“สนามบินเสรีไทย คือ ความภูมิใจของชาวนาคู” เป็นข้อความที่ปลุกให้ชาวบ้านนาคูหลายร้อยคนลุกขึ้นสู้ด้วยการตบเท้าเข้ายื่นหนังสือต่อนายอำเภอเพื่อระงับยับยั้งกองทัพอากาศเข้าใช้พื้นที่สนามบินเสรีไทยด้วยการปลูกอ้อยกว่า 100 ไร่ เพื่อกลบฝังประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยไม่สอบถามชาวบ้าน

นี่จึงเป็นบทเรียนและบทสรุปบนหน้าฉากหนึ่งของการต่อสู้ของชาว จ.กาฬสินธุ์ที่สามารถปกป้องประวัติศาสตร์ชุมชนและประวัติทางการเมืองที่คนในพื้นที่มีบทบาทสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองได้อย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี 

 อัยการ ศรีดาวงศ์ เรื่อง 

กชกร บัวล้ำล้ำ ภาพ  Citizen Reporter of The Isaan Record

บนถนนดินแดงขนานไปกับอำเภอนาคู เป็นถนนที่ยาวสุดตาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้มุ่งสู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือไปทางอ่างเก็บน้ำห้วยมะโน ถนนดินแดงที่ค่อนข้างใหญ่เป็นพิเศษ แตกต่างจากถนนลูกรังหรือถนนลาดยางทั่วไป 

เพราะถนนดินแดงแห่งนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็น ‘รันเวย์’ สำหรับลงจอดและรับ-ส่งสัมภาระในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

ด้วยชื่ออันทรงเกียรติในนามขบวนการกู้ชาติว่า ‘สนามบินเสรีไทยนาคู’ และเหลือจะเชื่อว่า พื้นที่ตรงนี้กำลังจะถูกเปลี่ยนเป็นป่าอ้อยร้อยไร่..

จากหนังสือ “ขบวนการเสรีไทยที่ค่ายนาคู” ซึ่งเป็นการรวบรวมและเรียบเรียงโดย ถวิล นาครินทร์ ประธานสภาวัฒนธรรม ได้ศึกษาและสรุปเนื้อหาเกี่ยวกับพื้นที่และการมีอยู่ของขบวนการเสรีไทยที่ค่ายนาคู ซึ่งหมายรวมไปถึงการมีอยู่ของสนามบินเสรีไทยนาคูสรุปเนื้อหาไว้ว่า

“ประเทศไทยมีสถานที่ซึ่งเกี่ยวพันกับสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ สนามบินเสรีไทย อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่คนตัวเล็กตัวน้อยในวันนั้น ได้มีส่วนช่วยกู้ชาติ ช่วยเหลือเหล่าสัมพันธมิตรและขบวนการเสรีไทย จนทำให้ไทย หรือสยาม ไม่ตกเป็นผู้พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2” 

ผู้รับเหมาจากบริษัทเอกชนนำรถแบ็คโฮเข้าเตรียมปรับพื้นที่เพื่อปลูกอ้อยตามคำสั่งกองทัพอากาศบนสนามบินเสรีไทย เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 

ลานดินแดงที่อยู่ค่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านนาคู ต.นาคู อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ นั้น เป็นลานดินแดงที่มีส่วนเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยและกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งช่วยกู้ชาติให้สยามไม่ตกเป็นผู้พ่ายแพ้ในสงครามครั้งสำคัญ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลไทยส่วนกลางได้ยอมจำนนต่อกองทัพญี่ปุ่นและได้ประกาศร่วมรบในฐานะมิตรของญี่ปุ่นนั้น มีกลุ่มขบวนการเสรีไทยเกิดขึ้นและประกาศอยู่ข้างกลุ่มสัมพันธมิตร พร้อมตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น

ขบวนการเสรีไทย ได้ช่วยกองทัพสัมพันธมิตรในการลำเลียงอาวุธเข้าสู่ประเทศไทย บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่ายเสรีไทย อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ เป็นหมายหมุดสำคัญ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่บ้านนาคูในครั้งนั้นได้ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือขบวนการเสรีไทยและช่วยปกปิดไม่ให้กองทัพญี่ปุ่นล่วงรู้ 

ทางกลุ่มสัมพันธมิตรจึงสามารถใช้พื้นที่บริเวณสนามบินเสรีไทยค่ายนาคู นำเครื่องบิน/เฮลิคอปเตอร์ ลงจอด จนลำเลียงอาวุธ และต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นจนทำให้ในท้ายที่สุดญี่ปุ่นพ่ายแพ้ราบคาบ 

.

สนามบินเสรีไทยบ้านนาคู จ.กาฬสินธุ์ อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของกองทัพอากาศ 

ปัจจุบันลานดินแดงส่วนที่เคยเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์กู้ชาติไทย เป็นที่ดินในครอบครองของกองทัพอากาศ ก่อนหน้านี้ชาวบ้านในละแวกตำบลนาคู เคยประชุมและหารือกับหน่วยงานราชการท้องถิ่น โดยยื่นเสนอว่า อยากให้พัฒนาพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์การต่อสู้ของไทยเพื่อให้ประวัติศาสตร์ส่วนนี้ได้ย้ำเตือนบทบาทของคนตัวเล็กตัวน้อยในชุมชน ว่า เคยมีส่วนสำคัญในการกอบกู้ประเทศ..

การมาเข้ามาของผู้รับเหมา 

ทว่าการมาถึงของผู้รับเหมา พร้อมด้วยอุปกรณ์และยานพาหนะสำหรับรื้อถอนปรับพื้นที่ได้เคลื่อนเข้าสู่บริเวณสนามบินเสรีไทยนาคูเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 นั้น ได้สร้างความตื่นตระหนกต่อชาวบ้านในพื้นที่ เพราะเป็นการมาโดยไม่ได้นัดหมาย หารือ ชี้แจง ชาวบ้านจึงรวมตัวกันและส่งตัวแทนเข้าไปพูดคุยและตรวจสอบ 

แม้จะรู้อยู่แล้วว่า พื้นที่สนามบินอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของกองทัพอากาศ และมีการเซ็นชื่ออนุมัติโครงการโดย ผบ.บน.๒๓ โดยในโครงการอ้างว่า ต้องการปลูกอ้อยประมาณ 100 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของสนามบินเสรีไทยนาคูและมีพื้นที่อยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยมะโน ซึ่งเทศบาลตำบลนาคูได้ใช้ในการผลิตน้ำประปา 

หนังสือคำสั่งของกองบินที่ 23 อนุมัติให้ใช้พื้นที่สนามบินเสรีไทยเพื่อปลูกพืชรักษาหน้าดิน 

เนื้อความในจดหมายนี้ทำให้ชาวบ้านตระหนกว่า ความต้องการของกองทัพย่อมมีผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อชุมชน 

เมื่อสุดทางของรันเวย์ดินแดง อ่างเก็บน้ำห้วยมะโนจะสดับอยู่ตรงหน้า ฉาก ถัดจากอ่างเก็บน้ำห้วยมะโนเป็นแนวกำแพง คือ ‘เทือกเขาภูพาน’ ที่ทอดยาวตระหง่านเด่น มีเงาจากก้อนเมฆที่ตกกระทบเป็นรูปทรงอิสระดั่งก้อนเมฆบนผืนผ้าใบสีเขียว 

จากการแต่งแต้มด้วยพลังแห่งสายลมและแสงแดด ฝูงควายที่ชาวบ้านนาคูต้อนลงมาเลี้ยงให้แช่อย่างเย็นสบายในบวก (ปลัก) ควายพอดีลำตัวตามริมอ่างเก็บน้ำ เถียงนาน้อยในที่เช่ากองทัพอากาศได้ถูกใช้เป็นที่พักพิงของทั้งเด็กและผู้ใหญ่เลี้ยงควายในขณะปล่อยควายแช่บวก และป่าละเมาะรอบข้างได้กลายเป็น ‘ตลาดธรรมชาติ’ ของชาวบ้านผู้รักในการหาอยู่หากินได้ใช้สอยเป็นการหากินสืบมื้อสืบวัน 

ภาพเหล่านี้อาจจะเลือนรางและหม่นจางหายลงไป เมื่อโครงการปลูกอ้อยร้อยไร่ที่มีการเสนอจากกองทัพอากาศถูกอนุมัติ ไปพร้อมกับการอนุญาตให้รื้อถอนป่าละเมาะในเขตพื้นที่สนามบินเสรีไทยนาคู 

และนี่คือสิ่งที่อาจมาพร้อมกับการมาถึงของผู้รับเหมา

เสียงจากชาวบ้านนาคู

สุระ คลังสามผง ชาวบ้านนาคูวัย 74 ปี ในเสื้อหมากกะแหล่ง กล่าวด้วยแววตาครุ่นคิดและระลึกถ้อยคำก่อนจะเล่าความเป็นมาว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ชายคนหนึ่งมาบอกก่อนตอนไปนาว่า ให้ถางต้นไม้ออก เพราะนาของยายอยู่แถบสนามบิน เพราะจะมีรถแบ็คโฮมาไถพื้นที่ทำไร่อ้อยแล้ว

“เขาบ่บอกว่า สิมามื้อได๋ พอมื้อเช้ากะมีรถแบ็คโฮมา แล้วกะทหารลงมานำ เลยเอ้ยหมู่ไปเบิ่ง” เธอเล่าจากสิ่งที่ตาเห็น 

นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า เรื่องนี้ไม่มีใครในหมู่บ้านรู้มาก่อน ทั้งผู้ใหญ่บ้านกำนัน เขาไม่เคยถามชาวบ้านเลย มีแต่คนใส่ชุดทหารมาบอกคนที่ทำไร่มีนาในเขตสนามบินว่า จะมีรถแบ็คโฮมาไถ แต่ไม่ได้ประกาศอะไร มีแต่บอกกันปากต่อปากว่า จะมาทำไร่อ้อย 

เธอล่าย้อนถึงความเก่าความหลังเมื่อครั้งยังเยาว์วัยว่า เคยเห็นสนามบินมาตั้งแต่เกิด ถ้าไม่ได้เอาไปทำประโยชน์ก็ไม่อยากให้ทำ เดี๋ยวสิ่งสกปรกก็ไหลลงไปในน้ำ ป่าดงก็เอาไว้หาเห็ดหาอาหาร..

“ตรงนี้เหลือป่าไม่เยอะอย่าไถเลย เพราะเป็นทางใช้ไปไร่ไปนา แต่เขาบอกว่าไม่ได้ ต้องไถออกหมดถ้าอยากได้ฟืนก็ไปคุยกับคนที่จะมาไถ ถ้าทหารถ้าเจ้านายมาสะสางให้พื้นที่มันเจริญเป็นประโยชน์ก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้ามาไถป่าทำไร่อ้อยเลยไม่อยากให้ทำ”เป็นเสียงสะท้อนของผู้เฒ่าวัยชรา 

สนามบินเสรีไทยเป็นทุ่งกว้างที่ชาวบ้านนาคูใช้สัญจรและเลี้ยงสัตว์ 

“ตาวิเศษ” ชายผู้เห็นเหตุการณ์ 

ด้าน วิเศษ ภูดี ชาวบ้านนาคู วัย 70 ปี ในเสื้อคลุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯทับเสื้อสีส้ม กางเกงขากระบอกสีเทา ผมสีดอกเลาสวมแว่นตารูปทรงกลม เป็นผู้ที่เข้าเจรจรกับทางผู้รับเหมา เล่าถึงเหตุการณ์อย่างออกรสออกชาติว่า พอเห็นมีรถแบ็คโฮมาก็โทรศัพท์ประสานหานายกฯ โทรหา ส.ส.(สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) 

“ตอนนั้นผู้รับเหมาเลยบอกว่า ถ้ามีปัญหาแบบนี้ ก็จะหยุดทำก่อน ให้ทางใหญ่ผู้หลักผู้ใหญ่คุยกัน”เขาเน้นย้ำข้อความของผู้รับเหมา 

จากนั้นนายกเทศมนตรีก็ลงพื้นที่ พร้อมกับสั่งสายตรวจให้ระงับเหตุไว้ก่อน เพราะชาวบ้านกังวลว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการปลูกอ้อยจะนำผลกระทบมาสู่ชุมชน โดยเฉพาะเรื่องสารเคมีไหลลงแหล่งน้ำในอ่างมโน อันเป็นแหล่งน้ำปะปาชุมชนที่ใช้กันหลายตำบล

ความทรงจำที่มีต่อสนามบินเสรีไทยนาคู..

หลังจากเล่าถึงเหตุผลและความกังวลในผลกระทบที่จะตามมา วิเศษได้ทอดสายตาออกมาสื่อกับผู้ที่กำลังฟังว่า สนามบินเสรีไทย ถือเป็นคำขวัญอำเภอนาคู เวลางานลอยกระทงก็มีงานรำลึกที่เล่าถึงประวัติศาสตร์เสรีไทย 

“ความรู้สึกของชาวบ้าน ถ้าทหารเอางบประมาณมาทำลู่บินทำถนนให้นักท่องเที่ยวมาสะดวกก็ไม่ว่าอะไร ทุกคนอยากให้พัฒนาด้วยซ้ำ แต่นี่พอมาทำไร่อ้อยก็จะฉีดหญ้ามีสารเคมีไหลลงชลประทานชาวนาคูกินน้ำสารพิษกันหมดบ้าน”เขาโอดครวญ 

ชาวบ้านนาคูเขียนป้ายรณรงค์ไม่ให้ปลูกอ้อยบนสนามบินเสรีไทย 

เขาเสนอว่า ถ้ากระทรวงกลาโหมมีงบประมาณมากมายขนาดนั้น ทำไมถึงไม่นำมาพัฒนาและส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยการทำถนน แล้วให้คนปั่นจักรยานรอบอ่างมโน แล้วก็ทำเป็นสวนประวัติศาสตร์ 

และแล้วการเคลื่อนไหวของชาวนาคูหลายร้อยคนที่เข้ายื่นหนังสือต่อนายอำเภอนาคู จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาก็บ่งชี้ว่า พลังของมวลชนมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของสนามบินเสรีไทยเพียงใด 

เพราะการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านสามารถต้านทานและหยุดยั้งพลังอำนาจที่ไม่เห็นหัวประชาชนได้ฉันใดก็ฉันนั้น 

อ้างอิง : หนังสือ “ขบวนการเสรีไทยที่ค่ายนาคู” รวบรวมและเรียบเรียงโดย ถวิล นาครินทร์ ประธานสภาวัฒนธรรม

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/deartiktok/posts/pfbid0ne3w59wstpThaxAu3j8kEs9se7SeRsYhzRRRaBYfoJaAtDB53HCiFxArPgqo4dbBl

image_pdfimage_print