ในยุคสมัยที่สื่อโซเชี่ยลมีเดียมีพลังอำนาจในการขับเคลื่อนหลายสิ่งในสังคมจนเกิดเป็นกระแสเพียงระยะชั่วข้ามคืนภายใต้นิยามของคำว่า ‘ไวรัล’
ในวันที่ทุกๆ คนต่างก็สามารถเป็นสื่อพลเมืองได้ เพียงแค่สมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกล้องสำหรับบันทึกภาพและแอพลิเคชั่นเช่น Facebook Twitter Tiktok ทุกคนก็สามารถเป็นผู้ผลิตสื่อได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว
หากแต่ยิ่งยุคสมัยที่ทุกอย่างเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็วและจางหายไปอย่างรวดเร็ว
ภายใต้คำว่า สื่อ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ วิดีโอ สารคดี หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์ ต่างก็ยังจำเป็นที่จะต้องคงไว้ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า ‘ข้อมูล’ และ ‘ข้อเท็จจริง’ ‘หรือแม้กระทั่ง ‘ความจริง’ บางประการให้คงอยู่ เพื่อให้คำว่า “สื่อ” มีส่วนสร้างสรรค์สังคมที่เป็นอยู่ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นกว่าที่กำลังเป็น
อัยการ ศรีดาวงศ์ Citizen Reporter เรื่อง
อุดรธานี – เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีจัดเสวนาเรื่อง บทบาทสื่อพลเมืองกับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ “ให้สื่อสร้างสรรค์สังคม” มีทั้งมีผู้กำกับหนัง ครูสอนเรื่องการสื่อสารและผู้ผลิตสื่อรายย่อยเข้าร่วมพูดคุยและนักศึกษาร่วมฟังจำนวนมาก
พัฒนะ จิรวงศ์ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์แห่งประเทศไทย
วิธีเลือกหัวข้อในการนำเสนอที่เป็น Soft power นั้นเกิดจากความสนใจแล้วลงมือทำไปก่อน ด้วยการถ่ายวิดีโอไว้ก่อน เพราะบางเรื่องรอไม่ได้ บางแหล่งข้อมูลที่เราสนใจหรือคนที่พร้อมที่จะให้ข้อมูลอาจจะรอไม่ได้
ส่วนเรื่องของ Soft power เรื่องนี้ต้องคุยกันยาวว่า ถูกนิยามว่าอะไร เพราะมันมีเยอะมาก มีอยู่เต็มไปหมดในชีวิตประจำวัน
บางทีเราอาจจะไม่ต้องคิดเลยก็ได้ว่า จะเอาวัฒนธรรมไปใส่อย่างไร เพราะใส่มันไปในทุกขณะอยู่แล้ว เหมือนกับเรามองเกาหลีใต้ เราอาจจะเห็นวัฒนธรรมการกิน การดื่มของเขา ถ้าถามว่าเป็นการยัดเยียดภาพจำใส่ลงไปไหม ก็ไม่ เพราะถ้าได้ไปเห็นจริงๆ คือ ชีวิตเขามีธรรมชาติอย่างนี้
“ภาคอีสานมีความรุ่มรวยทางชีวิตทางวัฒนธรรม เหมือนที่ปรากฏหรือถูกนำมาแสดงในภาพยนตร์อย่างไทบ้าน เดอะซีรี่ส์จริงๆ มันไม่ได้ยาก แต่ต้องมองให้ออกว่า มันจะถูกนำมาใช้ยังไงมากกว่า”
เขาเน้นย้ำว่า เมื่อไหร่ที่นำวัฒนธรรมมาครอบเนื้อหา คนดูก็จะรู้สึกต่อต้าน เช่น การพยายามจับยัดสิ่งที่เราคิดว่า เป็น Soft power ทางวัฒนธรรมเข้าไปจนดูล้น แต่ถ้านำเรื่องราวไปครอบวัฒนธรรมก็จะดูไม่ขัดแย้ง
“เราต่างอยู่ร่วมกันด้วยความเกลียดชัง ซึ่งมองว่า ความรักมันเป็นส่วนที่อยู่ลึกๆ ในใจคนอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่า การเปลี่ยนต้องมีความหวังเรื่องพวกนี้เล่าความรักใส่ลงไปในงาน”พัฒนะ จิรวงศ์ (เสื้อขาว)
เริ่มต้นจากการอยากเล่าเรื่อง
ส่วนวิธีการนำเสนอให้น่าสนใจนั้น ถือเป็นโจทย์ที่ตอบยาก แต่ส่วนตัวเกิดจากความอยากทำก่อน เช่น เรื่องเกี่ยวกับชาติพันธุ์ชาวเล จังหวัดกระบี่ ตอนแรกก็ไปรู้จักกับเจ้าของปัญหา ไปเห็นของจริง ถ้าเราไม่ลงพื้นที่ก็จะติดภาพจำเดิมๆ
ส่วนความจริงที่นำเสนอไม่ได้นั้น จริงๆ มีหลายเรื่อง แต่ต้องซิกแซก เช่น หนังสารคดีเรื่องติดถ้ำ ไม่ได้พูดถึงในถ้ำ พูดถึงคนนอกถ้ำ พูดถึงคนในพื้นที่ถ้ำหลวง ซึ่งสร้างจากเรื่องจริง ภายในเรื่องก็นำเสนอภาพลักษณ์ที่อาจกระทบต่อหน่วยงานราชการหรือแม้กระทั่งผู้ว่าราชการ แต่เพื่อเลี่ยงความจริงจึงต้องเปลี่ยนเป็นเรื่องแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงแทน
“ยิ่งเราเล่าเรื่องการเมืองในปัจจุบันได้ก็ยิ่งสนุก เพราะในฐานะที่มีเพื่อนอยู่ทุกฝ่ายที่จะทำให้เกิดการชั่งน้ำหนักจากข้อมูทุกฝั่งต่างนำเสนอ แม้ว่าจะมีมุมมองในแบบๆ หนึ่ง แต่มันจะดีมาก ถ้าคนรุ่นใหม่เกิดการตั้งคำถาม ผมอยากให้ทำ แล้วทำมันลึกซึ้ง เพราะตอนนี้ เต็มไปด้วยข้อมูล”
ผู้ร่วมเสวนาต่างหันมองดูคลิปวิดีโอเกี่ยวกับชาติพันธุ์ชาวเล
ยอมรับถ้ากระแสตีกลับหลังเสนอผลงาน
ส่วนกรณีที่ถามว่า เมื่อนำเสนอไปแล้วเกิดกระแสตีกลับนั้นเห็นว่า เราควรอยู่ด้วยความรักมากกว่า เพราะเราต่างอยู่ร่วมกันด้วยความเกลียดชัง ซึ่งมองว่า ความรักมันเป็นส่วนที่อยู่ลึกๆ ในใจคนอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่า การเปลี่ยนต้องมีความหวังเรื่องพวกนี้เล่าความรักใส่ลงไปในงาน
เขายกตัวอย่าง กรณีทำหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาที่เคยทำสมัยเรียนใช้พื้นที่ ม.ธรรมศาสตร์เป็นสถานที่ถ่ายทำและเพื่อนที่เรียนด้วยกันเป็นหลานของ จอมพล ถนอม กิตติขจร เขาทำเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แต่มองอีกมุมว่า ในฐานะหลานของจอมพลที่ถูกประณาม เลยอยากทำออกมาสองมุม จนวันหนึ่งได้นำไปเสนอหอภาพยนตร์
ด้วยความกลัวว่า อาจจะไม่ได้ฉายหรือฉายแล้วอาจจะมีกระแสตีกลับก็ติดต่อไปยังทีมผู้จัดแสดงก็ได้รับคำตอบที่ว่า หนังสามารถฉายได้ แต่ว่าเราทำอะไรมา เราก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่เราทำ แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดี เพราะเป็นเรื่องที่ทำออกมามันเป็นการนำเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอีกมุมหนึ่ง กับคนๆ หนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจริงๆ
ส่วนปัญหาที่ว่าพอฉายไปแล้วอยู่เหนือความคาดหมายหรือไม่นั้น ยกตัวอย่างเช่น “ดอกไม้ให้เธอ” ที่เป็นเรื่องเหมืองแร่โพแทซ อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร ตอนแรกคิดว่า เป็นปัญหาระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐ แต่พอลงไปสัมผัสจริงๆ มันซับซ้อนกว่านั้น คือ มีกลุ่มชาวบ้านบางส่วนที่ไปหนุนกับรัฐ จนกลายเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อน
“ความสนุกของการสื่อสารคดี คือ การได้เจอผู้คน ได้รับฟังสิ่งต่างๆ และเรียนรู้กับสิ่งนั้นไปพร้อมๆ กัน”
กชกร บัวล้ำล้ำ นักข่าว Citizen Reporter of The Isaan Record เจ้าของเพจ “แก้วใส Daily Life Story”
เนื้อหาที่นำเสนอในเพจเกิดจากเรื่องรอบๆ ตัว ที่หาง่ายในชีวิตประจำวัน ส่วนข่าวที่รายงานให้ The Isaan Record จะเป็นปัญหาที่มีในภาคอีสาน หลักๆ คือ ปัญหาที่เกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคม ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างจะซีเรียส
Soft Power บนเพจแก้วใส
คำว่า Soft Power จึงถูกใช้มากในเพจ แก้วใส Daily Life Story จริงๆยังไม่ได้อยากใช้คำนี้ แต่ คือ เรื่องราวในชีวิตประจำวันที่ทำให้น่าสนใจ ทำให้แปลก ไปดูไร่นา ไปทำบุญกับพ่อ ไปตกปลา หาเห็ดแค่คิดแบบภาพใหญ่ แต่สื่อสารออกมาในรูปแบบปกติของชีวิตประจำวัน แล้วฉายมันออกมา นอกจากจะเป็นเพจดูขำๆ พร้อมกับแทรกสาระในเวลาเดียวกัน
ส่วนการนำเสนอลงบน Tiktok เริ่มจากเห็นคลิปที่เป็นไวรัล คลิปตัดคำพูดบรรยายใส่ ซึ่งเราก็รู้สึกว่า เราก็ทำได้ จากนั้นก็ลองนำเสนอเนื้อหาตามแบบฉบับของเรา ความจริงแล้วก็พึ่งเล่น Tiktok เมื่อไม่นาน โดยมองว่า Tiktok เป็นศูนย์รวมความไวรัลไว้ด้วยกัน
แม้ในเพจเฟซบุ๊กฯ จะมีความตลก ความสบายๆ แต่ในความเป็นจริง คือซีเรียสและงานค่อนข้างจริงจัง ยกตัวอย่าง เคสสนามบินเสรีไทยอำเภอนาคู ซึ่งบางอย่างก็นำเสนอไม่ได้ เนื่องจากเป็นเอกสารลับจากทางราชการก็ต้องดูที่ขอบเขตการนำเสนอว่า ทำได้มากน้อยแค่ไหน
“บางครั้งความกลัวมันทำให้ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง เพื่อคำนึงถึงผลกระทบ จากการคุกคามจากรัฐ ซึ่งคนทำสื่อต้องดูในเรื่องข้อกฎหมายควบคู่ไปด้วย”
สื่อคืออำนาจ ยอดผู้ติดตามคือพลัง
สิ่งที่เกินความคาดหมายก็คงจะเป็นเรื่องการที่เรากลายเป็นคนหยุดนิ่งไม่ได้ เหมือนเราไปอยู่ที่ไหนก็จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของที่นั่น คนทำสื่อจึงกลายเป็นคนที่ ไม่หยุดนิ่ง เพจแก้วใส มีความคาดหวังจากผู้ติดตามแม้ว่าจะเป็นเพียงเพจเล็กๆ แต่ก่อนจะนำเสนออะไรเราก็ต้องคิดให้มากๆ
“เสรีภาพในการพูดหรือ Freedom of Speech เป็นสิ่งที่เราขาดเพราะเราขาดการวิพากษ์ ขาดการตั้งคำถาม มันเลยไม่เกิดการพัฒนา จึงเสนอว่า ควรมีการเปิดพื้นที่ที่และสร้างพื้นที่การรับฟังเสียงของผู้คนในสังคม สื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสียง” เธอกล่าวและว่า
“สื่อ คือ อำนาจ ยอดคนติดตาม คือ อำนาจในการที่จะให้เป็นเรื่องดีก็ได้หรือไม่ดีก็ได้ เวลาทำสื่อออกไปทำให้รู้สึกว่า คนทำสื่อเต็มไปด้วยข้อมูล ทำให้ได้ชั่งน้ำหนักตัวเองตลอดเวลา”
วรวิทย์ ไชยวงศ์คต ครูโรงเรียนเจริญศิลป์ศึกษาโพธิ์คำอนุสรณ์ ในฐานะเจ้าของรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทาน Educator thailand 2022 และเจ้าของยูทูป Samong Group Studio
เลือกเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเป็นเนื้อหานำเสนอ ประกอบกับการที่เป็นครูที่ต้องทำงานร่วมกับนักเรียนจึงไม่ได้มองว่า เป็นสื่อเต็มตัว ในฐานะบุคลากรของรัฐก็จะได้เห็นการใช้ Soft Power เพื่อโปรโมทนโยบายของรัฐ ไม่ใช่ความขัดแย้งกับสื่อหลัก แต่จะเป็นการพูดจากมุมของรัฐ ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่รัฐจะโปรโมทก็จะมีบ้างที่ผ่านมาทางสถานศึกษา
เรื่องที่เล่าไม่ได้ก็มีบทเรียนบางอย่างที่ได้จากการทำงานกับเด็กๆ แบบนักเรียนมีเรื่องจะเล่า แต่เราเป็นกองเซ็นเซอร์ เพราะกลัวผลกระทบต่อตัวนักเรียน แต่ยังรู้สึกเสียดายที่ว่าวันนั้นน่าจะปล่อยให้นำเสนอ เพราะปัจจุบันก็มีการเปิดกว้างขึ้น เช่น เรื่องทรงผม เป็นต้น บางชิ้นงานก็ยังเลือกที่จะเก็บไว้และรอนำเสนอในวันที่มันจะไม่เกิดผลกระทบ
เราก็จะกังวลในฐานะครูจึงมีความระมัดระวังในการนำเสนอสื่อ เนื่องจากเราทำงานกับเด็ก บางอย่างก็ต้องนำเสนออย่างระมัดระวัง เคสตัวอย่างจากทุน ก.พ.ร. (คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) ทำเรื่องการทุจริตในภาครัฐ เรื่องถนนที่ชำรุด ไม่ได้ระบุว่ามันเกิดขึ้นที่ไหน พอหนังปล่อยออกไปก็โดนส่วนปกครองท้องถิ่นมีหนังสือมาทางโรงเรียน หลังจากนั้นมาก็ค่อนข้างระมัดระวังตัว
ส่วนปัญหาที่อยู่เหนือความคาดหมายนั้น ไม่ได้อยู่ที่กระบวนการ แต่อยู่ที่คำถามที่ว่า ทำไมพอทำหนังสั้นแล้วแทนที่อยากจะเรียนนิเทศก์ แต่ทำไมส่วนใหญ่ไปเรียนการเมืองการปกครอง ซึ่งน่าจะมาจากการที่สอนว่า ให้ลงพื้นที่ ไปคลุกคลีและเก็บข้อมูลกับผู้คน
เราไม่ได้คาดหวังถึงขนาดที่เป็นเอเย่นรายใหญ่มาสนใจปัญหาหรือเลิกค้ายาเพราะเราขนาดนั้นหรอก แต่ว่าขอแค่เด็กและเยาวชนที่ได้ดู แล้วทำให้เขาห่างไกลจากยาเสพติดได้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
อย่างในภาพยนตร์สั้นเรื่อง “สีกรัก” มันยากที่จะไปเปลี่ยนจีวรพระทั้งประเทศ ซึ่งเป็นสีแบบพระราชนิยม หรือเรื่องเขื่อนจีน เราอาจจะส่งหนังสั้นไปเปิดที่จีน แต่มันก็ใช่ว่าจีนจะเลิกสร้างเขื่อน
บรรยากาศผู้เข้าร่วมฟังเสวนาหัวข้อ “ ให้สื่อสร้างสรรค์สังคม”
ควรบูรณาการผลิตสื่อและวิชาการ
ควรจะสนใจเรื่อง “สิทธิเด็ก” ให้เด็กมีอิสระมากขึ้น กฎระเบียบต่างๆ ที่มันครอบอยู่ เช่น การโรแมนติไซต์วิชาชีพครู ซึ่งเราอยากจะเป็นครูธรรมดาคนหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจมากกว่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เรื่องถนนชำรุด จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจจะเอ่ยถึงถนนเส้นใด แต่อาจจะมีการพูดแบบปากต่อปากภายในตลาดในหมู่พ่อค้าแม่ค้า ซึ่งก็มีกรมการปกครองส่งหนังสือมาถึงโรงเรียน แล้วปรากฏว่าถนนที่มีปัญหาในละแวกนั้นก็ได้รับการซ่อมแซม
ในฐานะนักการศึกษา ผมมองว่า หลักสูตรการผลิตสื่อในโรงเรียนมัธยม เราแทบจะไม่ได้มีการนำวิชาทางสังคมมาบูรณาการร่วมกันเลย ทั้งสองสิ่งระหว่างการผลิตสื่อและประเด็นทางสังคมที่มันจำเป็นต้องคู่กัน ก็ถูกแยกออกจากกันซึ่งถ้าถามในมุมของผมก็จะใช้สื่อในการศึกษาปัญหาของสังคม พร้อมทั้งให้เด็กได้เรียนรู้และขับเคลื่อนสังคมผ่านการทำสื่ออย่างสร้างสรรค์
“ผมเชื่อว่า สื่อมันมีพลังและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง”
.
.
.
.
.
.
.