“คนอยู่ที่ไหนก็เป็นคนที่นั่น” แต่ความหวาดระแวงทำให้คนบางคนมองมนุษย์ไม่เป็นคนเท่ากัน เรื่องสั้น “ประชากรแฝงในโรตีแกง” จึงเป็นบทสนทนาที่บาดลึกลงไปในความเป็นปัจจุบันที่แบ่งแยกชนชั้น วรรณะ เชื้อชาติ แม้นับถือศาสนาเดียวกันก็ตาม 

ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง เรื่อง

 เย็นนี้ฟ้าครึ้มคล้ายจะมีฝน ผมกับพ่อนั่งรอการมาถึงของโกโก้เย็นสองแก้ว ในร้านน้ำชาริมคลองแสนแสบ เราเลือกนั่งโต๊ะบนทางเดิน ติดกับรั้วกั้น ฝั่งตรงข้ามเป็นท่าเรือ ผู้โดยสารยืนรอกันหนาตา เรือเที่ยวไป – กลับ แล่นสวนกันหลายรอบ พรายฟองสีขาวกระจัดกระจายเต็มคลอง เรือโยกโยนอยู่บนริ้วคลื่นสีคล้ำ นึกถึงสายแดดที่แผดกล้าเมื่อบ่าย ตอนนี้มอดลงแล้ว

“ไม่เห็นสกปรกเหมือนที่เขาบอกเลย พ่อนึกว่าจะแย่กว่านี้” สายตาพ่อทอดมองคลองแสนแสบ

 “ผมบอกแล้วว่า ไม่ได้เหม็นขนาดนั้น ผมชอบมาเดินเล่นริมคลอง” ผมรินชาใส่ถ้วยของพ่อและของตัวเอง ก่อนจะจิบคนละอึกสองอึก พ่อมาเยี่ยมผมในรอบสามปี เพราะผมไม่ได้กลับบ้านที่พัทลุงบ่อยนัก

ผมมองไปฝั่งตรงข้าม ทางเดินริมคลองแคบเกินกว่าจะเดินเคียงกัน ภาพที่เห็นตรงหน้าจึงเหมือนมดดำเดินเรียงแถวขึ้นต้นไม้ หลังท่าเรือเป็นหอพักเก่า ตัวอาคารสีหลุดลอกล่อน ระเบียงขนาดเล็กแทบจะตากผ้าไม่พอ ผู้คนแถบนี้คงมีเสียงเรือโดยสารปลุกตอนเที่ยวแรกและเสียงกล่อมนอนยามค่ำคืนของเรือเที่ยวสุดท้าย

รอไม่นานนักโรตีแกงหรือ มะตะบะ พร้อมด้วยโกโก้เย็นยกมาเสิร์ฟด้วยชายหนุ่มที่ผมจับสำเนียงและแววตาได้ว่า มาจากฝั่งมาเลเซีย ผมกับพ่อดูดคนละสองสามอึก จิ้มโรตีแกงใส่ปากแล้วเคี้ยวหยับๆ จนน้ำแกงสีมันฝรั่งเลอะขอบปากและลานแก้ม

พนักงานเสิร์ฟคนนั้นดูมีอายุ ใบหน้ากร้านแดด จมูกงุ้ม ผมสีดอกแค หน้าผากยับย่น ดูไม่น่าใช่คนแถบนี้ พ่อชวนเขานั่งเก้าอี้หัวโต๊ะ ผมรินชาร้อนให้ เขายิ้มจนเห็นฟันหน้าผุเปื้อนคราบเหลือง แนะนำตัวว่า เป็นเจ้าของร้าน ก่อนจะเอ่ยถาม

“ที่บ้านฝนตกหม้ายครับ” คนบ้านเดียวกันกับผมนี่เอง เขาคงจับสำเนียงตอนผมพูดกับพ่อได้

“ตกหนักอย่างแรงครับที่พัทลุง บ้านพี่อยู่ไหนนิ?”

“ผมอยู่เมืองคอน แถวหัวไทร ที่มีกังหันลมยักษ์นั้นแหละ” พูดจบเขายกแก้วชาดื่มรวดเดียวจนหมด

“ผมเคยพาลูกไปดู ขับไปทางสะพานเอกชัยที่ทะเลน้อย กังหันลมใหญ่จริง ผมว่า ดีกว่าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนะ” พ่อรินชาใส่แก้วของเขา

“ใหญ่จริงครับ คืนไหนไม่ได้ยินเสียงกังหันลมแล้วนอนไม่หลับ” เขาทำเสียงกังหันลมด้วยปาก พลางโบกมือสองข้างไปมา ผมได้แต่หัวเราะในใจ เขาช่างมีอารมณ์ขันเสียจริงๆ

“ตอนที่เหมืองถ่านหินจะมาลงที่บ้าน พวกผมประท้วงกันใหญ่เลย มีแต่ตายกับตายถ้าเจอถ่านหิน โชคดีที่ได้กังหันลม แม้จะรำคาญหูบ้าง” เขาถอนหายใจพรั่งพรู คงสบายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

“ได้หลบบ้านบ้างไหมทำบุญเดือนสิบ”

 “ผมหลบตอนฮารีรายอครับ รายอเล็ก รายอใหญ่ นี่ก็เพิ่งได้กลับมาเปิดร้าน” เขาตอบด้วยน้ำเสียงที่เปลี่ยนไป

“อ๋อ โทษทีครับพี่บ่าว แล้วเปิดร้านมากี่ปีแล้ว” พ่อรีบเปลี่ยนประเด็นและรินชาร้อนให้เขาอย่างเบามือ

“เปิดมาสิบห้าปีแล้วครับ สมัยก่อนอยู่กันแบบพี่แบบน้อง สมัยนี้ต้องระวังตัวกันเอาเอง พวกเด็กเสิร์ฟในร้านก็ญาติๆ ผม แต่บางครั้งขาดคน ก็ต้องจ้างพวกสามจังหวัด หรือบางคนก็ข้ามมาจากฝั่งมาเลย์ เดี๋ยวนี้ประชากรแฝงมันเยอะ”

พูดจบเขาจิบชาจนหมดแก้ว ทอดสายตามองความมืดค่อยๆโรยตัวห่มคลุมลำคลอง แว่วเสียงละหมาดจากมัสยิดเยื้องสะพานข้ามคลองดังมาตามสายลม เราทั้งสามเหมือนหมดเรื่องจะคุย ต่างรวมสายตาไว้ที่พื้นผิวของลำคลอง ผมมองเงาสะท้อนจากดวงจันทร์ถูกฉีกเป็นริ้วๆ ด้วยลำเรือ

“ประชากรแฝงคืออะไรหรือครับ?” ผมเอ่ยถามหลังสิ้นเสียงละหมาด เขาถอนหายใจ คิ้วขมวดเล็กน้อย ยกชาร้อนจิบ แล้วตอบผม

“ก็พวกมุสลิมที่พูดมลายูนั่นแหละ พวกสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือมาจากมาเลเซีย พวกนี้ตอนแรกก็ขึ้นมาเรียนหนังสือ แต่พักหลังมันไม่เรียนแล้ว ทำงานลูกเดียว พวกนี้ขยันเสียด้วย พวกเรานี่แหละที่จะอดตายกันหมด” เขากระซิบเสียงเบาและปรายตามองไปในร้าน สถานการณ์ยังเป็นปกติ

“เพราะเรื่องข่าวความไม่สงบหรือครับ ถึงได้หวาดระแวงกัน” ผมถามต่อ

“ก็ใช่แหละ พูดกันก็คนละภาษา เหมือนรู้หน้าแต่ไม่รู้ใจกัน” 

“จำข่าวระเบิดย่านนี้ได้ไหม? รู้สึกจะมีลูกหนึ่งเป็นระเบิดทำจากกระป๋องนม”

“เคยได้ยินข่าว แล้วไงต่อ” พ่อผมเป็นฝ่ายถามบ้าง

“ก็เหตุมันเกิดพื้นที่นี้ ตำรวจเลยตรวจค้นทุกร้าน รื้อหากระป๋องนมที่หมายเลขล็อตเดียวกับที่ใช้ทำระเบิด โชคดีร้านผมไม่มี ถ้าเกิดมีผมคงไม่ได้มานั่งตรงนี้” เขาถอนหายใจอีกรอบ บรรยากาศและบทสนทนาโต๊ะเราไม่ผ่อนคลายเหมือนโต๊ะอื่น

“แต่ที่ร้านก็มีประชากรแฝงไม่ใช่หรือ?” พ่อผมถามเมื่อได้ยินภาษาไม่คุ้นหู

“ก็มีนั่นแหละ จะให้ผมทำไงได้ พวกมันขยันทำงาน แรงงานพวกนี้เท่ากับพวกเราทำงานสองคน แถมค่าแรงก็ถูกกว่า ก็คงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป” พูดจบเขายกถ้วยชาขึ้นจิบจนหมด คว่ำแก้วบนโต๊ะ เรียกเด็กเสิร์ฟที่ถูกเหมารวมว่า เป็นประชากรแฝง ตะโกนบอกให้ยกกาน้ำชากาใหม่มาให้

“นั่งกันต่อตามสบายนะ คืนนี้อากาศดี ผมขอตัวไปดูในครัวก่อน” เขายิ้มให้เป็นการบอกลา

ผมกับพ่อดื่มโกโก้จนเกลี้ยงแก้ว สั่งเช็คบิล มองเข้าไปในร้านไม่เห็นเจ้าของร้าน เขาคงง่วนอยู่กับงานในครัว เราออกจากร้าน เดินเลียบทางเดินริมคลอง คืนนี้ลมหนาวพัดบางเบา เรือเที่ยวสุดท้ายแล่นผ่านไปนานแล้ว

“ผมเพิ่งรู้ว่ามุสลิมเขามีแบ่งแยก พวกเขา พวกเราด้วย”

“มันก็คงมีทุกศาสนาแหละลูก ขนาดศาสนาเรายังมีพุทธแท้ พุทธเทียมเลย” ผมไม่เข้าใจที่พ่อและชายเจ้าของร้านน้ำชาพูดนัก ผมรู้แค่ว่าพวกเราเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน

เมื่อเดินมาถึงคอนโดของผมริมคลอง ขณะเดินอยู่ตรงโถงทางเดิน พ่อกระซิบถาม

“คอนโดลูกไม่มีประชากรแฝงใช่ไหม? ถ้ามีก็ระวังตัวไว้บ้างนะ” พูดจบพ่อเดินนำไปยังห้องของผม ไขกุญแจห้อง และทิ้งตัวลงนอนบนเตียง ผมล็อคประตูตามหลัง บอกพ่อว่า ออกไปสูดอากาศตรงระเบียง

ผมมองลำคลองยามค่ำ ดวงจันทร์ดวงเดิมทาบทับบนผืนน้ำ ริมคลองสีคล้ำยังมีความงามซ่อนอยู่ อยู่ที่สายตาเราเลือกจะมองมากกว่า ผมมองภาพนั้นแล้วถอนหายใจ ประโยคคำว่า “ประชากรแฝง”ยังติดอยู่ในห้วงความคิด 

ทอดสายตามองกอผักตบชวาที่ไหลไปตามกระแสน้ำ ไร้จุดหมาย ไร้หลักแหล่ง หรือผักตบชวาอาจเป็นประชากรแฝงของลำคลองสายนี้ เรือและเศษขยะที่ผมเห็นผ่านตาก็เช่นกัน

ผมนึกถึงคาบเรียนประชากรศาสตร์ วิชาเลือกในเอกสังคมวิทยาที่ผมเรียนอยู่ ความหมายของประชากรแฝงนั้นต่างจากคำนิยามของชายเจ้าของร้านน้ำชา ต่างจากความคิดของพ่อผม อาจารย์สอนผมไว้ว่า เราทุกคนล้วนเป็นประชากรแฝง ผมจำที่อาจารย์สอนได้ขึ้นใจ

ประชากรแฝง คือ กลุ่มคนที่เข้ามาทำงานหรือเรียนหนังสือในจังหวัดที่ไม่ใช่บ้านตัวเอง ซึ่งประชากรแฝงนั้นยังแบ่งได้สองแบบ แบบที่ไปทำงานตอนเช้ากลับตอนเย็น นั่นเรียกว่า ประชากรแฝงกลางวัน ส่วนประชากรแฝงกลางคืนนั้น ก็คงเหมือนผมกับผู้คนในเมืองนี้อีกหลายคน ที่ย้ายมาอยู่ประจำแต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน เช่าหอพักหรือคอนโดอยู่อาศัย นั่นเป็นความหมายของประชากรแฝงที่ผมเข้าใจ

ผมนึกถึงความหมายของประชากรแฝงที่ได้ฟังจากร้านน้ำชาแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจ ช่างตรงข้ามกับสิ่งที่ได้เรียนในห้องเรียน จำได้ว่า อาจารย์เคยพูดสั้นๆ ว่า ‘คนอยู่ที่ไหนก็เป็นคนที่นั่น’

ในเมื่อเราต่างเป็นประชากรแฝงซึ่งกันและกัน ผมนึกสงสัยว่า จะมีวันนั้นไหม? วันที่เราไม่ต้องหวาดกลัวกันและกัน วันที่ไม่มีพวกเขาพวกเรา ในเมื่อเราอาศัยร่วมโลกเดียวกัน 

ได้แต่หวังว่า วันนั้นจะมาถึงในสักวัน วันที่เราพูดกันคนละภาษา แต่เราอยู่ร่วมกันได้ เพราะเรานั้นต่างเป็นประชากรแฝงซึ่งกันและกันของโลกใบนี้และเราก็เป็นแค่คน ที่แม้แตกต่างเพียงไหน คนก็ยังเป็นคนวันยังค่ำ

รสชาติโรตีแกงของฝีมือแรงงานข้ามชาติมาเลเซีย กลมกล่อมและอร่อยไม่แพ้ใคร ผมรู้สึกแบบนั้นแม้ไม่ได้พูดออกไป 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง เกิดที่จังหวัดพัทลุง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  เรื่องสั้น ‘เกาะเบญจเพส’ ตีพิมพ์ในวารสารชายคาเรื่องสั้น 16 ห่าตำปอด : เชื้อไข้ร่วมสมัย และมีผลงานรวมเล่มบทกวี ‘การเดินอากาศบางประการ’ จัดพิมพ์โดย เหล็กหมาดการพิมพ์  

  

image_pdfimage_print