“พี่สาววันเฉลิม” วอนสังคมติดตามสอดส่องการกระทำของรัฐ คุกคามนักกิจกรรมเป็นเรื่องจริง “หลานตาหะยีสุหลง” อึ้งฆ่าโหดนักเคลื่อนไหวทิ้งน้ำโขงรูปแบบเดียวกับหะยีสุหลงโดน ผ่าท้องซีเมนต์ยัดโยนลงน้ำ 60 กว่าปีวิธีการทารุณไม่เปลี่ยน แนะครอบครัวเหยื่อต้องอยู่ในที่แจ้ง
กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย ดินแดนแห่งการจับตาสอดส่อง : จากการบังคับสูญหาย ถึงการสอดแนมทางดิจิตอล/ EM/ เทคโนโลยีไบโอเมตริก” เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปี กรณีบังคับสูญหายของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 เพื่อเปิดเผยรูปแบบและวิธีปฏิบัติของรัฐที่ใช้คุกคามนักเคลื่อนไหว และแสดงให้เห็นว่าการคุกคามจากรัฐ สามารถลุกลามไปจนถึงการบังคับสูญหายได้อย่างไร
สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิม เครดิตภาพ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ที่ผ่านมารัฐได้ใช้อำนาจติดตาม คุกคามและยัดข้อหาให้กับญาติผู้เสียหาย แทนที่รัฐจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ติดตามสืบสวนสอบสวนคดีของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งนอกจากโดน 2 คดีความแล้ว ดิฉันยังมีรายชื่อในเอกสารระดับแดงที่ต้องเฝ้าระวังของ กอ.รมน.ทำให้ตกใจมากว่า เหตุใดรัฐจึงทำกับเหยื่อผู้เสียหายแบบนี้ ไม่ใช่เฉพาะดิฉันคนเดียวที่ถูกเฝ้าระวัง แต่ยังมีนักกิจกรรมที่เห็นต่างทางการเมืองและออกมาเคลื่อนไหวก็โดนเหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวในการถูกติดตามคุกคาม มันเป็นบ่อเกิดของการถูกบังคับให้สูญหาย แม้กระทั่งกรณีของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่โดนทำร้ายในที่สาธารณะปัจจุบันตำรวจก็ยังจับตัวผู้กระทำไม่ได้
อยากเชิญชวนสังคมให้ได้รับรู้ว่า มันมีอะไรที่มากกว่าที่ทุกคนคิด ก่อนที่น้องชายจะลี้ภัยทางการเมืองก็มีตำรวจ ทหาร ไปตามหาที่บ้านเป็นประจำและรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต อยากให้สังคมรู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมเป็นเรื่องจริง และอยากให้ทุกคนช่วยติดตามและสอดส่องว่าการกระทำของรัฐไม่ได้ถูกต้องเสมอไปเพราะเราไม่ใช่อาชญากร
จตุรนต์ เอี่ยมโสภา หลานหะยีสุหลง โต๊ะมีนา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เครดิตภาพประชาไท
ผมมาจากครอบครัวโต๊ะมีนา เป็นหลานตาของหะยีสุหลง ซึ่งครอบครัวถูกจับจ้องมาโดยตลอด กระทั่งปี 2547 เด่น โต๊ะมีนา ซึ่งขณะนั้นเป็น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งก็ถูกข้อหาว่า เป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 หลังจากนั้นก็ถูกติดตาม มีการส่งคนมาถ่ายรูปที่บ้าน ติดตามจนกระทั่งมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า จะมีการจัดการ “เก็บ” ซึ่งทราบว่า ถูกขึ้นบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์อยู่จำนวน 10 คน ส่วนใหญ่เป็นบุคคลในชมรมนักกฎหมายมุสลิมในขณะนั้น
ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายหรืออุ้มหายจากเหตุผลต่างๆ เป็นจำนวนมาก ถ้าจำไม่ผิดคือจำนวน 36 ราย แต่ละครอบครัวไม่ทราบว่า บุคคลในครอบครัวที่สูญหายยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
60 ปี การฆาตกรรมยังทำด้วยวิธีเดิม
“สิ่งที่น่าตกใจ คือ มีการกระทำฆาตกรรมแล้วทิ้งศพลงในแม่น้ำโขง เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้วกับหะยีสุหรงและคณะ หะยีสุหรงถูกฆาตกรรมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2497 โดยลักษณะเป็นการฆาตกรรมด้วยการใช้เชือกรัดคอเหยื่อทั้ง 4 คน แล้วก็ผ่าท้องเอาแท่งซีเมนต์ใส่และนำศพใส่กระสอบ ไปทิ้งน้ำ สภาพการจัดการ การฆาตกรรมแบบนี้เหมือนกับที่พบศพในแม่น้ำโขง และที่ตกใจก็คือไม่อยากจะเชื่อว่า ยังมีเจ้าหน้ากลุ่มหนึ่งรับและส่งต่อความรุนแรงในการกระทำเช่นนี้อยู่”
สำหรับการป้องกันหรือดูแลตัวเองของครอบครัวที่ผ่านมา เราพยายามอยู่ในที่สว่างตลอดเวลา ต้องอยู่ในที่ ๆ ทุกคนเห็นได้ เวลาเราหายตัวไป ทุกคนก็จะเห็นว่าทำไมเราไม่อยู่ และเป็นปากเสียง กระบอกเสียงให้เราได้ เหมือนอย่างที่นายเด่น ถูกขึ้นแบล็กลิสต์ และจะถูกเก็บในช่วงปี 2547 ก็ใช้วิธีแถลงข่าว และอยู่ในความสนใจของผู้คนเสมอ จึงรอดชีวิตมาจนถึงปัจจุบันนี้
บรรยากาศการเสวนาหัวข้อ “ประเทศไทย ดินแดนแห่งการจับตาสอดส่อง : จากการบังคับสูญหาย ถึงการสอดแนมทางดิจิตอล/ EM/ เทคโนโลยีไบโอเมตริก” เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 เครดิตภาพ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ชลธิชา แจ้งเร็ว กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย
ถูกติดกำไล EM ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีราษฎรศาลในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งคดีดังกล่าวศาลได้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว วางหลักประกัน 9 หมื่นบาท พร้อมเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ห้ามทำกิจกรรมที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะกระทบเทือนต่อสถาบันกษัตริย์ ห้ามออกนอกเคหะสถาน 20.00 น.-05.00 น.หรือเคอร์ฟิว ให้มารายงานตัวทุก 15 วัน เป็นเวลา 3 เดือน และให้ติดกำไล EM แม้ต่อมาศาลจะถอนเงื่อนไขในการรายงานตัวและห้ามออกนอกเคหะสถานตามระยะเวลาที่กำหนด แต่ว่าศาลยังกำหนดให้ใส่กำไล EM อยู่
พบการติด EM นักกิจกรรมหนักใน 1 ปี
ภาพรวมการบังคับให้ใส่ EM ในคดีทางการเมือง สำหรับประเทศไทยมีมากขึ้นในช่วงปี 2564-2565 ซึ่งพบว่า ภายในเดือน มีนาคม 2564 – มีนาคม 2565 เพียง 1 ปีมีประชาชนอย่างน้อย 54 คน ถูกศาลบังคับใช้กำไล EM ซึ่งบางกรณีมาพร้อมกับเคอร์ฟิวหรือบางกรณีเป็นการใส่กำไล EM เพียงอย่างเดียว
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความพบว่า อย่างน้อย 22 คน เป็นการถูกใส่กำไล EM จากคดี 112 ซึ่งเป็นรูปแบบของการบังคับใช้กำไล EM เพื่อควบคุมนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว โดยเฉพาะนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องการเรียกร้องร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งการควบคุมนี้กระทบต่อการขับเคลื่อนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในบ้านเราค่อนข้างมาก เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวของเราอ่อนแอลง หลายคน 2-3 ทุ่มก็ต้องเข้าบ้านแล้ว เพราะมาพร้อมกับเงื่อนไขการห้ามออกนอกเคหสถาน จึงส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมของพวกเรา
“การใช้กำไล EM ตามข้อกฎหมายเพื่อป้องกันการหลบหนี ภัยอันตราย หรือความเสียหายอื่น ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เราพบว่าในกรณีของผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทั้งตนและคนอื่นๆ ที่โดนมาตรา 112 เราไม่ได้มีพฤติการณ์ในการหลบหนี นอกจากนั้นการใช้กำไล EM ในไท ยรัฐให้เหตุผลว่าต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในการเข้าถึงสิทธิ์ในการประกันตัว แต่เราพบว่าในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกของราษฎร คนที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นำมาสู่การโดนคดี 112 ศาลได้กำหนดเงื่อนไขให้ใส่กำไล EM แต่มาพร้อมกับการวางหลักทรัพย์ประกันตัวที่สูงมาก เช่น กรณีของ รุ้ง เพนกวิ้น และทนายอานนท์ ต้องวางหลักทรัพย์ถึง 2 แสนบาท ซึ่งการใช้กำไล EM เป็นไปเพื่อสอดแนมหรือเพื่อทำให้การเคลื่อนไหวหรือใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้คิดว่าผู้พิพากษาก่อนที่จะกำหนดเงื่อนไขให้ติดกำไล EM ควรคำนึงถึงหลักความเหมาะสม ความได้สัดส่วน และความจำเป็นในการใช้ด้วย

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
จากสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้เสียหายในระดับที่ถูกละเมิดสิทธิเป็นจำนวนมาก การฆ่านอกระบบกฎหมายก็มีอยู่ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เป็นอดีตผู้ต้องขัง อดีตจำเลย และอดีตคนที่เคยถูกจับ ความหวาดกลัวทั้งหลายเกิดขึ้นจากการที่มีกฎหมายพิเศษ ซึ่งเป็นรูปแบบของกฎหมายอัยการศึกหรือทั่วประเทศมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายเหล่านี้ถูกใช้ต่อเนื่องมาจนเหมือนกับว่า เป็นสภาพปกติและทำให้ระบบการติดตามตรวจสอบ นักกิจกรรม ผู้มีความเห็นต่างเกิดขึ้นผ่านกระบวนการคิดที่จะบอกกับสังคมว่าสถานการณ์ยังไม่ปกติ และยังต้องใช้มาตรการพิเศษ
มาตรการเหล่านี้ยังเกิดขึ้นอีกระดับคือการทำให้บุคคลที่รัฐคิดว่าเห็นต่าง ในกรณี 3 จังหวัด เป็นเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน การต้องการกระบวนการปกครองแบบพิเศษ อาจจะมีบางกลุ่มบางฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง แต่สุดท้ายแล้วกระบวนการแบบนั้นเมื่อมันไม่มีพื้นที่ประชาธิปไตย เขาถูกทำให้เป็นคนอื่น ในบริบทที่กระแสสังคมโลกมีการปราบปรามความไม่สงบ มีความหวาดกลัวอิสลาม การทำให้บุคคลที่เห็นต่างจากรัฐไทยเป็นอื่น และทำให้เกิดกระบวนการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ใน 3 จังหวัดจะเห็นบริบทของทหาร แต่บริบททั่วประเทศตลอดมาตั้งแต่ปี 2557 มีการลดการใช้กำลังในเรื่องการสอดแนมด้วยทหารน้อยลง เป็นการโอนถ่ายวิธีการในแนวทหารให้กับหน่วยงานของตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างที่เราเห็นชัดคือ ลักษณะของการทำแบล็กลิสต์ ที่เผยแพร่ออกมาตามสื่อ เป็นลักษณะที่เราพบเจอมาตลอด 18 ปีของการทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับการทำไอโอ ซึ่งทำให้นักสิทธิมนุษยชน คนที่มีความเห็นต่าง กลายเป็นคนอื่น เรียกว่าเป็นระบบการป้ายมลทิน ทำให้เราดูแย่ ไม่รักชาติ และชังชาติ
กอ.รมน.ถ่ายภาพหน้าคนใน 3 จชต.กว่า 8 แสนคน
2-3 ปีที่ผ่านมา มีลักษณะของการใช้ไบโอเมตริกในการติดตามตรวจสอบประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนอย่างหนัก เช่น กรณีการบังคับตรวจเก็บดีเอ็นเอที่เกิดขึ้นในเรือนจำก่อนพื้นที่อื่นๆ การตรวจเก็บดีเอ็นเอบุคคลที่ถูกจับเกือบทุกคน ครอบครัว ผู้หญิง และเด็กก็ถูกตรวจเก็บด้วย มีวิธีการคือการให้เซ็นเอกสารยินยอม โดยการบังคับให้จดทะเบียนซิมการ์ดโดยการถ่ายรูป ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จ.ชายแดนเท่านั้น ไม่มีเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ ต่อมาได้ฟ้องต่อศาลปกครองเป็นคดีตัวอย่างว่า ลักษณะของการบังคับตรวจเก็บภาพถ่ายใบหน้า ซึ่ง กอ.รมน.ยืนยันกับทางสภาว่าสามารถเก็บภาพใบหน้าได้ประมาณ 8 แสนรายในพื้นที่ การใช้กล้องวงจรปิดอย่างกว้างขวางในพื้นที่ 3 จ.ใต้ เป็นนโยบายที่ส่งตรงมาจาก กทม. ทั้งนี้เราต้องตั้งคำถามกับความเป็นอิสระของ ตำรวจ อัยการ ศาล ที่พัฒนาระบบจนกระทั่งเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ใช้ EM กับผู้ที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น เหมือนเขาจะกำกับความคิดของเราด้วยอุปกรณ์ต่างๆ
“สิ่งที่น่าตกใจ คือ คนในสังคมไทยที่อยู่ในกลุ่มของชนชั้นกลางยังไม่รู้สึกว่า เรากำลังถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพ คิดว่าวันหนึ่งพวกเราคงจะต้องเห็นคุณค่าสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิที่เราจะสามารถคิดต่างหรือสื่อสารในข้อมูลที่แตกต่างได้โดยไม่ถูกจับจ้องและทำให้เกิดความกลัว”
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เครดิตภาพ เฟซบุ๊ก ยิ่งชีพ
ตอนนี้เป็นยุคสมัยที่การต่อต้านอำนาจรัฐ เทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญมาก ไม่ใช่แค่ฝ่ายต่อต้านเท่านั้นที่จะใช้เทคโนโลยีเป็น ฝ่ายรัฐและฝ่ายสนับสนุนอำนาจรัฐก็ใช้เทคโนโลยีเป็นเหมือนกันและอาจจะเป็นกว่าฝ่ายต่อต้านด้วย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การลุกขึ้นมาต่อต้านระบอบการปกครองที่เป็นอยู่อย่างเข้มข้น ขณะเดียวกันเราก็พบความพยายามรักษาระบอบนี้ไว้อย่างเข้มข้นเช่นเดียวกัน
เมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา เราพบเครื่องมือใหม่ของรัฐที่เรียกว่า เพกาซัส สปายแวร์กับมือถือของนักกิจกรรมตรวจสอบ แล้วพบว่า มีการใช้สปายแวร์ที่ชื่อเพกาซัสกับพวกเรา ซึ่งผลิตในอิสราเอลและขายระหว่างรัฐต่อรัฐเท่านั้น คนที่ได้รับผลกระทบเป็นนักกิจกรรม นักการเมืองในสภา และนอกสภาจำนวนหนึ่ง ซึ่งไอลอว์จะจัดทำรายงานเรื่องนี้ให้เสร็จภายใน 1 เดือน ก่อนจะขอความยินยอมจากทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดเผยเรื่องนี้ต่อไป
รัฐใช้โปรแกรม SS7 ดักฟังโทรศัพท์
“ยังพบการใช้โปรแกรม SS7 ในการดักฟังโทรศัพท์ ซึ่งทำกันมานานแล้ว เรื่องสุดท้ายที่เราพบเห็นเมื่อปลายปีที่แล้ว คือ วอชลิสต์ เป็นเอกสารของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจำนวน 200 กว่าคน แสดงให้เห็นว่ามีการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการติดตามการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ พบหลักฐาน
ในช่วงยุค คสช. ยุคที่ 1 หลังการรัฐประหาร เป็นช่วงที่มีอำนาจเต็ม ใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ และเปลี่ยนเป็นการใช้คำสั่ง คสช. 3/2558 ทำให้เรายังไม่ทราบว่าใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง สิ่งที่เห็นคือ คสช.เรียกคนไปรายงานตัวเอาไปคุมขังในค่ายทหาร ไปเคาะประตูหรือบุกบ้าน อยากรู้เรื่องของใครก็เอาไปเข้าค่ายทหารได้ และผ่านกระบวนการสอบสวนแบบพิเศษในค่ายทหาร พอมาถึงยุคนี้เป็น คสช. ยุคที่ 2 ซึ่งไม่ได้มีอำนาจมาตรา 44 หรือกฎอัยการศึกทั่วประเทศแล้ว และเป็นช่วงที่มีการต่อต้านสูงกว่าในยุคแรกเขาจึงจำเป็นที่ต้องรู้ความเคลื่อนไหวให้มากกว่าเดิมจึงเกิดปรากฎการณ์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาเพื่อสอดแนม หรือเพื่อรู้พื้นที่ส่วนบุคคลของคนที่ต่อต้านรัฐมากขึ้น
เชื่อว่าเรายังรู้ไม่หมดและยังมีการทำงานมากกว่านี้ ถ้าเขาอยากรู้มากกว่านี้ คำถามสำคัญในใจของรัฐน่าจะเป็น 1.ใครจะเคลื่อนไหวอะไร เมื่อไร 2.กลุ่มคนพวกนี้เชื่อมโยงกันอย่างไร 3.เอาเงินมาจากไหน เขาคงอยากเชื่อมโยงไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า หรือสหรัฐ อเมริกา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ารัฐรู้อะไรไปบ้างแล้ว และยังมีงานสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ที่ต้องทำอีกมาก
ฐิติรัตน์ ทิพสัมฤทธิกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครดิตภาพเว็บไซต์แอมเนสตี้ฯ
การที่รัฐจะเข้ามาแทรกแซงชีวิตความเป็นส่วนตัว หรือเอาข้อมูลบางอย่างไป เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น การป้องกันอาชญากรรม การรักษาความปลอดภัย เป็นหน้าที่ที่รัฐสามารถทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลที่ดีพอและต้องได้รับการตรวจสอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว
สิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ คือ มีงานวิจัยพบว่าการที่รัฐสอดแนมมากเกินไปแล้วข้อมูลถูกเปิดโปงภายหลัง ทำให้คนในสังคมรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่เชื่อใจ ในการที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม รวมไปถึงไม่เชื่อใจรัฐ ไม่เชื่อใจหน่วยงานราชการ ซึ่งจะทำให้รัฐที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลประชาชนทำงานได้ไม่เต็มที่ ยกตัวอย่าง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เรามีแอพติดตามต่างๆ เช่น หมอชนะ ไทยชนะ ที่พยายามจะเอาข้อมูลส่วนบุคคลของเรามารวบรวมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในเรื่องโควิด – 19 แต่ผลที่เกิดขึ้นคือทุกคนระแวงกันไปหมด และเชื่อมโยงไปถึงเอสเอ็มเอสจากเว็บไซต์พนัน แม้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่คนในสังคมก็ระแวงไปหมด แสดงให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจรัฐ สังคมที่เรายอมให้รัฐสอดแนมเรามากเกินไปมันสร้างความหายนะในระยะยาวได้ในการอยู่ร่วมกันในสังคม