เหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภูไม่เพียงแต่สะท้อนปัญหาสังคมที่หมักหมมอยู่มากมาย ที่พ่วงมาพร้อมระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์ คนหนองบัวลำภู วิเคราะห์เทียบเคียงกับเหตุกราดยิงทั่วโลกที่เกิดขึ้น อย่าง สหรัฐฯ นอร์เวย์ ฯลฯ ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้พ่ายแพ้ต่อระบบทุนนิยมจนนำมาสู่การใช้ยาเสพติด จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต และอื่นๆ

ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์ เรื่อง 

1. มันเป็นสันดานส่วนตัว!

หลังเกิดเหตุกราดยิงภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ของจังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ซึ่งได้สร้างความเศร้าโศกเสียใจไปทั่วโลก ตามธรรมเนียมในประเทศไทย อันเนื่องมาจากลักษณะของการเมืองการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ แม้ว่าพื้นที่เกิดเหตุจะห่างไกลจากทำเนียบรัฐบาลหลายร้อยกิโลเมตรก็ตามที นักข่าวก็จะมุ่งหน้าอย่างไม่รอช้าไปสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมากกว่าจะพุ่งเป้าไปที่นักการเมืองท้องถิ่นหรือฝ่ายปกครองในพื้นที่เกิดเหตุ ประหนึ่งว่านายกฯหรือรัฐมนตรีเหล่านั้นมีฌานสมาบัตินั่งทางในรู้แจ้งเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างไรอย่างนั้น

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะลงพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู หลังเกิดเหตุกราดยิง ภาพ The Isaan Record 

แต่ก็เอาเถอะ ที่ว่ามาวัตถุประสงค์ของบทความนี้ไม่ได้จะมาว่า กันด้วยเรื่องการกระจายอำนาจในประเทศไทย แต่บรรดาคำตอบที่พรั่งพรูออกมาจากปากของนายกฯ หรือรัฐมนตรี ที่ตอบคำถามนักข่าวต่างหากที่น่าสนใจในเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะคำตอบของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวว่า ก็จะให้ทำอย่างไร ก็คนมันติดยา และ “เราให้การช่วยเหลือแล้วและให้ประชาชน โทร 1669, 191, 1597 มีตั้งเยอะคุณจำได้ไหม” (““ก็ทำยังไงล่ะ คนมันติดยา” ทำไมภาวะผู้นำถึงสำคัญในภาวะวิกฤต คุยกับนักวิชาการด้านสื่อสารการเมือง,” 2565, 7 ตุลาคม)

หรือที่ พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีที่ได้ออกมาเปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร ได้กำชับไปยังหัวหน้าหน่วยงานทุกระดับให้ทบทวนและกวดขันมาตรการควบคุมกำกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยงานที่ครอบครองและใช้อาวุธให้มากขึ้น โดย พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า ให้พิจารณาเพ่งเล็งเจ้าหน้าที่ที่มีความเครียดหรือมีอาการป่วยจากสภาวะทางจิตประสาท หรือจากปัญหายาเสพติด เพื่อแยกบำบัดรักษาและกำกับให้อยู่ในการดูแลของแพทย์จนปกติ [และ]ขอให้ความสำคัญไปถึงกระบวนการคัดกรองเข้ารับเข้าราชการที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับประวัติบุคคล เพื่อป้องกันมิให้มีการก่อเหตุรุนแรงทางสังคม ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นอีก” (“ประวิตร สั่งกวดขันเจ้าหน้าที่รัฐเครียด ครอบครองอาวุธปืน,” 2565, 6 ตุลาคม)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า “จากการสอบถามสาเหตุทราบว่า เป็นตำรวจที่มีปัญหาส่วนตัว ซึ่งตนเองเคยเตือนอยู่เสมอว่า สังคมต้องช่วยกันดูแล เพราะบางคนในจิตใจมีปัญหาและไม่ได้พูดคุยกับใคร ทั้งนี้ไม่อยากเข้าข้างใคร แต่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง…” (“นายกฯ ย้ำแสดงความเสียใจเหตุกราดยิง เบื้องต้นผู้ก่อเหตุมีปัญหาส่วนตัว พรุ่งนี้ (7 ต.ค.) บินให้กำลังญาติ,” 2565, 6 ตุลาคม)

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้ว่า อย่ามองเฉพาะประเด็นเรื่องอาวุธปืนเพียงอย่างเดียว แต่ให้มองไปที่ประเด็นสุขภาพจิตของผู้ก่อเหตุด้วย 

โดยกล่าวว่า “…สิ่งที่ผมอยากจะบอกวันนี้ก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องลึก ๆ ข้างใน เราดูคุณสมบัติว่า เขามีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะสามารถพกพาอาวุธได้หรือไม่ ซึ่งก็มีหลักเกณฑ์ทั่วไป[อยู่แล้ว] แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ผมคิดว่า เป็นเรื่องของจิตใจภายใน คนที่ก่อเหตุเช่นนี้ เป็นคนที่มีจิตใจภายใน ข้างในที่ผิดปกติ ซึ่งก็ต้องหามาตรการที่จะควบคุมให้ได้ ที่สำคัญลองคิดดูว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้ใช้อาวุธปืนอย่างเดียว แต่มีการใช้มีดด้วย แล้วอย่างนี้จะต้องให้เราห้ามใช้มีดด้วยหรือ อย่าลืมว่าครั้งนี้เขาใช้มีดทำร้ายเด็ก ถ้าเรามองผลที่เกิดขึ้นในขณะนี้มันไม่ใช่ไปดูเรื่องปืนเพียงอย่างเดียว จะต้องดูว่าทำไมคนถึงมีจิตใจข้างในอย่างนี้ได้ สังคมเราจะต้องทำให้ไม่มีคนเป็นแบบนี้ เพราะเขาไม่รู้จักความมีเมตตาปราณี ไม่รู้ในเรื่องจิตใจของคน ซึ่งเขาไม่มีสิทธิ์จะไปทำร้ายใคร ผมคิดว่าน่าจะเป็นพื้นฐานในตัวของผู้ที่ก่อเหตุ (“’บิ๊กป๊อก’ ชี้มือกราดยิงจิตใจผิดปกติ อย่ามองแค่เรื่องใช้ปืนมุมเดียว,” 2565, 7 ตุลาคม)

สิ่งที่พอจะกล่าวได้ว่า เป็นความเห็นร่วมกันของบรรดา “นายพลนักการเมือง” เหล่านี้ คือ การชี้โทษไปที่ “ปัจเจก” ไม่ใช่ปัญหาของ “ระบบ” เหตุผลหนึ่งของการแสดงทัศนะแบบนี้ออกมาว่ากันว่า คือการเลี่ยงที่จะพบเจอกับการทวงถาม/เรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพหรือตำรวจ ผมคิดว่า คำกล่าวของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในสมัยที่เกิดคดี “ผู้กำกับโจ้” ที่ว่า “นิ้วไหนไม่ดีก็ต้องตัดทิ้ง” (“นิ้วไหนไม่ดีต้องตัดทิ้ง ผบ.ตร.เชือด ผู้กำกับโจ้ ให้ออกจากราชการวันนี้,” 2564, 24 สิงหาคม) คงพอจะอธิบายประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี

ในด้านหนึ่ง จากคำกล่าวที่ผมยกมาข้างต้น โดยเฉพาะคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ ก็ดูเหมือนจะเข้าใจดีว่าปัญหาที่ทำให้เกิดเหตุกราดยิงเป็น “ปัญหาของสังคม” ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “…ตนเองเคยเตือนอยู่เสมอว่า สังคมต้องช่วยกันดูแล…” และ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า “…สังคมเราจะต้องทำให้ไม่มีคนเป็นแบบนี้…” ทว่าทัศนะของทั้งสองก็ดูจะเป็นการ “ทิ้งปัญหา” หรือ “ผลักภาระ” ความรับผิดชอบให้ “สังคม” มากกว่าจะเห็นว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของ “รัฐ” ที่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น (คำถามคือ “เรามี ‘รัฐ’ ไว้ทำไม?”)

นอกจากนั้น ทัศนะที่แสดงออกมายังสะท้อนถึงการกล่าวเพียงด้านเดียว กล่าวคือ “สังคม” ทำให้ “คนดี” ได้เพียงเท่านั้น “สังคม” ไม่เคยทำให้ “คนชั่ว” เลย หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ “ความชั่วร้าย” เป็นสันดานของ “ปัจเจก” ไม่เกี่ยวกับ “สังคม” เพราะสังคมดีอยู่แล้ว สังคมผลิต “คนดี” ขึ้นมาเพียงเท่านั้น “คนชั่ว” หรือ “ความชั่วร้าย” ที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นสิ่งแปลกปลอมที่คนใน “สังคมต้องช่วยกันดูแล” (พล.อ.ประยุทธ์) และขจัดปัดเป่าออกไป “ให้ไม่มีคนเป็นแบบนี้” (พล.อ.อนุพงษ์)

ในแง่นี้ทั้งสองจึงไม่ได้ตระหนักจริงๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “ปัญหาของสังคม” เป็นแต่เพียงต้องการจะผลักภาระให้ “สังคมรับผิดชอบตัวเอง” มากกว่า และนั่นก็สะท้อนในท้ายที่สุดว่า ทั้งสองกำลังบอกเป็นนัยว่า “ทุกคนในสังคมต้องดูแลรับผิดชอบตัวเอง” หรือกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ “ปัจเจกต้องดูแลรับผิดชอบตัวเอง” นัยตรงนี้ถูกยืนยันให้มีความหนักแน่นชัดเจนมากขึ้นผ่านคำกล่าวที่ว่า “เราให้การช่วยเหลือแล้วและให้ประชาชนโทร 1669, 191, 1597 มีตั้งเยอะคุณจำได้ไหม” (พล.อ.ประวิตร)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู หลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอุทัยสวรรค์ ภาพ The Isaan Record 

สิ่งที่บรรดา “นายพลนักการเมือง” เหล่านี้ไม่เข้าใจหรืออาจจะหลงลืมนึกคิดถึงไปคือ “ความเป็นปัจเจก” หรือ “ตัวตน” ของคนเรานั้น มีสิ่งที่ไม่ใช่เราหรือสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา (เช่น ภาษา ขนบ วัฒนธรรม กฎหมาย บรรทัดฐานทั้งหลาย เศรษฐกิจการเมือง ฯลฯ) เป็นสิ่งหนึ่งที่ประกอบสร้างความเป็น “ตัวตน” ของเราขึ้นมาด้วย (พลอยรุ่ง สิบพลาง, 2564) เราต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสังคมก็มีอิทธิพลต่อเรา (พาฝัน หน่อแก้ว, 2564) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราทั้งหลายต่างก็เป็น “ผลผลิตของสังคม (และยุคสมัย)” ด้วยนั่นเอง 

ฉะนั้นเมื่อมี “คนชั่วร้าย” เกิดขึ้นในสังคมก็หมายความว่า “สังคม” ไม่ได้ผลิตแค่ “คนดี” ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เชื่อ หากทว่า “สังคม” ผลิต “คนชั่ว” ขึ้นมาด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อมี “คนชั่ว” ทำ “ความชั่วร้าย” ให้เกิดขึ้นในสังคม เราจะกล่าวโทษว่านั่นเป็น “ปัญหาของปัจเจก” หรือเป็น “สันดานส่วนตัว” เพียงอย่างเดียวผมเห็นว่าเป็นฐานคติที่ใช้ไม่ได้ 

เอาเข้าจริงทัศนะกล่าวโทษไปที่ปัจเจกเพียงอย่างเดียวในแบบ “นายพลนักการเมือง” ที่ผมยกมาข้างต้น เราจะเห็นได้ในสังคมโดยทั่วไปและไม่ใช่แค่เฉพาะในเหตุการณ์ครั้งนี้เท่านั้น เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันไม่ว่า จะเกิดขึ้นที่ใดบนโลกใบนี้ เราก็มักจะพบเจอทัศนะแบบเดียวกันนี้ทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเสียงก่นประณาม ด่าแช่ง และสาปส่ง ผู้กระทำความผิด หลังจากนั้นก็ “จบ” หรือ “ลืม” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในไทยซึ่งเป็นประเทศที่ล้มเหลวในการถอดบทเรียนเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งภายในและระหว่างประเทศเพื่อหาทางแก้ไขป้องกันปัญหาอย่างจริงจังเพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีก จนมีใครหลายคนทำนายไว้ว่า “ถ้ายังคงเป็นกันอยู่แบบนี้ อีกไม่นานก็จะเกิดเหตุการณ์อย่างเดิมขึ้นอีก”

แน่นอนเราสามารถเข้าใจได้ว่า เสียงก่นประณาม ด่าแช่งและสาปส่ง ของผู้ที่สูญเสียหรือคนทั่วไปในสังคมที่ไม่พอใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ปฏิกิริยาแรกที่เกิดจากความโกรธแค้น ไม่พอใจ ต่อผู้กระทำความผิด แต่นั่นก็คงจะไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาขวางกั้นไม่ให้เราได้เรียนรู้และหาทางแก้ไขป้องกันปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำเดิมขึ้นอีก

นอกจากนั้นก็คงจะปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า การกระทำของผู้ก่อเหตุเป็นการกระทำ “ส่วนตัว” ที่ “เลวร้าย” เกินให้อภัยและผู้กระทำความผิดก็ต้องได้รับผลจากการกระทำของตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผมกล่าวเช่นนี้ เพื่อเป็นการป้องกันข้อครหาหรือคำถามที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เมื่อผู้อ่านเพ่งสายตาไปในสิ่งที่ผมจะเสนอต่อไปข้างหน้าแล้วอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า ผมมีข้อเสนอที่ไม่ต้องการให้กล่าวโทษหรือลงโทษผู้กระทำความผิดหรือผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อการกระทำของตน

2. เรื่องส่วนตัวไม่เคยเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ

“กราดยิง” ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดบนโลกใบนี้ ผู้คนต่างก็ลงความเห็นร่วมกันว่าสาเหตุที่ผู้กระทำความผิดกระทำลงไปมาจากหลากหลายปัจจัย อาทิเช่น ผู้กระทำความผิดมีอาการป่วยจากสภาวะทางจิตประสาท มีภาวะบีบคั้นทางจิต เกิดความเครียดสะสม มีอาการวิตกกังวล ความด้านชา ปัญหาเรื่องอาชีพการงาน ปัญหาครอบครัว ปัญหายาเสพติด (ทั้งนี้ปัญหาเรื่องอาชีพการงาน ปัญหาครอบครัวและปัญหายาเสพติดก็อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดดังมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพออกมาเปิดเผยว่า นอกจากการใช้ยาเสพติดจะนำไปสู่อาการหวาดระแวง ภาพหลอน และพฤติกรรมรุนแรงแล้ว ผู้ที่เลิกยาเสพติดก็อาจจะประสบกับปัญหาทางจิตตามมาได้ด้วยเช่นกัน (“ถอดบทเรียนจากกราดยิงสลดในสหรัฐฯ สู่อดีตตำรวจฆาตกรรมหมู่เด็กในไทย,” 2565, 8 ตุลาคม)) หรือปัญหาอื่นๆ ซึ่งพวกเราสรุปโดยรวมว่าเป็น “ปัญหาส่วนตัว” หรือ “ปัญหาของปัจเจก” 

เหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมรอบบ์ ในเมืองยูแวลดี รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ทำให้นักเรียน 19 คน และ 2 คนเสียชีวิต 

กระนั้นก็ตาม ถ้าจะว่ากันจริงๆ เราก็ไม่อาจจะลดทอนปัญหาที่เกิดขึ้นให้เหลือเพียงแค่เรื่อง “ส่วนตัว” ได้จริงๆ ดังที่ Mark Fisher นักทฤษฎีวัฒนธรรมและอาจารย์ประจำ Goldsmiths College กล่าวว่า “เรื่องส่วนตัวไม่เคยเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ” (The personal is impersonal) กล่าวคือ เรื่อง “ส่วนตัว” ไม่อาจจะแยกออกจากเรื่อง “ส่วนรวม” ได้ หรือเรื่อง “ส่วนตัว” เป็นเรื่องของ “ส่วนรวม” ด้วย (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 14) หรือว่ากันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ เรื่อง “ส่วนตัว” เป็นเรื่องของ “สังคม” ด้วยนั่นเอง

สิ่งที่ผมต้องการจะเสนอตรงนี้ก็คือ เราไม่สามารถลดทอนปัจจัยต่างๆ ที่เราเห็นว่าเป็นสาเหตุที่นำมาสู่เหตุ “กราดยิง” ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดบนโลกใบนี้ว่าเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” หรือเรื่อง “ส่วนร่วม” หากทว่ามันเป็นผลมาจากการปะทะสังสรรค์กันของทั้งสองปริมณฑล กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ สิ่งที่เราเห็นว่าเป็น “ปัญหาส่วนตัว” แต่กลับกลายว่า มันเกิดขึ้นหรือแพร่หลายและพบเห็นได้ทั่วไปในสังคม/โลกใบนี้ และเกิดขึ้นกับหลายๆ คนหรือเป็นเรื่องที่หาได้ในคนหมู่มากและอาจพบได้ในคนบางชนชั้นเป็นพิเศษด้วยซ้ำไป (พาฝัน หน่อแก้ว, 2564; พลอยรุ่ง สิบพลาง, 2564) และที่สำคัญดังกล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสังคมก็มีอิทธิพลต่อเรา ฉะนั้นเราต่างก็เป็น “ผลผลิตของสังคม/ยุคสมัย” ด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจจะสรุปได้ว่า เหตุกราดยิงเป็นแค่ “ปัญหาส่วนตัว” แต่มันเป็น “ปัญหาสากล” หรือ “ปัญหาของสังคม” ด้วย

อธิบายให้เป็นรูปธรรมได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นภาวะบีบคั้นทางจิต อาการป่วยจากสภาวะทางจิตประสาท ความเครียด ความวิตกกังวล ความด้านชา ปัญหาเรื่องอาชีพการงาน ปัญหาครอบครัว ปัญหายาเสพติด หรือปัญหาอื่นๆ ที่พวกเราสรุปว่า เป็นสาเหตุหรือปัจจัยที่นำมาสู่การฆาตกรรมรวมหมู่นั้น ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้มันสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปบนโลกใบนี้ ฉะนั้นมันจึงเป็นปัญหาของสังคมด้วย

ในแง่นี้ปัจจัยต่างๆ ที่สังคมลงความเห็นร่วมกันว่า นำมาสู่การกราดยิงจึงไม่ได้บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับต้นสายปลายเหตุของการกราดยิงจริงๆ เพราะถ้าปัจจัยที่พวกเราร่ายมาทั้งหมดเป็น “ต้นเหตุ” ที่ทำให้เกิดการกราดยิงจริงๆ สิ่งที่ต้องตั้งคำถามและอธิบายต่อไปก็คือ “ทำไมผู้กระทำความผิดถึงได้หันหน้าไปพึ่งยาเสพติดหรือทำไมจึงเกิดปัญหาต่างๆ เหล่านั้นกับชีวิตของเขาล่ะ?” ที่ผมตั้งคำถามแบบนี้ก็เพื่อจะบอกว่า สิ่งที่พวกเราเห็นว่า เป็น “ต้นเหตุ” ที่ก่อให้เกิดเหตุกราดยิงนั้น แท้จริงแล้วมันเป็นเพียง “ปลายเหตุ” เท่านั้น

3. ชีวิตที่เปราะบาง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ภาวะบีบคั้นทางจิต อาการป่วยจากสภาวะทางจิตประสาท ความเครียด ความวิตกกังวล ความด้านชา ปัญหาเรื่องอาชีพการงาน ปัญหาครอบครัว ปัญหายาเสพติด ฯลฯ ไม่ได้เป็นเพียง “ปัญหาส่วนตัว” แต่เป็น “ปัญหาของสังคม” ด้วย กล่าวคือ ปัจจัยเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันกับความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม เมื่อความเป็นอยู่ทางสังคมเป็นอย่างไรมันก็ย่อมส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า “สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการเกิดสุขภาวะที่สมบูรณ์ทาง [กายและ] จิต” (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 94)

ดังนั้นการ “ทบทวนและกวดขันมาตรการควบคุมกำกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยงานที่ครอบครองและใช้อาวุธ” (ระเบียบเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืน) “แยกบำบัดรักษาและกำกับให้อยู่ในการดูแลของแพทย์จนปกติ” (ปัญหาด้านยาเสพติด ปัญหาด้านสุขภาพจิต) และ “กระบวนการคัดกรองเข้ารับเข้าราชการที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับประวัติบุคคล” (ภูมิหลังของผู้ที่จะเข้าทำงานว่าเคยประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจที่อาจนำมาสู่ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตหรือไม่ หรือผู้นั้นมี/เคยมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตหรือไม่ ตลอดจนผู้นั้นเคยติดสารเสพติดหรือไม่ ฯลฯ) จึงไม่เพียงพอต่อการรักษาผู้ที่มีอาการหรือแก้ไขปัญหาเหล่านั้น 

ด้วยเหตุนี้การให้ความสนใจกับสังคม/ยุคสมัยที่แวดล้อมตัวบุคคล/ปัจเจกจึงน่าจะทำให้เราได้เห็น “ต้นเหตุ” ที่แท้จริงที่นำมาสู่การกราดยิง อันจะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ มีประสิทธิภาพมากพอๆ หรืออาจจะมากกว่าข้อเสนอที่ พล.อ.คงชีพ หรือที่หลายๆ คน (ดู ทีม THE STANDARD, 2565) เสนอไว้ก็ได้ แม้จะมีผู้เสนอว่า ให้ไปดูที่สังคมหรือสภาพแวดล้อมที่บ่มเพาะผู้กระทำความผิดด้วยก็ตาม (ดู วัลย์นภัสร์ เจนร่วมจิต, 2565) แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ไปไม่ถึงประเด็นเรื่องระบบเศรษฐกิจการเมืองหรือไปไม่ถึง “ระบบทุนนิยม” ในฐานะที่เป็น “สังคม” ประเภทหนึ่ง หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ปัจจัยต่างๆ ที่ลงความเห็นกันว่า นำมาสู่การกราดยิงต่างก็เป็นเรื่องของสังคมที่มีสาเหตุโยงใยเข้ากับสภาพทางเศรษฐกิจการเมืองทั้งสิ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “ปัจเจกบุคคลได้รับผลกระทบจากโครงสร้างทางสังคม และเปราะบางต่อความเหลื่อมล้ำ” (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 94) ดังนั้น “เมื่อความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น สุขภาพ[กายและใจ]ของพวกเราทุกคนก็ย่ำแย่ลง” (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 92)

“ความเหลื่อมล้ำฆ่าคนให้ตายได้!” และทุนนิยมโดยเฉพาะ “ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่” ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งมีมากขึ้น “การแพร่ขยายของเสรีนิยมใหม่[จึง]ทำลายสภาวะที่เอื้อต่อการมีสุขภาพกายและใจที่ดีสำหรับคนจำนวนมาก” (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 92, 95) กล่าวคือ คนที่อาศัยอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำหรือในย่านคนจนไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท ชีวิตของพวกเขาย่อมต้องประสบกับปัญหาต่างๆ ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจที่สูงกว่าสังคมที่ปราศจากหรือมีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่า เช่น อายุสั้นกว่า อัตราการเสียชีวิตของเด็กสูง ปัญหาโรคอ้วน ทำลายความผูกพันทางสังคมและความเป็นชุมชนลงไป ความเชื่อใจในสังคมอยู่ในระดับต่ำ ความเจ็บป่วยทางจิต ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย มีอัตราการใช้สารเสพติดสูง อัตราการเกิดความรุนแรง การฆาตกรรม และการต้องโทษจำคุกอยู่ในระดับสูง หรืออะไรอื่น ๆ (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 95-96)

ประเด็นข้างต้นถูกยืนยันผ่านงานศึกษาของ Richard Wilkinson และ Kate Pickett ที่ชื่อ The Inner Level โดยทั้งสองชี้ให้เห็นว่า “สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำจะเผชิญกับความเครียดที่สูงกว่า (เช่น จากความรู้สึกว่าตนเองควบคุมอะไรไม่ได้เลย ความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า เป็นต้น) มีความวิตกกังวลเรื่องสถานะมากกว่า (คอยเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นเสมอในเรื่องว่าใครเหนือหรือด้อยกว่า) มีการแยกตัวเองออกจากสังคมสูง (เนื่องจากสังคมสร้างความเครียดและบีบให้ต้องแข่งขันกันมากเกินไป) มีภาวะหลงตัวเองและลัทธิบริโภคนิยมที่รุนแรงกว่า (เช่น มีการบริโภคเพื่อเป็นจุดสนใจ [conspicuous consumption] เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งนำไปสู่การสะสมความรู้สึกไม่พึงพอใจมากขึ้นเรื่อยๆ) ภาวะติดเหล้าและติดสารเสพติดที่สูงกว่า (เช่น เพื่อกล่อมประสาทและทำให้สามารถรับมือกับความวิตกกังวล ความเครียด และความรู้สึกสิ้นหวัง) และอะไรอื่นๆ…” (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 98)

ในแง่ดังกล่าวต้นเหตุที่แท้จริงจึงเป็น “ระบบทุนนิยม” ซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคมจนนำพาผู้คนกลุ่มหนึ่งที่มีชีวิตเปราะบางอยู่แล้วไปสู่ภาวะบีบคั้นทางจิต อาการป่วยจากสภาวะทางจิตประสาท ความเครียด ความวิตกกังวล ความด้านชา ปัญหาเรื่องอาชีพการงาน ปัญหาครอบครัว ปัญหายาเสพติด ฯลฯ และปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ก็อาจนำไปสู่ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นก็คือการกราดยิง (คิดบนฐานของสังคมที่ลงความเห็นว่าปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้นำมาสู่การกราดยิง)

น่าคิดว่า การเกิดขึ้นของเหตุกราดยิงในสังคมไทยมีความสัมพันธ์กันกับความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญ เพราะอย่างน้อยหากนับตั้งแต่มีการออกมาเปิดเผยในปี 2561 ว่าสังคมไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก เราก็จะพบเห็นเหตุกราดยิงในสังคมไทยว่า มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่นับเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2563 และเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อปี 2565 ในระหว่าง 2 เหตุการณ์ดังกล่าว มีเหตุกราดยิงเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง (“เหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู พ.ศ. 2565,” 2565, 6 ตุลาคม) แม้ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะมีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บน้อยกว่า 2 เหตุการณ์ที่ได้ยกมาหลายเท่า จนอาจทำให้เรามองว่า ไม่ใช่เหตุกราดยิงก็ตาม

4. ความรุนแรงเชิงภววิสัย

จากประเด็นข้างต้น หากใช้ภาษาของ Slavoj Zizek นักปรัชญามาร์กซิสต์ ชาวสโลวีเนียน “กราดยิง” เป็น “ความรุนแรงเชิงอัตวิสัย” (subjective violence) ซึ่งเป็นความรุนแรงประเภทที่เราสามารถระบุตัวผู้กระทำได้อย่างชัดเจน โดยความรุนแรงประเภทนี้มีปฏิสัมพันธ์กับความรุนแรงอีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ “ความรุนแรงเชิงภววิสัย” (objective violence) ซึ่งเป็นความรุนแรงประเภทที่มักหลบซ่อนอยู่ในมุมมืดยากแก่การมองเห็น แต่ความรุนแรงประเภทหลังนี้กลับมีอิทธิพลอย่างสูงหรือเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ความรุนแรงประเภทแรกเกิดขึ้น ปัญหาสำคัญของความรุนแรงประเภทนี้ไม่ใช่เพียงเพราะมันถูกซ่อนในที่ลับ หากทว่าเพราะมันถูกซ่อนอยู่ในที่ที่เราเห็นอยู่ตำตาต่างหาก (สรวิศ ชัยนาม, 2558, 27-30)

“ความรุนแรงเชิงภววิสัย” หากจะใช้คำที่เราคุ้นชินเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจก็คงจะเป็น “ความรุนแรงเชิงระบบ” หรือ “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” โดยในที่นี่หมายถึง “ระบบทุนนิยม” ซึ่งได้ผงาดขึ้นมาครองอำนาจนำเป็นระบบเศรษฐกิจการเมืองกระแสหลักในยุคสมัยปัจจุบัน เมื่อใดที่เรามองข้ามหรือมองไม่เห็นความรุนแรงประเภทที่อาศัยอยู่ในมุมมืดดังกล่าว เมื่อเกิดความรุนแรงเชิงอัตวิสัยหรือเกิดปัญหาขึ้นก็จะมีแต่ “ปัจเจก” เท่านั้นที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบและสมควรถูกตำหนิ 

สอดคล้องกับที่ สรวิศ ชัยนาม รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า วิธีหนึ่งที่ได้ผลมากๆ ในการเบี่ยงเบนความสนใจของเราไปจากความรุนแรงในตัวของระบบทุนนิยมคือ “การโยนความรับผิดชอบไปที่ปัจเจก” (self-responsibilization) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การโยนความรับผิดชอบไปที่ตัวของปัจเจกกำลังแพร่กระจายไปทั่ว พร้อม ๆ กับความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่พุ่งกระฉูด (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 155)

กล่าวกันอย่างตรงไปตรงมา ทัศนะที่โยนความรับผิดชอบไปที่ตัวปัจเจกเป็น “ทัศนะแห่งยุคสมัย” หรืออีกนัยหนึ่ง เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ “ปัจเจกต้องรับผิดชอบต่อทุกอย่าง (ไม่ว่าจะดีหรือเลว) ที่เกิดขึ้นในชีวิต” ซึ่งอาจเรียกกระบวนการกล่าวโทษตัวเอง/ปัจเจกนี้ว่า “การป้ายสีให้เป็นปีศาจ” (demonization) (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 16) และ “นี่เป็นอาการที่ชี้ให้เห็นว่าเราอยู่ในทุนนิยมยุคปลาย” หรือ “ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่” (Neoliberal Capitalism) (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 32) โดยมี “สัจนิยมแบบทุน” (capitalist realism) ทำงานในทางอุดมการณ์

5. โลกสัจนิยมแบบทุน

คงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า “สัจนิยมแบบทุน” เป็นโลกที่เพิ่งอุบัติขึ้นใหม่เมื่อไม่กี่ทศวรรษมานี้ โดยมีเหตุการณ์ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญ อาทิเช่น การสิ้นสุดของสงครามเย็น การล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่ตามมาด้วยคำประกาศก้องของ Francis Fukuyama ที่ดึงเอาคำพูดของนักปรัชญาชื่อ Georg Wilhelm Friedrich Hegel มาแบบผิดๆ ว่ามันคือ “จุดจบของประวัติศาสตร์” (The End of History) ซึ่งหมายความว่า มนุษยชาติได้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์แล้ว แม้ว่ามนุษยชาติจะยังคงมีความขัดแย้งและมีการต่อสู้กันต่อไป แต่อย่างน้อยในด้านระบบเศรษฐกิจการเมืองชัยชนะก็ได้ตกเป็นของ “ทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย” มนุษย์จะไม่ถกเถียงหรือต่อสู้กันในเรื่องนี้อีกต่อไป และจะไม่มีระบบเศรษฐกิจการเมืองใดผงาดขึ้นมาแทนที่ได้อีกแล้ว (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 26)

แม้จะยืนยันว่า โลกสัจจนิยมแบบทุนยืนอยู่บนฐานแนวคิดพัฒนาการขั้นสูงสุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่หากมองในอีกด้านหนึ่งก็ดูเหมือนว่า “โลกสัจจนิยมแบบทุน [จะ] โยนความคิดเรื่องขั้นสูงสุดของประวัติศาสตร์มนุษย์ทิ้งไป” มากกว่า “และเน้นไปที่ความคิดที่ว่าไม่มีอะไรอยู่พ้นไปจากทุนนิยมอีก[แล้ว]” (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 26) ดังที่เจ้าแม่ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ นามว่า Margaret Thatcher อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ กล่าวไว้ว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือจากสิ่งที่เป็นอยู่” (There is no alternative) นั่นคือ “ระบบทุนนิยม”

หากใช้คำอธิบายของ Louis Althusser ที่ว่า “คนเรารับรู้โลก [โลกทัศน์] ความเป็นจริงผ่านอุดมการณ์เสมอ” ฉะนั้นโลกสัจนิยมแบบทุนจึงเปรียบเสมือน “อุดมการณ์” กล่าวคือ มันเป็นทั้ง “ความเชื่อ” ที่แพร่หลายและเป็น “ทัศนคติ” ทั่วไป ในแง่นี้ จึงสะท้อนว่าทุนได้เข้ามาดำเนินกิจการอยู่ในระดับของ “จิตสำนึก” หรือ “สามัญสำนึก” ของบุคคลเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง หรือ “จะบอกว่าทุนนิยมครอบงำจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกของเราก็ได้” โดยในด้าน “ความเชื่อ” เป็นเรื่องของการมองว่าทุนนิยมคือคำตอบสุดท้ายของมนุษยชาติ ซึ่งหมายความว่าไม่มีอะไรใหม่ที่จะมาทดแทนทุนนิยมหรือเป็นทางเลือกที่เลยพ้นไปจากทุนนิยมได้อีกแล้ว ด้วยเหตุนี้ โลกสัจนิยมแบบทุนจึงบ่มเพาะ “ทัศนะคติ” ของการยอมจำนน ความหมดแรง คติหยามโลก ความสิ้นหวัง การยอมแพ้ ฯลฯ หากจะกล่าวในภาพรวมก็คือ โลกสัจนิยมแบบทุนคือ “การขีดฆ่าอนาคตอย่างค่อยเป็นค่อยไป [ซึ่ง]เกิดขึ้นพร้อม ๆ ไปกับการทำให้คนลดความคาดหวังลง” (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 28-39)

Fisher อธิบายว่า โลกสัจนิยมแบบทุนมากับความคิดที่ว่า “การเมืองเรื่องชนชั้น” ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่มีประโยชน์ในการวิเคราะห์และเปลี่ยนแปลงสังคมไม่มีความสลักสำคัญอีกต่อไปแล้ว เรียกว่าเป็นสภาวะที่ “สำนึกรู้ทางชนชั้นถูกทำให้อ่อนแอลงไป” (โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นแรงงาน) และนั่นก็หมายความว่า “วิถีการผลิตแบบทุนนิยม” “ชนชั้นนายทุน” และ “ชนชั้นกรรมาชีพ” จะไม่มีความสำคัญหรือความจำเป็นในหัวข้อถกเถียง ในการวิเคราะห์ ในมโนสำนึกของผู้คนและรวมถึงในการเปลี่ยนแปลงสังคมอีกต่อไป “ราวกับว่าปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับระบบชนชั้นและทุนนิยมเลย” เมื่อ “ทุนนิยมกลายเป็นขอบฟ้าที่ไม่อาจข้ามไปได้ มันจึงปิดกั้นโอกาสใด ๆ ก็ตามที่ทำให้อนาคตที่มีรูปแบบแตกต่างออกไปจากที่เป็นอยู่[ที่]ดูจะเกิดขึ้นจริงได้ [หรือ]ตัวอย่างใด ๆ ของโลกที่อยู่ “นอก” ทุนนิยม จะต้อง[ถูก]ทำลายลง[ไป]…” (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 28-31) พูดง่ายๆ ก็คือ นอกจากโลกสัจนิยมแบบทุนจะทำลายประเด็นเรื่อง “ชนชั้น” แล้ว มันยังทำลายหรือตัดวงจรการนึกคิด ความคาดหวัง และการลองผิดลองถูกเกี่ยวกับโครงการทางการเมืองแบบใหม่ที่เน้นการปลดปล่อยหรือปลดแอก เพื่อเปลี่ยนไปสู่โลกใหม่ที่เลยพ้นไปจากโลกทุนนิยม

เมื่อ “ชนชั้นทางสังคม” และ “ระบบทุนนิยม” ไม่มีความสำคัญและหากโครงการทางการเมืองแบบใหม่ก็เป็นเรื่องที่ใครต่อใครก็คิดจินตนาการไม่ออก ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของปัจเจกคนหนึ่งก็จะกลายเป็นเรื่องของปัจเจกคนนั้นคนเดียว นอกจากตัวปัจเจกแล้วก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 31) คำกล่าวที่ช่วยยืนยันประเด็นนี้ได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นคำกล่าวของ Thatcher ที่ว่า “สิ่งที่เรียกว่าสังคมไม่มีอยู่จริง มีแต่ผู้ชายและผู้หญิงเป็นรายบุคคลและครอบครัวของพวกเขาเท่านั้น” ฉะนั้นเมื่อมีคนกระทำความผิดขึ้นโดยเฉพาะความผิดที่ร้ายแรง สิ่งที่มักพบเจอก็คือ นอกจากผู้คนจะก่นด่า สาปแช่ง ผู้กระทำความผิดแล้ว ครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่ของผู้กระทำความผิดก็จะถูกก่นด่า สาปแช่ง หรือถูกตั้งคำถามด้วย เช่น “เลี้ยงลูกมาแบบไหนให้เป็นคนชั่ว” “สั่งสอนลูกอย่างไรให้กลายมาเป็นคนแบบนี้” ฯลฯ หรือในบางกรณีอาจเห็นถึงขั้นมีการ “ล่าแม่มด” ครอบครัวผู้กระทำผิด เช่น ตามรังควาน ขับไล่ออกจากชุมชน เป็นต้น

เมื่อเชื่อว่า ชนชั้นทางสังคมและทุนนิยมไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาของสังคม หรือโครงสร้างทางสังคมไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตของปัจเจกหรือไม่มีความสลักสำคัญใดๆ ผลคือปัจเจกก็ต้องรับผิดชอบในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับชีวิตของตัวเอง หรืออีกนัยหนึ่ง ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบใน “ระดับบุคคล” เพียงเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับสังคมหรือทุนนิยมเลย ฉะนั้น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในชีวิตของปัจเจกคนหนึ่งจึงมีทางเลือกให้ระบายออกมาอยู่เพียงสองทาง (พลอยรุ่ง สิบพลาง, 2564) นั่นคือ หนึ่ง กล่าวโทษตัวเอง/ปัจเจก เพราะเชื่อว่าที่ตัวเอง/ปัจเจกไม่มีความสุขหรือล้มเหลวในชีวิตเกิดขึ้นเพราะตัวเอง ดังนั้น ตัวเอง/ปัจเจกก็ต้องยอมรับและรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเอง/ปัจเจกก่อ ผลที่ตามมาก็เช่น ปัจเจกคนนั้นมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต เป็นโรคซึมเศร้า พึ่งสารเสพติด ฆ่าตัวตาย เป็นต้น

อีกทางหนึ่งคือ ถ้าไม่กล่าวโทษตัวเอง/ปัจเจกก็ต้องหาใครสักคน กลุ่ม หรืออะไรบางอย่างที่คิดว่าเป็นสาเหตุทำให้ชีวิตไม่มีความสุขหรือล้มเหลว เพื่อที่จะกล่าวโทษและโยนความรับผิดชอบไปให้ ทั้งนี้ “เพราะว่าโดยพื้นฐานเราเชื่อว่าระบบ/โครงสร้างทางสังคมมันดีหรือมันยุติธรรมอยู่แล้ว รวมถึงเราก็ได้พยายามทำอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ก็ยังไม่ไปถึงไหนสักที ดังนั้น มันจึงหมายความว่าต้องมีใครสักคนกำลังโกงและเพราะอย่างนั้นเราก็เลยถูดขัดขาไม่ให้ประสบความสำเร็จ” (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 156) โดยทางเลือกที่สองนี้จะแสดงออกมาในหลายรูปแบบและหนึ่งในนั้นคือ “ความรุนแรงเชิงอัตวิสัย” อย่าง “กราดยิง”

6. ดาร์วินทางสังคม

นอกจากปัญหาเรื่องอาวุธปืน ปัญหายาเสพติดหรือปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ยังมีบางคนที่มีความเห็นว่า ฆาตกรสังหารหมู่เป็นพวก “โซซิโอพาธ” (Sociopath) ซึ่งเป็นพวกที่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมหรือชิงชังสังคม เป็นคนที่ไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น เป็นคนที่มีความเห็นแก่ตัว ไม่มีความรู้สึกผิด ด้านชา สามารถหาเหตุผลมารองรับการกระทำที่ไม่ดีของตัวเองได้ แม้ว่าเหตุผลนั้นจะแถจนสีข้างถลอกและฟังดูข้างๆ คูๆ ก็ตาม ฯลฯ อย่างไรก็ดี สรวิศ ชี้ว่า ฆาตกรเหล่านั้นไม่ได้เกลียดชังสังคมแบบโซซิโอพาธ แต่ “ที่จริงแล้วพวกนี้มีชุดความเชื่อซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมหลักของสังคมเสรีนิยมใหม่” (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 162) ต่างหาก โดยเฉพาะค่านิยมเรื่องความรับผิดชอบเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือปัจเจก

กล่าวคือลักษณะพื้นฐานของการโยนความรับผิดชอบไปที่ปัจเจกสะท้อนออกมาผ่านรูปแบบที่รุนแรงสุดๆ จากการมองว่าสังคมเป็น “…สถานที่ที่กระทำความรู้สึกชิงชังหวาดกลัว โกรธและรังเกียจใส่ผู้ที่อ่อนแอ ซึ่งเป็นตัวถ่วงของกลุ่มคนที่น่ายกย่อง” เนื่องจากทุนนิยมยุคปลายมีการประกาศว่าการต่อสู้ทางชนชั้นได้สิ้นสุดลงแล้วและการแบ่งกลุ่มทางสังคมที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบันมีเพียง “ผู้ชนะ” กับ “ผู้แพ้” เท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น “ชนชั้นนายทุนผู้กดขี่ขูดรีด” หรือ “ชนชั้นกรรมาชีพผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ” ก็ไม่มีแล้วทั้งนั้น “มันมีแต่ว่าถ้าไม่แข็งแกร่งและหัวไวก็สมควรก้มหน้ารับกรรมไป” ด้วยเหตุดังกล่าวทุนนิยมยุคปลายจึงจูบปากกันได้ดีกับ “แนวคิดดาร์วินทางสังคม (Social Darwinism) (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 160) ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำเอาแนวคิดการคัดเลือกโดยธรรมชาติและการอยู่รอดของผู้เหมาะสมที่สุด หรือ “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” ของ Charles Darwin มาปรับประยุกต์ใช้ในทางสังคมศาสตร์ ถึงตรงนี้ผมขอยกคำอธิบายของ สรวิศ มาดังนี้ 

“แนวคิดดาร์วินทางสังคม เชื่อว่า คนที่แข็งแกร่งล่าคนที่อ่อนแอกว่าได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะว่า มันคือ ‘การคัดเลือกโดยธรรมชาติ’ ตามมุมมองนี้สังคมก็เป็นแค่ ‘การทดลองแบบดาร์วินระดับใหญ่’ เท่านั้น ตามที่ Corey Robin ตั้งข้อสังเกตไว้ มันคือโลกของ “ปัจเจกผู้แข็งแกร่งและผู้ชนะผู้โดดเดี่ยว ซึ่งได้แก่ตัวแทนทางการเงินและมือปืน” แต่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็เป็นผู้ชนะได้ ผู้ชายจำนวนไม่น้อย…ที่ก่อเหตุกราดยิงเกิดหรือเติบโตมาในยุคเสรีนิยมใหม่ และคนพวกนี้ก็กระหายที่จะเป็นผู้ชนะด้วยเหมือนกัน เช่นเดียวกับคนที่เชื่อมั่นในเสรีนิยมใหม่ทั่วไป คนเหล่านี้ชิงชังความเท่าเทียมและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแต่เชื่อในความแข็งแกร่งและการคัดเลือกโดยธรรมชาติ โลกของคนพวกนี้มีแต่ปัจเจก แต่พวกนี้รู้ดีว่าตนเองไม่ได้จะประสบความสำเร็จในชีวิต พวกคนที่หดหู่ซึมเศร้าเหล่านี้จึงหาทางออกง่าย ๆ ที่จะทำให้ตนสามารถลิ้มรสการอยู่เหนือคนอื่นสักครั้ง แม้จะแค่ช่วงสั้นๆ สิ่งนี้เกิดขึ้นในรูปแบบของการกราดยิงนั่นเอง คนพวกนี้กลายเป็นผู้ชนะในช่วงขณะที่ได้ฆ่าคนอื่น หลังจากนั้นก็จะปลิดชีพตัวเอง Franco Berardi เรียกมันว่าเป็น “ความมุ่งมั่นที่จะชนะแบบเสรีนิยมใหม่ด้วยรูปแบบของการฆ่าตัวตาย”” (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 161-162)

ดังนั้นต้นเหตุของการกราดยิงจึงไม่ใช่เพราะปัญหายาเสพติด กฎระเบียบเกี่ยวกับการถือครองอาวุธปืนไม่รัดกุม ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตหรือฆาตกรมีความชิงชังสังคมแบบโซซิโอพาธ ถ้าหากเรามองจากมุมมองที่ สรวิศ อธิบายมาข้างต้น หลังจากที่เราก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ เหตุกราดยิงในสหรัฐฯ (หรือแม้แต่ในไทยดังที่ผมเคยกล่าวไว้แล้วก่อนหน้านี้) ก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน จนในปัจจุบัน “การกราดยิงได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมอเมริกันไปแล้ว” ดังจะพบว่า ในช่วงทศวรรษ 1970 กราดยิงเกิดขึ้นเพียง 4 ครั้ง ส่วนในทศวรรษ 1980 เกิดขึ้น 6 ครั้ง และเพิ่มขึ้นเป็น 25 ครั้งในทศวรรษ 1990 ต่อมาในทศวรรษ 2000 ก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดไปอีกเกือบเท่าหนึ่ง ทว่าพอหลังปี 2013 เป็นต้นมา กราดยิงเกิดขึ้นมากกว่า 300 ครั้ง โดยเฉลี่ยตกสัปดาห์ละครั้งเลยทีเดียว (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 162) แม้ว่าในไทยจะยังไปไม่ถึงขั้นที่จะบอกว่ากราดยิงได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม แต่เราก็จะเห็นแนวโน้มว่ามันจะเกิดเพิ่มมากขึ้น และระยะห่างระหว่างเหตุการณ์ก็ดูมีแนวโน้มว่าจะเกิดถี่ขึ้นด้วยเช่นกัน

7. ทุน “นิยม” กราดยิง

นอกจากความเหลื่อมล้ำสูงจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดเหตุกราดยิงดังที่ได้อธิบายมาข้างต้นแล้ว เมื่อปี 2011 สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด มีความร่ำรวยและมั่งคั่งสูง มีเสรีภาพมากที่สุด เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดอย่างประเทศนอร์เวย์ก็เคยประสบกับเหตุกราดยิงเหมือนกัน โดยเกิดในค่ายเยาวชน ซึ่งจัดในพื้นที่ชานเมืองออสโล เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70 คน ส่วนมากเป็นเยาวชนอายุน้อยกว่า 25 ปี (ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี, 2563) หากคิดอย่างผิวเผินก็คงจะบอกว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้ล้มประเด็นที่ผมเสนอข้างต้นทั้งหมด ถ้าหากเราพิจารณาอย่างรอบคอบก็จะเห็นว่า มันมีความเชื่อมโยงกับทุนนิยมยุคปลายหรือทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ โดยมีสัจนิยมแบบทุนทำงานในทางอุดมการณ์ 

กล่าวคือเสรีนิยมใหม่มาพร้อมกับการทำลายรื้อถอนหรือทำให้รัฐสวัสดิการอ่อนแอลง ส่งผลให้ชีวิตผู้คนเปราะบางมากขึ้น แน่นอนว่านอร์เวย์ยังคงยึดมั่นในรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะไม่ได้รับผลกระทบจากการที่กระแสโลก (อย่างน้อยที่สุดก็อังกฤษกับสหรัฐฯ) ก้มหัวให้เสรีนิยมใหม่ ดังจะเห็นว่า คนนอร์เวย์ที่เกิดและเติบโตมาในยุคเสรีนิยมใหม่รู้สึกถึงชีวิตที่เปราะบางหรือมีความไม่แน่นอนมั่นคงในชีวิต ดังที่ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อธิบายไว้ว่า ผู้ก่อเหตุเป็นพวก “ที่เกิดและเติบโตในยุค 1980-1990 [ซึ่งเป็นยุคของ] การเปลี่ยนผ่านของค่านิยมที่สำคัญในยุโรปตะวันตก การสิ้นสุดของสงครามเย็น รวมถึงการขยายตัวของคลื่นผู้อพยพที่เข้ามาพร้อมกับความไม่แน่นอนของระบบรัฐสวัสดิการในกลุ่มประเทศนอร์ดิกในช่วงปี 1990-2000 การเปลี่ยนผ่านนี้ทำให้คนที่ใช้ชีวิตวัยรุ่นช่วงนี้รู้สึกว่าเขากำลังถูกทิ้งให้อยู่กับความไม่แน่นอน แม้ว่านอร์เวย์จะเป็นไม่กี่ประเทศในยุโรปที่ยืนหยัดในหลักรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าต่อมาก็ตาม แต่ความไม่แน่นอนนี้ย่อมฝังอยู่ในความทรงจำของผู้คนในช่วงเวลานั้น” (ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี, 2563)

ประกอบกับเมื่อทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ทำลายเครื่องมือในการวิเคราะห์และเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างกรอบแนวคิดเรื่องชนชั้น จนส่งผลให้ทุนนิยมไม่อยู่ในมโนสำนึกของผู้คนที่จะจินตนาการไปให้พ้น หรืออีกนัยหนึ่ง “การเมืองเรื่องชนชั้น” “วิถีการผลิตแบบทุนนิยม” และ “การเมืองเรื่องการปลดปล่อย” กลายเป็นเรื่องไม่สำคัญและไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ดังนั้น การเมือง (ซึ่งปราศจาก “ความเป็นการเมือง”) ที่คนในยุคทุนนิยมเสรีนิยมใหม่จะแสดงออกมาก็จะมีตั้งแต่ ชาตินิยมขวาจัด (far-right nationalism) ประชานิยมเอียงขวา (rightwing populism) การเมืองเชิงอัตลักษณ์ (identity politics) หรือแนวคิดสุดโต้งทางศาสนา (religious fundamentalism) (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 29) สอดคล้องกับกรณีนอร์เวย์ที่ “ผู้ก่อเหตุประกาศตัวว่าเป็นกลุ่มขวาจัด มีจุดยืนต่อต้านผู้อพยพ ศาสนาอิสลาม และพุ่งเป้าไปที่ค่ายเยาวชนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีจุดยืนเรื่องความเสมอภาคในสังคม” (ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี, 2563) ในแง่นี้จึงสะท้อนว่าผู้ก่อเหตุเป็นคนที่มีชุดความเชื่อที่สอดคล้องกับค่านิยมหลักของสังคมเสรีนิยมใหม่หรือเป็นพวกเชื่อมั่นในเสรีนิยมใหม่ด้วย เพราะ ”คนที่เชื่อมั่นในเสรีนิยมใหม่ทั่วไป คนเหล่านี้ชิงชังความเท่าเทียมและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 161) กล่าวอีกอย่างก็คือ ผู้ก่อเหตุเชื่อในความเป็นปัจเจกอย่างถึงรากนั่นเอง ประเด็นนี้จึงยืนยันว่าสัจนิยมแบบทุนทำงานได้อย่างดีเยียม

จากกรณีนอร์เวย์ทำให้เราได้เห็นลักษณะพื้นฐานประการหนึ่งของระบบทุนนิยม กล่าวคือ แม้ว่าสังคมจะมีรัฐสวัสดิการหรือมีความเท่าเทียมมากเพียงใด หากเรายังคงอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยม “ซับเจ็คที่บุบสลาย” หรือ “คนที่มีชีวิตเปราะบางทางสังคม” ก็จะยังคงโผล่พ้นออกมาให้เราได้เห็นอย่างปฏิเสธไม่ได้ แม้ว่าจะปรากฎให้เห็นน้อยกว่าสังคมที่ปราศจากรัฐสวัสดิการหรือสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าผมไม่สนับสนุนให้มีรัฐสวัสดิการ ในทางกลับกันผมเห็นด้วยกับการสร้างรัฐสวัสดิการด้วยซ้ำไป ในฐานะที่เป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำพาไปสู่สังคมที่เป็นธรรมและเลยพ้นไปจากระบบทุนนิยม แต่ประเด็นของผมก็คือ ตราบใดที่เรายังอยู่ในสังคมทุนนิยม เราก็ไม่มีทางจะหนีพ้นเหตุกราดยิงไปได้ (หรือแม้จะไม่เกิดเหตุกราดยิงก็ย่อมเกิดเหตุความรุนแรงอื่น ๆ อยู่ดี) เพราะ “องค์ประกอบพื้นฐานที่ทุนนิยมจำเป็นต้องมีและขาดเสียไม่ได้ก็คือ…การผลิตความเป็นซับเจ็คที่บุบสลายขึ้นมาในปริมาณมากหรืออย่างล้นเกิน” (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 91)

ทำนองเดียวกันกับที่ สรวิศ กล่าวเปรียบเทียบมุมมองของพวกเสรีนิยมกับพวกฝ่ายซ้ายมาร์กซิสต์เกี่ยวกับปัญหาเรื่องระบบไว้ว่า ในมุมมองของพวกเสรีนิยม เวลาเห็น “ซับเจ็คที่บุบสลาย” เช่น ขอทาน คนไร้บ้าน ตามท้องถนน พวกเขาจะบอกว่าระบบมันแย่จังเลย ดูสิมีขอทาน คนไร้บ้าน เต็มไปหมด แต่ถ้าเป็นพวกฝ่ายซ้ายมาร์กซิสต์ เวลาเห็น “ซับเจ็คที่บุบสลาย” พวกเขาจะบอกว่าระบบกำลังทำงานได้ดีทีเดียว นี่แหละคือผลผลิตของระบบ มันไม่ใช่ความผิดพลาดและความผิดเพี้ยนของระบบจนส่งผลให้มีคนจน ขอทาน คนไร้บ้านตามท้องถนน ในทางกลับกันเพราะระบบมันดำเนินไปได้ตามปกติต่างหาก มันเลยสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ดังนั้น การเกิดขึ้น “ซับเจ็คที่บุบสลาย” จึงสะท้อนผลลัพธ์ของระบบที่กำลังทำงานได้ดีหรือทำงานได้ตามปกติ (พาฝัน หน่อแก้ว, 2564)

ดังที่กล่าวมาทั้งหมด เมื่อ “ทุนนิยม” เป็นพาหะนำโรคที่ทำให้ผู้คน “ป่วยไข้” (ซับเจ็คที่บุบสลาย) ในรูปแบบและระดับที่แตกต่างกันออกไปและผู้คนที่ป่วยไข้เหล่านั้นบางส่วนก็แสดงอาการออกมาผ่านการเป็นฆาตกรสังหารหมู่ด้วยวิธี “กราดยิง” ฉะนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาที่สนใจแค่เพียงระดับบุคคล/ปัจเจก อย่างเช่น “การทบทวนและกวดขันมาตรการควบคุมกำกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยงานที่ครอบครองและใช้อาวุธ” “การแยกบำบัดรักษาและกำกับให้อยู่ในการดูแลของแพทย์จนปกติ” และ “กระบวนการคัดกรองเข้ารับเข้าราชการที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับประวัติบุคคล” ฯลฯ จึงยังไม่เพียงพอ 

เอาเข้าจริง วิธีการแก้ไขปัญหาที่สนใจแค่เพียงระดับบุคคล/ปัจเจกหรือเรียกอีกอย่างหนึ่ง คือ การโยนความรับผิดชอบไปที่ปัจเจกมันได้สร้างผลดีต่อตัวแสดงมากมายในระบบทุนนิยม อาทิเช่น บริษัทยายักษ์ใหญ่ คลินิกเอกชน ผู้เชียวชาญด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมไลฟ์โคช์/ฮาวทูและทุนโดยรวมๆ (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 60) นอกจากนั้นมันยัง “เป็นการกำจัดความเป็นการเมือง (depoliticize) และบริบททางประวัติศาสตร์ (de-historicize) ออกไปจากสภาพที่เป็นอยู่ และยังปลดความรับผิดชอบออกไป (de-responsibilize) จากระบบทุนนิยมอีกด้วย” (สรวิศ ชัยนาม, 2562, 157) 

ในแง่ดังกล่าวการที่เรายังไปไม่พ้นการแก้ไขปัญหาในระดับบุคคล/ปัจเจก จึงหมายความว่า เรากำลังเลี้ยงความ “ป่วยไข้” ให้ยังคงดำรงอยู่ต่อไป มากกว่าที่เราจะรักษาความ “ป่วยไข้” นั้นให้หายขาด ทำนองเดียวกันกับ Karl Marx ที่เปรียบศาสนาว่าเป็นเหมือนฝิ่น เพราะถึงแม้ว่าศาสนาจะช่วยทำให้จิตใจของคนสงบลงได้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุที่ก่อให้เกิดความทุกข์ได้จริงๆ เหมือนฝิ่น แม้จะมีประโยชน์อยู่บ้างที่สามารถแก้/บรรเทาอาการปวดฟันได้ แต่เมื่อฤทธิ์ฝิ่นหมดอาการปวดฟันก็จะกลับมาเหมือนเดิม ฉะนั้นเมื่อเรามองไม่เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีต้นเหตุมาจากระบบทุนนิยม นั่นก็หมายความว่า เรากำลังอุปถัมภ์ค้ำจุนระบบทุนนิยมให้สามารถผลิตซ้ำตัวเองเพื่อการดำรงคงอยู่ต่อไปได้นั่นเอง

หากใช้คำของ Zizek พวกเราต่างก็กระตือรือร้นที่จะประณามและต่อสู้หรือหาหนทางแก้ไขเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงอย่างการกราดยิงเพียงอย่างเดียว แต่พวกเรากับมองข้าม ไม่สนใจ หรือเจตนาไม่สนใจ ความรุนแรงที่อยู่เบื้องหลังอันเป็นต้นเหตุของการกราดยิงอย่าง “ระบบทุนนิยม” ฉะนั้นเราจึงเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นผู้ร่วมในการสืบสานการกระทำความรุนแรงดังกล่าวไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม (สรวิศ ชัยนาม, 2558, 28-29) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกเราต่างก็ประณามผู้ก่อเหตุกราดยิงว่า “ชั่วช้า” ต่างๆ นานา แต่พวกเรากลับเพิกเฉยต่อการ “กราดยิง” ที่ระบบทุนนิยมเป็นผู้กระทำ (เช่น การสร้างความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลให้ชีวิตผู้คนในสังคมเปราะบางหรือเป็น “ซับเจ็คที่บุบสลาย”) 

การที่ทุนนิยมมีลักษณะพื้นฐานที่ต้องผลิต “ซับเจ็คที่บุบสลาย” และการทำให้เราต้องคิดว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นเรื่องส่วนตัว ที่ส่งผลให้ทุนในภาพรวมได้รับประโยชน์ จึงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า “ทุนนิยมชอบการกราดยิง” นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงตั้งชื่อบทความว่า “ทุนนิยมกราดยิง” เพราะ “ทุน ‘นิยม’ กราดยิง” นั่นเอง

ข้อเสนอของผมก็น่าจะชัดเจนในตัวอยู่แล้วว่า สิ่งแรกที่เราต้องสนใจคือ การเมืองเรื่องชนชั้น การเมืองเรื่องการปลดปล่อย และ วิถีการผลิตแบบทุนนิยม ซึ่งหมายความว่า เราต้องละทิ้งหรือเลิกโทษตัวเอง/ปัจเจกและทำความเข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราเป็นปัญหาของสังคมที่มีต้นสายปลายเหตุมาจากยุคสมัยแห่งทุน และนั่นก็หมายความว่า เราต้องสนใจที่จะไปให้พ้นเส้นขอบฟ้าเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยม ส่วนว่าเราจะไปสู่ “เส้นขอบฟ้า” แบบไหนนั้น มันอยู่นอกเหนือความนึกคิดที่ผมจะจินตนาการและเสนอเพียงคนเดียว ก็คงต้องเปิดพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนได้เข้ามาจินตนาการร่วมกันอย่างภราดรภาพว่าต้องการหน้าตาของสังคมหลังทุนนิยมแบบไหน

หมายเหตุ: ในฐานะคนหนองบัวลำภู หากว่า บทความนี้จะมีความดีความชอบบ้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผมขออุทิศความดีความชอบทั้งหมดให้กับเหยื่อในเหตุการณ์กราดยิงทุกท่านทั้งผู้ที่เสียชีวิตและญาติของผู้เสียชีวิต และหากบทความนี้บกพร่องผิดผลาดประการใดผมขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียว

8. เอกสารอ้างอิง

1 ““ก็ทำยังไงล่ะ คนมันติดยา” ทำไมภาวะผู้นำถึงสำคัญในภาวะวิกฤต คุยกับนักวิชาการด้านสื่อสารการเมือง.” (2565, 7 ตุลาคม). The MATTER; https://thematter.co/brief/187445/187445, (เข้าถึงเมื่อ 9 ตุลาคม 2565).

2 “ถอดบทเรียนจากกราดยิงสลดในสหรัฐฯ สู่อดีตตำรวจฆาตกรรมหมู่เด็กในไทย.” (2565, 8 ตุลาคม). บีบีชีไทย; https://www.bbc.com/thai/articles/cn01dn2z41lo, (เข้าถึงเมื่อ 10 ตุลาคม 2565).

3 ทีม THE STANDARD. (2565). “‘ผู้ก่อความรุนแรงมากที่สุด คือผู้ที่ใกล้ชิดอาวุธมากที่สุด’ มองปมยาเสพติด-อาวุธปืน ผ่าน ‘อดีตนายตำรวจ’ กับเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู.” THE STANDARD; https://thestandard.co/police-drug-weapon-risk/, (เข้าถึงเมื่อ 11 ตุลาคม 2565).

4 “นายกฯ ย้ำแสดงความเสียใจเหตุกราดยิง เบื้องต้นผู้ก่อเหตุมีปัญหาส่วนตัว พรุ่งนี้ (7 ต.ค.) บินให้กำลังญาติ.” (2565, 6 ตุลาคม). WorkpointTODAY; https://workpointtoday.com/politics-pmm06102565/, (เข้าถึงเมื่อ 9 ตุลาคม 2565).

5 “นิ้วไหนไม่ดีต้องตัดทิ้ง ผบ.ตร.เชือด ผู้กำกับโจ้ ให้ออกจากราชการวันนี้.” (2564, 24 สิงหาคม). ไทยรัฐออนไลน์; https://www.thairath.co.th/news/crime/2176010, (เข้าถึงเมื่อ 9 ตุลาคม 2565).

6 “’บิ๊กป๊อก’ ชี้มือกราดยิงจิตใจผิดปกติ อย่ามองแค่เรื่องใช้ปืนมุมเดียว.” (2565, 7 ตุลาคม). ไทยโพสต์; https://www.thaipost.net/politics-news/237893/, (เข้าถึงเมื่อ 9 ตุลาคม 2565).

7 “ประวิตร สั่งกวดขันเจ้าหน้าที่รัฐเครียด ครอบครองอาวุธปืน.” (2565, 6 ตุลาคม). ประชาชาติธุรกิจ; https://www.prachachat.net/general/news-1074128, (เข้าถึงเมื่อ 9 ตุลาคม 2565).

8 พาฝัน หน่อแก้ว. (2564). “เมื่อ ‘ทุนนิยม’ เป็นปัญหา: วิพากษ์โรคซึมเศร้าผ่านมุมมองของ สรวิศ ชัยนาม.” The MOMENTUM; https://themomentum.co/closeup-soravis/?fbclid=IwAR1t9fTJ_fOmI-Gr96hppLaw4UYO4v3ToIZZwdOiU6lJXstN8EoSNvSicOk, (เข้าถึงเมื่อ 11 ตุลาคม 2565).

9 พลอยรุ่ง สิบพลาง. (2564). “‘เมื่อทุนนิยมบอกให้เราโทษตัวเอง’ คุยกับ สรวิศ ชัยนาม.” The MATTER; https://thematter.co/social/capitalist-realism-and-mental-health/141630, (เข้าถึงเมื่อ 10 ตุลาคม 2565).

10 วัลย์นภัสร์ เจนร่วมจิต. (2565). “ถอดบทเรียนเหตุการณ์หนองบัวลำภู วัฒนธรรมองค์กรตำรวจ ที่อาจสร้าง ‘อาชญากร’.” The MOMENTUM; https://themomentum.co/rule-of-law-shooting-rampage-nong-bua-lamphu/, (เข้าถึงเมื่อ 11 ตุลาคม 2565).

11 ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี. (2563). “มองนอร์เวย์ 9 ปีหลังการกราดยิง สู่การถอดบทเรียนกราดยิง กุมภาพันธ์ 2563: การล้อมคอกแบบมีประสิทธิภาพในประเทศรัฐสวัสดิการ.” ประชาไท; https://prachatai.com/journal/2020/02/86315, (เข้าถึงเมื่อ 16 ตุลาคม 2565).

12 สรวิศ ชัยนาม. (2558). Slavoj Zizek: ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย. กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ (ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.

13 สรวิศ ชัยนาม. (2562). เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์. สุชานาฎ จารุไพบูลย์ (ผู้แปล). กรุงเทพฯ: Illuminations Edition.

14 “เหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู พ.ศ. 2565.” (2565, 6 ตุลาคม). วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี; https://th.wikipedia.org/wiki/เหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู_พ.ศ._2565#cite_note-20, (เข้าถึงเมื่อ 13 ตุลาคม 2565).

image_pdfimage_print