อาสาล้างบ้านหลังน้ำท่วม ส่งตรงจาก “กระจกเงา”
หลังน้ำลดภารกิจที่ต้องสะสาง คือ การล้างบ้าน มูลนิธิกระจกเงาจึงระดมอาสาสมัครกว่า 100 ชีวิตเพื่อพิชิตภารกิจนี้ “เรามีอาสาสมัครหมุนเวียนเข้ามาหลาย 100 ชีวิต แต่ว่า จำนวนบ้านที่เราล้างไปกับบ้านที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบมันเยอะกว่ามหาศาลเลย เราทำได้เพียง 1% ไม่รู้ถึงไหม” ณัฐพล สิงห์เถื่อน หรือ โจ้ ผอ.ศูนย์อาสาสมัคร มูลนิธิกระจกเงา
เรื่อง : ธนัญญา ศรีประเสริฐ ภาพ : พัชรพล ภิภพสุขาวดี
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จ.อุบลราชธานี เกิดวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่มีปริมาณน้ำที่สูงขึ้นจากปี 2562 เกือบ 50 เซนติเมตร
แม้วันนี้ปริมาณน้ำจะลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่คนในพื้นที่ก็ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการฟื้นฟูบ้านเรือนหลังน้ำท่วม เพราะเจ้าของบ้านไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
มูลนิธิกระจกเงาและเหล่าอาสาสมัคร นำทีมโดย ‘โจ้’ ณัฐพล สิงห์เถื่อน ผู้อำนวยการศูนย์อาสาสมัคร มูลนิธิกระจกเงาลงพื้นที่ฟื้นฟูบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม
พวกเขาหอบอุปกรณ์ล้างบ้านเพื่อมาสะสางความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมให้กับชาวอุบลฯ อย่างไม่คิดมูลค่า
“ถ้าเราดูว่า คนๆ หนึ่งที่จะอยู่ ในบ้านแล้วต้องทำความสะอาดเพียงลำพังคนเดียว มี แปรงขัดกับไม้กวาด กระป๋องน้ำอันหนึ่ง ผมคิดว่า ครึ่งเดือนก็คงทำไม่จบมั้ง”โจ้เล่าจากภาพที่เคยเห็น ซึ่งเป็นสาเหตุที่เขากลับมาที่อุบลฯ อีกครั้ง
มูลนิธิกระจกเงาเคยมาช่วยล้างบ้านให้ชาวจังหวัดอุบลราชธานีแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2562 ช่วงนั้นก็มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นกัน
“ปีนี้น้ำมันท่วมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ระดับน้ำมันสูงขึ้นทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง”เขาบอกสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวอุบลฯ
เขาบอกอีกว่า หลังน้ำลดมันมีปัญหาเรื่องของสภาพบ้านเรือน ไม่พร้อมที่จะให้คนที่ย้ายไปอยู่ที่ศูนย์อพยพกลับมาที่บ้าน ดังนั้นต้องเตรียมบ้านให้พร้อม
“เรามีอาสาสมัครหมุนเวียนเข้ามาหลาย 100 ชีวิต แต่ว่า จำนวนบ้านที่เราล้างไปกับบ้านที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบมันเยอะกว่ามหาศาลเลย เราทำได้เพียง 1% ไม่รู้ถึงไหม”เขาบอก
ภาวะหลังน้ำลดก็มีขยะ มีดินโคลนอยู่ในบ้าน มีเชื้อรา โดยเขาบอกว่า การที่กระจกเงาตั้งศูนย์อาสาสมัครล้างบ้านเพื่อเตรียมความพร้อมต้อนรับคนที่กลับเข้าบ้าน
“ต้องยอมรับสภาพว่า ในช่วงที่มันเกิดวิกฤตหน่วยงานที่เข้า ไม่ว่าจะเป็นการช่วยพี่น้องขนของ อพยพก็จะเป็นพวกทหาร พวกมูลนิธิต่างๆ ที่ทำเรื่องของงานกู้ภัยกู้ชีพ”โจ้บอก
หลังน้ำท่วมผ่านพ้น สภาพบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบมีความเสียหาย ทั้งด้านโครงสร้างภายในและภายนอก รวมทั้งสภาพแวดล้อม ส่วนคนพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบทั้งในด้านจิตใจและสภาพความเป็นอยู่ พวกเขาหวังว่า จะได้กลับไปอยู่ในบ้านของตัวเองอีกครั้ง
เหตุการณ์น้ำท่วมใน จ.อุบลฯ ครั้งนี้คนพื้นที่บอกว่า น้ำมีปริมาณสูงขึ้นทุกปี แม้จะมีการสร้างพนังกั้นน้ำ
แต่ถึงที่สุดก็ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ส่งผลให้คนในชุมชนไม่สามารถขนย้ายสิ่งของได้ทัน
ด้วยเหตุนี้การฟื้นฟูบ้านเรือนหลังน้ำท่วมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การเยียวยาจากภาครัฐ