ส่องศูนย์สิทธิฯ ในอีสาน หนทางลดการละเมิดสิทธิ

แม้ในอีสานจะมีศูนย์ประสานช่วยเหลือเรื่องสิทธิมนุษยชนถึง 2 แห่ง แต่ชาวบ้าน-นักต่อสู้ก็ถูกฟ้องร้องและถูกดำเนินคดีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยเฉพาะคดีทางการเมือง 2 ปีที่ผ่านมาคนอีสานถูกฟ้องร้องอย่างไม่เลือกหน้า The Isaan Record จึงสำรวจบทบาทของศูนย์ช่วยเหลือด้านสิทธิฯ ว่าเป็นหนทางที่จะลดการละเมิดสิทธิฯ ในได้หรือไม่ 

นับตั้งแต่กรกฎาคม 2563 ถึงตุลาคม 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างน้อย 1,600 คน ทั้งข้อหาตามมาตรา 112 มาตรา 116 ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขัด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

นี่ยังไม่รวมคดีที่ชาวบ้านออกมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่นของตัวเองที่ถูกจับกุมคุมขัง เพียงเพราะออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ชุมชนได้รับผลกระทบ 

คดีเหล่านี้ส่วนหนึ่งอยู่ในความดูแลของศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมและอยู่ในความดูแลของ ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ “ไนท์ ดาวดิน” ที่เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม 

ขณะที่ช่วยเหลือชาวบ้านจากการถูกดำเนินคดี แต่อีกด้านหนึ่ง ภานุพงศ์ ก็ถูกดำเนินคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย 

“การถูกดำเนินคดีไม่ได้ทำให้รู้สึกกลัวเลย เพราะเรามีเจตนาที่บริสุทธิ์ในการออกมาใช้สิทธิใช้เสียงและวิธีการชุมนุมด้วยคาร์ม็อบก็เป็นการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 การชุมนุมที่เกิดขึ้นก็คือมาตรการป้องกันอยู่แล้ว” ภานุพงศ์ ยืนยันในหลักการของเขา

ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ (ไนท์ ดาวดิน) เจ้าหน้าที่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมถูกทำร้ายร่างกาย ขณะชุมนุมต่อต้านการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ จ.ขอนแก่น เมื่อ 14 ตุลาคม 2564 ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

ภานุพงศ์จบกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่นและเป็นนักกิจกรรมในกลุ่ม “ดาวดิน” เขาถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนถึงการเคลื่อนไหวเมื่อปี 2564 ในคดีคาร์ม็อบ ระหว่างที่เขาทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์กฎหมายฯ รวมกว่า 10 คดี 

“กรณีคาร์ม็อบผมถูกดำเนินคดีถึง 3 คดี หนึ่งในนั้น คือ การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเบื่อมาก เพราะ พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ ถูกประกาศเพื่อควบคุมโรค แต่เจ้าหน้าที่กลับใช้ควบคุมม็อบ ควบคุมประชาชน โดยเฉพาะกับคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง” ไนท์ กล่าวถึงการสร้างภาระของคดีทางการเมืองทีเกิดขึ้นกับเขา

ที่มาศูนย์กฎหมายสิทธิฯ

ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2556 ช่วงแรกได้ให้ความช่วยเหลือและรับปรึกษาในเรื่องกฎหมาย เนื่องจากในช่วงก่อตั้งยังไม่มีทนายความประจำศูนย์ โดยเฉพาะกรณีทรัพยากร ดังนั้นศูนย์กฎหมายฯ จึงทำหน้าที่ประสานเครือข่ายและทนายความให้กับชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีจากโครงการพัฒนาของรัฐ เช่น คดีเหมืองแร่เมืองเลย ซึ่งกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ถูกฟ้องจากการออกมาคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ เป็นต้น 

ต่อมาภายหลังรัฐประหารปี 2557 ศูนย์กฎหมายเริ่มมีทนายความประจำศูนย์ฯ จึงเริ่มขยับมาช่วยเหลือทางด้านคดีทั้งหมด 12 คดี โดยแบ่งเป็นคดีทางการเมือง 9 คดี เป็นคดีคาร์ม็อบ 3 คดี และคดีทรัพยากร อาทิ ช่วยเหลือชาวบ้านที่ จ.ยโสธร ที่ถูกผู้สนับสนุนโรงงานน้ำตาลฟ้อง หลังจากออกมาคัดค้านโรงงานน้ำตาล 

เขากล่าวอีกว่า คดีไหนที่ศูนย์กฎหมายไม่สามารถเดินทางไปช่วยเหลือได้ เนื่องจากต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงก็จะใช้วิธีติดต่อทนายเครือข่ายเพื่อให้ความช่วยเหลือแทน

หน้าที่หลักศูนย์กฎหมาย

ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่น ตั้งอยู่ในคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งก่อตั้งมากว่า 6 ปี มีหน้าที่ 3 อย่างหลักๆ คือ ให้ความช่วยเหลือทางด้านคดี แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ คดีเกี่ยวกับทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และคดีที่ร่วมมือกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในคดีการเมือง อาทิ คดีคาร์ม็อบที่ จ.ขอนแก่น รวมถึงผลักดันเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายที่มีผลกระทบต่อชาวบ้าน สนับสนุนงานเครือข่ายที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อม

จิรัชญา หาญณรงค์ เจ้าหน้าที่ศูนย์กฎหมายฯ อีกคนบอกว่า ในอนาคตจะมีแผนอบรมนักศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจหลักการก่อนลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน ก่อนหน้านี้เราเคยจัดอบรมให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐเพื่อให้เข้าใจสิทธิของตัวเองก่อน

จิรัชญา หาญณรงค์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่น

เจ้าหน้าที่ศูนย์กฎหมาย เปิดเผยอีกว่า ตั้งแต่รับช่วยเหลือด้านคดีมาศูนย์ฯ รับทำคดีการเมืองมากที่สุด เพราะถือเป็นเรื่องที่รุนแรง โดยคดีเหล่านี้เป็นเหตุมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก แต่กลับถูกดำเนินคดี ทั้งที่ไม่ควรมีใครควรถูกดำเนินคดี

แม้จังหวัดขอนแก่นจะมีศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมที่มีทนายความและเจ้าหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ รวมถึงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ยังมีชาวบ้านในอีสานจำนวนมากที่ยังถูกคุกคามและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่

ส่องศูนย์สิทธิฯ จ.อุบลราชธานี

ไม่เพียงแค่จังหวัดขอนแก่นแห่งเดียวเท่านั้นที่มีศูนย์ให้ความด้านสิทธิมนุษยชน ที่ จ.อุบลราชธานี ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ 

ถือเป็นความร่วมมือของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิเข้าถึงการร้องเรียนได้ง่ายขึ้น 

“เรามีหน้าที่ประสานงานกับองค์กรที่เกี่ยวข้องและส่งเรื่องที่รับร้องเรียนให้กับกสม.ส่วนกลาง รวมทั้งมีหน้าที่ส่งเสริมให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับชาวบ้าน”เจ้าหน้าที่ประสานงานศูนย์สิทธิมนุษยชน จ.อุบลราชธานี เล่า 

ศูนย์ประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งนี้ ถูกตั้งมาแล้วกว่าสองปี ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจใจการตัดสินเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ แต่เน้นให้คำปรึกษากับชาวบ้านในเรื่องกฎหมายเบื้องต้นเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องมรดก และยังทำงานประสานเพื่อส่งเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการผันน้ำของโขง เลย ชี มูล ให้กับกรรมการสิทธิมนุษยชน จากนั้น กสม.ลงมาพื้นที่เพื่อรับฟังปัฐหาจากชาวบ้านโดยตรง 

ทั้งนี้ยังมีกรณีร้องเรียนจากอดีตผู้ต้องขังจากเรือนจำหญิง สาเหตุถูกปฏิบัติขณะอยู่ในเรือนจำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ การตรวจร่างกายก่อนเข้ากรมราชทัณฑ์ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในช่วงดำเนินการของ กสม.

ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ม.อุบลราชธานี เครดิต Titipol Phakdeewanich

ช่วยคนได้สัญชาติแล้วกว่า 200 คน

นอกจากจะส่งเสริมให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแล้วยังผลักดันเกี่ยวกับสิทธิของคนไร้สัญชาติร่วมกับภาคประชาสังคม กระทั่งเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาทำให้คนไร้สัญชาติใน จ.อุบลฯ ได้รับบัตรประชาชนกว่า 200 คน 

“สิ่งนี้ถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้พวกเขาได้เข้าถึงการคุ้มครองในด้านสาธารณะ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาลหรือสิทธิอื่นๆ เพราะถ้าพวกเขาไม่มีบัตรประชาชนพวกเขาจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิเหล่านั้น” ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน 

เป้าหมายการก่อตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิฯ เป็นไปเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้คนเข้าใจสิทธิของตัวเอง อีกทั้งต้องการขับเคลื่อนเรื่อง LGBTQ+ และทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติใน จ.อุบลฯ เพื่อลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นปัญหาในอีสานให้ลดลงกระทั่งหมดไป