จินตนา ประลองผล เรื่อง 

วรรณา แต้มทอง และ กนกพร จันทร์พลอย ภาพ

ด้วยเงินทุนเริ่มแรกเพียง 6 พันบาทที่มาจากการลงขันของนักฝัน 9 คน ทำให้วันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2565 เป็นฤกษ์งามยามดีที่พวกเขาเลือกเปิดตัวสำนักข่าว Lanner (ลานเน้อ) 

มี “นุ๊ก – วัชรพล นาคเกษม” ลูกครึ่งอีสานพลัดถิ่น อาสาเป็นบรรณาธิการ โดยหวังว่า  จะปลุกปั้นสำนักข่าวแห่งนี้ให้เป็นสื่อทางเลือกสำหรับคนภาคเหนือไปพร้อมๆ กับการตอบโจทย์ความหิวกระหายข้อมูลที่ถูกตัดตอน ตัดขาด และถูกปิดตา 

นักสัมภาษณ์รับเชิญของ The Isaan Record คุยกับเขาในวันที่มรสุมฤดูร้อนเข้าปกคลุมดอยสุเทพแทนฝุ่น PM 2.5 

เป็นใครมาจากไหน ทำไมจึงทำสำนักข่าว LANNER 

ชื่อวัชรพล นาคเกษม ชื่อเล่นนุ๊ก อายุ 26 ปี ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการสำนักข่าว LANNER (ลานเน้อ) พื้นเพเป็นคนระยอง ครึ่งหนึ่งเป็นคนอีสาน เป็นลูกครึ่งอีสานที่ตายายมาแสวงหาชีวิตใหม่ที่ระยอง ในช่วงที่คนอีสานเริ่มมาแสวงหาชีวิตใหม่ในระบบอุตสาหกรรม จบคณะรัฐศาสตร์ วิชาเอกเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยบูรพา เคยทำกิจกรรมอยู่กับกลุ่มโกงกาง เป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมนักศึกษา ทำค่ายเรียนรู้ประเด็นในภาคตะวันออก เคลื่อนไหวทางการเมือง แรงงาน สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจงานเปลี่ยนแปลงสังคม 

หลังจากเรียนจบก็ได้ทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นงานพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่สนใจนวัตกรรมทางสังคม สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ทำตามความคิดความฝันที่เชื่อมั่นว่า นวัตกรรมที่กำลังทำ คือ ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม ผมมีหน้าที่สนับสนุน เป็นพี่เลี้ยงโครงการก็ได้ดูแลโครงการในภาคอีสาน ทำเกือบๆ 3 ปีเต็มก็สนุกดี ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการได้พัฒนาตัวเองและเริ่มเห็นว่า ตัวเองมีความสนใจเรื่องอื่นๆ อีกเยอะ ไม่ได้มีความคิดว่า จะต้องอยู่ที่ใดที่หนึ่ง อยากโยกย้ายตัวเองไปเรื่อยๆ ในวิถีทางที่สนใจ

มีความสนใจด้านการเคลื่อนไหวทางสังคมของประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะช่วงปี 2563 เริ่มมีการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็ได้เห็นการเคลื่อนไหวและมองว่า สิ่งที่หลายๆ ภาคยังไม่มี คือ การสื่อสารของตัวเองที่ไม่ต่อเนื่องพอ มันเป็นเรื่องน่าเสียใจ เพราะหลายครั้งมีประเด็นเล็กๆ ตกไป โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีความน่าสนใจ เลยอยากลองมาสัมผัสและเรียนรู้ให้เต็มที่มากขึ้น ประกอบกับผมมีเพื่อนที่อยู่ในรุ่นราวเดียวกัน เคยเข้าร่วมโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มาด้วยกัน และเพื่อนที่เป็น NGO เป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมที่อยู่ในพื้นที่ทางภาคเหนือ

ผมกับเพื่อนๆ ที่ทำงานในทางองค์กรสังคมต่างๆ ที่อยู่ในภาคเหนือที่ขับเคลื่อนในประเด็นสิทธิที่ดิน สิทธิมนุษยชน สิทธิชาติพันธุ์ สิ่งแวดล้อม แรงงาน รวมไปถึงเพื่อนที่เป็นสื่อมวลชนรวมกลุ่มกัน 9 คน และคิดว่า พวกเราน่าจะมาทำสำนักข่าวที่พูดถึงประเด็นหรือสถานการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น และสามารถเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนถกเถียงได้ จึงริเริ่มก่อตั้งสำนักข่าว LANNER ขึ้น เป็นเหมือนสำนักข่าวที่เริ่มจากความคิดที่ค่อยๆ พัฒนาเป็นรูปเป็นร่าง เพื่อให้งานสื่อสารทางสังคมมีพลังต่อเนื่องและมากพอ มีการ set agenda ให้ประเด็นต่างๆ ได้ถูกพูดถึงในสังคม 

ทำไม  LANNER ถึงออกเสียงว่า “ลานเน้อ”

Lanner (ลานเน้อ) มาจากคำว่า ล้านนา ผสมกับคำสร้อยที่คนภาคเหนือพูดกันติดปาก พอลองเอาคำนี้ไปค้นหาก็พบว่า ในภาษาอังกฤษ ยังเป็นชื่อของเหยี่ยวสายพันธุ์หนึ่ง มันจึงไม่ได้มีความหมายที่อ้างอิงเพียงแค่ความเป็นภาคเหนือเท่านั้น หากยังมีนัยสื่อถึงเสรีภาพในการแสดงออกและมุมมองของเหยี่ยวที่โบยบินอยู่ภายใต้ชื่อนี้ด้วย

“อยากเห็นความกล้าหาญของสังคมสื่อ แน่นอนว่า สังคมสื่อเองมีรูปแบบการเซ็นเซอร์และการปิดตัวเองอยู่ การที่มีสื่อที่กล้าหาญกล้าจะเป็นการยืนยันหลักการประชาธิปไตย” วัชรพล นาคเกษม บรรณาธิการสำนักข่าว LANNER

ทำไมภาคเหนือต้องมีสำนักข่าว LANNER 

ช่วงปี 2563 เป็นช่วงที่สังคมไทยมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง จากการเคลื่อนไหวของเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ชนวนครั้งนั้นช่วยจุดไฟส่องสว่างบางอย่างที่ถูกกดทับมาอย่างยาวนาน หลายพื้นที่ตั้งคำถามและการพูดถึงสิ่งที่ถูกตัดตอน สิ่งที่ถูกกดทับหลายๆ มาอย่างยาวนานก็ถูกนำมาถกเถียงพูดถึง เช่น กบฏเงี้ยว ความยิ่งใหญ่ของขบวนการชาวนาชาวไร่ เป็นต้น เราไม่สามารถรับรู้เรื่องราวเหล่านี้จากประวัติศาสตร์หรือจากสื่อกระแสหลักได้ รวมไปถึงรัฐส่วนกลางเองที่พยายามลบเรื่องราวเหล่านี้ออก ต้องอยู่ในกรอบมีหน้าที่พลเมืองแบบที่รัฐอยากให้เป็นและสามารถรับรู้ข้อมูลได้เท่าที่รัฐอยากให้เรารับรู้เท่านั้น 

“จึงทำให้เราเห็นถึงปัญหาในการสื่อสารในภาคเหนือ ซึ่งยังไม่มากพอที่จะทำให้เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่มที่เข้าใจ แต่ควรจะทำให้คนทั้งสังคมเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน การทำสำนักข่าว LANNER จะช่วยเป็นพื้นที่กลางในการสื่อสารเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันของภาคเหนือ รวมไปถึงการขับเคลื่อนในเชิงการรณรงค์ การทำแคมเปญ (campaign) การแสดงพลังของกลุ่มก้อนต่างๆ ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ก็สามารถเข้ามาใช้พื้นที่ในสำนักข่าว LANNER เพื่อแลกเปลี่ยนถกเถียงได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ประเด็นจะไม่ได้ถูกทำให้หายไปเลย แต่กลับจะทำให้ถูกพูดถึงและถูกติดตามตลอดเวลา”

มีสื่อเยอะแยะมากมาย ทำไมคนต้องอ่าน LANNER 

สื่อหลายๆ องค์กรมักกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ เรียกได้ว่า ถูกรวมศูนย์อยู่ที่นั่น ส่วนสื่อที่อยู่ในภูมิภาคกรณีที่จะสื่อสารในประเด็นที่เข้มข้นหรือซีเรียส เช่น การเคลื่อนไหวทางสังคม ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การจัดการทรัพยากร รวมไปถึงประเด็นอื่นๆ ที่มีความลึก ซึ่งเรียกได้ว่า มีน้อยมาก แม้ว่าสื่อในประเทศจะมีมากแค่ไหนก็ตาม แต่ยังมีเนื้อหาเรื่องราวประเด็นเล็กๆ ไม่ค่อยได้มีโอกาสมีชีวิตในสื่อใหญ่ๆ มากนัก 

พอไม่มีพื้นที่หลายๆ เรื่องจึงถูกปัดตกไป รวมถึงเรื่องต่างๆ จึงไม่ถูกสื่อสารได้อย่างต่อเนื่องและมากพอ โดยเฉพาะในช่วงนี้เราเห็นชัดมากขึ้น อย่างช่วงนี้เป็นเทศกาลหาเสียงเพื่อเลือกตั้งผู้ว่า กรุงเทพฯ ทำให้เห็นว่าสื่อหลายๆ สำนักโฟกัสไปกับเรื่องเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ซึ่งเราในฐานะคนที่อยู่ในพื้นที่ภูมิภาคอื่นหลายๆ คนก็จะเกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมเราจะต้องรู้ด้วย ทำไมเราต้องรู้ว่า คนนั้นคนนี้ดำเนินนโยบายอย่างไร บางทีเรามีคำถามว่า ถ้าเรามีอำนาจที่ในการจัดการตัวเองในพื้นที่แต่ละจังหวัด เราก็จัดการออกแบบ ดำเนินนโยบายในแบบของเราซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นได้เพียงความคิดเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วสื่อใหญ่ๆ ก็ไม่ค่อยพูดถึงประเด็นนี้

บรรยากาศกองบรรณาธิการ Lanner หารือกับนักคิด นักวิชาการและศิลปินภาคเหนือ เมื่อเดือนเมษายน 2565 

มีสื่อในท้องถิ่นอยู่แล้ว ทำไมต้องมีสำนักข่าว LANNER 

หลายท้องที่ก็จะมีสื่อที่พูดถึงประเด็นตัวเองอยู่บ้าง แต่ว่า สิ่งที่มันขาดไปและไม่ถูกพูดถึง คือ ประเด็นที่ค่อนข้างจะอ่อนไหวกับประเทศนี้ เช่นประเด็นเรื่องประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวทางสังคม สิทธิมนุษยชน การจัดการทรัพยากร ซึ่งไม่ค่อยได้รับการพูดถึงในสื่อท้องถิ่น และที่สำคัญเรามองเห็นถึงช่องว่างสื่อท้องถิ่นส่วนใหญ่ที่นำเสนอจะเป็นข่าวรายวัน เช่น ข่าวพยากรณ์อากาศ โควิดวันนี้ ข่าวอาชญากรรม ข่าวทั่วไป เป็นต้น 

ผมไม่ได้บอกว่า เขาทำข่าวไม่ดีนะ ผมคิดว่า เป็นเรื่องของทรัพยากรที่มีหรือกำลังไม่มากพอ ผมคิดว่า ภารกิจของ LANNER คือ สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมาในแบบที่เป็นเรา รวมถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย เราเชื่อว่า การที่ LANNER สามารถเป็นพื้นที่กลาง เนื้อหาจะไม่ได้มาจากพวกเราเพียงฝ่ายเดียว แต่ว่าทุกคนเป็นเหมือน Citizen reporter (สื่อพลเมือง) สามารถมาใช้พื้นที่ตรงนี้ได้อย่างต่อเนื่อง อยากได้ความคิดเห็นสามารถมาใช้พื้นที่สื่อลานเน้อในการสื่อสารความคิดหรือข้อเสนอตัวเองได้ ผมคิดว่า มันไปได้ไกลกว่าข่าวที่เป็นสำนักท้องถิ่นที่พูดประเด็นรายวันทั่วไป 

ใครเป็นผู้สนับสนุน LANNER 

พวกเราเป็นสื่ออิสระที่อยู่ในช่วงเวลาการฟูมฟักการตั้งไข่ การก่อร่างสร้างตัวให้มีชีวิตชีวา แน่นอนว่า ยังไม่มีทุนในการหล่อเลี้ยงสำนักข่าวนี้ ซึ่งกำลังคิดหาทางกันอยู่ว่าจะเอาทุนมาจากไหน ในช่วงที่ผ่านมาพวกเรามีเงิน 6,000 บาท ซึ่งเงินส่วนนี้เกิดจากการลงขันของเพื่อนๆ ในทีม เงิน 6,000 บาทนี้ ถูกใช้ดำเนินการไปกับการซื้ออุปกรณ์ ซื้อไมค์สาย ขาตั้งกล้อง สำหรับการทำไลฟ์ รวมไปถึงค่าจัดการอื่นๆ ซึ่งเงินที่มีอยู่ค่อนข้างจะเล็กน้อยมาก จึงไม่เพียงพอในการหล่อเลี้ยงคนทำงานได้ ดังนั้นพวกเราจึงหล่อเลี้ยงตัวเองจากการทำงานในองค์กร สังกัดของเรา หรือทำงานอิสระอื่นๆ ซึ่งค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวลานเน้อกันไปอย่างนี้ ถือว่า เป็นเรื่องท้าทายในปีนี้ด้วย ในขณะที่ในหัวของพวกเรามีประเด็นต่างๆ ที่อยากสื่อสารอีกมากมาย

The Isaan Record ประกาศตัวชัดเจนว่า เป็นสื่ออีสานเพื่อคนอีสาน LANNER จะวางตัวเองเป็นสื่อเหนือเพื่อคนเหนือหรือไม่

มุมหนึ่งก็อาจตอบว่า ใช่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเรามอง LANNER อาจเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในการทำให้ภูมิภาคอื่นๆ ลุกขึ้นมาต่อสู้ ผ่านการสร้างพื้นที่ในการสื่อสาร เราจึงไม่ได้มองว่า เราจะต้องเสิร์ฟคนภาคเหนืออย่างเดียว แต่เรามองว่า พวกเราสามารถเป็นโมเดลเล็กๆ ที่คนในภาคหรือในท้องถิ่นอื่นๆ สามารถหยิบจับไอเดียในการเป็นพื้นที่กลางของเขาได้ อาจจะเล็กๆ ในระดับตำบล ระดับชุมชน ระดับภาค 

ผมไม่ได้มองว่า เราเป็นสำนักข่าวหรือพื้นที่ส่วนกลางอย่างเดียว แต่มองว่า เราเองในฐานะนักข่าวที่เป็นนักกิจกรรมสื่อสารที่มีความหมายว่า เราเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีข้อมูลข่าวสารเป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ผมมองว่า เราเป็นนักกิจกรรม และผมก็มองว่า เราเป็นในฟันเฟืองในการสร้างสรรค์สังคมแล้ว เราก็ไม่ได้คิดว่า เราเป็นสื่อมวลชนที่จะต้องแยกขาดจากขบวนการเคลื่อนไหว แต่คิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในนั้น นี่แหละ คือ “ลานเน้อ” 

หากเป็นข่าวของคนภาคอื่น LANNER จะนำเสนอข่าวไหม

แน่นอนเมื่อมอง LANNER วางตัวเป็นพื้นที่กลาง คนในภาคอื่นก็ต้องสามารถมาใช้พื้นที่ในการสื่อสารในการแลกเปลี่ยนได้เหมือนกัน เราไม่ได้มองแบบแคบว่า คนที่มาใช้พื้นที่จะต้องเป็นคนในภูมิภาคเท่านั้น แต่ว่า ทุกคนก็สามารถมาใช้พื้นที่ตรงนี้มาใช้ในการแสดงออกในการสื่อสารได้เหมือนกัน ถ้าทุกคนคิดว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ หรือส่วนกลางสามารถเชื่อมกัน หรือเราคิดว่า จะเป็นผลต่อกัน และอยากนำเสนอในพื้นที่ของมอง LANNER ก็สามารถนำเสนอได้อย่างเต็มที่และมีเสรีภาพ เราในฐานะคนในภูมิภาคต้องรู้และเข้าใจเช่นกันว่า เรื่องดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบกับชีวิต อนาคตของพวกเรา ดังนั้นเราจำเป็นต้องขยายการรับรู้ให้กว้างมากยิ่งขึ้น

มองเห็นอนาคตของ LANNER เป็นอย่างไร เป็นสำนักข่าวแบบไหน

ไม่ได้มองว่า LANNER จะเป็นองค์กรที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตนะ ต้องบอกก่อนว่า ตอนนี้เรายังไม่เห็นอนาคตเท่าไหร่ (หัวเราะ) เพราะเป็นช่วงที่ลองผิดลองถูก เป็นช่วงที่เรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกัน แต่ถ้าเป็นเป้าหมายในช่วงครึ่งปีแรก เราเองก็อยากเห็น LANNER เป็นพื้นที่กลางที่สื่อสารประเด็นได้อย่างต่อเนื่องและมีคนมาใช้ในพื้นที่นี้ ไม่ได้มองว่าประเด็นต่างๆ ควรมาจากตัวบรรณาธิการ LANNER เท่านั้น แต่สามารถมาจากนักวิชาการ ประชาชน นักกิจกรรม ศิลปิน รวมไปถึงพี่น้องแรงงานก็สามารถมาใช้พื้นที่ในการรณรงค์ประเด็นของตัวเอง รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็น การวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา สามารถสร้างนักกิจกรรมทางการสื่อสาร สร้าง Citizen reporter ในระดับท้องถิ่น ในระดับภาคต่อไปได้ ตอนนี้เราอาจจะต้องเติบโตเรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกัน

สื่อกระแสหลักที่มีอยู่มีเพียงพอไหม 

ผมมองว่า ยังไม่พอ เพราะสื่อกระแสหลักมันกระจุกตัวอยู่เฉพาะที่กรุงเทพฯ ในขณะเดียวกันสื่อกระแสหลักมีความคิดที่ว่า การอยู่ในส่วนตรงกลางนั้นสามารถเล่นประเด็นภูมิภาคต่างๆ ได้ เหมือนสื่อกระแสหลักเสิร์ฟหรือเปิดไอเดียแล้วค่อยส่งต่อไอเดียสื่อสารไปยังส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ความหลากหลายก็ไม่เพียงพอ เนื่องด้วยมุมมองในการนำเสนอยังไม่ครบ เพราะไม่ได้ออกมาจากคนที่อยู่ในท้องถิ่นหรือคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นจริงๆ ดังนั้นการที่มีสื่อประชาชน มีสื่อสำนักข่าวท้องถิ่น สื่อสำนักข่าวภาคจะทำให้ระบบนิเวศ ระบบภูมิทัศน์สื่อมันมีความหลากหลาย มีความเข้มแข็งด้วยในแง่ของการมีข้อมูลที่ครบขึ้นและชัดขึ้น และเป็นพลังทางสังคมส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อีกทั้งประชาชนเองยังสามารถเรียนรู้สามารถเสพข่าวได้หลากหลายรูปแบบ

สื่อภาคเหนือต้องเป็นคนภาคเหนือเป็นคณะทำงานไหม

“หัวใจของการทำสื่อ คือ การสื่อสารประเด็นนั้นๆ มากกว่าการที่ถามว่า คุณเป็นคนที่ไหน ถ้าคุณยังตั้งคำถามว่า เป็นคนที่อื่นแล้วยังมาทำสื่อภาคเหนือ อยากให้คุณลองมาอ่านงานเราก่อน” 

ฝันอยากเห็นสังคมสื่อเป็นอย่างไร 

อยากเห็นสังคมสื่อเป็นสังคมที่หนุนเสริมกันและกัน โดยที่ไม่ทิ้งให้สื่อบางเจ้าต้องโดดเดี่ยวตามลำพัง อยากเห็นความกล้าหาญของสังคมสื่อ แน่นอนว่า สังคมสื่อเองมีรูปแบบการเซ็นเซอร์และการปิดตัวเองอยู่ ดังนั้นการมีสื่อที่กล้าหาญ กล้ายืนหยัดอยู่เคียงข้างประชาชน กล้ายืนยันหลักการประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรมอาจจะพูดได้ไม่เต็มปากนัก แต่ผมก็อยากเห็น

ติดตามข่าวจาก Lanner ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Lanner และสื่อโซเชียลมีเดียชื่อเดียวกัน

สนับสนุน Lanner ได้สื่อ ธนาคารกสิกรไทย สาขาเมญ่าเชียงใหม่ เลขบัญชี 126-8-28665-5 ชื่อบัญชี กนกพร,ปรัชญา และ วัชรพล

image_pdfimage_print