“ภาคประชาสังคม” พร้อมจัดงาน Isaan Pride 2022 เปิดพื้นที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแสดงตัวตนสู่สาธารณะ สร้างบรรทัดฐานใหม่สังคมอีสาน จับตารัฐบาลดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ค้านเสียงภาคปชช.ที่หนุนสมรสเท่าเทียม กลุ่มทะลุ มข.ล่ารายชื่อเปลี่ยนห้องคณะนิติฯ ตามชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ
ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 The Isaan record จัดเสวนา “ทำไมต้องมีงาน Isaan Pride 2022” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่บ้านเฟมินิสปลาแดก จ.ขอนแก่น
อ.ชีรา ทองกระจาย เครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน (IGDN)
การจัดงาน Pride ในกรุงเทพฯ มีมานานแล้ว หรือเชียงใหม่ก็มีการจัด แต่ยังไม่เห็นการจัดงาน Pride ในพื้นที่อีสานอย่างเป็นทางการ ถามว่าทำไมต้องเป็นพื้นที่อีสาน การขับเคลื่อนงาน Pride หรือการขับเคลื่อนสิทธิของ LGBT เราก็จะเห็นว่ามันค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ที่ผ่านมาในท้องถิ่นมีองค์กรที่กระจัดกระจายอยู่ แต่ตอนนี้มีเครือข่ายแล้ว โดย IGDN ตั้งหมุดหมายแล้วว่าเราจะเป็นเครือข่ายที่คอยช่วยประสานเรื่องเหล่านี้ในพื้นที่อีสานเพื่อทำให้อีสาน Pride มีทุกปีไม่ใช่แค่ปี 2022 นี้เท่านั้น
“การพูดถึงสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ไม่ใช่ประเด็นของประเทศใดประเทศหนึ่งหรือวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง มันเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางเพศก็ยังไม่ได้ถูกยอมรับอย่างแท้จริงในบริบทสังคมไทย”
จากการต่อสู้เพื่อการสมรสที่เท่าเทียมหรือการต่อสู้เรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพยังมีการต่อสู้เรียกร้องและในประเทศไทย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ยังไม่ได้รับสิทธิ์อย่างเต็มที่
“คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญทำให้ฝั่งรัฐบาลพยายามดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ขึ้นมามากกว่า เพื่อให้ตรงนี้ผ่าน หากคลอดร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตออกมา ภาคประชาสังคมก็ยังจะต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อให้เรามีสมรสเท่าเทียมอย่างแน่นอน” อ.ชีรา ทองกระจาย เครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน (IGDN)
LGBT มีในพิธีกรรม – วัฒนธรรมอีสาน
ความหลากหลายทางเพศมีอยู่ในทุกวัฒนธรรม วัฒนธรรมอีสานเองก็มีเรื่องของการแต่งกายข้ามเพศ เช่น เวลามีผีแม่หม้าย ผู้ชายก็แต่งข้ามเพศ แต่อาจจะเป็นเรื่องของพิธีกรรม ความเชื่อของภูมิภาคนี้ เราไม่ได้มี 2 เพศเท่านั้น คำว่ากะเทยอยู่ในภาษาเขมร ภาษาลาว ภาษาอีสาน ภาษาไทยเองก็มี เป็นคำดั้งเดิม แต่ว่าการมีอยู่ของเขาในความเชื่อท้องถิ่น มันอาจจะถูกตีตราว่าเป็นสิ่งอัปมงคล ถ้ามีลูกเกิดมาเป็นแบบนี้แล้วอาจจะฟ้าฝนไม่ดี น้ำแห้ง น้ำแล้ง คือ มันมาพร้อมด้วยวาทกรรมที่กดทับตีตรา ปัจจุบันพื้นที่ชนบทหรืออีสานบางส่วน ภาคเหนือ หรือภาคอื่นๆ ก็ยังมีความเชื่อแบบนี้อยู่จึงเป็นเรื่องของการที่จะต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงทัศนคติความเชื่อที่ต้องเกิดการยอมรับมากขึ้น
“งาน Pride อีสานเราได้ปักหมุดหมายครั้งนี้เป็นครั้งแรก มันจะคงอยู่ต่อไปในทุกปีและกระจายไปทั่วทุกจังหวัดในภาคอีสาน กิจกรรมแบบนี้จะเป็นการค่อยๆ สร้างให้เห็นตัวตนให้คนเหล่านี้ออกมาสู่พื้นที่สาธารณะได้อย่างเป็นปกติ ออกมาพูดในเรื่องของเขา สามารถแต่งกายอย่างที่เขาต้องการและแต่งงานกับคนที่เขารักได้อย่างปกติ”อ.ชีรา กล่าว
จับตา พ.ร.บ.คู่ชีวิต คาดรัฐดันสุดตัว
สำหรับ พ.ร.บ.คู่ชีวิตและร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมนั้นวิชาการคนนี้บอกว่า ประวัติร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตถูกร่างโดยรัฐบาล กรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม มีการเปลี่ยนแปลงร่างมาหลายรอบตั้งแต่ร่างที่ไม่ให้อะไรเลย และกำหนดว่าต้องเป็นเพศเดียวกันแต่งงานกัน ร่างนี้ทำให้เกิดกระแสตีกลับจากภาคประชาสังคมที่มองว่า ยังไม่เท่าเทียม เพราะเหมือนกับว่าคุณสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาและใช้เฉพาะกลุ่ม เป็นการแบ่งแยกสิทธิ ถ้าเท่าเทียมกันและมองว่าทุกเพศเท่ากันจริงๆ ทำไมเราไม่แก้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งเราเรียกว่า สมรสเท่าเทียม ให้เป็นคำที่ใช้ได้กับทุกคน เช่น บุคคลสมรสกับบุคคล ไม่ใช่แค่ชายกับหญิงสมรสกันเท่านั้น ซึ่งในกระแสสังคมปัจจุบันกฎหมาย 2 ฉบับนี้ต่อสู้ขับเคี่ยวกันอยู่
“คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญทำให้ฝั่งรัฐบาลพยายามดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ขึ้นมามากกว่า เพื่อให้ตรงนี้ผ่าน หากคลอดร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ออกมาภาคประชาสังคมก็ยังจะต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อให้เรามีสมรสเท่าเทียมอย่างแน่นอน”
ชัชชาติเป็นผู้ว่าคนแรกหนุนงาน Pride
ทั้งนี้การที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เข้าร่วมงาน Pride ถือเป็นผู้นำในระดับผู้บริหารในองค์กรคนแรกหรือไม่ที่เข้าร่วมและสนับสนุนงานในลักษณะนี้ คิดว่าเป็นการสร้างกระแสได้มาก ทำให้สังคมตื่นตัวทันทีเมื่อภาคการเมืองลงมาจับ เป็นกระแสที่ทำให้สังคมหันมามองดูว่า Pride คือ อะไรและทำให้เกิดการตื่นตัวในท้องถิ่นอื่นๆ ตามมาด้วย และภาคอีสานเป็นภาคที่ตื่นตัวมากที่สุด นอกจากจะสะท้อนความสนใจของคนรุ่นใหม่ในประเด็นนี้แล้ว ภาคธุรกิจและพรรคการเมืองก็เริ่มเล่นในประเด็นนี้มากขึ้น บางคนอาจจะมองว่าเป็นการฟอกสีชมพู หรือต้องการเกาะกระแสธงสีรุ้ง เปลี่ยนเฟซบุ๊ก เปลี่ยนสื่อโซเชียลเต็มไปหมด ถึงจะมองอย่างไรก็ตามแต่เป็นการกระตุ้นให้สังคมทำความเข้าใจเรื่องนี้ไปในตัวเอง แม้คนที่เขาแอนตี้แต่ก็จะต่อต้านในลักษณะที่ได้รับการศึกษาไปด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่การฟอกสีชมพูอย่างเดียว แต่ผลลัพธ์จะทำให้สังคมขับเคลื่อนไปด้วยอย่างแน่นอน
“เราไม่ควรปล่อยให้คนเหยียดเพศมีอำนาจ ดังนั้นต้องช่วยกันลงชื่อเพื่อถอดชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหยียดเพศออกจากนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น”
เป่าเป๋า ตัวแทนกลุ่มทะลุ มข.
การต่อสู้เรื่องนี้มีมาอย่างยาวนาน ถ้าเราดูจากรูปแบบสังคมในปัจจุบันที่เป็นสังคมทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT ต่างๆ มักจะถูกกดขี่เป็น 2 เท่าจากผู้ชาย การต่อสู้จะยาวนานขนาดไหนก็ยังมีการกดขี่อยู่ เมื่อยังมีผู้ถูกกดขี่อยู่ก็ต้องมีผู้ที่ออกมาต่อต้านออกมาเรียกร้อง
ในอีสานผมรู้สึกว่า เป็นช่วงกำลังเปลี่ยนผ่านระหว่างความคิดของคนรุ่นใหม่กับความคิดของคนรุ่นเก่า ความคิดของคนรุ่นใหม่ที่กำลังพูดถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ความเท่าเทียม ความหลากหลาย แต่ก็ยังมีกลุ่มคนเก่าๆ อำนาจเก่าๆ หรือคนที่มีอำนาจทางการเมืองที่ยังไม่ยอมรับและที่ไม่ให้สิ่งเหล่านี้มันสร้างขึ้นมาได้
ยกตัวอย่างห้องปฏิบัติการทางกฎหมายในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ผมเรียนอยู่ได้เปลี่ยนชื่อห้องเป็นชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งที่มีทัศนคติเหยียดเพศ ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มได้รณรงค์ให้ผู้คนร่วมลงรายชื่อเพื่อถอดห้องนี้ออกจากคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น หากใครเห็นด้วยก็สามารถร่วมลงรายชื่อได้ที่เพจทะลุ มข.
“เราไม่ควรปล่อยให้คนเหยียดเพศมีอำนาจ ดังนั้นต้องช่วยกันลงชื่อเพื่อถอดชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหยียดเพศออกจากนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น”
“ความเข้าใจประเด็นความหลากหลายทางเพศในสังคมอีสานมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ก็ยังต้องทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจต่อไปเรื่อยๆ” กีกี้ กลุ่มเฟมมินิสต์ปลาแดก
กีกี้ กลุ่มเฟมมินิสต์ปลาแดก
ทำไมต้องมีงาน Pride ที่ขอนแก่นหรือพื้นที่อื่นนอกเหนือจาก กทม. นั้น คือเราอยากยืนยันตัวตนว่า เรามีตัวตนในสังคมนี้และเป็นเรื่องจริงของสังคมไม่ใช่รสนิยมอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้แทนในสภาหลายๆ คนให้ความเห็นว่าเราเป็นแค่รสนิยม ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เราต้องการยืนยันว่า เราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเราต้องการสิทธิเหมือนทุกคน เราไม่ได้ต้องการความเหนือไปกว่านั้น เราต้องการสิ่งที่พวกคุณมีอยู่แล้ว แต่เราไม่มี
“ถามว่า อีสานพร้อมหรือยัง ไม่สามารถพูดแทนทั้งภูมิภาคได้ แต่ว่าด้วยความพร้อมของเรา เราพร้อมที่จะพูดและยืนยันในเรื่องนี้ ถ้าเราไม่สื่อสารเสียที แล้วใครจะเป็นคนบอกว่าพร้อมได้ เวลานี้ความเข้าใจประเด็นความหลากหลายทางเพศในสังคมอีสานมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ก็ยังต้องทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจต่อไปเรื่อยๆ”
ฟังเสวนาฉบับเต็มได้ที่ https://fb.watch/dN7YRGOQuL/