ถ่ายภาพโดย วัฒนพล ผิวนวล

เวทีถกการปกครองท้องถิ่นอีสานในรอบ 2 ทศวรรษ ปลุกคนอีสาน-ต่างจังหวัดเข้มแข็ง หลังถูกปกครองมากว่า 125 ปี ส่วน “ส.ส.ก้าวไกล”ซัดรัฐประหารทำการกระจายอำนาจสะดุด แนะพรรคการเมืองชูนโยบายหาเสียงแบ่งงบส่วนกลางท้องถิ่น 50:50 เชื่อแก้ รธน.มาตรา 14 ปลดล็อกท้องถิ่นกระจายอำนาจ “ธีระพล อันมัย” เปรียบท้องถิ่นไทยถูกปกครองเหมือนเมืองขึ้นยันต้องช่วยกันเปลี่ยนรัฐบาล 

อุบลราชธานี – กลุ่มท้องถิ่นศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ The Isaan record มูลนิธิมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทย คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลฯ ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันจัดเสวนาทางวิชาการ “การปกครองท้องถิ่นอีสานในรอบ 2 ทศวรรษ” ภายใต้โครงการ 125 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย

ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลฯ 

กว่า 2 ทศวรรษมีการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง จริงๆ แล้วปัญหามันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่จากตัวรัฐเพียงอย่างเดียว แต่กลุ่มสนับสนุนผู้ใช้อำนาจรัฐในแต่ละห้วงเวลาก็มีการสร้างวาทกรรมต่างๆ ในหลายรูปแบบเพื่อที่จะชะลอการกระจายอำนาจ 

“เรามักได้ยินวาทกรรมที่ว่า การกระจายอำนาจนำไปสู่ปัญหาการทุจริต ถ้าเราดูในโครงสร้างการเมืองไทย มันก็มีปัญหาการทุจริตในส่วนกลางในหน่วยงานราชการอยู่แล้วค่อนข้างมากกว่าในระดับท้องถิ่นด้วยซ้ำ การสร้างวาทกรรมเหล่านี้ก็คือเป็นการส่งเสริมการคงอำนาจไว้อยู่ในโครงสร้างรัฐส่วนกลาง”

เมื่อดูวาทกรรมที่ต่อต้านการกระจายอำนาจตั้งแต่หลังการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา เราก็จะเห็นวาทกรรมชาตินิยมหรือการกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่นำไปสู่การแยกประเทศ เป็นต้น วาทกรรมเหล่านี้เป็นการลดทอนความสำคัญของกระบวนการการกระจายอำนาจที่ควรจะเป็น 

ถ้าดูกระแสโลกในหลายประเทศก็จะพูดถึงการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนอำนาจไปสู่ท้องถิ่น สะท้อนการให้ความสำคัญว่า ทำอย่างไรให้อำนาจในการปกครองไปอยู่ที่ประชาชน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นที่ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง 

ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 

ปีนี้เป็นปีสำคัญของการปกครองท้องถิ่นไทย เมื่อ 125 ปีที่แล้วในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จยุโรป และทรงเห็นการปกครองท้องถิ่นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และนำการปกครองท้องถิ่นนี้กลับมาสถาปนาสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ขึ้นเมื่อปี 2440 แต่มีความเข้าใจผิด คือ คิดแต่เพียงว่าเป็นการบริหารท้องถิ่นเพียงเพื่อที่จะแบ่งเบาภารกิจของรัฐบาลกลางเท่านั้น 

“ในความเป็นจริงการปกครองท้องถิ่นอันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย หมายถึงการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น ซึ่งมีความหมายสำคัญ คือ ต้องการให้ประชาชนในท้องถิ่นเรียนรู้ รับรู้ปัญหาของท้องถิ่นด้วยตัวเองและช่วยกันคิดปรึกษาหารือและหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ภายในท้องถิ่นของตนเอง”

ภาระหน้าที่หลักของรัฐบาลโดยทั่วไปในระบอบประชาธิปไตยมีเพียง 3 ข้อ คือ 1.การต่างประเทศ 2.กิจการป้องกันประเทศ 3.ระบบเงินตรา นอกจากนั้นแล้วท้องถิ่นสามารถจัดการได้หมด ซึ่งรัฐธรรมนูญของเยอรมันโดดเด่นที่สุดและระบุไว้ชัดเจนว่า ในบรรดาการดูแลพัฒนาปกครองดูแลบริหารประเทศทั้งปวง ถ้ามีเรื่องไหนที่ไม่ได้ระบุเอาไว้ท้องถิ่นสามารถจัดการได้หมด เขาใช้หลักการที่เรียกว่า หลักการที่เริ่มต้นจากท้องถิ่น หากกิจการใดเป็นเรื่องใหญ่ไม่ไหวก็ค่อยขยับขึ้น แต่ปรากฏว่าในประเทศของเรามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น 

เมื่อ 125 ปีมาแล้วหรือก่อนหน้านั้นประเทศไทยมีการสู้รบหลายครั้ง เช่น เคยสู้รบกับพม่าและเราก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าถึง 2 ครั้ง สถานการณ์เมืองขึ้นได้ทำให้พม่าและภาคกลางของเรามีการแย่งยื้อกันระหว่างแรงงาน ประชาชนกันไปมาทำให้ภาคเหนือของเราที่เรียกว่า ล้านนาถูกกวาดต้อนอพยพไปจำนวนมากจึงเชิญหรือกวาดต้อนประชาชนจากเชียงตุง เชียงรุ้ง หรือสิบสองปันนาและเมืองต่างๆ ในรัฐฉาน เข้ามาอยู่ในภาคเหนือ ภาคอีสานก็เช่นกันหลังเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ทำให้เกิดการอพยพโยกย้ายประชาชนจำนวนไม่น้อยจากฝั่งเวียงจันทน์ข้ามมาอยู่ภาคอีสาน หลังจากนั้นจึงเกิดความรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงในรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ว่าต้องรวมศูนย์การปกครองไว้ที่กรุงเทพฯ ให้มากๆ 

ตั้งแต่ปี 2440 ที่เรามีการสถาปนาการปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งแรก ต่อมาคณะราษฎรสถาปนาระบบเทศบาลขึ้นเมื่อปี 2476 จากนั้นเมื่อปี 2495 เกิดสุขาภิบาลขึ้นอีกครั้งในระดับตำบลและมีการสถาปนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดขึ้นเมื่อปี 2498 การปกครองท้องถิ่นแต่ละระดับที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่ถูกอำนาจจากส่วนกลางเข้าควบคุมหมดผ่านการแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย 

ทั้งหมดนี้เพิ่งจะมาเปลี่ยนแปลงเมื่อช่วงปี 2542-2546 ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย องค์กรปกครองท้องถิ่นก็พัฒนาขึ้นในลักษณะมีศักดิ์ศรี มีบทบาทมากขึ้น นั่นคือ องค์กรปกครองท้องถิ่นทั้ง 3 ระดับ ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล อบจ. มีผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนโดยตรงและมีสมาชิกสภามาจากการเลือกตั้ง นี่คือลักษณะใกล้เคียงการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นมากขึ้น

แม้การปกครองท้องถิ่นไทยมีอายุถึง 125 ปีแล้ว แต่ก็ยังประสบปัญหาและจุดอ่อนหลายประการที่ต้องแก้ไข คือ 1. เรื่องเกี่ยวกับงบประมาณ ท้องถิ่นมีอยู่ 26 % ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2540 เคยตั้งความหวังไว้ว่า งบประมาณของ อปท. ควรจะสูงขึ้นไปถึง 35 % ในบางประเทศมีถึง 40-60% คือ ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท เขตเมืองต่างจังหวัด ประชาชนเหล่านี้เป็นคนเสียภาษีมากกว่า เขาควรได้รับเงิน รับงบประมาณจากรัฐบาลเอามาพัฒนาท้องถิ่นให้มากๆ 2.เกี่ยวกับเรื่องในการพิจารณาอนุมัติโครงการต่างๆ จนถึงเวลานี้ โครงการต่างๆ ของ อบต. อบจ. เทศบาลยังต้องผ่านการอนุมัติเห็นชอบจากหน่วยราชการภูมิภาคทั้งหมด ทั้งที่ท้องถิ่นควรตัดสินใจได้เอง 

“ผ่านมา 125 ปีแล้ว ถึงเวลาที่การปกครองท้องถิ่นของอีสาน และของทุกๆ จังหวัดทั่วประเทศจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น ผมเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญในเวลานี้ คือ ความคึกคัก กระตือรือร้น เร่าร้อน ที่กำลังเกิดขึ้นในการปกครองท้องถิ่นที่กรุงเทพฯ ผมก็หวังว่า ประเด็นที่ทุกคนทั่วประเทศมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่คึกคักเข้มแข็งที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ จะเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งที่เรานำมาถกกันว่า 125 ปีแล้ว ตอนนี้ได้เวลาอันสมควรหรือยังที่เราจะกลับมาศึกษา จุดเข็ง จุดอ่อน ปัญหา อุปสรรคการปกครองท้องถิ่นของเราว่า สมควรที่จะก้าวหน้าพัฒนาต่อไปในรูปใด” 

คำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถ่ายภาพโดย วัฒนพล ผิวนวล

ผลกระทบระดับชาติที่เกิดขึ้นต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ ถ้ามีรัฐประหารเกิดขึ้น มันจะส่งผลต่อตัวบทกฎหมายที่จะส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น อย่าว่าแต่ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นก็มีการนำนายอำเภอมาเป็นนายกเทศมนตรีในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเห็นว่า เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยเราก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นทุกครั้ง 

หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ก็มีข้อเรียกร้องให้มีการทลายรัฐราชการรวมศูนย์ โดยเรียกร้องให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด อย่างน้อยก็มีการเลือกตั้งนายกฯ อบต.และท้องถิ่นอื่นๆ แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับท้องถิ่นก็จะฝ่อและจำกัดอำนาจของท้องถิ่นลงทันที 

“เมื่อมีการรัฐประหารในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ่งฝ่อลงไปอีกเหลือเพียง 3-4 มาตรา บทบาทหน้าที่ของท้องถิ่นที่มีอยู่ถูกแช่แข็ง มีการใช้อำนาจคำสั่ง คสช. ให้ยุบหรือปลดและตั้งใครก็ไม่รู้เข้ามาทำหน้าที่แทน การเมืองระดับประเทศในเรื่องการรัฐประหารจึงมีผลอย่างรุนแรง ส่งผลร้ายแรงต่อการปกครองในระดับท้องถิ่น” 

ช่วงนี้มีการเคลื่อนไหวในการแก้รัฐธรรมนูญหมวด 14 ในการกระจายอำนาจทลายรัฐราชการรวมศูนย์ ผมคิดว่าพรรคการเมืองที่จะรณรงค์หาเสียงในอีก 7-8 เดือนข้างหน้า ทุกพรรคควรจะรณรงค์เรื่องการกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องจัดสรรงบประมาณส่วนกลางและท้องถิ่น 50:50 

ทั้งนี้ท้องถิ่นต้องลดการทำงานตามตามสั่งของส่วนกลางลงและเน้นทำตามโนบายที่ได้หาเสียงกับประชาชนไว้ เพื่อให้ชาวบ้านได้ตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ เชื่อว่า การแก้รัฐธรรมนูญหมวด 14 ในเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง หากมีการกระจายอำนาจเรื่องประวัติศาสตร์ผีบุญของชาวอุบลหรือจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานท้องถิ่นก็มีสิทธิที่จะจัดหลักสูตรเรียนรู้ได้ 

เครดิตภาพจาก คมชัดลึก

ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

ในช่วง คสช. มีอำนาจ ผลกระทบที่เกิดกับท้องถิ่นมองได้ 2 ประเด็น คือ ระยะเวลาที่ผู้บริหารท้องถิ่นรักษาการทำให้การพัฒนาช้าลง ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในเรื่องของการพัฒนาโครงการด้านต่างๆ เนื่องจากผู้บริหารท้องถิ่นที่รักษาการทำงานได้เฉพาะบางส่วน การพัฒนาแบบก้าวกระโดดหรือเชิงลึกไม่สามารถดำเนินการได้ 

“ท้องถิ่นจึงเกิดผลกระทบในเรื่องการพัฒนาล่าช้า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ครอบคลุม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เป็นไปตามทิศทางที่กำหนด” 

อ.ธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี 

ปัญหาใหญ่ของท้องถิ่นเป็นระบบราชการของกระทรวงมหาดไทยมาครอบไว้อีกทีหนึ่ง ต่อเนื่องจากรัฐประหารและนำไปสู่การแช่แข็งการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2557 และเราเพิ่งได้เลือกตั้งท้องถิ่นมาเมื่อไม่นานมานี้ ปัญหาใหญ่ของการปกครองท้องถิ่นของประเทศนี้ 

“ประเทศนี้ถูกปกครองเหมือนมีเจ้าอาณานิคม รัฐบาลท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งถูกกำกับถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลางที่เรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ นี่คือกลไกของส่วนกลางที่มาควบคุมการทำงานของท้องถิ่น จึงทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายบางอย่างมันเป็นไปได้อย่างไม่อิสระ”

เรามีนายกเทศมนตรี นายกฯ อบจ.ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การตัดสินใจทุกอย่างมันต้องผ่านการเห็นชอบจากผู้ว่าฯ เหมือนเรามี ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งแต่ในที่สุดมันก็มี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ผู้ว่าฯ นายอำเภอมันเหมือน ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง แต่พอมาถึงในระดับท้องถิ่นตนว่ามันคือรัฐซ้อนรัฐที่ทำให้เราเห็นอะไรได้ไม่เต็มตา 

สิ่งแรกที่ท้าทายมาก คือ การเลือกตั้งครั้งหน้าเราจะเปลี่ยนรัฐบาลได้หรือไม่ ถ้ายังเป็นประยุทธ์อยู่สิ่งที่เราพูดมามันก็เป็นฝันกลางวัน ถ้าคุณเปลี่ยนจากประยุทธ์ เป็นประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ชีวิตคุณก็คงอยู่กับประยุทธ์ไปตั้งแต่ประถมจนเรียนจบก็ยังอยู่กับประยุทธ์ ประวิตร และวิษณุต่อไป 

“นี่คือความท้าทายของประเทศนี้ ถ้าคุณยังอยู่กับรัฐบาลประยุทธ์ต่อไป ซึ่งก็มีแนวโน้มเพราะมี 250 ส.ว.พร้อมจะยกมือให้อยู่แล้ว และยังมีสูตรคำนวณ ส.ส. หาร 500 อีก เราก็จะมีรัฐบาล 500 ชุดนี้ต่อไปอีก ถ้าคุณเปลี่ยนไม่ได้นโยบายเรื่องความฝันการกระจายอำนาจก็อย่าฝันเลย รัฐธรรมนูญก็แก้ไม่ได้” 

เมื่อได้เห็นการทำงานของชัชชาติแล้วรู้สึกอยากถามว่า เมื่อไรเราจะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ความท้าทาย คือ ถ้าเลือกผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดพร้อมกันมันคงยาก ซึ่งมีเคยมีนักวิชาการเสนอว่า ต้องเลือกบางจังหวัดก่อนเป็นจังหวัดนำร่อง เป็นจังหวัดที่มีความพร้อม ซึ่งทั้งประชาชนอีสานและทั้งประเทศพร้อมมาก แต่ว่าก็ต้องดูบางจังหวัดที่มีมาเฟียท้องถิ่นก็จะเป็นปัญหาเหมือนกัน จึงต้องเลือกจากจังหวัดที่ผู้ลงสมัครและประชาชนในพื้นที่มีความแอคทีฟด้วย 

image_pdfimage_print