เครดิตแฟ้มภาพ: กลุ่มราษฎรโขงชีมูน
ในตอนที่ 1 รัสเซลล์ แชปแมน สำรวจสำนึกในภูมิภาคอีสานที่ถูกปลุกขึ้นมา โดยการชุมนุมประท้วงของคนรุ่นใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งถูกจุดชนวนจากการสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ทว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ยังคงดำเนินเรื่อยมา แม้เวลาผ่านไปกว่าปีครึ่ง แต่ยังคงต้องจับตาว่า ความตื่นตัวนี้จะแผ่วลงหรือไม่
รัสเซลล์ แชปแมน เรื่อง
หลังจากการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 สองเดือน ถือเป็นสองเดือนที่เต็มไปด้วยความพิลึกพิลั่น ในตอนเช้า ปาล์ม (นามสมมติ) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้าโทรศัพท์ขึ้นมาเปิดดูแทบจะทันทีหลังตื่นนอน ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง วันประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
หลายหลากเหตุผลชี้ว่า พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยควรได้รับชัยชนะในศึกนี้ แต่ถึงกระนั้นผู้จัดการเลือกตั้งครั้งนั้นก็คือ รัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร ซึ่งแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ตอนนั้นเธอคิดว่า บางทีพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกกดขี่มาตลอดแปดปี หลังการเลือกตั้งทั่วไป อาจได้รับชัยชนะในท้ายที่สุด
ทุกสื่อโซเชียลมีเดียที่ปาล์มเปิดดู ไม่ว่าจะเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิล ล้วนแสดงผลอย่างเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเกิดจากการสนับสนุนของกองทัพ กลับเป็นพรรคที่คว้าชัยในการเลือกตั้ง
เราไม่ประหลาดใจเลยด้วยซ้ำ ปาล์มคิดอย่างหดหู่
รัฐบาลมีความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจของตัวเองอย่างเห็นได้ชัด ปาล์มบอกว่า “มีชื่อคนที่ตายไปแล้ว อยู่ในบัตรเลือกตั้งด้วยซ้ำ รัฐบาลนี้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อจะชนะ”
นิติกร ค้ำชู หรือตอง สมาชิกคนแรกๆ ของกลุ่มดาวดิน และผู้นำของกลุ่มอีสานใหม่ ก็รู้สึกหดหู่ใจไม่แพ้กัน “ผมรู้สึกว่า [ผลการเลือกตั้ง] มันถูกโกงแบบซึ่งๆ หน้า เพื่อช่วยให้พรรคพลังประชารัฐเป็นฝ่ายชนะ”
สำหรับเขาแล้ว มีอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าประหลาดใจเป็นพิเศษ “ผมแปลกใจที่พรรคอนาคตใหม่และพรรคหัวก้าวหน้าอื่นๆ ได้รับคะแนนเสียงมากกว่าที่คาดไว้” แม้แต่ในเขตการเลือกตั้งที่เป็นฐานเสียงของพรรคอื่นมาก่อน
ปาล์มและนิติกรอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น พวกเขาเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่หลายล้านคนทั่วประเทศที่ต้องตื่นมาพบกับข่าวร้ายในเช้าวันนั้น จริงๆ แล้วพรรคฝ่ายประชาธิปไตย อย่าง พรรคอนาคตใหม่ได้รับชัยชนะ ซึ่งถือเป็นพรรคขวัญใจคนรุ่นใหม่ด้วยนโยบายหัวก้าวหน้า ทำคะแนนได้ดีทีเดียว ผลงานของพรรคทำให้คนหนุ่มสาวมีความหวังมากขึ้นต่ออนาคตที่พวกเขาใฝ่ฝัน
เช้าวันนั้น พรรคฝ่ายประชาธิปไตยถูกริบเอาชัยชนะที่พวกเขาสมควรจะได้รับไปและมันน่าเจ็บปวด แต่ปาล์มและนิติกรก็ไม่รู้เลยว่า แต่หลังจากนั้น 9 เดือนพวกเขาจะต้องเจ็บปวดกว่าเดิม
*******
การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ถือเป็นโอกาสครั้งแรกในชีวิตของคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ไม่ถูกทำให้เป็นโมฆะจัดขึ้นเมื่อปี 2554 พวกเขาบางคนยังเป็นเพียงเด็กตัวเล็กๆ เท่านั้น
ภาพจำเดียวในระบอบการเมืองของเยาวชนไทย คือ ระบอบเผด็จการ พวกเขาจึงมีความโหยหาประชาธิปไตยอย่างแรงกล้า เพื่อให้ได้ประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิม สู่อนาคต พรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นมาอย่างตรงตามเป้าประสงค์นี้ นี่คือพรรคน้องใหม่ที่มีผู้นำอายุน้อย กล้าหาญ ต่อต้านการรัฐประหาร และต่อต้านกองทัพ พรรคอนาคตใหม่มีความทันสมัย ทั้งในแง่วิสัยทัศน์และนโยบาย นี่คือพรรคการเมืองรูปแบบใหม่ เช่นเดียวกับที่พรรคไทยรักไทยเคยเป็นในยุคก่อน
ผู้ที่มีความคิดหัวก้าวหน้า ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างรู้สึกชอบใจพรรคนี้ และสัญญาที่พวกเขาจะนำการเมืองรูปแบบใหม่มาสู่ประเทศไทย พรรคนี้ทำให้นักการเมืองหัวเก่าต้องตกตะลึงในวันเลือกตั้ง เพราะสามารถทำคะแนนได้ดีเกินคาดหมาย พรรคอนาคตใหม่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายอนุรักษ์นิยมประหลาดใจ และหวั่นว่า เส้นทางการสืบทอดอำนาจของตนกำลังถูกสั่นคลอน กองทัพต้องปรับกลยุทธ์การคำนวณผลเลือกตั้งใหม่อีกครั้งเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเอง หลังวันลงคะแนน แต่ผ่านไปหนึ่งเดือน พวกเขาก็คิดสูตรใหม่ออกมาได้สำเร็จเพื่อรักษาเก้าอี้เอาไว้
ถึงกระนั้น ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยก็หวาดหวั่นเป็นอย่างยิ่ง และเหล่าผู้นำก็จะไม่ยอมเสี่ยง การผลักให้พรรคอนาคตใหม่ไปเป็นพรรคฝ่ายค้านนั้นยังไม่เพียงพอ พวกเขาจำเป็นจะต้องกำจัดแกนนำของพรรคอนาคตใหม่ให้สิ้นซาก รวมถึงหัวหน้าพรรคอย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ด้วยการใช้คำสั่งศาลห้ามเขาลงเล่นการเมือง และยุบพรรคอนาคตใหม่ลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563
แต่เหล่าผู้มีอำนาจประเมินผู้สนับสนุนของพรรคอนาคตผิดไปอย่างไม่รู้ตัว พวกเขาได้กระตุ้นให้เกิดพลังขับเคลื่อนขบวนการทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ภายในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังการยุบพรรคมีการชุมนุมเกิดขึ้นเกือบทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
นิติกร บอกว่า พรรคอนาคตใหม่ มีแนวคิดก้าวหน้ามากและตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ ‘จะไม่ทน’ พรรคอนาคตใหม่ทำให้คนที่หมดหวังกับอนาคตของประเทศตัวเองกลับมามีความหวังอีกครั้ง คะแนนเสียงเลือกตั้งมากมายที่พรรคได้รับ จึงพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้คนมีความหวังต่อพรรคและอนาคตของพวกเขา
พรรคอนาคตใหม่ได้รับคะแนนเสียงเกือบ 6 ล้านเสียง คำสั่งยุบพรรคถือเป็นการลิดรอนเสียงและปิดปากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งเกือบ 6 ล้านคนนี้ ซึ่งหลายคนเป็นคนอีสาน
เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชี้ว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่เป็น “การจุดชนวน” ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาระลอกใหม่ บรรดานักเรียนนักศึกษามีความหวังเป็นอย่างมากว่าพรรคอนาคตใหม่ “จะนำประเทศไปในทิศทางที่ถูกที่ควรได้”
เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เสาวนีย์กล่าวว่า นี่คือ “ฟางเส้นสุดท้าย” หลังนักเรียนนักศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่ “ใช้ชีวิตยาวนานหลายปีภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร”
ในทันทีทันใด ความหวังของคนรุ่นใหม่ต่ออนาคตที่พวกเขาต้องการก็ดับลง
“คนหนุ่มสาวเหล่านี้โมโหและโกรธหนักมาก… พวกเขาเลือกแล้ว พวกเขาอยากได้ [พรรคอนาคตใหม่] เพื่อชีวิตของพวกเขา แต่ผู้มีอำนาจกลุ่มเดิมกลับขยี้อนาคตและความหวังของพวกเขาจนสิ้นซาก” เสาวนีย์กล่าว “เพียงเท่านี้ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้พวกเขาออกมาพูดว่า ‘เดี๋ยวนะ เราก็เป็นประชาชนของประเทศนี้และเราอยากเลือกตั้ง เราเลือกผู้นำของเราแล้ว และคุณกลับมาทำแบบนี้อีกแล้ว’”
การประท้วงครั้งแรกๆ ของนักศึกษาถูกจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งวันถัดนั้นก็มีการชุมนุมอีกมากมายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ
นักเรียนนักศึกษารวมตัวกันในขอนแก่นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แฟ้มภาพ: อติเทพ จันทร์เทศ
ปฏิภาณ พลมาตร หรือตุ๊กตุ๊ก นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ศึกษาวิจัยขบวนการนักศึกษา กล่าวว่า การประท้วงเหล่านี้แสดงให้เห็นถึง “จุดเปลี่ยนที่ชัดเจนของขบวนการนักศึกษา มันเป็นช่วงเวลาที่นักเรียนนักศึกษามารวมตัวกันอย่างรวดเร็วด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวครั้งนี้”
รัฐบาลอาจหวังอยู่ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการปิดประเทศจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้นักเรียนนักศึกษาออกมาชุมนุมไม่ได้ แต่การปิดประเทศเป็นเวลา 3 เดือนกลับช่วยบ่มเพาะความโกรธแค้นของพวกเขาให้กระพือหนักขึ้น คนรุ่นใหม่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแสดงความไม่พอใจผ่านแฮชแท็กอย่างเช่น #นักเรียนเลว #SaveOurFuture รวมถึงโพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊กอย่างเช่นรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส
เริ่มต้นอย่างมุ่งมั่นแรงกล้า
เมื่อถึงช่วงเดือนมิถุนายน 2563 นักเรียนนักศึกษาในกรุงเทพฯ ก็กลับลงสู่ท้องถนนอีกครั้ง ในเดือนสิงหาคม พวกเขาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันอย่างเสียงดังฟังชัดในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การชุมนุมเกิดขึ้นทั่วทั้งอีสาน โดยมีการเพิ่มประเด็นปัญหาท้องถิ่นมาอภิปรายด้วย ในขณะนั้นการชุมนุมในอีสานยังให้ความสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นหลัก
ลินดา (ไม่ขอเปิดเผยชื่อจริง) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จ .ขอนแก่น กล่าวว่า หลังเห็นการประท้วงในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่ผู้ชุมนุมถูกสลายด้วยน้ำแรงดันสูง เราเลยทนไม่ไหวแล้ว เราคิดว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง เราทนยืนดูอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เลยเข้าร่วมกับขบวนการและกลุ่มนักเรียนนักศึกษามากขึ้น”
ยุทธนา ลุนสำโรง สมาชิกคณะก้าวหน้าที่มีความใกล้ชิดกับพรรคก้าวไกล ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคามเมื่อเกือบสิบปีก่อน และเขาค่อนข้างมีความสนใจสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงภายในภาคอีสาน
“ขบวนการนักศึกษาเกิดขึ้นทุกหนแห่งที่ผู้คนมองเห็นความอยุติธรรม ความเคลื่อนไหวในปัจจุบันนี้จึงเป็นเชิงท้องถิ่นมากกว่า มันไม่ใช่ว่าผู้นำพรรคการเมืองหรือผู้นำกลุ่มนักศึกษาอย่าง ไผ่ ดาวดิน (จตุภัทร บุญภัทรรักษา) จัดแฟลชม็อบที่ขอนแก่น แล้วย้ายไปอุดร… ไม่ใช่นะ ความเคลื่อนไหวในตอนนั้นเกิดจากการที่คนในขอนแก่นจัดกิจกรรมขึ้นในขอนแก่น… ผู้คนในอุดรจัดกิจกรรมขึ้นในอุดรกันเอง”
ยุทธนาเป็นคนหนึ่งร่วมสร้างเครือข่ายระดับภูมิภาคในอีสานขึ้นมา แต่เขาก็เห็นว่า เครือข่ายระดับภูมิภาคแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“ท้ายที่สุดแล้ว ม็อบ การชุมนุมและกิจกรรมทางการเมืองก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันไม่มีความรู้สึกว่า เราต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน มันเหมือนการรวมหมู่คณะมากกว่า คนตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นตามแต่ปัญหาที่เขาและชุมชนของเขาประสบอยู่”
ถึงจะเป็นอย่างนั้น เครือข่ายราษฎรโขงชีมูนก็ยังเดินหน้าต่อไป หลังเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังจากการประกาศเปิดตัวเครือข่ายได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ กลุ่มราษฎรโขงชีมูนก็จัดการชุมนุมครั้งใหญ่ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีผู้เดินทางมาเข้าร่วมชุมนุมจากทั่วทั้งอีสาน
แม้ฝูงชนจะมีจำนวนมากพอสมควร แต่ก็ยังไม่มากพอจะปิดถนนมิตรภาพได้อย่างที่พวกเขาตั้งใจไว้ ผลลัพธ์ที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียว หลังการชุมนุมครั้งนั้น คือ หมายจับ หมายแล้วหมายเล่า ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากพวกเขาเดินขบวนไปที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมการเดินขบวนชุมนุมจากสุดชายแดนอีสานไปสู่กรุงเทพฯ
อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่นี่
มองเห็นอนาคตไหม
สำหรับนักศึกษานิติศาสตร์จบใหม่อย่างปาล์ม เหตุผลของการจัดตั้งเครือข่ายของกลุ่มความเคลื่อนไหวทั่วทั้งอีสานนั้นมีอยู่อย่างชัดเจน
“เราต้องคุยกันเกี่ยวกับปัญหาที่กระทบชาวบ้านและพื้นที่ที่พวกเราอยู่และเราต้องการกลุ่มที่สามารถสร้างความเคลื่อนไหวที่แข็งแกร่งขึ้น และขยายเครือข่ายไปให้ทั่วภูมิภาคให้ได้”
วันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา กลุ่มราษฎรโขงชีมูนเปิดตัว ขึ้นอีกครั้ง ตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ทั่วอีสานมาพบปะกันเพื่อคิดหาวิธีล้มระบอบเผด็จการและหารือเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขา ผู้เข้าร่วมต่างมีอุดมการณ์ในการรวมตัวที่เหมือนกัน นั่นคือ “การมีอำนาจเพื่อเจรจาต่อรองเกี่ยวกับนโยบายระดับชาติ”
ผู้เข้าร่วมจากอุดรคนหนึ่งบอกว่า “กลุ่มเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้นจะมีอำนาจและอิทธิพลมาก ซึ่งเราจะสามารถใช้อำนาจนี้ต่อรองกับรัฐบาลได้มากกว่าตอนที่เป็นกลุ่มเพียงกลุ่มเดียว”
กลุ่มราษฎรโขงชีมูนจัดชุมนุมเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น แฟ้มภาพ: เดอะอีสานเรคคอร์ด
ตัวแทนคนหนึ่งจากจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เครือข่ายนี้ต้องสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ไปพร้อมๆ กับร่วมแรงร่วมใจสู้ในประเด็นระดับชาติ เช่น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก
ผู้เข้าร่วมจากขอนแก่นอีกรายกล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ชุมชนและฝ่ายบริหารปกครองท้องถิ่นสามารถตัดสินใจได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น
ถนอม ชาภักดี ศิลปินผู้เพิ่งล่วงลับไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เห็นว่า การล่าอาณานิคมของรัฐไทยนั้นกลืนกินอัตลักษณ์ของภูมิภาคต่างๆ ไป
เขา กล่าวว่า “เราไม่มีโครงสร้างทางศิลปะ ภาษา หรือวัฒนธรรม” อำนาจครอบงำที่รัฐบาลกลางกรุงเทพฯ มีต่อภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรมจะต้องถูกทำลาย เพื่อสร้างพื้นที่สำหรับความหลากหลายของภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรมให้มากขึ้น
ดร.ถนอม ชาภักดี ศิลปิน ยอมรับให้ราษฎรโขงชีมูนเป็นชื่อเรียกขบวนการความเคลื่อนไหวนี้ แฟ้มภาพ: เดอะอีสานเรคคอร์ด
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่พวกเขาควรนำซอฟต์พาวเวอร์จากศิลปะและภาษาเข้ามาใช้เพื่อเสริมสร้างแนวทางให้แข็งแกร่งขึ้น เรื่องเล่าเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ควรจะถูกเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด
ถนอมกล่าวว่า “เราไม่ได้รับการปฏิบัติเหมือนคน พวกเขา [เจ้าอาณานิคมไทย] ไม่คิดว่าเราเป็นคนเหมือนกัน”
ขณะเดียวกัน บางคนก็ยังไม่เชื่อมั่นว่า ขบวนการความเคลื่อนไหวที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาคจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง เสาวนีย์เองไม่มั่นใจเสียด้วยซ้ำว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเคยมี “ขบวนการ” ใดๆ เกิดขึ้น
“ขบวนการอะไรล่ะ มันไม่มีแกนนำหรือผู้เล่นคนสำคัญ หลายกลุ่มอยู่ดีๆ ก็มารวมตัวกัน แต่ถ้าไม่มีผู้นำ เราก็เรียกว่าขบวนการไม่ได้หรอก”
เสาวนีย์ เชื่อว่า คนอีสานถูกกดขี่มาเนิ่นนานเสียจนบางคนไม่เห็นประโยชน์ของการมารวมตัวกัน “ไม่มีใครถามว่าเขาเป็นใคร ต้องการอะไร หรืออะไรทำนองนั้นเลย เพราะพวกเขาไม่มีเวลาจะมาคิดเรื่องแบบนั้น”
อย่างไรก็ตาม เสาวนีย์ก็มองเห็นปัญหา “ลองคิดดูสิ ภาคเราเต็มไปด้วยปัญหา ถูกฉวยโอกาสอยู่ตลอดเวลาและหลายๆ คนก็แค่ยอมทนไป… เราไม่ได้เรียกร้องอะไรเลย”
“อัตลักษณ์อีสานเริ่มก่อตัวขึ้นมาพร้อมๆ กับวาทกรรมชาตินิยมไทยช่วงสงครามเย็น” เสาวนีย์ กล่าว ถ้าเป็นอย่างนั้นอัตลักษณ์อีสานก็เป็นเพียงผลผลิตของอุดมการณ์ชาตินิยมของรัฐไทยเท่านั้น
สมชัย ภัทรธนานันท์ นักวิชาการ ม.มหาสารคาม ผู้ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ค่อนข้างเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งดังกล่าว เขารู้สึกว่าภูมิภาคนิยมภายในอีสาน “ยังอ่อนแออยู่มาก” ในขณะที่ “ความเป็นท้องถิ่นและสำนึกความเป็นชุมชนนั้นทรงพลังกว่ามาก”
เขาเชื่อว่าทางออกของปัญหานี้ คือ การมุ่งความสนใจไปที่กรุงเทพฯ และจัดตั้งระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงที่มอบอำนาจปกครองตนเองให้กับท้องถิ่นขึ้นมาให้ได้
จะเป็นไปได้ไหมที่จะเกิดภูมิภาคนิยมอีสานขึ้น แล้วความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันล่ะ บางที คำถามที่ดีกว่านั้นอาจเป็น “การให้ความสนใจแต่ที่กรุงเทพฯ ตลอด 90 ปีที่ผ่านมานั้นทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือไม่ คำตอบอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเปล่า หรืออยู่ในภูมิภาคอื่นๆ อย่างเช่นอีสานกันแน่”
อีสานจะลุกฮือขึ้นเพื่อเรียกร้องความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมและความเคารพซึ่งกันและกันจากกรุงเทพฯ หรือไม่
หลังจากหลับใหลมายาวนานหกทศวรรษ อีสานสะดุ้งตื่นขึ้นมาชั่วครู่ในช่วงต้นปี 2563 เพียงเพื่อจะหลับตาลงและจมอยู่ในความซบเซาทางการเมืองนี้ต่อไปหรือไม่ นี่เป็นคำถามที่ยังรอคำตอบ
อ่านย้อนหลัง จุดกำเนิดราษฎรโขงชีมูน: อัตลักษณ์การเมืองใหม่ของ ‘อีสาน’ หลัง 60 ปีแห่งความซบเซา (ตอน 1)
รัสเซลล์ แชปแมน เป็นนักศึกษาปริญญาโทจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเป็นนักศึกษาฝึกงานที่เดอะอีสานเรคคอร์ด