สภานักศึกษา มข.จัดงานเสวนา “ปลดล็อคท้องถิ่นกับการปฏิรูปรัฐราชการไทย” “ธำรงศักดิ์” ชี้รัฐไทยทำลายภาษาชนเผ่า ลบทำลายอัตลักษณ์ท้องถิ่น หนุนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ถ้วนหน้า ส่วน “ปิยบุตร” กระทุ้งกระจายงบให้พ้นเมืองกรุงฯ
ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 สภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเสวนาปลดล็อคท้องถิ่นกับการปฏิรูปรัฐราชการไทยที่คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ซึ่งบรรยากาศก่อนเข้างานคณะก้าวหน้าได้ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ “ปลดล็อคท้องถิ่น” และมีทั้งประชาชน นักเรียนและนักศึกษาเข้าร่วมเวทีกว่า 50 คน ก่อนที่ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต จะเล่าถึงวิวัฒนาการของการเมืองไทย ได้ถามคนในห้องว่ามีใครเห็นด้วยกับการทำรัฐประหารปี 2557 หรือไม่ แต่ไม่มีใครที่เข้าร่วมงานยกมือแม้แต่คนเดียว
รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.สร้างแรงสะเทือน
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ครั้งนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งวิวัฒนาการการกระจายอำนาจย้อนไปร้อยปีที่แล้ว สมัยรัชการที่ 5 เป็นการดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งถูกย่อยออกมาเป็นผู้ว่าฯ และในช่วงปี 2435 ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสานมาเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ
“ถ้าถามว่า มันดีต่อเราไหม มันดี แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง คือ เราถูกทำลายการเมืองท้องถิ่นด้วยการมีผู้ว่าฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายอำเภอ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของท้องถิ่นเพื่อให้ภักดีต่อกรุงเทพฯ และสุขาภิบาลไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจ แต่เป็นไม้เป็นมือให้กับส่วนกลางและยังทำลายความเป็นท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ”
รัฐไทยทำลายภาษาเขียนของชนเผ่า
ประเทศไทยยังไม่สนับสนุนให้คนในประเทศพูดหรือเขียนภาษาแม่หรือภาษาของชนเผ่าตัวเอง แต่ถ้าในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์จะให้คนในประเทศใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่ถ้าอยู่บ้านของพวกเขารัฐจะส่งเสริมให้พูดและเขียนในภาษาแม่หรือภาษาท้องถิ่น แต่ประเทศไทยให้พูดเพียงภาษาเดียว คือ ภาษาไทยกลางและนั่นเป็นการทำลายความเป็นท้องถิ่นและเพื่อบังคับให้คนเข้ามาทำงานแค่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการผูกขาดและการรวมศูนย์อำนาจเช่นกัน
“หลักการประชาธิปไตย คือ ต้องเลือกตั้ง แต่เผด็จการจะรักษาการแต่งตั้ง คัดสรร สรรหา เหล่านี้เอาไว้ และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเรื่องการกระจายอำนาจ คือ การเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนในช่วงเดือนพฤษภาฯ 2535 เพราะนั่นคือเป็นการเรียกร้องให้มี องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้จนถึงปัจจุบัน”
บรรยากาศนักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมฟังเสวนา เครดิตภาพ สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ระบบเจ้าขุนมูลนายทำลาย ปชต.
ปัญหาการกระจายอำนาจของประเทศไทยมีอยู่ 2 เรื่อง ประเด็นแรก คือ ในอดีตมีการจัดระเบียบแบบแบ่งเป็นเจ้าขุนมูลนายและไพร่ ทาส แม้ว่าจะมีการยกเลิกระบบนั้นไปแล้ว แต่ก็ยังเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึี่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าใจเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น
ประเด็นที่สอง คือ สืบเนื่องจากรัฐไทยไม่อยากให้คนไทยมีความรู้เรื่องประชาธิปไตย จนกระทั่ง อ.ปรีดี พนมยงค์ มาเผยแพร่แนวคิดนี้และไม่มีรัฐบาลใดอยากให้ประชาชนรู้เรื่องจนทำให้ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตนเอง ดังนั้นการกระจายอำนาจและประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนต้องตระหนักเรื่องสิทธิของตนเองเสียก่อน
นอกจากนี้สิ่งที่สะท้อนถึงการกระจายอำนาจอีกอย่าง คือ การคมนาคมขนส่ง ถ้าขนส่งดีคนในจังหวัดจะสามารถเดินทางไปไหนก็ได้ โดยไม่ต้องมานั่งเครียดว่าไม่มีรถไป หรือแม้กระทั่งเรื่องค่าแรงที่ไม่มีมาตรฐาน
“คำถาม คือ ทำไมเราต้องให้ประชาชนแบกรับบำนาญของข้าราชการจนวันตาย ทั้งที่เราก็ไม่ได้ ทำไมเราถึงไม่ได้เท่าเทียมกัน ทำไมเราต้องจ่ายภาษีเพื่อแบกรับคนอื่น ทำไมเราต้องยอม แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะถูกทำให้ยอมและสิ่งที่อยู่ในความคิดความหวังทั้งคนในกรุงเทพและต่างจังหวัดคือ “HOPE” ความหวังจากการเลือกตั้ง”
รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครดิตภาพ สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ระบบอุปถัมภ์ครอบงำสังคมไทย
วิวัฒนาการของไทยตกอยู่ในโครงครอบทางวัฒนธรรมและทางการเมือง กล่าวคือ ถูกครอบงำด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช และระบอบศักดินาเจ้าขุนมูลนาย สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลมาอย่างยาวนานและอีกหนึ่งระบบ คือ ระบบอุปถัมภ์ และอำนาจนิยมที่ใช้กันมาอย่างยาวนานและสังคมไทยก็ใช้กันอย่างชัดเจน
“ถ้าจะพูดให้อย่างชัดเจน คือ คนผู้น้อยก็ไปยกยอปอปั้นคนที่มีอำนาจเหนือกว่าและการที่สังคมไทยยังมีคนที่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารก็เป็นตัวชีวัดว่า สังคมไทยยังมีความเป็นอำนาจนิยมอย่างชัดเจน และเรายังไม่ได้มีการกระจายอำนาจท้องถิ่นอย่างจริงจัง เพราะเราไม่เคยมีความแตกหักกับความคิดแบบเดิม คนไทยมีแนวโน้มเรื่องอนุรักษ์นิยมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีผลต่อการกระจายอำนาจและการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก
ในระบบเดิมยังเชื่อว่า การมอบอำนาจให้ประชาชน คือ การจะทำให้สังคมแตกแยก จะเห็นได้จากปรากฎการณ์ปัจจุบันที่มีกระแสใส่ร้ายคนที่ออกมาเรียกร้องให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ คือ คนต้องการแบ่งแยกดินแดน วาทกรรมเหล่านี้เป็นการทำลายประชาธิปไตย
“ผมเชื่อว่า ชนชั้นปกครองเขาไม่ยอมลงจากอำนาจง่ายๆ เพราะเขาได้ผลประโยชน์จากตรงนี้มานาน ปัจจุบันเรายังเห็นความเป็นอำนาจนิยม จะเห็นได้ได้จากการเดินทางของเขาแต่ละครั้งเขายังฝ่าไฟแดงได้ตลอด ถ้าเราต้องการให้มีการกระจายอำนาจเราต้องต่อสู้ดิ้นรน และไม่มีชัยชนะใดเลยที่จะได้มาจากการนิ่งเฉยและจากการสวดมนต์ภาวนา”
การรณรงค์ “ขอคนละชื่อปลดล็อคท้องถิ่น” ที่คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น เครดิตภาพ สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประเทศไทยมีอยู่ 2 ประการ ถึงปัญหาของการกระจายอำนาจ ประเด็นแรก คือ ในอดีตมีการจัดระเบียบแบบแบ่งเป็นเจ้าขุนมูลนายและไพร่ ทาส แม้ว่าจะมีการยกเลิกระบบนั้นไปแล้ว แต่ก็ยังเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชและเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าใจเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น
ประเด็นที่สอง สืบเนื่องจากรัฐไทยไม่อยากให้คนไทยมีความรู้เรื่องประชาธิปไตย จนกระทั่ง อ.ปรีดี พนมยงค์ มาเผยแร่ในแนวคิดนี้ และไม่มีรัฐบาลใดอยากให้ประชาชนรู้เรื่องนี้ จนทำให้ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตนเอง ดังนั้น การกระจายอำนาจและประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนต้องตระหนักเรื่องสิทธิของตนเองเสียก่อน
รศ.ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครองมห่วิทยาลัยมหาสารคาม
“ปรีดี” หนุนตั้ง อบจ.
ก่อนหน้านี้ อ.ปรีดี พนมยงค์ ได้ทำให้เกิดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยมีหน้าที่ตรวจสอบภูมิภาค เช่น ตรวจสอบผู้ว่าฯ ตรวจสอบสภา และรัฐส่วนกลาง ทีนี้ปัญหาของ อบจ. คือ หลังจากเกิดมาแล้วไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง เพราะท้องถิ่นถูกปิดล้อมให้ไม่เป็นประชาธิปไตย พูดอีกอย่างคือ “ทำทรงว่าเป็นประชาธิปไตย” ซึ่งทำให้พื้นที่เดียวกันมีสองระบบ คือ ทำให้ท้องถิ่นน้อยลง แต่ทำให้ภูมิภาคใหญ่ขึ้นและทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อปี 2500 เป็นช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ถูกแช่แข็งไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นมาหลายปี มันส่งผลให้คนไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และทำให้คนสนใจแต่ปัญหาระดับชาติที่ไม่ใช่ระดับท้องถิ่น ส่งผลให้นักการเมืองท้องถิ่นไม่ได้ตั้งใจแก้ไขปัญหาท้องถิ่นอย่างจริงจัง
รวบอำนาจรัฐผ่านกลไกภูมิภาค
ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว การกระจายอำนาจสามารถทำได้หลายรูปแบบ และการสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิของตนเอง รวมถึงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในระยะยาวเพื่อสร้างท้องถิ่นเข้มแข็ง และต้องเป็นประชาธิปไตยจากล่างขึ้นบน กล่าวคือต้องให้ประชาชนเป็นคนกำหนดชีวิตและนโยบาย ไม่ใช่ให้ส่วนกลางเป็นคนกำหนด และการรวมศูนย์อำนาจรัฐส่วนกลางที่มาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากระบบรวมศูนย์อำนาจทำลายความเข้มแข็งของชุมชนและท้องถิ่น
รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า
กระจายอำนาจลดอิทธิพลระบบอุปถัมภ์
ไทยประชาสัมพันธ์ว่า เป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยว แต่ทำไมขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงหรือขนส่งสาธารณะอื่นๆ ถึงกระจุกตัวกันอยู่เฉพาะที่กรุงเทพฯ หากมองลงไปให้ลึดกว่านั้นจะเห็นได้ว่ารถไฟฟ้าที่เห็นอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่ผู้ว่าฯ เป็นผู้รับผิดชอบ แต่เป็นความรับผิดชอบของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ที่อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม นั่นหมายถึงว่า เงินที่เอามาสร้างไม่ใช่งบจังหวัด แต่เป็นงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นงบกลาง
“คำถาม คือ ทำไมต้องเอางบกลางไปสร้างเฉพาะที่กรุงเทพฯ หลายคนที่อยู่ต่างจังหวัดอาจจะกำลังตั้งคำถามแบบนั้น ทำไมไม่เอามาสร้างที่ขอนแก่นหรือในจังหวัดอื่นๆ ด้วย และเหตุผลที่เขาให้คือ เพราะกรุงเทพฯ คือ เมืองหลวงไงล่ะ”
การที่ส่วนกลางให้งบประมาณในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน นั่นก็เกิดจากการไม่กระจายอำนาจ ผลที่ตามมาคือเกิดการแย่งชิงงบประมาณ ซึ่งถ้าใครได้เป็น ส.ส.ก็จะสร้างผลงานด้วยการเอางบมาลงจังหวัด กลายเป็นแข่งกันหางบประมาณ โดยไม่สนใจการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ท้องถิ่นทำได้ทุกเรื่อง กยกเว้นบางเรื่องที่ส่วนกลางห้ามทำ เช่น การเงินการคลัง และถ้าเป็นเรื่องของท้องถิ่น ท้องถิ่นต้องทำเองทั้งหมด ส่วนกลางและภูมิภาคจะเข้ามาแทรกแซงได้ก็ต่อเมื่อท้องถิ่นอนุญาตให้เข้ามาช่วยเป็นอย่างๆ ไป และท้องถิ่นไม่ได้อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ดังนั้น ท้องถิ่นจึงไม่ต้องทำตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยก็ได้
สาเหตุที่ประชาชนไม่ค่อยสนใจการเลือกตั้งท้องถิ่น อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของท้องถิ่น เราจึงไม่ได้ให้ความสนใจเท่ากับการเมืองระดับอื่นๆ การกระจายอำนาจจะลดอำนาจของระบบอุปถัมป์ และจะเป็นการสร้างนักการเมืองที่จะมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเองอย่างแท้จริง