1

ไผว่ะ พี่หนอม น้องโดม?’ งานรำลึกแด่ ถนอม ชาภักดี-อติเทพ จันทร์เทศ ในความทรงจำ

“จากไปเพียงร่างกาย แต่จิตวิญญาณและคุณูปการที่ทั้งสองได้สร้างไว้นั้นยังคงอยู่” บันทึกของอัยการ​ ศรีดาวงศ์ ขณะร่วมรำลึก “ถนอม ชาภักดี และอติเทพ จันทร์เทศ” ณ เขตงานธารทิพย์ แม้บรรยากาศจะเป็นไปด้วยความเศร้าสร้อย แต่ผู้ร่วมงานก็ได้ส่งพลังถึงกันเพื่อผลักดันความรักและอุดมการณ์ของผู้จากไปทั้งสองคนให้ยังอยู่ต่อไป 

อัยการ ศรีดาวงศ์ เรื่องและภาพ

บ่ายคล้อยของวันที่ 13 สิงหาคม 2022 ชานเมืองขอนแก่นที่ถูกสถาปนาชื่อให้ว่า Thanthip Oasis หรือ ‘เขตงานธารทิพย์’ ภายใต้ผืนฟ้าที่ขมุกขมัวไปด้วยหมู่เมฆฝนที่พร้อมจะทอดทิ้งหยดน้ำตาลงมาจุมพิตกับผืนโลกมาได้ทุกเมื่อ 

หากแต่ก็ยังมีแสงแห่งดวงตะวันทำมุมเป็น 150 องศาเล็ดรอดตัดมาจากป่าผืนเล็กๆ อันเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลบนชานเมืองแห่งนี้ ในวันเสาร์ที่น่าจะเป็นวันแห่งการพักผ่อนเช่นนั้น กลับมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในนามของนักปฏิบัติการทางศิลปะแห่ง MAS Collective House ผู้ไม่ยอมหยุดหย่อนผ่อนปรนให้กับกาลเวลาแห่งวันหยุดและการพัก เขาเหล่านั้นกำลังแผ้วถางพื้นที่สำหรับ ‘การปฏิบัติการทางศิลปะ’ และ ‘ฐานที่มั่นสุดท้าย’ มอบแด่ชายผู้ทรงคุณค่าต่อแผ่นดินนี้ที่ถูกเขาเรียกว่า อีสาน ซึ่งก็คือชายที่ว่านี้มีชื่อว่า ถนอม ชาภักดี และ อติเทพ จันทร์เทศ

โปรเจ็คเตอร์ถูกจัดวางและติดตั้งโดยทีมงาน MAS Collective House ผู้มีชีวิตชีวาและร่าเริง รูปภาพและชิ้นงานจากการปฏิบัติการทางศิลปะถูกติดตั้งอย่างมั่นคง แนบแน่นกับพื้นที่ ขอนไม้ถูกตัดแต่งและจัดวางเป็นม้านั่งล้อมรอบต้นมะขามที่ประดับไปด้วยหลอดไฟสีส้มสว่างเพื่อรอต้อนรับความมืดมิดแห่งราตรี โดยที่โคนต้นมีสุรารสเผ็ดร้อนประทับอยู่หน้ากรอบรูปเล็กๆ ของบุรุษทั้งสองที่ส่งสายตาออกมาสื่อสารกับผู้ร่วมงานที่เดินผ่านไปมาอย่างสงบนิ่ง

เถียงนาน้อยก็ยังรอผู้คนมาจับจองเพื่อรอชมงานรำลึก “ไผว่ะ พี่หนอม น้องโดม?” และแล้วโปรเจ็คเตอร์ก็เริ่มฉายอาร์ตเวิร์คที่มนุษย์ทุกผู้สามารถดูและรับรู้ถึงเจตจำนงนั้นได้ไม่ยาก เมื่อมีความเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญชน ผู้คนเดินสวนกันไปมาในหน้าที่ของตนเองตั้งแต่ เดินหาที่บดกาแฟ บ้างก็เดินหาเสื้อสำหรับสกรีนใบหน้าของ อ.ถนอม บ้างเดินชมรอบๆ พื้นที่จัดงานเพื่อรอเวลาตามกำหนดการเริ่มงาน บ้างก็เดินบันทึกฉากชีวิตผู้คนผ่านกล้องฟิล์ม ราวกับว่า ณ ขณะนั้นเป็นกองปฏิวัติป่าเขาในโคลอมเบียกำลังจะเตรียมงานเฉลิมฉลองอะไรสักอย่างเสียอย่างนั้น..

เหล่ากัลยาณมิตรจากทั่วสารทิศ ต่างก้าวย่างลงบนลานแห่งการรำลึกนี้ ก่อนที่งานจะเริ่มโดยอาจารย์ นิพนธ์ ขันธ์แก้ว ได้เริ่มกล่าวรำลึกแด่ อ.ถนอม ชาภักดี ว่า ‘เขาเป็นชายผู้พกพาระเบิด’

อาจารย์ นิพนธ์ ขันแก้ว เล่าถึงภูมิหลังของ อ.ถนอม จากอดีตการ์ดนักศึกษายุค 6 ตุลา 1976 สู่นักปฏิบัติการทางศิลปะผู้จิตสำนึกและเจตจำนงแห่งรากเหง้าชาติพันธุ์ของตนเอง และถนอม ชาภักดี เป็นผู้ที่ทำให้เกิดการระเบิดต่อวงการศิลปะในประเทศเรา ทำให้ผมเรียกเขาว่าเป็นชายผู้พกการะเบิด ซึ่งเขามีระเบิดด้วยกันอยู่ 3 ลูก

อ.นิพนธ์ ขันแก้ว นักปฏิบัติการศิลปะ เพื่อนสนิท ของ อ.ถนอม ชาภักดี 

ระเบิดลูกแรก คือ Khon Kaen Manifesto ครั้งที่ 1 ที่จัดอยู่อาคารเก่าโทรมที่ถูกทิ้งร้างในตัวเมืองขอนแก่นอย่างตึก GF ซึ่งได้สร้างความสั่นสะเทือนต่อศิลปะตามแบบฉบับราชสำนัก ทลายกรอบและแสดงให้เห็นว่า งานศิลปะไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ในพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งหอศิลป์ เป็นของดีงามหรือสูงส่งทำให้ขอนแก่นมีพื้นที่ทางศิลปะขึ้นมาและแสดงถึงการปฏิเสธอำนาจจากส่วนกลางอย่างกรุงเทพฯ

ระเบิดลูกที่สอง คือ เมื่อศิลปะไม่ใช่สิ่งสูงส่งจึงเกิด Ubon Agenda เกิดการรื้อประวัติศาสตร์ผีบุญเมืองอุบลฯขึ้น และ Khon Kaen Manifesto ครั้งที่ 2 ซึ่งก็เกิดการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ไปสู่จังหวัดต่างๆ ล่าสุดได้จัดงาน 61 ปีรำลึกครูครอง จันดาวงศ์ Sawangdandin Summit ที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร มีการแสดง Performance Art ขึ้นในทุกๆ พื้นที่เยือนย่าง

และระเบิดลูกที่สาม คือ การก่อตั้ง MAS Collective House ซึ่งเป็นการนำเอาทุกอย่างที่เป็นของที่อาจารย์ถนอมสะสมไว้หรือทำขึ้นมาใหม่ นำมาจัดแสดง เพื่อท้าทายความเป็นศิลปะในมุมมองแบบเดิม จนเกิดคำว่า นักปฏิบัติการทางศิลปะ ซึ่งเป็นนิยามที่สร้างขึ้นมาเพื่อท้าทายกับคำว่า “ศิลปิน” โดยมีมุมมองว่า

ใครๆ ก็เป็นนักปฏิบัติการทางศิลปะได้ ไม่จำเป็นต้องผูกขาดแต่กับคำว่า ศิลปิน..

กิจกรรมสกรีนเสื้อรูปหน้า อ.ถนอม ชาภักดี และข้อความ “ยุติธรรมไม่เกื้อหนุน ผีบุญจึงเกิด” 

แม้อาจารย์ถนอมจะจากเราไปก่อนแล้ว รวมไปถึงน้องโดม แต่สิ่งที่อาจารย์ถนอมและน้องโดม อติเทพ ได้ทำไว้นั้นเป็นคุณูปการต่อการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณูปการนั้น ทางเราจึงได้สร้างพื้นที่ตรงนี้ไว้ เพื่อเป็นที่มั่นสุดท้าย ตามที่แกต้องการ เพื่อให้ได้เผยแพร่และเป็นแหล่งเรียนรู้และพื้นที่สำหรับการปฏิบัติการทางศิลปะต่อไปในอนาคต..

ต่อมาจึงเริ่มมีการผลัดเปลี่ยนผู้คนขึ้นไปอ่าน บทกวี เพื่อการรำลึกแด่อาจารย์ถนอม และอติเทพ ซึ่งมีทั้งบทกวีภาษาจีนที่แปลออกมาเป็นคำง่ายๆว่า “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” ทั้งยังมีบทกวีจากเมฆ ครึ่งฟ้า บทกวีจากวิทยากร โสวัตร ซึ่งได้ถูกหยิบยืมจากทั้งเจ้าตัว และ ผมในฐานะผู้ที่ได้เคยร่วมงานกับช่างภาพมือทองอย่าง ‘อ้ายโดม’ ตามวาระและโอกาส ก่อนที่จะขับขานบทเพลงที่ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลาในท่วงทำนองแข็งทื่อบ่งบอกอย่างซื่อๆ อย่างเพลง ‘ปากกากับกระสุน’ ของประเสริฐ จันดำ ที่ให้ความนัยสำคัญโดยตรงต่อความเป็นนักข่าวหรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสื่อทุกคน เพื่อแทนการระลึกและอุทิศแด่เพื่อนร่วมงานและพี่ชายคนหนึ่งในฐานะนักข่าว..

หญิงสาวคนสุดท้ายของนักปฏิบัติการทางศิลปะและอดีตช่างภาพมือทองก็อยู่ภายในงานรำลึกนี้ด้วย พวกเธอเป็นเสมือนคู่ชีวิตของทั้งสองผู้คนร่วมงานต่างทักทายด้วยไมตรีอย่างเป็นมิตร ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบเพื่อเยียวยาความทุกข์ให้ทุเลาลงได้สักพื้นผิวของความทุกข์ก็ยังดี 

หลังจากบทกวีได้ถูกขับขานจบลงไป หญิงสาวคนสุดท้ายของนักปฏิบัติการทางศิลปะจึงได้กล่าวถ้อยคำเพื่อระลึกถึงนักปฏิบัติการทางศิลปะต่อผู้ร่วมงาน ก่อนที่ก้อนสะอื้นจะจุกที่ลำคอและธารน้ำตาทะลักออกมาเพื่อระบายความอัดอั้นที่มีอยู่ ก่อนที่จะสูดลมหายใจลึกๆ เพื่อกล่าวบางอย่างถึงนักปฏิบัติการทางศิลปะท่านนี้ว่า

“สิ่งที่แกทำให้ประเทศนี้มันมีมากเกินไป ดูสิ่งที่แกได้จากประเทศนี้ แกได้อะไรกลับมา แต่แกไม่เคยสน แกไปข้างหน้า โดยไม่สนว่า จะมีใครตามหลังรึเปล่า แต่ว่าสิ่งที่แกทำมาทั้งหมด เราไม่ยอมให้มันตายไปกับกระดูกที่เราเผาแก” 

และแล้วน้ำตาก็อาบทาลงบนใบหน้าก่อนที่ไมค์จะถูกส่งคืนให้กับพิธีกรแล้วตามมาด้วยกับเสียงปรบมือสำหรับให้กำลังใจ ก่อนที่การแสดง Performance art จะเริ่มขึ้น..

Performance art at Thanthip Oasis การแสดง Performance art at Thanthip Oasis, Khon Kaen ในชื่อ “พันธนาการที่ไม่อาจต่อรอง Freedom redemption 23/06” ถือเป็นการปฏิบัติการทางศิลปะเพื่ออุทิศแด่ ถนอมและอติเทพ ซึ่งได้สร้างมวลบรรยากาศแห่งความเงียบงันก่อนที่จะมีการระเบิดเสียงปรบมือขึ้นหลังจากการแสดงจบลง..

การแสดง Performance Art

เมื่อเสร็จจากการแสดง Performance Art at Thanthip Oasis ก็เข้าสู่ช่วงพลบค่ำ แสงจากหลอดไฟที่ประดับไว้ก่อนหน้าเริ่มทยอยถูกเปิดขึ้น และในช่วงนี้เองที่พิธีกรหนุ่มได้เริ่มเดินแจก ‘ดอกมัมสีขาว’ ให้แก่ผู้มาร่วมงานเพื่อร่วมกันวางดอกไม้บริเวณโคนต้นมะขามที่มีรูปของอติเทพ ที่กำลังสบตากับผู้มาเยี่ยมชม และอาจารย์ถนอม ในท่าที่พบเห็นได้ประจำคือท่า “คีบกอกยา” ก่อนที่ผู้มาร่วมงานจะพักและเยี่ยมชมพูดคุยกันตามอัธยาศัยเพื่อรอคอยการมาถึงของเครื่องมหรสพสำหรับเสพงัน..

เสพงันให้กับค่ำคืนแห่งการรำลึกโดย หมอลำแบงค์และคณะสะเวินใจ

ไม่นานเกินรอ เพียงไม่กี่อึดใจ ปฏิภาณ ลือชา หรือหมอลำแบงค์ พร้อมด้วยคณะสะเวินใจ คณะหมอลำราษฎรจึงได้เดินทางมาถึงและเริ่มติดตั้งอุปกรณ์อันประกอบไปด้วยความที่เรียกได้ว่า “เฒ่าเก่า” ที่มีเพียงแคน กลองทอมบ้า ฉิ่ง ฉาบ และเสียงสำหรับขับกลอนลำออกมา

ระหว่างตั้งอุปกรณ์ หมอลำแบงค์จึงได้เล่าถึงความหลัง เมื่อครั้งที่อาจารย์ถนอมได้เคยช่วยเหลือขณะถูกดำเนินคดีและในช่วงพ้นโทษออกจากเรือนจำ อาจารย์ถนอมได้มีส่วนเข้ามาช่วยในการจัดหาเครือข่ายช่วยจัดทำฉาก สำหรับการแสดงหมอลำให้กับทางหมอลำแบงค์ได้ใช้ในการแสดง เป็นเสมือนญาติผู้ใหญ่อีกคนหนึ่งในชีวิต ส่วนโดม อติเทพ ก็ถือว่าเป็นน้องรักคนหนึ่งที่รู้จักกันมา ด้วยมีเส้นทางชีวิตที่เริ่มต้นจากความลำบากเหมือนกัน จึงมีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากพอสมควร และรู้สึกเสียใจถึงการจากไปของทั้งสองคน จึงมาลำในงานวันนี้เพื่อรำลึกแด่ทั้งสองและเสพงันสร้างม่วนซื่นให้กับงาน

เสียงแคนแผดจ้าขึ้น เคล้าคลอไปกับเสียงการตบลงบนกลองทอม ฉิ่งและฉาบ พร้อมด้วยหมู่คนธรรณ์กำลังทำหน้าที่ของตนเองอย่างสะเวินใจ และกลอนลำแรกก็ได้ถูกลำขึ้นโดยหมอลำแบงค์ พร้อมด้วยพลพรรคคณะสะเวินใจผู้พกพากลอนลำมาอย่างไม่ขาดสายซึ่งสลับเปลี่ยนหมุนเวียนตั้งแต่กลอนลำประยุกต์ ไปสู่ลำเดินขอนแก่น และมุ่งไปในจังหวะสามช่า และลำเพลินดีดส่นน่อง กลอนแล้วกลอนเล่าได้ถูกขับกล่อม ทะลายความเงียบงันวังเวงออกไปจนหมดสิ้น ถังน้ำแข็งซึ่งเต็มไปด้วยเครื่องดื่มอันฉ่ำหวานได้ถูกเปิดปิดครั้งแล้วครั้งเล่า 

เช่นเดียวกันกับซุ้มของเบียร์ดาวดินที่ถูกจัดขึ้นโดยกลุ่มดาวดินเองก็ถูกเปิดครั้งแล้วครั้งเล่า อันเป็นผลจากท่วงทำนองแห่งความชาติพันธุ์ที่เต็มไปด้วยความม่วนซื่นได้ปลุกเร้าความสนุกสนานภายในใจจนทะลักออกมาเป็นท่วงท่าแห่งการร่ายรำ ราวกับฝูงนกพิราบกางปีกบินไปในท้องฟ้า ราวกับว่าท้าวฮุ่งกำลังและไพร่พลในมหากาพย์ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง กำลังเฉลิมฉลองกันที่ทุ่งไหหิน ขณะที่พื้นเต็มไปด้วยไหเหล้าที่เกลี้ยงไห

ร่วมวางดอกไม้เพื่อรำลึกถึงการจากไปของ อ.ถนอม ชาภักดี และ อติเทพ จันทร์เทศ 

ผู้คนต่างร่วมรังสรรค์ศิลปะการแสดงแห่งชีวิตออกมา บ้างออกท่าร่ายรำ บ้างปรบมือไปกับจังหวะ บ้างเก็บภาพบันทึกความทรงจำแห่งรอยยิ้มและความคะนึงหาไว้ บ้างโดดขึ้นไปบนพื้นที่ของการแสดงเพื่อร่วมเล่นดนตรีอย่างมีส่วนร่วม บ้างสวมกอดให้กำลังใจกันและกัน ช่างเป็นภาพที่ยากจะลืมเลือน

วิทยากร โสวัตร กล่าวด้วยความตื้นตันว่า ดีใจแทน อ.ถนอม ชาภักดี ที่มีเพื่อนอย่าง อ.นิพนธ์ ขันแก้ว อ.ผยุงศิลป์ (ผยุงศิลป์ เปศรี) สำหรับผมแล้ว คนๆ หนึ่งที่มีเพื่อนแบบนี้ถือว่า เป็นความโคตรโชคดี เพื่อนที่ดู เห็นและเข้าใจในวิถี ตัวตน อุดมคติ อย่างถ่องแท้ แม้รำลึกก่อนหน้านี้แม้จะเป็นงานเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่และงดงามที่สุดเท่าที่ผมเคยร่วม 

ถือเป็นความโชคดีของโดม (อติเทพ จันทน์เทศ) ด้วย ที่มีอาจารย์มีผู้ใหญ่ให้ความรักและเข้าใจแบบนี้ *อยากให้จัดทุกปีครับ จะมาทุกปี..”

นี่จึงกลายเป็นงานที่เป็นไปตามคอนเซ็ปของคำว่า ใครๆ ก็เป็นนักปฏิบัติการศิลปะได้..จากไปเพียงร่างกาย แต่จิตวิญญาณและคุณูปการที่ทั้งสองได้สร้างไว้นั้นยังคงอยู่..