ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เดินสายเหนือใต้ อีสาน กลาง เพื่อปลุกพลังในใจผู้คน แต่สิ่งหนึ่งที่เขาได้พานพล คือ การได้ทบทวนตัวเอง ซึ่งการเดินทางลงพื้นที่ จ.อุบลฯ ครั้งนี้เขาได้แวะไปเยือนทุ่งสังหารอย่าง “บ้านสะพือ” ซึ่งคร้ังหนึ่งเคยเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างทหารสยามและผู้มีบุญจนทำให้มีคนตายกว่า 300 คน 

อัยการ ศรีดาวงศ์ เรื่องและภาพ 

หมายเหตุ : คำต่อคำ ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์กิตติคุณประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน หลังบรรยายพิเศษหัวข้อ ‘ภาวะสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่กับสังคมไทย’ ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

เมื่อผู้คนเริ่มบางตาลงในช่วงท้ายของการเสวนา เหลือแต่เพียงผู้ที่มีข้อสงสัยและแลกเปลี่ยนกับวิทยากรที่ชื่อว่า ธงชัย วินิจจะกุล และผู้ที่ประสงค์จะจาริกแสวงบุญทางปัญญาต่อจนวินาทีสุดท้าย ราวกับว่ารอคอยการมาถึงของหยดน้ำที่ไหลลงจากก้นแก้วเข้าสู่ลำคอผ่านริมฝีปากโดยทำมุม 90 องศาขนานกับพื้นโลกเพื่อรีดเค้นเอาหยาดน้ำแห่งความรู้และดื่มด่ำเพื่อละสิ้นซึ่งความกระหายในลำคอเป็นผงเมื่อก่อนการเสวนา

ธงชัย จึงเริ่มเล่าในสิ่งที่เป็นความรู้สึกและความประทับใจอย่างตราตรึง อาจจะเนื่องด้วยไม่ต้องการให้การเสวนานี้จบไปเสียเลยและคงอาจจะเป็นเพราะนี่จะเป็นประตูอีกบานที่อยู่สุดของทางเดินเปิดออกเพื่อก้าวย่างไปสู่ทางเดินและประตูอีกบานอย่างไม่รู้จบ ซึ่งเป็นการเปิดวงการเสวนาไปอีกจนกว่าจะพบกันอีกหน

เขาอยู่ในอิริยาบถเบาสบาย หลังจากเสวนาจบราวกับว่า ได้ทำหน้าที่ของตนเองเสร็จสมบูรณ์ในวัตถุประสงค์แล้ว จึงได้เริ่มร่ายมนต์แห่งความประทับใจด้วยเรื่องราวแห่งเรื่องเล่าอีกครั้ง และนี่คือเรื่องเล่าที่มาจากปากและความรู้สึกของชายที่ชื่อว่า ธงชัย วินิจจะกูล..

บทสนทนากับกัลยาณมิตร 

ถึงเพื่อนอาจารย์และกัลยาณมิตรแห่งวงการศึกษาทุกๆท่าน 

ผมเคยไปมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดหลายแห่ง มันเป็นความตั้งใจ ผมอยากจะรู้จักกับมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดให้มากขึ้น เพราะว่า เรารู้อยู่แล้วว่า Position Identity และอะไรอีกต่ออะไรของมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดมันไม่เหมือนของมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ

หลายครั้งก็ถูก Demand จาก อว.(กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งให้มันเป็นเหมือนๆกัน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ หลายครั้งมันควรจะเป็นไปได้ถ้าคุณมีคุณมีเงื่อนไขที่ดีกว่า มันก็ไม่มี

เอาเป็นว่า สภาพโดยรวม ผมพอรู้ว่ามัน.. มันมีคำถาม มันมีปัญหาหลายอย่าง ซึ่งผมอยากรู้จัก ผมเลยตระเวนไป แล้วก็พบปะพูดคุย ไม่ได้มากมาย อย่างน้อยก็รู้นิดหน่อย ถามว่ารู้ไปทำไม ผมไม่ได้ทำวิจัยเรื่องนี้นะ..

‘Curious’ ความกระหายอยากรู้ ไม่มีเหตุผลอื่นเลย แล้วก็เลยพยายามรู้จักเพื่อนๆ หลายคนซึ่งอยู่ในสภาวะอย่างนี้

แล้วเพราะว่าเป็นบทแย้งของตัวเอง ผมรู้ว่า ผมอยู่ในมหาลัยอีกแบบ มีโอกาสดีกว่าเพื่อนฝูงเยอะแยะ ผมไม่ใช่เก่ง แต่มีโอกาสดีกว่าเท่านั้นเอง แล้วก็งานที่ผมทำก็อย่างที่บอก ผมเพลิดเพลิน สนุกสนานกับหอคอยงาช้าง จนไปเที่ยว Defense ทุกเวทีที่เป็นไปได้

ผมไม่ได้หน้ามืดตามัว มองไม่เห็นว่า ความเป็นจริง ซึ่งมันแตกต่างกันมันมีอยู่เยอะ ก็เลยอยากได้มารู้จัก

ทบทวนตัวเอง 

พักทบทวนกระบวนความคิดก่อนที่กล่าวต่ออีกว่า เมื่อ 2-3 ปีที่มาผ่านมา ผมรับรู้ความอึดอัดคับข้องใจของอาจารย์ที่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งขอบอกว่า ไม่เหมือนกับอาจารย์ในกรุงเทพฯ มีหลายอย่างที่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันมีอยู่มาก เห็นได้ชัด เห็นได้ง่ายด้วย แม้ระบบอยู่ใต้ อว. ด้วยกันก็เถอะ เงื่อนไขสารพัด ซึ่งผมคงไม่ขอสาธยาย..

พอได้มาเห็นความต่างในมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด ในหลายๆแห่ง ซึ่งอันนี้ก็ไม่น่าประหลาดใจนะ แต่มันน่าสนใจ เพราะว่ามหาลัยในต่างจังหวัดต้องเจอกับ ทรัพยากรที่จำกัดกว่ามาก และบ่อยครั้งเกิดเป็นภาวะที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง ที่ต้องทำโน่นทำนี่ ให้.. ‘ให้เจ้ากรุงเทพฯ แบบสมัยใหม่’ ซึ่งผมจัดตัวอย่างว่า กรณีเช่นนี้มันหนักกว่า ซึ่งมันไม่แฟร์

เพราะว่ามรดกของระบบที่เป็นอยู่อย่างน้อยที่สุดก็คือ เกรงใจ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เชียงใหม่ แต่เป็นการเกรงใจในระดับหนึ่ง แต่เขาก็ ผมขอเรียกว่า ‘ลงแส้’ ก็แล้วกัน ขออนุญาตคิดเป็นภาษาอังกฤษ ‘Whip’ ลงแส้ให้เกิดการ เกิดจากความไม่เชื่อใจอาจารย์ว่า จะเดินตามทางที่ถูกต้อง จึงต้องลงแส้ เพื่อค่อยๆบังคับทิศทางให้เขา เข้ารูปเข้ารอย ลงแส้ให้เกิดเกณฑ์ ลงแส้ด้วยอะไรต่างๆ แม้จะมีลดลงบ้าง มีการให้รางวัล ให้คุณ มีการเอาทุนมาล่อใจบ้าง

แต่ว่า ท่าทีที่กรุงเทพฯ อว. ใช้กับมหาวิทยาลัยต่างๆในกรุงเทพฯ เป็นท่าที “เจ้านาย” และที่ผมเริ่มต้นยกตัวอย่างด้วยเรื่องของกรุงเทพฯ เพราะเห็นว่ามหาลัยในต่างจังหวัดโดนหนักกว่า โดนลงแส้มากกว่า..

Distrust ที่ อว. มีกับมหาลัยในต่างจังหวัดนี่ บางครั้งก็ราวกับต้องการมาอบรมสั่งสอนว่า จะเป็นอาจารย์มหาลัยควรทำตัวยังไง ซึ่งมันเป็นไปในทำนองนั้น 

ผมรับรู้รำคาญ ผมรับรู้ปัญหาได้ อาจจะไม่ถึงทั้งหมด แต่ผมพอเห็นอันนี้แล้ว แล้วผมก็อ๋อ ซึ่งเป็นผมคงอยู่ไม่ได้ และผมก็เล่าให้อาจารย์บางท่านฟังว่า ผมไปมหาลัยแห่งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว เอ้ย.. เป็นปีนี้ด้วยซ้ำ เพราะผมรู้ว่า ลูกศิษย์ผมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น อย่าเรียกลูกศิษย์เลย ไม่ใช่ลูกศิษย์โดยตรงแต่เป็นอาจารย์รุ่นลูก รุ่นลูกศิษย์ ‘เขาจะลาออก…’

ผมไปเพื่อพยายามบอกเขาว่า ‘อย่าเลย ยื้ออีกหน่อยน่า..’

แต่วันแรกที่ผมได้ไปเห็น ชั่วโมงแรกที่ผมได้ลงไปกินข้าวกลางวันกัน มีอาจารย์หลายท่าน กินข้าวกันก็บ่นแบบรำคาญๆ ออกมาทันที ออกมาสารพัด

จนผมหลุดปากออกไปโดยมิตั้งใจว่า “แล้วคุณอยู่ต่อทำไม?” ผมควรจะบอกเขาว่าให้อยู่ต่อแต่ผมหลุดปากว่า

‘แล้วอยู่ต่อทำไม..’ แล้วผมก็ได้รู้ความจริงที่ว่า คนเหล่านั้นเนี่ย มีคนอยากจะลาออกพร้อมกับลูกศิษย์ผมด้วย ก็คือมากกว่า 1 คน อีกคนสองคนอยากจะย้าย ซึ่งก็กำลังพยายามหาทางย้าย

บรรยากาศนักศึกษาและคณาจารย์ ม.อุบลราชธานี ร่วมฟังบรรยายจาก ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล 

ความเหมือนกันที่แตกต่างของอุบลราชธานี

ผมมาอุบลฯ แต่ความต่าง คือ ผมไปทั้งอุบลฯ (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) ไปวลัยลักษณ์ (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) ไปนเรศวร (มหาวิทยาลัยนเรศวร) ไปสารคาม (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ไปอีก 3-4 ที่นะฮะ ระดับความน่ารำคาญอาจจะต่างกัน เพราะคนที่ผมคุยด้วยไม่ใช่คนเดียวกัน ก็เป็นไปได้ ซึ่งอย่างที่บอก ผมไม่ได้พยายามทำวิจัย Side reflect research เพียงแค่พยายามจะสังเกต พยายามจะฟังว่าพรรคพวกเพื่อนฝูงที่เป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์เขาอยู่ยังไงบ้าง

ผมมาอุบลฯ ผมได้รู้บางอย่าง ซึ่งไม่เหมือนที่อื่น ไม่ใช่ว่าที่อื่นต้องแย่ไปหมด ไม่ แต่ละที่ก็จะมีด้านที่แตกต่างกัน และรำคาญมากน้อยก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันด้วย 

ที่อุบลฯ ผมเห็นบางอย่างของอุบลฯ ที่พบเห็นได้ต่ำกว่าปกติ คงไม่ได้แปลว่ามันดีกว่า เพราะปัญหาหลายอย่างก็มีอยู่เหมือนกัน แต่ผมกลับเจอ Sense ของเรื่องพลัง ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าที่นี่เขาเอาพลังกันมาจากไหน อันนี้ก็เป็นปริศนาของผมให้ผมยังอยากที่จะรู้..

ผมรู้แค่ว่าแต่ละคนหงุดหงิด

แต่ว่าแต่ละคนนั้น จะเรียกว่า เรียกอย่างรวมๆ อย่างไม่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ได้ว่า ‘เหมือนกับว่าคุณ.. คุณสู้ คุณต้องกระหายทางออกอย่างที่คุณเป็น..’ ที่อื่นก็มีอย่างที่บอกแล้ว แต่ว่าความรู้สึกคงไม่ชัด แต่ที่นี่ ถ้าพูดกันง่ายๆ ก็คือว่า ระหว่างที่มันรำคาญนั้น จะไม่มาด้วยอารมณ์ ด้วยความเคียดแค้น อยากจะลาออก..

‘ที่นี่พูดไป หัวเราะไป ยิ้มไป เย้ยไป ทำนองนั้น..’ ที่นี่เป็นอย่างนั้น สิ่งที่ผมเห็นเป็นทำนองนั้น..

ระหว่างงานบนหอคอยงาช้าง กับ กิจกรรมทางการเมืองเพื่อการเปลี่ยนโลก..

ขอตอกย้ำ “เราเปลี่ยนโลกได้” 

เมื่อวันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม 2565 ผมพูดถึงไอเดียเรื่องหอคอยงาช้าง พูดถึงว่า เราต้องเปลี่ยนแปลง สองอย่างนี้มันควรเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันเมื่อวาน ผมได้พูดเรื่องนี้ที่ ‘ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย’ ว่า มันเชื่อมกันระหว่างงานบนหอคอยงาช้างและความเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมได้ขยายความไปเมื่อวานว่า คือแต่ละคนจะเห็นว่า ทั้งการพยายามศึกษา ตั้งคำถามแหลก แหวกกรอบ หาทางทะลุขนบอย่างการเป็นงานหอคอยงาช้าง กับการทำงาน Activist การทำกิจกรรม การต่อสู้ทางการเมือง.. ‘มีจุดร่วมกัน..’

สิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวผม ซึ่งได้อธิบายเมื่อวานไปแล้วขอย้ำอีกที.. จุดร่วมกันก็ คือ ความเชื่อว่า

“เราเปลี่ยนโลกได้..” คราวนี้ธงชัยพูดด้วยน้ำเสียงที่นิ่งสงบ 

ก่อนจะกล่าวต่อว่า เพราะเชื่อว่า เราเปลี่ยนโลกได้สิ จึงกล้าหาญตั้งคำถามฉิบหายเลย.. รวมทั้งคำถามที่อาจจะดูเหมือนไม่มีประโยชน์โดยตรง.. จึง ‘กล้า’ ปฏิบัติการทางการเมือง ไม่ว่าคุณจะคิดว่ามันจะ ‘จบที่รุ่นเรา’ หรือคุณจะคิดอย่างผมว่า ผมไม่แคร์ว่ามันจะจบที่รุ่นเราหรือไม่ เพราะผมคิดว่ามันยาก

สปิริตอันนี้ผมคิดว่า คุณอาจจะไม่คิดถึงขนาดนี้ ซึ่งมันฟังดู ‘อหังกา’ นะ แต่ก็ฝากนิดนะว่า

“ถ้าไม่เคยคิด ก็ไม่เห็นแปลกเลย แต่คิดมั่งก็ดี.. “

จากนั้นก็ธงชัยหัวเราะออกมาอย่างเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความ ‘อหังกา..’

ไปบ้านสะพือครั้งแรก 

ผมได้ไปสะพือ (บ้านสะพือ ตระการพืชผล) วันอังคาร (16 สิงหาคม2565 ) จากนั้นวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ก็ไปอำนาจเจริญ ซึ่งทั้งสองวันเนี่ยมันอยู่ในโปรแกรมตั้งแต่เริ่ม ซึ่งเราพูดในเรื่องที่มันเป็น ‘หอคอยงาช้าง..’ ซึ่งผมว่า มัน เข้าท่าดี คือ ธงชัย คุณมักจะเรียกผมว่า เป็นนักวิชาการระดับโลก แต่ในระหว่างที่มาอุบลฯ นี้เองที่คุณเอาผม “Down to Earth” ซึ่งเป็นการกล่าวไปด้วยความขบขันมีชีวิตชีวา..โดยการลากผมลงสู่ดิน.. ลากผมไปดู

“จุดที่คนสามร้อยกว่าคนถูกฆ่า..” เป็นจุดที่เกิดการ ลุกฮือของขบถผีบุญ ซึ่งผมรู้จัก ผมพอจะรู้เบื้องลึก แต่ผมไม่เคยรู้จักที่และไม่เคยได้ไป ผมได้ยินเรื่องขององค์มั่น ได้ยินเรื่องนายฮ้อย ผมได้อ่านหนังสือมาแล้ว แต่ผมไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นตรงนี้ และไม่เคยรู้ว่า ชาวบ้านแถวนี้คิดยังไง ไม่รู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของคน Generation ไหน ซึ่งนี่ผมถือว่าเป็นการ Down to Earth อย่างหนึ่งนะฮะ..

Down to Earth ที่ว่าผมต้องตอบตัวเอง คล้ายๆ ว่าเขกหัวตัวเอง ซึ่งผมก็ไม่ได้เขกจริงๆหรอก แต่ผมนั่งมาในรถแล้วนึกๆ ตลอดว่า “นี่แหละคือความเป็นจริง..”

แม้ว่านี่เป็นครั้งแรก แต่ไม่ต้องห่วงว่าผมจะเกิดปัญหานะ ผมไม่ได้มีปัญหาทางใจเลย เพราะผมเจอปัญหานี้มาเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ตอนเลือกจะมาหนทางนี้ ที่ผมบอกไปเมื่อกี้ว่า การทำงานหอคอยงาช้าง กับงานเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สำหรับผม ผมคิดมานานแล้วว่า

“มันเป็นสิ่งที่ ไม่แต่เพียงว่าไปด้วยกันได้.. มันต้องทำทั้งสองอย่าง..”

คนไหนไม่เข้าใจนักกิจกรรมเนี่ย ผมเคยถูก Activist ด่าต่อหน้าคนมาแล้ว ถ้าเป็นผมสมัยก่อนผมคงด่ากลับไปหาเขา ซึ่งสมัยหลังเขาก็มาด่าว่า “อาจารย์ทำอะไร ไม่เห็นมีประโยชน์เลย..” ก่อนที่จะกล่าวด้วยอารณ์ขันต่อไปอีกว่า

เขาก็ถูก มันก็ไม่มีประโยชน์จริงๆ แหละ เพราะความคิดของผม คือ มันต้องทำทุกอย่างเหล่านั้นไปด้วยกันเท่าที่เราจะสามารถทำได้ แล้วผมก็พยายามทำตัว ซึ่งอาจจะไม่ใช่ให้เป็นตัวอย่าง ผมพยายามทำไปด้วยที่ว่า ยังสนใจการเมือง อาจจะไม่เป็น Activist อีกต่อไป แต่กับงานที่เป็นงานหอคอยงาช้าง เพราะผมเชื่อว่า “ผมเปลี่ยนโลกได้” แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งเล็กๆ ไม่มากไม่น้อยอะไร ซึ่งผมก็ไม่แคร์…

สปิริตเหล่านี้เอง ที่ลากผมลงดิน ผมขอบคุณมาก… ขอบคุณจริงๆ ผมประทับใจเป็นอย่างมาก..แต่ผมถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หวั่นไหวอะไรเลยกับสิ่งเหล่านี้นะ ที่คุณดึงผมลงมาดิน เพราะเมื่อผมกลับถึงบ้าน ผมก็กลับขึ้นหอคอยงาช้างของผมแล้ว 

แต่มันได้ช่วยให้ย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า ทั้งสองฟาก ต้องตระหนัก ให้มันไปด้วยกันได้ ถ้าเราคิดจะเปลี่ยนโลก เราก็เดินไปตามแบบของเรา

แล้วไม่ว่าคนจะเข้าใจไม่เข้าใจ ผมก็ต้องขอบคุณ แล้วผมก็จะเดินไปตามทางของผมอยู่ดี เพราะผมเชื่อว่ามันไปด้วยกันได้ และมันต้อง.. ไปด้วยกันได้เสมอ

Down to Earth ขอติดดิน 

การที่ผมได้ Sense Energy จากพวกเราและให้ผมมา Down to Earth อย่างน้อยท่ามกลางงานหอคอยงาช้าง คุณอาจจะบอกอะไรผมสารพัด แนะนำผมสารพัด ซึ่งผมบอกได้แค่ว่า ผมนับถือพวกคุณ.. คุณอยู่ในสภาพแบบนี้ งานวิชาการ งานวิจัยไม่จำเป็นต้องทำแต่หอคอยงาช้าง แต่ที่ผมพยายามจะบอกหลายคนคือ ‘อย่าปฏิเสธ อย่าด่าหอคอยงาช้าง อย่าด่าในแบบสุ่มสี่สุ่มห้า..’

แต่สิ่งที่พวกคุณทำ ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนที่ผมทำก็ได้ คิดแหวกกรอบหน่อย คิดหาทางอื่นออกหน่อย ทางเลือกใหม่แล้วทำออกมาในแบบตัวเอง. ซึ่งผมคิดว่านั่นน่าจะ ใช้ได้ละ..

สำหรับนักศึกษา ผมอยากจะบอกคุณว่า พวกคุณมีอาจารย์ที่กล้าหาญ.. ไม่มีสักคนเป็น Super human ไม่มี มีแต่ “มนุษย์” ที่ดีๆ ชั่วๆ ตามประสา ไม่สามารถทำดีทุกอย่างได้แม้กระทั่งสิ่งที่ “วิชาชีพ” เรียกร้องให้อาจารย์ของคุณเป็น..ผมบอกได้อย่างนึงว่า อาจารย์คุณเนี่ย ใจใหญ่พอ อย่างน้อยนี่คือสิ่งที่ผมเห็นที่อุบลฯ อย่างที่ผมบอกว่า

ขณะที่ Frustrated complain บ่น ก็บ่นแบบแดกดัน บ่นแบบเยาะเย้ย ถากถาง ซึ่งผมนับถือนะ 

ด้วยความที่ว่า อาจารย์ของพวกคุณมี Commitment มีการลงหลักปักใจ มุ่งมั่นว่า จะทำสิ่งที่แต่ละคนได้รับมอบหมาย แล้วทำเป็นวิชาชีพให้ดีที่สุด ก็ต้องบอกว่า

“พวกคุณโชคดี ที่มีอาจารย์แบบนี้..”

image_pdfimage_print