สถานการณ์น้ำท่วมอุบลฯ ยังน่าเป็นห่วง เหตุน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ถนนหลายสายในเมืองถูกตัดขาด หลายครอบครัวต้องหอบลูกหลานไปอาศัยศูนย์พักพิง ส่วนมหาสารคามรับเคราะห์จากการปล่อยน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ทำให้ต้องเร่งอพยพ 

ทรงวุฒิ จุลละนันท์ และ ปริตต์ อุปแก้ว นักข่าวในโครงการ JBB เรื่องและภาพ

อุบลราชธานี – สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี 13 ตุลาคม 2565 (วันนี้) ยังวิกฤต โดยน้ำในแม่น้ำมูลที่ระดับน้ำท่วมสูงถึง 11 เมตร ทำให้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ซึ่งบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังกว่า 2 เมตร ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำมูลในเขต อ.เมือง และ อ.วารินชำราบต้องอพยพไปที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขณะที่การเดินทางระหว่างสองอำเภอเหลือเพียงสะพานบัวท่า-บัวเทิงเท่านั้นส่วนพื้นที่หลังถนนสายหลัก 24 และ 231 ผ่านหน้าเซนทรัลฯ ถูกตัดขาด 

สิรินภา สิธิระบุตร หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติวัดใต้ท่า กล่าวว่า เธอและครอบครัวอพยพออกจากบ้านมากว่าหนึ่งเดือนแล้ว โดยยอมรับว่าการใช้ชีวิตในศูนย์อพยพฯ เป็นไปอย่างยากลำบาก 

“มันลำบากเรื่องการหลับการนอน ถ้ามีพายุและฝนตกตอนกลางคืนก็จะไม่ได้นอน ต้องนั่งลุ้น เพราะเต็นท์โดนลมตี พอตื่นเช้าขึ้นมาต้องรีบอาบน้ำ ต้องออกจากเต็นท์ เพราะมันร้อนอยู่ไม่ได้ ต้องไปอยู่ตามใต้ต้นไม้ ตกค่ำมาก็เข้าเต็นท์”เธอเล่าชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย 

สิรินภา สิธิระบุตร หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ จ.อุบลราชธานี หอบข้าวของมาอยู่ในศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย ภาพโดย ทรงวุฒิ จุลละนันท์

สิรินภา เล่าอีกว่า ในฐานะที่เป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานีต้องประสบเคราะห์กรรมหลายครั้ง เมื่อปี 2562 น้ำท่วม ตามด้วยการระบาดของโควิด และต้องเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ ทำให้ชีวิตของเธอ “เปลี่ยนไปหมดเลย” 

 “รัฐควรมีระบบการจัดการที่ดีกว่านี้ ปี 2562 ก็ว่าแย่แล้ว เราเปิดร้านเสริมสวย ลูกค้าเยอะมาก กับลูกสาวสามคน ตอนนั้นไม่เดือดร้อนแล้ว ได้เงินทุกวันพอประทังชีพ พอมาเจอโควิด จากวันหนึ่งได้ 3,000 บาทเหลือ 40 บาท กระทั่งไม่มีเงินเก็บ ตอนนี้ใช้ชีวิตไปแบบวันต่อวัน กินแต่ของแจก หลังโควิดมาก็เจอน้ำท่วมอีก ชีวิตเปลี่ยนไปหมดเลย”สิรินภา กล่าว 

“เรื่องการจัดการน้ำเป็นระบบของรัฐ เขาบริหาร เราไม่อยากให้ท่วม ทุกคนไม่อยากให้น้ำท่วม ไม่อยากเสียหาย ไม่อยากได้ความเยียวยาของรัฐ เราต้องการใช้ชีวิตปกติธรรมดา อยากให้รัฐช่วย เราไม่รู้เขาจะกักน้ำ จะปล่อยน้ำ มันเป็นระบบของรัฐคืออยากทำให้ดีกว่านี้หน่อย เรื่องส่วนที่น้ำจะมา ขอเป็นเพียงแค่ว่า น้ำจะมาแล้ว หน่วยงานที่รัฐเตรียมความพร้อมให้ดีกว่านี้หน่อย”

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่และชาวบ้านในศูนย์อพยพกำลังเตรียมรับมือน้ำระลอกใหม่ที่จะถูกปล่อยมาจากเขื่อนอุบลรัตน์และพายุที่จะเข้าไทยในช่วงสุดสัปดาห์นี้ 

น้ำท่วมหมู่บ้านลักษณาวดี เฟส 2 ภาพโดย ปริตต์ อุปแก้ว

สถานการณ์น้ำท่วม จ.มหาสารคาม

ส่วนที่จังหวัดมหาสารคามระดับน้ำยังคงเพิ่มขั้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเขื่อนอุบลรัตน์ ต้องระบายน้ำกว่า 54 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ระดับน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย 

ศิวกร ซาซุม นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านลักษณาวดี เฟส 2 เล่าว่า  น้ำเริ่มเข้าท่วมหมู่บ้านตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 เวลาประมาณ 10โมงเช้า ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นน้ำท่วมเพียงระดับพื้นถนน จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มระดับความสูงขึ้นเรื่อยๆ 

ศิวกร เล่าต่อถึงความเดือดร้อนว่า ตอนนี้หาอาหารทานยาก ถ้าสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นก็จะต้องเดินลุยน้ำออกไปรับข้าวที่หน้าปากซอย อีกทั้งกลัวว่า น้ำจะขึ้นสูงอีก ซึ่งตอนนี้เขาและเพื่อนที่พักด้วยกันยังไม่มีที่อยู่ใหม่จึงไม่รู้จะย้ายไปไหน เพราะมีสัตว์เลี้ยงอาศัยด้วย 

ผู้ประสบภัยในหมู่บ้านลักษณาวดี เฟส 2 จ.มหาสารคามร่วมกันตักทรายใส่กระสอบเพื่อเป็นแนวกันน้ำท่วม ภาพโดย ปริตต์ อุปแก้ว

ขณะเดียวกันผู้นำชุมชนได้นำทรายกับกระสอบมาลงไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อให้ผู้ประสบภัยตักและขนกระสอบมาเพื่อกันน้ำไม่ให้เข้าบ้าน ซี่งเป็นการบริการฟรีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ก็ไม่เพียงพอ 

ขณะนี้นิสิตบางส่วนได้เตรียมขนย้ายข้าวของ รวมถึง สัตว์เลี้ยง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ออกจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินและตัวเอง 

อีกทั้งทั้งนี้ยังต้องคอยจับตาดูพายุลูกใหม่ที่คาดว่า จะเข้าไทยในช่วงวันที่ 15-16 ตุลาคม 2565 ซึ่งจะผ่านภาคอีสานและภาคกลาง 

image_pdfimage_print