6 ตุลาฯ 46 ปี เหตุล้อมปราบนักศึกษาที่ไร้ผู้รับผิด

The Isaan Record เก็บตกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จากลานแปดเหลี่ยม ม.มหาสารคามที่นักศึกษาตั้งวงถกเถียงพูดคุยถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่นักศึกษาประชาชนถูกกระทำ ถูกไล่ล่า ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ กระทั่งพวกเขาหนีเข้าป่า
กว่า 46 ปี ประวัติศาสตร์การล้อมปราบนั้นยังไม่ถูกสะสาง คนสั่งฆ่ายังลอยนวลอยู่ในวัฒนธรรม “ไร้ความผิด” นักศึกษารุ่นใหม่จึงเรียกร้องให้สังคายนาประวัติศาสตร์แล้วเอาคนผิดมาลงโทษเสียที
รัตนาภรณ์ น้อยวงศ์ เรื่องและภาพ
การรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาปีนี้ จัดขึ้นที่ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยกลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม มีนักศึกษาเข้าร่วม
ผู้จัดงานพยายามเปิดพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงบทเรียนของความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 ตุลาฯ 2516 ในหลากมิติ ทั้งจากคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันและผู้ร่วมเหตุการณ์ในอดีต
กรรณิการ์ (ขอสงวนนามสกุล) อดีตนักศึกษาในยุค 6 ตุลาฯ มาพร้อมกองหนังสือที่สีแห้งกรัง ตีพิมพ์ด้วยปกรูปแบบเก่าๆ ซึ่งก็พอจะรู้ได้ว่า เป็นหนังสือที่เก่าเก็บแต่ถูกรักษามาเป็นอย่างดี
ช่วงที่มีการตีพิมพ์หนังสือการเมืองเธอได้เก็บรวบรวมไว้ หลังจากอ่านจบก็โรยผงกันแมลงและเก็บไว้เพื่อให้คงสภาพเดิม ไม่ให้ถูกทำลาย
“ต้องขอบคุณที่บ้านเป็นบ้านปูน หนังสือจึงยังอยู่ดี” กรรณิการ์เล่าพลางหัวเราะ
นักศึกษา มมส.หลายคนเข้ามาหยิบจับหนังสือไปลองอ่านและแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเธอ ทำให้หลายคนได้มีโอกาสฟังเรื่องราวการเมืองไทยในยุคนั้น
สื่อเมื่อปี 2522
เธอบอกว่า ในยุคนั้นผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้น้อย สารที่ได้รับจะมาจากหนังสือและหนังสือพิมพ์ ที่มาทั้งฝั่งซ้ายและขวา ทุกครั้งที่จะเสพข่าวต้องกรองด้วยตัวเอง เพราะหนังสือบางเล่มก็รู้สึกว่าไม่ถูกต้อง เราต้องหาข้อมูลจากข่าวหลายแหล่งและตั้งคำถามกับหลายๆ อย่างเพื่อหาข้อเท็จจริง
“มีภาพต่างๆ ที่ออกมาเป็นการ์ตูนเล่าถึงคอมมิวนิสต์ด้วยการสร้างภาพให้ผู้คนหวาดกลัว ทั้งภาพที่วาดให้คนทำนาแทนควาย ภาพเด็กผอมแห้ง ภาพจำของคอมมิวนิสต์ในยุคนั้นจึงเป็นภาพที่ทำให้คนรู้สึกกลัว”
กรรณิการ์ได้ศึกษาเรื่องราวที่มาของแนวคิดคอมมิวนิสต์ในจีนและพบว่าจริงๆ แล้วแนวคิดนี้เพียงต้องการความเท่าเทียม เพราะสังคมนั้นมีความเหลื่อมล้ำสูงจนเห็นได้ชัด แต่ภาพจำของคอมมิวนิสต์ในไทยกลับถูกมองเป็นสัญลักษณ์ของความโหดร้าย

การเมืองไทยในยุค 6 ตุลา 2519
สมัยนั้นบ้านเมืองเราน่ากลัวนะ พอผู้คนเริ่มศึกษาหาความรู้ต่างๆ ได้ เกิดแนวคิดใหม่ๆ เกิดความคิดเห็นแตกต่างจากเดิมและหลากหลายมากขึ้น ทางรัฐเขาก็ไม่ยอม ทั้งที่จริงๆ แล้วการรับฟังและพูดคุยควรจะเป็นทางเลือกที่ควรทำ แต่กลับเกิดวาทกรรมต่างๆ มากมายที่ทำร้ายฝั่งที่คิดต่างให้กลายเป็นผู้ร้าย จนเกิดเหตุการณ์มากมายที่เป็นการทำลายประชาชน
นอกจากนั้นแล้วฝั่งประชาชนที่มีแนวคิดเดิมก็ร่วมกันทำร้ายคนที่คิดต่าง การทำร้ายก็มีทั้งการเผา การฆ่า การข่มขืน มันเกิดขึ้นจริงๆ และเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก
นอกเหนือจากคนในตัวกรุงเทพฯ แล้ว อย่าง จังหวัดมหาสารคาม ทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมเสวนาทางการเมืองก็จะโดนคุกคามจากคนที่มีแนวคิดต่างอยู่จนต้องหนีกันหัวซุกหัวซุน ในยุคนั้นกลายเป็นว่า การทำร้ายคนที่คิดต่างเป็นเรื่องชอบธรรม ซึ่งได้สร้างบาดแผลให้กับผู้คนในยุคนั้นมาก

กลุ่มเสรีมวลชนกับ 6 ตุลาฯ
ขณะที่ พงศธรณ์ ตันเจริญ กรรมการฝ่ายสาราณียกร กลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม หนึ่งในผู้จัดนิทรรศการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กล่าวว่า ในตำราเรียนไม่ได้บันทึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อย่างตรงไปตรงมา ตอนที่เรียนไม่มีมีเหตุการณ์นี้
“หนังสือบางเล่มสมัยประถมพูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์ 6 ตุลา เหมือนกับว่า เป็นเหตุการณ์ที่เป็นเงาดำที่อยู่ในหลุมลึกที่ไม่มีใครออกมาพูดถึงเลย”
พอเข้ามหาวิทยาลัยเขาจึงมีโอกาสได้อ่านหนังสือนอกตำราที่ทำให้ได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มากขึ้น แต่สิ่งที่เรียนในห้องเรียนก็ยังไม่พอ การรับรู้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จึงเป็นที่รับรู้กันในวงแคบ
“ผมศึกษาผ่าน YouTube และ Website ที่เล่าถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่โหดร้ายขนาดนี้ ไร้มนุษยธรรมขนาดนี้ ทำไมถึงไม่มีการบันทึกในแบบเรียน”เขาตั้งคำถาม
“รัฐไทยทำร้ายประชาชนขนาดนี้ แต่เหตุใดจึงไม่กล้าออกมารับผิด ทำไมไม่ออกมาชดใช้ความเสียหายให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นเลยสักคน รัฐทำเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นอุบัติเหตุ แล้วก็ปล่อยไป ซึ่งมันไม่ถูกต้อง”เขากล่าวเน้นย้ำ
นอกจากนี้เขายังเสนอว่า การรับรู้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ควรมีหลากหลายมิติในแบบเรียนมากขึ้น ในฐานะเป็นประชาชนคนหนึ่ง มองว่า สังคมไทยควรถอดบทเรียนจากความโหดร้าย ควรสร้างพื้นที่การพูดคุยและทำแบบเรียนให้ประชาชนได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา
“เราปล่อยให้ปัญหาพวกนี้หมักหมมในเชิงโครงสร้างที่ปล่อยให้คนบางกลุ่มในประเทศเจอกับความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงและควรชำระประวัติศาสตร์ใหม่ เพราะประวัติศาสตร์มันไม่ใช่เส้นตรง ควรมีการวิพากษ์เพื่อถกกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
เขายังกล่าวอีกว่า รัฐไทยพยายามสร้างภาพจำว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากคนกลุ่มหัวรุนแรง เป็นกลุ่มฝ่ายซ้ายกลุ่มคอมมิวนิสต์พยายามปลุกปั่น ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจผิด ที่ทั้งรัฐไทยและฝ่ายขวาจารีตในไทยใช้เป็นเหตุผลในการกล่าวหานักศึกษา
เวลาผ่านไป แต่คนผิดยังลอยนวล
เขากล่าวอีกว่า พวกเราตั้งใจให้นิทรรศการครั้งนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้เหตุการณ์ 6 ตุลา ให้ได้รู้ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว เหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในสังคม เราอยากปลูกสำนึกให้คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ให้เขารับรู้ว่า เรื่องการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว
“หวังว่าทุกคนจะไม่ลืม หวังว่าทุกท่านจะจดจำเรื่องราวนี้และช่วยกันเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและนำคนผิดในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มารับโทษให้ได้”