51 อาจารย์นิติศาสตร์จาก 15 มหาวิทยาลัยยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญตีความวาระประยุทธ์อยู่ครบ 8 ปี 24 สิงหาคมนี้หรือไม่ 

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 เฟซบุ๊ก “ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง” เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกความเห็นทางวิชาการของอาจารย์นิติศาสตร์จำนวน 51 คน จาก 15 มหาวิทยาลัยถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการ กรณีการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีที่ตีความการอยู่ครบวาระ 8 ปีในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ 

จดหมายเปิดผนึกมีใจความว่า ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่บัญญัติไว้ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ …” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จะเป็นนายกรัฐมนตรีครบระยะเวลา 8 ปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 จึงเกิดประเด็นปัญหาในข้อกฎหมายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงนายกรัฐมนตรีต่อไป หลังจากวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ได้หรือไม่?

การวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องนี้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาจารย์คณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มีความเห็นทางกฎหมายดังนี้ 

1. ประเด็นสำคัญที่สุดในเบื้องต้นที่ต้องพิจารณา คือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่?

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 264 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ ..”

เมื่อมาตรา 264 บัญญัติไว้เช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาก่อนรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้จึงเป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และดังนั้นจึงเป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้” หมายความว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี ทั้งนี้ตามหลักการนับระยะเวลาที่จะไม่นับวันแรกที่เริ่มดำรงตำแหน่งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และจะต้องเป็นไปตามมาตรา 170 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเรื่อง “การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรี” ที่ได้บัญญัติไว้ในวรรคสองว่า “ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย”

“หาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเกินวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ก็ต้องพ้นตำแหน่งทันทีในวันถัดไป เว้นแต่ว่ารัฐธรรมนูญได้บัญญัติยกเว้นไว้ว่า การห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีไม่ใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้”จดหมายเปิดผนึกระบุ 

นอกจากนี้จดหมายยังระบุว่า 2.ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไป คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีบทเฉพาะกาลยกเว้นไม่ให้มาตรา 158 วรรคสี่ ใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้หรือไม่?

“เมื่อรัฐธรรมนูญมิได้ยกเว้นมาตรา 158 วรรคสี่ มิให้ใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เท่านั้น”

จดหมายเปิดผนึกยังมีใจความอีกว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีไปจนเกินวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยไม่แล้วเสร็จก็จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรา 82 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า … ผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ … ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย” นั่นคือหากถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2565 แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัย ก็จะต้องพิจารณามีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

“ข้าพเจ้าได้นำเสนอความเห็นทางกฎหมายในเรื่องนี้ต่อท่านประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยความตั้งใจเพียงประการเดียว คือ ให้ประเทศไทยยึดถือหลักการปกครองโดยกฎหมายให้มากย่ิงกว่าที่ผ่านมา เพราะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความเห็นต่างทางการเมืองนั้น ไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตีความกฎหมายตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ จะต้องวินิจฉัยตัดสินปัญหาโดยยึดถือตัวบทกฎหมาย และใช้กฎหมายกับทุกฝ่ายอย่างเสมอกัน และที่สำคัญที่สุดจะต้องเป็นอิสระจากผู้มีอำนาจที่ฝ่ายตุลาการต้องใช้อำนาจตุลาการในการควบคุม ซึ่งในกรณีนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี”จดหมายเปิดผนึกระบุ 

image_pdfimage_print