“ปวิน” ชี้ผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ฉายภาพการเมืองระดับชาติ หาก“ชัชชาติ-วิโรจน์” ชนะเท่ากับคน กทม.กำลังขับเคลื่อนไปสู่การสะท้อนเสียงส่วนมากของคนในประเทศ แต่หากหวยออกขั้วเดิมเท่ากับการเมืองไทยยังรวมศูนย์ เชื่อระบอบเผด็จการกลัวเลือกตั้ง คาดเลือกตั้งครั้งหน้าสนุกแนะจับตาพรรคไหนชูปฏิรูปสถาบัน หนุน 3 จชต.เลือกตั้งผู้ว่าฯ 

หมายเหตุ : The Isaan Record ร่วมกับกลุ่มดาวดินและขบวนการอีสานใหม่ จัดรายการดาวดินทอล์คไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กร่วมพูดคุย รศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.เกียวโต ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นวิเคราะห์เลือกตั้งผู้ว่าฯ และทิศทางการเมืองไทย ทางกองบรรณาธิการ The Isaan Record จึงถอดความมาดังนี้ 

เลือกตั้งผู้ว่า กทม.

ถ้าเป็นสมัยก่อนก็ไม่คิดว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ จะเป็นดัชนีชี้วัดการเมืองระดับชาติ ด้วยเหตุที่มันกลายมาเป็นประเพณีแล้วว่า ตำแหน่งผู้ว่าฯ กรุงเทพถูกครอบงำโดยพรรคการเมือง คือ พรรคประชาธิปัตย์ และโดยความคิดของชนชั้นกลางในกรุงเทพ แต่ปี 2565 สถานการณ์เปลี่ยนไปมากด้วยหลายปัจจัยจึงทำให้เชื่อว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพ อาจจะเป็นดัชนีชี้วัดที่ค่อนข้างดีว่าคนกรุงเทพ คิดอย่างไรกับการเมืองไทย ณ วันนี้ ไม่ใช่แค่การเมืองในกรุงเทพเท่านั้น แต่หมายถึงการเมืองไทยระดับชาติ 

สิ่งที่ทำให้เปลี่ยนความคิดและเชื่อว่ามันเป็นดัชนีชี้วัดได้ สิ่งแรก คือ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีเรื่องราวเกิดขึ้นในการเมืองไทยและพรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก คิดว่ามุมมองของคนกรุงเทพฯ ที่มองพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงอดีตที่ผ่านมากับวันนี้ต่างกันมาก คนที่อยู่เชื่อว่า ตัวเองอยู่ในคอมฟอร์ทโซนที่คิดว่า เลือกพรรคประชาธิปัตย์แล้วชีวิตยังสบายดี คอมฟอร์ตโซนนั้นมันไม่มีแล้ว เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มอบอะไรทั้งสิ้น แต่พรรคประชาธิปัตย์กลายมาเป็นเงื่อนไขของปัญหาทางด้านการเมือง จึงทำให้คนกรุงเทพ หลายคนเริ่มออกมาจากคอมฟอร์ทโซนนั้นและคิดว่าคงไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ แต่ขอไปตายเอาดาบหน้าดีกว่า 

ตอนที่ยังเป็นคนกรุงเทพ ยังอยู่เมืองไทย ยังกลับบ้านไปเลือกตั้งได้ก็เรียกตัวเองว่า เป็นชนชั้นกลางและเป็นชนชั้นกลางดัดจริตด้วย เกิด โต ย่านสาธร สีลม เป็นคนเมืองจริงๆ และไม่เคยเลือกพรรคอื่นเลยนอกจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกำลังจะบอกว่า ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะคนเริ่มเห็นภาพลักษณ์บางอย่างจากพรรคประชาธิปัตย์ที่รู้สึกว่า ตัวเอง ไม่ชอบและไม่พอใจ อีกสิ่งหนึ่ง คือ ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมาเป็นระยะเวลานาน และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกด้วย 

“อย่าลืมว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใหม่หรือนิวโหวตเตอร์กลุ่มนี้เขาใฝ่หาประชาธิปไตยมาก กล้าพูดได้ 100 % เพราะว่ามันเป็นภาพสะท้อนจากการชุมนุมที่กรุงเทพ ตั้งแต่ปี 2563-2564 แม้ช่วงนี้อาจจะซาไป แต่เป็นการชุมนุมประท้วงที่นำโดยคนรุ่นใหม่แท้ๆ ซึ่งพูดได้ว่ารักประชาธิปไตยและออกมาต่อสู้”

คนเหล่านี้ไม่มีพันธะที่อยู่บนหลังว่า ต้องเลือกพรรคอะไร ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะพวกผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก เขาไม่คิดเรื่องพันธะเดิม แต่คิดเรื่องประชาธิปไตย พรรคการเมืองใดตอบโจทย์ได้มากกว่า และไม่ใช่แค่โจทย์ของกรุงเทพ แต่ต้องเป็นโจทย์ที่ใหญ่กว่านั้น ผมคิดว่าเขามองออกไปไกลมากกว่ากรุงเทพ เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นกระจกสะท้อนกับคนที่อยู่ในกรุงเทพซึ่งออกมาโหวตครั้งแรกว่าคิดอย่างไรกับการเมืองในวันนี้

ถ้าเลือกชัชชาติหรือวิโรจน์ กทม.จะเปลี่ยน 

ถ้าผลเลือกตั้งออกมาเป็นชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพ หมายเลข 8 หรือวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพฯ หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล คิดว่ากรุงเทพกำลังจะเปลี่ยนไป และเปลี่ยนไปในแง่ของการสะท้อนเสียงข้างมากได้มากกว่าเดิม เราตั้งสมมติฐานว่าเสียงของคนส่วนใหญ่ทั่วไป ไม่เอาการเมืองในวันนี้แล้ว ซึ่งเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น แม้แต่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่แล้วก็สะท้อนในเรื่องนี้ ซึ่งบางครั้งเราลืมไปว่า พรรคที่ได้รับเสียงข้างมากตอนนั้นคือพรรคเพื่อไทย และบวกกับพรรคอนาคตใหม่ในตอนนั้นด้วย 

“หากผลการเลือกตั้งออกมาเป็นวิโรจน์ หรือชัชชาติ เรากำลังตั้งสมมติฐานได้ว่าคนกรุงเทพ กำลังขับเคลื่อนไปสู่การสะท้อนเสียงของคนส่วนมากของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเชื่อในหลักของเสียงข้างมากและการเลือกตั้ง” 

อย่างไรก็ตามยังเป็นเรื่องที่น่าหวาดเสียว หากเสียงส่วนใหญ่เลือกเผด็จการเข้ามา เช่น กรณีการเลือกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ที่ได้ลูกชายอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส เข้ามา ส่วนตัวไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็คงไม่ใช่ว่าคนฟิลิปปินส์ติดเผด็จการงอมแงม อีกแง่มุมหนึ่งประธานาธิบดีคนใหม่ก็อาจเสนออะไรที่เป็นประชาธิปไตยอย่างมากและหลุดจากภาพลักษณ์ของคนเป็นพ่อได้ เชื่อมโยงไปถึงพรรคเพื่อไทย สิ่งที่ไม่ชอบ คือ การเมืองในครอบครัว การเมืองแบบเอาตระกูลมา ซึ่งฟิลิปปินส์กับเมืองไทย มาคู่กันตลอด คือ พ่อเป็นลูกเป็น ซึ่งนำไปสู่การสร้างวงจรอำนาจที่ไม่หลุดออกไป จะมาบอกว่าลูกสาวเขาเป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าไม่ได้ชื่อของพ่อลูกสาวก็อาจไม่ได้มาถึงจุดนี้ 

รายชื่อผู้สมัครเป็นผู้ว่ากทม.ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 

ถ้าเป็น “อัศวิน-สกลธี-สุชัชวีร์” กทม.ยังรวมศูนย์

ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ยังออกมาเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพหมายเลข 3 หรือสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพ หมายเลข 4 ถ้าหวยออกมาแบบนี้ สะท้อนว่า การเมืองไทยมันยังถูกรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ เท่านั้น มันไม่ได้เอนเอียงไปกับความเห็นของคนส่วนใหญ่ ถ้าพูดทางศัพท์รัฐศาสตร์ก็คือ ถ้าฝ่ายเราได้มันอาจจะมีโอกาสของการกระจายอำนาจได้มากขึ้น เพราะมันเป็นเสียงสะท้อนของคนทั่วไป 

ในขณะเดียวกันถ้าหวยออกมาเป็น พล.อ.ต.อัศวิน ก็เท่ากับว่ากรุงเทพ ยังไม่เปลี่ยนและยังเป็นศูนย์กลางของอำนาจ เป็นที่นั่งของชนชั้นสูงที่คิดว่าถ้าวันนี้ชนะการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ก็ยังครอบงำทั้งหมด ซึ่งเบื่อมากกับการบอกว่า กรุงเทพเป็นศูนย์รวมของจีดีพี ขอบอกว่ากรุงเทพไม่ใช่เกาะที่อยู่ได้ด้วยตัวเองและกรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย ยังมีความเชื่อมั่นว่าครั้งนี้พระเจ้าคงจะเข้าข้างเรา 

ภาวนาให้ “ชัชชาติ” “วิโรจน์” ชนะ 

หากผลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นผลการเลือกตั้งที่รัฐไทยต้องการ อันนี้ก็เป็นเรื่องน่าหนักใจเช่นกัน ในเรื่องให้จังหวัดอื่นๆ เลือกผู้ว่าฯ ได้ เพราะคงกลัวจะเป็นคนของทักษิณทั้งหมดหรือไม่ ดังนั้นการกระจายอำนาจจึงต้องให้มั่นใจว่าคนของเขาจะได้ เป็นการเมืองที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวไม่ได้มองเลยว่าเมืองไทยและการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาวจะเป็นอย่างไร เป็นผลประโยชน์ของชนชั้นสูงเท่านั้น 

“การที่เราภาวนาให้ชัชชาติหรือวิโรจน์ชนะเลือกตั้ง นั่นอาจจะทำให้รัฐไทยปิดประตูการกระจายอำนาจได้เช่นกัน” 

อย่าหมดหวังกับการเลือกตั้ง 

สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นนั้นยังไม่อยากให้ทุกคนสิ้นหวังกับระบบการเลือกตั้งหรือระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนการเลือกตั้ง เพราะเราก็รู้ว่า มันล้มลุกคลุกคลาน 

“บางทีก็ท้อแท้ เราไปคูหาแท้ๆ ไปเลือกพรรคที่เราอยากได้แต่ในที่สุดแล้ว พรรคที่ได้เสียงข้างมากกลับไม่ได้ตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เราเลือกพรรคที่เราอยากได้และตั้งรัฐบาลแล้ว สุดท้ายก็ถูกล้มอีกด้วยรัฐประหาร มันทำให้คนเหนื่อยหน่ายกับการเลือกตั้ง” 

เผด็จการกลัวการเลือกตั้ง 

การเมืองและประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนการเลือกตั้ง แต่ถ้าเราไม่เอาอย่างนี้เราก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในมือแล้ว เราเล่นเกมอย่างอื่นไม่ได้เลย ถ้าหากเรายังยึดมั่นอยู่ในหลักการประชาธิปไตย มันก็มีอยู่เกมเดียว ยังอยากจะบอกว่า การประท้วงที่ดีที่สุด ที่ไม่ต้องลงแรงอะไรเลยและไม่ต้องมีการเสียหายล้มตาย นั่นคือการเลือกตั้ง คือ ไปประท้วงในคูหากันให้หมด รักใครก็เลือกคนที่เรารัก และคนที่คุณเกลียดคือคนที่คุณไม่เลือก มันจะมีวิธีการอะไรที่ดีกว่านี้ แต่เมื่อเขาประท้วงในคูหาแล้ว ไม่รับฟัง ก็เป็นการผลักเขาลงถนนอีก  

“อย่าลืมว่า เผด็จการทั้งหลายมันก็กลัวเรื่องระบบการเลือกตั้ง เพราะเป็นระบบที่ควบคุมไม่ได้ มันเลยต้องสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ตั้ง ส.ว. 250 คน เพราะเขารู้ว่าการยึดอำนาจทำได้ง่าย แต่พอปล่อยให้เป็นเรื่องการเลือกตั้ง มันเป็นเสียงจากประชาชนจริงๆ และควบคุมลำบาก ดังนั้นเราจึงเริ่มเห็นว่าเผด็จการเริ่มสนใจการเลือกตั้งขึ้นมาแล้ว เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะทหาร” 

มองมาตลอดและเห็นว่า ในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ทหารไม่แคร์เรื่องการเลือกตั้ง ทหารคิดอย่างเดียว คือ การเอาอำนาจด้วยการทำรัฐประหาร ซึ่งต้องให้เครดิตทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทำให้การเลือกตั้งมีเครดิตขึ้นมา จากการชนะเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง และทำให้ทหารเริ่มลงทุนในการเลือกตั้ง เห็นได้ชัดเจนในปี 2562 ที่ทหารมาตั้งพรรคพลังประชารัฐ และลงเลือกตั้ง แม้แต่ที่เป็นเผด็จการก็เริ่มมาเล่นการเมืองแบบเลือกตั้ง แต่ก็ยังเล่นเกมที่ไม่ยุติธรรมอยู่ดี ทำให้เด็กต้องลงถนน เพราะมีระบบที่ไม่แฟร์สักที 

การเลือกต้ังครั้งหน้าจะดุเดือด 

มองการเลือกตั้งครั้งน่าว่า จะสนุกตรงที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะมีกลยุทธ์อะไรขึ้นมาใหม่หรือไม่ ขณะที่ฝ่ายตรงข้าม เมื่อลงทุนแล้วจะไปต่ออย่างไรและเป็นไปได้อย่างไรที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2557 เรามีนายกฯ ที่มีฉายาว่าไม่ฉลาดที่สุดอยู่ในตำแหน่ง 9 ปี การเลือกตั้งครั้งหน้าจึงอาจจะดุเดือดพอสมควร และการเลือกตั้งครั้งหน้าหมุดหมายสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังเหลือวาระอะไรที่ฝ่ายเราจะขายได้อีก แค่เรื่องการกินดีอยู่ดีพอหรือไม่ในยุคสมัยนี้ 

“รู้สึกโกรธมากที่บางคนคิดว่า ต้องกินก่อน อยู่สบายก่อน ท้องอิ่มแล้วจึงออกไปประท้วง ทำทั้ง 2 เรื่องพร้อมกันได้หรือไม่ คิดว่าการเมืองอย่างนี้เป็นการมองที่ผิด คุณนึกได้อย่างไรว่า ปัญหาปากท้องไม่ไปผูกกับการปฏิรูปสถาบัน ทำไมจึงแยก 2 เรื่องนี้ออกจากกันโดยไม่เกี่ยวข้องกันเลย มีปัญหาอะไรในเมืองไทยบ้างที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบัน ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้า เรื่องการปฏิรูปสถาบันจะเป็นตัวชี้วัดเลยว่า พรรคไหนให้แสงสว่างได้มากที่สุด  ไม่ต้องการแค่เอาอาหารใส่จานให้เราแล้ว เราอิ่ม ซึ่งคนที่พูดอย่างนี้มักจะเป็นชนชั้นกลาง ถ้ามีพรรคใดที่กล้าพูดเรื่องสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมนั้นน่าจับตามอง และจะเป็นประเด็นสำคัญของการเลือกตั้งและการเมืองไทย” 

หลักเผด็จการมักรวมศูนย์ 

อุปสรรคสำคัญของการกระจายอำนาจ คือ รัฐไทย การรวมศูนย์เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยสมบูรณายาสิทธิราช มีการปฏิรูประบบราชการในสมัย ร. 5  เราตั้งสมมติฐานว่า เป็นหลักของรัฐที่เป็นเผด็จการ คือ การไม่อยากปล่อยอำนาจ ทั้งนี้การปฏิรูปให้มีกระทรวง ทบวง กรมต่าง ดูเป็นการสร้างแขนขาให้รัฐบาล แต่แขน ขาทั้งหมด เหล่านี้ ลึกๆ ยังมีความภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และในที่สุดแล้ว ความจงรักภักดีนี้มากับอำนาจ ดูเหมือนเป็นการกระจายอำนาจ แต่จริงๆ แล้วก็ยังรวมศูนย์และกลายเป็นหลักของรัฐไทยว่า ถ้าไม่จำเป็นจะไม่กระจายอำนาจโดยเด็ดขาด และกลับไปสู่เรื่องที่ว่า ทำไมกรุงเทพ จึงเป็นศูนย์รวมอำนาจ การเลือกตั้งกรุงเทพที่มีพรรคหนึ่งครอบครองมาตลอด 

“วันนี้จะได้รู้แล้วว่า การรวบอำนาจนั้นจะสั่นคลอนหรือไม่ ถ้าผลออกมาไม่ใช่เป็นคนของเขา แต่เป็นคนของฝ่ายเรา ถึงอย่างไรเขาก็ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งตามจังหวัดต่างๆ ถึงเวลาแล้วที่คนท้องถิ่นจะเลือกคนที่คิดว่าจะมาทำประโยชน์เพื่อท้องถิ่นของตัวเองได้และคิดว่าน่าจะมีแคมเปญเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ต้องทำให้เป็นล่ำเป็นสันเสียที” 

กลุ่มเยาวชนสตรีมลายูปาตานีจากสามจังหวัด นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และจากอำเภอสงขลา เทพา สะบ้าย้อย นาทวี จะนะ กว่า 5 พันคน รวมกันที่สนามใกล้มัสยิดตะโละมาเนาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 เพื่อแสดงอัตลักษณ์มลายู 

ถึงเวลา 3 จชต.เลือกผู้ว่าฯ 

ยกตัวอย่างสามจังหวัดภาคใต้ ยังเชื่อว่า การจัดส่งผู้ว่าฯ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่การให้รางวัล แต่เป็นการลงโทษ ไม่มีใครอยากไปทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อไม่รู้วัฒนธรรมและเข้ากับคนท้องถิ่นไม่ได้ การลงไปจึงไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงชัดเจนว่า ถึงเวลาแล้วที่คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเลือกคนที่เข้าใจสถานการณ์และเข้าใจพื้นที่จริงๆ ซึ่งอาจจะเป็นมุสลิมด้วย 

“ถ้าเป็นผู้แทนฯ มุสลิมก็จะแฮปปี้ เพราะจะเข้าใจปัญหาในพื้นที่จริงและยังจะเป็นการลดภาระของกรุงเทพด้วย คือ ไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวทุกเรื่อง ยอมรับว่าอาจจะมีปัญหาตามมา คือ การเติบโตของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งมีมาตลอดในเมืองไทยและเป็นข้ออ้างของการกระจายอำนาจ จึงต้องทำควบคู่กันไปทั้งในเรื่องของการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย เพราะเป็นไปได้อย่างไรที่มีการเลือกตั้งแค่ 1 จังหวัด คือ กรุงเทพกับเมืองพิเศษ คือ พัทยา มันถึงเวลาที่ต้องมากกว่านั้นแล้ว

การกระจายอำนาจที่สำคัญต้องดูที่ความจริงใจของรัฐบาล แต่ว่ามันไม่สามารถเกิดได้ในบรรยากาศแบบนี้ เพราะรัฐบาลที่มีอยู่ในปัจจุบันมันไม่มีความจริงใจในเรื่องการกระจายอำนาจ  การกระจายอำนาจไม่ได้อยู่ในดีเอ็นเอของเขา แต่สิ่งที่เขาคิดคือการรวบอำนาจทั้งหมด ไม่มีเผด็จการคนไหนที่โยนอำนาจทิ้งแล้วเดินออกไป  

ส่งกำลังใจให้เยาวชนในเรือนจำ

กรณีที่มีเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วถูกดำเนินคดีและติดคุกนั้น ขอพูดในฐานะที่นั่งอยู่นอกประเทศว่า รู้สึกเห็นใจ และเห็นความสำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องทำต่อไป ส่วนตัวก็ถูกทำมาก่อน จึงต้องลี้ภัยมาอยู่ข้างนอก คิดว่าในประเทศต้องทำเคมเปญต่อไป คือ ต้องคงเรื่องการตื่นตัวหรือสร้างความตระหนักของในเรื่องคนติดคุกอยู่และต้องส่งเสียงให้ดังตลอดเวลาว่า อย่าลืมคนเหล่านี้ เช่น การยืนหน้าศาล หากอยู่เมืองไทยก็จะไปร่วม

“คิดว่าการประท้วงต้องมีต่อไป ตอนนี้มันดูเหมือนซาไป ยังไม่อยากให้มันซา แต่ด้วยเหตุผลที่มีคนติดคุกเยอะ โดน 112 แกนนำถูกคุกคาม กลั่นแกล้ง จึงอาจจะมีการติดขัดกันบ้าง ซึ่งคิดว่า ต้องทำทั้ง 2 เรื่องควบคู่กัน คือ สร้างความตื่นตัวในเรื่องคนที่ยังติดคุกอยู่ ซึ่งจะเป็นการส่งเสียงไปถึงประชาคมโลกด้วย ถ้าเสียงมาจากเมืองไทย จะเป็นเสียงที่มีความชอบธรรมมากกว่าเสียงตัวเองเสียอีก ในต่างประเทศก็กำลังเคลื่อนไหวทำความเข้าใจในเรื่อง 112 และสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้นานาชาติได้รับรู้ว่า ไม่ได้มีความแตกต่างหรือเบากว่าพม่าเลย 

บางเรื่องที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาลมันไม่ได้มาจากการจัดตั้งหรือการวางแผนไว้ แต่เกิดจากอุบัติเหตุที่คนไม่ได้คาดการไว้ ซึ่งขอให้รอเชื่อว่า มันอาจจะมีจุดนั้นที่ทำให้คนออกมาอีกรอบและรอบนี้อาจจะออกมามากกว่าเดิม ซึ่งอาจจะต้องรอถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะการเลือกตั้งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนออกมาได้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ทางบ้านรู้สึกว่าแต่ละพรรคยังไม่มีใครพูดถึงการปฏิรูปสถาบันฯ อีกหรือ ในเมื่อเราเห็นปัญหาขนาดนี้

image_pdfimage_print