การเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งต้องการการกระจายอำนาจและการจัดการตัวเอง ใช่ว่าจะเป็นเรื่องไกลตัวและเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ ลองดูโมเดลของ “โรจาวา” ที่สร้างรัฐของตัวเองขึ้นมา กระทั่งเกิดความเท่าเทียมของทุกชนชั้น

จิรัชญา หาญณรงค์ เรื่อง

รัฐหลังการปฏิวัติดินแดนในฝันเหล่านักแสวงหาโลกใหม่ เมื่อปีที่ผ่านมามีการพูดถึงประชาธิปไตยอย่างมหาศาล ผู้คนต่างคุ้นชินกับคำว่า “ประชาธิปไตย คนเท่ากัน สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม” 

ทว่าเส้นทางระหว่างทางไปจนถึงคำ “แห่งความฝัน” เหล่านั้นยังคงดูห่างไกลจากความเป็นจริง ณ ขณะนี้ ยังดูเป็นสิ่งที่เกินจินตนาการอยู่มาก หลายคนพูดถึงการปกครองตัวเองหรือการเป็นอิสระจากรัฐส่วนกลาง ความต้องการที่จะวิ่งหนีการถูกปกครอง บังคับ ขูดรีด ข่มขู่ หรือที่ถูกเรียกกันอย่างแพร่หลายว่า “กระจายอำนาจ” 

แนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจถูกพูดถึงในสังคมไทยมากว่าทศวรรษ แต่แทบจะไม่มีรูปธรรมของการกระจายอำนาจเลย ที่ผ่านมามีความพยายามจะทำโมเดลการกระจายอำนาจในรูปแบบจังหวัดจัดการตัวเอง การผลักดันข้อเสนอในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ท้ายสุดก็ไม่อาจวิ่งหนีจากการรวมศูนย์อำนาจได้ 

เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจ การปกครองตัวเองหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “สหพันประชาธิปไตยโรจาวา” ดินแดนที่ประชาชนใช้ประชาธิปไตยทางตรงที่คนในชุมชนสามารถออกเสียงดูแลจัดการชุมชนด้วยตัวเอง โดยส่วนสำคัญหนึ่งที่ก่อให้เกิดสหพันประชาธิปไตยโรจาวานั้นมาจากการขีดเส้นแบ่งความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่

เส้นแบ่งรัฐชาติกับการเป็น“สหพันประชาธิปไตยโรจาวา

รัฐชาติ หมายถึง ชุมชนทางการเมืองที่ประชาชนมีความรู้สึกผูกพันและภาคภูมิใจ มีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติและรัฐบาลของตนเอง ส่วนใหญ่แยกองค์ประกอบพื้นฐานของความเป็นรัฐชาติไว้ 4 ประการ คือ 

1.ดินแดนที่มีอาณาเขตชัดเจน

การจะเป็นรัฐชาติจะต้องมีพื้นที่ อาณาเขต และจะต้องมีอธิปไตยเหนือดินแดน ประกอบด้วย พื้นที่ที่เป็นแผ่นดิน ที่อยู่ใต้แผ่นดิน พื้นที่เหนือน่านฟ้า รวมทั้งพื้นน้ำ การขีดเส้นแบ่งดินแดนเพื่อให้ง่ายในเชิงการจัดการทรัพยากรในภูมิภาค แต่ในบางครั้งอาจมีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ซึ่งมีการย้ายที่ทำการรัฐบาลไปยังดินแดนรัฐอื่น 

แม้ว่าบางกรณีตัวรัฐเองมีการรับรองดินแดน แต่หากรัฐอื่นๆ (ต่างชาติ) ไม่รับรอง เช่น ไต้หวัน ซึ่งมีรัฐบาลไต้หวันปกครองอยู่ ในขณะที่รัฐบาลจีนถือว่า เกาะไต้หวันเป็นจังหวัดหนึ่งของตน เป็นดินแดนที่กลุ่มก่อการ (รัฐบาลไต้หวัน) เข้าถือครองโดยมิชอบและสหประชาชาติให้การยอมรับว่าจีนมีหนึ่งเดียว ทำให้ในเวทีระหว่างประเทศ รัฐบาลไต้หวันไม่ค่อยได้รับการยอมรับว่า เป็น “รัฐ” 

การดำเนินติดต่อทางการทูตของรัฐบาลไต้หวันกับต่างประเทศจึงยากลำบาก ปัจจุบันมีประเทศเล็กๆ ไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลไต้หวันอย่างเป็นทางการ

แม้กระทั่งชาวเคิร์ด ซึ่งกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอิรัก อิหร่าน ตุรกี แม้ในประวัติศาสตร์ ในทางมานุษยวิทยา ให้การยอมรับว่า มีชนชาวเคิร์ดที่เคยเป็นอาณาจักรในสมัยโบราณ แต่ปัจจุบันพื้นที่ที่คนเหล่านี้อาศัยอยู่ได้แยกออกเป็นหลายประเทศทำให้ชาวเคิร์ดกลายเป็นพลเมืองของประเทศเหล่านี้แทนที่จะเป็นพลเมืองของรัฐ (เคิร์ด) ของตนเอง

 2.ประชากร 

ประชากรที่มีจำนวนชัดเจนอยู่อาศัยในดินแดนดังกล่าวอย่างถาวรอาจจะเป็นพลเมืองหรือ (Citizen) หรือพลแฝงจากต่างชาติ โดยสิทธิพลเมืองมีลักษณะพิเศษในบางรัฐ เช่น พลเมืองของรัฐหนึ่งในสหภาพยุโรปมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นของอีกรัฐหนึ่งที่ตนเองกำลังอาศัยอยู่

3.ความสามารถในการปกครอง

ความเป็นรัฐอยู่คู่กับการมีระบบบริหาร มีอำนาจและโครงสร้างการบริหารภายในรัฐหรือการมีรัฐบาลในการบริหารประเทศ

4.ความสามารถในการดำรงเอกราชของรัฐ

อำนาจอธิปไตยมีลักษณะเป็นอำนาจสูงสุดครอบคลุมไปทั่วอย่างบริบูรณ์ ต่อคนและทุกองค์กรในรัฐมีความมั่นคงถาวร ไม่สูญสลาย อำนาจอธิปไตยอยู่คู่กับความเป็นเอกราชของรัฐและแบ่งแยกไม่ได้

แผนที่โลกหากไม่มีการขีดเส้นแบ่งรัฐชาติ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดรัฐชาติ 

1. การขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้า   

การเปิดเส้นทางเดินเรือทำให้เครือข่ายการค้าขยายตัวขึ้น โดยเพิ่มทั้งด้านระดับการค้า ปริมาณและชนิดของสินค้า พ่อค้าและนายทุน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางด้านการค้ากลายเป็นชนชั้นที่มีบทบาทในสังคม เป็นกลุ่มคนที่มีส่วนให้การสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ด้านการเงินเพื่อไปสร้างฐานอำนาจทางการเมืองและทหารในการรวมชาติ ส่วนกษัตริย์ก็ให้ความสะดวกและความคุ้มครองแก่เหล่าพ่อค้าให้ปลอดภัยจากโจรสลัดที่คอยดักปล้นสินค้า

2. ความเสื่อมของขุนนาง

ช่วงต้นสมัยขุนนางในระบบฟิวดัลอ่อนแอลงจากการรบในสงครามครูเสดประกอบกับภาวะเงินเฟ้อทำให้ขุนนางต้องขายทรัพย์สินแก่พ่อค้า ขุนนางจึงยากจนลงจนไม่สามารถสะสมกำลังในการสร้างความวุ่นวายกับกษัตริย์ได้อีกต่อไปและยังต้องพึ่งการอุปถัมภ์จากกษัตริย์จึงได้กลายเป็นข้าราชบริพารของกษัตริย์กลายเป็นการเพิ่มอำนาจให้กษัตริย์มากขึ้นอีก

3. ความสำนึกในความเป็นชาติ   

สำนึกความเป็นชาติเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้ภาษาของตนในดินแดนต่างๆ แทนภาษาละตินซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม การเกิดขึ้นของภาษาและการใช้ภาษาของตนนั้นก่อให้เกิดความภูมิใจและจงรักภักดีต่อชาติของตนในเวลาต่อมา

4.กำเนิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ประเทศฝรั่งเศส โปรตุเกส สเปน และอังกฤษ เกิดการล่มสลายของระบบฟิวดัลประกอบกับการขยายตัวทางการค้า การกำเนิดของภาษา รวมถึงการปฏิรูปศาสนาทำให้คริสจักรแตกแยก อำนาจของพระสันตปาปาลดลงทำให้เกิดการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมีระบบการบริหารรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางและประชาชนก็ยอมรับ รวมถึงภักดีต่อกษัตริย์

แนวคิดการขีดเส้นแบ่งรัฐชาติเกิดขึ้นจากความต้องการในการควบรวมอำนาจเพื่อที่จะควบคุมทั้งอำนาจและทรัพยากรให้เป็นของรัฐชาติที่สร้างขึ้นมา แนวคิดรัฐชาติจึงถือได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการรวมศูนย์อำนาจ แม้ว่าในบางประเทศจะมีการกระจายอำนาจการปกครองไปยังท้องถิ่นให้มีสิทธิในการบริหารจัดการเองบ้างแต่ในประเทศไทยการกระจายอำนาจถูกทำให้เป็นเหมือนกับสิ่งที่บ่อนทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาติ ทำให้สูญเสียความเป็นรัฐ ความเป็นประเทศ

ด้วยแนวคิดความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่นี่เอง ที่ทำให้เกิดการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธ์ที่ถูกแบ่งออกไปใน 3 ประเทศทำให้กลายเป็นคนชายขอบของรัฐ ไม่อินกับความเป็นชาติ ถูกทำให้เป็นคนไร้สัญชาติ ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ จึงลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตัวเอง

เมื่อมีการขีดเส้นแบ่งรัฐชาติ แล้วโรจาวาเกิดขึ้นอย่างไร?

โรจาวา เขตปกตรองตัวเองที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2012 โดยชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดซึ่งเป็นประชากรกลุ่มหลัก  ชาวเคิร์ดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อินโด-ยูโรเปียนเหมือนกับชาวอิหร่าน (เปอร์เซีย) เป็นชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และภาษา นับเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่มีจำนวนมากที่สุดที่ไม่มีประเทศเป็นของตัวเอง อาศัยอยู่ทางที่ราบสูงทางตะวันตกของภูมิภาคตะวันออกกลางและที่ราบลุ่มระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส อาณาบริเวณที่ชาวเคิร์ดอาศัยอยู่ กินพื้นที่นับแต่ตุรกี อิรัก อิหร่านซีเรีย มีจำนวนประชากรราว 30-40 ล้านคน กระจัดกระจายในอาณาเขตของหลายประเทศ 

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสงบลงชาวเคิร์ดก็จะได้มีประเทศเคอร์ดิสถานตามสนธิสัญญาแซฟส์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามได้บังคับให้สุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมันลงนามในสนธิสัญญาแซฟส์แล้ว แต่เกิดการปฏิวัติขึ้นภายในอาณาจักรออตโตมันและมีการก่อตั้งประเทศตุรกีขึ้น ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องทำสนธิสัญญาโลซานน์กับประเทศตุรกีใหม่ เนื่องจากไม่สามารถปราบปรามฝ่ายปฏิวัติ นำโดย มุสตาฟา เคมาล ได้ ทำให้การก่อตั้งประเทศเคอร์ดิสถานต้องถูกล้มเลิกไป

ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของการปรับโครงสร้างทางสังคมใหม่สำหรับเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือโดยจักรวรรดิถูกแทนที่โดยแนวเขตรัฐชาติสมัยใหม่รวมถึงแนวคิดอุดมการณ์ทุนนิยมกับสังคมนิยมในช่วงสงครามเย็นและจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ในด้านทรัพยากรทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นที่ต้องการของชาติมหาอำนาจต่างๆเช่นสหรัฐอเมริกา ที่เข้าไปให้การสนับสนุน

จากบทความANALYSIS: ‘This is a new Syria, not a new Kurdistan’ ANALYSIS: ‘This is a new Syria, not a new Kurdistan’ | Middle East Eye)

ในยุคของเผด็จการอัสซาสชาวเคิร์ดได้รวมกันและจัดตั้งพรรคแรงงานชาวเคิร์ดขึ้นเพื่อต่อสู้ในช่วงแรกนั้นได้มีแนวทางแบบมาร์กซิสต์ คือ ต้องการที่จะยึดอำนาจรัฐเพื่อถ่วงดุลอำนาจ แต่เมื่อปี 1991 ที่โซเวียตล่มสลายชาวเคิร์ดจึงได้มีการทบทวนทฤษฎีการปฏิวัติใหม่ จนเกิดเป็น Democratic Confederalism ด้วย 3 แนวคิดหลัก 1.สตรีนิยม (Feminism) 2.สิ่งแวดล้อม (Ecology) 3.ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ซึ่งจะทำลายอำนาจรัฐและไม่ยึดอำนาจรัฐและเมื่อเกิดเหตุการณ์อาหรับสริงเมื่อปี 2011 ที่ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านเผด็จการอัสซาสทำให้สูญเสียอำนาจการควบคุมและการเข้ามาของกลุ่ม ISIS จึงเกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง ชาวเคิร์ดบางส่วนที่รวมตัวกันจึงได้ประกาศปกครองตนเองและตั้งเขตปกครองตนเองทางประชาธิปไตย Democratic Autonomous Zone ซึ่งเริ่มจากการยึดเมืองโคบาเน่ทางตอนเหนือของซีเรียและกระจายไปสู่หลายดินแดน และรวมกันเป็น “โรจาวา” 

แล้วโรจาวาอยู่กันอย่างไร?

หลังการปฏิวัติชาวโรจาวาจะเผชิญกับปัญหาในการบริหารจัดการ ทั้งเรื่อง ขยะ ไฟฟ้า ประปา แต่ด้วยแนวคิดหลักที่เน้นในเรื่องประชาธิปไตยทางตรงจึงมีการตั้งสภาประชาชนที่ร่วมกันคิดและวางแผนวิถีชีวิตแบบใหม่ จนเกิดเป็นระบบการปกครองตัวเอง 

ชาวโรจาวา กล่าวว่า พวกเราต่อต้านมโนทัศน์ว่า ด้วยปัจเจกนิยม ปัจเจกนิยมนั้นเหมือนกับหนูตัวป่วนที่เข้ามาทำลายสังคม ถ้าฉันสุขสบายและมีความสุข มันก็จำเป็นที่เพื่อนบ้านของฉันควรจะสุขสบายและมีความสุขด้วยเหมือนกัน ถ้าฉันหิวแต่เพื่อนบ้านมีอาหาร พวกเขาก็ควรจะดูแลฉันด้วย” 

ในโรจาวามีหน่วยการปกครองเล็กที่สุดเรียกว่า “คอมมูน” และหน่วยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นชื่อว่าแคนตั้น โดยคอมมูนเป็นส่วนขับเคลื่อนหลักของสังคม สมาชิกของคอมมูนจะเป็นผู้ใช้อำนาจในการบริหารจัดการคอมมูนด้วยตนเอง ผู้คนรวมตัวกันเพื่ออภิปรายและแก้ปัญหา มีการบริหารด้วยระบบผู้นำร่วม (ชายหนึ่งหญิงหนึ่ง) ผู้ที่จะเป็นสมาชิกของคอมมูนได้ต้องมีอายุเกิน 16 ปี และมีวาระประชุมสัปดาห์ละครั้ง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามบ้านต่างๆ ณ ที่แห่งนั้น ในแต่ละคอมมูนสามารถจัดตั้งกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้กันภายในเป็นดั่งข้อตกลงร่วมของคนในคอมมูนเกิดจากความเห็นชอบร่วมของสมาชิกคอมมูน (ยุทธศาสตร์ หน่อแก้ว,พัชรี จิตเอื้ออังกูร)และในแต่ละคอมมูนได้มีการแบ่งคณะกรรมการออกเป็น 6 ส่วน

1.คณะกรรมการป้องกันตนเอง

คณะกรรมการป้องกันตนเองมีลักษณะเหมือนกับตำรวจในรัฐทั่วไปมีที่มาจากสมาชิกของคอมมูนและมีการสลับหมุนเวียนกันทำหน้าที่โดยจะได้รับการฝึกในเรื่องการป้องกันตนเอง อาวุธ กลยุทธ์ และการปกครอง และหากคณะกรรมการป้องกันตนเองดำเนินการขัดแย้งกับความต้องการของคอมมูนพวกเขาจะถูกริบอำนาจ 

เนื่องจากกฏส่วนใหญ่ในชุมชนสร้างขึ้นจากพวกเขาเองจึงมีอาชญากรรมที่ต้องแก้ปัญหาน้อยมาก คณะกรรมการนี้จะมีการประชุมเป็นประจำ ซึ่งพวกเขาจะวิพากษ์วิจารณ์กันเองในทางสร้างสรรค์และกระตุ้นให้ผู้อื่นวิพากษ์วิจารณ์พวกเขา เพื่อให้เกิดการพัฒนามากที่สุดเท่าที่ทำได้

2.คณะกรรมการสุขภาพ

การดำเนินการด้านสาธารณสุขของคณะกรรมการสุขภาพนั้นคำนึงถึงการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญโดยเป้าหมาย เพื่อแก้ปัญหาความสัมพันธ์ทางสังคม ระหว่างผู้ให้บริการทางสุขภาพกับการควบคุมอำนาจ (the control of power) วิพากษ์และก่อร่างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ เพื่อคืนความเป็นเจ้าของเรื่องสุขภาพให้สังคมและการลดภาวะพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญโดยแต่ละคอมมูนจะเลือกตั้งตัวแทนคณะกรรมการสุขภาพ (หนึ่งหญิงหนึ่งชาย) ให้ไปฝึกฝนหลังจากนั้นก็กลับมาฝึกให้สมาชิกทุกคนที่ต้องการเรียนปฐมพยาบาล เป็นการป้องกันมิให้องค์ความรู้ทางสุขภาพเกิดการกระจุกตัวหรือกีดกันโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วนำไปขายทำกำไร 

เมื่อปี 2018 คอมมูนในฮาลานจ์ (Halanj) จำนวน 4 แห่งได้รวมตัวกันเพื่อก่อตั้งศูนย์การแพทย์เพื่อพวกเขาเองและพื้นที่รอบข้าง สมาชิกหมู่บ้านบริจาคเท่าที่พวกเขาทำได้เพื่อช่วยซื้ออุปกรณ์การแพทย์ในศูนย์การแพทย์แห่งนั้น และได้รับการรักษาฟรี

3.คณะกรรมการสันติ

คณะกรรมการสันติ เป็นดั่งคณะกรรมการเจรจาขั้นต้น ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในชุมชนก่อนที่จะนำไปสู่กระบวนการทางศาลโดยมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาด้วยฉันทามติ ไม่ใช่การลงโทษ แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายปัญหาด้านอาชญากรรม 2.กรรมาธิการสตรีที่มุ่งเน้นไกล่เกลี่ยปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาสตรี

คณะกรรมการสันติมีสมาชิกจำนวน 5-9  คนโดยที่ 40% จะต้องเป็นผู้หญิงแต่ก็ยังยึดหลักการที่คนในชุมชนทุกคนหมุนเวียนกันทำหน้าที่คณะกรรมการ เมื่อเกิดข้อพิพาทก็จะทำการหาพื้นที่ในการพูดคุยทำความเข้าใจมุ่งมั่นที่จะกำจัดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดปัญหาแต่ไม่มุ่งเน้นที่ตัวบุคคล ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่ไม่ถูกส่งต่อไปยังศาลเนื่องจากคนในชุมชนสามารถพูดคุยกันได้ ในส่วนของการลงโทษกับผู้ทำผิดนั้นผู้กระทำความผิดจะต้องบำเพ็ญประโยชน์ในงานของชุมชนหรือทำงานให้คนที่ถูกทำร้ายจากการกระทำของผู้กระทำความผิด ทั้งนี้มักจะตามด้วยช่วงเวลาการอบรมในเรื่องเกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นๆ จนกว่าผู้เสียหายและชุมชนจะพอใจ และผู้กระทำความผิดจะไม่ทำผิดอีกครั้ง มีเพียงแค่กรณีที่แย่ที่สุดเท่านั้นที่จะเข้าสู่กระบวนการชั้นศาล 

4.คณะกรรมการเศรษฐกิจ

เดิมชาวโรจาวามีวิถีการเกษตรด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและพืชทำเงินแต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยแยกจากซีเรียและปกครองด้วยหน่วยย่อยที่เรียกว่าคอมมูน และในภาคส่วนของธุรกิจได้มีการจัดตั้ง “สหกรณ์แรงงาน” โดยมีเป้าหมายขององค์กรรูปแบบใหม่นี้คือการแทนที่ธุรกิจทั่วไปด้วยสิ่งที่เท่าเทียมและเป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของผู้คนและสมาชิกของคอมมูนจะเป็นคนตัดสินใจว่าสหกรณ์แบบใดควรเกิดขึ้น การพยายามจะสร้างเศรษฐกิจจากเบื้องล่างด้วยความสมัครใจด้วยวิธีการพบปะกันโดยตรงจัดการศึกษา หรือประกาศผ่านสาธารณะ (public service announcements) ผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวจะได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมในโครงการของคอมมูนโดยใช้การชักจูงจากชุมชนเช่น การลดและยกเลิกภาษี ถ้าธุรกิจส่วนตัวแบ่งปันเครื่องมือและเครื่องจักรของเขา แลกเปลี่ยนและผลิตร่วมกับคอมมูน พวกเขาจะได้รับการลดราคาสินค้าอื่นและได้รับการช่วยเหลือจากคณะกรรมการคอมมูนเมื่อต้องการ อย่างไรก็ตามเป้าหมายหลัก คือ การให้คณะกรรมการเศรษฐกิจสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องมีธุรกิจส่วนตัว

หนึ่งในตัวอย่างสหกรณ์รูปแบบทั่วไปมีให้เห็นในหมู่บ้านซีฮิต คานี (Sehit Kani) ณ ที่แห่งนั้น มีสหกรณ์การเกษตรอันประกอบไปด้วยสมาชิก 26 คน พวกเขามีที่ดิน 3 เอเคอร์ และสมาชิกสหกรณ์ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน พวกเขาแบ่งเป็น 6 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีสมาชิก 5 คน กลุ่มแต่ละกลุ่มจะทำงานหนึ่งวัน และทุกวันศุกร์ ทุกกลุ่มจะเข้ามาช่วยกันทำงาน 

ผลผลิตทั้งหมดจากฟาร์มจะขายเข้าสู่ตลาดท้องถิ่นและเงินที่ได้ก็จะแจกจ่ายให้สมาชิกสหกรณ์เท่ากัน เด็กๆ ก็มีส่วนร่วม พวกเขาเข้าไปในฟาร์มพร้อมกับครอบครัว พวกเขาเล่นกับเพื่อนๆ ที่นั่น ร่วมกับเรียนรู้การเกษตรไปด้วย นี่ยังเป็นการแก้ไขปัญหาการเลี้ยงดูเด็ก พร้อมกับสอนพวกเขาเรื่องความยั่งยืนไปในตัว

5.คณะกรรมการการศึกษา

คอมมูนประกอบไปด้วยหลายชาติพันธุ์แต่เดิมนั้นโรงเรียนของรัฐบาลซีเรียมุ่งผลิตแนวคิด “ภาษาเดียว ชาติเดียว รัฐเดียว ธงเดียว ศาสนาเดียว” กีดกันความเชื่อ ภาษา และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอื่นๆ ออกไปคอมมูนจึงจัดการศึกษาที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษา และวัฒนธรรมตนเอง และให้มีการร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของกันและกันโดยที่ครูจะเป็นช่วยเหลือในการเรียนรู้ (facilitators)และมาจากการเลือกตั้ง ในส่วนของหลักสูตรจะเกิดขึ้นจากการออกแบบร่วมของครูและนักเรียนและชุมชน

นอกจากนี้ยังมีสำนักวิชาการ (academy) สำหรับวัยรุ่นและเยาวชน คล้ายๆ กับวิทยาลัย ซึ่งสอนทักษะและความรู้เฉพาะทาง ตัวอย่างเช่น บางสำนักวิชาการสอนสิ่งแวดล้อม การป้องกันตนเอง สหชาติศึกษา (international studies) บริการสุขภาพ (healthcare) และสตรีศึกษา ทั้งยังมีสำนักวิชาการนานาชาติ สำหรับอาสาสมัครต่างชาติด้วยสถานศึกษาป็นดั่งชุมชนในตัวมันเองทุกคนร่วมกันรับผิดชอบประกอบอาหาร ทำความสะอาด เรียน และทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ร่วมกัน 

นอกเหนือไปจากโรงเรียนและสำนักวิชาการแล้ว คอมมูนและคณะกรรมการฯ ยังจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ซึ่งคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เช่น การป้องกันตนเอง การปฐมพยาบาล การขับขี่ยานยนต์ กีฬา สื่อ กิจกรรมทางวัฒนธรรม การเกษตร และอื่นๆ  

6. คณะกรรมการสตรี

ผู้หญิงถือว่า มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเกิดและเติบโตขึ้นของโรจาวาและเป็นผู้ที่ถูกกดขี่มาเนิ่นนานตั้งแต่การคลุมถุงชน ไปจนถึงการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเคยถูกปฏิบัติดังเช่นพลเมืองชั้นสอง ซึ่งทำให้ผู้หญิงขึ้นมามีบทบาทนำและประสบผลสำเร็จที่ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเดิมหน้าที่ของคณะกรรมการสตรีคือเดินไปยังบ้านหลังต่างๆเพื่อพูดคุยและรับฟังเรื่องราวร้องทุกข์พร้อมทั้งเสนอหนทางช่วยเหลือ

องค์กรสำคัญที่สุดองค์กรหนึ่งของกลุ่มสตรีในโรจาวาคือ YPJ ซึ่งเป็นกองทัพอิสระของสตรีที่ไม่มีผู้ชายอยู่เลย กองทัพนี้ได้ปกป้องโรจาวาจากกลุ่มไอซิส (ISIS) และรัฐบาลเติร์ก กองทัพนี้เข้าร่วมกับกองกำลังประจำการของโรจาวา (YPG) แต่ก็มีอิสระในตนเองอย่างเต็มที่

ผู้ชายก็ได้รับการสนับสนุนให้ช่วยเหลือขบวนการเพื่อเสรีภาพของผู้หญิงเช่นกัน ด้วยการศึกษาด้วยตนเอง รับฟังผู้หญิงในชีวิตของเขา และเป็นเพื่อนชายที่มีความรับผิดชอบ คณะกรรมการของสตรีชี้ให้เห็นเป็นประจำว่า สังคมชายเป็นใหญ่นั้นก็ทำร้ายผู้ชายด้วยเช่นกัน โดยการปิดกั้นอารมณ์ของพวกเขา และบังคับให้เข้ากับลักษณะ “ผู้ชายในอุดมคติ” ที่เป็นไปไม่ได้ ผู้ชายก็ได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมขบวนการเพื่อเสรีภาพของสตรี โดยการกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้นผ่านความซับซ้อนที่อารมณ์ เช่น ความรักใคร่ ความเศร้าโศก ความกลัว และอื่นๆ นำมาให้ การศึกษาเหล่านี้และการอบรมเชิงปฏิบัติการต่างๆ ขับเคลื่อนโดยอาสาสมัครในคณะกรรมการสตรีในที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน สำนักวิชาการ และที่ประชุมของคณะกรรมการอื่นๆ

สภาในการโหวตกฎหมายการเลือกตั้ง จาก The Council of Northern Syria (Rojava)Federal System ratifies the election law. – Radio Welat

แคนตั้น

แคนตั้นเป็นการปกครองที่มีขนาดใหญ่กว่าคอมมูน โดยที่แต่ละคอมมูนจะมีอำนาจในการเลือกผู้แทนของคนเข้าไปในแคนตั้นโดยแคนตั้นมีหน้าที่ในการดำเนินโครงการขนาดใหญที่กินพื้นที่ระหว่างคอมมูฯ เช่น ถนนหลวง รถไฟฟ้า สวัสดิการสาธารณะ และมุ่งเน้นปฏิบัติการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แม้แคนตั้นจะมีเขตการปกครองที่ใหญ่กว่าคอมมูนแต่กฎหมายของคอมมูนนั้นถือได้ว่ามีอำนนาจมากกว่าและกฎหมายที่ถูกตราขึ้นโดยแคนตั้นจะต้องถูกกรองผ่านโดยคอมมูนอีกที

ส่วนที่เราจะเห็นได้จากรูปแบบการบริหารข้างต้นคือการดำเนินกิจการต่างๆในชุมชนจะต้องมาจากคนที่อยู่ในชุมชน ในคอมมูน ประชาชนมีอำนจอย่างเต็มที่ในการคิดและตัดสินใจ รวมถึงแนวความคิดที่อยู่ร่วมกันแบบเอื้อเฟื้อเกื้อกูลภายใต้แนวความคิดแบบไม่มีรัฐส่วนกลางที่จะเป็นคนควบคุมกำกับทิศทางแต่ยังคงเป็นที่น่าจับตามองเพราะการเกิดขึ้นของสหพันประชาธิปไตยโรจาวาเป็นการท้าทายแนวคิดประชาธิปไตยแบบรัฐเป็นศูนย์กลางและเป็นต้นแบบของการปกครองตัวเองโดยชุมชนแทบจะ 100% เลยทีเดียว

ประชาธิปไตยแบบไหนล่ะที่ใช่เรา

จะเห็นว่า หลักใหญ่ใจความสำคัญของการปกครองแบบฐานรากของโรจาวาเริ่มต้นจากแนวคิดประชาธิปไตยทางตรงคือพลเมืองมีส่วนร่วมในการคิดและตัดสินใจในเรื่องนโยบายรวมถึงกิจการที่จะเกิดขึ้นในชุมชนแต่การใช้อำนาจแบบไหนกันนะที่เราเองในฐานะนักแสวงหาอยากจะได้

ผู้เขียนแบ่งรูปแบบของประชาธิปไตยออกเป็น 3 รูปแบบหลักๆ ได้ดังต่อไปนี้ 

1. ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ประชาธิปไตยทางตรงเป็นระบบที่ให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้ใช้อำนาจ หมายถึงประชาชนสามารถคิดและตัดสินใจในการบริหารจัดการได้เอง เช่นในโรจาวาที่มีระบบคอมมูนที่คนในชุมชนจะมาประชุมร่วมกันและตัดสินใจบางอย่างร่วมกัน

2. ประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy) คือ การที่ประชาชนเลือกผู้แทนให้ทำหน้าที่แทนตนซึ่งรูปแบบของประชาธิปไตยแบบนี้อาจถือได้ว่าเป็นรูปแบบประชาธิปไตยทางอ้อม (Indirect Democracy) ใช้ทั้งกับระบบรัฐสภาหรือระบบประธานาธิบดี

เช่นในสหรัฐอเมริกามีการใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนทั้งในระดับรัฐบาลแห่งชาติและระดับรัฐบาลของรัฐ ในระดับรัฐบาลแห่งชาติประชาชนจะเลือกประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนของพวกเขาในสองสภาคองเกรสคือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในระดับรัฐบาลของรัฐประชาชนจะเลือกผู้ว่าการรัฐและสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐซึ่งปกครองตามรัฐธรรมนูญของรัฐ

ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริการัฐสภาและศาลของรัฐบาลกลางแบ่งปันอำนาจที่สงวนไว้ให้กับรัฐบาลแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาในการสร้างระบบการทำงานที่เรียกว่า “สหพันธรัฐ”รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกายังแบ่งปันอำนาจทางการเมืองบางประการกับรัฐในประเทศด้วย

3.ประชาธิปไตยกึ่งทางตรง ประชาชนใช้อำนาจแบบผสม คือ มีการใช้อำนาจประชาธิปไตยแบบทางตรงและมีผู้แทน คือ ส.ส. ด้วย เช่น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประชาชนมีสิทธิในการโหวตเห็นชอบในระดับประเทศเช่น การประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ หรือประเด็นการห้ามสร้างสถานีนิวเคลียร์ การยกเลิกกองทัพแต่ก็ยังมีระบบรัฐสภาที่ให้ประชาชนเลือก ส.ส.เข้าไปทำหน้าที่แทนด้วย

ประเทศไทยกับอุปสรรคที่ขวางอำนาจประชาชน

โรจาวามีการบริหารการปกครองในรูปแบบคณะกรรมการส่วนประเทศไทยมีรูปแบบการใช้อำนาจแบบประชาธิปไตยตัวแทนที่มีรูปแบบการบริหารงานผ่านสภาผู้แทนราษฎรและมีการบริหารการปกครองเรียกว่าการบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งการบริหารแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาคและการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

การที่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดจะดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องดำเนินการตามแผนนโยบายของการบริหารราชการส่วนกลาง จะเห็นจากการที่ท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต.จะดำเนินกิจการใดๆก็ต้องมีความสอดคล้องกับนโยบายส่วนกลางเรียกได้ว่าเป็นการบริหารราชการแบบรัฐรวมศูนย์ที่ไม่ให้อำนาจประชาชนในการคิดและตัดสินใจโดยส่งต่ออำนาจผ่านกลไกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค มายังการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นทั้งยังถูกบังคับด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่กำหนดให้ข้าราชการในส่วนภูมิภาคจะต้องดำเนินกิจการต่างๆในการบริหารราชการเผ่นดินตามที่รัฐส่วนกลางเป็นผู้กำหนดมา ทำให้เกิดปัญหาความไม่ยึดโยงกับชุมชนมากมายเช่นโครงการพัฒนาของรัฐไม่ว่าจะเป็นโรงงานน้ำตาล เขื่อน เหมืองแร่ฯ นิคมอุตสาหกรรม ที่เข้ามาในชุมชนและมีชาวบ้านรวมกลุ่มเพื่อคัดค้านเนื่องจากโครงการพัฒนาหลายโครงการเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของชุมชนและมีกลไกในการดำเนินโครงการที่ละเมิดสิทธิของชาวบ้านและขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน

ชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันคัดค้านโครงการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน

หากเรากำลังเดินทางไปสู่ปลายฝันที่จะหลุดพ้นจากการกดขี่ขูดรีดจากรัฐส่วนกลางอุปสรรคสำคัญที่เราจะต้องต่อสู้นอกจากรัฐเผด็จการแล้วกลไกรัฐราชการรวมศูนย์ก็เป็นหนึ่งในบันไดสำคัญที่เราจะต้องก้าวผ่านไปเพื่อเดินทางสู่สังคมเท่าเทียม เป็นธรรมที่ซึ่งเรามีอำนาจในการคิดและตัดสินใจได้อย่างเต็มที่

อ้างอิง

1.ชาญชัย คุ้มปัญญา, รัฐ(2) เอกสารประกอบคำบรรยาย รหัสวิชา2551120, ค้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 จาก รัฐ (2) (chanchaivision.com),

2.ชาญชัย คุ้มปัญญา, รัฐ(3) เอกสารประกอบคำบรรยาย รหัสวิชา2551120, ค้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 จาก รัฐ (3) (chanchaivision.com)

3.รัฐ-ชาติ ชาติพันธุ์ ผู้เขียน: วีระ สมบูรณ์ สำนักพิมพ์: สมมติ

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์, ชาวเคิร์ดแห่งประเทศเคอร์ดิสถานผู้อาภัพ โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์,ค้นวันที่ 5 มีนาคม 2565 จาก ชาวเคิร์ดแห่งประเทศเคอร์ดิสถานผู้อาภัพ โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ (matichon.co.th).

4.Spokedark, วิดีโอ: ความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยทางตรงและทางอ้อม | เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคำศัพท์ที่คล้ายกัน, ค้นวันที่ 15 มีนาคม 2565 จาก ความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยทางตรงและทางอ้อม | เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคำศัพท์ที่คล้ายกัน – ชีวิต – 2022 (strephonsays.com).

5.Edward Kimmel จาก Takoma Park, MD, ประชาธิปไตยแบบตัวแทน: ความหมาย ข้อดี และข้อเสีย, ค้นวันที่ 16 มีนาคม 2565, จาก อะไรคือด้านดีและไม่ดีของประชาธิปไตยแบบตัวแทน? (greelane.com).

ผู้เขียน จิรัชญา หาญณรงค์ (บี๋ ดาวดิน) จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันทำงานที่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม จ.ขอนแก่น 

image_pdfimage_print