เครือข่ายลุ่มน้ำชีจี้บวชแม่น้ำ จี้ก.เกษตรเร่งแก้ปัญหาลุ่มน้ำ

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจัดกิจกรรม บวชแม่น้ำชีครั้งที่ 2 ยื่นคำขาดถึงกระทรวงเกษตรให้รีบแก้ปัญหาก่อน 10 มิถุนายนนี้ หากไม่คืบเตรียมชุมนุมยืดเยื้อแน่
ร้อยเอ็ด – 26 พฤษภาคม 2565 (วานนี้) เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร ร่วมทำจัดกิจกรรม “บวชแม่น้ำชี ครั้งที่ 2” ณ วัดบ้านอีโก่ม ตำบลเทอดไทย อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมกว่า 100 คน พร้อมเรียกร้องให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรีบแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชีภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้ ขณะเดียวกันยังเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ ทรัพยากร และเลือกตั้งผู้ว่าราชการด้วย
อมรรัตน์ วิเศษหวาน กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า การทำกิจกรรม “บวชแม่น้ำชีครั้งที่ 2” เพื่อบูชา ต่ออายุแม่น้ำชี เคารพแม่น้ำชีที่คนลุ่มน้ำได้ใช้ประโยชน์ในการดำรงวิถีชีวิต ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการปกป้องแม่น้ำชี ปกป้องทรัพยากร เพื่อให้ลูกหลานในอนาคตได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างรู้คุณค่าให้เป็นเหมือนคำว่า “แม่น้ำชีเดินทางไกลเพื่อให้ผู้คน ผู้คนจงตระหนักและร่วมรักษาเส้นเลือดนี้ร่วมกัน”
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ทางเครือข่ายได้มีการจัดเวทีเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า กระบวนการแก้ไขปัญหาเขื่อนในแม่น้ำชี” โดยมีตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ร่วมแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อน
หลังจากเสวนาได้ร่วมกันนำกระทงขนาดใหญ่ไปทำพิธีตามความเชื่อบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำชีบ้านอีโก่ม-นาเลิง ก่อนปล่อยกระทงให้ลอยไปตามมีน้ำชี

เวทีวิชาการ “เหลียวหลังแลหน้ากระบวนการแก้ปัญหาน้ำชี”
สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาจากผลกระทบของโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ลุ่มน้ำชีตอนล่าง ปีนี้เป็นปีที่ 13 ที่เรียกร้องให้กรมชลประทานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งวันที่ 2 มีนาคม 2563 ได้ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร และโครงการฝายธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี แล้ว
สิริศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้มีมติให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมา 4 ชุด เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมแล้วเสร็จประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด 2.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายยโสธร–พนมไพร จังหวัดยโสธร 3.คณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม จากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร และโครงการฝายธาตุน้อย และ4.คณะอนุกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางการชดเชย ความเสียหายหรือเยียวยาให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร และโครงการฝายธาตุน้อย
ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวอีกว่า ปัจจุบันอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด ได้ทำงานตามหน้าที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ลุ่มน้ำชี ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน
“ทางเครือข่ายฯ ได้หารือแล้วมีมติว่า จะต้องเร่งรีบกำหนดวันประชุมภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้ ถ้ายังเตะถ่วงกระบวนการแก้ไขปัญหาทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างพร้อมไปทวงถามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์”สิริศักดิ์ กล่าว
คำประกาศ รัฐไม่ควรเตะถ่วง
จากนั้น จันทรา จันทาทอง กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง ได้อ่านคำประกาศ “13 ปี ที่รัฐไม่ควรเตะถ่วงกระบวนการแก้ไขปัญหาเขื่อนในแม่น้ำชี” มีใจความดังนี้
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าปัญหาของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของรัฐ คือ โครงการโขง ชี มูล เดิม นั้น ได้ทำให้เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลากว่า 13 ปีแล้ว โดยเฉพาะเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ที่ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาแต่ยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
พวกเรามีบทเรียนจากนโยบายพัฒนาแหล่งน้ำที่พี่น้องในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดเพราะส่วนกลางเป็นผู้กำหนด ซึ่งเกิดจากหน่วยงานรัฐส่วนกลางเป็นผู้กำหนดไม่ใช่พี่น้องในพื้นที่ ทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างมองว่าควรมีการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณและเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เหมือนกรุงเทพมหานคร เพื่อจะให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการพัฒนาที่สอดคล้องกับพื้นที่จริง และในทางกลับกันที่ผ่านมานโยบายเหล่านี้ที่ถูกกำหนดจากส่วนกลางนั้นได้ส่งผลกระทบจริงต่อระบบเศรษฐกิจฐานราก สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของชุมชนคนลุ่มน้ำชี หลังจากมีการสร้างเขื่อนเสร็จเมื่อประมาณปี 2543 เป็นต้นมา
ตัวชี้วัดของความเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรมและง่ายต่อความเข้าใจ คือ สภาวะน้ำท่วมที่ผิดแผกไปจากอดีตที่เคยมีเคยเป็น จากอดีตน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรประมาณ 7-15 วันน้ำก็ลดเพราะในแม่น้ำชีไม่มีเขื่อนกั้น แต่ภาวะน้ำท่วมอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐนั้นจะกินระยะเวลา 2-4 เดือน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำชี ปากท้องของชุมชนและความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ ซึ่งแตกต่างจากน้ำท่วมที่เป็นไปตามกลไกของธรรมชาติอย่างในอดีตโดยสิ้นเชิง สรุปแล้วผลจากการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายหลังจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ชี้ให้เห็นชัดแล้วว่า
1.ผลกระทบเกิดจากการสร้างเขื่อน
2.ผลกระทบเกิดจากโครงสร้างของเขื่อน
3.การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด และอื่น ๆ
แม้ว่ากระบวนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จะมีโครงสร้างการแก้ไขปัญหาผ่านคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน แต่ทุกครั้งที่จะมีการประชุมเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาอยู่ตลอด ไม่เคยมีเลยที่หน่วยงานรับผิดชอบของกรมชลประทานจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี
“ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำชีอย่างเป็นรูปธรรมตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร กรมชลประทานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ควรแตะถ่วงกระบวนการแก้ไขปัญหาไปแบบเช้าชามเย็นชาม แต่ควรมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเขื่อนในแม่น้ำชีอย่างเร่งด่วนเพราะพี่น้องเรียกร้องมา 13 ปีแล้ว”