ระบบปิตาธิปไตยหรือระบบชายเป็นใหญ่ เมื่อผสมกับระบบโซตัสแล้ว ถือเป็นการเพิ่มอำนาจนิยมอย่างยากจะพรรณา แม้ตอนนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งจะลดความรุนแรงในการรับน้องที่อยู่ในระบบโซตัสลง แต่ในสังคมที่ยังไม่เท่าเทียมก็ยังเห็นการละเมิดสิทธิกันทุกหัวระแหง 

รสิกา กลิ่นมาก กลุ่มเฟมินิสต์ปลาแอก เรื่อง

กระแสการยกเลิกระบอบโซตัสที่กดขี่มนุษยชนในปัจจุบันเป็นไปในทางบวก มีหลายคนที่ตระหนักรู้ มีมหาลัยวิทยาลัยและองค์กรจำนวนมากให้ความสำคัญกับการยกเลิกระบอบโซตัสมากขึ้น จึงเป็นเรื่องดีที่การตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของคนไทยแพร่หลายในยุคนี้ ไม่ทำร้ายคนรุ่นใหม่เหมือนแต่ก่อน

แม้ว่า จะรู้สิทธิของตัวเองและไม่เห็นด้วยกับการริดรอนสิทธิในระบอบโซตัสมากแค่ไหน แต่ในส่วนน้อยนิดนั้นเราก็ไม่เคยเห็นต้นตอปัญหา ต้นตอของรูปแบบการใช้อำนาจอย่าง ‘ปิตาธิปไตย’ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทำความรู้จัก ‘ปิตาธิปไตย’

ปิตาธิปไตย หรือ ระบบสังคมชายเป็นใหญ่นั้นมีมาตั้งแต่สมัยยุคโบราณและสอดแทรกอยู่ในทุกสถาบันของสังคมไทย ทั้งศาสนา การเมือง สังคม ประเพณี รวมถึงการบันทึกประวัติศาสตร์ที่มักจะนำเสนอบทบาทของเพศชายเด่น ส่วนเพศหญิงเป็นได้แค่ตัวรอง เพื่อให้การดำเนินเรื่องการแสดงออกถึงการมีวิสัยทัศน์ การแก้ไขปัญหา การเป็นผู้นำและการใช้อำนาจของเพศชายในแง่มุมต่างๆ 

‘อีวาผู้หญิงคนแรกของโลกที่เกิดจากซี่โครงของอดัมเพื่อเกิดมารับใช้อดัม’

‘ผู้หญิงในตอนแรกไม่มีสิทธิอยู่ในสภาและเลือกตั้งเหมือนผู้ชาย’

‘กบฏผีบุญอีสานไม่เคยพูดถึงผู้หญิงที่ต่อสู้ในยุคนั้น’

ฯลฯ

การต่อสู้ของผู้หญิงใน UK ก่อนได้รับสิทธิเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ.1920

แม้จะมีการต่อสู้หรือการดำเนินของเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อย่างไร แต่บันทึกของเรื่องราวที่นิยมแพร่หลายมักจะไม่กล่าวถึงบุคคลเพศหญิงเป็นหลักและให้ความสำคัญการเป็นผู้นำ ผู้มีอำนาจ ผู้อยู่เหนือกว่าสามารถจะควบคุมบังคับผู้อยู่ด้อยกว่ายังไงก็ได้ แม้จะไม่มีเหตุผล ซึ่งมากกว่าการใช้อำนาจร่วม (Power-sharing) ในเกือบทุกๆ เรื่อง

เพราะอย่างนั้นปิตาธิปไตยจึงเป็นโมเดลของการใช้อำนาจในทุกๆ เรื่อง ทั้งในครอบครัว สังคม กลุ่มคน และอำนาจระหว่างผู้โตกว่าเด็กกว่าอย่างโซตัส ในปัจจุบันระบบนี้ยังแพร่หลายอยู่ในทุกสถาบัน แถมยังฝังลึกไปในจิตสำนึกของคนจำนวนมาก 

ด้วยว่าประเทศไทยนั้นใช้การเคารพนับถืออ่อนน้อมถ่อมตนเป็นหลัก ทำให้ยังมีชนชั้นลำดับในเกือบทุกสังคม 

แม้ระบบปิตาธิปไตยจะถูกตระหนักรู้มากขึ้นในโลกแถบยุโรป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปิตาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียยังเป็นตัวควบคุมและขับเคลื่อนหลักของคนในสังคม อาทิ ประเทศจีนยังให้ความสำคัญกับการมีลูกผู้ชาย เพราะมีความเชื่อว่า ความเป็นผู้นำต้องมาก่อนและจะมีแต่เพศชายเท่านั้นที่ปกครองได้ตามหลักศาสนาหรือความเชื่อ เป็นต้น 

จึงเห็นได้ว่า สถาบันครอบครัวของชาวเอเชียมีขนบแบบแผนไปในแนวทางเดียวกันและชุดความคิดคล้ายกันอยู่ 

“โซตัส” ระบบที่ให้สิทธิแก่ผู้ที่มีอำนาจมากกว่า

โซตัส (SOTUS) เป็นระบบการรับน้องในสถาบันอุดมศึกษาอย่างหนึ่ง มาจากคำภาษาอังกฤษ 5 คำ ได้แก่ Seniority (ความอาวุโส) Order (ระเบียบ) Tradition (ประเพณี) Unity (ความสามัคคี) และ Spirit (จิตวิญญาณ หรืออาจจะแปลได้ว่าความมีน้ำใจ) อย่างไรก็ดีรุ่นพี่ในสถาบันเหล่านั้นมักตีความอย่างเดียวว่า รุ่นพี่ถูกเสมอ เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่การใช้อำนาจของรุ่นพี่ ระบบดังกล่าวทำให้เกิดเหตุการณ์อื้อฉาวระหว่างรับน้องถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตในเกือบทุกปี

ปัจจุบันโซตัสลามไปถึงระดับโรงเรียนมัธยมศึกษา แม้ในปัจจุบันจะลดความรุนแรงลง แต่ยังเห็นว่า มีกิจกรรมที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์อยู่

โซตัสเป็นระบบที่ตอกย้ำเรื่องลำดับชั้นทางสังคม ระบบอุปถัมภ์ การทำให้เชื่องและห้ามแตกต่าง ระบบโซตัสมีที่มาจากโรงเรียนประจำในประเทศอังกฤษ แล้วสถาปนาระบบอาวุโสในโรงเรียนฝึกข้าราชการด้วยการให้นักเรียนจำนวนหนึ่งช่วยครูดูแลนักเรียนด้วยกัน ต่อมามีการนำการ ‘ว้าก’ เข้ามาผสม แม้จะหยุดไปช่วงสั้นๆ ในพุทธทศวรรษ 2510 แต่กลับมาแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

เครดิตภาพ เพจระบบโซตัส

สันนิษฐานว่า ระบบโซตัสที่มาจากระบบอาวุโสของโรงเรียนประจำในอังกฤษนั้นได้เข้าสู่ไทยประมาณปี พ.ศ.2440 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศกำลังมีปฏิรูปการปกครอง คือ รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (Centralization) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ระบบอาวุโสถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปและถูกใช้ครั้งแรกเมื่อก่อตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยมีการตั้งตำแหน่ง “ดรุณาณัติ” (Fagging System) โดยจะมีการนำนักเรียนชั้นปีที่สูงกว่าจำนวนหนึ่งมาเป็นผู้ช่วยครูในการอบรมสั่งสอนและดูแลนักเรียนรุ่นน้อง ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกคนเหล่านี้ว่า ‘Fag–master’

ที่มาของการ “ว้าก” 

ในช่วงแรกยังไม่ได้เกิดการ “ว้าก” หากแต่การว้ากได้เกิดในยุคต่อมาในโรงเรียนป่าไม้แพร่ มีนักเรียนที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นต้นฉบับของการรับน้องรุนแรงเป็นผู้รับเอาวัฒนธรรมการว้ากมาใช้ในโรงเรียนป่าไม้แพร่ (ภายหลังก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้) 

การตีความของความหมายเริ่มเปลี่ยนแปลงโดยให้ค่ากับการกดดันรุ่นน้องโดยอ้างว่า เพื่อละลายพฤติกรรม แต่ที่จริงเป็นการสร้างสังคมอุปถัมภ์ โดยใช้ระบบโซตัสกับการกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) ในเรื่องของการเคารพอาวุโสอย่างไม่มีเหตุผล

ความนิยมของโซตัสหายไปช่วงหนึ่งเมื่อประมาณพุทธทศวรรษ 2510 เมื่อกระแสประชาธิปไตยขยายวงในหมู่นักศึกษา ต่อมาเกิดการปราบนักศึกษาครั้งใหญ่เมื่อปี 2519 ด้วยเหตุนี้รัฐอาจกังวลต่อความมั่งคงจึงมีการนำระบบการรับน้องด้วยโซตัสแบบมีการว้ากเข้ามาใช้อีกครั้ง เพื่อสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ให้นักศึกษาอยู่ในกรอบ และสืบทอดกันมาในปัจจุบัน

ระบบโซตัสและปิตาธิปไตยนั้น มีความเหมือนและคล้ายกันในหลายๆด้าน ทั้งการใช้อำนาจเหนือความเป็นอาวุโส การสร้างระเบียบวินัยบีบบังคับผู้ด้อยกว่าในอยู่ในกรอบทำตามข้อบังคับที่ผู้เหนือกว่ากำหนดไว้ (ปิตาธิปไตยมักจะสร้างข้อบังคับให้ผู้หญิงและผู้ชายในสังคมทำตามค่านิยมเช่นผู้หญิงต้องเป็นผู้อ่อนแอ ผู้ชายต้องเป็นผู้เข้มแข็ง) การสร้างข้อบังคับแบบสืบทอดต่อกัน (ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง แม่บ้านแม่เรือน ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า เป็นหัวหน้าครอบครัว) และการเสียสละในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง (ถ้าผู้หญิงแต่งงานเข้าเรือนแล้วต้องเลี้ยงดูลูก) เป็นต้น 

จากทั้งหมดที่กล่าวมานั้นทำให้สามารถเห็นภาพกว้างว่า โซตัสเป็นระบบปิตาธิปไตยหนึ่งที่เป็นการใช้อำนาจของผู้เหนือกว่าใช้กับผู้มีอำนาจด้อยกว่า ผ่านการเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องนั่นเอง

จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นว่า การจะสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมในแต่ละภูมิภาค ทุกสังคม ชนชั้น หรือแม้แต่ทุกเพศนั้น อาจเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันที อาจจะต้องใช้เวลานานหลายทศวรรษ แต่หากเรามีผู้ที่ตั้งใจร่ที่จะเปลี่ยนแปลงก็สามารถส่งต่อช่วยผลักดันให้กว้างไกลและสืบต่อไปจนมีสังคมที่เท่าเทียมกันได้ในอนาคตได้อย่างแน่นอน

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด 

image_pdfimage_print