การชุมนุมประท้วงทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาไม่เพียงสั่นคลอนอำนาจของรัฐบาลทหารไทยเท่านั้น แต่ยังเปิดจินตนาการของชาวอีสานให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะการถูกเอารัดเอาเปรียบ และการด้อยค่าชาวอีสานจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เกิดการรวมตัวของเครือข่ายต่างๆ ภายใต้ชื่อกลุ่มราษฎรโขงชีมูน รัสเซลล์ แชปแมน พยายามหาคำตอบว่า คนอีสานตื่นหรือยัง หลังจากตกอยู่ภายใต้การปกครองมานานกว่า 60 ปี
รัสเซลล์ แชปแมน เรื่อง
ช่วงเย็นของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ที่จังหวัดขอนแก่น หนุ่มสาวราว 20 คนนั่งล้อมวงหน้ากระดานดำใต้ต้นไม้ที่บ้านดาวดิน ซึ่งเป็นสถานพักพิงของกลุ่มดาวดิน เครือข่ายนักกิจกรรมทางการเมืองชื่อกระฉ่อน “นิติกร ค้ำชู” หรือตอง ผู้นำของขบวนการอีสานใหม่ และผู้จัดงานประชุมบอกว่ามันเป็นฉากที่ดู “คลาสสิก”
นิติกรรู้สึกตื้นตันใจ เพราะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาได้เห็นการรวมตัวกันของผู้คนจากหลากหลายกลุ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มันไม่เหมือนการรวมตัวกันของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างกลุ่มชาวนาหรือสมัชชาคนจน
บรรยากาศ ณ ตอนนั้นเต็มไปด้วยความห้าวหาญ และเปี่ยมไปด้วยความหวัง เหมือนครั้งที่เคยเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งที่บ้านดาวดิน
นิติกรสังหรณ์ใจว่า การรวมตัวครั้งนี้จะไม่เหมือนกับครั้งอื่น มันอาจถึงกับเป็นหมุดหมายสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
การประชุมครั้งนั้นมีเพียงคำถามสั้นๆ ที่พวกเขาต้องตอบว่า “เราคือใคร”
*******
สองวันก่อนหน้านั้น ตัวแทนกว่า 100 คนจากกลุ่มต่างๆ พบปะกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งในขอนแก่น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด มุมมอง และสานสัมพันธ์ทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ ซึ่งมาจากทุกทิศ ทั้งนักวิชาการ ศิลปิน สมาชิกเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ องค์กรไม่แสวงหากำไร และกลุ่มคนเสื้อแดง พวกเขาพูดคุยกันถึงสิ่งที่คนหัวก้าวหน้าในอีสานสามารถทำร่วมกันได้เพื่ออนาคตได้ โดยแทบเอ่ยถึงกรุงเทพฯ
“ปาล์ม” (ไม่ขอเปิดชื่อจริง) ผู้เข้าร่วมชาวจังหวัดสกลนคร จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปาล์ม บอกว่า สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นระหว่างการประชุม คือ “ความมุ่งมั่น” ของเหล่าผู้เข้าร่วม เมื่อพวกเขาตระหนักได้ว่า นี่คือ “ช่วงเวลาของการรวมตัวแบบใหม่” ที่กำลังเกิดขึ้นในอีสาน
“ตอนนั้นมีความรู้สึกว่า ผู้เข้าร่วมต้องการให้คนอีสานกล้าแสดงทัศนคติและความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนของพวกเขา”ปาล์ม บอก
“เราอยากจะแสดงให้เห็นถึงพลังของคนอีสานด้วยการตั้งกลุ่มนี้”
ขณะที่ พันธะสัญญา ประจำ หรือโอเมก้า ชาวศรีสะเกษวัย 28 ปี เดินทางมาจากบ้านเกิดเพื่อเข้าร่วมการประชุม นี้แม้จะไม่มั่นใจว่า เขาจะต้องเจอกับอะไร แต่เขาได้พบกับนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมจำนวนหนึ่ง รวมถึงคนที่เคยไปเยี่ยมเยียนกลุ่มของเขาถึงที่ศรีสะเกษ
เขาบอกอีกว่า ตอนที่กลุ่มของเขาเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาล พวกเขามักจะรวมกันอยู่แต่ในกลุ่มตัวเอง ไม่เคยคิดจะไปพบปะกับกลุ่มอื่นๆ จากอีสานที่ไปชุมนุมเดียวกัน
ในวันแรกของการพบหน้า พวกเขาจับกลุ่มกันเองและพูดคุยกันอย่างเป็นเอกเทศ งานนี้ พันธะสัญญาต้องรับหน้าที่อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เขาต้องพูดเกี่ยวกับศรีสะเกษให้เยาวชนจากทั่วทั้งอีสานฟัง สำหรับเขาแล้วรู้สึกตื้นตันมาก
“ผมตื่นเต้นมาก รู้สึกมีพลังที่ได้พูดถึงศรีสะเกษและสิ่งที่เรากำลังทำ ผมรู้สึกดีมากที่ได้เห็นคนอื่นๆ ออกมาพูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองและสิ่งที่เราต่อสู้ มันเป็นการพบปะครั้งแรกกับนักกิจกรรม นักวิชาการ และกลุ่มก้อนทางการเมืองต่างๆ ในอีสาน”
พันธสัญญาประทับใจผู้คนที่ร่วมในกิจกรรม บางคนมีอายุเพียง 15 ปี แต่กลับมี “ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง” เขากล่าวว่า งานนี้เป็น “ครั้งแรกที่เราแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มของเราทุกคนและคุยกันเกี่ยวกับพวกเราในฐานะที่เป็น ‘เรา’ พวกเราแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึกและความคิดเห็นเกี่ยวกับกลุ่มเรากับกลุ่มอื่น กับนักวิชาการ และนักกิจกรรม การพบกันครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่สมาชิกกลุ่มเริ่มคุยกันถึงเรื่องการตั้งเครือข่ายร่วม”
ในวันที่สอง หลังจากการจับกลุ่มพูดคุยกันเองและกลับมารวมตัวกัน คำถามหลักที่พวกเขามีก็คือ
“เราคือใคร”
พวกเขาไม่มีคำตอบ
เมื่อไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ การประชุมก็สิ้นสุดลง
*******
ยามเย็นของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 นักกิจกรรมหนุ่มสาวราว 20 คนจึงมารวมตัวกันที่บ้านดาวดินเพื่อพูดคุยถึงเรื่องนี้ต่อ
คำถามนั้นยังคงอยู่ “เรา” คือ ใคร
เราเป็นแค่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในอีสานหรือเปล่า
เราเป็น “คนอีสาน” หรือเปล่า
หลายคนไม่เห็นด้วยกับการใช้คำว่า “อีสาน” อีสาน หมายถึง “ตะวันออกเฉียงเหนือ” หรือทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ มันเป็นคำที่เจ้าอาณานิคม “ผู้กดขี่ข่มเหง” ใช้เรียกพวกเรา
“ถ้าเราไม่ใช่คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเราเป็นใครล่ะ” ใครคนหนึ่งถามขึ้น “คนลาวเหรอ” ก็ไม่ใช่ อีสานมีคนอยู่หลากหลายกลุ่ม ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงผู้ที่พูดภาษาลาวเท่านั้น
ใครคนหนึ่งเสนอว่า “แล้วโขงชีมูนล่ะ”
ชื่อ “โขงชีมูน” ก่อนหน้านี้ถูกนำมาใช้เรียกโครงการก่อสร้างเขื่อนที่กินระยะเวลาหลายสิบปีของรัฐบาล อันมีเป้าหมายเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำโขงลงมาสู่ลุ่มแม่น้ำชี-มูล
แต่ชื่อนี้ก็ช่วยทลายกำแพงของเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน
หนุ่มสาวที่นั่งล้อมวงกันอยู่ส่งเสียงเชียร์ เราคือใคร เรา คือ “ราษฎรโขงชีมูน”
นิติกร กล่าวว่า เขารู้สึกว่า มีสิ่งใหม่ถือกำเนิดขึ้น สิ่งที่เขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน ขณะนี้กลุ่มหลากหลายกลุ่มในอีสานรวมตัวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว
ปาล์ม บอกว่า ชื่อโขงชีมูนถูกคิดขึ้นมาอย่างรอบคอบ เพราะกลุ่มของพวกเขาไม่ต้องการใช้ชื่อที่มีความ “แบ่งแยก” ทางชาติพันธุ์ ผลิตซ้ำวาทกรรมของอาณานิคมไทย หรือชื่อที่ “ด้อยค่า” คนอื่นๆ ส่วนพันธสัญญารู้สึกว่าชื่อนี้เป็นชื่อที่ดี เพราะ “วิถีชีวิตของคนอีสานผูกพันใกล้ชิดอยู่กับแม่น้ำสามสายนี้”
ขบวนการใหม่เอี่ยม หรือเป็นของเก่าดั้งเดิม
การตอบคำถามว่า “เราคือใคร” ในอีสาน เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมากนักหรือ
อาจจะใช่หรืออย่างน้อยก็ใช่สำหรับ “รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์”อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ศึกษาวิจัยขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สมชัย บอกว่า ความคาดหวังของคนอีสานต่อประชาธิปไตยและพัฒนาการทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเบ่งบานขึ้นตลอดช่วงทศวรรษที่ 2470 และ 2480 ส่งผลให้คนรุ่นหนึ่งผันตัวมาเป็นนักการเมืองหัวเอียงซ้ายที่ใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีขึ้น
“หลังจากปี 2500 คนอีสานเกิดความรู้สึกผิดหวังและขุ่นเคืองต่อเรื่องการเมือง ผู้นำทางการเมืองของอีสานก็รู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน และคิดว่ามันไม่ยุติธรรมที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ไม่ลงมาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในภาคอีสาน”
เตียง ศิริขันธ์ เป็นหนึ่งในนักการเมืองและนักกิจกรรมชาวอีสานนับร้อยๆ คนที่ถูกฆ่าหรือจำคุกตั้งแต่ปี 2492 ถึงช่วงทศวรรษ 2500 ที่มา: เว็บไซต์ ตามหาคนหาย
อ่าน: พลังคนรุ่นใหม่ – ประวัติศาสตร์เล่าขาน: วีรชนประชาธิปไตยแห่งสกลนคร (12)
เขากล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ กับภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศนั้นเห็นได้ชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แต่รัฐบาลเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงทศวรรษ 2500 กวาดล้างทุกร่องรอยแห่ง ความเป็นประชาธิปไตยไปจนหมดสิ้น ชาวอีสานที่ก่อความไม่สงบเรียบร้อยถูกจับกุมคุมขัง คนอื่นๆ เช่น ครอง จันดาวงศ์ ถูกประหารชีวิต ประกายความคิดใดๆ เกี่ยวกับภูมิภาคนิยมและอัตลักษณ์ความเป็นอีสานถูกบดขยี้ไม่เหลือซาก
นักกิจกรรมชาวอีสานมีบทบาทอยู่บ้างระหว่างการลุกฮือของขบวนการนักศึกษาในช่วงปี 2516 – 2519 พวกเขามีความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 2520 และ 2530 ซึ่งมีหลากหลายขบวนการ อย่าง สมัชชาคนจน ก็ถือกำเนิดขึ้น นอกจากนี้สมชัยยังย้ำว่า ขบวนการเหล่านี้ไม่เคยแสดงออกถึงความเป็นภูมิภาคแต่อย่างใด
แม้ผู้คนจากภาคอีสาน ไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างไร ต่างก็ไม่เคยได้รับการยอมรับว่า เป็นคนไทยอย่างแท้จริง สมชัยสังเกตเห็นว่า ชาวอีสาน “ถูกกีดกันมาตั้งแต่ต้น แม้แต่ครูหรืออาจารย์จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็โดนดูถูกและมองว่า ‘ด้อยพัฒนา’ เมื่อเทียบกับครูจาก [ภาคอื่นๆ ของประเทศ]”
สมชัยดูจะเห็นด้วยว่า การดูดกลืนคนในสังคมของรัฐบาลไทยด้วย “ความเป็นไทย” นั้นประสบความสำเร็จ ผ่านความจำยอมต้องโยกย้ายถิ่นฐาน เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจ การนำเสนอของสื่อกระแสหลักและวาทกรรมของฝ่ายชาตินิยม คนอีสานจึงไม่เคยเห็นตัวเองเป็นอะไรอย่างอื่นนอกจากพลเมืองชั้นสอง ในกรุงเทพฯ คนอีสานพูดและแสดงออกอย่าง “ไทย” ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อบดบัง “ความเป็นอีสาน” ของตนเอง
ขบวนการรากหญ้าปลุกอีสานให้ตื่นจากหลับใหล
เมื่อทักษิณ ชินวัตรได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เขานำการเมืองของประเทศไทยเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ รัฐบาลของเขาริเริ่มนโยบายสำคัญๆ อย่างเช่น การประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งพลิกฟื้นชีวิตของผู้คนที่อาศัยในพื้นที่นอกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาคเหนือ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา รวมทั้งภาคอีสานที่มีประชากรหนาแน่นกว่า
นโยบายของเขาสร้างความภักดีจากผู้คนในภูมิภาคเหล่านี้ กลายมาเป็นฐานที่มั่นสำคัญในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง หลังจากรัฐบาลของทักษิณถูกรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2549
การคัดค้านการรัฐประหารในครั้งนั้นส่วนมากเกิดขึ้นรอบนอกของกรุงเทพฯ แต่ในช่วงต้นทศวรรษ 2550 กลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มลุกขึ้นต่อต้านกลุ่มคนเสื้อเหลือง ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีฐานที่มั่นอยู่ในกรุงเทพฯ
หลังช่วงปลายทศวรรษ 2540 ขบวนการนักศึกษาและบทบาทขององค์กรไม่แสวงหากำไรในฐานะผู้ที่เป็นปากเสียงให้กับคนยากคนจนและผู้เรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมนั้นดูจะเลือนหายไป จนเกือบหมดสิ้น แต่กลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยอีกหลายกลุ่มก็ถือกำเนิด ในขณะเดียวกับที่กลุ่มคนเสื้อแดงสร้างพื้นที่ใหม่ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้น
เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้เขียนบทความวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ให้ข้อสังเกตว่า มีนักศึกษาบางส่วนเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงเมื่อปี 2553 “แต่พวกเขามาอย่างไม่เป็นทางการและมีจำนวนน้อย ไม่เหมือนกับช่วงทศวรรษ 2510”
กลุ่มหนึ่งที่เติบโตขึ้นอย่างมีชีวิตชีวาในห้วงของความเคลื่อนไหวดังกล่าว คือ กลุ่มดาวดิน ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2547 กลุ่มดาวดินทำงานร่วมกับชุมชนในอีสานอย่างใกล้ชิด และหลายชุมชนนั้นได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองและผลกระทบจากจัดการป่าไม้ของรัฐบาล
ระหว่างช่วงปี 2553 ถึง 2557 กลุ่มดาวดินเริ่มแสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจนมากขึ้น เช่น การชูสามนิ้วอย่างในภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาลและเคลื่อนไหวต่อต้านประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และการประกาศใช้กฎอัยการศึก กลุ่มดาวดินกลายเป็นกลุ่มแรกๆ ในภาคอีสานที่ตกเป็นเป้าหมายของรัฐบาลทหาร และหลายชุมชนในอีสานที่เคยทำงานร่วมกับกลุ่มดาวดินก็มีคนจากกองทัพเดินทางมาเยือนถึงที่ “นิติกร” ผู้นำกลุ่มอีสานใหม่ กล่าวว่า “หลังการรัฐประหาร เรารู้สึกว่า หลายพื้นที่ที่เราเคยไปทำงานในภาคอีสานกลับกลายเป็นพื้นที่ที่น่ากลัวขึ้นมา เพราะทหารได้เข้ามาแทรกแซงและข่มขู่ชาวบ้าน”
ตอนนั้นเป้าหมายของกลุ่มดาวดินได้มุ่งไปที่ประเด็นทางการเมืองมากขึ้น นิติกร กล่าวว่า “เราเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารเชิงสัญลักษณ์ อย่างเช่น การชูสามนิ้ว หลังจากนั้น เราก็ถูกรัฐบาลทหารไล่ล่าและจับตามอง”
เขาบอกว่า กลุ่มรู้สึกถูกกดขี่คุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ “เราจึงตัดสินใจว่า เราต้องการเครือข่ายที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน นักศึกษา และคนอีสาน” ด้วยการจัดตั้งกลุ่มอีสานใหม่ขึ้นมาเพื่อทำงานเชิงชุมชนและเชิงการเมืองของกลุ่มดาวดินสอดประสานเข้าด้วยกัน กลายเป็นขบวนการที่ทำงานในสองระดับ “…ในกระบวนการจากชั้นบนและชั้นล่าง” ในการทำงานระดับชุมชนท้องถิ่น อีสานใหม่จะ “ส่งเสริมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน” ในขณะที่การทำงานเชิงการเมืองจะมุ่งเน้นไปที่ “โครงสร้างของนโยบายต่างๆ”
ลำดับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาเมื่อปี 2563โดยกลุ่มต่างๆ ก่อนจะมารวมตัวกันเป็นราษฎรโขงชีมูน ภาพ: กลุ่มราษฎรโขงชีมูน
แต่กลุ่มดาวดินไม่เหมือนกับกลุ่มนักศึกษาทั่วๆ ไปในอีสาน เสาวนีย์ กล่าวว่า ก่อนจะเกิดการรัฐประหารปี 2557 ไม่พบเห็นว่า มีขบวนการกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวในฐานะขบวนการทางการเมืองอย่างจริงจังมากนัก
หลังการรัฐประหาร 2557 รัฐบาลทหารเร่งร่างและประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญใหม่เพื่อสืบทอดอำนาจของตัวเอง ด้วยการตั้งแต่งสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดและกำหนดวิธีคำนวณคะแนนการเลือกตั้งที่คลุมเครือเพื่อเอื้อให้ผลลัพธ์ออกมาตามที่พวกเขาต้องการได้อย่างง่ายดาย เมื่อรัฐบาลใหม่รู้สึกว่าสามารถกุมอำนาจได้อย่างมั่นคงแล้ว การเลือกตั้งทั่วไปจึงถูกจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2561
แต่ผลการเลือกตั้งในวันครั้งนั้นกลับกลายเป็นเรื่องคาดไม่ถึง โดย พรรคการเมืองน้องใหม่ฝ่ายประชาธิปไตย อย่าง พรรคอนาคตใหม่ ทำคะแนนออกมาได้ดีเกินคาด แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร ใช้เวลาหลายสัปดาห์ต่อมาชักใยผลคะแนน เพื่อกำจัดพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงอิทธิพลทางการเมืองอื่นๆ ที่พรรคมีอยู่ และรักษาอำนาจไว้ให้กับรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐประหาร
อ่านเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษที่นี่ Isaan becomes Khong Chi Mun: the reawakening of “Isaan” as a political entity after 60 years (Part I)
(ติดตามตอน 2 สารคดีพิเศษ โดยรัสเซลล์ แชปแมน ว่าด้วยอนาคตของกลุ่มราษฎรโขงชีมูล)
รัสเซลล์ แชปแมน เป็นนักศึกษาปริญญาโทจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเป็นนักศึกษาฝึกงานที่เดอะอีสานเรคคอร์ด