและต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2442 ซึ่งเป็นปีที่มณฑลลาวกาวถูกเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ และในอีกปีถัดมาก็ถูกเปลี่ยนชื่ออีกเป็นมณฑลอีสาน ชื่อตำแหน่งและยศของฝ่ายปกครองทั้งหมดถูกเปลี่ยนแปลงระหว่างปี พ.ศ. 2440 และ พ.ศ.2442 เมื่ออิทธิพลของราชสำนักสยามเพิ่มสูงขึ้นได้ก่อให้เกิดความตึงเครียดและสับสนขึ้นเป็นอย่างมาก แม้จะมีความพยายามมอบตำแหน่งต่างๆ ให้แก่ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในอดีตมาแล้วก็ตาม
องค์มั่นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นบางรายของโขงเจียม ที่ถูกลดระดับความสำคัญลงจากการเป็น เมือง จนเริ่มมีใจกระด้างกระเดื่องแล้วให้เดินทางข้ามฝั่งไปยังลาว และประกาศตัวเป็นผู้มีบุญ เชื่อว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ 2445 นั้น มีผู้เข้าร่วมขบวนการกบฏถึงราว 6,000 คน แกนนำระดับรองรายหนึ่งกล่าวไว้ในการให้ปากคำ หลังการลุกฮือที่เขาเป็นผู้นำถูกปราบปรามเอาไว้ว่า ผู้มีบุญทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ “สถาปนาราชอาณาจักรที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของทั้งสยามหรือฝรั่งเศส” ซึ่งอาจหมายความถึงราชอาณาจักรจำปาสัก ที่ในขณะนั้นตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม
โปรดติดตามตอนที่ 2 “การลุกฮือและแตกพ่ายของผู้มีบุญจากสองฟากพรมแดน” วันที่ 28 เมษายน 2565 และตอนที่ 3 “บทบาทของเจ้าจำปาสักในฐานะผู้ไกล่เกลี่ย” วันที่ 29 เมษายน 2565
ศาสตราจารย์เอียน แบร์ด เป็นศาสตราจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน
หมายเหตุ : บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ PART I: The Holy Men Revolt: A Tale of Two Countries เผยแพร่บนเว็บไซต์ The Isaan Record เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565