เครดิตภาพ Gypsy Coffee Drip Janpengpen
ไม่น่าเชื่อว่า ข้างกำแพงสูงของเรือนจำเมืองสกลนคร ซึ่งเคยเป็นพื้นที่แห่งการกักขังจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพให้ผู้มาดูหนัง ฟังเพลง ดื่มด่ำกาแฟ วาดภาพ รวมถึงถกเถียงเรื่องราวของอนาคตภายใต้กิจกรรม “แคมคุก”
ดูเหมือนว่า พื้นที่คุกเก่าเมืองสกลฯ กว่า 10 ไร่ที่อยู่กลางเมืองกำลังถูกท้าทายจากผู้คนผลักดันให้เป็น Public Space และพื้นที่สร้างเศรษฐกิจของชุมชน เพื่อลบภาพพื้นที่แห่งการคุมขังกลางเมืองให้กลายเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพกลางชุมชน
กรภัทร พรมรักษา เรื่อง
กำแพงข้างเรือนจำหลังเก่า จ.สกลนคร ถูกจัดเป็นพื้นที่ฉายหนัง หรือ Campcook Theater ที่ได้รับการสนับสนุนจาก “หอภาพยนตร์” คัดเลือกหนังไทยในความทรงจำมาฉายภายใต้ชื่องาน “แคมคุก” ที่จัดขึ้นโดยคนรุ่นใหม่ของ จ.สกลนคร ระหว่างวันที่ 5-7 สิงหาคมที่ผ่านมา
หนังเก่าบนกำแพงสูงใหญ่มองขึ้นไปสูงสุดเห็นลวดหนามทำให้ผู้คนที่มาร่วมงานไม่ลืมความเป็นคุก แต่มองไปในบรรยากาศใหม่
ตามมายาคติของผู้คนทั่วไปมักมองว่า “คุก” คือ สถานที่อโคจร แต่ตรอกแคมคุกวันนี้ไม่เหมือนวันวาน ถนนเส้นสั้นๆ ถูกปรุงแต่งโดยคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่มีความฝันอยากเห็นพื้นที่ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างให้มีความหมายต่อชาวสกลฯ และสามารถต่อยอดให้เมืองสกลนครถูกมองในมุมใหม่ๆ
บรรยากาศกิจกรรม “แคมคุก” จัดโดย กลุ่มสกลเฮ็ดและเครือข่าย เครดิตภาพ Facebook : อ้ายบอมบ์ รูปเด๋
ข้างกำแพงสูงยังมีร้านค้า ร้านคราฟท์ อาหาร ดนตรี มุมศิลปะ มาร่วมกันอย่างคึกคัก ทำให้ชวนตั้งคำถามว่า หากเรือนจำหลังเก่าแห่งนี้กลายเป็นสถานที่เพื่อความสร้างสรรค์แล้วจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดสกลนครได้มากแค่ไหนกัน
ยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ” ประธานกลุ่มสกลเฮ็ด ผู้จัดงานแคมคุก เครดิตภาพโดย Facebook : Charoenrat Rattana
ยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ ประธานกลุ่มสกลเฮ็ด เล่าถึงความเป็นมาของการจัดงาน “แคมคุก” ว่า เพื่อหวังจะเปลี่ยนใจให้ผู้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นมองเห็นประโยชน์จากพื้นที่เรือนจำหลังเก่าแห่งนี้ว่า สามารถเป็นได้มากกว่าลานจอดรถ
“หากพูดถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ คุกเก่าแห่งนี้มีอาคารอายุกว่า 100 ปีตั้งอยู่ หากปรับปรุงจะดีกว่าการทุบทิ้งหรือเปล่า”ประธานกลุ่มสกลเฮ็ดตั้งคำถาม
อาคารไม้อายุ 111 ปี ที่ตั้งอยู่ภายในเรือนจำหลังเก่า จ.สกลนคร เครดิตภาพ Facebook : เทศบาลนครสกลนคร
เรือนจำหลังเก่าแห่งนี้มีพื้นที่ 21 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา แบ่งเป็นพื้นที่ภายในเรือนจำ 10 ไร่ เนื้อที่ภายนอก เป็นบ้านพักเจ้าหน้าที่ฯ จำนวน 11 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา แต่เมื่อย้ายเรือนจำจากเขตเทศบาลนครสกลนครไปที่ชุนชนนาอ้อย เลขที่ 505 ถนนสกล-นาแก ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นเรือนจำปัจจุบันเมื่อ 19 พฤษภาคม 2560 มีเนื้อที่ทั้งหมด 99 ไร่ 3 ตารางวา เนื้อที่ภายใน 43 ไร่ 94.78 ตารางวา ก็ทำให้พื้นที่แห่งนี้ถูกปล่อยร้าง
ข้อมูลจากเว็บไซต์สกลนครไกด์ดอทคอม บอกว่า ก่อนหน้านี้ชาวสกลฯ ได้จัดระดมสมองบริเวณลานคนเมืองเพื่อปรับปรุงและพัฒนาในการใช้พื้นที่จนได้ข้อสรุปว่า จะใช้พื้นที่ความทรงจำอันเจ็บปวดแห่งนี้ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับทุกเพศ ทุกวัย ไทสกล โดยสถาบันอาศรมศิลป์ ได้ออกแบบพื้นที่เรือนจำแห่งนี้ไว้แล้ว ในรูปแบบต่างๆ ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับคนสกลนคร อาทิ สวนสาธารณะ ลานกีฬา ศูนย์เรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ Art Gallery เป็นต้น
พิริยะ ภูสำเภา กราฟฟิตี้ผู้ลงมือรังสรรค์ภาพนกโบยบินบนกำแพงอันคร่ำครึอของเรือนจำ บอกว่า“นก” คือ “สัญญะ” ของทัศนียภาพและทิวทัศน์นกโบยบินอย่างอิสระเสรี บันทึกไว้บนกำแพงเรือนจำเก่าเพื่อเป็นความทรงจำแห่งจิตวิญญาณที่โดนกักขังมาช้านาน
“ขอให้นกตัวนี้และภาพเขียนทุกภาพบนกำแพงจงนำจิตวิญญาณแห่งความงามกลับคืนมา”เขากล่าวพร้อมรอยยิ้มที่สร้างความหวัง
พร้อมบอกกับบอกอีกว่า อยากให้พื้นที่ตรงนี้คงไว้ซึ่งความเป็นคุกเก่า แง่หนึ่งในฐานะศิลปินท้องถิ่นอยากต่อยอดงานตนเองให้มีความสอดคล้องกับสถานที่แห่งนี้ และต้องการให้คนได้สะท้อนใจว่า เมื่อจะทำสิ่งใด ให้นึกเสมอว่า ชีวิตที่ขาดอิสรภาพก็เหมือนเป็นการใช้ชีวิตอย่างขาดจิตวิญญาณ
“สำหรับผม คุกไม่ใช่สถานที่ของคนชั่วช้า แต่มันคือสถานที่ของคนผิดพลาด”พิริยะ เล่าอีกด้านของมุมมองเกี่ยวกับเรือนจำ
นอกจากความคึกคักของกิจกรรม ผู้จัดงานยังเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดบนบอร์ด “คุกเก่า คิดใหม่”
สุทธิพงษ์ ศรีไกรภักดิ์ ศิลปินท้องถิ่นแขนงงานปั้น ผู้ก่อตั้ง “ดินจี่เสรีไท สตูดิโอ” ได้หอบเอางานเครื่องปั้นดินเผาของเขามาร่วมงาน พร้อมไกับออกเสียงลงคะแนนบนบอร์ด ด้วย
เขาต้องการให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็น Art Gallery เพื่อจะได้มีพื้นที่ให้เขาและศิลปินคนอื่นๆ นำผลงานมาแสดง และซื้อขายผลงานเพื่อสร้างรายได้
“ความเชื่อที่ว่า ศิลปะเป็นของเฉพาะกลุ่มยังคงเป็นกำแพงหนาใหญ่ปิดกั้นใจผู้คนยิ่งกว่ากำแพงเรือนจำ”สุทธิพงษ์ เขากล่าวความรู้สึกที่มีต่อเรือนจำด้วยถ้อยคำคมคาย
กลิ่นกรุ่นกาแฟยลยวนใจจากร้านนอนนา คาเฟ่ แห่งอำเภอเต่างอยถูกเจ้าของร้านนำเมล็ดกาแฟและเครื่องอุปกรณ์ชงชั้นเลิศมาวางบนรถเข็นจักรยานเก่า ถูกชงและเสิร์ฟแก้วแล้วแก้วเล่า แม้ในยามดึกดื่น กลิ่นกาแฟยังหอบอบอวนรอบตรอกแห่งนี้
“ทรงฤทธิ์ งอยภูธร” เจ้าของร้านนอนนา คาเฟ่ กล่าวว่า การร่วมงานแฟร์ต่างๆ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มยอดขาย และได้ประชาสัมพันธ์ร้านไปในตัว
“การได้พบปะผู้คนมากขึ้น เราย่อมได้รู้ถึงความต้องการของตลาดมากขึ้น ถือเป็นการพัฒนาฝีมือและการสรรหาวัตถุดิบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าจึงเป็นหน้าที่ของพ่อค้าอย่างผมด้วย”เขากล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
โกมุท ทีฆธนานนท์ นายกเทศมนตรีนครสกลนครลงพื้นที่เรือนจำหลังเก่า จ.สกลนคร เพื่อตรวจดูความคืบหน้าในการปรับปรุงพื้นที่เมื่อวันที่ วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เครดิภาพ Facebook : เทศบาลนครสกลนคร
ปัจจุบันพื้นที่เรือนจำเก่าสกลนคร อยู่ในความดูแลของเทศบาลนครสกลนคร เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 โกมุท ทีฆธนานนท์ นายกเทศมนตรีนครสกลนคร พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าในการปรับปรุงสถานที่บริเวณเรือนจำเก่าสกลนคร แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า พื้นที่ประมาณ 10 ไร่แห่งนี้ จะถูกนำเอาไปใช้ประโยชน์ในด้านใด
ชนาพร มีจินดา ผู้ร่วมกิจกรรม บอกว่า ทราบข่าวจากทางเพจ “สกลนคร ซิตี้” จึงเข้ามาร่วมงาน โดยกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นสีสันใหม่ของเมือง
เธอเดินชมงานและถ่ายรูป พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า อยากให้พื้นที่คุกเก่าแห่งนี้ถูกใช้ประโยชน์ไปในรูปแบบของการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัดและอยากให้กลายเป็นแลนมาร์คเช็คอินสำหรับเผู้คนมาเยือนถิ่นสกลนคร
แม้งาน “แคมคุก” ครั้งนี้จะไม่ได้ผลตอบรับเท่าที่ควร แต่เหล่าผู้จัดงานก็เชื่อมั่นว่า เสียงเล็กๆ ในการเรียกร้องขอใช้พื้นที่เรือนจำเก่า ซึ่งเป็นทำเลทองเมืองหนองหารครั้งนี้ จะได้รับความสนใจจากผู้คนในท้องถิ่นและผู้มาเยือน ซึ่งจะเป็นแรงผลักส่งให้ให้ผู้ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่นี้เปิดใจรับฟังเปลี่ยนพื้นที่คุกเก่าเมืองสกลฯให้กลายเป็น Public Space และร่วมมือกันทำให้เมืองสกลฯ เป็นเมืองแห่งคนสร้างสรรค์เสียที
///