อัยการ ศรีดาวงศ์ เรื่อง

จากคมกระสุน 90 นัด ที่หมายลบชื่อ “ครูครอง จันดาวงศ์” และ “ครูทองพันธ์ สุทธิมาศ” ออกไปจากประวัติศาสตร์พร้อมทำให้ถูกลืม กลับกลายเป็นว่าคมกระสุน 90 นัดนี้เอง ที่ทำให้ชื่อของทั้งสองท่านนี้อยู่ไปตลอดกาล…

นนามของนักสู้ผู้เป็นอีกหนึ่งสายธารแห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและประชาธิปไตยในตะวันออกเฉียงเหนือ “ครูครอง จันดาวงศ์ และครูทองพันธ์ สุทธิมาศ”

ท้องฟ้ายามบ่ายของวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ที่ศูนย์การเรียนรู้ ครูครอง จันดาวงศ์ สว่างแดนดิน สกลนคร ไม่ปลอดโปร่งนัก เปรียบเหมือนความอึมครึมของประชาธิปไตยในยุคทมิฬ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2504 ที่เป็นเหตุแห่งการประหาร ครูครอง จันดาวงศ์ และ ครูทองพันธ์ สุทธิมาศ ในข้อหา “กบฏ” 

เก้าอี้และโต๊ะยาวถูกจัดวางไว้พร้อมกับเจลแอลกอฮอล์และแบบฟอร์มลงทะเบียน เป็นหนึ่งในมาตรการรักษาความสะอาดเพื่อป้องกันเชื้อโรคร้าย

โปสเตอร์งานรำลึกสองวีรชนผู้กล้าแห่งสว่างแดนดิน ถูกจัดวางไว้รอผู้ที่มาร่วมงานหยิบไปเป็นที่ระลึก ภาพสีโปสเตอร์บนผืนผ้าเป็นใบหน้าของชายผู้มีนามว่า “ครอง จันดาวงศ์” และ “ทองพันธ์ สุทธิมาศ” ตั้งตระหง่านอยู่บนเวทีที่ถูกประดับด้วยคำว่า “วีรบุรุษประชาธิปไตย ครูครอง จันดาวงศ์” และคำว่า “ดับชีวิน ไม่สิ้นศรัทธา”

พร้อมกันนั้นก็มีแผงขายหนังสือจากร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ไว้สำหรับผู้มาร่วมงานและเสรีชน ที่มาพร้อมกับหนังสือในราคาย่อมเยา มีเหล่าศิลปินจากวงสามัญชน วงสะเลเต วงจำปาขาว วงกู่แคน และวงชราภาพ รวมไปถึงผู้ปฏิบัติการทางศิลปะอย่างอาจารย์ถนอม ชาภักดี และเหล่านักเขียนและบทกวีเพื่อการรำลึก ต่างก็หลั่งไหลมาเพื่อร่วมสร้างและถ่ายทอดศิลป์ในงานรำลึกครั้งนี้ ผู้คนจากทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคที่เขาเรียกว่า อีสาน คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา นักเขียนผู้ชิงชังต่อเผด็จการ ต่างก็เดินทางมาร่วมกันในงานรำลึก “61 ปีครูครองจันดาวงศ์ และครูทองพันธ์ สุทธิมาศ” ราวกับว่าเป็นแหล่ง “จาริกแสวงบุญ” ของผู้รักในระบอบประชาธิปไตยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเลยก็ว่าได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นผลมาจาก “กระสุน 90 นัด” ที่ถูกลั่นออกไปกระทบร่างของครูทั้งสองผู้ต่อต้านรัฐจนถูกฆ่ากลางลานประหาร 

วิทิต จันดาวงศ์ วัย 83 ปี ลูกชายคนโตของ ครูครอง จันดาวงศ์ ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

การจากไปของครูครอง จันดาวงศ์ และครูทองพันธ์ สุทธิมาศ วีรชนประชาธิปไตยแห่งสว่างแดนดิน ผู้เป็นเหยื่อของรัฐบาลเผด็จการ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สั่งประหารในนามของมาตรา 17 โดยคำสั่งประหารนั้นถูกแปลงเป็นคมกระสุน 45 นัด ต่อ 1 คน พุ่งชนเข้ากับร่างของครูทั้งสองเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 เวลา 12.13 น. ซึ่งยังคงเป็นบาดแผลในความทรงจำของสว่างแดนดินอย่างมิอาจลบเลือน…โดยเฉพาะลูกชายคนโตของ ครอง จันดาวงศ์ ที่ถูกจับพร้อมพ่อ แต่ไม่ถูกประหารด้วยคมกระสุน จึงทำให้รอดชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ 

พ่อในความทรงจำของลูกชาย

วิทิต จันดาวงศ์ ในวัย 83 ปี นั่งสาดสายตาไปยังผู้คนที่มาร่วมในงานรำลึก และหยิบยาสูบหนึ่งมวนขึ้นมาประทับเล็งพร้อมกับจับจ้องไปที่การลุกไหม้ของมวนยาสูบ ก่อนจะเล่าถึงช่วงชีวิตที่ถูกจับยัดตารางเพียงเพราะเป็นบุตรชายของ ครู จันดาวงศ์ ที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นภัยความมั่นคง

“ตอนพ่อผมถูกประหาร ผมถูกขังอยู่ ตึกบังคับการสันติบาล” วิทิตท้าวความหลังอย่างใจเย็นและเล่าต่อว่า

“วันนั้นเขาเอาพ่อผมไปตั้งแต่เช้า แล้วก็ย้ายผมจากห้องขังเดิม มาแทนไว้ห้องขังที่พ่อเคยอยู่ ตำรวจก็มาเล่าให้ฟังว่า ห้องที่ถูกขังนี้ เป็นห้องที่เอาไว้ขังพวกคดีสำคัญๆ มาหลายคดี”เขาเล่าพร้อมสูดบุหรี่เข้าเต็มรัก ก่อนจะพ่นออกมาแล้วนิ่งคิดก่อนจะบอกอีกว่า 

“ห้องนี้สำคัญนะ ใครถูกขังเนี่ย โดนยิงเป้าหมด…” เป็นคำพูดของผู้คุมที่กล่าวกับวิทิตเพื่อข่มขวัญ

“ผมก็เฉยๆ” วิทิตเล่าความรู้สึกตอนนั้นพร้อมกับนั่งรำลึกความหลัง 

“ตอนนั้นมีนายชิต นายบุศ นายเฉลียว (3 ผู้ต้องหาในคดีฆ่า ร.8) ไหนจะผู้การธง ที่เป็นลูกน้องของเผ่า ศรียานนท์ในยุคเปลี่ยนผ่าน ไหนจะจอมพล ป. ต่างก็เคยถูกขังในห้องนั้น…”บุคคลที่ถูกเอ่ยชื่อ แทบไม่มีชีวิตอยู่แล้ว 

สถานการณ์ ณ ปี 2504

วิทิต เล่าว่า เมื่อปี 2504 บรรยากาศทางการเมืองในช่วงนั้นค่อนข้างเงียบ  “เอิ้นได้ว่า คน“ย่าน” คนในเครือข่าย คนที่เคยเป็นหัวคะแนนให้ครูครอง กะต้องหนีเข้าไปในป่าในดงหม๊ด”เป็นภาพติดตาที่วิทิตยังคงจำได้ 

ส่วนชาวบ้านธรรมดา เขาก็ค่อนข้างเชื่อ ไปตาม “คำโฆษณาของรัฐ” 

“ย่อนว่า สมัยนั่นมันกะมีสื่อให้เลือกบ่กี่หลาย ส่วนสื่อที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ มักจะถูก ปิดกั้น อย่าง ปิตุภูมิ มาตุภูมิ ในยุคนั้นเนี่ย เขาจับพวก บก. (บรรณาธิการ) ไปขังคุกลาดยาวเบิ๊ด”

ในความทรงจำของนักโทษทางการเมืองเขาจำได้ขึ้นใจว่า แม้จะมีนักโทษทางการเมืองถูกจับขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้คนก็สู้ ด้วยการเข้ายื่นคำร้องต่อศาลอาญาชั้นต้น แม้ศาลจะไม่รับร้องแต่ก็มีกระบวนการอุทธรณ์จนถึงชั้นฎีกา 

“ตอนถูกคุมขังอยู่ก็สู้คดีการเมือง ในตอนนั้นเขาบ่ไห่มีทนาย กะเป็นทนายไห่เจ้าของเอง เรียนรู้กฎหมายเอง สู้ตอนนั้นก็ย่อนความเป็นเด็กน้อยน้อ อาศัยความเป็นเด็กแหน่ ถูกศาลบีบก็ด่า ก็เถียงศาล จนศาลว่านี่จำเลย ถ้าจำเลยไม่เคารพบุคคล จำเลยก็เคารพสถาบันบ้าง”วิทิต กล่าวก่อนที่ไฟในมวนยาจะลุกไหม้อีกครั้ง 

“แหล่วผมกะตอบไปว่า ไม่ว่าบุคคลหรือสถาบัน ถ้าให้ความเป็นธรรม ผมก็เคารพทั้งนั้น แต่ถ้าไม่ให้ความเป็นธรรม ผมก็ไม่เคารพก็ตอบไปแบบนั้นสู้ไปแบบนั้น. ตอนหลังศาลก็เลยเป็นใจ จนบางเรื่องศาลออกตัวเถียงแทนจำเลยในหลายๆ ครั้ง”เขากล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ 

เมื่อครั้งไปดูลานประหาร “พ่อ” 

31 พฤษภาคม 2504 สนามหญ้าหลังที่ว่าการอำเภอสว่างแดนดิน ถูกจัดเป็นลานประหารชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาว่า เป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน 

แม้วันนี้ลานประหารจะเปลี่ยนไป แต่ความเจ็บปวดที่สูญเสียพ่อไม่เคยเปลี่ยน

“เคยได้ไปเบิ่งเทือนึง หมุดที่เพิ่นเฮ็ดไว้ ก่อนเขามาสร้างหอสมุด หอสมุดพระเทพฯ เขาเลยถอดหมุดนี้ออกไป ขยับไปตั้งอีกหม่องนึงที่อยู่ใกล้ๆ”วิทิตเล่าที่มาที่ไปก่อนจะบอกเล่าความรู้สึก

“มันคงเป็นความรู้สึกที่ ชินแล้ว ตั้งแต่เฮียนฮู้การเมืองนำพ่อ (ครูครอง) เลากะสอนว่า การเล่นการเมืองในยุคนั้นมันสิล้ำหน้าประชาชนจักหน่อย กะจะมีความเสี่ยง เฮาต้องเตรียมใจว่า เข้มแข็งทอได๋ ถ้าถืกจับขัง ถืกซ้อม ถืกหยัง สิไหวบ่เพิ่นกะถาม กะคงต้องไหว แล้วกะว่าสิบ่แสดงความอ่อนแอให้เผด็จการเห็น…” วิทิตถอดบทเรียนจากคำพ่อสอน 

ฝากฝันถึงคนรุ่นใหม่ 

การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อยู่ในสายตาของชายชราคนนี้ตลอดเวลาและเข้าใจทุกท่วงท่า เพราะเคยลิ้มรสขม หวาน ทั้งการถูกไล่ล่าและกลิ่นอายประชาธิปไตยในยุคเบ่งบานมาแล้ว 

โดยเฉพาะการเป็นลูกชายของ “ครอง จันดาวงศ์” ทำให้เขาได้เรียนรู้การต่อสู้ตั้งแต่ยุคเสรีไทย กระทั่งกบฏสันติภาพ และห้วงเวลาก่อนชีวิตพ่อจะปลดปลง 

“สิ่งที่ครูครอง ทิ้งไว้ให้สังคมนี้ได้เรียนรู้กะคือ ความกล้าหาญ และบ่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ถูกขัง ถูกนำไปประหาร เขาก็ยังสู้ บ่ยอมจำนนทางความคึด”

ในยุคที่ครั้งหนึ่งที่สังคมไทยมีกฎหมายป่าเถื่อนอย่างมาตรา 17 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ที่เทียบกับยุคนี้ คือ ประมวลกฎหมายมาตรา 112 ที่เป็นกฎหมายไล่ล่าคนคิดต่างอย่างไม่วางวาย 

“ในกรณีมาตรา 112 เป็นมาตราที่สู้ยาก เพราะมาตรานี้ ไผถืกหมายเข้าไป มันเท่ากับถืกตัดสินว่า มีความผิดไว้ก่อน แล้วต้องให้เฮาหาหลักฐานมาพิสูจน์เจ้าของ บ่คือจั่งคดีอาญาทั่วไป”

“ทีนี้ผมเบิ่งคนรุ่นใหม่ ผมกะเบิ่งแล้วว่า เขากะบ่มีคนยอมคือกัน สู้จนเอาชีวิตไปเสี่ยง ผ่านการอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในการประกันตัว ซึ่งผมมองว่า ระบบศาล ความจริงมันบ่มีความเป็นนักกฎหมาย…เป็นสิ่งที่น่าเห็นใจ ที่บ่ว่ายุคได๋สมัยได๋โครงสร้างมันก็ยังเป็นแบบนี่…

แต่ก็ยังคงหวังกับกลุ่มเยาวชน กลุ่มนักศึกษา ข้าราชการ นักวิชาการ สิต่อสู้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่หวัง ได้มาซึ่งความเป็น “ประชาธิปไตย”

“คนกล้าคนฉลาด คนขลาดคนโง่” วิทิตปิดท้ายก่อนที่เพลิงจากก้นมวนยาสูบจะลุกขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย

วิชาญ ฤทธิธรรม อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผู้ศึกษาประวัตินักต่อสู้สกลนคร ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ 

ความทรงจำคนภูพานต่อหลักประหาร 

ผ่านมา 61 ปี หลักประหารคอนกรีตยังฝังใจผู้คน “วิชาญ ฤทธิธรรม” อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผู้ศึกษาเกี่ยวกับการเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เล่าถึงความสำคัญของจุดที่เป็นหลักประหารครูครองว่า เดิมทีเป็นสนามบินลับของเสรีไทย ซึ่งครูครองได้สร้างไว้พร้อมกับชาวบ้าน พื้นที่บริเวณนั้นจึงเป็นที่รับรู้และเป็นความภูมิใจของคนสว่างแดนดินว่า ได้ร่วมต่อสู้กับขบวนการเสรีไทย 

“เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สนามบินลับเสรีไทยกลับกลายเป็นสถานที่สำหรับประหารชีวิตวีรชน ส.ส.ของเจ้าของก่อนที่บ้านเมืองเปลี่ยน ยุคเสรีไทย คือ ความภูมิใจ แต่พอมายุคสฤษดิ์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) การที่ครูครองได้ทำงานกับขบวนการสามัคคีธรรม ก็ทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมูนิสต์”ความทรงจำ ณ ที่แห่งนี้คนสว่างแดนดิน ที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ “เขาจำ” ยังไม่เคยลืม และยังเล่าสู่ลูกหลาน 

“ครูครอง” ในความทรงจำของคนสกลฯ 

ในฐานะที่ศึกษาประวัติศาสตร์ครูครอง วิชาญ แบ่งห้วงชีวิตของครูครองออกเป็นสองช่วง ช่วงแรก คือ การเป็นลูกน้องเตียง ศิริขันธ์ เป็นผู้สนับสนุน เป็นหัวคะแนน 

“ในอดีตคนสกลฯ จะเห็นเตียง ครอง จะมาคู่กัน”วิชาญสรุปให้เข้าใจง่ายๆ  

ส่วนความทรงจำระยะหลังๆ นั้นนักวิชาการคนนี้สรุปว่า เมื่อเวลาผ่านไป วีรกรรมหรือสิ่งที่ครูครองทิ้งไว้ ทั้งความคิด คำพูด หรือภาพ ประกอบกับสถานการณ์ทางสังคมที่นักศึกษานำเสนอ ซึ่งมีบุคลิกต่อต้านรัฐทำให้ครูครองได้รับความนิยมขึ้นมาในระดับประเทศ 

“ครูครอง ได้รับการยอมรับในเรื่องของการต่อต้านรัฐเผด็จการสูง สูงกว่าครูเตียง โดยเป็นคนสกลนคร อาศัยเรียนรู้ตามคนอื่น แต่ว่าครูครองกะคือวีรชน ถึงขนาดที่ว่าในระยะหลังรับรู้กันว่า ดินแดนสว่างแดนดิน เป็นดินแดนแห่งนักสู้”วิชาญกล่าวด้วยความภูมิใจในความเป็นชาวสกลฯ 

เมื่อ ส.ส.ถูกฆ่ากลางเมือง

“เมื่อก่อนหนิ ครูครองกับชุมชน เขาผึกกำลังกันคักขนาด ตามประวัติและการบอกเล่าของลุงวิทิต หรือจากงานเอกสารวิจัยต่างๆ คือเว้าได้เลยว่า แถวอำเภอสว่างฯ อำเภอส่องดาว ไปไหนก็เจอแต่ลูกน้องครูครอง”

ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของเมืองสกลฯ จึงยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ในช่วงที่จิตร ภูมิศักดิ์ เข้าป่า จ.สกลนครก็มีลูกน้องครูครองมารับ แม้กระทั่ง วัฒน์ วรรลยางกูร (นักคิด นักเขียน) เข้าป่า ลูกน้องครูครอง เป็นคนสอบสวน 

“ซึ่งทำให้เห็นว่า การยอมรับในตัวครูครองของคนในพื้นที่ มีสูง แต่ทำไมถึงยอมให้ครูครองถูกฆ่าอยู่กลางเมือง มันเป็นภาวะ ภาวะที่ถูกกด ความหมายที่รัฐต้องการคือ เฮ็ดไห่ย่าน เพราะยุคนั้น มันก็ฆ่ามานักต่อนักแล้ว”

ฆ่าแล้วทำให้กลัว เป็นสภาพที่วิชาญ อธิบายว่า คล้ายๆ กับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีนักเคลื่อนไหว เยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมาก 

“แทบสิบ่ต่างจากปัจจุบันเลย เพียงแต่ว่า เด็กน้อยมันหลาย กับในยุคนั้นคือ ขยับเป็นตาย ยิงทิ้ง ง่ายๆ แบบนั่นเลย เพราะรัฐไทย เป็นแบบนั้นจริงๆ ว่าแต่ถือปืนนั่นคือ ฆ่าได้ โดยเฉพาะในชนบท เขาไม่ถือว่าเป็นคนด้วยซ้ำไป”

 “คนตอนนั้น เลือกที่สิ บ่ปากถามว่าเขายอมบ่ ต้องใช้คำว่า มันอยู่ในภาวะที่ ถูกกดด้วยคำบอกเล่าที่ว่า เสียงปืนดังบักหลาย แต่ว่าจั่งได๋กะบ่กล้าออกมาเบิ่งบ่กล้าแม้กระทั่งสิขายโลงให้เขา… นี่คือการ “เฮ็ดไห่ย่าน”

บรรยากาศเยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมงานรำลึกการจากไป 61 ปี ครูครอง จันดาวงศ์ และ ครูทองพันธ์ สุทธิมาศ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 จ.สกลนคร ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ 

สังคมอีสานกับ “ครูครอง”

แม้ ครอง จันดาวงศ์ จะถูกสังหารกลางเมืองถึง 61 ปี แต่วาทะ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ที่เปล่งขึ้นกลางลานประหารไม่ได้จางหาย แต่ยังคงเป็นเชื้อไฟปลุกพลังคนรุ่นใหม่ให้ต่อต้านอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมในยุคเผด็จการครองเมืองอย่างมิมาย 

“จากมื้อนั่นฮอดมื้อนี่ จากมื้อที่ฆ่าครูครอง จนฮอดมื้อนี่ มันยังเป็นคู่ต่อสู้เก่า สังคมเฮาบ่ได้ก้าวหน้าไปไสเลย ยังเป็นการต่อสู้ระหว่างผู้เผด็จการกับประชาชน เพียงแต่ว่าเผด็จการเปลี่ยนจากคนนั้นเป็นคนนี้”เขากล่าวสรุปบทเรียน 

ในสายตานักวิชาการที่เฝ้ามองปรากฎการณ์ทางการเมืองบอกอีกว่า หากเทียบกับยุคนี้การต่อสู้ของครูครองสมัยก่อนก็เปรียบเหมือนการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรใหม่ เยาวชนในยุคนี้ 

รพีภัทร ประชานันท์ หรือ ‘พีม’ นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนสว่างแดนดิน จ.สกลนคร ขณะมาร่วมงานรำลึก 61 ปีการเสียชีวิตของครูครอง จันดาวงศ์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 

“ครูครอง” ในสายตาเยาวชน

ห้วง 1-2 ปี การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่เบ่งบานไปทั่วทุกภาค เกือบทุกเวทีการเคลื่อนไหวมักนำวาทะอมตะของครูครองมาเป็นธงนำ แต่น้อยนักมีการเรียนการสอนในห้องเรียนจะนำประวัติ ครอง จันดาวงศ์ มาสอน ทว่า รพีภัทร ประชานันท์ หรือ ‘พีม’ นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนสว่างแดนดิน จ.สกลนคร กลับแตกต่าง 

“ ผมรู้จักครูครองในวิชาสังคมที่มีการสอนเกี่ยวกับ

บุคคลที่เรียกร้อง ประชาธิปไตยประจำท้องถิ่น ทำให้ได้เรียนรู้ว่า เราควรต่อสู้เรียกร้อง สิทธิ เสรีภาพ เพื่อตนเองและทุกคนให้มีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ตามบริบทสังคมที่เป็นประชาธิปไตย”เป็นสิ่งที่พีมจดจำวีรบุรษท้องถิ่นจากบทเรียน 

มณีบุษย์ แก้วก่า (ตุ้งติ้ง) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสว่างแดนดิน จ.สกลนคร ขณะอ่านบทกวีสดุดีครูครอง 

ส่วน มณีบุษย์ แก้วก่า หรือ ‘ตุ้งติ้ง’ นักเรียนชั้น ม.6 ที่มาร่วมงาน พร้อมกับอ่านบทกลอนสดุดีครูครองบอกว่า ก่อนหน้านี้ได้ยินชื่อครูครองเพียงผ่านๆ แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่รู้ว่าเป็นคนที่สู้กับเผด็จการมาก่อน 

“เพิ่งได้มีโอกาสรับรู้และสัมผัสจริงๆ ก็ตอนมาร่วมงานรำลึกนี่แหละค่ะ ส่วนตัวมองว่า ครูครองมีความกล้า กล้าที่จะออกมาแสดงสิทธิ เสรีภาพของตัวเอง และครูครองได้สร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากจะลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิ่งนี้บ้าง สิ่งที่เรียกว่า สิทธิ เสรีภาพ”

แม้ลมหายใจ “ครอง จันดาวงศ์” จะมอดดับไปเกินกว่าครึ่งทศวรรษ แต่การต่อสู้ของเขายังเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังได้เดินตาม โดยเฉพาะการต่อสู้ผู้เผด็จการที่มีทุกยุคทุกสมัย 

image_pdfimage_print