เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่ชาวบ้านในตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ใช้ชีวิตท่ามกลางน้ำท่วมขัง ภายในหมู่บ้านได้นำเรือมาใช้แทนรถยนต์เพื่อขนส่งนิสิตและชาวบ้านที่ยังอาศัยอยู่ภายในบ้านออกไปใช้ชีวิตข้างนอกชุมชน
ทีมข่าว Citizent Reporter ของ The Isaan Record ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในพื้นที่ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคามพบว่า ชาวบ้านเริ่มปรับตัวอยู่กับน้ำท่วมขัง แต่ส่วนใหญ่ก็โอดครวญกับชะตากรรมที่ต้องประสบ โดยพวกเขาต้องการให้รัฐเร่งแก้ไข เยียวยา
รัตนาภรณ์ น้อยวงศ์ เรื่องและภาพ
น้ำในหมู่บ้านดอนนา ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ยังคงท่วมขัง โดยไม่มีท่าทีจะลดลง ชนะชัย บุญหล้า ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนนาเล่าถึงเหตุอุทกภัยครั้งนี้ไว้ว่า น้ำได้เริ่มเข้ามาพื้นที่บ้านเรือนตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2565 โดยเริ่มเข้าพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน หลังจากนั้นวันที่ 19 ตุลาคม ระดับน้ำก็ท่วมสูงขึ้นจนไม่สามารถใช้รถสัญจรได้
“แต่ก่อนพื้นที่ในแถบนี้ ยังไม่มีการถมที่เพื่อสร้างบ้านเรือน ยังคงเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ แต่เคยมีเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2521 ที่ระดับน้ำสูงสูสีกับปีนี้เลย แต่คราวนี้แย่กว่า” ชนะชัย กล่าว
ชนะชัย บุญหล้า ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนนา ชี้ให้ดูระดับน้ำท่วมเพื่อเปรียบเทียบจากที่เคยท่วมเมื่อปี 2521
เริ่มแรกเรือที่ชาวบ้านนำมาใช้ในการรับ-ส่ง มาจากผู้ประกอบอาชีพประมงในเขตพื้นที่แล้วนำมาใช้ส่วนตัว ต่อมาได้มีคนนำเรือมาใช้ในการเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านดอนนามากขึ้น ทำให้เรือบางส่วนถูกมาจอดไว้ในพื้นที่ส่วนกลางเพื่อใช้ร่วมกันในชุมชน
แม้น้ำจะเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร แต่ผู้คนยังออกไปใช้ชีวิตตามปกติ ทั้งประชาชน และนิสิตนักศึกษา ต่อมามหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ประกาศให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อเลี่ยงการเดินทาง ซึ่งทำให้นักศึกษาส่วนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา
ขณะเดียวกันชาวบ้านบางส่วนไม่สามารถออกไปทำงานได้ ต้องหยุดงาน เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่อำนวย ทำให้รายได้ขาดมือ
ชาวบ้านเริ่มปรับตัวด้วยการใช้เรือในการเดินทางเข้าออกหมู่บ้าน
การลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านดอนนา ปฏิภาณ เดชผล เป็นผู้นำทางไปยังพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังของหมู่บ้าน โดยใช้เรือในการเดินทาง
แม้ว่า ในพื้นที่ไม่มีฝนแล้ว แต่น้ำยังคงท่วมขัง เพราะเป็นน้ำบ่ามาจากที่อื่น ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ‘น้ำแก่งน้ำชี’ ที่ไหลมากับน้ำจากทางเขื่อนอุบลรัตน์ที่ทำให้เวลาผ่านมากว่าหนึ่งเดือนแต่ไม่มีท่าทีว่า จะลดลง
“ชาวบ้านเขาก็มาช่วยๆ กัน เอาเรือมารับส่งคนในหมู่บ้าน บางคนเขาก็ให้สินน้ำใจ เป็นเงินบ้าง เป็นข้าวบ้าง แล้วแต่คนจะให้ครับ แต่ไม่ได้รับจ้างเป็นกิจลักษณะ ส่วนใหญ่ชาวบ้านตั้งใจมาช่วยเหลือกัน” ปฏิภาณ กล่าว
ปฏิภาณ เดชผล ผู้นำทางในการสำรวจบริเวณน้ำท่วมขังหมู่บ้านดอนนา
เมื่อเข้าไปภายในหมู่บ้านก็พบว่ามีถุงยังชีพที่กองรวมกันอยู่บริเวณศาลากลางหมู่บ้าน ซึ่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอธิบายว่า ถุงยังชีพเหล่านี้จะใช้เรือในการขนส่งไปยังบ้านแต่ละหลัง เพราะบางพื้นที่ยังไม่มีคนมารับ จึงต้องไปส่ง
ทุกตรอก ทุกซอย ที่เคยเป็นถนนคอนกรีต ถูกแทนที่น้ำ บางช่วงสูงประมาณเข่า บางส่วนเกินกว่านั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่
เมื่อสำรวจเข้าไปในภายในซอยลึกก็พบว่า ระดับน้ำเริ่มสูงขึ้น ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย พ่อค้าแม่ค้าภายในหมู่บ้านขาดรายได้ เพราะต้องปิดกิจการไปชั่วคราว
น้ำมาเร็วทำให้หลายครอบครัวขนย้ายทรัพย์สินไม่ทัน ทำให้บางบ้านยังมีรถยนต์ มอเตอร์ไซต์จอดแช่น้ำ 
บ้านเรือนของชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
รถยนตร์จอดแช่น้ำ เพราะขนย้ายไม่ทัน 
หอพัก นิสิตที่อยู่ภายในหมู่บ้าน
ถุงยังชีพ บริเวณศาลากลางหมู่บ้านดอนนาที่รอนำให้ผู้นำชุมชนนำไปแจกจ่ายแก่ลูกบ้าน
‘เสือ’ สุนัขในหมู่บ้านที่ยังไม่ได้ย้ายออกจากหมู่บ้าน เนื่องจากเจ้าของยังไม่ได้ขนย้ายสิ่งของ
ไม่เพียงแต่ชาวบ้านที่กลายเป็นผู้ประสบภัยเท่านั้น ยังมีสัตว์เลี้ยงอีกจำนวนมากที่พลัดพรากจากเจ้าของ
ทีมข่าวฯ ได้พบ นันทชนก ปุกิจ นักศึกษาคณะมนุษยศาสต์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากการเรียนและการทำงาน โดยเธอทำงานPart-Time เป็น ไรเดอร์ ส่งข้าวภายในพื้นที่น้ำท่วมขัง
“ทุกครั้งที่ต้องออกไปทำงาน ส่งข้าวให้แต่ละบ้าน ก็มีพื้นที่ที่น้ำท่วมขังสูง การเดินทางด้วยรถจึงลำบากมาก แต่ก็ต้องทำ เพราะไม่ทำ ก็ไม่มีเงินหน้าบ้านของเราเอง น้ำก็ท่วมค่ะ ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาจัดการเพื่อระบายน้ำอย่างจริงจังเลยค่ะ”เธอเล่าสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น
นันทชนก ปุกิจ ขณะทำงาน Part-Time เป็นไรเดอร์ส่งข้าวในพื้นที่น้ำท่วม
การคมนาคมในพื้นที่น้ำท่วม จ.มหาสารคาม ขนส่งขณะเดินทาง
ขณะนี้ชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในครั้งนี้อย่างหนัก โดยระดับน้ำยังไม่มีทีท่าจะลดลง ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาจัดการกับระบบการระบายน้ำของพื้นที่อย่างจริงจัง พวกเขาได้แต่หวังว่า เมื่อน้ำลด พวกเขาจะได้รับการเยียวยาจากรัฐมากกว่านี้