“ครูตะวัน” กลุ่มครูข้างถนน ติดตามความเคลื่อนไหวของคนไร้บ้านเมืองอุดรธานีมากว่า 30 ปี โดยเขาพบว่า ระหว่างโควิดมีคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้บางครอบครัวเลือกศาลาในสวนสาธารณะเป็น “บ้าน” เพื่อเลี้ยงดูลูกน้อยในวัยกำลังเติบใหญ่ 

อรณิภา สู้ณรงค์ เรื่องและภาพ

ใจกลางเมืองจังหวัดอุดรธานีเป็นอีกหนึ่งแห่งที่มากไปด้วยความเจริญ แสง สี ผู้คนหลายหลากที่หลั่งไหลเข้ามา 

ที่แห่งนี้มีสถานที่สวยงามมากมาย เมื่อก้าวเท้าไปตามถนนในระยะไม่กี่ร้อยเมตรคงสรรหารับประทานได้อย่างดาย 

นอกเหนือจากอาหารที่เพียงไม่กี่อึดใจก็พบได้ แต่มีอีกหนึ่งสิ่งที่เพิ่มพูนไม่แพ้ความเจริญนั่นคือ คนไร้บ้าน คนเร่ร่อน และคนจนเมือง ที่พบเห็นได้ทั่วไปและมีแนวโน้มที่มากขึ้นเรื่อยๆ 

จากการสำรวจของกลุ่มครูข้างถนนพบว่า ในเขตเทศบาลเมือง มีคนไร้บ้านหรือคนจนเมืองมากถึง 80 คนโดยประมาณ  

บางคนก้าวขาออกจากบ้านมาเพียงตัวคนเดียว บางคนเป็นคู่สามีภรรยา แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือมาเป็นครอบครัว พวกเขามักอาศัยตามสถานที่สาธารณะต่างๆ อย่าง วัด สวนสาธารณะ 

ช่วงกลางวันที่อากาศร้อนระอุ คนทั่วไปคงรู้สึกหงุดหงิดใจกับการต้องออกมานอกบ้าน แต่คนไร้บ้านเหล่านี้ไม่มีบ้านให้กลับหรืออาจจะเป็นบ้านที่ไม่สามารถกลับได้ จึงทำได้เพียงอาศัยร่มไม้หรือศาลาสาธารณะหลบแดดคลายความร้อน 

หากวันใดที่มีฝนก็อาจจะลำบากในการหาที่หลบมากขึ้นไปอีก บางคนอาจมีเงินพอให้เช่าห้องราคาถูก แต่ไม่มีกำลังจ่ายได้ในระยะยาวทำให้ตัดสินใจเป็นคนไร้ที่อยู่ 

ในเมืองที่มากไปด้วยความเจริญมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายแต่คนไร้บ้านหรือคนจนเมืองกลับมีทางเลือกไม่มากนัก

ยามเย็นครอบครัวของคนไร้บ้านอาศัยศาลาในสวนสาธารณะเป็นสถานที่พักกาย

โควิดผลักชีวิตให้เป็นคนไร้บ้าน 

ก้าวแรกของการเป็นคนไร้บ้านมาจากหลายปัจจัย เช่น ความไม่พร้อมของสถาบันครอบครัวและปัจจัยด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงที่โควิดระบาด ครอบครัวของนุ่น (นามสมมุติ) ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้เธอต้องขนของออกจากบ้านด้วยปัญหาที่อธิบายไม่ได้ และกลายเป็นคนไร้บ้าน 

นุ่นมีลูกคนโตวัย 7 ขวบ เป็นเด็กผู้ชายวัยกำลังซน และเด็กเล็กอีก 2 คนที่อายุไล่เลี่ยกัน  

หญิงสาวออกมาจากบ้านเพื่อเผชิญโชค พร้อมกับสามีเพื่อใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในเมืองอุดรมา 3-4 ปีแล้ว 

นุ่นมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ส่วนสามีทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง 

ช่วงกลางวันเธอจะทำงานที่วัดเพื่อแลกข้าวและอาหาร พร้อมกับอาศัยพื้นที่วัดเป็นสถานที่ซักตากเสื้อผ้า 

ส่วนเด็กๆ พอเลิกเรียนพวกเขาก็จะวิ่งเล่นในสวนสาธารณะเพื่อรอพ่อแม่ กระทั่งพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน นุ่นและสามีจึงเดินออกมาจากวัด พร้อมกับหอบหิ้วถุงพลาสติกบรรจุเสื้อผ้าและเครื่องนอนมาที่ศาลาของสวนสาธารณะที่อยู่ข้างๆ เพื่อเป็นสถานที่หลับนอน

นุ่น สามี และลูกๆ 3 คนอาศัยศาลาในสวนสาธารณะเป็นสถานที่หลับนอนในช่วงเย็น 

ศาลาในสวนแหล่งพักของคนไร้บ้าน 

ในขณะที่ผู้คนออกมาสวนสาธารณะเพื่อออกกำลังกาย แต่ครอบครัวนี้ต้องวุ่นกับการทำอาหารเย็น และเตรียมที่หลับที่นอนในศาลาของสวนสาธารณะแห่งนั้น 

กิจวัตรประจำวันของคนไร้บ้านครอบครัวนี้ของนุ่นอยู่ในสายตาของ “ครูตะวัน”  หรือ เพชรสยาม เจนหัตถ์นามเสนา อาสาสมัครกลุ่มครูข้างถนนวัย 56 ปีที่เป็นติดตามช่วยเหลือคนไร้บ้านในจังหวัดอุดรธานีมากว่า 30 ปี 

เย็นวันนี้เขามีขนมติดไม้ติดมือมาแจกเด็กๆ เหมือนเช่นเคย ระหว่างที่นุ่นกำลังวุ่นกับการดูแลเด็กๆ สามีของนุ่นก็ติดไฟเตาถ่านเพื่อเตรียมทำอาหารกับกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน 4-5 คน 

ในขณะที่คู่สามีภรรยากำลังวุ่นกับกิจวัตรประจำวันในช่วงยามเย็น สามีภรรยานักวิ่งคู่หนึ่งที่ออกกำลังกาย แล้ววิ่งผ่านก็มองพวกเขาด้วยสายตาแปลกแปล่ง 

“ชีวิตของครอบครัวนุ่นก็คงวนเวียนอย่างนี้จนกว่าจะเก็บเงินได้สักก้อนพอที่จะได้เช่าห้อง แล้วสร้างครอบครัวขึ้นมาใหม่”นุ่นพูดด้วยน้ำเศร้าสร้อย 

ครูตะวันลงพื้นที่เยี่ยมเยือนครอบครัวของเจ้ย ที่เคยเป็นคนไร้บ้านในห้องเช่าแห่งหนึ่ง จ.อุดรธานี 

4 ชีวิตในห้องเช่าขนาดเท่าห้องเก็บของ

ส่วนอีกด้านของเมืองอุดร ครอบครัวของเจ้ย (นามสมมุติ) อาศัยอยู่ในห้องเช่าราคาถูกเพื่อเลี้ยงดูลูกอ่อนวัย 7 เดือน และ 3 ขวบ 

เจ้ยมีภูมิลำเนาจากโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เธอเล่าว่า ก่อนหน้านี้อาศัยอยู่ที่ริมถนนใกล้ๆ ห้างสรรพสินค้าก่อนจะตัดสินใจว่าเช่าห้องราคาถูก 

ห้องเช่าที่เจ้ยและครอบครัวอาศัยอยู่เป็นห้องขนาดไม่เกิน 20 ตร.ม.ไม่มีหน้าต่าง สิ่งของถูกวางกองระเกะระกะเกือบทุกตารางนิ้ว แต่สำหรับเธอและลูกน้อยถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุดแล้ว 

“ที่ต้องออกมาเป็นคนไร้บ้าน เพราะพ่อและแม่แยกทางกันและไม่มีเครือญาติที่สามารถพึ่งพาอาศัยได้จึงออกมาเป็นคนไร้บ้าน”เธอกล่าวพร้อมกับหอบหิ้วลูกข้างเอว 

สามีของเจ้ยติดสารเสพติดและมีประวัติเข้าเรือนจำบ่อยครั้ง จึงไม่มีเสาหลักของครอบครัว โดยปกติแล้วเธอและลูกๆ จะอาศัยอาหารจากวัดในละแวกใกล้เคียงกับห้องเช่า เมื่อแฟนพ้นโทษจึงได้กลับมาใช้ชีวิตฉันสามีภรรยาร่วมกันอีกครั้ง 

เธอเคยได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องแยกกับลูกทำให้ปฏิเสธการช่วยเหลือ 

เพชรสยาม เจนหัตถ์นามเสนา หรือครูตะวัน อาสาสมัครกลุ่มครูข้างถนน จ.อุดรธานี

“ครูตะวัน” กับคนไร้บ้าน 

ระหว่างครูตะวันลงพื้นที่พูดคุยกับเจ้ยอยู่นั้น ลูกชายวัย 3 ขวบได้ดื่มน้ำมันในขวดที่วางรวมอยู่กับของหน้าห้องเช่าไปอึกใหญ่ โดยที่ไม่มีใครทราบว่านั้นเป็นน้ำมันที่ใช้เต็มรถมอเตอร์ไซด์กระทั่งเด็กชายวัยสามขวบร้องไห้ด้วยอาการทุรนทุราย 

แม้ทีมงานและครูตะวันจะเกลี้ยกล่อมให้เธอพาลูกไปโรงพยาบาล เพราะกลัวว่าจะเกิดอันตรายกับเด็ก แต่เจ้ยปฏิเสธและบอกว่า 

“ไม่เป็นไรเดี๋ยวให้กินนมเปรี้ยวก็อ้วกออกมา เดี๋ยวก็ดีขึ้นแล้ว”เธอบอกพร้อมกับยิ้มเฝื่อนๆ 

ครูตะวันอธิบายภายหลังว่า คนไร้บ้านหรือกลุ่มเปราะบางส่วนใหญ่มักปฏิเสธที่จะเข้ารับการรักษา แม้จะเจ็บป่วยก็ตาม

“ครูมองว่า การที่คนไร้บ้านกลัวโรงพยาบาล แต่ไม่กลัวสถานีตำรวจอันนี้มันก็น่าสงสัยอยู่นะว่าทำไม ครูคิดว่า บางทีคนไร้บ้านไม่มีเงินติดตัวมากนัก ถ้าไปรับยาหรือรับการรักษาครั้งหนึ่งต้องใช้เงินในจำนวนที่มาก เขาเลยไม่กล้าที่จะไป และปล่อยให้มันหายเองหรืออยู่แบบตามมีตามเกิด”ครูตะวันสรุป 

โควิดกับคนไร้บ้าน

จากการสำรวจของ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา และคณะวิจัย เมื่อปี พ.ศ. 2563 คนไร้บ้านครึ่งหนึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด ส่วนใหญ่เป็นปัญหาปากท้องโดยเฉพาะมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาทำให้คนไร้บ้านขาดรายได้เนื่องจากไม่สามารถออกนอกเคหะสถานในยามค่ำคืน ไม่มีเวลาไปเก็บของเก่าขาย เวลาทำมาหากินก็น้อยลงตามไปด้วย

อาสาคนหนึ่งในกลุ่มครูข้างถนนสะท้อนว่า การช่วยเหลือคนไร้บ้านในช่วงวิกฤตโควิดเป็นไปได้อย่างยากลำบาก โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ค่อนข้างเลวร้าย  

ครูตะวัน เป็นอาสาสมัครที่ทุ่มเทติดตามดูแลคนไร้บ้านและคนจนเมืองมาเกือบครึ่งชีวิต โดยมีหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐท้องถิ่นกับผู้ต้องการความช่วยเหลือ

บ่อยครั้งเขาเป็นตัวแทนในการประชุมระดับเทศบาลและจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาของคนไร้บ้านหรือคนจนเมือง 

ครูตะวัน เล่าว่า การแก้ไขปัญหาของคนไร้บ้านปฏิเสธไม่ได้ว่า รูปธรรมต้องอาศัยกำลังจากรัฐท้องถิ่นเป็นหลัก เพราะมีทั้งอำนาจและทรัพยากรที่มากกว่า ส่วนภาคประชาชนมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ ที่มากกว่า 

“ปัญหาของรัฐราชการท้องถิ่นตอนนี้ คือ การที่ไม่ได้มองคนไร้บ้านให้มีศักดิ์ศรีเท่ากับคนทั่วไป มองคนไร้บ้านเป็นสิ่งที่ต้องจัดการและกันออกไปให้ไกลสายตาจากชาวเมือง แต่การแก้ปัญหาแบบนี้เป็นการแก้ที่ไม่ยั่งยืน คนไร้บ้านหลายรายไม่อยากไปอยู่อาศัยที่ศูนย์พักพิงเพราะไม่มีพื้นที่ทางจิตใจให้กับเขา อีกทั้งยังมีเงื่อนไขมากมาย” เพชรสยามอธิบายจากประสบการณ์ลงพื้นที่ช่วยเหลือคนไร้บ้านและคนจนเมือง 

“พุ” หนึ่งในคนไร้บ้านเล่าว่า ไม่อยากไปอยู่ศูนย์พักพิง เนื่องจากไม่มีอิสระ อีกทั้งมีกฎกติกาที่ต้องปฏิบัติตามค่อนข้างมากทำให้อึดอัด 

“อยู่ข้างนอกอยากทำอะไรก็ได้ทำ อยากกินตอนไหนก็แค่ออกไปหากิน”เขาเล่าประสบการณ์ตรง 

สร้างบุญหรือส่งต่อปัญหา

ครูตะวันบอกว่า ที่ผ่านมามีการช่วยเหลือคนไร้บ้านหรือคนจนเมืองจากบุคคลทั่วไป ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่อยากให้ทุกคนที่ให้ความช่วยเหลืออย่างมีสติ 

“การช่วยเหลือไม่ควรเป็นแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ต้องมองถึงการให้แบบยั่งยืนให้โอกาสเขาในการสร้างตัวใหม่ ให้เขามีรายได้ที่มั่นคง เพราะไม่งั้นเราจะสร้างความเคยชินให้กับคนไร้บ้าน เช่น ถ้าเราให้อย่างเดียว แต่ไม่สร้างชุดความคิดให้เขาว่า ต้องทำงาน ต้องหารายได้ด้วยตนเองก็จะสร้างความเคยชินให้กับคนไร้บ้าน”ครูตะวันเล่าจากประสบการณ์

เขายังมองอีกว่า คนไทยเมืองพุทธที่ชอบช่วยเหลือบุคคลอื่นอยู่เสมอ เพราะทำแล้วสบายใจได้บุญ มีความสุข แต่อาจหลงลืมว่า การสร้างค่านิยมใหม่ๆให้กับคนไร้บ้าน อาจผลกระทบต่อไปอีกกว้างโดยที่ผู้ทำเองไม่รู้ตัว

“ไม่อยากให้มองคนไร้บ้านเป็นคนที่มีสิทธิพิเศษหรือด้อยกว่า อยากให้มองคนไร้บ้านเป็นเหมือนคนทั่วไป อยากให้มองดูที่การกระทำมากกว่า เพราะคนไร้บ้านส่วนมากไม่ใช่คนที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง เป็นคนจากต่างอำเภอที่มาหาโอกาสในตัวเมืองหารายได้ในตัวเมือง ทำให้ถูกคนเมืองมองด้วยสายตาที่ด้อยค่า ทำให้คนไร้บ้านรู้สึกไม่ดีจึงพยายามที่จะหลบสายตาคนเมือง”เป็นข้อสังเกตที่อาสาสมัครที่คลุกคลีกับคนไร้บ้านมากว่าสามทศวรรษสรุป 

หน่วยงานท้องถิ่นกับคนไร้บ้าน

จังหวัดอุดรธานีมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักกับคนไร้บ้านอยู่ไม่มากนัก เช่น ศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน พัฒนาสังคมจังหวัด ฯลฯ ช่วงโควิดที่ผ่านมารัฐได้ช่วยเหลือคนไร้บ้านบ้างแ ต่ไม่สามารถครอบคลุมกลุ่มคนไร้บ้านได้ทั้งหมด 

มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่สำคัญของภาครัฐ คือ โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ที่ให้เงินช่วยเหลือแรงงาน นอกระบบผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ ทั้งนี้ คนไร้บ้านเพียงร้อยละ 20.14 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือ                                                                                                           

จากประสบการณ์ของเพชรสยามพบว่า การช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านมามักมองคนไร้บ้านเป็นคนอื่น เช่น การที่เทศกิจมาบอกให้คนไร้บ้านออกไปอยู่รอบนอกของเมือง พยายามพลักดันทำให้สวนสาธารณะปลอดคนไร้บ้าน เป็นต้น 

“เขาก็มีสิทธิ์ที่จะอยู่ในเมืองเหมือนกันกับทุกคน ต้องเข้าใจว่า คนไร้บ้านไม่มีบ้านจึงอาศัยพื้นที่สาธารณะของจังหวัด จริงๆ แล้วรัฐต้องจัดสวัสดิการให้กับคนไร้บ้าน ต้องให้การต้อนรับเหมือนแขกบ้านแขกเมือง แต่คนไร้บ้านที่เป็นคนอุดรแท้ๆ กลับถูกปฏิบัติที่แตกต่าง”ครูตะวันตั้งคำถาม  

ประสบการณ์ทำงานมากว่า 30 ปีทำให้อาสาสมัครคนนี้ถอดบทเรียนว่า คนไร้บ้านเมืองอุดรควรถูกมองเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเท่ากับทุกคน 

“อย่ามองเขาเป็นพลเมืองอีกชั้นและคนเมืองอย่าพยายามปลูกบางสิ่งบางอย่างที่เป็นการตอกย้ำคนไร้บ้านให้ตกต่ำไปเรื่อยๆ” ครูตะวันกล่าวสรุป  

image_pdfimage_print