กลุ่มอุดรพอกันทีและเครือข่ายความหลากหลายทางเพศจัดขบวนไพรด์เรียกร้องสมรสเท่าเทียม เดินหน้าจัดงานไพร์ดในเดือน มิ.ย.ทุกปี เพื่อย้ำเตือนความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมเรียกร้องสิทธิของ Sex Workers

อุดรธานี – เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 (วานนี้) กลุ่มอุดรพอกันทีและเครือข่ายความหลากหลายทางเพศร่วมจัดกิจกรรมเดินขบวนไพรด์ (Pride) เฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจ เรียกร้องสมรสเท่าเทียม และเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงสิทธิของ Sex workers โดยเริ่มจัดกิจกรรมตั้งแต่เวลา เวลา 15.00 – 19.00 น. 

เวลา 15.00 น. กลุ่มอุดรพอกันทีและเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน (IGDN), M friends ฯลฯ ตั้งขบวนบริเวณหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาแยกหอนาฬิกา ด้วยการบูทส์เพ้นท์สีรุ้งตามร่างกาย ติดสติ๊กเกอร์สีรุ้ง 

เวลา 16.00 น.เคลื่อนขบวนรณรงค์มุ่งหน้าไปยังบริเวณลานทุ่งศรีเมือง ระหว่างเคลื่อนขบวนมีประชาชนให้ความสนใจและให้กำลังใจตลอดเส้นทาง ขณะเดินรณรงค์ได้ผ่านงานกิจกรรมของกลุ่มสเก็ตบอร์ดในจังหวัดอุดรธานี และมีจุดที่เป็นเส้นทางเดียวกันจึงมีการโห่ร้องยินดีให้กำลังใจ

เวลา 17.00 น. ขบวนไพรด์เคลื่อนถึงบริเวณลานถึงศรีเมือง หลังจากนั้นมีการปราศรัยจากกลุ่มต่างๆ 

“นัท” ตัวแทนผู้พิการที่มีความหลากหลายทางเพศ​ปราศรัยถึงเบื้องหลังของการจัดงานไพร์ดอุดรฯ ว่า การจัดงานครั้งนี้ประชาชนเป็นคนลงขันจัดกันเอง ไม่มีหน่วยงานรัฐสนับสนุน ถ้าปีหน้ายังจัดอีกก็อยากให้หน่วยงานส่งเสริม 

“งานไพร์ดเป็นงานต่อต้านความไม่เท่าเทียม ซึ่งจะจัดไม่ได้ถ้าทุกคนพอใจกับการถูกกดขี่ข่มเหง ถ้าทุกคนไม่ยอมต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองและสิทธิของผู้อื่น ซึ่งผมไม่ได้คาดหวังว่า ประชาชนจะมาร่วมเยอะขนาดนี้”

เขายังกล่าวต่อถึง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่ผ่านวาระแรกของการสภาผู้แทนราษฎรว่า ขณะนี้คนสับสนระหว่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมและ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ต้องอธิบายว่า สมรสเท่าเทียมเป็นการคืนสิทธิ์ให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิ์เท่าเทียมเท่ากับชายหญิง ซึ่ง พ.ร.บ.คู่ชีวิตไม่ได้มีบางสิทธิ เช่น การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อมีลูก เป็นต้น 

“ตอนนี้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมและ พ.ร.บ.คู่ชีวิตเพิ่งผ่านวาระแรก ซึ่งก็มีสิทธิที่จะโดนปัดตกในชั้นวุฒิสภา จึงอยากให้ทุกคนจับตาดูสิ่งที่สภาฯ กำลังจะทำต่อจากนี้ว่า จะเอา พ.ร.บ.คู่ชีวิตหรือสมรสเท่าเทียม ซึ่งผมคิดว่า มันมีสิทธิสูงมากที่กฎหมายจะโดนปัดตกในชั้น ส.ว.”นัท กล่าว 

ต่อมาเวลา 17.19 น. ฟิล์ม กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก เล่าถึงเหตุการณ์เพื่อนผู้ขายบริการที่เคยถูกผู้ซื้อบริการทำร้ายแต่ไม่สามารถแจ้งตำรวจเพื่อเรียกร้องสิทธิของ Sex workers ว่า ตำรวจหรือผู้ใช้กฎหมายได้ล่อซื้อบริการ ซึ่งทำให้ตั้งคำถามว่า ทำไมจึงไม่มีการทำให้การขายบริการถูกกฎหมาย ทั้งที่การขายบริการสามารถหาเงินได้อีกทางหนึ่งโดยที่ไม่ได้เดือดร้อนใคร เพราะมันคือร่างกายของเรา 

“อาชีพขายบริการเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่รัฐบาลไม่เห็นหัวเลย  เราต้องการแก้กฎหมายที่ยอมรับในการเป็นผู้ขายบริการ” ฟิล์ม ปราศรัย 

บรรยากาศการจัดงาน UN Pride จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565

จากนั้นพิธีกรได้กล่าวถึงเหตุผลในการจัดงานว่า เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการภาคภูมิใจในตัวตนของเราเองไม่ว่า คุณจะเป็นเพศไหนหรือทำอาชีพใดเราเป็นคนๆ หนึ่งที่อยู่ในสังคมมีสิทธิ์ที่จะรักหรือชอบใครในเพศใดก็ได้ขอให้เราจงภูมิใจในสิ่งที่เป็น 

“เราต้องการขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการยอมรับ เราไม่ได้เรียกร้องให้เพศใดเพศหนึ่ง แต่มันคือการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ เราควรปฏิบัติต่อทุกๆ คนเหมือนกัน ไม่ควรแบ่งแยกไม่ควรเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นเพศใดและเพื่อสื่อสารหลักสำคัญขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มทุกกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือรวมทั้งผู้ที่ถูกปฏิบัติในด้านต่างๆ เช่น การถูกปิดกั้นโอกาสในการเข้าทำงานเพียงเพราะเราเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ การคุกคามทางเพศการปฏิบัติต่อผู้หญิงหรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสถานที่ทำงาน การถูกล้อเลียนหรือกลั่นแกล้ง ในสถานศึกษาเพียงเพราะเราเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศและอาชีพพนักงานบริการชายหญิงหรือเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ที่ยังไม่ถูกกฎหมาย” 

“กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศส่วนใหญ่ถูกมองว่า เป็นตัวตลกในสังคม ซึ่งเป็นการถูกตีตราและเลือกปฏิบัติที่มีอยู่จริงในสังคม สิ่งที่พวกเราต้องการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ก็คือ 1.การจดทะเบียนสมรสของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหรือสมรสเท่าเทียม 2.อาชีพพนักงานบริการทั้งชายหญิงที่ถูกกฎหมาย 3.ผู้พิการควรจะได้รับสิทธิและบริการอันสมควรที่จะได้รับ 4.การนำเสนอข่าวหรือสื่อที่ไม่ตีตราไม่ผลิตซ้ำไม่เหมารวมต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ”พิธีกร กล่าวถึงเจตจำนงค์ในการจัดงาน  

“ในเดือนมิถุนายนของทุกปี เราจะมาร่วมแสดงพลังของความหลากหลายทางเพศแล้วสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือสิทธิมนุษยชน” 

จากนั้นจึงมีกิจกรรมการเดินแบบบนธงสีรุ้งสำหรับผู้ที่มาร่วมงาน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน ผู้เข้าร่วมงานบางคนถือป้ายเรียกร้องเกี่ยวกับเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ ซึ่งเป็นป้ายที่เขียนว่า “เซ็กส์เวิร์คเกอร์อิสเวิร์ค” ซึ่งหมายความว่า “การขายบริการเป็นงาน” เพื่อเรียกร้องให้การขายบริการถูกกฎหมายและการให้ความปลอดภัยกับผู้ขายบริการ 

หลังจากเสร็จสิ้นการเดินแบบ มีแสดงโชว์ โคเวอร์แดนซ์จากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากนั้นมีการแสดงโชว์ของกลุ่มเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ ซึ่งมีการเรียกร้องไปถึงกลุ่มอาชีพที่ถูกลืม เช่น หมอลำ ผู้ขายบริการ เป็นต้น 

ก่อนปิดงานตัวแทนจากกลุ่มอุดรพอกันทีได้กล่าวขอบคุณผู้ร่วมงาน โดยกล่าวว่า หวังว่าชาวอุดรฯ จะเปลี่ยนผ่านความคิดไปสู่ความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ สิทธิ์ที่ของการสมรสเท่าเทียมจะรองรับให้ทุกคนเป็นมนุษย์เช่นกัน 

“หวังว่า เราจะส่งสารนี้ไปถึงโรงเรียนหน่วยงานราชการต่างๆ ให้เห็นว่าการที่คนหรือตอนสิทธิของเด็กไม่ว่าจะเป็นการที่คุณบังคับ ให้เขาแต่งตัวอย่างไร ตัดผมอย่างไร ให้เขาเป็นเพศอะไรมัน คือ การลิดรอนสิทธิ์และการกระทำเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการกดขี่ไม่ให้คนเท่ากัน เราจะไม่ยอม เราจะปฏิวัติทางความคิดของความหลากหลายทางเพศ และปฏิวัติระบบที่แย่ต่างๆ” ตัวแทนกลุ่มอุดรพอกันทีกล่าวและว่า “หลายคนอาจคิดว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่ผิดแปลกไปไม่ว่าคุณจะเรียกตนเองว่า เป็นเพศใดทุกเพศล้วนเป็นหนึ่งในความหลากหลาย ขอให้ทุกคนร่วมฉลองกับความหลากหลายในครั้งนี้” 

image_pdfimage_print