ใครเป็นวัยรุ่นยุคนี้แล้วไม่รู้จักนิยายแชทในแอป “จอยลดา” และ แอป “รี้ดอะไร้ต์” ถือว่า เชยระเบิด ถ้าคุณไม่รู้จักนิยายแชท “สุมาวดี โพคะรัตน์ศิริ” นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record รับอาสาพาคุณไปเปิดโลกนิยายของคน Gen Z เพื่อให้รู้เท่าทันว่า พวกเขารับสารแบบไหน แล้วคุณจะรู้ว่า คนรุ่นใหม่ก็อ่านหนังสือ เพียงแค่เพียงรูปแบบเท่านั้น

สุมาวดี โพคะรัตน์ศิริ เรื่อง

ยุคสมัยเปลี่ยน แพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คนมากขึ้น เช่นเดียวกันกับการอ่านบทความ ข่าว สารคดี หรือนิยายในโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะตอนยืนรอรถเมล์ ตอนรอร้านข้าว หรือแม้แต่ตอนนั่งห้องน้ำ 

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีแอปพลิเคชันสำหรับอ่านนิยายในรูปแบบ “แชท” ซึ่งกลายเป็นตัวเลือกใหม่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการอ่านนิยายออนไลน์ เช่นเดียวกันกับ ปองพล ทรงหอจอ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธัญทิพย์ อารยางกูร นักศึกษาปริญญาโทคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งสองเป็นบุคคลที่ชื่นชอบการอ่าน “นิยายแชท” เป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงที่อ่านจริงจังอ่านถึงวันละ 5 – 6 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว 

นิยายแชท คือ อะไร 

“นิยายแชท” เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นผ่านบทสนทนาในรูปแบบแชท หน้าตาของแพลตฟอร์มคล้ายคลึงกับ LINE สามารถอ่านได้จากแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เช่น จอยลดา (Joylada) รี้ดอะไร้ต์ (ReadAwrite) 

ธัญทิพย์ เล่าว่า ตอนแรกที่อ่านก็รู้สึกงงๆ ด้วยหน้าตานิยายเหมือนแอพลิเคชั่นไลน์มาก จึงทำให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น 

“คนที่จำอะไรไม่ค่อยได้ อาจจะจำได้มากขึ้น”เธอกล่าวสรุปสั้นๆ ถึงข้อดีของนิยายแชทที่เธอหลงใหล ซึ่งเป็นเหตุผลที่อ่านนิยายบนโทรศัพท์มือถือแทนนิยายเป็นหนังสือ 

แอปพลิเคชัน “จอยลดา” เริ่มเปิดตัวเมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 2560 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของวงการอ่านนิยายออนไลน์ แต่เป็นสิ่งใหม่ที่น่าสนใจและท้าทายให้ผู้ที่ชื่นชอบอ่านนิยายออนไลน์ได้ลองอ่าน

โลโก้ของแอปพลิเคชันจอยลดาและรี้ดอะไร้ต์

“ประสบการณ์ใหม่”

ปองพล เล่าจากประสบการณ์ตรงว่า ตอนแรกมันเป็นความใหม่ ที่ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ที่นิยายปกติให้ไม่ได้ เราอ่านเรื่องแรก คือ เรื่อง ไพรเวทหวี ในจอยลดา ซึ่งตอนนั้นดังมากเป็นช่วงแรกๆ ที่มีนิยายแชท การอ่านเรื่องนี้ทำให้มีประสบการณ์ร่วมกับคนอื่น 

“นิยายปกติ เวลาอ่านต้องใช้ภาษาพรรณาเพื่อให้มีจินตนาการ แต่นิยายแชทมันเชื่อมถึงเราได้มากกว่า อารมณ์ก็เหมือนๆ การคุยไลน์เลย”หนุ่มนักอ่านเล่าอย่างอารมณ์ดี 

หากหันซ้ายหันขวาแล้วเห็นผู้คนยิ้มกับโทรศัพท์ที่หน้าจอเป็นแพลตฟอร์มรูปแบบแชท อาจไม่ได้คุยแชทกับใครแต่เป็นรอยยิ้มจากการอ่านนิยายแชท หรือเรียกสั้นๆ ว่า “อ่านจอยฯ”

 

ปกเรื่อง UNKNOWN STORY #ไพรเวทหวี ในจอยลดา

ความแมสของนิยายแชท

ข้อมูลจากจอยลดาเมื่อปี 2561 พบว่า มีจำนวนผู้อ่านในแต่ละเดือนเกือบ 2 ล้านคน นิยายที่มีเข้ามาทุกเดือนมากกว่า 1 ล้านตอน จากนิยายแชทหลายหมื่นเรื่อง หรือมีคนอ่านเฉลี่ย 7 – 8 หมื่นคน​ต่อวัน

เรื่อง “ไพรเวทหวี” (ขณะนี้ปิดไปแล้ว) ที่ปองพลอ่านเป็นเรื่องแรกที่มียอดการกดอ่านหรือที่เรียกว่า  “ยอดจอย” ) ถึง 1.5 ล้านล้านครั้ง ยอดการรีวิวประมาณหมื่นกว่าคน ซึ่งในเรื่องมีวลีฮิตที่ตัวละครภายในเรื่องได้พิมพ์ คือ “กูได้ขอให้มึงมารู้สึกกับกูมั้ย” ความเป็นกระแสยังทำให้ผู้คนที่เคยอ่านนิยายแชทเรื่องนี้ยังใช้วลีนี้กันอยู่บนทวิตเตอร์

แชทของตัวละครในเรื่อง #ไพรเวทหวี ที่กลายไปเป็นวลีหรือมีมที่ผู้คนบางกลุ่มยังใช้จนถึงปัจจุบันนี้

ความเป็นที่นิยมของนิยายแชทเป็นไปในทางเดียวกันกับพฤติกรรมการอ่านของคนไทยในปัจจุบันเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ แถลงผลวิจัยพฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือของคนไทยว่า ระยะเวลาเฉลี่ยในการอ่านหนังสือของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 46 นาทีต่อวัน สำหรับประเภทเนื้อหาที่ชอบอ่าน อันดับ 1 คือ การ์ตูนหรือนิยายภาพ อยู่ที่ร้อยละ 34.4 และการสำรวจครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยชอบอ่านหนังสือที่เขียนสั้นๆ ประมาณ 3 – 4 หน้า และมีภาพประกอบ โดยให้เหตุผลว่า มีเวลาน้อยลง 

นักอ่านทั้งสองคนเห็นตรงกันว่า หลังจากอ่านนิยายแชทมากว่า 5 ปี ทำให้ไม่มีสมาธิในการหนังสือที่มีความยาวมากกว่า 5 หน้า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียน บทความ เป็นต้น 

“ผมมีพฤติกรรมในการอ่านจับใจความได้ลดลง เพราะนิยายแชทมันเร็ว รวบรัดตัดตอน พออ่านแล้วเกิดความเคยชิน คล้ายๆ เวลาเราแชทหาใครมันก็เป็นความเร่งรีบ นิยายแชทจึงเป็นแพลตฟอร์มที่เร็ว เวลาอ่านข้อความยาวๆ มันก็น่าเบื่อ”ปองพล เล่าความรู้สึก  

ธัญทิพย์ กล่าวเสริมว่า แม้การอ่านนิยายแชทจะสนุก แต่รู้สึกว่า มีผลกระทบกับตัวเองค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเวลาอ่านบทความเชิงวิชาการที่มีตัวหนังสือล้วน ไม่ได้มีรูปภาพ

“เราอ่านนิยายแชทมันเป็นข้อความสั้นๆ อ่านแล้วเข้าใจเลยไม่ต้องตีความมากมาย แถมบางทีมีรูปภาพประกอบ”ธัญทิพย์ เล่าจากการสังเกตพฤติกรรมตัวเอง 

ผลกระทบดังกล่าวอาจสอดคล้องกับงานวิจัยของ Wharton School of Business ที่สรุปว่า ภาษาภาพจะช่วยกระตุ้นการรับรู้ของผู้ชมหรือผู้อ่านได้มากกว่า โดยสมองสามารถจดจำภาพได้มากกว่าตัวหนังสือ และกว่าร้อยละ 90 ของข้อมูลจะถูกประมวลผลโดยสมอง คือ รูปภาพ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า พฤติกรรมการอ่านนิยายแชทที่มีข้อความสั้นๆ และมีรูปภาพแทรกในการบรรยายเป็นที่นิยมของนักอ่านในปัจจุบัน

ตัวอย่างรูปภาพและข้อความที่ตัวละครส่งให้อีกฝ่าย จากเรื่อง “กุเชอร์รี่” ในจอยลดา

นอกจากนิยายแชทกับนิยายบรรยายจะแตกต่างกันในเรื่องความยาวของข้อความแล้ว ยังมีความแตกต่างอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา ระดับภาษา กลวิธีในการเล่าเรื่อง 

ธัญทิพย์ เล่าจากประสบการณ์ตรงว่า ภาษาในนิยายบรรยายถูกกลั่นกรองมาหลายขั้นตอน ทั้งการใช้ภาษา ความสมเหตุสมผล แต่นิยายแชทกลับมีความแตกต่าง เพราะผู้อ่านจะไม่ได้สัมผัสหรือรับรู้อารมณ์ของตัวละครมากนัก  ว่า เป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน รวมถึงความเป็นเหตุเป็นผลว่า ทำไมตัวละครต้องเป็นแบบนั้น เป็นต้น นิยายแชท บางทีเราอาจจะรู้ปมตั้งแต่ตอนแรก 

“นิยายแชทตัวสะกดก็เขียนผิดและใช้ภาษาคาราโอเกะ  ซึ่งเป็นภาษาที่วัยรุ่นชอบใช้ บางทีก็จะใช้คำย่อ สแลงบ้าง อารมณ์เหมือนเราคุยกันเพื่อน ไม่ค่อยสละสลวย”เธอบอก  

ตัวอย่างนิยายแชทจากบทสนทนาของตัวละครเรื่อง “กุเชอร์รี่” ในจอยลดา

นอกจากนี้การอ่านนิยายบรรยายจะใช้จินตนาการมากกว่านิยายแชท เพราะต้องตีความโดยใช้จินตนาการซึ่งปองพล อธิบายนิยายแชทว่า เนื้อหาในนิยายแชทมันจะใกล้ตัว กับชีวิตมากกว่า แต่นิยายบรรยายมันคือการให้โลกอีกใบ เป็นการบรรยายให้ผู้อ่านใช้จินตนาการ ใช้อารมณ์ร่วม”

ในมุมของธิชาวรรณ การจุนสี นักแต่งนิยายแชท กล่าวถึงความยากในการแต่งนิยายแชทว่า ผู้เขียน  

ต้องทำทุกอย่างให้คนอ่านเข้าใจ แต่บางทีก็มีความไม่สมเหตุสมผลอยู่บ้าง

“บางทีมีฉากที่ตัวละครนั่งอยู่ตรงข้ามกัน แต่ก็ไม่มีเหตุผลว่า จะแชทหากันทำไม มันก็จะเกิดคำถาม แต่สำหรับนิยายแชทสิ่งนี้จะเป็นปกติ ต้องทำใจและเชื่อว่าตัวละครแชทคุยกันเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าในชีวิตจริงเมื่อคนเรานั่งตรงข้ามกัน ไม่จำเป็นต้องแชทคุยกันก็ได้”นักเขียนนิยายแชทอธิบาย 

ในแอปลิเคชั่นของนิยายแชท จำแนกประเภทออกเป็นหลายหมวดหมู่ ในแต่ละแอปพลิเคชั่นก็จะเรียกแตกต่างกันไป เช่น แฟนฟิคชั่น (Fan Fiction) วาย (Yaoi,Yuri) เป็นต้น แต่ละหมวดหมู่อาจมีกลุ่มคนอ่านที่ต่างกันด้วยเช่นกัน  แต่ละกลุ่มเป้าหมายนิยายแชทของธิชาวรรณส่วนใหญ่มักเป็นแฟนคลับศิลปิน K-POP อายุส่วนใหญ่อยู่ในช่วงมัธยมปลาย

หมวดหมู่ของนิยายแชทในรี้ดอะไร้ต์และจอยลดาตามลำดับ

นอกจากจะมีหมวดหมู่ของนิยายให้เลือกอ่านแล้ว การเขียนนิยายบนเว็บไซต์/แอปพลิเคชั่นก็มีตัวเลือกในการติดเหรียญในแต่ละตอน เท่ากับว่า  หากผู้อ่านต้องการที่จะอ่านตอนนั้นๆ จำเป็นจะต้องซื้อเหรียญเพื่อจ่ายในการเข้าอ่าน นอกจากนั้นยังมีตัวเลือกให้บริจาค (Donation) ซึ่งผู้อ่านสามารถโดเนทเงินและยังสามารถเขียนข้อความถึงนักเขียนที่ตนเองชื่นชอบได้

“คิดว่า ค่าตอบแทนนักเขียนนิยายแบบบรรยายน่าจะได้เยอะกว่านิยายแชทที่ได้ค่าตอบแทนแบบติดเหรียญ เพราะมีความโดดเด่นของภาษามากกว่า”  

เธอคาดการณ์อนาคตของนิยายแชทว่า ตราบใดที่พฤติกรรมของคนไทยยังชอบอ่านข้อความสั้นๆ และมีรูปประกอบ นิยายแชทก็น่าจะเติบโตไปได้เรื่อยๆ 

“ได้ยินคนบ่นว่า คนอ่านนิยายบรรยายน้อยลง เพราะคนหันไปอ่านนิยายแชทมากขึ้น อีกอย่างนิยายแชทจะอยู่ที่ไหนก็อ่านได้แค่มีอินเทอร์เน็ต เลยมั่นใจว่า เทรนด์นี้จะไปได้เรื่อยๆ ต่อไปอาจจะมีคนมีชื่อเสียงมาเกี่ยวข้องด้วย ส่วนเรื่องรายได้ก็คงคงไม่ได้สูงเยอะเท่าไหร่”เธอกล่าวทิ้งท้าย 

image_pdfimage_print