“ลุงเปี๊ยก – บำรุง บุญปัญญา” ต้นกำเนิดค่ายอาสาฯ ครูของนักพัฒนาอีสาน และประเทศไทย
ชีวิตและงานของ บำรุง บุญปัญญา นักพัฒนาคนสำคัญของอีสาน ซึ่งประสบอุบัติเหตุถูกรถชนที่ จ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 เสียชีวิตด้วยวัย 77 ปี
เหตุโศกนาฏกรรมกราดยิง 37 ศพที่จังหวัดหนองบัวลำภูยังคงเป็นปริศนาให้ตำรวจต้องตามคลี่ปมอดีตตำรวจที่ก่อเหตุว่า ผู้สังหารคนไร้เดียงสามีแรงจูงใจมาจากอะไร บ้างก็ว่าความเครียด บ้างก็ว่าติดยา บ้างก็ว่ามีเหตุวิวาท
แต่ตอนนี้คนก่อเหตุไม่อยู่ให้คำถามเหล่านี้ถูกคลี่คลาย ทีมข่าว The Isaan Record พูดคุยกับหลายฝ่ายเพื่อคลายปมปัญหาเหล่านี้
หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง
ถ้าไม่มีเหตุสังหารหมู่ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที ณ ที่เกิดเหตุถึง 32 ศพบริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู “สุภาพร ประมงมุข” อดีตครูท้องแก่ใกล้คลอดวัย 25 ปีมีกำหนดจะคลอดลูกชายในวันที่ 23-24 ตุลาคมนี้
แต่เคราะห์ร้ายที่ครอบครัว “ประมงมุข” ไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าหลานชายที่กำลังจะลืมตาดูโลก เพราะการก่อเหตุของ ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ อดีตตำรวจนอกราชการในช่วงบ่ายของวันที่ 6 ตุลาคม 2565
การเฝ้ารอแววตาไร้เดียงสาจะลืมตาดูโลกจึงดับสูญไปพร้อมกับการสูญเสียลูกสาวที่เป็นเสาหลักของครอบครัวและภรรยาอันเป็นที่รัก
ร่างอันไร้วิญญาณของเธอและเด็กๆ ถูกนำไปชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลจังหวัดอุดรธานี ซึ่งห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 70 กิโลเมตร
ปราณี ศรีสุธรรม แม่ของสุภาพร เล่าว่า หลังจากได้ยินข่าวการก่อเหตุที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ก็ได้ติดตามฟังข่าว แต่ยังไม่รู้ว่า อะไรขึ้น
“แม่รอจนแน่ใจว่า เกิดอะไรจึงรีบออกจากบ้านตอนบ่ายๆ แต่พอมาถึงลูกสาวก็เสียแล้ว” เธอเล่าพร้อมแววตาเศร้าหมอง
ครอบครัวและสามีสุภาพร ประมงมุข ครูผู้เสียชีวิตขณะใกล้คลอด สามี (เสื้อสีน้ำเงิน) ภาพโดย อาชวิชญ์ อินทร์หา
หลังจากรู้ว่า ตัวเองสูญเสียลูกสาวเธอก็ร้องไห้จนไม่มีน้ำตาให้ไหล
“น้ำตามันตกใน ไห้บ่ออกแล้ว เว่ากะบ่ออก”เธอเล่าพร้อมกับบอกให้ทีมงานสอบถามความรู้สึกของลูกเขยที่สูญเสียภรรยาและลูกชายวัยใกล้คลอดภายในพริบตา
“ผมเว่าบ่ออกคือกัน”เขาพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบก่อนจะก้มหน้าโดยไม่หน้ามองใคร
สุภาพรเป็นครูพี่เลี้ยงเด็กที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมากว่า 2 ปี เธอหวังว่า ลูกชายจะเติบโตขึ้นในสถานที่ที่เธอทำงานไปพร้อมกับเด็กวัยเดียวกัน
ภายในศูนย์ช่วยเหลือญาติผู้ประสบภัยมีมุมของนักจิตวิทยาเพื่อให้ความช่วยเหลือ พร้อมรับฟังและเยียวยาจิตใจผู้สูญเสีย
พ่อแม่หลายคนตกอยู่ในอาการหัวใจสลาย ไม่คุยกับใคร บางคนน้ำตาไหลตลอดเวลา หลายคนเป็นลมแล้วเป็นลมอีก
ใกล้ศูนย์ความช่วยเหลือฯ มีโลงศพขนาดเล็กวางเรียงรายเพื่อรอบรรจุศพเด็กๆ กลับบ้าน
แม่ของผู้สูญเสียรายหนึ่งนั่งมองโลงศพอย่างเศร้าสร้อย ภาพโดย อาชวิชญ์ อินทร์หา
นันทิชา พันธุ์ชุม ครูประจำศูนย์เด็กเล็กฯ เป็นหนึ่งในผู้รอดเล่าเหตุการณ์ว่า ตอนนั้นเห็นชายถือปืนสังหารเข้ามาในโรงเรียนทำให้ต้องรีบบอกครูพี่เลี้ยงรีบปิดประตู แต่ก็ไม่สามารถกั้นแรงคนร้ายได้
“แม้ประตูจะล็อกแต่เอาก็ทุบกระจกแตกและทำลายประตูเข้ามาข้างข้างใน ตอนนั้นพี่วิ่งแล้ว เพราะเห็นเขายิงคนด้านนอกโรงเรียน พี่ก็วิ่งออกข้างหลังและปีนกำแพงออกมาพร้อมกับครูอีกคนและแม่บ้าน” เธอเล่าฉากที่พยายามหนีเอาตัวรอด
นันทิชา พันธุ์ชุม ครูผู้รอดชีวิตให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ภาพโดย อาชวิชญ์ อินทร์หา
เมื่อออกพ้นกำแพงโรงเรียนก็ได้ยินเสียงปืนสองนัดดังขึ้นต่อเนื่อง ตอนนั้นเธอคิดในใจว่า “เขายิงเด็กแน่ๆ เลย”
พอวิ่งไปได้สักระยะก็เจอกับรองนายก อบต.ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานใกล้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตอนนั้นได้ยินเสียงเด็กร้องนิดแป๊บเดียวแล้วก็เงียบหมด
จากนั้นก็ขอให้ขับรถรอบๆ เพื่อสังเกตการณ์ว่า จะช่วยเหลือได้ยังไงบ้าง
หลังจากนั้นก็วนรถรอบๆ เพื่อดูสถานการณ์
“ไม่คิดว่า จะมีเหตุการณ์หนักขนาดนี้ก็โทรศัพท์ประสานกับคนข้างใน เขาก็บอกว่า ไม่ต้องเข้ามาๆ เขายังไม่หนี ต่อมาก็รู้ว่า เขาออกไปแล้ว พวกเราจึงเข้าไปดูก็เห็นเด็กเล็กๆ เสียชีวิต รวมทั้งครูด้วย”
เธอเล่าอีกว่า ปกติแล้วผู้ก่อเหตุเป็นคนสุภาพและเคยมาส่งลูกชายที่โรงเรียนบ่อยครั้ง คร้ังนี้เขาแตกต่างจากทุกครั้ง เพราะมีแววตาขวางๆ เหมือนเครียดหรือโกรธใครมา
“ปกติเขาก็มาส่งลูกเป็นประจำ เขาสุภาพเวลามาคุยกับ แต่ลูกเขาไม่ได้มาโรงเรียนนานแล้ว วันนี้ไม่ได้มา”นันทิชา เล่า
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ภาพโดย อาชวิชญ์ อินทร์หา
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ว่า จากการตรวจร่างกาย ส.ต.อ.ปัญญา ไม่พบสารเสพติดในร่างกาย แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้เสพยา เนื่องจากเจ้าตัวมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจนต้องให้ออกราชการ
“มีข้อมูลว่า เขาใช้ยาเสพติดมาโดยตลอด แต่ต้องสอบสวนถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุก่อนจะทราบว่า เกิดอะไรที่จะมาก่อเหตุ”ผบ.ตร.กล่าว
ผู้ก่อเหตุเคยเป็นตำรวจที่ สภ.นาวัง จ.หนองบัวลำภูเมื่อปี 2562
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบดอกไม้บริเวณประตูทางเข้าสถานที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ภาพโดย อาชวิชญ์ อินทร์หา
อดีตเพื่อนร่วมงานที่ สภ.นาวัง เล่าว่า ปกติแล้ว ส.ต.อ.ปัญญา เป็นคนทำงานเก่ง โดยเฉพาะการทำสำนวนที่ทำงานเร็วมาก แต่มีเหตุต้องออกจากราชการ เพราะตำรวจจาก สภ.เมืองหนองบัวลำภู พบพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจึงจำเป็นต้องให้ออกจากราชการเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้
“เขาเป็นคนเงียบๆ แต่จริงๆ ก็แอบเป็นคนก้าวร้าวนะ แต่กับเพื่อนร่วมงานก็ดูเป็นคนสนุกเฮฮา ผมก็ไม่คิดว่า เขาจะทำแบบนี้ เขาเคยเป็นคนเก่ง จบนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2”อดีตเพื่อนร่วมงานเล่า
หากเมื่อวาน “ส.ต.อ.ปัญญา” ไม่ก่อเหตุอุจฉกรรจ์ วันนี้เขาจะต้องขึ้นศาลในคดีมียาเสพติดในครอบครองจำนวน 1 เม็ด
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีที่ถามว่า ก่อนจะให้ออกจากราชการมีการกลั่นแกล้งหรือเปล่า เพราะทราบว่า มียาบ้าในครอบครองแค่เม็ดเดียวว่า “การให้ออกจากราชการไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นการครอบครองยาเสพเพียง 1 เม็ดก็ถือเป็นความผิด”
เจ้าหน้าที่เตรียมรับพระราชทานพวงมาลาและช่อดอกไม้จากเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรี นารีรัตนฯ ด้านหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวันที่ 7 ตุลาคม 2565 โดยภาพ หทัยรัตน์ พหลทัพ
แรงจูงใจหนึ่งที่อาจจะพอมีร่องรอยเป็นปากคำจาก ดนัยโชติ บุญโสม นายกองค์กรบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ ที่เล่าว่า เดือนที่แล้วแม่ของผู้ก่อเหตุมาขอร้องให้ช่วยเหลือกรณีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
“ผมช่วยเขาไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องเกินกำลังก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการต่อไป” ดนัยโชติ กล่าว
แม้หลังจากเกิดเหตุดอกไม้จำนวนมหาศาลจะวางเพื่อไว้อาลัยบริเวณจุดเกิดเหตุแต่ก็ไม่อาจเยียวยาจิตใจของผู้สูญเสียได้ในเร็ววัน
เช่นเดียวกับแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุ “ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ” อดีตนายตำรวจเพื่อเงียบขรึม อะไรเป็นแรงจูงใจให้เขาก่อเหตุกับเด็กเล็กๆ และผู้ไร้เดียงสาจำนวนมากเช่นนี้
ใครกันจะเป็นผู้ตอบคำถาม?