ชุมชนมิตรภาพขอนแก่น นอกจากเป็นพื้นที่รับน้ำของคนเมืองแล้ว ไม่เร็วก็ช้าพวกเขาจะถูกไล่รื้อเพื่อให้พื้นที่ริมทางรถไฟเป็นพื้นที่ก่อสร้างรางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย แต่เมื่อดูผู้คนในชุมชนแห่งนี้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นคนชรา คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ฤาการพัฒนาเศรษฐกิจจะทิ้งพวกเขาเหล่านี้ไว้ข้างหลัง? 

กฤติมา คลังมนตรี นักข่าวอิสระในโครงการ Journalism that Builds Bridges เรื่องและภาพ 

แม้สถานการณ์น้ำท่วมในชุมชนมิตรภาพจะลดแห้งลง แต่น้ำตาของผู้คนในชุมชนยังเอ่อล้นอยู่ภายในชุมชนมิตรภาพที่มีกว่า 120 ครัวเรือน ประชากรกว่า 500 คน ต้องประสบปัญหาและสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมจากการอยู่ในที่ดินติดคลองประตูระบายน้ำสองฝั่ง การขาดรายได้ การไม่มีสิทธิในที่อยู่อาศัย รวมไปถึงกลุ่มคนเปราะบางและคนพิการ 16 คนที่อาศัยอยู่ในทุกสถานการณ์ที่กล่าวมา

ชุมชนริมทางรถไฟขอนแก่น หรือที่เรียกว่า “ชุมชนแออัดริมทางรถไฟ” เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยอนุญาตให้แรงงานรับจ้างขนฟืนเติมเชื้อเพลิงให้รถไฟเพื่อการขนถ่ายสินค้า ณ สถานีชุมทางขอนแก่น มาตั้งเพิงพักชั่วคราวใกล้ทางรถไฟเพื่อไม่ให้แรงงานมีปัญหาในการเดินทาง 

แต่เมื่อปลายปี 2563 กลับมีการประกาศไล่รื้อที่อยู่อาศัยและจัดประชุมให้ชาวบ้านรับรู้ ผู้คนจึงเริ่มตื่นตัว แต่ในขณะเดียวกันยังมีผู้อาศัยอยู่ในชุมชนที่แม้แต่การขยับตัวยังเป็นเรื่องยาก นั่นคือ คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง

ความเจ็บปวดที่ไร้เสียง

คำเวียง ศรีจวง หญิงชราวัยอายุ 74 ปี หลังจากต้องเผชิญกับโรคเส้นเลือดในสมองแตกเมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เธอก็ไม่สามารถพูด ไม่สามารถเดิน และไม่มีแรง แต่ใช้แววตาสื่อสารแทนคำพูด 

คำเวียงอาศัยอยู่กับหลานสองคนที่ไม่มีรายได้ บ้านอยู่ติดกับริมรางรถไฟ พอน้ำเริ่มไหลท่วมทะลักจึงได้รับผลกระทบเป็นหลังแรกๆ ลูกสาวของคำเวียงเล่าว่า วันที่น้ำท่วมบ้าน คำเวียงความดันขึ้น การเดินทางไปโรงพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก 

ห้องนอนของคำเวียง ศรีจวง ไม่มีหน้าต่างปิด มองออกไปเห็นคอนโดหรูที่ตั้งอยู่ใกล้กับห้างสรรพสินค้า

ความเจ็บป่วยทางกายจากโรคร้ายส่งผลกระทบต่อจิตใจเธอด้วยเช่นกัน สมทวิล พิมพิทักษ์ ตัวแทนชุมชนมิตรภาพ เล่าว่า คำเวียงทำร้ายตัวเองอยู่บ่อยครั้ง ทั้งตบหน้า ตบปากตัวเองซ้ำๆ เพราะไม่สามารถพูดได้ จิกแขนตัวเองเพื่อพยายามที่จะสื่อสารและพูดคุยกับคนอื่น

“เลาเคยเว้าได้ เลาเคยมานั่งเล่นนำอยู่ พอเป็นสโตรกกะเว้าบ่ได้ ระบายนำเฮาบ่ได้ ก็เลยจิกเจ้าของ ตบหน้าตบปากเจ้าของ อยากสิคุยนำเฮา สภาพจิตใจเลากะบ่ดีปานได๋”เป็นอาการที่ตัวแทนชุมชนเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคำเวียง 

ขณะที่ทีมงานนั่งพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวคำเวียงจึงสื่อสารที่ไร้เสียงในบทสนทนา มีเพียงสายตาที่อยากจะพูดคุยและภาษากายที่ยกมือขึ้นมาซับน้ำตาของตัวเองเท่านั้น 

ลูกชายคำตาวัย 54 ปี ที่ป่วยเป็นโรคโปลิโอนอนอยู่บริเวณทางเข้าบ้าน

นอนดมกลิ่นน้ำมันรถ 

ในชุมชนมิตรภาพคำเวียงไม่ได้เป็นเพียงผู้สูงอายุคนเดียวที่ต้องเผชิญกับโรคร้ายในวัยชรา “คำตา” ไม่ทราบนามสกุล อายุ 92 ปี ผู้ที่ดูแลลูกชาย วัย 56 ปี ที่ป่วยเป็นจิตเวชและนอนติดเตียง รวมทั้งต้องดูแลลูกชายอีกคนวัย 54 ปี ที่เป็นโปลิโอตั้งแต่เด็ก พิการทางการเคลื่อนไหว ทั้งคู่ได้รับเบี้ยคนพิการ เดือนละ 700-800 บาท 

สมถวิล ยังเล่าแทนคำตาว่า ความจริงแล้วสายตาคำตาไม่ค่อยดีนัก เพราะอายุมากแล้ว ต้องคอยดูแลลูกชายสองคน ป้อนข้าวลูกเข้าปากบ้าง ไม่เข้าปากบ้าง สมถวิลเคยไปช่วยพลิกตัวลูกชายคำตาที่นอนติดเตียงและเปลี่ยนผ้าอ้อม ถ้าไม่มีคนมาเปลี่ยนก็จะนอนแช่กองผ้าอ้อมอยู่แบบนั้น

หลังจากผ่านพ้นวิกฤติน้ำท่วมหนัก พอน้ำลดสิ่งที่ยังค้างและยังคงส่งกลิ่นคลุ้งอยู่ในทุกๆ วัน คือ กลิ่นน้ำมันรถ เพราะชุมชนมิตรภาพเป็นทางผ่านจากการปล่อยน้ำมันรถลงมาไหลเข้าทางหมู่บ้าน เนื่องจากรอบๆชุมชนมีร้านซ่อมรถหลายแห่ง

“สมัยก่อนพอน้ำท่วมก็จะเป็นน้ำผ่านหมู่บ้าน แต่ตอนนี้เป็นน้ำขัง เป็นผลจากการพัฒนาเมือง พอมีห้างสรรพสินค้าเขาก็เริ่มถมดินและเริ่มปล่อยประตูน้ำเข้ามาในชุมชน” สมถวิล กล่าว

“ไม่รู้ว่าจะไปไหน”

การร้างไร้สิทธิในที่ดินทำกิน ถือเป็นเรื่องปกติในชุมชนมิตรภาพ การต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมและการถูกไล่รื้อในคราวเดียวกันจึงถือเป็นปัญหาหนักอึ้งที่ผู้คนในชุมชนต้องเผชิญ 

“ถ้ามาไล่ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหน” วิชชุกร อิ้มพัฒน์วัย 38 ปี เล่าสิ่งที่หนักอก

เขาเป็นพ่อลูกหนึ่ง และเป็นลูกคนสุดท้องที่มีแม่พิการทางการได้ยิน เลิกลากับภรรยา หลังจากประสบอุบัติเหตุจากเหตุคนเมาขับชนมอเตอร์ไซค์ ทำให้เขาไม่ค่อยมีแรง ขยับหรือเคลื่อนไหว

“การพิการทำให้ขาดรายได้ เวลาไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่รับ”เขาเล่าสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น 

วิชชุกร อิ้มพัฒน์ ชาวชุมชนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น ที่ขยับร่างกายไม่ค่อยได้ หลังจากประสบอุบัติเหตุจากคนเมาขับรถชนมอเตอร์ไซต์ 

สมศรี ปิ่นประเสริฐ อายุ 64 ปี แม่ของวิชชุกร เล่าว่า  เคยไปยื่นเรื่องกับหน่วยงานของรัฐกับแกนนำชุมชนแม้จะขาดรายได้แต่ครอบครัวของเธอได้เบี้ยผู้พิการกับบัตรประชารัฐที่ถือเป็นรายได้ค้ำจุนครอบครัว 

สมศรี ปิ่นประเสริฐ วัย 64 ปี คนพิการทางการได้ยิน แม่ของวิชชุกร อิ้มพัฒน์ ที่ประสบอุบัติเหตุจากคนเมาแล้วขับ 

วิชัย ลิ้มกลาง กับไม้เท้าที่ช่วยพะยุงเขาตั้งแต่ได้รับอุบัติเหตุรถไฟชนจนกลายเป็นคนพิการ

“น้ำท่วมครึ่งประตู เดินไปไหนไม่ได้”

ในชุมชนนี้มองไปทางไหนก็มีแต่ผู้ประสบภัยและผู้ได้รับความเดือดร้อนรอความช่วยเหลือ “วิชัย ลิ้มกลาง” อายุ 52 ปี มีอาชีพรับจ้างทั่วไป เป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นคนพิการขาขาดหนึ่งข้าง เนื่องจากเมาและโดนรถไฟชน

“สมัยวัยรุ่นก็ไปสังสรรค์กับเพื่อน ไปเที่ยวผับแล้วก็เมาตอนนั้นโดนไล่ตี ผมก็วิ่งหนี มันมืดเลยมองไม่เห็น โดนรถไฟชนขาขาด”เขาเล่าเหตุการณ์ที่ช่วงวัยรุ่นอย่างคล่องปากเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน  

วิชัยอาศัยอยู่คนเดียว หลังจากพ่อของเขาพึ่งเสียชีวิตจากโควิดเมื่อปีที่แล้ว บ้านวิชัยอยู่ริมคลองใกล้ทางรถไฟ เขาจึงกลายเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมหลังแรกๆ ที่โดนน้ำท่วมเกือบครึ่งประตู 

“เรียกร้องไปก็เท่านั้นแหละ เขาไม่เคยมาช่วยอะไรเรา”เขาตอบคำถามถึงข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น 

มุมหนึ่งของบ้านในชุมชนมิตรภาพยังปรากฎร่อยรอยของน้ำท่วมที่ยังชำระล้างไม่หมด  

สมทวิล พิมพิทักษ์ อาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้านและผู้นำชุมชน กล่าวว่า ทางชุมชนฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องผ่านคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพรรคก้าวไกล โดยเสนอให้มีการจัดสรรที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย ห่างจากนี้ 5-7 กิโลเมตร หรือปรับปรุงขนาดที่อยู่อาศัยที่ดินเดิม

“หากมีคำสั่งไล่รื้อแบบไม่มีแผนรองรับ คนเหล่านี้อาจกลายเป็นคนไร้บ้าน เร่ร่อน และถูกทิ้งไว้ข้างหลังในท้ายที่สุด”สมถวิลกล่าวอย่างไร้ความหวัง 

image_pdfimage_print