“ให้มันจบที่รุ่นเรา” : ข้อสังเกตถึงคาร์ม็อบและขบวนการเพื่อประชาธิปไตยอีสาน
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง คนอีสานหันไปใช้วิธีการประท้วงแบบต่างๆที่มีลักษณะเฉพาะตัว ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2564 คนอีสานทั่วทั้งภูมิภาคเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบมากกว่า 40 ครั้ง เป็นไอเดียการประท้วงแนวใหม่ที่ทำผู้ร่วมชุมนุมรู้สึกค่อนข้างปลอดภัย เพราะไม่ต้องลงจากรถ
เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ ร่วมสังเกตการชุมนุมและสะท้อนความเห็นในบทความชิ้นนี้ว่า คาร์ม็อบช่วยแสดงออกถึงความหวังและความฝันของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในอีสานอย่างไร
หมายเหตุ บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ “Let it end in our generation”: Some reflections on the Car Mob and pro-democracy movement in Isaan เผยแพร่ทางเว็บไซต์ The Isaan Record เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ราวบ่ายสามโมงครึ่ง ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวจากแดดยามบ่ายหน้าฝน ผู้เขียนนั่งอยู่ในรถยนต์ที่ติดเครื่องอยู่ กระจกฝั่งคนขับลดลงเพื่อให้ผู้เขียนทอดสายตามองบรรยากาศที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวารอบๆ ตัวได้อย่างชัดเจน
เวลาเพิ่งผ่านไปราว 1 ปี หลังจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอันแสนน่าทึ่ง นำโดยเยาวชนคนหนุ่มสาวที่เริ่มต้นเมื่อช่วงกลางปี 2563 เป็นการขยายตัวต่อจากการชุมนุมเล็กๆ ภายในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคขวัญใจคนรุ่นใหม่เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563
นับจนถึงปี 2563 ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมากว่า 6 ปี ซึ่งสืบต่อมาถึงรัฐบาลที่ “ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย” แต่ยังคงเต็มไปด้วยบุคคลหน้าเดิมๆ จากฝ่ายกองทัพและกลุ่มอนุรักษ์นิยม ปีนั้นเป็นครั้งแรกที่แกนนำเยาวชนจากกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยเริ่มปรากฎตัวขึ้น พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนเสื้อแดงและเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม ข้อเรียกร้องของพวกเขาในการปฏิรูปสถาบันต่างๆ รวมไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการตอบรับ และมีการจัดชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมอย่างหนาแน่นทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน
แต่หลังคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นแกนนำการชุมนุมเมื่อปี 2563 ได้ไม่นาน ปีเดียวกันนั้นเหล่าแกนนำและผู้สนับสนุนต่างต้องพบกับจุดพลิกผัน เมื่อพวกเขาถูกโจมตีอย่างรุนแรงด้วยข้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาร้ายแรงถูกจับกุมและคุมขังในเรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัว ขณะที่การจัดชุมนุมประท้วงตามสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงผู้เข้าร่วมนั้นมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง
เมื่อกลางปี 2564 ท้องถนนเมืองไทยดูจะกลับเข้าสู่สภาวะ “ปกติ” สงบเรียบร้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 และการชุมนุมประท้วงที่ห่างหายไป ประเทศไทยดูจะกลับมามืดมนอีกครั้ง
ฝ่ายอนุรักษ์นิยมประสบความสำเร็จในการบดขยี้ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างที่เคยเป็นมาตลอดเหมือนอดีตอีกแล้วหรือ? นี่คือคำถามที่ผู้เขียนคอยเฝ้าถามตัวเอง แม้ในชั่วยามนี้ ที่รถของผู้เขียนถูกประกบซ้ายขวาด้วยรถอีกหลายสิบคันที่ติดเครื่อง แต่จอดนิ่งสนิทอยู่บนถนนสายหลักที่ทอดผ่านตัวเมืองอุบลราชธานี แต่พวกเราไม่ได้เร่งรีบ เราแค่รอสัญญาณเพื่อจะเคลื่อนไหวต่อหลังกิจกรรมที่จุดพักนี้สิ้นสุดลง
ถูกต้องแล้ว ผู้เขียนอยู่ในคาร์ม็อบ กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อประท้วงต่อต้านนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ก่อการรัฐประหาร หลังจากมองอะไรรอบตัวไปเรื่อยๆ สายตาของผู้เขียนก็มาหยุดที่รถจักรยานยนต์คันหนึ่ง ซึ่งมีตำรวจนอกเครื่องแบบนายหนึ่งเป็นผู้ขับขี่ และอีกนายซ้อนท้ายเป็นผู้โดยสาร พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการขบวนครั้งนี้ และพวกเขายกมือชูสามนิ้วเป็นครั้งคราว พวกเขามาที่นี่โดยมีจุดประสงค์เดียวกับผู้เขียน คือ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล แต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างออกไป

ผู้เขียน: ขณะเข้าร่วมคาร์ม็อบ ผู้เขียนจะลดกระจกหน้าต่างลงเสมอ เพื่อที่จะได้สังเกตปฏิกิริยาของผู้คนที่มาเฝ้าดูได้อย่างชัดเจน
ไอเดียการจัด “คาร์ม็อบ” เกิดขึ้นมาจากสมบัติ บุญงามอนงค์ อดีตแกนนำคนเสื้อแดงและนักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย เป้าหมายของการชุมนุม คือ การประท้วงต่อต้านความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารปกครองประเทศ คล้ายคลึงกับงานกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2563 เพื่อแสดงจุดยืนขับไล่ประยุทธ์และพวกพ้อง
ข่าวการประท้วงในรูปแบบนี้ถูกเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางและดึงดูดผู้เข้าร่วมได้อย่างอุ่นหนาฝาคั่งเมื่อปี 2564 โดยในอีสานจังหวัดที่มีคาร์ม็อบเกิดขึ้นบ่อยที่สุดและคึกคักที่สุด ได้แก่ สกลนคร นครราชสีมา และอุบลราชธานี ระหว่างการเก็บข้อมูลวิจัยเมื่อเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2564 มีงานคาร์ม็อบเกิดขึ้นอย่างน้อย 43 ครั้งในจังหวัดทางภาคอีสาน จากทั้งหมด 260 ครั้งทั่วทั้งประเทศ
ผู้เขียนเข้าร่วมสังเกตการณ์ระหว่างทำวิจัยเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของแกนนำคนรุ่นใหม่ เพราะต้องการเก็บหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าผู้คนที่เรียกร้องประชาธิปไตย (ผู้เขียนใช้คำว่า “ผู้คน” ไม่ใช่ “ผู้ประท้วง”) พยายามผลักดันความเคลื่อนไหวของพวกเขาต่อไปอย่างไร แม้จะเจอปัญหาอุปสรรคต่างๆ แต่สำหรับเหล่าตำรวจนั้นน่าจะต้องการรวบรวมข้อมูลไปเพื่อเสนอผู้บังคับบัญชา และประเมินสถานการณ์หน้างานเพื่อเหตุผลด้าน “ความมั่นคง”
ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่า เหล่าผู้ชุมนุมที่มีอายุและเจนสนาม โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงที่เข้าร่วมคาร์ม็อบนั้น สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายดาย จากประสบการณ์การชุมนุมของพวกเขาเองว่า ใครบ้างเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง แต่จำนวนของยานพาหนะที่มาเข้าร่วม ที่มีตั้งแต่รถจักรยานยนต์คันเล็กๆ ไปจนถึงรถกระบะคันโตก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นของบรรดาผู้ประท้วงที่จะกลับคืนสู่ท้องถนนอีกครั้ง แม้จะมีการสอดส่องและจับตามองอย่างใกล้ชิดจากฝ่ายความมั่นคง
การสังเกตการณ์ตลอดการเคลื่อนขบวนเกือบ 5 ชั่วโมงของ “ม็อบ” ที่ประกอบด้วยรถราหลากหลายเคลื่อนเต็มท้องถนนหลักของตัวเมืองอุบลและวารินชำราบ ช่วยให้ผู้เขียนขบคิดไปถึงคำถามที่ว่า รัฐบาลนั้นประสบความสำเร็จในการบดขยี้ฝ่ายประชาธิปไตยอีกครั้ง อย่างที่เคยทำมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในอดีตหรือไม่
เห็นอะไรในคาร์ม็อบ
คาร์ม็อบที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมในอุบล มียานพาหนะมาเข้าร่วมกว่า 200 คัน ทั้งรถจักรยานยนต์ (ที่มีจำนวนมากที่สุด) รถยนต์ และรถกระบะ งานนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของผู้จัดที่บางคนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย และบางคนเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคฝ่ายค้าน
ผู้เข้าร่วมชุมนุมมาจากหลายหลายช่วงอายุ กลุ่มเพศ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม อาจเป็นเพราะพวกเขารู้สึกอุ่นใจจากการได้อยู่ในรถของตัวเองที่ติดฟิล์มกรองแสงตลอดช่วงเวลาของการชุมนุม พวกเขาจึงรู้สึกค่อนข้างปลอดภัย แม้จะมีสายตาสอดส่องของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอยู่โดยรอบ
ตลอดการเดินขบวน ผู้คนที่มาเฝ้าดูตลอดสองข้างถนนต่างยกมือชูสามนิ้ว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จากคลินิกแพทย์ พ่อค้าแม่ค้ารถเข็นขายอาหาร พนักงานร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และไรเดอร์ส่งอาหาร ผู้เขียนสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนคนธรรมดาทที่ยุ่งอยู่กับการใช้ชีวิตของตัวเอง หรือคนที่ไม่สนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง
ผู้เขียน: ในช่วงหนึ่ง การจราจรติดขัดยาวเหยียดเพราะจำนวนรถที่มาเข้าร่วมคาร์ม็อบ การเคลื่อนขบวนหยุดลง ผู้เขียนจึงถือโอกาสกระโดดขึ้นซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์เท่ๆ คันนี้
ระหว่างทาง มีตำรวจจราจรนายหนึ่งโบกไม้โบกมือมาทางผู้เขียนและตะโกนว่า “จะไม่ปิดทะเบียนรถหน่อยเหรอ” ผู้เขียนตะโกนกลับไปว่า “ไม่เป็นไรค่ะ” มีผู้ชุมนุมคนหนึ่งตกแต่งรถของเธอด้วยรูปภาพล้อเลียนประยุทธ์ แม้เธอจะปิดทะเบียนรถของตัวเองแล้ว เธอก็ยังถามผู้เขียนที่จุดรวมพลหลังการเดินขบวนว่า เธอจะมีปัญหาเพราะไปล้อเลียนเขาหรือไม่ ชี้ให้เห็นว่า ยังคงมีความกังวลถึงผลร้ายที่อาจตามมาจากการแสดงออกทางการเมือง
มวลชนขนาดใหญ่ที่จุดรวมพลกลายเป็นเรื่องท้าทายสำหรับกำลังตำรวจที่มีจำนวนมากพอๆ กัน ซึ่งกระจายตัวอยู่ในบริเวณโดยรอบและบางนายก็ปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุมบนเวที ผู้ประท้วงผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไปปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ประยุทธ์
บรรยากาศบริเวณนั้นเต็มไปด้วยความโกรธ ความผิดหวัง และความอัดอั้นตันใจ แต่นี่ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า เหล่าผู้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยยังคงอยู่ที่นี่ และยังพยายามที่จะหาทางขับเคลื่อนข้อเรียกร้องต่อไป กิจกรรมดำเนินไปพร้อมเสียงดนตรีคลอจากเพลง อย่างเช่น เพลงประเทศกูมี เราคือเพื่อนกัน แม้แต่เพลงหมอลำที่ถูกเปิดขึ้นมาแบบสุ่ม ผู้เขียนไม่คิดว่า พวกเขาเปิดดนตรีไว้เพื่อสร้างความรื่นเริง แต่เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ประท้วง เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่า ตัวเองทำได้และยังคงทำอยู่ แม้จะมีความเสี่ยงก็ตาม
ผู้เขียนยืนอยู่บนฐานวงเวียนจราจร จุดสิ้นสุดของการเคลื่อนขบวนคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม และที่จัดเวทีการปราศรัยทางการเมือง ภาพโดย ธีระพล อันมัย
ขบวนคาร์ม็อบที่ผู้เขียนเห็นนั้นแสดงให้เห็นจุดยืนทางการเมืองที่แข็งแกร่ง และมีความเห็นร่วมที่มุ่งโจมตีประยุทธ์อย่างชัดเจน ผู้คนมากมายต่างมาเข้าร่วมชุมนุมโดยไม่ต้องสงวนท่าทีมากนัก
แน่นอนว่า มีบางประเด็นที่สร้างความขัดแย้งรุนแรงที่อาจจะถูกละไว้ เพื่อสร้างความประนีประนอมให้การประท้วงยังคงขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายหลักได้ คาร์ม็อบนี้ดูมีความปลอดภัยมากพอที่จะชักนำให้ผู้คนกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ในขณะที่คนอื่นๆ ยังคงพักฟื้นจากบาดแผลทั้งทางกายและใจที่พวกเขาได้รับจากการโจมตีกลับโดยกลุ่มชนชั้นนำก่อนหน้านี้
คาร์ม็อบนี้ยังเกิดขึ้นมาจากความร่วมมือกันระหว่างหลากหลายกลุ่ม จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เฝ้าสังเกตการณ์กิจกรรมทางการเมืองมามากมายเข้าใจว่า ปัจจัยนี้มีแนวโน้มจะช่วยดึงดูดฝูงชนมาได้มากกว่า และช่วยเน้นย้ำถึงความรู้สึกของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้นกิจกรรมนี้จึงอาจไม่ได้จัดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดและไม่ได้ใช้วิธีแสดงออกทางการเมืองที่ดุดันหรือแข็งกร้าวนัก
แต่อย่างน้อยคาร์ม็อบก็ยังเป็นพื้นที่สำหรับให้ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยมารวมตัวและแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดในห้วงเวลาที่ผู้คนมากมายกำลังอิดโรย อ่อนล้าอยู่ในเรือนจำ และสังคมเต็มไปด้วยความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้
มีหวังหรือไม่ ที่ทุกอย่างจะ “จบ” ลง
ตามความเห็นส่วนตัว เรายังคงมีหวังอยู่ แต่ความหวังที่สมเหตุสมผลนั้นจะไม่คาดหมายให้ปัญหาซึ่งหยั่งรากลึกมายาวนานจบลงที่ “รุ่นเรา” อย่างที่มักกล่าวกันในการจัดกิจกรรมหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในเร็วๆ นี้
หนึ่งในแหล่งข่าวของผู้เขียน ซึ่งเป็นแกนนำเยาวชนอีสานชื่อดังในจังหวัดขอนแก่น เคยพูดเอาไว้ว่า “มีอะไรที่จบลงไปแล้วแหน่ติ ซอฟต์พาวเวอร์ของซุมเขานั่นเด้ เขาถึงเน้นกำราบซุมเฮาด้วยฮาร์ดเพาเวอร์”
เมื่อคิดถึงคำพูดของผู้ให้ข้อมูลของผู้เขียนในบริบทของคาร์ม็อบ ผู้เขียนก็เห็นด้วยกับเขาว่า เนื่องจากรัฐบาลใช้อำนาจอย่างแข็งกร้าวและฝ่ายอำนาจเก่าพร้อมที่จะทำทุกวิถีทางยกเว้นฟังเสียงเรียกร้องและความคับข้องใจของผู้ประท้วง การจัดกิจกรรมทางการเมืองจึ่งต้องการความหลากหลาย สร้างสรรค์ และยืดหยุ่นต่อข้อจำกัดที่มีอยู่มากมาย
บทความนี้เขียนขึ้นจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมสำหรับงานวิจัยชื่อว่า “Let’s finish it in our generation” : Thai youth movements in contemporary socio-political contexts” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0” ผู้เขียนและทีมวิจัย นำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ขอขอบคุณแหล่งทุนมา ณ ที่นี้ ทั้งนี้ความคิดเห็นทั้งหมดที่แสดงในบทความข้างต้นเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว