“พิรงรอง”ระบุ กสทช.พร้อมร่วมมือองค์กรสื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สังคม นายกสมาคมนักข่าวฯ ย้ำสื่อต้องวางอคติ สื่อใหม่กลายเป็นสื่อหลักได้หากสังคมยอมรับ ไม่เชื่อน้ำยารัฐบาลเลือกตั้งจะไม่คุกคามเสรีภาพสื่อแนะสังคมเติบโต-รู้เท่าทัน “DemAll”โอดสื่ออิสระถูกปิดกั้นเสรีภาพขอพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย  

อาชวิชญ์ อินทร์หา ภาพ

กรุงเทพฯ – The Isaan record ร่วมกับ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Unesco) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) มูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชนอีสาน THECITIZEN.PLUS Thai PBS สถานทูตเนเธอแลนด์ประจำประเทศไทย สถานทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย สถานทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย จัดเปิดตัวโครงการ Journalism that Builds Bridges เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและมีเสวนาหัวข้อ “ภูมิทัศน์สื่อไทย….จะไปยังไงต่อ” 

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 

กสทช.พร้อมร่วมมือองค์กรสื่อ 

ในความเป็นจริงสื่อมีความหลากหลายมากขึ้นในแง่ของแพลตฟอร์ม ซึ่งวิทยุเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่มีความเป็นเจ้าของโดยรัฐค่อนข้างสูง ขณะที่ดิจิทัลทีวีหลุดออกจากการครอบครองของรัฐค่อนข้างชัดเจน แต่ว่าความไม่สำเร็จของการปฏิรูปสื่อในส่วนของโทรทัศน์ค่อนข้างชัดเจนในแง่ของทีวีภาคพื้นดิน ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า เป็นความผิดพลาดของ กสทช.เอง ทั้งในแง่การออกใบอนุญาตและต้นทุนค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ที่เข้ามาทำอยู่ในวังวนของการหารายได้  

สิ่งที่เจอในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาก็คือ ดิจิทัลดิสรัปชั่นเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เกิดการแย่งกันหารายได้ นอกจากนั้นยังมีแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศเข้ามาแย่งหารายได้ด้วย ทำให้เกิดการต่อสู้กันในเรื่องของเม็ดเงินที่ลดลงเรื่อยๆ และในแง่ของการที่เกิดภาวะเร้าอารมณ์ ขยี้ข่าวค่อนข้างสูง มีการใช้เรื่องความรุนแรงเป็นตัวขายข่าว ส่วนหนึ่งมันก็มาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่ปัจจัยทางการเมืองอย่างเดียวที่ทำให้เกิดเนื้อหาที่อาจจะไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่าไร 

ส่วนจะกำกับดูแลอย่างไรให้สื่อยู่ในจริยธรรม เนื้อหาในสื่อที่มีปัญหาจะมีอยู่ 2 แบบที่ชัดเจน คือ เนื้อหาที่ผิดกฎหมายกับเนื้อหาที่ผิดจริยธรรม ถ้าเป็นพื้นที่ออนไลน์ก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เนื้อหาที่ผิดกฎหมายกับเนื้อหาที่เป็นภัย บางทีเนื้อหาที่เป็นภัยอาจไม่ได้ผิดกฎหมายก็ได้ แตกต่างจากสื่อเดิม เพราะมองว่า สื่อดั้งเดิมองค์กรวิชาชีพของสื่อเป็นผู้ที่ดูแลจริยธรรมชัดเจน ขณะที่ กสทช. หรือองค์กรของรัฐจะเป็นการดูแลในเรื่องเนื้อหาที่ผิดกฎหมายที่กำลังทำกันอยู่เป็นการร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพสื่อดูในเรื่องการกำกับดูแลผ่านการรับเรื่องราวร้องเรียนจากประชาชน และแยกชัดเจนว่าอะไรที่ผิดกฎหมาย กสทช.จะเป็นผู้ดูแล ถ้าอะไรที่ผิดจริยธรรมเราส่งให้องค์กรวิชาชีพ 3 แห่งที่เกี่ยวข้องกับโทรทัศน์ช่วยดูแล การดำเนินการร่วมกับองค์กรวิชาชีพนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในระบบสื่อ  

“สังคมต้องมีการเรียนรู้ว่า อันนี้เป็นเรื่องจริยธรรมและต้องทำให้สื่อมีความรับผิดชอบด้วย ท้ายที่สุดต้องกลับมาสู่หลักค่านิยมมาตรฐานกลางที่สื่ออยากสร้างให้เกิดขึ้นในสังคม คือ ความถูกต้องของข้อมูล ความรับผิดชอบ ความผูกผันกันทันทีที่ทำผิดต้องขอโทษได้ เป็นต้น ขอเน้นย้ำว่า กสทช. ต้องการทำงานร่วมกับองค์กรสื่อเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในสังคม”  

มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 

สื่อต้องตั้งหลัก 

เราต้องเข้าใจบริบทสังคมหลังจากเทคโนโลยีสื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว เราจึงจะกำหนดกรอบว่า เราผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อจะต้องไปอยู่จุดไหน ต้องเสริมจุดไหนที่อ่อนแอ ต้องปล่อยวางจุดไหนที่สังคมทำแทนได้แล้ว ผมคิดว่าจุดที่สังคมทำแทนสื่อมวลชนในอดีตได้ ซึ่งเราประจักษ์มากก็คือสังคมมีส่วนช่วยในการนำหลักฐานเชิงประจักษ์ผ่านคลิปวิดีโอทั้งหลายเข้ามาร่วมในการกระบวนการสืบสวนได้มาก 

สื่อมวลชนควรจะต้องตั้งหลักกลับมาเพลาๆ ตรงนี้ แล้วเปิดช่องให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม แล้วคนที่ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนก็จะเป็นตัวกลางในการนำเสนอสิ่งเหล่านี้ขยายออกไปและกลั่นกรอง แต่สิ่งที่เราพบว่ากำลังขาดหายไปเนื่องจากดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีส่งผลต่อธุรกิจ การที่มีเงินเดือน ผลตอบแทนรายได้เป็นเรื่องปกติ แต่เราต้องดูว่า การได้ผลประโยชน์ตรงนี้มันเกินกว่าจริยธรรมที่ควรจะรับได้หรือไม่และควรรับผิดชอบจากผลประโยชน์ตรงนี้ด้วย 

สิ่งที่อยากจะเน้นคือ สังคมขาดคนทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านเป็นอันดับต้นในเวลานี้ คอมเมนต์ความเห็นทั้งหลายมีมากเหลือเกิน มีกระทั่งความเห็นที่เจตนาดีและเจตนาที่จะสร้างเฟคนิวส์ ดังนั้นในการทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลข่าวสาร จริยธรรมของวิชาชีพสากลและไทยบ่งบอกว่าเราต้องวางอคติ เราต้องให้ข้อมูลที่รอบด้านและถูกต้องที่สุดกับคนอื่นๆ ก่อน ยกตัวอย่าง เราอยากดูหนัง หรืออ่านนิยาย แต่มีเพื่อนมาเล่าให้ฟังก่อน เราจะรู้สึกอย่างไร เราก็รู้สึกเหมือนถูกคุกคามในการใช้สมองของเราในการรับรู้ ข่าวสารก็เช่นกันข่าวสารที่ไม่มีความคิดเห็นคุณต้องป้อนให้กับสังคมก่อน หลังจากนั้นความคิดเห็นตามมาไม่ว่ากัน เพราะทุกคนมีสิทธิ์เห็นตรงเห็นต่างได้ อนาคตไม่ว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนอย่างไรจุดนี้ไม่เปลี่ยน การรักษาข้อมูลที่ถูกต้องให้กับสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด 

บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเสวนาในโครงการอบรมนักข่าวอิสระในโครงการ Journalism that Builds Bridges เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565

สำหรับบทบาทของสมาคมนักข่าวฯ จะเป็นอย่างไรนั้นก็ยังยืนหยัดไม่ใช่เพียงแค่คำพูดสวยหรู แต่ยืนหยัดด้วยการกระทำว่า เมื่อคราวที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับรองความเป็นสื่อมวลชน ความเป็นสื่อภาคพลเมือง เนื่องจากนิยามของนิเทศศาสตร์เองก็ยังไม่สามารถแบ่งชั้นว่า ใครบ้างที่เป็นสื่อมวลชนกับไม่ใช่สื่อมวลชน ส่วนทำไมต้องแบ่งนั้น เพราะยังมีกฎหมายของสังคม ไม่ใช่ไทยอย่างเดียวแต่เป็นทั่วโลก 

แม้กระทั่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่ระบุว่ามีข้อยกเว้นสำหรับสื่อมวลชน แต่ถ้าทุกคนอ้างว่า “มีมือถือแล้วส่งข่าวได้ ฉันเป็นสื่อมวลชน” ทุกคนก็จะเข้ากฎหมายพีดีพีเอ ตรรกะมันก็จะแย้งกัน แวดวงสื่อมวลชนทำได้แค่พยายามส่งเสริมและรักษาคนที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนให้ได้มากที่สุด แต่ขณะเดียวกันเราก็พยุงและประคับประคองร่วมมือกับโอกาสของประชาชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เมื่อเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าฝ่ายไหนที่ถูกละเมิดต้องออกมาสู้ ไม่ใช่สู้แค่ฝ่ายเดียว เมื่อนั้นทุกคนจะอยู่ได้ถาวร 

“ต้องมีนิยามจำกัดความหรือขอบเขตที่เหมาะสมอย่างไรที่สังคมจะได้กำกับดูแลไม่ให้ใช้ช่องทางสื่อเพื่อประโยชน์ที่ไม่เป็นสาธารณะ เอาเปรียบคนอื่นหรือเอาไปหลอกลวง อย่าลืมว่าคนมีทุน หรือไม่มีทุนก็ทำสื่อได้ แต่คนมีทุนจะได้เปรียบกว่า คนมีทุนไม่ได้มีแต่คนสุจริตเท่านั้นทุจริตข้ามชาติ ค้ายา การพนัน ถามว่าเขาทำสื่อได้หรือไม่ จะมีอะไรมากีดกันหรือห้ามนี่ คือ โลกอนาคตที่ทุกคนต้องเจอและขอให้คิดเผื่อไว้ด้วยว่าจะวางกติกาอย่างไรไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพแต่ปกปักรักษาสิทธิประโยชน์ของส่วนรวมเป็นโจทย์ที่ท้าทายทุกคนในที่นี้” 

บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเสวนาในโครงการอบรมนักข่าวอิสระในโครงการ Journalism that Builds Bridges เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565

ทุกรัฐบาลคุกคามสื่อ 

เสรีภาพของสื่อมวลชนทั้งไทยและทั่วโลกไม่เคยเว้นว่างจากการถูกคุกคาม แต่มันอยู่ที่ว่าสังคมและสังคมเข้าใจร่วมกันถึงช่องทางวิธีการ ศิลปะและการร่วมมือกัน มีความเข้าใจกันในการต่อสู้กับการคุกคามเสรีภาพนั้นขนาดไหน ไม่อาจขีดเส้นแค่ก่อนหรือหลังรัฐประหาร อนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นการเลือกตั้งธรรมดา ก็ไม่เชื่อว่า จะไม่มีความพยายามคุกคามเสรีภาพสื่อ เพียงแต่ว่ารู้เท่าทันหรือไม่อย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักร่วมกัน 

“หวังว่าเราจะใช้โซเชียลเชื่อมโยงในสิ่งที่เป็นประโยชน์ พยายามลดอารมณ์และใช้เหตุผลในการดึงทุกคน มองข้ามความรู้สึกเรื่องสีเสื้อ แต่คุยในสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ส่วนตัวผ่านรัฐประหารมาหลายครั้งและเชื่อว่าอำนาจของรัฐประหารอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนว่า สังคมเข้มแข็งขึ้นมาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งจุดที่รัฐประหารจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะผู้ทำรู้ว่าตัวเองจะไม่รอด” 

ณรรธราวุธ เมืองสุข ตัวแทนจากสมาพันธ์สื่อเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) 

เมื่อสื่ออิสระถูกดำเนินคดี 

DemAll เกิดขึ้นจากการดิสรัปชั่นที่ก่อให้เกิดอิสระจำนวนมาก หลังจากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ในช่วงหลังรัฐประหารครั้งล่าสุดเป็นต้นมา ก่อให้เกิดการต่อสู้เรียกร้องด้านสิทธิเสรีภาพเป็นจำนวนมาก และทำให้เกิดกลุ่มสื่อมวลชนอิสระที่ไม่มีสังกัด ไม่ได้อยู่ภายใต้องค์กรวิชาชีพ เป็นกลุ่มใหญ่มาก และเกดการถูกใช้อำนาจของรัฐพยายามเข้ามาควบคุม โดยใช้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนามกลุ่มอิสระเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่มสมาพันธ์ฯ นี้ 

การทำงานกับสื่ออิสระทำให้เราเห็นว่า ปัจจุบันเราพูดถึงภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคสื่อเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทาง การรายงานข่าว การทำหน้าที่ของสื่อชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากบางเพจผู้บริโภคสื่อที่เข้าไปติดตามมันมากกว่าสื่อหลักหลายสื่อด้วยซ้ำไป  ในแง่ของการมีทุนสนับสนุนเหมือนสื่อหลักในองค์กรวิชาชีพนั้น สื่อเหล่านี้อยู่ได้โดยที่ประชาชนยอมจ่ายเงินสนับสนุนให้เขาตามช่องทางที่ขอบริจาค ทำให้เขาสามารถยืนระยะอยู่ได้ เป็นประเด็นที่เราต้องทบทวนดูว่าทิศทางหรือแนวโน้มของภูมิทัศน์สื่อมันเปลี่ยนโดยที่คนที่ทำงานสื่อหลักอาจจะไม่มีความเข้าใจหรือมองไม่เห็นก็ได้ และกลุ่มเหล่านี้จะเดินต่อไปอย่างไร ภายใต้เรื่องของการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มสื่ออิสระเหล่านี้มีบางส่วนถูกดำเนินคดี หรือได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเป็นกลุ่มใหญ่มาก ในขณะที่เราพยายามขอความช่วยเหลือจากทางสมาคมสื่อด้วย 

“เรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นปัญหาที่เรายังต้องเรียกร้องจากรัฐอยู่ตลอด หากรัฐยังมองในแง่ความมั่นคง ซึ่งไม่รู้ว่า เป็นความมั่นคงของอะไรแล้วมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ สิ่งนี้จะเป็นปัญหาในอีก 2-3 ปีข้างหน้า หากไม่มีการเลือกตั้งปัญหานี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไปทำอย่างไรให้ความคิดหรือสิ่งที่เราพูดมันจะไม่เกิดผลกระทบถึงขั้นที่จะเอาเราไปติดคุกหรือทำให้องค์กรที่เราทำงานอยู่ได้รับผลกระทบ เพราะถูกคนที่มีความคิดแตกต่างหรือคนที่มีอำนาจเข้ามาดำเนิน เราขอแค่นี้พอเพดานผมอยู่แค่นี้คือให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูด”

อรพิน เหตุตระกูล เลขาธิการสมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ 

สื่อออนไลน์ก็โดนดิสรัปชั่นเช่นเดียวกันทุกคนหนีไม่พ้น ตัวสื่อออนไลน์ก็ถูกแพลตฟอร์มต่างชาติดิสรัปเราเหมือนกัน หลายสิ่งหลายอย่างเราก็นำเสนอไม่ได้ เพราะมีกฎระเบียบและการกำกับมาจากต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊กสื่อสารมาว่าเทศกาลชนวัวกระทิงที่สเปนเผยแพร่ไม่ได้ เพราะเป็นภาพที่อันตราย มีเลือด มีภาพความรุนแรง หมายความว่า ลักษณะการทำงานสื่อออนไลน์ของไทยทั้งหมดที่อยู่ภายใต้สมาคมฯ เราก็ลำบากเหมือนกันในการปฏิบัติตามกฎเหล่านี้ รวมถึงการต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพภายในประเทศด้วย ซึ่งพยายามอย่างเต็มที่ในการหารือกับภาครัฐเพื่อหาทางออก โดยสมาคมสื่อออนไลน์ฯ มีข้อตกลงร่วมกันที่ต้องปฏิบัติในเรื่องจริยธรรมเช่นกัน มีการตักเตือนกันเองหากมีการนำเสนอไม่เหมาะสม 

ภูมิทัศน์สื่อใหม่ต้องฟังเสียงประชาชน 

ส่วนเรื่องภูมิทัศน์สื่อของเมืองไทยนั้นคิดว่า มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ยกตัวอย่างเหตุการณ์กราดยิงที่ จ.หนองบัวลำภู ประชาชนเป็นกลไกสำคัญในการออกมาตักเตือนสื่อ คุณภาพการนำเสนอของสื่อ ไม่ว่าจะสื่อหลักหรือสื่อภาคประชาชน สื่อมูลนิธิกู้ภัย เผยแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสมออกไป ประชาชนออกมาเตือนออกมารวมตัวกัน 

“สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดใหม่ในภูมิทัศน์สื่อ คือ เสียงของประชาชน คุณภาพวัดกันที่คอนเทนต์และสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนไม่ทำเกินเลย ไม่ทำผิดกติกาของทุกฝ่าย เพราะว่า เราต้องอยู่ร่วมกันในสังคม ในอนาคตภาคประชาชนจะมีบทบาทในการตรวจสอบสื่อมากขึ้น และสื่อต้องทำงานอย่างรัดกุมมากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องการละเมิดสิทธิของประชาชน”

นอกจากนั้นอยากชวน กสทช.และผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันในเรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์มของไทย จะไม่ต้องไปพึ่งพึงแพลตฟอร์มของต่างประเทศ ซึ่งหากแพลตฟอร์มของไทยเกิดขึ้นจริงอยากให้รวบรวมในส่วนของภาคประชาชนเข้าไปด้วย เราต้องฟังเสียงประชาชนเพราะนักวิจารณ์หรือคอมเมนเตเตอร์ที่ดีที่สุดไม่ใช่สมาคมวิชาชีพหรือไม่ใช่พวกเรานักข่าวมาคอมเมนต์กันเอง แต่เราต้องฟังประชาชนให้มากๆ และนำมาพัฒนาปรับปรุงการทำหน้าที่ให้ดีขึ้น 

สมเกียรติ จันทสีมา ผอ.สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ  ThaiPBS 

การรวมศูนย์สื่อไม่ใช่คำตอบ 

ส่วนตัวไม่คิดว่า TPBS เป็นสื่อดั้งเดิมแล้ว แต่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เราไม่ได้คิดว่าเป็นสื่อโทรทัศน์ที่ต้องแข่งขันกับสื่ออื่นๆ ในทางกลับกันตนคิดว่าหน้าที่เราคือต้องไปส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมกับทุกส่วนในเรื่องการสื่อสาร บทเรียนหลังรัฐประหาร และช่วงโควิด-19 ทำให้เห็นว่าอะไรก็ตามที่มันเป็นการรวมศูนย์นั้นมันไม่เวิร์คหรือไม่มีประสิทธิภาพ คำถามว่าภูมิทัศน์สื่อจะไปอย่างไรเป็นโจทย์สำคัญว่า อยู่ในช่วงสำคัญที่สังคมกำลังหาทิศทาง ในต่างประเทศกำลังพูดถึงการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราทำให้สื่อกระจายออกไปแล้วในระดับพื้นที่สามารถจัดการข้อมูลและสร้างการสื่อสาร สร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนในพื้นที่แล้วทำให้เกิดชุดความรู้ขึ้นมา 

“ผมคิดว่า น่าจะเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้การยกระดับของการสื่อสารยกระดับขึ้นอีกชั้นหนึ่งและการแลกเปลี่ยนระหว่างสื่อกระแสหลักกับสื่อพลเมือง สื่อประชาสังคมเป็นสิ่งสำคัญ” 

ในอนาคตภูมินิเวศที่เกิดขึ้นมันจะไม่ใช่สื่อหลักอย่างเดียว แต่ส่วนที่จะมาเชื่อมต่อและเกิดปฏิสัมพันธ์ในเชิงข้อมูลข่าวสารน่าจะเกิดขึ้นเป็นสื่อที่เราต้องยื่นมือเข้าไปทำงานร่วมกัน นอกจากนั้นเราต้องไปจัดการกับกฎหมายที่มาจัดการคนทำสื่อ เช่น กฎหมายเรื่องสื่อมวลชน กฎหมายเรื่องการรวมกลุ่มของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป 

“สุดท้ายเราพอจะเห็นแนวทางที่มันจะขยับไปด้วยกัน แล้วใช้จุดแข็งของแต่ละส่วนทำงานร่วมกัน อยู่ภายใต้แนวคิดที่เรียกว่าเราไม่ได้รวมศูนย์แต่เราพยายามจะกระจายอำนาจให้คนขับเคลื่อนด้วยข้อมูลข่าวสาร คิดว่าสื่อหลักจะไปต่อได้ต้องทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกลางให้ประชาชนเข้ามา สูตรนี้ไมใช่เฉพาะสื่อกระแสหลัก แม้กระทั่งสื่อพลเมืองก็เช่นกันต้องมองว่าคนที่เราต้องสื่อสารด้วยเขาสนใจอะไร เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการสื่อสารของคนทุกกลุ่มให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน”

image_pdfimage_print