
“ธนาธร” ปลุกทลายรัฐราชการรวมศูนย์มาตั้งแต่ ร.5 ค้ำยันชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมต้นเหตุเกิดกบฏ 3 หัวเมือง “เหนือ-อีสาน-ใต้” ทวงอำนาจ-ภาษีคืนท้องถิ่น ชงประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค หยุดมายาคตินักการเมืองโกง ชวนปลดล็อกท้องถิ่นลงชื่อแก้ รธน.หมวด 14
หมายเหตุ : The Isaan Record ร่วมกับดาวดินทอล์ก X ขบวนการอีสานใหม่ จัดไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กร่วมพูดคุยกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าในหัวข้อ “เลือกตั้งผู้ว่าทั่วไทยในทรรศนะธนาธร” เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า
เวลาพูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คนจะสับสนมาก ผมขอท้าวความว่าในรูปแบบรัฐของไทยมีราชการส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง กรม ต่างๆ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ อีกส่วน คือ ราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นแขนขาของราชการส่วนกลาง ถ้าใครนึกไม่ออกว่า ราชการส่วนภูมิภาคคืออะไร หน่วยงานไหนที่ลงท้ายด้วยจังหวัด หรืออำเภอนั่นคือราชการส่วนภูมิภาค ยกตัวอย่าง เช่น ป่าไม้จังหวัด อุตสาหกรรรมจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ เป็นต้น หน่วยงานเหล่านี้ฟัง 2 ขา ขาหนึ่งรายงานตรงต่อเจ้าสังกัดที่กรุงเทพฯ อีกขาหนึ่งรายงานกับผู้ว่าฯ จังหวัดนั้นๆ
ในต่างจังหวัดมีโครงสร้างอำนาจที่ทับซ้อนกันอยู่เรียกว่า อำนาจแฝด อำนาจหนึ่ง คือ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านสายนี้มาจากการแต่งตั้งรายงานตรงต่อส่วนกลาง กับอีกอำนาจหนึ่งคืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นก็คือนายกฯ อบจ. นายกเทศมนตรี นายก อบต. ทั้งนี้โมเดลหรือรูปแบบรัฐที่ควรจะเป็นก็คือ ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดนั้นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีอิสระในการตัดสินใจ ไม่ต้องรายงานส่วนกลาง และปกครองตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก นี่คือหลักการและเนื้อหาใจความหลักของการเมืองท้องถิ่นที่ควรจะเป็น ปัญหาปัจจุบันถ้าเราบอกว่าเลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างเดียว หมายความว่า คุณจะมีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้บังคับบัญชาคือส่วนกลาง แล้วก็มีนายกฯ อบจ.ที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือรวม 2 ส่วนนี้เข้าด้วยกันเป็นผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดนั้นๆ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีเจ้านายคือประชาชน เจ้านายไม่ใช่มหาดไทย
จึงต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนว่า เวลาเราพูดถึงผู้ว่าฯ นั้น ผู้ว่าฯ เป็นสายภูมิภาครายงานต่อราชการส่วนกลาง เราไม่ต้องการแบบนี้ เลือกคนที่จะมาเป็นนายเรา แล้วรับฟังนโยบายรับฟังคำบัญชาการจากส่วนกลาง เราต้องการเลือกคนที่มาใช้อำนาจแทนเรา และเจ้านายของคนๆ นั้นคือประชาชนที่เลือกเขาเข้าไป ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ยกเลิกสายภูมิภาคทิ้งไปเลย ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านยกเลิกทิ้งไปเลย แล้วเอาอำนาจของสายนั้นทั้งหมดกลับมาอยู่ที่นายกฯ อบจ. แล้วจะเรียกนายกฯ อบจ.ว่าผู้ว่าฯ หรือผู้บริหารจังหวัดก็ค่อยว่ากัน
ปัจจุบันนี้รัฐส่วนกลางมีความไม่ไว้วางใจประชาชน จึงไม่ยอมให้มีอำนาจเดียวในพื้นที่ จึงต้องมีอำนาจของรัฐส่วนกลาง คือ แขนขาของรัฐส่วนกลางก็คือผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าฯ ไปดูแล รับคำสั่งจากส่วนกลาง และเอาคำสั่งจากส่วนกลางส่งต่อไปทั่ว เราไม่ต้องการแบบนี้ ซึ่งประชาชนไม่มีอำนาจที่แท้จริง อำนาจที่แท้จริงต้องมีอำนาจเดียวและอำนาจนั้นมาจากการเลือกตั้ง มีอิสระในการออกแบบอนาคต การจัดสรรนโยบาย และการดำเนินการของตัวเองและเขารายงานตรงต่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ใช่ส่วนกลาง
“นี่คือไอเดียหลักใหญ่ ใจความของจังหวัดจัดการตนเองหรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างเดียวพูดแค่นี้จะยิ่งสับสน ว่ามีทั้งผู้ว่าฯ และนายกฯ อบจ.จากการเลือกตั้ง”
กระแสการรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดว่า ยังมีความสับสนและกำกวมในเรื่องนี้ ผมขอพูดอีกครั้งว่า ถ้าจะทำแคมเปญก็คือต้องยกเลิกส่วนภูมิภาคไปเลย แล้วให้อำนาจในพื้นที่เหลือเพียงอำนาจเดียว คือ นายกฯ อบจ. แล้วจะเปลี่ยนชื่อนายกฯ อบจ.เป็นประธานผู้บริหารจังหวัดอะไรก็ว่ากันไป เคยได้ยินเพลง พ.ศ. 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมหรือเปล่า หลักๆ ถ้าฟังเนื้อเพลงนี้คีย์เวิร์ดอยู่ที่ว่า “ทางการเขาสั่งมาว่า” หมายความว่า ส่วนกลางสั่งผู้ว่าฯ ให้ไปสั่งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้ไปบอกประชาชนว่าคุณต้องคิด ต้องเชื่อ อย่างนี้ ยกตัวอย่าง ธนาธรเป็นปีศาจ ธนาธรเป็นคนชังชาติ เขาจะสั่งไปแบบนี้แล้วให้ผู้ใหญ่บ้านไปบอกชุมชน หรือไปบอกชาวบ้านว่าต้องทำเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำ คนจนต้องเสียสละเพื่อให้ประเทศพัฒนา ต้องยอมเสียสละทรัพยากร ป่าไม้ เหมืองแร่ในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้นกลไกตรงนี้คือการผลิตซ้ำวัฒนธรรมค่านิยมอนุรักษ์นิยม วัฒนธรรมค่านิยมเผด็จการ ผ่านกลไกต่างๆ เหล่านี้
ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมดไม่มีประเทศไหนมีราชการส่วนภูมิภาค ยกตัวอย่างญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหมือนประเทศไทยคือมีพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน มีการแบ่งการปกครองออกเป็น 3 ลำดับชั้น คือ 1.รัฐบาลกลาง 2.จังหวัด ซึ่งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดมาจากการเลือกตั้งและ3. เมือง ระดับเมืองเทียบกับบ้านเราก็น่าจะเป็นระดับเทศบาล หรือ อบต. ซึ่งเป็นการเมืองท้องถิ่นระดับพื้นฐานที่สุด ดังนั้นทั้ง 3 ระดับคนที่ใช้อำนาจแทนประชาชนจึงมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดและไม่มีกลไก กำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือกลไกที่มาจากส่วนกลาง คนที่มาจากการเลือกตั้งในเมืองของเขาเองสามารถมีอิสระในการจัดเก็บภาษี นโยบายในการพัฒนา หรือจัดการทรัพยากรเองได้
รูปแบบการปกครองของประเทศไทยเป็นแบบเดิมมา 130 ปีแล้ว เกิดอะไรขึ้นเมื่อ 130 ปีที่แล้ว ซึ่งเดือน เมษายน 2435 เกิดการปฏิรูปการปกครองโดยในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่มีการรวมศูนย์อำนาจการปกครองขึ้นมา ตนคิดว่ารูปแบบไม่ได้เปลี่ยนไปเลย หลักใหญ่ใจความปัจจุบันของระบบรัฐไทยปัจจุบันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อดึงพลังของคนออกมาใช้ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผลักดันให้คนในพื้นที่มีอำนาจมีสิทธิเสรีภาพในการจัดการทรัพยากรของตัวเอง ในการออกแบบอนาคตพื้นที่ของตัวเอง แต่ออกมาเพื่อการปกครอง การควบคุมคน
“หลังการปฏิรูปราชการปี 2435 เวลา 10 ปีหลังจากนั้นเกิดผีบุญขึ้นในภาคอีสาน และไม่ได้เกิดขึ้นแค่ภาคเดียว ในช่วงกลางทศวรรษที่ 2440 เกิดกบฏขึ้นทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผีบุญ ในภาคอีสาน กบฏเงี้ยว จ.แพร่ ในภาคเหนือ กบฏ 7 หัวเมืองแขกในภาคใต้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ปี 2445 เกิดกบฏขึ้นทั่วทุกภาคเพื่อต่อต้านรูปแบบของรัฐไทยที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในปี 2435”

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมประชุมกับอดีตผู้สมัครก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อปี 2564
หลังจากรวมศูนย์มาส่วนกลางแล้ว 10 ปีเกิดกบฏขึ้นทั่วประเทศ ภาวะมันสุกงอมพอ ทำให้ทุกคนออกมาที่ทำให้ทุกคนออกมาต่อต้านการรวมศูนย์อำนาจนี้พร้อมกัน ปัญหาคือ 3 ตัว 1.ทรัพยากร 2.ภาษี และ 3.อำนาจ ในเชิงอำนาจพอรวมศูนย์อำนาจแล้วก็ส่งข้าหลวงจากส่วนกลางไปปกครองในแต่ละพื้นที่ ยึดอำนาจของคนท้องถิ่นมา ในด้านเศรษฐกิจคือภาษีจากเดิมที่จ่ายเป็นผลผลิตทางการเกษตรได้ ส่วนกลางบอกไม่เอาแล้ว จะเอาเป็นเม็ดเงิน ส่วนทรัพยากรคือไปดึงเอารายได้จากการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่นั้นมาเป็นของส่วนกลาง ภาคเหนือชัดเจนคือสัมปทานป่าไม้ ดังนั้นเมื่อทรัพยากร อำนาจ ถูกริบไป แล้วต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ท้องถิ่นทั่วประเทศจึงลุกขึ้นสู้ ต่อต้านการรวมศูนย์อำนาจ ยกตัวอย่างในภาคอีสาน เริ่มตั้งแต่โคราช ชัยภูมิ สกลนคร ขอนแก่น นครพนม สารคาม บุรีรัมย์ โดยมีศูนย์กลางใหญ่อยู่ที่อุบลราชธานี ตนคิดว่าเป็นสายธารเดียวกันเวลาเราพูดถึงเรื่องคน และทรัพยากรในท้องถิ่น ใครเป็นคนกำหนด
กลับมาสู่คำถามที่ว่าท้องถิ่นพร้อมในการกระจายอำนาจหรือไม่ สิ่งที่คณะก้าวหน้าพยายามรณรงค์อยู่ เราพยายามหลีกเลี่ยงคำว่ากระจายอำนาจ เพราะกระจายอำนาจมันเหมือนกับว่าอำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วเราไปขอความเมตตาบอกว่าช่วยกระจายมาให้ต่างจังหวัด เราเชื่อว่าอำนาจมันเป็นของต่างจังหวัดอยู่แล้ว มันถูกยึดไปที่กรุงเทพฯ ดังนั้นเวลาเราพูดเรื่องเหล่านี้เราต้องบอกว่าไม่ได้ขอความเมตตา แต่เรามาทวงสิทธิ์เรามาทวงอำนาจที่ชอบธรรมของเราคืน อำนาจในการจัดเก็บภาษี การวางแผนภาษี อำนาจในการกำหนดการใช้ทรัพยากรของเราเอง ดังนั้นพร้อมหรือไม่ตนคิดว่ามันต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้นที่ว่าอำนาจและสิทธิมันเป็นของท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่ถูกส่วนกลางดึงเอาไป เมื่อสมัยการปฏิรูปรัฐราชการสมัยรัชกาลที่ 5
หากไม่ใช้คำว่ากระจายอำนาจแล้วจะใช้คำว่าอะไร สำหรับพวกเราในสมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ใช้คำว่า “ยุติระบบรัฐราชการรวมศูนย์” ซึ่งเป็นการกำลังเอาภาษีของคนทั่วประเทศไปหล่อเลี้ยงรัฐราชการรวมศูนย์ ที่ใหญ่โตเทอะทะ ไม่เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน
เพียงแค่การเลือกตั้งฝ่ายบริหารของจังหวัดหรือเลือกตั้งผู้ว่าฯ นั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่ต้องยกเลิกส่วนราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งตนเรียกว่าเป็นกลไกที่เอามาปราบกบฏ เป็นกลไกที่ดึงลงมาเพื่อผลิตซ้ำค่านิยมจะหล่อเลี้ยงระบบนี้ และไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน เป็นความตั้งใจของส่วนกลางที่ไม่ต้องการให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจและงบประมาณที่แท้จริง ระบอบที่ส่วนกลางค้ำยันอำนาจของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมอยู่ ไม่ต้องการให้การเลือกตั้งมีความหมาย เพราะการเลือกตั้งมีความหมายแล้วประชาชนจะได้ลิ้มรสประชาธิปไตย ถ้าประชาชนได้ลิ้มรสประชาธิปไตยครั้งหนึ่งแล้ว เขาจะไม่ลืมอีกเลย
ดังนั้นต้องทำให้อำนาจที่มาจากการแต่งตั้งของประชาชนทุกระดับไร้ความหมายมากที่สุด เพื่อที่จะทำให้เลือกใครไปแล้วไม่เหมือนเดิม ต้องให้อำนาจจริงๆ ทั้งงบประมาณและอำนาจอย่างเต็มที่กับคนที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน และต้องมีการจัดการภาษีที่เป็นธรรมให้กับท้องถิ่น สิ่งที่ต้องทำคือการเอาอำนาจและงบประมาณออกมาจากส่วนกลาง ทั้งนี้ปัจจุบันมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับอยู่แล้ว แต่ปัญหาคืออำนาจส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมากดทับศักยภาพของส่วนท้องถิ่นที่ประชาชนเป็นคนเลือกตั้งไว้ ท้องถิ่นมันจึงไม่งอกงาม ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น
ส่วนกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้ท้องถิ่นมีความโปร่งใสนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า ท้องถิ่นโกงเป็นมายาคติ แน่นอนว่าท้องถิ่นมีคดีเกิดขึ้นมากเพราะมีจำนวน 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ แต่ถ้าดูเม็ดเงินมีจำนวนน้อยมาก ถ้าเทียบกับการคอร์รัปชั่นส่วนกลาง เช่น กรณีคลองด่าน ตัวเลขเป็นหมื่นล้านบาทหรืออดีตปลัดกระทรวงมีเงินสดซุกในบ้านหลายร้อยล้าน แม้กระทั่งเมื่อเปิดบัญชีทรัพย์สินข้าราชการระดับอธิบดีมีทรัพย์สินถึงหลักร้อยล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นมายาคติที่ชนชั้นนำต้องการโยนบาปให้นักการเมือง เขาโยนบาปให้นักการเมืองเสมอ เปรียบเสมือนว่าข้าราชการดีถ่องแท้ทุกคน ในขณะที่นักการเมืองทุกคนเลวต้องแสวงหาผลประโยชน์ เราถูกทำให้เชื่อกับมายาคตินี้มานาน ตนคิดว่านักการเมืองก็เหมือนกับอาชีพอื่น ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ที่มีทั้งดีและเลว นักการเมืองก็มีทั้งดีและเลวเหมือนอาชีพอื่น แต่เราถูกทำให้เข้าใจว่าบาปของประเทศนี้อยู่ที่นักการเมืองอย่างเดียว
ข้อที่หนึ่งเรื่องคอร์รัปชั่นของท้องถิ่นเป็นมายาคติ ท้องถิ่นไม่ได้คอร์รัปชั่นทุกที่เสมอไป นักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติก็เหมือนอาชีพอื่น คือมีทั้งดีมีทั้งเลว แต่ถ้าพูดถึงปริมาณการคอร์รัปชั่นแล้วนักการเมืองระดับชาติ มีปริมาณมีมูลค่าการคอร์รัปชั่นสูงกว่าท้องถิ่นเยอะมาก ข้อที่สองปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยทำงานให้โอกาสประชาธิปไตยได้ทำงานหมุนวนไป 1 รอบ 2 รอบ ประชาชนจะเติบโตและเรียนรู้กับอำนาจ สิทธิเสรีภาพ ของตนเอง เรียนรู้ในเรื่องภาษีและงบประมาณของท้องถิ่น และลุกขึ้นมาตรวจสอบด้วยตัวของเขาเอง
หากยกเลิกส่วนราชการภูมิภาคจะทำอย่างไรกับส่วนราชการ เช่น ผู้ว่าฯ นายอำเภอ หรือหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องหายไปนั้นว่า เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจและอาศัยการอธิบาย ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะก้าวหน้ากำลังทำอยู่ คือการเดินสายอธิบายให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์ของการยุติการรวมศูนย์ และต้องพูดถึงเรื่องการทำประชามติ โดยการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ที่เรากำลังทำอยู่ ในชื่อโครงการขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งสำคัญของ หมวด 14 รัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น ในร่างรัฐธรรมนูญของเราพูดถึง 2 อย่าง คือ การเอาอำนาจมาให้ท้องถิ่นมากขึ้น และการจัดสรรภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้น ให้ท้องถิ่นได้มีภาษีในการบริหารจัดการบริการสาธารณะของตัวเองให้มากขึ้น
ในส่วนของการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเราไม่ได้เขียนให้ยกเลิกเลย เราเขียนให้มีการทำประชามติเรื่องนี้ภายใน 5 ปี แม้ส่วนตัวผมเห็นว่าอย่างไรต้องยกเลิก แต่คิดว่าเรื่องนี้ใหญ่เกินไปยังต้องการการรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงข้าราชการส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาคอีกมาก เรื่องใหญ่ขนาดนี้จึงต้องถามประชาชนเพราะจะเกี่ยวข้องกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ซึ่งจะมีคนได้รับผลกระทบเยอะมาก จึงต้องให้ประชาชนตัดสินใจร่วมกันให้เป็นฉันทามติของสังคม โดยการทำประชามติว่าจะยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคหรือไม่ โดยแนวทางคือต้องทำความเข้าใจว่าหากยกเลิกข้าราชการส่วนภูมิภาคไปแล้ว บางส่วนอาจต้องโอนถ่ายมาอยู่ส่วนท้องถิ่น บางส่วนอาจจะกลับไปอยู่ที่ส่วนกลาง หรือบางส่วนรับเงินก้อนแล้ว เออร์ลี่ รีไทร์ไปเลยก็อาจจะเป็นแนวทางที่เป็นไปได้
ร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นที่เราเขียนไว้ว่า การแบ่งงบประมาณให้ท้องถิ่นต้องเป็น 50:50 ถ้าทำตามที่เราบอกได้ แต่ละท้องถิ่นแต่ละตำบลจะมีงบพัฒนาอีก 60 ล้าน ถ้าทำตามนี้ได้ไม่ต้องไปหางบพัฒนาที่ไหน ไม่ต้องไปอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมป์ของกลุ่มการเมืองใด ไม่ต้องไปรับใช้โครงข่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ไม่ต้องไปผลิตซ้ำวาทกรรมให้เราเชิดชูแอกตัวเอง แต่จะเป็นการปลดแอก เป็นการทำงานผู้คนในต่างจังหวัดกำหนดทิศทางในการพัฒนาของตัวเองได้ผ่านบัตรเลือกตั้ง
อยากจะฝากให้ทุกคนร่วมลงชื่อในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ว่าด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งร่างนี้ไม่ใช่ของคณะก้าวหน้าเท่านั้นยังมีอดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลร่วมเป็นเจ้าของร่างด้วย ผมคิดว่า ร่างฉบับนี้จะปลดล็อกพันธนาการที่ทำลายความคิดสร้างสรรค์ของคนต่างจังหวัดออก มันจะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ทำให้แต่ละจังหวัด แต่ละเมืองหลังจากนี้แข่งกันเจริญ ทำให้เกิดงานในพื้นที่คนไม่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อหางาน มีงานทำในบ้านตัวเอง เรื่องนี้ใหญ่เกินไปตนทำคนเดียวไม่ได้ อยากจะเชิญชวนทุกคนให้มาร่วมลงชื่อ และผมจะเดินทางไปรณรงค์ทั่วประเทศ
เรื่องนี้ผมและนักการเมืองระดับชาติทุกคนไม่ได้ประโยชน์ แต่เรื่องนี้คนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้รับประโยชน์ ขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 2 หมื่นรายชื่อ ซึ่งเราต้องการเป็นแสนรายชื่อ โดยหลักการคือเข้ารัฐสภาไปแล้ว ต่อให้แพ้เราก็ได้รณรงค์และได้เพื่อนร่วมทางมากขึ้น มันต้องสะสมปริมาณจนปริมาณที่เราสะสมไว้เปลี่ยนแปลงเป็นชัยชนะเชิงคุณภาพ เกมนี้ไม่มีแพ้ ต่อให้ไม่ผ่านรัฐสภาก็ได้รณรงค์ได้ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนมากขึ้น
ฝากถึงนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทั้งหลายว่านี่คือเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ ไม่มียุคสมัยไหนอีกแล้วที่น่าตื่นเต้นเท่านี้ อย่าเพิ่งยอมแพ้ เป็นกำลังใจให้กันและกัน และการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่เป็นการเดินทางที่ยาว จะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างที่เราวาดหวังไว้ได้ ไม่สามารถทำได้ด้วยการเลือกตั้งหรือการเคลื่อนไหวครั้งเดียว แต่ต้องทำให้ยาวและยืนหยัดด้วยกันยาวๆ ต่อไป