“ชาวบ้านซับหวาย” เดือดร้อนหนัก เจอบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่อุทยานฯ ไทรทอง จ.ชัยภูมิ พร้อมจ่ายค่าเสียหายสิ่งแวดล้อม ขณะที่ทางการยังไม่มีพื้นที่ทำกินรองรับ วอนผู้ว่าฯ เร่งช่วยเหลือ จ่อยื่นหนังสือกมธ.ที่ดินฯ สภา- กระทรวงทรัพย์ฯ แก้ปัญหาด่วน
ชัยภูมิ – เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 นิตยา ม่วงกลาง แกนนำชุมชนซับหวาย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เปิดเผยกับ The Isaan Record ถึงความคืบหน้าคดีทวงคืนผืนป่า หลังศาล จ.ชัยภูมิมีคำพิพากษาในคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง 14 ราย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ว่า ขณะนี้มีการบังคับคดีให้ชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ทันทีและจ่ายค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีจำนวนเงินแตกต่างกันในแต่ละราย ขณะที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็ลงมาตรวจรังวัดพื้นที่ที่เป็นคดีเกือบทุกวัน เพื่อให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่เป็นกฎหมายฉบับใหม่มีข้อจำกัดว่า ถ้าคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ๆ มีการรับรองตามคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่ให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่าก่อนปี 2557 อยู่ในพื้นที่ได้โดยไม่บุกรุกเพิ่ม
“หากยึดตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ เราต้องออกจากพื้นที่ทันทีและเจ้าหน้าที่เพิ่งมาชี้แจงเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ให้พวกเราที่ตัดสินคดีแล้วทำตามคำพิพากษาของศาล”
นิตยา ม่วงกลาง ระหว่างที่รอเข้าฟังคำพิพากษาของศาล เมื่อ 5 พฤษภาคม 2562 ภาพ โดย The Isaan Record
นิตยา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาชาวบ้านได้เข้ายื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรม จ.ชัยภูมิ เพื่อให้ทางอุทยานฯ มาชี้แจง ซึ่งทางอุทยานฯ ก็ยังชี้แจงเหมือนเดิมว่า ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เราก็เข้าใจว่า เขาพูดตามกฎหมาย แต่ใน 14 คดีของชาวบ้านซับหวาย มันผ่านการตรวจสอบว่าเป็นคนยากจน ยากไร้ ตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ได้ใช้เอกสารพวกนี้แถลงต่อศาลฎีกาแล้ว แต่ว่าทางอุทยานฯ ก็ยังบอกว่าให้อยู่ต่อไปไม่ได้ ต้องทำตามกฎหมายและให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่
เธอกล่าวอีกว่า ต่อจากนี้ชาวบ้านจะไปทำกินที่ไหนมีพื้นที่รองรับหรือไม่ ทางอุทยานฯ ก็พูดแค่ว่าเดี๋ยวจะหาทางออกให้และรอดูว่าทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีแนวทางเยียวยาอย่างไร แต่หากเป็นไปตามขั้นตอนนั้น มันก็คงใช้เวลานานมากกว่าจะได้ที่ให้เราอยู่และทำกิน ถ้าให้เราต้องออกจากพื้นที่อย่างปัจจุบันทันด่วน แล้วเราไม่ต้องปลูกมันสำปะหลัง หรือพืชผลการเกษตรอื่นๆ เราก็คงไม่มีเงินใช้หนี้ และไม่มีเงินในการใช้จ่ายให้ลูกหลานเรียนหนังสือ
“ที่สำคัญยังมีกรณีของสมพิตร แท่นทอง 1 ในชาวบ้านที่ต้องคดีจำคุกอยู่ และภรรยาเสียชีวิต ขณะนี้สมพิตรก็ยังอยู่ในเรือนจำอยู่ มีกำหนดพ้นโทษในวันที่ 4 ตุลาคมที่จะถึงนี้ เราจึงอยากให้ทางจังหวัดช่วยเหลือ เพราะหากสมพิตรพ้นโทษออกมาก็ไม่รู้จะทำอะไร บ้านก็ไม่มี รถก็ถูกยึดไปหมดแล้วตั้งแต่ต่อสู้คดี ภรรยาก็เสียชีวิตไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะออกมาตั้งต้นชีวิตใหม่อย่างไร”นิตยา กล่าว
ยังไร้หน่วยงานรัฐช่วยเหลือ
แกนนำชุมชนซับหวาย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยได้เสนอไปที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงทรัพยากรฯ
“พวกเราขอให้ผู้ว่าราชการ จ.ชัยภูมิ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกให้พวกเราก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็จะมาไล่เรา โดยที่ไม่มีอะไรรองรับเลยมันก็คงเป็นไปไม่ได้ ตอนนี้ก็กำลังหารือว่า จะเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และจะยื่นหนังสือต่อ กระทรวงทรัพยากรฯ อีกครั้ง เพราะทางอุทยานฯ บอกว่าไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ”นิตยา กล่าว
ชาวบ้านซับหวาย จ.ชัยภูมิ ถูกฟ้องดำเนินทั้งหมด 14 คน รวม 19 คดี โดยผลการตัดสินเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 มีชาวบ้าน 3 คนถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา การดำเนินคดีเหล่านี้เกิดขึ้นจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า” เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2557 ที่วางเป้าหมายเพื่อทวงคืนพื้นที่ป่าให้เพิ่มกลับมาเป็นอย่างน้อยร้อยละ 40 หรือให้มีพื้นที่ป่ารวมไม่ต่ำกว่า 128 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี ผลจากนโยบายดังกล่าวมีชาวบ้านถูกข่มขู่ คุกคาม และถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 1,003 คดีจากทั่วประเทศ