ท้าวบุญจันทร์ ณ เมืองขุขันธ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏเมื่อปี 2445 เพราะมีบุคลิกไม่ยอมอ่อนข้อต่อข้าหลวงจากสยามจึงถูกปราบปรามและตัดหัวเสียบประจานเพื่อไม่ให้คนแข็งขืนเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นใกล้เคียงกับเหตุปราบกบฏผู้มีบุญบ้านสะพือ จ.อุบลฯ 

จนิสตา อาภาแสงเพชร  เรื่องและภาพ

‘ท้าวบุญจันทร์’ แห่งเมืองขุขันธ์ นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของชาวบ้าน ผู้ถูกกล่าวหาว่า ซ่องสุมกำลังเพื่อก่อกบฏ ทั้งยังถูกกล่าวหาจากรัฐสยามว่าเป็นผีบ้าผีบุญ นำไปสู่การล้อมปราบที่เขาซำปีกา อ.ขุญหาญ จ.ศรีสะเกษ และถูกตัดศีรษะเพื่อนำไปเสียบประจาน บริเวณหน้าวัดเขียน นานกว่า 7 วัน 

ความเป็นจริงเป็นเช่นไร ไม่มีใครอาจรู้ได้ ทว่าข้อกล่าวหานั้นก็ยังสร้างตราบาปจนถึงรุ่นลูกหลานที่ต้องการให้สะสางประวัติศาสตร์ที่พวกเขาไม่ได้สร้าง

ท้าวบุญจันทร์ คือ ใคร   

‘ท้าวบุญจันทร์’ ผู้ถูกตัดหัวเสียบประจานเคยเป็นกรมการเมืองขุขันธ์ เป็นบุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง) เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่ 8 และเป็นน้องชายของพระยาภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา ขุขันธิน) เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่ 9 ซึ่่งเป็นเจ้าเมืองลำดับสุดท้ายในตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ หลังจากนั้นปี พ.ศ.2440 ท้าวปัญญา เปลี่ยนไปดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์แทน 

พระราชปริยัตยาทร เจ้าอาวาสวัดกลางขุขันธ์ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ท้าวบุญจันทร์’ จากเอกสารบันทึกเป็นคนจิตใจกว้างขวาง อีกทั้งยังกล้าหาญทำให้ชาวบ้านเคารพเกรงขามได้ 

“ท่านเป็นนักเลง พูดอย่างสมัยนี้ว่า เป็นนักเลงใหญ่ มีพรรคพวกเยอะ อีกทั้งเป็นคนใจบุญ ใจกุศล ชอบคบเพื่อนฝูงมาก ใครตกทุกข์ได้ยากก็มาหา มีวิชาอาคม ของขลัง คนก็ไปเป็นลูกศิษย์ลูกหาบ้าง ไปเป็นพรรคพวกบ้าง”พระราชปริยัตยาทร เล่าข้อมูลจากการศึกษา 

พระราชปริยัตยาทร เจ้าอาวาสวัดกลางขุขันธ์ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์ 

ทำไมถึงถูกกล่าวหาว่า “เป็นกบฏ”  

สาเหตุที่ท้าวบุญจันทร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏนั้น พระราชปริยัตยาทร ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากพระยาบำรุงบุระประจันทร์ (จันดี) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำเมืองขุขันธ์ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากสยาม อยากจะกำจัดท้าวบุญจันทร์  

“ท้าวบุญจันทร์มีบุคลิกค่อนข้างแข็งกระด้าง ไม่ยอมอะไรง่ายๆ เพราะอะไรที่ไม่ถูกต้องจะคัดค้านทันที 

เมื่อพ่อตากับน้องชายไม่ถูกกัน ท้าวปัญญาที่เป็นลูกเขยของพระยาบำรุงฯ ก็เลยพูดไม่ออก  ตอนนั้นท้าวบุญจันทร์เป็นกรมการเมือง พี่ชายเป็นเจ้าเมือง พระยาบำรุงฯ เป็นปลัดเมือง เวลาอะไรไม่ถูกต้องท้าวบุญจันทร์ก็คัดค้าน พระยาบำรุงฯ จึงไม่พอใจพอได้จังหวะก็ได้โอกาสว่าเป็นผีบุญผีบ้า เลยปราบเสียเสี้ยนหนามให้หมดไป” พระราชปริยัตยาทร กล่าว

อีกหนึ่งเรื่องที่ ท้าวบุญจันทร์ ได้รับความชื่นชมจากชาวบ้าน คือ การ ให้ความช่วยเหลือ ด้วยการไม่เก็บส่วยกับคนที่ไม่มีเงินจ่ายและไม่ต้องใช้แรงงานทดแทน ซึ่งการกระทำแบบนี้ส่งผลให้ พระยาบำรุงฯ ไม่พอใจท้าวบุญจันทร์เป็นอย่างมาก

ภายในกุฏิของพระราชปริยัตยาทร เจ้าอาวาสวัดกลางขุขันธ์ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ

พระราชปริยัตยาทร เล่าว่า ก่อนหน้านี้ใครไม่มีเงินเสียส่วนปีละ 2 บาท จะต้องทำงานทดแทนเป็นเวลา 7 วัน ถ้าใครไม่มีเงินแล้วท้าวบุญจันทร์รู้ก็จะปล่อยไป 

“เมื่อก่อน 2 บาทก็ไม่ใช่ธรรมดานะ ยอมทำงานอยู่ 7 วัน สมัยหลวงพ่อเป็นเด็กๆ เขาพูดกันอยู่ ถ้าปีหนึ่งไม่เสียเขาก็เกณฑ์มาทำงานโยธา เช่น มาถางป่า ถางหญ้าบ้าง ถ้าใครไม่มีเสีย ท้าวบุญจันทร์ก็จะไม่เก็บและไม่ต้องมาทำงาน ทำให้พระยาบำรุงไม่พอใจและคิดว่า เป็นก้างขวางคอ” 

ชนวนเหตุที่ทำให้พระยาบำรุงฯ ไม่พอใจ จนนำไปสู่การกล่าวหา ท้าวบุญจันทร์ว่าเป็นกบฏ คือ การแข็งข้อเรื่องการปกครองคนที่ทั้งสองคนมีความเห็นไม่ตรงกันนำไปสู่การตั้งข้อหาว่า เป็นกบฏ 

ทางเข้าวัดเขียน อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ บริเวณที่เสียบศีรษะท้าวบุญจันทร์ เพื่อประจาน ไม่ให้ชาวบ้านเอาเป็นแบบอย่าง 

เขาซำปีกา สถานที่ปราบกบฏกลุ่มท้าวบุญจันทร์ 

หลังจากเกิดความขัดแย้งท้าวบุญจันทร์ และพรรคพวกบางส่วน ซึ่งไม่พอใจกับการกระทำของพระยาบำรุงฯ เพราะถือว่าเป็นการขูดรีดทำให้ชาวบ้านบางส่วนย้ายออกจากเมืองขุขันธ์ ไปอยู่ที่ ‘ภูฝ้าย’ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษในขณะนี้ 

ต่อมาท้าวบุญจันทร์ได้เดินทางไปเยี่ยมชาวบ้านที่ภูฝ้ายและเลือกที่จะอยู่บนภูฝ้ายแทนการกลับไปที่เมืองขุขันธ์ 

“เมื่อคนย้ายมาอยู่เยอะขึ้น ท้าวบุญจันทร์จึงเห็นว่า ภูเขาฝ้ายมันเล็ก คนอยู่ไม่พอ ก็เลยพาย้ายไปเป็นเขาซำปิกา ทางทิศใต้ของบ้านกันทรอมน้อย ที่นั่นพื้นที่กว้างขวาง พระยาบำรุงฯ สบโอกาสลงมือปราบปราม” พระราชปริยัตยาทร เล่า

ปราสาทภูฝ้าย อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ จุดแรกที่กลุ่มท้าวบุญจันทร์ขึ้่นไปอาศัยอยู่ ก่อนย้ายไปยังเขาซำปีกา

การปราบปรามกลุ่มท้าวบุญจันทร์จึงเกิดขึ้นที่ ‘เขาซำปีกา’  โดยพระยาบำรุงฯ ได้ส่งทหารไปล้อมปราบอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ พระยาบำรุงฯ จึงรายงานไปยังกรมหลวงสรรพสิทธิฯ ข้าหลวงต่างพระองค์ ที่เมืองอุบลราชธานี จากนั้นจึงมีการประชุมเพื่อหาทางปราบปรามกบฏกลุ่มท้าวบุญจันทร์ให้ได้ 

ในการปราบปรามครั้งสุดท้าย กองกำลังทหารฝ่ายพระยาบำรุงฯ ได้ใช้อาวุธปืน ส่วนฝ่ายท้าวบุญจันทร์มีเพียงดาบเท่านั้น ทำให้การต่อสู้ของฝ่ายพระยาบำรุงฯ เริ่มสำเร็จผล ท้าวบุญจันทร์ถูกกระสุนปืนยิง พระยาบำรุงฯ จึงสั่งให้ทหารตัดศีรษะแล้วนำกลับเมืองขุขันธ์ทันที 

สามแยกหน้าวัดเขียน  อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ จุดที่เสียบศีรษะประจาน

เมื่อนำศีรษะกลับมายังเมืองขุขันธ์แล้ว ก็นำมาเสียบประจานไว้ บริเวณหน้าวัดเขียน อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ โดยเหตุผลที่ต้องเสียบประจานก็เพราะว่า พระยาบำรุงฯ ต้องการทำให้ชาวบ้านเกิดความเกรงกลัว หวาดหวั่น คล้ายกับเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อมิให้นำไปเป็นแบบอย่าง

“ เสียบประจานอยู่ 7 วัน แล้วก็เอาออก จากนั้นลูกน้องที่รอดก็กระจัดกระจายไป” พระราชปริยัตยาทร กล่าว

บริเวณสวนพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ อนุสาวรีย์ตากะจะ เจ้าเมืองขุขันธ์คนแรก

ส่องประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นโดยผู้ชนะ 

“แท้จริงแล้วท้าวบุญจันทร์ไม่ใช่กบฏ แต่พวกที่ชนะก็สามารถพูดได้ว่าอะไรเป็นอะไร ใช่ไหม คนแพ้เป็นโจร คนชนะเป็นนาย เป็นธรรมดา คนชนะก็สามารถพูดได้ว่าเป็นอะไรต่อมิอะไร” เจ้าอาวาสวัดกลางขุขันธ์ ให้ความเห็น และกล่าวอีกว่า “ถ้าคิดเป็นกบฏต้องมีการซ่อมสุมอาวุธยุทธภัณฑ์ แต่นี่ไม่มี มีเพียงดาบเท่านั้น ดาบไปสู้กับปืนได้อย่างไร ดังนั้นที่หาว่า ท้าวบุญจันทน์เป็นกบฏเป็นไปไม่ได้ กบฏผีบุญใช่ไหม พวกผีบุญนั้นจริงๆ แล้วคือการกล่าวอ้างทีหลังว่า เป็นกบฏผีบุญ” 

เจ้าอาวาสกล่าวทิ้งท้ายว่า การกระทำของ ‘ท้าวบุญจันทร์’ และพรรคพวกจึง ไม่ถือว่าเป็นการซ่องสุมกำลังเพื่อก่อกบฏ แม้ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันจะมีกบฏผู้มีบุญเกิดขึ้นที่บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลฯ เมื่อปี 2445 ก็ตาม

image_pdfimage_print