ภาพโดย ทรงวุฒิ จุลละนันท์ นักข่าวอิสระในโครงการ Journalism that Builds Bridges 

สิทธิศักดิ์ บุญมั่น เรื่อง  

ทรงวุฒิ จุลละนันท์ ภาพ 

ปี 2565 จังหวัดอุบลราชธานีกลายมาเป็นพื้นที่รองรับน้ำอีกครั้ง หลังจากปี 2562 ต้องประสบกับวิกฤตการณ์อุทกภัยอย่างหนัก สร้างความเสียหายให้แก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำเป็นอย่างมาก  

จากการประเมินสถานการณ์ของจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 พบว่า มีผู้ประสบอุทกภัยเป็นจำนวน 23,781 คน จาก 13 อำเภอ 281 ชุมชนและ 7,661 ครัวเรือน โดยมีศูนย์พักพิงทั้งหมดจำนวน 103 แห่ง ทั้งนี้คาดว่า มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายกว่า 365,880 ไร่ เป็นบ่อปลา กุ้ง และตะพาบน้ำจำนวน 1,611 ไร่ 

ด้านความเสียหายต่ออาคาร สิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินภายในบ้าน ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากช่วงน้ำท่วม และการสูญเสียรายได้ถูกประเมินไว้ประมาณ 723 ล้านบาท

สำหรับชุมชนริมน้ำมูลฝั่งอำเภอวารินชำราบที่เชื่อมติดกับเมืองอุบลราชธานี ตัวแทนชุมชนได้รวบรวมข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากทั้งหมด 8 ชุมชนไว้พบว่า มีชาวบ้านกว่า 1,731 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้

สิทธิศักดิ์ บุญมั่น นักข่าวในโครงการ Journalism that Builds Bridges จากสำนักข่าว Louder พูดคุยกับ “จงรัก โพธ์ยิ้ม” ชาวชุมชนหาดสวนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ถึงเหตุผลการตัดสินใจไม่ย้ายไปอยู่พักที่ศูนย์อพยพและคงปักหลักอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองเพื่อคอยดูแลแม่วัยชราและบ้านของเธอ 

ชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงน้ำท่วมเป็นอย่างไรบ้าง

เราอาศัยอยู่ที่นี่มาตลอด ตั้งแต่น้ำเริ่มท่วมจนถึงทุกวันนี้ ไม่ได้ออกไปไหน เพราะห่วงใยบ้านและทรัพย์สิน แม้จะไม่มีมูลค่ามากมาย แต่กว่าจะได้มาก็ยาก เพราะเราเป็นคนจน ส่วนเพื่อนบ้านละแวกนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีความจำเป็นต้องย้ายออกไปอยู่ข้างนอก เราจึงอาสาเป็นผู้ดูแลสอดส่องบ้านเรือนและทรัพย์สินให้คนเหล่านั้น

วันที่น้ำเริ่มขึ้นสูงเป็นอย่างไร  

น้ำเริ่มทยอยขึ้นสูงประมาณวันที่ 3 ตุลาคม และทยอยสูงขึ้นเรื่อยๆ ช่วงนั้นเราพยายามเก็บของขึ้นที่สูง แต่จำเป็นจะต้องสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมวลน้ำทั้งหมดก่อน ปีนี้เขาคาดการณ์ว่าระดับน้ำจะสูงไม่เกิน 9 เมตร แต่ด้วยประสบการณ์ที่เราอาศัยอยู่กับน้ำมานาน จึงบวกเพิ่มอีก 1 เมตร ดังนั้นระดับน้ำของปีนี้จะขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 10 เมตร แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่ ตอนนี้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นสูงถึง 11.52 เมตร (กลางเดือนตุลาคม) สูงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ ทรัพย์สินจึงได้รับความเสียหาย เพราะย้ายออกไม่ทัน สิ่งที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในตอนนี้ คือพยายามย้ายสิ่งของขึ้นหนีน้ำให้ได้สูงที่สุด

จงรัก โพธิ์ยิ้ม ชาวชุมชนหาดสวนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ขณะอาศัยอยู่บนชั้นสองของบ้านระหว่างน้ำท่วมสูง ภาพเมื่อเดือนตุลาคม 2565 

การใช้ชีวิตเมื่อต้องอยู่กับน้ำ

โชคดีที่บ้านหลังใหม่ของพี่สาวทำห้องน้ำไว้ที่ชั้น 2 เราจึงไม่มีปัญหาเรื่องนี้ แต่จะมีปัญหาเรื่องการทำอาหาร เพราะไม่มีห้องครัวและไม่มีไฟ ดังนั้นอาหารของเราจึงเป็นอะไรที่ทำง่ายๆ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ไข่เจียว เน้นให้ทำง่ายที่สุด เพราะการจะออกไปข้างนอกค่อนข้างอันตราย เพราะกระแสน้ำไหลเชี่ยว การพายเรือเข้า-ออกทำได้ลำบาก ต้องอาศัยเรือจ้างที่มีหางเสือขับเข้ามารับเรา ซึ่งค่าโดยสาร คือเที่ยวละ 20 บาทต่อคน เข้า 20 บาท ออก 20 บาท ถ้าออกไปบ่อยก็ไม่ไหว เพราะเราไม่มีรายได้ จึงจำเป็นต้องอยู่ให้ได้ อาศัยทำครัวเล็กๆ ตั้งเตาขึ้นมาประกอบอาหารแค่เพียงให้ได้กินเท่านั้น

ผลกระทบต่ออาชีพ

ผลกระทบมีค่ะ เพราะเราเปิดร้านกาแฟ ซึ่งยังไม่รู้ว่า ความเสียหายมากแค่ไหน ตอนนี้ คือ เราไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่ายอย่างเดียว

เปรียบเทียบความต่างของน้ำท่วมปี 62 กับปีนี้อย่างไร 

ปี 62 น้ำขึ้นเร็วมาก ภายในหนึ่งสัปดาห์น้ำขึ้นถึงถนนใหญ่ และความเสียหายมีเยอะกว่าปีนี้ แต่ระดับน้ำยังไม่สูงถึงพื้นบ้านชั้น 2 ปี 62 เราเก็บของไม่ทัน เพราะมวลน้ำมาเร็วมาก เพิ่มขึ้นวันละ 50 – 80 เซนติเมตร ส่วนปีนี้มวลน้ำเพิ่มขึ้นในระดับที่สามารถปรับตัวได้ เพราะเรารู้แล้วว่า น้ำจะมาในระดับไหน 

ประเด็นหลัก คือ ข้อมูลข่าวสารจากทางการไม่ชัดเจนและไม่เป็นความจริง เหมือนกับหลอกเรา ข้อมูลจากกรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยาก็มี น่าจะประสานงานและคุยกันได้ แต่เขาไม่คุย ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ทั้งที่มวลน้ำจากกาฬสินธุ์ ขอนแก่น แจ้งมาแล้วว่าจะปล่อยน้ำ แต่สุดท้ายแล้วเขื่อนที่บอกว่า จะเปิดประตูระบายน้ำในช่วงเดือนมิถุนายนก็ไม่เปิด เขามาเปิดอีกทีหลังจากนั้น 

“เราไม่เข้าใจว่า เป็นเพราะอะไร เราไม่ได้โจมตีใคร แต่ถ้าพวกคุณคุยกันจริงๆ ยังไงอุบลฯ ก็เป็นจุดสุดท้ายที่รับน้ำ เดือนมิถุนายนควรเปิดเขื่อนได้แล้ว ไม่ต้องอ้างการรักษาระดับน้ำประปาในเมือง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะยังไงน้ำก็ต้องมา”

น้ำท่วมสูงในจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ภาพโดย ทรงวุฒิ จุลละนันท์ นักข่าวอิสระในโครงการ Journalism that Builds Bridges 

พอทราบสาเหตุที่น้ำท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆ ไหม 

ปกติน้ำจะไม่ท่วมระดับนี้ พอมีเขื่อนก็ทำให้น้ำท่วมมีความรุนแรงขึ้นทุกปี มีสาเหตุมาจากการปล่อยน้ำที่ต้องกักเก็บให้เต็มความจุของเขื่อนก่อนจึงปล่อยออก โดยไม่ได้คำนวณจากการรองรับระดับน้ำของเขื่อนแต่ละแห่ง และเขื่อนที่อยู่ลำดับสุดท้ายจำเป็นต้องปล่อยน้ำออกก่อนเพื่อน เพราะยังไงน้ำก็มาถึงเราอยู่แล้ว 

ปี 62 สาเหตุที่น้ำท่วมเร็ว คือ เขื่อนไม่เปิด น้ำท่วมถึงถนนแล้วแต่เขื่อนปากมูลยังไม่เปิดประตูกั้นน้ำทั้ง 8 บาน เขื่อนเปิดวันที่ 8 กันยายน ซึ่งตอนนั้นน้ำท่วมถึงร้านกาแฟและบ้านของเราแล้ว

ได้รับการช่วยเหลือและการเยียวยาจากทางการหรือยัง 

เมื่อปี 62 ได้รับเงินเยียวยาทะเบียนบ้านละ 5,000 บาท แต่ปีนี้ได้ข่าวว่าจะได้ 3,000 บาท ก็ยังโอเคอยู่ เพราะเรามีครัวเรือนขยายที่ยังไม่ได้รับทะเบียนบ้านและยังไม่มีบ้านเลขที่เป็นของตัวเอง คนจนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวรนี้ไม่มีบ้านเลขที่ ไม่มีใครไปขอ เพราะการขอทะเบียนบ้านเป็นเรื่องที่ทำยาก 

นอกจากนี้ยังมีเงินอีกส่วน คือ เงินช่วยเหลือการซ่อมแซมบ้าน ปีที่แล้วบ้านหลังนี้ได้ 4,900 บาท ทั้งที่น้ำท่วมท่วมสูงในระดับที่เหลือบันไดเพียงขั้นเดียวจะถึงชั้น 2 ของบ้าน”

“ปี 62 ได้บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ (ดารานักแสดง) ช่วยเหลือให้เงินมาครอบครัวละ 5,000 บาท ทางรัฐบาลจึงให้เรามาเพิ่มอีก 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 10,000 บาท ถามว่า พอไหม ไม่พอนะ ไม่คุ้มกับบ้านที่เสียหายไปทั้งหลัง” 

น้ำท่วมสูงในจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ภาพโดย ทรงวุฒิ จุลละนันท์ นักข่าวอิสระในโครงการ Journalism that Builds Bridges 

คาดว่า ปีนี้จะได้รับการเยียวยาอย่างไร 

อันนี้ตอบไม่ได้เลย เพราะทุกปีที่ผ่านมาไม่สามารถชี้ได้เลยว่าจ ะได้รับการเยียวยาอะไร ปี 62 กลุ่มวิศวกรเข้ามาตรวจสอบ เขาบอกว่า บ้านหลังนี้สภาพไม่เหมือนน้ำท่วมเลย เพราะเราทำความสะอาดและเก็บซากขยะออกหมดแล้ว

ได้วางแผนหลังจากน้ำลดหรือยังว่า จะทำอย่างไร

ก็จะล้างบ้านไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้มีเชื้อราและกลิ่นอับ เพราะบ้านไม้โดนน้ำ ไม้ก็จะเน่า ทำให้มีกลิ่นอับ และอีกเหตุผล คือ ที่บ้านมีคนแก่ จึงต้องพยายามทำให้บ้านแห้งเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้มีเชื้อรามาเกาะตามผนังบ้าน ต้องขัด ไม่สามารถทิ้งไว้เพื่อรอทางการเข้ามาตรวจสอบก่อนค่อยทำความสะอาดได้ เพราะหากทิ้งไว้นานจะทำความสะอาดยาก เราจึงขัดไปเรื่อยๆ ทุกวันตามระดับน้ำที่ลดลง

น้ำท่วมสูงในจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ภาพโดย ทรงวุฒิ จุลละนันท์ นักข่าวอิสระในโครงการ Journalism that Builds Bridges  

อยากหนีน้ำไปอยู่ที่อื่นไหม

ถ้าถามว่าอยากไปอยู่ที่อื่นไหม ไม่ เพราะคนไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกที่อยู่ การย้ายไปอยู่ที่อื่นมีความจำเป็นจะต้องใช้เงินจำนวนมาก เราอยู่อาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ อยู่กันมาตั้งแต่ปู่-ย่า ตาทวด แล้วจะให้เราย้ายไปไหน เราอยู่กับน้ำได้ ไม่ใช่ต้องรอให้คุณมาเยียวยา เราไม่ต้องการการเยียวยา แต่เพียงแค่ขอข้อมูลที่ชัดเจนให้ชาวบ้านสามารถเตรียมพร้อมและอพยพได้ เพราะอยู่ใกล้ที่ทำกินของเรา

“คำถามนี้เป็นคำถามที่เรารู้สึกเจ็บปวดมาก “คุณรู้ว่าน้ำท่วม ทำไมคุณไม่ย้ายออกไป ?” แล้วคุณจะให้เราไปอยู่ไหน มีพื้นที่รองรับเราไหม อาชีพเดิมเราและอาชีพใหม่เรา คุณสามารถส่งไปให้เราตั้งตัวได้ไหม ทำได้ไหม ถ้าทำได้ เราพร้อมไป”

ลองไปถามชาวอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาดู น้ำท่วมทำไมไม่ย้าย เพราะชาวบ้านมีอาชีพทำประมง รับจ้าง แล้วจะมาบอกให้เขาไปอยู่ที่ใหม่ โดยที่ไม่มีอะไรรองรับ แล้วเขาจะไปไหม ไม่มีใครไปหรอก รู้ว่าลำบาก แต่น้ำมันท่วมไม่นาน

มีข้อเสนอหรือวิธีที่จะทำให้น้ำไม่ท่วมไหม 

คงจะมีเพียงแค่ทุบเขื่อนทิ้ง เพราะระดับน้ำที่ตัวเขื่อนและท้ายเขื่อนมีความต่างกันมาก แต่ประเด็น คือ เราไม่มีอำนาจไปต่อรอง ชาวบ้านจึงทำได้เพียงรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน ปีนี้มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนมีกำลังทรัพย์น้อยลง อีกทั้งระยะเวลาในการช่วยเหลือยังยืดออกไปให้นานกว่าเดิม เพราะน้ำท่วมนาน มันหมดแรง คนช่วยก็เหนื่อย คนที่รอรับก็เหนื่อย เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ทำได้ คือช่วยเหลือตัวเองด้วยให้มากที่สุด

image_pdfimage_print