พ่อ…ผมอยากกลับบ้าน
“พ่อ ผมอยากกลับบ้าน” น้ำเสียงสะอื้นจากปลายสาย พูดด้วยเสียงอันแผ่วเบา ก่อนที่ผู้เป็นพ่อจะตอบกลับ แม้ไม่เห็นแววตาจากอีกฝั่ง ก็สามารถจินตนาการและสัมผัสห้วงอารมณ์อันอ่อนไหวได้
ชายคาเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นของ “สันติสุข กาญจนประกร” ดุจเสมือนเรื่องจริงโดยเฉพาะในยุคต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยของครอบครัวชนชั้นกลางบางครอบครัวที่ผู้ปกครองกินสลิ่ม ทว่าลูกในไส้ออกมาเรียกร้องเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อคนเท่ากัน แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อลูกของเธอถูกจับในข้อหาฉกรรจ์ตามมาตรา 112 และ 116 ซึ่งคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ต้องเผชิญ
สันติสุข กาญจนประกร เรื่อง
“เหี้ย!”
กัลยา พิลาสเบญจกัลยาณีสวามีพิทักษ์รักษ์ปฐพี อุทาน กระทืบเบรกรถยุโรปคันงามกะทันหัน หล่อนกดเปิดกระจกข้างคนขับ อ้อยส้อยสายตาเหม่อมองเหี้ยตัวเขื่องคลานช้าเชื่องผ่านหน้ารถจนค่อยๆ ผลุบลงคูน้ำข้างทาง สัตว์อัปลักษณ์ส่งให้กัลยาหญิงม่ายวัยกลางคนตอนปลาย ประหวัดไปถึงวีรกรรมกรีดกรายฉายเฉิดเจิดจรัสเมื่อชั่วโมงก่อน
หล่อนล้วงบุหรี่ซองแข็งจากกระเป๋าหนังแบรนด์นอกราคาแพง คีบหนึ่งมวนเรียวด้วยนิ้วแหวนเพชรเม็ดงามประดับ จุดสูบ ถวิลจับจิตคิดถึงลูกสาวคนเดียวกำลังไปรับจากที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย คนเท่ากัน รัฐสวัสดิการ สองคำแรกกัลยาชินเสียแล้วยินบ่อย แต่คำหลัง หล่อนขยะแขยงยิ่ง มัน คือ ระบบขูดรีดภาษีเพื่อปรนเปรอพวกสันหลังยาว
นอกจากสวัสดีวันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ กัลยาได้รับข้อมูลส่งต่อทางไลน์กลุ่มเพื่อนชนชั้นสูงถึงความฟอนเฟะของรัฐสวัสดิการ นานครัน หล่อนจึงปิดรับความรู้อื่นใดเด็ดขาด กัลยามั่นใจว่าไม่จำเป็น เพื่อนของหล่อนจบปริญญาเอกกันทั้งนั้น กัลยาเชื่อว่า ทุกสิ่งในไลน์กลุ่มเป็นเรื่องจริง
ความเหลื่อมล้ำ คนเราเลือกเกิดในครอบครัวร่ำรวยมิได้ รัฐสวัสดิการคือข้อเสนอเพื่อเยียวยาความล้มเหลวของผู้บริหารประเทศ ชุดความคิดพวกนี้กัลยาเหมาเข่งเลยว่า เป็นการประดิษฐ์วาทกรรมให้สวยหรูจากปากพวกนักวิชาการซ้ายจัดดัดจริต หล่อนเติบโตมาในครอบครัวผู้ดี มีกินมีใช้ แถมยังขยันทำงานสานต่อตกทอดจากบิดา กัลยาไม่มีวันตกอับจนต้องเพิ่งรัฐสวัสดิการ
แสยะยิ้มหวานเยิ้มชวนให้นึกถึงตอนที่กัลยาและพรรคพวกไปร่วมทำความสะอาดบ้านเมืองหลังฆาตกรรมสยดสยองคนเสื้อแดงปีห้าสาม หล่อนลงทุนเหมาอาหารจากร้านเพื่อนสนิทจ่ายแจก เอมอิ่มในการเป็นคนดีของตน การทำบุญ คือ เสาหลักปักลงในคติธรรมส่วนตัว นี่ยังไม่นับกิจกรรมหรรษาจับกลุ่มไฮโซจรลีขึ้นดอยเพื่อมอบอุปกรณ์กีฬาแก่ชาวเขา
“สิ่งที่คนไร้โอกาสต้องการ” ลูกสาวกัลยาเคยเอ่ย “คือการศึกษาที่เป็นสวัสดิการจากรัฐ ไม่ใช่ลูกบอลพลาสติกอย่างที่แม่กับเพื่อนเอาไปให้”
ไม่ต่อปากต่อคำ หล่อนรักลูกสาวมาก เอ็นดูในไร้เดียงสา ห่วงใยในคดีความถูกปรักปรำ ก่นด่าประจำอดีตสามีเฮงซวยที่ยัดตรรกะทรามๆ ให้บุตรี ขณะนี้กัลยาจอดรถไม่ห่างที่ชุมนุม ดูนาฬิกาข้อมือยี่ห้อเดียวกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ถอนใจเฮือกใหญ่ ก่อนหยิบโทรศัพท์ไอโฟนรุ่นล่าสุดขึ้นมาเปิดเฟซบุ๊ก ไถฟีดดูข่าวสารฆ่าเวลา
พิลาสเบญจกัลยาณีสวามีพิทักษ์รักษ์ปฐพี คือ นามสกุลของตระกูลกัลยา สมัยแต่งงานใหม่ๆ หล่อนเป็นหญิงสาวหัวก้าวหน้า ปฏิเสธใช้นามสกุลสามี ชายหนุ่มจากครอบครัวคนจีนมากเงินทอง แต่กลับหัวขบถคิดคดชนชั้นเดียวกัน สอนลูกด้วยความเชื่อผิดๆ คนเท่ากัน กัลยาเคยตะโกนโหวกใส่หน้า “นิ้วมือเรายังไม่เท่ากัน! สังคมจะไปเท่าเทียมได้ยังไง เพ้อเจ้อ”
“ตรรกะอะไรของคุณ เอานิ้วมือไปเทียบกับเรื่องโครงสร้างสังคม” ฝ่ายสามีพูดเอือมๆ
กัลยาเป็นคนฉลาด หล่อนรังเกียจคำว่า โครงสร้างพอๆ กับรัฐสวัสดิการ สังคมนะ ไม่ใช่ตึก จะให้มีโครงสร้าง เอะอะก็โครงสร้าง เอะอะก็ถูกกดทับ พวกลิเบอร่านไม่มีคำอื่นให้ใช้แล้วรึไง หลังสามีขอหย่า กัลยายิ่งฉลาดทวีคูณ ภาคภูมิที่ตนไม่เศร้าเลยแม้แต่น้อย หล่อนยังมีลูกสาวในอ้อมอก กัลยาจะเลี้ยงเธอให้เติบใหญ่ถูกที่ถูกทาง
ลูกสาวเป็นสาวสะพรั่งพร้อมๆ เรียนรู้โลกใหม่ในโซเชียลมีเดีย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ประจักษ์ ก้องกีรติ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ปิยบุตร แสงกนกกุล เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อานนท์ นำภา รุ้ง ปนัสยา ประชาไท วอยซ์ทีวี เธอพยายามรับข้อมูลจากคนอีกฝั่ง แต่ทุกครั้งเกิดความสะอิดสะเอียน กระนั้นก็ไม่เลิกพยายาม เธอติดตามสื่ออย่าง สถาบันทิศทางไทย ท็อปนิวส์ เป็นประจำ
ฝ่ายความมั่นคงหมายหัวเธอจากการขึ้นพูดต่อจาก รุ้ง ปนัสยา ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ภาพหญิงสาวเป็นไวรัลไปทั่วสังคมโซเชียล หลังจากนั้นเธอจะปรากฏกายทุกม็อบเท่าที่ว่าง แต่มันก็มากพอให้เครือข่ายจารีตจับตาด้วยแค้นเคียด วันนี้เช่นกัน การชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บุตรีของกัลยาก็เข้าร่วม
กระวนกระวายอยู่ในรถ กัลยาติดต่อลูกสาวตนมิได้ ด้วยสุมทุมของอารมณ์อันปั่นป่วน หล่อนนึกไปถึงวีรกรรมกรีดกรายฉายเฉิดเจิดจรัสเมื่อสองชั่วโมงก่อน เพื่อดับฟุ้งซ่าน
หลังออกจากวงซุบซิบในคฤหาสน์เพื่อน ณ ทางสายเปลี่ยว หล่อนขับรถผ่านป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่ชูรัฐสวัสดิการเป็นนโยบาย ความขุ่นมัวก่อตัวกลางอก คิดหาหนทางระบายแค้น กัลยาจอดรถ เข้าเกียร์ถอยหลัง กดคันเร่งด้วยริ้วลายโกรธเกลียด เปิดประตูผาง ไม่ลืมหยิบไฟแช็คทองติดมือ
เหลียวซ้ายแลขวา เมื่อเห็นว่าปลอดคน กัลยาจ่อเปลวไฟใต้ป้ายหาเสียงอัปลักษณ์ มันลุกติดม้วนบิดเป็นความสะใจ หล่อนรนรีบวิ่งขึ้นรถ
ไม่ไกลจากที่ชุมนุม กัลยากระหยิ่มว่า ป้ายทุเรศนั้นคงถูกเผาจนวายวอด โดยไม่มีทางล่วงรู้เลยว่า สายลมใหม่ๆ พัดไฟของตนจนมอดดับ เฉกเดียวกับที่หล่อนไม่มีทางล่วงรู้เลยว่า ในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า ลูกสาวจะโดนจับด้วยมาตรา 112 และ 116 เรื่องราวต่อจากนี้ไปเดาได้ไม่ยาก บุตรีแสนหวงจะถูกส่งเข้าทัณฑสถานหญิงกลาง
การขอประกันถูกปฏิเสธอนันต์ เส้นสายใดก็สร้างสุขให้หล่อนมิได้ กัลยาบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากองค์กรเคยเกลียด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ ประเทศไทย สำนักข่าวประชาไท
อย่างไรก็ตามคดีความร้ายแรงเยี่ยงนี้ ขึ้นอยู่กับตุลาการลูกผีลูกคน ศาลฝั่งจารีต ใบหน้ามารดา รุ้ง ปนัสยา กระทั่ง พะเยาว์ อัคฮาด แม่ผู้เสียลูกสาวพยาบาลอาสาปีห้าสามโพล่งวาบในมโนสำนึก
กัลยาใจสลาย ความฉลาดหลักแหลมทั้งหมดที่เคยมีแห้งเหือด หล่อนเสียน้ำตารอบแล้วรอบเล่าในนามของความเป็นแม่ ไม่อาจเดาว่าทั้งหมดนี้เป็นความผิดของใคร
เกี่ยวกับผู้เขียน : สันติสุข กาญจนประกร อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ปัจจุบัน เป็นบรรณาธิการ The Voters เว็บไซต์สื่อออนไลน์เพื่อการกระจายอำนาจ และการรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ พำนักริมนาในจังหวัดนนทบุรี ขายไอศกรีมไม่ผสมน้ำตาลเป็นอาชีพหลัก