ถ้าเป็นคุณจะทำอย่างไร ถ้ากลับเข้าบ้านหลังน้ำท่วม 3 เดือน แล้วบ้านเหลือแต่ซากและขยะที่ลอยมากับน้ำเต็มเกลื่อนบนพื้นที่บ้านที่ปะปนด้วยโคลนตม ผู้ประสบภัยชาวอุบลฯ ก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน ซึ่งเศษซากของความเสียหายนั้นไม่อาจแก้ไขได้ด้วยเงินเยียวยาหลักพันที่รัฐจ่ายให้ 

ทรงวุฒิ จุลละนันท์ Citizen Reporter ในโครงการ Journalism that Builds Bridges เรื่องและภาพ

“เราเป็นจิตอาสาทุกอย่างที่มี อะไรเป็นจิตอาสาไปหมด เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ตำรวจชุมชนก็ไป อปพร.ก็เป็น ชอบช่วยคนอื่น แต่พอเจอกับตัวเองไม่รู้จะเริ่มใหม่ยังไง”

นี่คือเสียงของ สมคิด แก้วไหล ชาวชุมชนเกตุแก้ว อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่เธอกลับเข้าบ้านวันแรก หลังต้องอพยพไปอาศัยศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 สิ่งที่เธอเห็นอยู่ตรงหน้า คือ ผนังบ้านที่ถูกกัดกร่อนจากน้ำ เฟอร์นิเจอร์ที่ผุพัง และเศษขยะรอบบ้าน 

“ของเสียหายทุกอย่างเลย เสื้อผ้า เครื่องใช้ทุกอย่าง มีขยะเศษแก้ว ผักตบชวา เศษไม้ พลาสติกปะปน หลักฐานก็มีอยู่ชั้นสอง เพิ่งไปโกยออกมา ไม่มีเงินจ้างใครมาช่วย เงินจะกินก็ไม่มี ได้แต่กินมาม่า ปลากระป๋อง”เธอเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ 

สภาพภายในบ้านของสมคิด แก้วไหล ในชุมชนเกตุแก้ว อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ที่ยังมีร่องรอยของน้ำท่วมปรากฎให้เห็น 

สมคิดเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แม้รายได้จากการเป็นอาสาสมัครและเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุในวัยที่เกิน 60 จะพอช่วยให้ประทังชีพไปได้ แต่ไม่เพียงพอที่จะซ่อมแซมสิ่งของและบ้านเรือนที่เกิดจากน้ำท่วม โดยเฉพาะเมื่อมันเกิด “ทุกปี”  

“น้ำที่นี่จะท่วมทุกปี เพราะเป็นที่ต่ำ มันจะคล้ายแอ่ง รอบๆ เขายกถนนสูงเกือบเป็นเมตร ตอนนั้นถ้าวัดระดับน้ำจากแม่น้ำ ชุมชนอื่นท่วมตอนระดับ 7 เมตร แต่ที่นี่ท่วมตั้งแต่ 5 เมตร 80 เซนติเมตรแล้ว” สุนันท์ แก้วเสนา ประธานชุมชนเกตุแก้ว อธิบาย

สุนันท์ แก้วเสนา ประธานชุมชนเกตุแก้ว อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

อุทกภัยกระทบรายได้ของคนในชุมชนอย่างหนัก หลายคนทำการเกษตร รับจ้างทั่วไป และเก็บของเก่าขาย แต่ระหว่างน้ำท่วมพวกเขาไม่สามารถประกอบอาชีพได้ 

ขณะที่การใช้ชีวิตในศูนย์อพยพฯ เป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องอยู่รวมกับคนต่างชุมชนและมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะต้องอาศัยอยู่ริมถนนที่รถวิ่งเฉียดฉิวเพิงพักตลอดวัน ตลอดคืน  

แม้ตอนนี้คนในชุมชนจะเริ่มทยอยกลับมาเก็บกวาดขยะและซ่อมแซมบ้านของตัวเอง แต่ความลำบากของคนในชุมชนก็ไม่ได้ทุเลาลงตามระดับน้ำที่ลดลง 

น้ำลด ขยะผุด

น้ำที่ท่วมขังเป็นเวลานาน นอกจากจะเปลี่ยนสถานะสิ่งของและทรัพย์สินภายในบ้านเป็นขยะ แล้วทิ้งไว้ให้เจ้าของบ้านจัดการหลังน้ำลด แต่ยังพัดพาขยะจำนวนมากจากที่อื่นมาทิ้งไว้ตามชุมชนและบ้านเรือน 

ขยะพลาสติกและเศษไม้ที่ยังคงหลงเหลือตามบ้านเรือนในชุมชนเกตุแก้ว จ.อุบลราชธานี 

“ขยะนี่ทำให้ลำบาก มันมีกลิ่นเหม็น ตอนน้ำลดใหม่ๆ ขยะเยอะมาก ผักตบชวา พลาสติก ซากต้นไม้ที่ตาย ตู้เตียงที่ไหลมา” สมคิดพูดพลางพาเดินไปดูกองขยะที่เธอกวาดมากองไว้ข้างบ้าน  

“นี่ขนาดเก็บไปแล้วนะ”เธอเล่าพร้อมกับชี้ให้ดูสภาพขยะที่ปะปนอยู่ยังคงเหลืออยู่ให้เห็น 

“ขยะเน่าเอามาลงถังทำปุ๋ยหมักได้ แต่ขยะใหญ่ๆ มันทำไม่ได้ ผักตบชวาเยอะแยะ จะเอาไปลงที่ไหน สับลงไปในดิน ดินก็แน่น การจัดการยากมาก จะขุดยังไงให้ลงฝังดินได้ถ้าไม่ใช้รถ” เธอกล่าวเสริม 

ไม่มีเพียงชุมชนเกตุแก้วแห่งเดียวที่ต้องเผชิญกับขยะที่ลอยมาพร้อมกับน้ำท่วม ชุมชนที่อยู่ไม่ไกลกันก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน 

ศรีนวล คงศรีบุตร ชาวชุมชนท่ากอไผ่ เล่าว่า ได้รับผลกระทบจากขยะหลังน้ำลดเช่นกัน แม้เทศบาลจะมาช่วยเก็บกวาดไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ยังเหลือขยะอยู่จำนวนมากที่ยังติดอยู่ตามต้นไม้ กิ่งไม้และตามที่ต่างๆ ในชุมชน เป็นภาระเพิ่มให้ผู้ประสบภัย

ขยะพลาสติกและเศษไม้ที่ยังคงหลงเหลือในชุมชนท่ากอไผ่ จ.อุบลราชธานี 

“ขยะลอยมาตามน้ำ ทั่วสารทิศ สิ่งปฏิกูลต่างๆ มันก็มาพักตามต้นไม้ ตามป่า พอน้ำลดมันออกไม่ได้ ก็อยู่ตามหมู่บ้าน มีทุกอย่างตั้งแต่เครื่องใช้ภายในบ้าน ถุงผ้า พอน้ำท่วมบ้านก็ล้นแล้วก็ไหลมา”เธอเล่าตามภาพที่เห็น  

ปัญหาการเยียวยา 

กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก พังบ้านเรือนที่อยู่ริมโค้งน้ำเหลือไว้เพียงซากปรักหักพัง ชุมชนเกตุแก้วและท่ากอไผ่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมขังนานกว่าสามเดือน นับตั้งแต่กันยายนถึงพฤศจิกายน ทำให้บ้านเรือนจำนวนมากเสียหาย 

การสูญเสียรายได้ระหว่างน้ำท่วม หนึ่งในความหวังที่พวกเขารอคอย คือ การเยียวยาจากรัฐ แต่เสียงสะท้อนจากคนในสองชุมชนเห็นพ้องต้องกันว่า “ช้า” และ “ไม่สมเหตุสมผล”

บ้านในชุมชนท่ากอไผ่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ถูกน้ำพัดจนเหลือเพียงซากปรักหักพัง

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยกำหนดว่า ประชาชนที่ถูกน้ำท่วม 1 เดือนจะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อครัวเรือน ท่วม 2 เดือนจะได้เงินเยียวยา 6,000 บาทต่อครัวเรือน ท่วม 3 เดือน จะได้รับเงินเยียวยา 7,000 บาทต่อครัวเรือน

สมคิด เล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2562 ว่า ต้องใช้เงินซ่อมแซมบ้านหลายหมื่นบาท แต่ได้รับการเยียวยาเพียงหลักพันเท่านั้น ขณะที่สุนันท์เล่าว่า บางครั้งก็ต้องพึ่ง “ดวง” 

“ตอนปี 2562 รัฐให้เงินเยียวยามาสองพัน ปีนี้เขาบอกว่า ถ้าท่วม 3 เดือนได้ 9,000 ไปซื้อเสา ซื้อเหล็กก็ไม่พอ ต้องเอาเงินมาใช้กินก่อน ปีนี้ยังไม่รู้ว่า จะทำยังไงกับชีวิตตัวเอง” สมคิดกล่าวอย่างสิ้นหวัง 

สมคิด แก้วไหล พาสำรวจชั้นสองของบ้านที่ถูกน้ำท่วมนานกว่าสามเดือน

“ตอนนี้ก็อยู่ไปตามสภาพ รอเงินเยียวยาจากเทศบาล ซึ่งบางทีมันไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรม เมื่อปี ‘62 เขาประเมินได้คนละ 2-3 พัน แต่หมดค่าซ่อมบ้านเยอะ ก็แล้วแต่ดวง” สุนันท์ อธิบาย 

ศรีนวล จากชาวชุมชนท่ากอไผ่ เล่าถึงปัญหาหลังคนในชุมชนย้ายกลับบ้านหลังน้ำลดว่า แม้บ้านจะเสียหายแต่กลับยังไม่สามารถซ่อมแซมได้ เนื่องจากต้องรอเจ้าหน้าที่รัฐมาประเมินเงินเยียวยา 

“การเยียวยามันช้า ถ้าไม่ซ่อมก็อยู่บ้านไม่ได้ สังกะสีโดนสนิมกิน ถ้าไม่ให้ซ่อมก็อยู่ไม่ได้ แต่มันมีผล เพราะพอซ่อมเสร็จ เขาก็มองว่า ไม่เห็นความเสียหาย แล้วจะให้ทำยังไง มันก็ต้องซ่อมเพื่อให้เข้าอยู่ได้” 

สมคิด แก้วไหล เก็บกวาดข้าวของหลังน้ำท่วมที่ส่วนใหญ่กลายเป็นขยะ

ปัจจุบัน ชาวชุมชนเกตุแก้วและท่ากอไผ่บางส่วนทยอยกลับบ้านเพื่อเก็บกวาดขยะและซ่อมแซมบ้านเรือน ขณะที่ผู้ประสบภัยบางคนยังคงนอนอยู่ในเต้นท์ริมถนน เพื่อรอการเยียวยาจากรัฐและรอวันจะได้กลับไปนอนที่บ้านของตนเอง 

ซึ่งไม่รู้ว่า วันนั้นจะมาถึงตอนไหน

image_pdfimage_print