วงเสวนาชี้ท้องถิ่นถูกทำให้อ่อนแอมากว่า 100 ปี ปลุกเลือกตั้งผู้ว่าฯ-ยกเลิกส่วนภูมิภาค กระจายอำนาจ 360 องศาให้ชาวบ้าน-ภาคปชช.มีส่วนร่วม ศ.ธเนศวร์ เจริญเมือง ปลุกกระแสให้จับตา 30 กย.ให้ศาลนับเลข 8 ให้เป็น ขณะที่ปัญหา 3 จ.ใต้ไร้ทางออกเหตุกระจายอำนาจถูกมองแยกดินแดน “อาจารย์มข.” ชำแหละโครงสร้างถ่วงกระจายอำนาจ-ขวางพัฒนาปชต. ส่วน“อ.ยุกติ มธ.” ระบุกรุงเทพฯ กินรวบอำนาจทั้งส่วนกลาง-ท้องถิ่น

ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ “อำนาจอิสระของภูมิภาคและท้องถิ่น:ทำไมถึงยากจะคิด-ยากจะคุยกันขนาดนี้”   

ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 

รัชกาลที่ 5 ทรงประเมินหมดแล้วตั้งแต่ปี 2435 ว่าโมเดลการปกครองท้องถิ่นของรัสเซีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ใช้ไม่ได้กับประเทศไทย ก็ไปติดใจโมเดลของฝรั่งเศสก็คือมีรัฐบาลกลางและมีองค์กรส่วนภูมิภาค ทำหน้าที่ปฏิบัติงานตามคำสั่งและนโยบายจากรัฐบาลกลางเสร็จแล้วก็ดูแลท้องถิ่น การปฏิรูประบบราชการของไทยที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2435 เป็นโมเดลที่ด้านหนึ่งเอามาจากฝรั่งเศส 

รัชกาลที่ 5 ปฏิรูประบบราชการแบบใหม่ตามแบบฝรั่งเศส เริ่มจากปฏิรูประบบราชการเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจเข้มข้น และเกิดกบฏขึ้นในหัวเมืองต่างๆ ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อทัศนะของผู้นำสยาม ยกตัวอย่างกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ที่มีการฆ่าขุนนางจากสยาม ดังนั้นจึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ เช่น ด้านภาษา ก็คือต่อไปนี้ วัดจะต้องเทศเป็นภาษาสยามห้ามอ่านเขียนเรียนภาษาล้านนา ที่โรงเรียนก็ต้องพูดภาษาสยาม ประวัติศาสตร์ก็ต้องเป็นประวัติศาสตร์สยามเท่านั้น มันคือรัฐรวมศูนย์อำนาจที่เข้มข้น ไม่ใช่การรวมศูนย์ปกติ ดังนั้นอำนาจภูมิภาคจึงมีหน้าที่รับใช้คือแต่งตั้ง ผู้ว่าฯ นายอำเภอ มาแล้วควบคุมท้องถิ่นเอาไว้ 

“ถ้าวันที่ 30 กันยายนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญนับเลข 8 ไม่เป็นพวกเราจะทำอย่างไร ต้องออกมาช่วยกันให้เขานับเลข 8 ให้เป็นหรือไม่”ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่

รัฐสยามทำลายภาษาท้องถิ่น

เรื่องของภูมิภาคที่เติบโตขึ้นบนโมเดลของฝรั่งเศสมีภารกิจในการควบคุมท้องถิ่นและเขาทำอย่างนั้นตลอดมาไม่ว่า จะเป็นยุคสมัยไหน ตั้งแต่นั้นจนถึงวันนี้ จึงไปสู่ประเด็นว่า ท้องถิ่นอยู่ไหน ทำไมจึงยากจะคิดยากจะคุยกันขนาดนี้ คำตอบก็คือเขาจัดการมาตั้งแต่สมัยปี 2400 กว่าแล้ว ภาษาก็ไม่ได้พูด อีสานกับเหนือน่าศึกษามากว่าจัดการเรื่องภาษาอย่างไร อย่างเรื่องศาสนาทุกคนก็ทราบบทบาทของครูบาศรีวิชัยที่โดดเด่น ทำให้ทางนี้มองว่า ท่านจะเป็นกบฏผีบุญแบบอีสาน จึงจัดการครูบาศรีวิชัยจับตัวท่านลงมาขังที่กรุงเทพ 2 ครั้งๆ ละประมาณ 2 ปีเศษ ส่วนพระและสามเณรที่เหลืออยู่ทางเหนือ ก็ถูกสั่งให้ลาสิกขาทั้งหมด นี่คือความอ่อนแอที่ทั้งหมดมีอยู่ระบบการศึกษา ส่วนระบบภาษา ระบบความคิดก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป ศาสนาก็คุมหมด แล้วจะเหลืออะไร 

ภูมิภาคอ่อนแอมากว่า 100 ปีเพราะการศึกษา 

ส่วนระบบการปกครองการศึกษาในสมัยใหม่ เป็นการศึกษาที่เน้นการเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนเพื่อรู้ แต่เรียนเพื่อทำข้อสอบและเพื่อติว ผลจากความล้มเหลวของระบบการศึกษาในระดับมัธยม พอขึ้นสู่มหาวิทยาลัยคนที่เก่งที่สุดของประเทศเรา ที่ได้รับการยกย่องทั้ง แพทย์ วิศวะ เกษตร เภสัชฯ ทันตแพทย์ คะแนนยอดเยี่ยมของมัธยม เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนวิชาด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เพียงพอมีเพียงวิชาเลือกบางวิชาเท่านั้น แล้วเราจะมีบัณฑิตที่เข้มแข็งเป็นพลเมืองที่มีความเข้าใจทางการเมืองได้อย่างไร 

“นี่คือความเป็นมาของท้องถิ่น เมื่อโลกเติบโตมากขึ้น วันนี้เฮโลข้ามฝั่งหนองคายไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วหวังจะได้นั่งรถไฟความเร็วสูง เราจะถูกทิ้งให้ล้าหลังขนาดไหน วันนี้กลับมาคุยเรื่องท้องถิ่นก็ต้องตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าท้องถิ่นถูกทำให้อ่อนแอมาแล้ว 100 กว่าปี” 

ส่วนกลางก็แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ได้รับการยกย่องเชิดชู มีอาวุธทันสมัยครบทุกอย่าง เราเพิ่งขยับกันมาได้ช่วงหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อขยายงบ 9% ของท้องถิ่นที่ส่วนกลางเอาไป 91 % ให้ขึ้นมาเป็น 35% แต่ก็มาเจอรัฐประหาร 2549 ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 25% อย่างไรก็ตามหนทางการเดินของท้องถิ่นได้เกิดขึ้นแล้วแต่ยากลำบาก ความอ่อนแออันนี้ยังสะท้อนความอ่อนแอต่อไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะยุติ  เรากำลังก้าวต่อและมีความตื่นตัวอย่างยิ่ง การเดินทางของท้องถิ่นเพิ่งเกิดขึ้นและต้องให้เวลา

“อีกเรื่องหนึ่งพวกเราต้องช่วยกันคิดว่า ถ้าวันที่ 30 กันยายนนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินเรื่องการอยู่ในตำแหน่งของนายกฯ แล้วนับเลข 8 ไม่เป็นพวกเราจะทำอย่างไร ต้องออกมาช่วยกันให้เขานับเลข 8 ให้เป็นหรือไม่” 

รศ.ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม

กระจายอำนาจแบบไม่จริง 

เวลาเราพูดเรื่องการกระจายอำนาจมันมีกระแสหลักและกระแสรอง ซึ่งกระแสหลักมี 4 นิยาม คือ 1.การกระจายอำนาจทางการเมือง 2.การกระจายอำนาจทางการบริหาร 3.การกระจายอำนาจทางการคลัง 4.การกระจายอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ แต่ปัญหา คือ บ้านเราก็พูดไม่ครบ  มองแค่ว่าการกระจายอำนาจทางการเมือง คือการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือการถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางไปให้ท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงการกระจายอำนาจทางการเมืองเพื่อใช้ให้ประชาชนในพื้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจกำหนดทิศทางตัวเอง ซึ่งมันไม่เพียงพอและเราถูกทำให้คิดแบบนั้น  

ปัญหาเกิดขึ้นตรงที่ว่าเวลาพูดถึงรัฐบาลท้องถิ่นบ้านเราถูกทำให้เข้าใจว่า รัฐบาลท้องถิ่น คือ อบจ. อบต. กทม พัทยา และเทศบาล ประเทศนี้เป็นประเทศที่รวมศูนย์มาก อำนาจมหาศาลในการจัดทำบริการสาธารณะมากกว่า 90% อยู่ที่รัฐบาลกลางและภูมิภาค ส่วนองค์กรส่วนปกครองส่วนท้องถิ่นรายได้อยู่ที่ 25.5% เงิน 100 บาท ท้องถิ่นใช้อยู่ 25.50 บาท อีกเกือบ 70 บาทใช้โดยรัฐบาลกลาง แล้วเงิน 25% นี้เป็นเงินที่ใช้ได้อย่างอิสระไม่กี่บาท ที่เหลือเป็นเงินอุดหนุนตามภารกิจซึ่งรัฐบาลกลางใช้ท้องถิ่นเป็นแขนขาเป็นมือเป็นไม้ ในการเอาเงินไปแจกผู้สูงอายุหรือซื้อนมโรงเรียน 

“ที่หนักกว่านั้นเรามีราชการส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอีกมหาศาล ดังนั้น ถ้าเราจะขยับไปจริงๆ ในการปกครองตนเองเราต้องก้าวไปไกลกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มันต้องพูดถึงการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” 

สำหรับการกระจายอำนาจกระแสรอง การกระจายอำนาจคืออะไรก็ได้ที่ทำให้ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจ การถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลกลางไปให้ท้องถิ่นเป็นโมเดลหนึ่งของการเกิดการกระจายอำนาจเท่านั้น  การกระจายอำนาจทำได้ 360 องศาไม่ใช่การกระจายให้แค่หน่วยงานรัฐด้วยกันเท่านั้น แต่สามารถกระจายให้องค์กรระหว่างประเทศที่เป็นองค์กรใหญ่ เช่น อียูหรือยูเอ็น รวมทั้งองค์กรประชาสังคม เอกชน ทั้งในพื้นที่และระดับชาติ 

“เราเองก็ไม่มั่นใจกับส่วนท้องถิ่นเหมือนกันว่าจะไม่เกิดปรากฏการณ์แบบเสาไฟฟ้าประติมากรรมเหมือนใน จ.สมุทรปราการ ดังนั้นจึงต้องมีกลไกเครื่องมือให้ประชาชนติดตามตรวจสอบได้ รวมถึงกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การร่างกฎหมายและการกำหนดนโยบายต่างๆ  อย่างไรก็ตามมองว่าสิ่งที่ทำให้กระจายอำนาจเป็นเรื่องที่พูดได้ยาก เพราะเราคิดแบบแคบ คือแค่การเอาอำนาจลงไปให้ท้องถิ่น สิ่งสำคัญคือถ้ารัฐบาลกลางไม่ปล่อยจะทำอย่างไร”

รอมฎอน ปันจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) 

การปกครองตนเองเป็นเรื่องต้องห้าม

ความเป็นอิสระของท้องถิ่นมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นครั้งแรกและปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนทำไมอำนาจอิสระของท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องอยากจะคิด ยากจะคุยนั้น คิดว่าเป็นเพราะกรอบคิดเรื่องรัฐเดี่ยวเป็นปัญหาที่มาตีกรอบ ทำให้เราไม่สามารถถกเถียงและพูดถึงมันได้ เรื่องนี้ตนเห็นกับตาและสัมผัสได้อย่างจริงจัง ในกรณีความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาถ้าเรานับว่าความขัดแย้งในระลอกนี้เริ่มเมื่อปี 2547 และมีคนพยายามเสนอทางออกในทางการเมืองมาโดยตลอด 

ประเด็นที่แหลมคมที่สุด คือ การพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจกันระหว่างรัฐส่วนกลางกับทุกคน กลุ่มคน ในพื้นที่ที่เป็นทางออกที่จะหาจุดที่ลงตัวที่สุดระหว่างความปรารถนาทางการเมืองของฝ่ายชนกลุ่มน้อยมลายูมุสลิมกลับรัฐส่วนกลางที่ต้องการรักษาอำนาจธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน 

เมื่อมองเข้าไปที่ความขัดแย้งผ่านแว่นสายตาฝ่ายความมั่นคงที่รับมือปัญหานี้ในมุมของความมั่นคง เราจะไม่เห็นนัยหรือทางออกทางการเมือง จึงทำให้ประเด็นปัญหาในข้อเรียกร้องที่พูดถึงการกระจายอำนาจมากขึ้น หรือการแบ่งสรรอำนาจในทางการเมือง กลายเป็นเรื่องเดียวกับการแบ่งแยกดินแดน อำนาจอิสระในการปกครองท้องถิ่นถ้ามองจากบริบทของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มันไม่ใช่เรื่ององค์กรส่วนปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่เรากำลังคิดถึงทางออกและทางเลือกทางการเมือง 

ในช่วงแรกการพูดถึงการปกครองตนเองเป็นสิ่งที่พูดไม่ได้ จะถูกรวมกันไปกับการก่อกบฏ การแบ่งแยกดินแดน และเป็นข้อเสนอที่ถูกตีตกมาตลอด เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามไม่ให้มีการพูดถึงมาระยะหนึ่ง จนกระทั่งการมีกลุ่มเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่มาจากกลุ่มภาคประชาสังคมหรือจากงานวิจัย 

อีกส่วนหนึ่งคือการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เสนอปัตตานีมหานครที่ประจวบเหมาะกับการเคลื่อนไหวของมหานครเชียงใหม่ เลยทำให้การพูดถึงอำนาจของท้องถิ่น ความเป็นอิสระของท้องถิ่นถูกพูดถึงไปพร้อมๆ กับพื้นที่อื่น จึงทำให้ข้อเสนอของปัตตานีเป็นหนึ่งในข้อเสนอเหล่านั้น แม้จะยังไม่มีข้อสรุปถ้าเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้น ข้อเสนอเหล่านี้ก็ปรากฏตัวขึ้นและท้าทายเป็นมรดกให้กับเราในการคิดทางออกในอนาคตต่อไป

“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงคนตายไปกว่า 7 พันคน ถ้าใจกว่านี้เราก็สามารถหาทางออกที่เหมาะสมและป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายถึงขั้นนี้”

รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น

เจ้าขุนมูลนายครอบราชการไทย

ทำไมเรื่องการกระจายอำนาจจึงเป็นเรื่องที่คิดและพูดยากนั้น คิดว่ามาจากวิวัฒนาการการปกครองของไทย เราตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโครงครอบ กรอบทางวัฒนธรรม หรือโครงสร้างบางอย่าง ผมคิดว่าอิทธิพลประการแรกมาจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นต้นแบบของการเกิดระบบราชการแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐส่วนกลางอย่างเข้มข้น เหมือนในอดีตที่กษัตริย์คือศูนย์กลางของอำนาจ และมีอำนาจเบ็ดเสร็จ 

อิทธิพลนี้มีผลต่อระบบราชการตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน อิทธิพลประการที่สองคือระบบศักดินา ความคิดแบบเจ้าขุนมูลนายที่มีผลต่อระบบราชการไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นผู้นำของประเทศหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เวลาไปไหนมาไหนมีคนแห่ตามเป็นโขยง สมัยก่อนเวลาผู้มีอำนาจไปไหนมาไหนต้องนั่งเสลี่ยง แต่สมัยนี้ต้องเป็นรถหรูที่ราคาแพงมาก และมีขบวนรถตำรวจปิดหัวปิดท้าย 

อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ หมายถึงผู้มีอำนาจให้ความอุปถัมภ์ผู้น้อยๆ ก็ส่งส่วย ยกตัวอย่างกรณี ส.ต.ท.หญิงเจ้นุช ถ้าไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ที่มีนายพลและส.ว.ทั้งหลายให้การอุปถัมภ์ก็ไม่น่าจะมีตำแหน่งมากมายขนาดนั้น  นอกจากนั้นคืออิทธิพลของอำนาจนิยม ที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจกับผู้น้อย โครงครอบทางวัฒนธรรมและโครงสร้างเช่นนี้มีอิทธิพลต่อระบบ ราชการไทยมาจนถึงปัจจุบัน 

อุปสรรคต่อประชาธิปไตย 

ระบบเช่นนี้ผมคิดว่าเป็นอุปสรรคสำคัญมากต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เนื่องจากเป็นระบบที่ผู้มีอำนาจและชนชั้นปกครองได้ประโยชน์ ดังนั้นแทนที่ในปัจจุบันสังคมไทยเราจะมีการพัฒนาประชาธิปไตยและมีการกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นเหมือนในยุโรปที่มีการกระจายอำนาจกว่า 100 ปีมาแล้ว แต่ของเราในทางปฏิบัติยังไม่มีการกระจายอำนาจการปกครองอย่างแท้จริง เช่นเรายังไม่มีการจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ เรายังไม่มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ความเจริญจึงกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางเท่านั้นทั้งหมดนี้ตนคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ

สาเหตุที่โครงครอบทางวัฒนธรรมและโครงสร้างเช่นนี้ยัง ดำรงอยู่เพราะว่าเรายังไม่เคยมีการปฏิวัติทางสังคมเพื่อโค่นล้มอิทธิพลโครงสร้างของระบบเดิม เรายังไม่เคยมีการแตกหักกับระบบความคิดความเชื่อแบบเดิม ที่มันฝั่งรากลึกมายาวนาน เช่น เรื่องเรื่องการไม่ยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียมกัน คนไทยยังมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง ยอมรับความเชื่อและการปฏิบัติแบบศักดินา ยอมรับระบบอุปถัมภ์ และระบบอำนาจนิยม ยอมรับระบบเจ้าขุนมูลนาย 

สิ่งเหล่านี้ยังดำรงอยู่อย่างหนาแน่นในระบบราชการไทย และมีผลต่อเรื่องการกระจุกตัว ที่จริงมันต้องมีการแตกหักกับระบบเช่นนี้ก่อน เพื่อนำสังคมไทยก้าวไปสู่รูปแบบของการปกครองแบบใหม่ คือ ประชาธิปไตยที่มีการวางฐานอำนาจอยู่ที่ประชาชนและมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

บรรยากาศผู้ฟังเสวนา “อำนาจอิสระของภูมิภาคและท้องถิ่น:ทำไมถึงยากจะคิด-ยากจะคุยกันขนาดนี้”

โครงครอบทางวัฒนธรรมและ โครงสร้างที่ผมพูดมานี้ ขัดแย้งกับประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิงเพราะประชาธิปไตยเชื่อในเรื่องพลังอำนาจของประชาชน เชื่อเรื่องความเสมอภาคความเท่าเทียมของมนุษย์ แต่ระบบเดิมไม่เชื่อว่า มนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่เชื่อว่า ประชาชนสามารถปกครองตนเองได้ ไม่เชื่อว่าประชาชนสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้แต่ต้องอาศัยผู้มีบุญญาบารมีมาปกครอง 

รวมถึงระบบเดิมเชื่อว่าการมอบอำนาจให้ประชาชนหรือการกระจายอำนาจจะนำไปสู่การแตกแยกเพื่อการแบ่งแยกดินแดน ยกตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีหมอคนหนึ่ง เผยแพร่แนวคิดเช่นนี้ว่า มีขบวนการทำลายชาติด้วยการชูเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ว่าเป็นการแบ่งแยกประเทศ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของโครงครอบและระบบความคิดแบบเก่าที่ยังตกค้างเหลืออยู่มากในปัจจุบันและมีอิทธิพลอย่างมาก ทั้งในระบบราชการ ฝ่ายการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม ทั้งในภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจผมไม่เชื่อว่า ชนชั้นปกครองผู้มีอำนาจทั้งหลายหรือฝ่ายอำมาตย์ที่เคยชินต่อการเป็นเจ้าขุนมูลนาย เต็มใจจะมอบอำนาจให้กับประชาชน เนื่องจากพวกเขาได้ประโยชน์จากระบบนี้มายาวนาน 

“ปัจจุบันเราจะเห็นปรากฏการณ์ของระบบอำนาจนิยมนี้ และคนเหล่านี้ก็จะวางตัวเป็นอภิสิทธิ์ชนอยู่เหนือประชาชนซึ่งเราพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ผมคิดว่าถ้าเราต้องการให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมันต้องยกเลิกระบบเช่นนี้และต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อไปสู่ มิเชล ฟูโกต์ นักคิดชาวฝรั่งเศส บอกว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ชนชั้นปกครองเท่านั้นที่มีอำนาจ แต่ผู้ใต้ปกครองก็สามารถมีอำนาจได้เหมือนกัน ผู้ใต้ปกครองมีอำนาจอย่างไรนั้น อำนาจของผู้ใต้ปกครองก็คือการขัดขืน การไม่ยอมรับการต่อต้าน และการท้าทาย” 

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ 

เจ้ากรุงเทพฯ กับวาทกรรม “ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร” 

ผมมองในสายตาผู้ที่มาจากบางกอกและจงใจเรียกกรุงเทพว่าบางกอก คือกรุงเทพมันได้อำนาจทุกอย่าง ทั้งอำนาจส่วนกลางแล้วยังอุตส่าห์ได้อำนาจปกครองท้องถิ่นอีก ซึ่งกรุงเทพฯ เองก็มีความเป็นบ้านนอกอยู่ ทั้งนี้การที่เราตั้งคำถามกับความเป็นอิสระไม่ได้ มันเป็นคำถามเดียวกับการตั้งคำถามกับการเป็นอาณานิคมไม่ได้ด้วยหรือไม่ คิดว่ามันเป็นคำถามเดียวกัน หรือในขณะเดียวกันเรามองไม่เห็นเจ้าอาณานิคมที่แท้จริงหรือไม่ คิดว่ามันมีอยู่ 2 กลไกที่ทำให้เกิดแนวคิดนี้ขึ้นมา  

ส่วนหนึ่งก็คือประวัติศาสตร์ชาติสยาม ทำให้เกิดคู่ขัดแย้งในลักษณะที่สร้างตัวตนของสยามเป็นคู่ขัดแย้งกับอาณานิคมตะวันตก ให้ภาพว่าเราถูกตะวันตกรุกราน และเจ้ากรุงเทพเป็นตัวแทนของการปกป้องอำนาจอธิปไตยอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทำให้เรารอดจากการรุกรานของเจ้าอาณานิคม 

ในขณะเดียวกันเจ้ากรุงเทพก็ไม่พูดถึงการสร้างอำนาจในกระบวนการของการสร้างความเป็นชาติไทยขึ้นมา ในที่สุดแล้วก็เอาตัวเองไปเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเดียวกันว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่รอดผลจากการเป็นอาณานิคมของตะวันตก 

มันมีความย้อนแย้งกันในกระบวนการสร้างอำนาจของกรุงเทพฯ หรือบางกอกอีกด้านหนึ่งก็คือมันมีความพยายามที่จะเป็นศูนย์กลางในเชิงความศักดิ์สิทธิ์ ในแง่หนึ่งบางกอกมันถูกดีไซน์ในเชิงสัญลักษณ์ และในเชิงความศักดิ์สิทธิ์ให้อยู่กับแนวคิดของพราหมณ์ฮินดูที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ศาลหลักเมือง พระบรมมาราชวัง และอำนาจค่อยๆ ลดหลั่นออกไปเมื่อห่างจากศูนย์กลางเหล่านี้ 

ในขณะเดียวกันสิ่งที่มันดูสวนทางกันคือว่าบางกอกถดถอยในเชิงของการรวมศูนย์ความศักดิ์สิทธิ์ลงไปเรื่อยๆ ในกระบวนการของการเข้าสู่ยุคของการค้าขาย รัชกาล 5 เองเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎนี้ คือ การนำพระราชวังออกจากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ไปสร้างวังแห่งใหม่คือวังสวนดุสิต ขณะเดียวกันเทคโนโลยีในเรื่องอำนาจ เทคโนโลยีในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์มันอ่อนกำลังลงหรือไม่ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือเทคโนโลยีของอำนาจในการสร้างรัฐราชการรวมศูนย์มันถูกพัฒนาขึ้นมาแล้วตรงนั้น และส่งผลต่อการกระจายอำนาจต่อไป

image_pdfimage_print