ในบรรยากาศที่คนกรุงเทพฯ ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กระทั่งได้ว่าที่ผู้ว่าฯ ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีอย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” คนต่างจังหวัดบางส่วนกลับนั่งมองด้วยความอิจฉา จนเกิดกระแสรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศบนโซเชียลมีเดีย แต่ก็มีหน่วยงานความมั่นคงจับตาพร้อมกับกล่าวว่า “ต้องการแบ่งแยกประเทศ” 

The Isaan Record”  ไม่ขอตกขบวนจับมือกับกลุ่มดาวดินชวนนักคิด นักวิชาการมาพูดคุยออนไลน์ในรายการ “ดาวดินทอล์ค” หนึ่งในนั้น คือ รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่วิเคราะห์กันชัดๆ ว่า “การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศทำได้ แค่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย แต่มีฝ่ายกลัวเสียอำนาจไม่ต้องการให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะ 8 ปีหลังรัฐประหารทำให้เป็นรัฐราชการทั้งประเทศ” 

หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง

ทำไมคนต่างจังหวัดต้องสนใจการเลือกตั้งกรุงเทพฯ 

การปกครองท้องถิ่นชัดเจนว่า ปัญหาต่างๆ ต่อให้เรามีการเลือกตั้งระดับชาติ แต่การรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ เท่านั้นและอยู่แค่ที่รัฐบาลผ่านกระทรวงมหาดไทยมันไม่มีทางหรอกที่จะตอบสนองต่อปัญหาของประชาชน ยุคนี้ความเข้าใจของคนในเรื่องการปกครองตนเองมีมากขึ้นอย่างเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็จะเห็นนโยบายของผู้สมัครที่เป็นนโยบายที่มาจากการไปรับฟังมากขึ้น ถ้าอยากให้เขาฟังประชาชนก็ต้องให้ประชาชนเป็นเจ้านายเขา คือ ให้เขาเลือก การจะผ่านกระทรวงมหาดไทยอย่างเดียวมันไม่ทันกาล 

ขณะนี้มีกลุ่มคนถกเถียงกันเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศและรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Chagng.org แต่หน่วยงานความมั่นคงกลับบอกว่า ต้องการแยกประเทศหรือเปล่า 

อันนี้เหลวไหล กรุงเทพฯ มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดนแยกประเทศไปตรงไหน พัทยามีการเลือกนายกฯ เมืองพัทยาโดยตรง มันแยกประเทศตรงไหน ไม่เกี่ยว เขาก็คงกลัวเสียอำนาจ คือ เขาไม่เข้าใจว่า การปกครองท้องถิ่นมันอยู่ในรัฐเดี่ยวได้ คือ เขาสับสนกับมลรัฐ เราเลือกตั้งไม่ได้แปลว่าท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งจะหลุดออกไป เขาคงนึกว่า ใครจะกำกับผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง

ทราบหรือไม่ว่าผู้ว่าฯ กทม. ถูกปลดได้ รัฐบาลปลดได้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยปลดได้และสภากทม.ก็ถูกยุบได้ ข้อนี้จะบอกว่า กรุงเทพฯ ดีแล้ว ผมก็ต้องแย้งว่า คนไม่ค่อยเปิดดู พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครเท่าไหร่ ซึ่งรัฐบาลสามารถยุบสภา กทม. ได้  แล้วก็ปลดผู้ว่าฯ กทม. ได้ เช่นเดียวกับนายกเมืองพัทยาและสภาเมืองพัทยาก็ถูกกระทรวงมหาดไทยปลดได้ พัทยายิ่งหนักกว่า พัทยาขึ้นอยู่ใต้ผู้ว่าฯ อีกชั้นหนึ่ง แต่กรุงเทพฯ ไม่มีผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วก็ขึ้นอยู่ใต้กระทรวงมหาดไทย 

ถ้าไปดูประเทศต่างๆ ที่ประชาชนเขามีความสุขและมีการกระจายทรัพยากร บริการสาธารณะตอบสนองต่อปัญหาของประชาชนได้อย่างแท้จริง ล้วนแต่มีการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็งทั้งสิ้น เช่น ญี่ปุ่น การปกครองท้องถิ่นเขาเข้มแข็งมาก แต่เป็นรัฐเดี่ยว มันไม่ได้แยกตรงไหนเลย 

ผมคิดว่า เราอย่าเพิ่งไปติดรูปแบบ คำถาม คือ ถ้าต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองมากขึ้น การปกครองท้องถิ่น คือ รูปแบบที่เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด ซึ่งการปกครองท้องถิ่นอยู่ในรัฐเดี่ยวได้ และก็อยู่ในรัฐที่เป็นสหพันธรัฐได้ อย่างเยอรมันก็เป็นประเทศที่มีการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็งมากหรืออเมริกาก็มีการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็งมาก 

ตอนนั้นประเทศสยามกำลังเผชิญการล่าอาณานิคมก็คงจะมีความจำเป็นบางประการที่จะทำให้การบริหารราชการมีประสิทธิภาพจึงรวมศูนย์ แต่ข้อเสียที่ตามมา คือ เรื่องท้องถิ่นถูกรวมศูนย์ไปด้วย

เมื่อรวมศูนย์มาแล้วก็ถึงเวลาต้องกระจายออกไป ตอนนี้เรามีรูปแบบพิเศษ 2 อัน คือ กรุงเทพฯ กับเมืองพัทยา ถามว่ามันควรจะมีรูปแบบพิเศษอีกหรือไม่ ควรมี เพราะว่า อบจ. เทศบาล อบต. แต่รูปแบบพิเศษมันออกแบบได้สอดคล้องและเหมาะสมว่า พื้นที่ไหนควรจัดการตัวเองให้มากขึ้น มันสามารถมีได้มากกว่าแค่กรุงเทพฯ และเมืองพัทยา อันนี้ผมคิดว่า เราควรจะมีมากขึ้น

“มันเห็นได้ชัดว่า 8 ปีที่ผ่านมา รัฐราชการ คำนี้เห็นภาพชัดขึ้น ยิ่งมีปฏิวัติเมื่อไหร่ความเป็นรัฐราชการก็ยิ่งหนักขึ้น เราก็จะถอยหลังกลับไปทุกครั้ง”รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เครดิตภาพ จากเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul

อย่าง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้พูดภาษายาวี แต่งกายแตกต่างกับคนไทยทั่วไป เมื่อเรียกร้องการปกครองพิเศษกลับถูกกล่าวหาว่า แบ่งแยกดินแดน

เขาก็กลัวเกินไป หลัก คือ อย่าเพิ่งไปติดว่า เป็นแค่ 3 จังหวัด ผมว่าที่ไหนก็แล้วแต่ ประชาชนที่มีความพร้อม ผมคิดว่า เราจัดการให้มีการปกครองท้องถิ่นที่เป็นรูปแบบพิเศษได้ ส่วนใน 3 จังหวัดอาจจะมีความละเอียดอ่อน เพราะฝ่ายความมั่นคงกลัวเรื่องอาจจะเกิดการแบ่งแยกดินแดน จากประสบการณ์ของอินโดนีเซีย อย่าง อาเจะห์ ก็เป็นการออกแบบว่า ท้องถิ่นมีอำนาจจัดการตนเองขนาดไหน แน่นอนว่า มันเป็นแค่เรื่องท้องถิ่น มันจะไปทั้งหมดไม่ได้ก็ต้องจัดการกันให้เหมาะสมว่า จะกำกับดูแลกันอย่างไร 

“เราต้องเปิดใจให้กว้าง อย่าไปคิดว่าเขาจะแข็งเมืองหรือจะแยกดินแดนต้องคิดว่า เป็นการทำให้ประชาชนในพื้นที่ของไทย ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายไม่เพียงแต่เรื่องศาสนา อาชีพ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์สามารถจะมีอะไรที่เป็นลักษณะเฉพาะขึ้นมาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรและการบริหารเรื่องของท้องถิ่นด้วยตัวเอง” 

รูปแบบการปกครองพิเศษมีความเป็นไปได้ทุกจังหวัดเลยหรือไม่ 

รัฐธรรมนูญปัจจุบันเปิดโอกาสให้ทำได้ ถ้าจังหวัดหนองบัวลำภูอยากให้มีการเลือกตั้งโดยตรง ไม่ใช่แค่เลือกนายกฯ อบจ. แต่เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ถ้าประชาชนรวมตัวกันเรียกร้องก็เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ผลักดันเป็นร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ จ.หนองบัวลำภู ให้มีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งได้ ถ้าคนในท้องถิ่นออกเสียงกันว่า อยากได้มันก็เกิดได้ 

จะโดนจับก่อนหรือเปล่า 

จะโดนจับได้อย่างไร รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ทำได้ ผมหมายถึงในรูปแบบที่เราไม่ได้แยกตัวออกไป เป็นเพียงต้องการการจัดการ อย่าติดรูปแบบว่า ฉันต้องเอาผู้ว่าฯ เผลอๆ วิธีการที่ง่ายแบบหนึ่ง คือ นายกฯ อบจ. ที่มีอำนาจมากขึ้น ส่วนผู้ว่าฯ ก็ให้น้อยลง อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง ผมคิดว่าจังหวัดที่มีความตื่นตัวมีความเป็นเมืองสูงมีโอกาสที่จะมีอะไรแบบนี้ ต้องดูเชียงใหม่เป็นตัวอย่าง เพราะเขาตื่นตัวมาก 

“พูดอย่างไม่อ้อมค้อมว่า ไม่เฉพาะแค่ฝ่ายความมั่นคงกลัว แต่ฝ่ายราชการ กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ว่าฯ นายอำเภอก็กลัวไปด้วย แต่ต้องทำกรุงเทพฯ ให้เป็นตัวอย่าง” 

รัฐมีความจริงใจในการกระจายอำนาจแค่ไหน โดยเฉพาะยุคนี้ที่เป็นรัฐบาลทหาร 

ถามว่า รัฐบาลจริงใจหรือไม่ ตรงนี้ก็ต้องเลือกตั้ง ผ่านการผลักดันนโยบายจากพรรคการเมือง ประเด็นคือ โครงสร้างของรัฐ เช่น ผู้ว่าฯ นายอำเภอ มหาดไทย ต้องถามประชาชนว่า เอาจริงแค่ไหน ตอนเลือกตั้งเราเป็นคนเลือกไม่ใช่หรือ ปัญหา คือ มีคนไม่อยากเสียในสิ่งที่ตัวเองเคยมีและปัญหา คือ เรามีการปฏิวัติเป็นระยะๆ และคราวนี้นาน คือ 8 ปี เข้าไปแล้ว

“มันเห็นได้ชัดว่า 8 ปีที่ผ่านมา รัฐราชการ คำนี้เห็นภาพชัดขึ้น ยิ่งมีปฏิวัติเมื่อไหร่ความเป็นรัฐราชการก็ยิ่งหนักขึ้น เราก็จะถอยหลังกลับไปทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ ผมคิดว่า ทิศทางหลักของบ้านเมือง ไม่มีใครขวางกระแสของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศได้ ปัญหา คือ พอเบื่อนักการเมืองเราก็พลอยเบื่อประชาธิปไตยไปด้วย โทษทหารอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่ไปล้อมหน่วยเลือกตั้ง ทหารจะออกมาได้อย่างไร ถ้าศาลฎีกาไม่รับรองประกาศคณะปฏิวัติ การปฏิวัติจะชอบด้วยกฎหมายได้อย่างไร ถ้าอยากเห็นการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง อันที่หนึ่งต้องเลิกไม่มีการปฏิวัติ”

“การรัฐประหารมันควรเป็นครั้งสุดท้าย ต้องเลิกพูดว่า ถ้ารัฐบาลเลวร้ายก็ปฏิวัติได้ ไม่ว่าจะมีรัฐบาลแบบไหนต้องแยกแยะว่า นั่นเป็นปัญหาที่ตัวบุคคล เราเบื่อนักการเมือง แต่เบื่อประชาธิปไตยไม่ได้” รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เครดิตภาพจากเฟซบุ๊ก จากเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul

สิ่งแรกๆ ที่ทำหลังรัฐประหาร คือ ยกเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่นและแช่แข็งไม่ให้เลือกตั้ง มีแนวทางป้องกันไม่ให้มียกเลิกไหม 

ไม่ แต่ต้องไม่มีรัฐประหารเลย แม้จะเขียนไว้ยังไงก็ถูกยกเลิกได้หมด แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ที่เขียนว่า “ห้ามมิให้มีการนิรโทษกรรมกับการล้มล้างรัฐธรรมนูญ” แต่เขาก็ล้มล้างรัฐธรรมนูญเสียเลย บทที่ห้ามก็ไม่มีอีกต่อไป 

“ปัญหามันอยู่ที่ศาลรับรองว่า ประกาศคณะปฏิวัติชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่การที่เราจะบอกศาลว่า จากนี้ไปถ้ามีปฏิวัติห้ามรับรอง มันฟังดูดีใช่ไหม ในแง่ที่ว่าจะทำหรือไม่ทำ ความเป็นจริงมันทำไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนมาตรฐานของศาลตั้งแต่ตอนนี้ พูดง่ายๆ คือเปลี่ยนเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปฏิวัติ” 

รัฐประหารได้ทำลายระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นมากแค่ไหน สามารถกู้คืนสิ่งที่เคยเข้มแข็งในอดีตได้หรือไม่ 

ก่อนการยึดอำนาจเราก็ไม่ได้เข้มแข็งมากนัก เพียงแต่ว่ามีอะไรบางอย่างอยู่ แล้วมันก็ถอยหลังไป ตอนนี้ก็ค่อยๆ ฟื้นมาทีละอย่าง อบจ. อบต. เทศบาล ตอนนี้ก็กรุงเทพฯ กับพัทยาก็ครบแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องไปขยับต่อ คือ ประชาธิปไตยระดับชาติกับระดับท้องถิ่นนั้นมันไปด้วยกัน ความหมายผม คือ อย่าคิดว่าท้องถิ่นจะดีได้ ถ้าประชาธิปไตยระดับชาติไม่มี แล้วอย่าคิดว่าประชาธิปไตยระดับชาติจะเข้มแข็งได้ ถ้าท้องถิ่นอ่อนแอ 

8 ปีหลังการรัฐประหารประเทศไทยสูญเสียอะไรไปบ้างหรือได้อะไรบ้าง 

ทุกคนคงจะเห็นว่า การรัฐประหารมันควรเป็นครั้งสุดท้าย เราควรจะเรียนรู้ว่า ถ้ารัฐบาลเลวร้ายก็ปฏิวัติได้ต้องเลิกพูด คือ ไม่ว่าจะมีรัฐบาลแบบไหน ต้องแยกแยะว่า นั่นเป็นปัญหาที่ตัวบุคคล เราเบื่อนักการเมือง แต่เบื่อประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองระบอบเดียวที่เราเป็นเจ้าของประเทศ 

การปฏิวัติต้องหมดไป แล้วทั้งการปกครองตนเองของประชาชนระดับประเทศและการปกครองท้องถิ่นจึงจะขยับ แล้วก็ไม่เคยมีครั้งไหนที่จะเกิดปัญหาทางการเมืองที่กระทบกระทั่งไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มากเท่าการปกครองภายใต้การปฏิวัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ควรจะเป็นบทเรียนว่า อย่าไปล้อมหน่วยเลือกตั้ง อย่าไปเชิญเขามา อย่าไปเรียกร้องเขามา มีปัญหาจากนี้ไป เราใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญในการแก้ปัญหา ความจริงมันมีกลไกหลายอย่างทำให้มันดีเถอะ แล้วมันจะคลี่คลายไป ผมหมายถึงองค์กรอิสระก็ต้องอิสระ แม้จะมาจากการปฏิวัติหรือมาจากการเลือกตั้งต้องเป็นอิสระ 

พูดอย่างนี้นะ คุณทักษิณ นี่ก็โดนข้อหาเรื่องแทรกแซงองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ หนักกว่าเยอะ ทักษิณนี่แค่แทรกแซง ประยุทธ์นี่เลือกเองหมดเลย ทำไมเราทนได้ล่ะ 

“ผมพูดอย่างนี้เพื่อจะบอกว่า เราต้องปฏิรูปการเมืองกันอีกครั้ง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มันไม่ไหว มันพาบ้านเมืองถอยหลังไปไกลมาก ตราบใดที่ ส.ว.ชุดนี้ยังมีอำนาจอยู่ 2 ปีที่เหลือก็ยังเลือกนายกฯ ได้ ยังเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ป.ป.ช. กกต.อยู่ ผมคิดว่าเรื่องที่ต้องทำ คือ เรื่องอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ต้องตัดออกและต้องทำแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ต้องร่างใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมันไม่ไหว มันแก้ไม่ไหวแล้ว มันแย่มาก” 

ชมบทสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ที่

image_pdfimage_print