วงเสวนา “ขอนแก่นสมารท์ ซิตี้” เห็นพ้องเลือกตั้งผู้ว่าฯ จี้กระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นจัดการตัวเอง “ดาวดิน” เอาด้วยเสนอยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ภาคประชาชนมอง “สมาร์ทซิตี้” เกิดไม่ได้ถ้าไม่กระจายอำนาจ  

The Isaan Record ร่วมกับศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอีสานใหม่ จัดเสวนาหัวข้อ “Khon Kaen Smart City : ปัญหาและอุปสรรคในการกระจายอำนาจ” ที่คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

“สมาร์ทซิตี้” หัวใจหลัก คือ กระจายอำนาจ 

รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น 

ขอนแก่น สมาร์ท ซิตี้เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นเมื่อ 5-6 ปีก่อน หัวใจหลัก คือ การกระจายอำนาจ เป็นความพยายามที่จะจัดการตัวเองของคนในพื้นที่ ไม่ใช่กรุงเทพฯ เราคิดกันว่า มีวิธีการไหนบ้างที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของบ้านเรา เศรษฐกิจของพื้นที่ให้เร็วขึ้นและใช้งบประมาณ หารายได้และใช้ทรัพยากรของตัวเองได้ 

จากนั้นจึงมีการรวมตัวกันของภาคราชการ ภาคเอกชน และนักวิชาการหลายส่วน เริ่มต้นมาจากการจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า กลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง ที่พื้นเพในขอนแก่น 20 กว่ากลุ่ม ร่วมกับเครือข่ายเทศบาล เครือข่ายประชาสังคมจัดตั้งขึ้นมาเป็นรูปแบบริษัท ซึ่งบริษัทนี้เรามองว่า มันน่าจะเป็นกลไกหนึ่ง เหมือนกับเขาเรียกว่า กิจการเพื่อการพัฒนาสังคมเรียกว่า ขอนแก่นโมเดล 

สมาร์ท ซิตี้ เป็นแค่คำหนึ่งที่จะพูดถึงการพัฒนาทุกอย่างที่มันสมบูรณ์ และยั่งยืนขึ้น รูปธรรมอย่างหนึ่ง คือ การเกิดความรู้สึกร่วม เกิดความเป็นเจ้าของ กระบวนการในการทำงานทำให้เกิดเครือข่าย ซึ่งเราต้องพยายามรักษาเครือข่ายไว้ เรามีบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง มีบริษัทขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม มีพันธมิตรองค์กรภาคประชาสังคม สตาร์ทอัพของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และอีกหลายหน่วยงาน ตรงนี้ คือ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องตอบคำถาม คือ พวกเรามีส่วนร่วมกันแค่ไหน ไม่ว่ากี่ผู้ว่าฯ ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จ การมีผู้ว่าฯ ที่ไม่มีส่วนร่วม การมีผู้ว่าฯ ไม่ได้เข้าถึงวิธีการใหม่ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่มีประโยชน์ แต่การมีประชาธิปไตยเป็นประโยชน์ เราไม่จำเป็นต้องมีผู้ว่าฯ ก็ได้ แต่มีประชาธิปไตยที่ไปจ้างคนมีฝีมือมาทำงานให้เราก็ได้ เพราะต่างประเทศ เขามีผู้บริหารเมือง เขามีผู้จัดการพื้นที่ มีวิธีการบริหารหลายๆ แบบ 

หนุนเลือกตั้งผู้ว่าฯ เลิกระเบียบหยุมหยิม

“ผมเห็นด้วยกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เพราะในเชิงของระบบ ปัญหาโครงสร้างของบ้านเรามีอยู่หลายข้อ ต้องเลิกเอาระเบียบเป็นตั้งๆ อย่าง โครงการรถไฟฟ้ารางเบาที่เราจะทำ 5 ปี ก็ยังเกิดไม่ได้ เพราะเขาเตือนให้ระวังข้อกฎหมาย ทุกวันนี้รัฐคิดโครงการทุกอย่างเพราะเป็นโครงการของฉัน”

รัฐที่ว่าหมายถึงผู้นำของเราในทุกระดับตั้งแต่ผู้ว่าฯ มาถึงนายกเทศมนตรี เราต้องพยายามให้มายด์เซ็ตนี้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่ว่าผู้นำของเราจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ เขาไปแล้วก็ต้องไม่เปลี่ยนสี ต้องสนับสนุนให้กระบวนการต่างๆ เกิดขึ้นมาและพร้อมหนุนเสริมให้ประชาชน เป็นเจ้าของ และถอยตัวเองออกมาเป็นผู้สนับสนุน โดยการปลดล็อกกฎหมาย เชื่อมโยงใช้เครื่องมือต่างๆ ขอนแก่นโมเดลเราเห็นปัญหาแล้ว และต้องช่วยกันขับเคลื่อน

กรชนก แสนประเสริฐ ตัวแทนกลุ่มดาวดิน  

ตอนนี้ภาษีของเราถูกเก็บเข้ารัฐส่วนกลางร้อยละ 70 และถูกแบ่งให้ท้องถิ่น ร้อยละ 30 ยกตัวอย่างงบของเทศบาลขอนแก่น 792 ล้านบาท จะว่าเยอะก็เยอะ จะว่าน้อยก็น้อย ซึ่งเราสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้ หากจัดสรร 70:30 รถไฟฟ้าความเจริญ ความสะดวก ไฟฟ้าหรือความปลอดภัยก็จะอยู่ที่กรุงเทพฯ ขอนแก่นก็จะมีงบแค่ 792 ล้านบาท แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ท้องถิ่นต้องได้เกินร้อยละ 50 และมากกว่าส่วนกลาง 

สนามบินในประเทศที่เจริญแล้วสร้างด้วยภาษีท้องถิ่น แต่ประเทศไทยเรานึกไม่ออกที่เทศบาลตำบลจะคิดสร้างสนามบิน เพราะงบประมาณมันต่างกันมาก ถามว่าการกระจายอำนาจดีอย่างไร มันช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย นั่นคือการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของประชาธิปไตย เพราะการรวมศูนย์อำนาจ คือเผด็จการอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย 

การกระจายอำนาจยังมีปัญหาในเรื่องการยอมรับ เช่น ครูอยากสังกัดกระทรวงศึกษามากกว่า อบจ. หรือข้าราชการสาธารณสุข อยากสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมากกว่าการสังกัด อบจ. เราต้องมองไปยังอนาคตข้างหน้าให้ได้ว่า ถ้าเราจะพัฒนาเป็นประชาธิปไตย สิ่งนี้มันต้องเกิด ถ้าเรายังแบ่งกัน 70:30 อยู่อย่างนี้ ท้องถิ่นก็จะอยู่แบบนี้ ในขณะที่รถไฟฟ้า ในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นไม่รู้กี่สายต่อกี่สาย 

วิกฤตโควิดชี้ชัดรอรัฐส่วนกลางไม่ไหว 

“วิกฤตโควิด-19 ชี้ให้เห็นชัดว่า เกิดอะไรขึ้น มี อบจ.และท้องถิ่นหลายแห่งที่เสนองบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนเอง เนื่องจากรอรัฐส่วนกลางมันช้านี่คือความเป็นจริง แต่ทำไม่ได้และดีไม่ดีถูก สตง.ตรวจสอบ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ไม่ยอมกระจายอำนาจและรวมศูนย์อยู่ตลอดเวลา” 

ประเทศไทยมีการแย่งชิงอำนาจกันสูง ในท้องถิ่นเกิดการทับซ้อนกันระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับราชการส่วนท้องถิ่น ขอถามว่าท่านรู้หรือไม่ว่าผู้ว่าฯ กับนายกฯ อบจ.ทำหน้าที่แตกต่างกันอย่างไร เราจะงงไปหมด ไม่รู้ว่าเรื่องใดจังหวัดหรือผู้ว่าฯ ทำ หรือเรื่องใดที่ อบจ.ทำ เกิดการทับซ้อนในเชิงอำนาจ ทำให้เกิดปัญหาในทางนโยบาย ข้าราชการส่วนภูมิภาคปฏิบัติหน้าที่ตามระบบที่เรียกว่า ท็อปดาวน์หรือจากบนลงล่าง นายกรัฐมนตรี กระทรวง กรม ออกนโยบายมา ให้ข้าราชการนำไปปฏิบัติ เกิดปัญหากลับหัวกลับหางในทางนโยบายที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมและไม่เป็นประชาธิปไตย นโยบายเหล่านี้ไม่ได้มาจากประชาชน 

เสนอยกเลิกขรก.ส่วนภูมิภาค

“ผมเสนอให้ยกเลิกข้าราชการส่วนภูมิภาคทิ้ง จะเปลี่ยนคำว่านายกฯ อบจ. ไปเป็นคำว่าผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งหรืออะไรก็แล้วแต่ และผู้บริหารของจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะไม่เช่นนั้นท้องถิ่นก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่างให้เห็น คือ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ได้ถามความต้องการของประชาชนก่อนหรือไม่ แต่มันเป็นนโยบายมาจากส่วนกลาง ผู้ว่าฯ ก็ต้องให้อำเภอหรือพื้นที่ทำ”

“ในส่วนของโครงการขอนแก่น สมาร์ท ซิตี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนเพียงพอหรือไม่ ถ้าขอนแก่นสามาร์ทซิตี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยและมีส่วนร่วมของประชาชนก็จะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา สมาร์ท ซิตี้ เป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้นมาจากท้องถิ่น แต่เราต้องใส่ใจเรื่องประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นเราจะเข้ามุมเดิมที่เมืองนี้ไม่ใช่เมืองของทุกคน ที่สำคัญโครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง”

ณัฐวุฒิ กรมภักดี กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น 

สมาร์ท ซิตี้ เป็นแนวคิดที่ดีมาก คือ พยายามให้อำนาจเมืองใหญ่ในการทำเรื่องต่างๆ ให้ดีขึ้น แต่พอมองย้อนกลับไปเรื่องปัญหาของอำนาจในบ้านเรา  มันมีปัญหามาก คือ วิธีคิดของการให้อำนาจหรือคืนอำนาจให้กับท้องถิ่นในบ้านเรายังไม่ต้องการให้เกิดขึ้นจริง 

ในช่วง 7-8 ปี รัฐส่วนกลางต้องการดึงอำนาจกลับไปที่ส่วนกลาง หรือรวมศูนย์ไว้ ดังนั้นแนวคิดแบบสมาร์ท ซิตี้มัน คือ ความย้อนแย้งที่มันไปด้วยกันไม่ได้ พอแนวคิดเรื่องการคืนอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นแบบนี้ นำไปสู่การออกแบบอำนาจในท้องถิ่นไม่รองรับและสอดคล้องกัน ในระดับท้องถิ่นเวลาเราวิเคราะห์เรื่องอำนาจ คงไม่ใช่มีแค่กลไก อบจ.เทศบาล หรือกลุ่มทุนท้องถิ่น แต่มีอำนาจของคนที่อยู่ระดับล่าง ทั้งชุมชนเปราะบาง หรือกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ต้องการมีส่วนร่วมในการออกแบบการพัฒนา เป็นปัญหาและอุปสรรคที่คิดว่า จะเกิดขึ้นกับสมาร์ท ซิตี้  

“เราต้องพยายามทวงคืนอำนาจกลับมาสู่ท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด ทั้งอำนาจในการจัดการบุคลากรและงบประมาณต่างๆ  เพื่อสร้างกลไกกระบวนการในการกระจายอำนาจในท้องถิ่นอย่างแท้จริง วิธีการที่เราจะต่อกรกับอำนาจแบบรวมศูนย์ คือ การคืนอำนาจให้ท้องถิ่น ทำอย่างไรให้ทั้งอำนาจทางการปกครองและอำนาจในการจัดการงบประมาณคืนกลับมาที่ท้องถิ่นให้ได้”

 ผมเห็นด้วยที่กระบวนการเลือกตั้งผู้นำฯ อันดับหนึ่งของจังหวัด ต้องมาจากการยึดโยงของประชาชน คือ การเลือกตั้ง ซึ่งเขาจะทำงานตอบสนองต่อประชาชนมากกว่า  เมื่อผู้นำฯ อันดับหนึ่ง อาจหมายถึงผู้ว่าฯ ไม่ได้มาจากประชาชนเวลามีปัญหาร้องเรียนก็แค่รับหนังสือ ถ้าเปลี่ยนระบบใหม่ที่ผู้นำฯ ท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งและยึดโยงกับประชาชนก็ต้องตอบสนองต่อประชาชนตามคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกมา 

ทุกวันนี้รัฐส่วนกลางมองมุมกลับว่า ถ้าข้างล่างเข้มแข็งจะลุกขึ้นมาต่อต้าน คิดว่าไม่ใช่ ถ้าข้างล่างมีอำนาจในการจัดการ ออกแบบการใช้งบประมาณ ปลดปล่อยศักยภาพและพลังของตัวเองได้ จนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เขาจะไปต่อต้านทำไม แต่พอมันไม่ปล่อยอำนาจออกมานั่นเองจึงจะทำให้การต่อต้านเกิดขึ้น ดังนั้นรูปธรรมในการแก้ปัญหา คือ ต้องมีการเลือกตั้งผู้นำของจังหวัดที่ยึดโยงกับประชาชน 

ธาดา พรหมสาขา ณ สกลนคร รองนายกองค์การบริหาร จ. ขอนแก่น 

สิ่งที่ อบจ.ขอนแก่นรับผิดชอบนั้น เรามองมุมกว้างขึ้นไปอีกเพราะว่าพื้นที่ของ อบจ.ขอนแก่น ครอบคลุมทั้งจังหวัด  สิ่งที่เราทำจึงไปทั้งจังหวัด สิ่งที่จะตอบโจทย์สมาร์ท ซิตี้ ได้คือ อบจ.ต้องแก้ปัญหา 3 จ.ด้วยกัน คือ ไม่จ๋อง ไม่จนและไม่เจ็บ ทุกองคาพยพกำลังเคลื่อนไหวสู่การเป็นสมาร์ท ซิตี้  ตั้งแต่การดูแลในเรื่องการศึกษา ความปลอดภัย ความพร้อมในการรักษาพยาบาลประชาชน โดยมีการเตรียมความพร้อมในการรองรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 248 แห่งมาอยู่ภายใต้ อบจ.ทั้งหมด เป็นต้น 

งบมาไม่ถึงมือท้องถิ่น

สำหรับการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นที่กฎหมายระบุว่า ต้องเป็นร้อยละ 35 นั้น ในความเป็นจริงเงินมันไม่ถึง พอเงินไม่ถึงก็กระทบกับโครงการสมาร์ท ซิตี้ รถไฟรางเบา ปล่อยเราตามยถากรรมเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  

“ความจริงใจการกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าให้งบมา 50:50 เหมือนเหมือนที่หลายคนพูด จะเลือกผู้ว่าฯ หรือไม่เลือกก็ไม่เป็นไร ท้องถิ่นเขาไปของเขาได้และไม่สน ผู้ว่าฯ ก็ต้องมองตาปริบๆ เท่านั้น ไม่มีประโยชน์เลยไม่เลือกก็ได้ ให้มาดูท้องถิ่นทำงานกัน ขอให้เอาเงินมาให้ท้องถิ่นทำและสมาร์ท ซิตี้ก็จะเดินต่อไปได้ โดยมีพี่น้องประชาชนคอยตรวจสอบ การกระจายอำนาจคือให้งานมาแล้ว ต้องให้คนให้เงินมาด้วย” 

ชมย้อนหลังการถ่ายทอดสดเสวนาหัวข้อ ขอนแก่น สมาร์ทซิตี้ : ปัญหาและอุปสรรค

image_pdfimage_print