เสวนาหลากหลายแต่เท่าเทียมฯ ขอนแก่น ขอสังคมเปิดพื้นที่ปลอดภัยสร้างสังคมที่เป็นธรรมทางเพศ ส่วน “IGDN” จี้ยกเลิกเครื่องแบบละเมิดเพศสภาพ พร้อมเปิดโครงการตาสว่างเรื่องเพศเยาวชนอีสาน แฉมีนักกิจกรรมด้านสิทธิฯ-ปชต.ขาดความเข้าใจด้านเพศล่วงละเมิดกันเอง ทุกกลุ่มดันกฎหมาย “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” 

ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน (IGDN) จัดเสวนาหัวข้อ “หลากหลายแต่เท่าเทียม ตัวตนที่แตกต่างกับการขับเคลื่อนเพื่อความเสมอภาคทางเพศ” โดยมีผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนจำนวนมาก

“อยากให้ยกเลิกเครื่องแบบชุดนักเรียนและให้การยกเลิกกิจกรรมโซตัส กิจกรรมต่างๆ ที่มันละเมิดสิทธิทุกคน ละเมิดสิทธิ LGBT” 

อนันตชัย โพธิขำ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน (IGDN)  

ผมเป็นเกย์ แต่ตอนนี้กำลังศึกษา Non-Binary และ Queer อยู่ อนาคตข้างหน้าอาจจะเป็นเพศอื่นๆ อีกก็ได้ เพราะการรับรู้และประสบการณ์ทางเพศของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับเราด้วยว่าจะกำหนดว่าเป็นเพศอะไรและรสนิยมทางเพศแบบใด 

ตอนนี้เป็นครูที่ จ.บุรีรัมย์ก็พยายามผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางเพศ ซึ่งได้เริ่มเปิดสอนประเด็นเหล่านี้แล้ว มีเด็กสนใจลงเรียนจำนวนมากสิ่งที่อยากผลักดันต่อ คือ การยกเลิกเครื่องแบบชุดนักเรียน เราจะเห็นว่า ตอนนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งเปลี่ยนระเบียบให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพแล้ว แต่โรงเรียนยังไม่ได้เปิดพื้นที่เรื่องนี้เลย รวมถึงการยกเลิกกิจกรรมโซตัส กิจกรรมต่างๆ ที่มันละเมิดสิทธิทุกคน ละเมิดสิทธิ LGBT 

“ผมอยากให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน ชุดลูกเสือ เนตรนารี ชุด รด. ที่มีค่าใช้จ่ายกระทบกับครอบครัว ไม่ใช่แค่กระทบต่อสิทธิ LGBT เท่านั้น แต่กระทบหมดทุกเพศ คนจนครอบครัวที่มีฐานะยากจนก็จะไม่มีพื้นที่ ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนในวิชา รด. ได้ เพราะต้องซื้อเครื่องแบบหลายพันและถูกเกณฑ์ทหารเพราะไม่ได้เรียน รด. จึงอยากให้ยกเลิกไปเลย อาจจะเปลี่ยนวิชาลูกเสือเป็นแค่วิชาเพิ่มเติมหรือวิชาเลือกเสรี นอกจากนั้นเรื่องชุดข้าราชการก็มีระเบียบเยอะมาก มีชุดกากี ชุดพละ ชุดลูกเสือ เนตรนารี ชุดผ้าไทย ไม่มีวันไหนที่เราจะแต่งเสรีได้เลย จึงอยากให้ยกเลิกเช่นกัน”

ในส่วนของ IGDN ที่ทำงานอยู่ เรามีโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่อีสาน ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ให้มาคุยกันเรื่องเพศ ทำกิจกรรมด้านเพศเพื่อให้ตาสว่างเรื่องเพศ เพราะเราพบว่ายังมีนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ทำงานด้านประชาธิปไตยแต่ไม่เข้าใจเรื่องเพศเลยและล่วงละเมิดทางเพศในวงนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยด้วยกัน IGDN จึงมีกิจกรรมชื่อ Isan Youth Leaders (IYL) เป็นการทำงานกับเด็กและเยาวชนเป็นครั้งแรก รวมถึงการประสานความร่วมมือกับนักการเมืองท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนปกครองท้องถิ่น ที่เป็นพันธมิตรร่วมกันอยู่ ในอนาคต 2-5 ปีข้างหน้า จะมีการชวนเขามาปรับนโยบายและยุทธศาสตร์ของ อปท. เพื่อให้ประเด็นเหล่านี้ลงสู่ชุมชนอย่างแท้จริง 

บรรยากาศ Isaan Pride ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ภาพโดย สุมาวดี โพคะรัตน์ศิริ

แภทริเซีย ดวงฉ่ำ Founder and Director of GirlxGirl 

ชุมชนหญิงรักหญิงแรงบันดาลใจในการทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศ เพราะรู้ว่าเราชอบแบบไหนและไม่ว่าเราจะเป็นอะไร เราอยากให้เกิดความเข้าใจที่มากขึ้นกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงคนนอกกลุ่ม เพราะ 20 ปีที่ผ่านมายังไม่มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ คนยังสงสัยว่าใครเป็นแฟนกับใคร มีกิจกรรมทางเพศอย่างไรเท่านั้น เรารู้สึกว่า ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เข้าถึงและมีความเข้าใจที่ถูกต้อง 

“เรื่องหญิงรักหญิง ครอบครัวหรือพ่อแม่ไม่ได้มองแฟนเราว่า เป็นแฟนจริง แต่มองเป็นเพื่อน ซึ่งรู้สึกว่าคนรักของเราไม่ได้ถูกยอมรับจริงๆ ทั้งจากพ่อแม่และสังคมและเขายังเชื่อว่า ความรักระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงเป็นความรักที่ไม่สามารถพัฒนาระยะยาวหรือถาวรได้ สังคมยังมองว่าความรักของหญิงกับหญิงเป็นเรื่องแฟนตาซี อยากผลักดันให้เกิดสิทธิต่างๆ ที่เรายังไม่สามารถสร้างครอบครัว ปกป้องทรัพย์สินร่วมกันกับคนรัก เพราะถูกข้อจำกัดทางเพศ” 

การรณรงค์ “ควรมีผ้าอนามัยฟรีใน มข.หรือไม่” ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรม Isaan Pride ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2565 ภาพโดย สุมาวดี โพคะรัตน์ศิริ

ณฐกมล ศิวะศิลปะ ผู้ร่วมก่อตั้ง Intersex Thailand และสมาชิก Non-Binary Thailand 

แรงบันดาลใจในการทำงานเรื่อง Intersex มาจากตัวเองที่เกิดมาพบว่ามีความแตกต่างจากคนอื่นๆ เรามีอวัยวะบ่งชี้เพศภายนอกที่แตกต่าง เมื่ออายุ 13-15 ปี พัฒนาการร่างกายของเราก็แตกต่าง แต่ว่าในหนังสือเรียนสุขศึกษามันไม่มีสิ่งที่พูดถึงเราเลย สิ่งที่พูดถึงคนที่เป็น Intersex พูดแต่ว่าเกิดมาแล้วมองเห็นอวัยวะทั้ง 2 อย่าง และไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นเพศใด ซึ่งพัฒนาการร่างกายที่ต่างกัน องค์ความรู้มันเข้าไม่ถึง เขาก็จะเรียกว่าคนเพศกำกวม แต่ก็พยายามที่จะสื่อสารกับสังคมว่า จริงๆ แล้ว คน Intersex ควรจะเรียกว่า คนที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาไม่ชัดเจน และมีลักษณะที่ผสมคลุมเครือกันขึ้นอยู่กับ 5 อย่างในร่างกาย คือ โครโมโซมเพศ อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก อวัยวะสืบพันธุ์ภายใน ระดับฮอร์โมนเพศ และต่อมเพศ 

“เราถูกเลือกปฏิบัติในทางอ้อม เพราะมันไม่มีองค์ความรู้ในเรื่อง Intersex เลย เรารู้ตัวว่า เราเป็น Intersex ช้า การที่ไม่รู้ว่าเป็น Intersex คือ การที่เราถูกเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่ง ก่อนหน้านั้นคิดว่า เราเป็นมนุษย์ประหลาดที่มีอวัยวะประหลาด การที่เราเข้ามาทำงานตรงนี้เพื่อทำความรู้จักกับตัวเอง ใส่ใจตัวเองใส่ใจสุขภาพตัวเอง รู้จักตัวเอง และอยากให้คนที่กำลังรู้สึกว่า ตัวเองเเป็นคนที่มีอวัยวะประหลาดมาตลอดชีวิตได้รู้ว่า ตัวเองเป็นคนปกติคนหนึ่ง” 

ส่วนประเด็นทางกฎหมายคนที่เป็น Intersex มีกฎหมายรองรับบางอย่าง ซึ่งคน Intersex มีหลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เขาก็จะมองว่า เป็นเพศกำกวม ถึงขนาดได้รับสิทธิบัตรทองให้สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านาม เปลี่ยนเพศ โดยการที่มีข้อแม้ว่าแพทย์ต้องเป็นคนวินิจฉัยให้ว่า ควรจะเป็นเพศอะไร  ซึ่งเป็นการไม่เข้าใจคน Intersex อย่างแท้จริง 

แม้แต่แพทย์ก็ยังไม่เข้าใจและยังไม่ได้มองเห็นว่าคน Intersex มีใครบ้าง คน Intersex ที่ถูกรองรับด้วยกฎหมายก็ยังมีอุปสรรคอยู่เพราะว่าตอนเกิดมาทุกคนจะถูกกำหนดว่าควรจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง สูติบัตรก็จะมีเพียง 2 ช่อง คือชาย และหญิง แต่ในปัจจุบันมีการเพิ่มช่อง Intersex ขึ้นมา แต่ไม่ได้เป็นเอกภาพและไม่ได้ใช้ในทุกโรงพยาบาล มีบางโรงพยาบาลเท่านั้นที่มีช่อง Intersex ให้ระบุความหนักหนาตรงนี้ก็จะไปอยู่ที่แพทย์ถ้าแพทย์เจอทารกคนหนึ่ง ที่มีอวัยวะที่มองเห็นได้ชัดว่าไม่สามารถตัดสินใจได้ว่า จะเป็นชายหรือหญิงก็จะกลายเป็นความทุกข์ของแพทย์เองว่าจะเลือกระบุช่องไหนดี เพราะว่าเป็นภาระหน้าที่ๆ ต้องทำ 

ในหมู่คน Intersex  เองก็จะมีรูปแบบที่พบเจอในช่วงวัยเจริญพันธุ์แตกต่างกัน ถ้าคนๆ นั้นรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงและไม่อยากให้ร่างกายพัฒนาเป็นผู้ชายก็ต้องตัดอัณฑะออกและต้องใช้ฮอร์โมนเสริม ตรงนี้รัฐไม่ได้เข้ามาดูแล ต้องจ่ายค่าผ่าตัดและค่าฮอร์โมนทดแทนเองซึ่งต้องใช้ตลอดชีวิต ซึ่งคนกลุ่มนี้ยังไม่ถูกมองดูโดยรัฐ ในกฎหมายเขียนเพียงว่าคุณสามารถเปลี่ยนเพศได้ แต่ต้องผ่าตัดอวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งทิ้งไปเลย เป็นความไม่เข้าใจคน Intersex อย่างแท้จริง เป็นการถูกบังคับและถูกกดดันให้ต้องเลือก  

ชุมชน Intersex Thailand เริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2564 เพื่อพยายามบอกว่า Intersex  คือใครบ้าง เรานับใครบ้าง โดยที่เราไม่ไปชี้ว่าใครเป็น แต่เราจะให้ข้อมูลว่าลักษณะของ Intersex มีอะไรบ้างเพื่อให้คนที่ได้ฟังตรวจสอบตัวเอง การเป็นนักกิจกรรม Intersex มันมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่มากเพราะต้องเปิดเผยอวัยวะ เปิดเผยของลับในที่สาธารณะ พอต้องเปิดเผยของลับในที่สาธารณะทำให้ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ยุ่งยากและซับซ้อนสำหรับคนอื่น 

การที่ใครสักคนจะยอมรับตัวเองว่า เป็น Intersex หรือออกมาพูดว่า เป็น Intersex ในมุมหนึ่งมันถูกสังคมพูดถึงและหัวเราะ หรือมองว่า เรามีอวัยวะที่ประหลาด แปลกแตกต่างและอาจจะตั้งคำถามว่า โกหกหรือไม่ แม้จะมีกฎหมายสำหรับบุคคล Intersex บุคคลที่มีเพศกำกวม หรือมีกฎหมายสำหรับเพศทางชีววิทยาที่ไม่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่บางคนไม่ได้ถูกมองเห็นหรือนับรวม เขามองถึงการที่จะเปลี่ยนคำนำหน้านาม หรือการที่แพทย์จะผ่าตัดให้ตรงตามที่แพทย์ต้องการ แพทย์จะวินิจฉัยว่าอวัยวะไหนใช้ดีกว่า ควรจะมีอวัยวะนี้เท่านั้น เราต้องก้าวเข้าสู่การทำความเข้าใจกับแพทย์ ซึ่งการทำความเข้าใจกับแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักชีววิทยานั้น เป็นสิ่งที่ปวดหัวมาก  

“เราพยายามที่จะบอกว่า อย่ากดดันเรา อย่าบอกว่าเราเป็นเพศอะไร บนเนื้อตัวร่างกายเรา ซึ่งเรามีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะบอกว่า จะเอาอวัยวะอันไหนของเราไว้และจะเอาอวัยวะอันไหนของเราออก”

คณาสิต พ่วงอำไพ ผู้แทนกลุ่ม Non-Binary Thailand 

การเข้ามาทำงานเรื่องความหลากหลายเริ่มต้นจากการที่รู้ตัวว่าเป็น Non-Binary ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ใหม่มากในสังคม รับรู้ตัวเองตั้งแต่ 7 ขวบ เราไม่ชอบเล่นกับเด็กผู้ชาย รู้ว่าตัวเองไม่ใช่และปฏิเสธความเป็นเด็กผู้ชายของตัวเอง เราก็ไปเล่นกับเด็กผู้หญิง เพราะมีอยู่แค่ 2 เพศในตอนนั้น แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่า อยากจะเป็นเด็กผู้หญิงตั้งแต่ตอน 7 ขวบ จำความได้ก็รู้แล้วว่า ตัวเองเป็น Non-Binary Thailand คือ คนที่ไม่ได้มีความรับรู้ภายในว่า ตัวเองเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง 

แม้ว่าเราจะมีเพศที่ถูกกำหนดโดยรัฐ โดยหมอที่ไม่รู้จักมองเห็นอวัยวะเพศของเราแล้วก็ตัดสินใจแทนเราว่า ให้เราเป็นเด็กผู้ชาย คิดว่ากระบวนการตรงนี้ในอนาคตมันจะต้องมีการพูดคุยกันใหม่ที่จะให้ใครไม่รู้มากำหนดเพศให้กับเราตั้งแต่เกิด โดยที่ไม่ได้ถามความต้องการตัวตนของเราด้วยซ้ำมันถูกต้องหรือไม่ 

บรรยากาศ Isaan Pride ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ภาพโดย สุมาวดี โพคะรัตน์ศิริ

คำว่า Non-Binary ยังมีปัญหาคือสังคมไม่เข้าใจ มันเป็นอัตลักษณ์ที่ใหม่ คนที่เป็น Non-Binary จะมีเพศที่ถูกกำหนดตอนเกิดเป็นแบบใดก็ได้ แต่จุดร่วมของเราคือความรับรู้ภายในว่าเราไม่ใช่ผู้ชายหรือผู้หญิง พอสังคมไม่เข้าใจเขาก็มองไม่เห็นตัวตนของเรา พอไม่เห็นตัวตนจึงไม่สนใจและไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชน Non-Binary ว่ามีอะไรบ้าง เราเหมือนคนที่ไร้ตัวตน ไร้ตัวตนในสังคมไม่พอ ยังไร้ตัวตนในชุมชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ  

เราเติบโตมาในสังคมที่เป็นระบบ 2 เพศ ชายเป็นใหญ่ รู้แค่ว่า มีเพศ ชาย หญิง พอใครที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานที่สังคมพูดเอาไว้ ก็เกิดการไม่ยอมรับ พ่อแม่ก็จะกังวลว่า ถ้าลูกเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศจะถูกล้อเลียน ชีวิตจะไม่ประสบความสำเร็จ จะไม่สามารถเติบโตไปอย่างมีคุณภาพได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากทั้งสังคมและกฎหมาย 

“สิทธิในการกำหนดเพศมันเป็นสิทธิมนุษยชน ทุกคนมีสิทธิที่จะเรียกตัวเองว่าอะไร เป็นสิทธิที่เรามีอยู่ตั้งแต่เกิด เพียงแต่สังคมบอกว่าเราว่ามันมีมาตรฐานอยู่ชุดหนึ่งที่เรียกว่าระบบ 2 เพศ ชาย หญิง กดทับเราอยู่ตลอดเวลา” 

กฎหมายที่กำลังต่อสู้กันอยู่ทุกวันนี้ ทั้งเรื่องการสมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยหลักการจะพูดถึงการให้สิทธิกับคนรักเพศเดียวกัน คือ คู่ชาย-ชาย  หญิง-หญิง การที่ พ.ร.บ.คู่ชีวิตให้สิทธิเป็นคู่เพศเดียวกัน มีปัญหาเกิดขึ้นกับ Non-Binary แน่นอน คือ 1.การใช้เพศเดียวกัน หรือรักต่างเพศกับ Non-Binary มันใช้ไม่ได้ 2.ในกรณีคนข้ามเพศ กฎหมายเดิมไม่มีการรับรองเรื่องอัตลักษณ์แต่งงานได้เฉพาะชาย หญิง ตรงเพศ พอกฎหมายคู่ชีวิตมาให้สิทธิระหว่างชายตรงเพศแต่งกับชายตรงเพศ และหญิงตรงเพศแต่งกับหญิงตรงเพศ คนข้ามเพศ ผู้หญิงข้ามเพศจะแต่งงานกับผู้ชายข้ามเพศ เขาจะต้องถูกลิดรอน ถูกปฏิเสธตัวตนให้กลายเป็นผู้ชายคนหนึ่งจึงจะแต่งได้ในฐานะคู่ชาย-ชาย ตาม พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่เราต้องสู้เพื่อให้ได้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพื่อเปลี่ยนคำว่าชาย-หญิง ให้เป็นบุคคลกับบุคคล เพราะมันเห็นหัวคนที่เป็นคนข้ามเพศ Non-Binary และ Intersex  

“เป็นหลักใจความสำคัญว่า กฎหมายตัวนี้จะไม่ทอดทิ้งพวกเราและจะเคารพเราในฐานะที่เราเป็นคน เคารพผู้หญิงข้ามเพศที่แต่งงานกับผู้ชาย เคารพ Non-Binary ที่แต่งงานกับ Non-Binary ในฐานะที่ตัวเราเป็นเรา ไม่ใช่ถูกบังคับให้เป็นตามเพศที่ถูกกำหนดตอนเกิดโดยรัฐ ใครก็ไม่รู้ ซึ่งไม่รู้ว่ามีอำนาจมาตัดสินแทนเราได้อย่างไร”

image_pdfimage_print